(1)
ฉันเหนื่อย
เหนื่อยกับการขายเสื้อผ้าริมถนน
สี่สิบปีแห่งการอดทน
รอคอยความหวังเล็กราวฝุ่นผง
ฉันเหนื่อย
เหนื่อยกินข้าวกับดาล
ให้อาหารวัวควายในป่าคานาคาธา
ฉันเหนื่อย
เหนื่อยลากโดตีไปมา
บนพื้นโคลนถนนแมนกูทิลา
ฉันเหนื่อย
เหนื่อยกับการต่อสู้ให้ประเทศ
ที่ฉันไม่เคยเห็น
บทกวี I’m Tired โดยเทนซิน ซุนดู (Tenzin Tsundue) นักเขียน นักเคลื่อนไหว ผู้ลี้ภัยชาวทิเบตที่อาศัยอยู่ในอินเดีย เป็นหนึ่งในกวีชุด KORA ที่ยากจะหาคำแปลในภาษาไทย หากพอจับใจความได้ว่าหมายถึงการเดินทางท่องไปในสถานที่ต่างๆ การเดินทางที่ไม่ใช่ออกสู่ภายนอก หากกลับสู่ภายใน
อาจดูเหมือนว่าซุนดูกำลังภาวนาจาริกแสวงบุญ แต่หากใครได้อ่านบทกวีของเขาจะเข้าใจว่าทุกเส้นทาง ทุกการกระทำ ไม่ว่าจะพูด เขียน หรือเดินล้วนเป็นไปเพื่อ ‘ปลดปล่อย’ สังคมที่เขาอาศัยอยู่ และปลดปล่อยความอัดอั้นตันใจของเขาในการต้องใช้ชีวิตในสังคมที่ถูกกดมาตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซุนดูออกเดินทางจากหุบเขาดารัมซาลา ชุมชนผู้ลี้ภัยทิเบต ที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของอินเดีย มุ่งหน้าสู่กรุงเดห์ลีที่ห่างออกไป 500 กิโลเมตร เพื่อสื่อสารในสิ่งที่เขาพูดผ่านงานเขียนของเขาเสมอมา นั่นคือการเรียกร้องคืนเสรีภาพให้ทิเบต ประเทศที่เขาเรียกว่าแผ่นดินแม่ แม้ไม่เคยได้เยือน
ไม่ถึงสัปดาห์หลังการเดินทางของซุนดู คณะ ‘เดินทะลุฟ้า’ ย่ำเท้าเคลื่อนขบวนออกจากอนุสาวรีย์สุรนารี (ลานย่าโม) จังหวัดนครราชสีมา มุ่งหน้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิไตย เป้าหมายการเดิน 247.5 กิโลเมตรที่คาดว่าจะใช้เวลา 20 กว่าวันจะไปถึง พร้อม 3 ข้อเรียกร้องที่ไม่รู้จะถึงเมื่อไร
แต่จะถึงหรือไม่
ไม่ใช่เหตุผลที่เทนซินและขบวน ‘เดินทะลุฟ้า’ จะไม่ออกเดิน
(2)
เดินทางออกจากห้องทำงาน วางมือจากโต๊ะกองบรรณาธิการในสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยปรารถนาจะบันทึกเรื่องราวขบวนเดินทะลุฟ้า ที่หากมองในแง่ของเวลานั้นช่างเป็นการเดินทางที่ไม่คุ้มค่า ด้วยความที่ขบวนเดินจะมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพมหานครอยู่ดี ค่อยตามไปสมทบเมื่อขบวนเคลื่อนมาถึงก็ย่อมได้ หากสิ่งที่ขบวนได้สื่อสาร และแสดงออกให้เห็นนั้นบอกชัดเจนว่าจะไกลเท่าไรก็ต้องไป จะไปร่วมได้เพียงครู่เดียวก็ต้องไป เพราะจุดหมายปลายทางนั้นอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิไตย หาก ‘ความหมาย’ ของการเดินครั้งนี้นั้นอยู่ระหว่างทาง
“ห้ามฉันคิด ฉันจะเขียน ห้ามฉันเขียน ฉันจะพิมพ์ ห้ามฉันพิมพ์ ฉันจะเดิน ห้ามฉันเดิน ฉันจะยืน หากห้ามทุกอย่างในร่างกายและจิตใจฉันแล้ว มาห้ามลมหายใจฉันดีกว่า การเดินมันเป็นสัญลักษณ์ของการก้าวไปข้างหน้า เป็นการแสดงออกทั้งทางตรง ทางอ้อมว่าเราจะไม่ยอมเดินถอยหลังลงคลอง”
‘เลิศ’ – เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ แกนนำเครือข่าย People Go Network เป็นคนแรกๆ ของขบวนเดินที่ได้พูดคุยด้วยเมื่อไปถึง เลิศยกคำพูดของ สมบัติ บุญงามอนงค์ แทนคำตอบว่าทำไมยังเลือกที่จะเดินอยู่ (หลังจากที่เขาเคยนำขบวนเดิน ‘We Walk…เดินมิตรภาพ’ มาแล้วในปี 2561) ในวันที่สังคมขยับเพดานการสื่อสารไปไกล จนอดสงสัยไม่ได้ว่าบทบาทของการสื่อสาร ‘เชิงสัญลักษณ์’ นั้นยังมีความจำเป็นอยู่มากน้อยแค่ไหนในยุคนี้
เลิศเท้าความเล่าถึงที่มาที่ไปของการเดินระหว่างพักเดินเที่ยงวัน ข้างทางสถานีน้ำมันแห่งหนึ่ง เรานั่งกันบนถนนคอนกรีตที่ไอร้อนดูจะระอุเป็นพิเศษในย่านนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดสระบุรี ที่ตั้งของโรงโม่หินขนาดใหญ่ที่ดูจะทำให้ฝุ่นละอองจากหินกระจายเป็นฉากหลังบรรยากาศการคุยกัน ลำพังแค่ต้องมานั่ง นอน กินในสถานีน้ำมัน ด้วยไร้พื้นที่สาธารณะให้พักพิง สูดดมกลิ่นควันท่อไอเสีย อ่อนเพลียด้วยฝุ่นละอองจากเหมืองหินก็ขยายความสิ่งที่พี่เลิศ และอีกหลายคนที่ได้ร่วมนั่งพักคุยกันได้บอกมาแล้วว่า การเดินไม่ใช่แค่เพื่อสื่อสารถึงปัญหา เรียกร้องหาทางออก แต่ยังเป็นกระบวนการที่ทำให้ได้รับฟังปัญหาจากผู้คนที่หมุนเวียนเปลี่ยนหน้ามาร่วมเดิน และได้รับรู้ถึงปัญหาจากประสบการณ์ตรงบนเส้นทางที่เดินผ่าน
‘เอ๋’ – ศิริพร ฉายเพ็ชร ผู้ประสานงานเดินทะลุฟ้า และผู้อยู่เบื้องหลังการเดินทางของนักสร้างการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่มายาวนาน คอยพาเราไปรู้จักกับผู้คนต่างๆ ที่มาร่วมขบวนครั้งนี้ ที่หลังจากได้คุยกับ ‘มิโพ’ – ไชยศรี สุพรรณิการ์ เยาวชนผู้ขับเคลื่อนนโยบายด้านทรัพยากรแร่ ที่มาไกลจากแม่แจ่ม เชียงใหม่ เพื่อมาเป็นการ์ดอาสาสมัครในการเดินนี้, ‘เจี๊ยบ’ – วิทยากร โสวัตร นักเขียน เจ้าของร้านหนังสืออิสระจากอุบลราชธานีที่พาลูกสาวมาร่วมขบวนด้วย, ‘นะ’ – ณฐ ด่านนทธรรม วิทยากรอิสระ นักจัดการศึกษาทางเลือกกลุ่ม ‘บ้านเรียน’ จังหวัดราชบุรี, หรือ ‘พ่อจ่อย’ จากกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ที่นำประเด็นเรื่องการคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่มาหารือ ฯลฯ ที่ระยะเวลาไม่นานที่ได้นั่งคุยกันในช่วงพักกลางทางทำให้ ‘รับรู้’ ประเด็นที่กว้างขึ้น จากหลายพื้นที่มากขึ้น และ ‘รู้สึก’ ถึงความหมายของการเดินครั้งนี้มากยิ่งขึ้น
ในแง่นี้ การเดินดูจะตอบคำถามว่าการสื่อสาร ‘เชิงสัญลักษณ์’ ยังมีบทบาทอยู่หรือไม่ ในแง่นี้ การเดินดูจะไม่เป็นเพียงการสื่อสารออกไป หากยังสร้างการมีส่วนร่วมในตัวมันเอง ทั้งในแง่ของการรับฟัง เรียนรู้จากกันและกัน และการหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ ทำให้รู้สึกได้ว่าไม่มีปัญหาใดแยกขาดจากตัวตนอีกต่อไป
‘ทราย’ – อินทิรา เจริญปุระ ที่สลับบทบาทจากคนเบื้องหน้ามาอยู่เบื้องหลังทำหน้าที่ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ ตลอดเส้นทางการเดิน ยอมรับว่าในฐานะคนที่เติบโตมาในกรุงเทพมหานคร เธอเคยคิดว่าเรื่องอย่างเหมือง หรือการต่อสู้ของชุมชนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ยิ่งได้พูดคุยกับผู้คนมากเท่าไร ยิ่งได้เอาตัวไปขลุกกับพื้นที่มากเท่าไร ยิ่งรับรู้เข้าไปถึงใจว่าปัญหาทั้งหมดล้วนมาจากรากเหง้าเดียวกัน รากเหง้าที่รัฐรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง จัดการคิดแทนประชาชนไปเสียทุกอย่าง รากเหง้าที่นำมาสู่ข้อเรียกร้องหลักทั้งสามของขบวนเดินครั้งนี้ที่ ‘ไผ่’ – จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ขานร้องตลอดขบวนเดินทะลุฟ้าว่าให้ “ปล่อยเพื่อนเรา” “ร่างรัฐธรรมนูญประชาชน” “ยกเลิก112” สามข้อเรียกร้องพื้นฐานที่หากไม่ได้รับการแก้ไข สุดท้ายไม่ว่าจะสู้เท่าไรก็จะเจอทางตันที่ระบบการรวมศูนย์ของอำนาจรัฐอยู่ดี
(3)
คำว่า ‘gati’ (กา-ตี) ในภาษาสันสกฤตที่แปลตรงตัวว่า ‘เดิน’ นั้นยังมีอีกสองความหมายรอง หนึ่งคือแปลว่าเวลา และสองแปลว่าการ ‘รู้’ น่าแปลกที่ความหมายของคำว่า ‘gati’ นี้ใกล้เคียงกับคำว่า ‘gjennomgått’ ในภาษานอร์วีเจียนที่แปลได้ว่า ‘การข้ามผ่าน’ ประสบการณ์บางอย่าง ช่างน่าสนใจที่สองภาษาที่ไร้รากร่วมกัน กลับให้ความหมายถึงการเดินที่ไม่เป็นเพียงกิริยาการก้าวขา หากเป็นการ ‘รับรู้’ และ ‘ร่วม’ ประสบการณ์ไม่ต่างกัน
ความหมายของการเดินเช่นนั้นที่ไม่ได้ปรากฏแค่ในการเดินครั้งนี้ หากเป็นสิ่งที่แม้แต่มหาตมะ คานธี เองก็เคยพูดถึงในครั้งนำเดินขบวนเกลือ (Salt March) ในปี 1930 เพื่อประท้วงอำนาจผูกขาดของอาณานิคม แม้ข้อเรียกร้องเชิงรูปธรรมของคานธีในครั้งนั้นจะเป็นไปเพื่อการประท้วงให้อังกฤษยุติการเก็บภาษีเกลือ หากแก่นใจความสำคัญของการเดินนั้นเป็นไปเพื่อการ ‘ยืนหยัดความจริง’ ตามหลักการ ‘สัตยาเคราะห์’ แนวทางอหิงสา การอารยะขัดขืนที่อาจารย์ภาสกร อินทุมาร จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) อีกหนึ่งคนที่ออกร่วมขบวนเดินให้ความเห็นในแง่นี้ว่าการเดินเป็นการ ‘ปลดแอก’ (liberate) ไม่ใช่เพียงแค่ระดับจิตวิญญาณปัจเจกตามที่คนมักจำภาพการเดินจาริกเพื่อแสวงบุญเท่านั้น หากยังเป็นการปลดแอกสังคมด้วยเช่นกัน ด้วยความที่การเดินนั้นไม่เพียงทำให้เกิดการรับรู้ทางกาย หากยังทำให้เกิดประสบการณ์ร่วมทางความคิด จิตใจ เมื่อได้เผชิญรากเหง้าปัญหาร่วมกันระหว่างทาง และพบว่าหนทางที่จะหลุดจากการเป็นผู้ถูกกดขี่ที่กำราบให้นิ่งเฉย เงียบงันจากความกลัว คือการลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง แปรเปลี่ยนจากสถานภาพผู้ถูกกระทำ (passive player) เป็นผู้กระทำ (active player) ไม่ว่าจะด้วยการพูด เขียน หรือเดิน
(4)
“ไม่ว่าจะขบวนเกลือของคานธี หรือครั้งที่มาร์ติน ลูเธอร์เดินเพื่อเรียกร้องเสรีภาพ ผมมองว่าการเดินประท้วงแบบนี้เป็นการเดินเพื่อแสดงออกทางการเมือง เพื่อเน้นย้ำประเด็น และสร้างแรงกระเพื่อมต่อเนื่องยาวนานที่จะช่วยสร้างแรงสนับสนุน การรับรู้ และจิตสำนึกร่วม”
เทนซิน ซุนดู เล่าถึงเหตุผลของเขาในการออกเดินครั้งนี้ว่า เขาตั้งใจที่จะส่งเสียงแทนชาวทิเบตที่กำลังตกอยู่ใต้การคุกคามจากจีน และเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียต่อต้านนโยบาย ‘จีนเดียว’ (One China)
“ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วการเดินจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายในท้ายที่สุด แต่อย่างน้อยมันจะทำให้คนเริ่มฉุกคิด”
แต่ถึงจะมุ่งมั่นตั้งใจเช่นนั้น ดูเหมือนว่าเทนซินจะทำใจไว้แล้วเช่นกันว่าข้อเรียกร้องของเขาอาจไม่ได้รับการตอบรับเมื่อย่ำเท้าเข้าเดห์ลี แต่นั่นดูจะไม่ทำให้เขาหมดกำลังใจแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เทนซินกลับเดินเช้า เดินค่ำ ไม่หยุดพักสักวัน ความพยายามของเขาทำให้เริ่มมีผู้คนเดินมาสมทบบ้าง บ้างร่วมเดินหนึ่งไมล์ บ้างร่วมเดินหนึ่งวัน หรือแม้แต่หยุดรับฟังเหตุผลตั้งต้นที่ทำให้เขาออกเดิน
ระหว่างทางเช่นนั้น ดูจะเป็นเหตุผลสำคัญไม่น้อยไปกว่าหมุดหมายปลายทางที่เดห์ลี หรือข้อเรียกร้องที่เขามีต่อรัฐบาลอินเดีย ระหว่างทางเช่นนั้น ที่ดูเป็นเหตุผลเดียวกันกับขบวนเดินทะลุฟ้า ที่จุดหมาย ดูจะไม่ใช่ (เพียง) ปลายทาง
อ้างอิง
Kagge, Erling. (2018). Walking: One Step At A Time. New York: Pantheon.
Tags: เดินทะลุฟ้า, civildisobedience, walkamilefortibet, kora, From The Desk