(1)

ตำนานเล่าขานถึง ‘ผู้เฒ่า’ แห่งชนเผ่าอะบอริจินในออสเตรเลีย ร่ายไปถึงชาวเมารีในนิวซีแลนด์ ดินแดนแว่นแคว้นที่อยู่อาศัยกันเป็นชุมชน เครือญาติ ว่าในลักษณะสังคมเช่นนั้นมักมีผู้เฒ่าประจำเผ่ารับบทเป็นผู้นำ ในความหมายที่ไม่ใช่ผู้ออกคำสั่ง หากคือผู้รวมพลัง เป็นศูนย์รวมของผู้คนให้อยู่ร่วมกันได้ในความหลากหลาย ไม่กระจายแยกแตกกันไปแม้ไร้กฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรที่ใช้ในการปกครอง 

แนวคิด ‘ผู้เฒ่า’ (Eldership) นี้เป็นหนึ่งในแนวคิดหลักของจิตวิทยาสายกระบวนการ (Process-oriented psychology) หากผู้เฒ่าประจำหมู่บ้านในตำรานี้ไม่ได้หมายถึง ‘บุรุษแก่ชรา’ ตามนิยามคำว่า ‘เฒ่า’ อย่างที่เราเข้าใจ หากอาจเป็นใครก็ได้ที่ อาร์โนลด์ มินเดลล์ (Arnold Mindell) นักทฤษฎีชาวอเมริกันผู้คิดค้นจิตวิทยาสายกระบวนการนี้ อธิบายไว้ว่า

 

“ผู้นำทำตามกฎ ผู้เฒ่าทำตามสัญชาตญาณ ผู้นำฟังเสียงส่วนใหญ่ ผู้เฒ่าฟังทุกคน ผู้นำพยายามยุติปัญหา ผู้เฒ่าทำความเข้าใจ ผู้นำพยายามนำให้ดีขึ้น ผู้เฒ่าพยายามสร้างผู้นำคนอื่นๆ ผู้นำรู้ ผู้เฒ่าเรียน ผู้นำไล่ตามอนาคต ผู้เฒ่าอ่านปัจจุบัน”1

1 Ilkiw, V. (2014). Deep Democracy in Action: The Elder Role in Leadership Development. Process Work Institute, Portland, Oregon. 

หรืออย่างในการจัด ‘กระบวนการกลุ่ม’ (Group process) ครั้งหนึ่งในปี 1999 ที่นิวยอร์ก มีผู้เข้าร่วมชาวพื้นเมืองอเมริกันบรรยายถึงผู้เฒ่าประจำชนเผ่าไว้ว่า

 

“เป็นผู้นอบน้อมถ่อมตน เป็นนักเล่าเรื่อง เป็นคนที่อยู่เบื้องหลัง เป็นคนที่ไม่แทรกหากไม่ถูกถาม เป็นคนที่สนับสนุนผู้อื่นให้พบคำตอบภายใน เป็นคนที่ใช้ชีวิตในหนทางตามเสียงเพรียกในใจของตนเอง2

2 Kulchyski, P., McCaskill, P., & Newhouse, D. (1999). In the words of Elders: Aboriginal cultures in transition. Toronto, Ontario: University of Toronto Press.

ในแง่นี้นั้น ทั้งในนิยามตามที่มินเดลล์ได้เสนอ และในทางปฏิบัติ คำว่า ‘ผู้เฒ่า’ อาจเป็นใครก็ได้ เป็นหญิงหรือชาย ชราหรือทารก ยาจกหรือเศรษฐี ตราบใดที่บุคคลผู้นั้นสามารถสลายความขัดแย้ง จากการที่กลุ่มแยกออกเป็นขั้วตรงข้าม (polarization) และนำกลุ่มกลับมาสู่ศูนย์รวมตรงกลาง หาทางไปต่อร่วมกัน ไม่ใช่เพราะคำสั่ง หากเพราะความรับรู้ลึกซึ้งถึงความสัมพันธ์ที่กลุ่มส่งผลต่อกัน บุคคลผู้ทำเช่นนั้นได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร นั้นเรียกได้ว่า ‘ผู้เฒ่า’ ของหมู่บ้าน ที่นำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้อย่างแยบยล

 

(2)

ไม่มีอะไรเหมือนเดิมสักอย่างในพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของ โจ ไบเดน (Joe Biden) ในวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเฉลิมฉลองไร้ฝูงชน ผู้คนที่หายไปครึ่งหน้าภายใต้หน้ากาก การไม่ปรากฏตัวของประธานาธิบดีคนเก่า การมาถึงของรองประธานาธิบดีหญิงครึ่งเอเชียนผิวสีคนแรก รวมทั้งบทกวีจาก อแมนดา กอร์แมน (Amanda Gorman) ที่ทำนายได้เลยว่ากวี ‘The Hill We Climb’ ของเธอนั้นจะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไม่ต่างจากสุนทรพจน์สาบานตนของประธานาธิบดีคนใด

ไม่มีอะไรเหมือนเดิมสักอย่างในพิธีสาบานตนวันนั้น หากนั่นน่าจะเป็นความตั้งใจของทั้งไบเดนและคณะรัฐมนตรีที่เรียกได้ว่าเป็นภาพแทน ‘หม้อหลอม’ (Melting Pot) ของความหลากหลายในสหรัฐอเมริกา ความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงดูจะเริ่มต้นขึ้นแล้วนับจากนาทีนั้น นาทีที่อแมนดาปรากฏขึ้นต่อหน้าสาธารณชนในชุดสีเหลืองอร่ามและที่รัดผมสีแดง3 ร่ายมือพร้อมเปล่งกวีที่เธอแต่งออกมาว่า 

 

“แม้ยามเศร้า เรายังเติบโต

แม้ยามเจ็บปวด เรายังหวัง

แม้ยามล้า เรายังพยายาม

ในความเป็นหนึ่งเดียวกันตลอดไป อย่างมีชัย

ไม่ใช่เพราะเราจะไม่แพ้

หากแค่เราจะไม่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความแตกแยกอีกต่อไป”

 

ประโยคที่ทั้งยอมรับโดยสดุดีถึงความขัดแย้งรากลึกที่ผ่านมา ทั้งมั่นหมายว่าจะเดินหน้าด้วยการไม่ส่งต่อความโกรธแค้นอีกต่อไป

มีความหมายมากมายซ่อนอยู่ในเครื่องแต่งกายของอแมนดา ตั้งแต่โค้ตสีเหลืองสดจากปราดา แบรนด์ที่มีประวัติยาวนานเรื่องการสนับสนุนเฟมินิสม์ และที่คาดผมสีแดงจากปราดาอีกเช่นกัน อันเดียวกับที่ เชอร์ลีย์ คริสโฮล์ม สตรีผิวสีคนแรกแห่งสภาคองเกรสใช้ในการหาเสียง และสวมแหวนรูปกรงนกที่ โอปราห์ วินฟรีย์ มอบให้เธอ ในสัญลักษณ์ถึงบทกวี ‘I Know Why the Caged Bird Sings’ ของ มายา แอนเจลู กวีชาวอเมริกันผิวสีที่เป็นแรงบันดาลใจคนสำคัญของเธอเช่นกัน
ภาพจาก: Reuters

 

(3)

ในหนังสือ ‘Twilight of Democracy’ แอนน์ แอปเปิลบาม (Anne Applebaum) ผู้เขียน เล่าถึงความรู้สึกแตกแยกของผู้คนในยุคหลังคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกว่าไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวของประเทศใดประเทศหนึ่ง หากความรู้สึกไม่ไว้ใจ สิ้นหวัง แต่ในขณะเดียวกันก็อาบด้วยความหวังว่าแสงริบหรี่รำไรในช่วง ‘สนธยา’ (Twilight) จะนำเข้าสู่ช่วงเวลาฟ้าใหม่ได้ ความหวังเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องตะวันออก หรือตะวันตก ไม่จำกัดอยู่ในโปแลนด์ ฮังการี หรือเยอรมนีเลย หากคือความเป็นมนุษย์ทุกคน – มนุษย์ที่ไม่ว่าจะอับจนหนทางอย่างไร ก็ยังอดที่จะมีความหวังไม่ได้

ไม่น่าแปลกใจอะไรที่สุนทรพจน์ของไบเดนที่ว่าด้วยความสำคัญของการกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกัน (Unity is the path forward) และบทกวี ‘The Hill We Climb’ จะถูกเผยแพร่อย่างล้นหลามไปทั่วโลก เพราะมันไม่ได้ประกาศกล้าถึงเจตนาคับแคบของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ได้บอกว่าจะทำให้ ‘อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง’ หากศิโรราบยอมรับให้กับความพลาดที่ผ่านมา ปรารถนาที่จะเห็นชีวิตที่ดีกว่านี้ และที่สำคัญคือเชื่อสุดใจว่ามันจะดีกว่านี้ได้ เช่นที่อแมนดากล่าวว่า

 

“ประชาธิปไตยอาจถูกทำให้ล่าช้าออกไป

แต่มันจะไม่สูญหายไปตลอดกาล

       และแม้ในบางครั้ง, ในหลายๆ ครั้ง

เราอาจไม่รู้สึกพร้อมที่จะเป็นทายาท

ของโมงยามน่าหวาดหวั่น

แต่ในความกลัวนั้นเรากลับพบซึ่งพลัง

ที่จะประพันธ์ฉากตอนบทใหม่

เพื่อสร้างความหวังและเสียงหัวเราะให้พวกเราเองต่อไป”

 

เสียงชื่นชม ส่งต่อบทกวีของอแมนดาจึงไม่ใช่การแห่ชื่นชมอเมริกา หากคือการสะท้อนก้องถึงสิ่งที่อยู่ในใจของผู้คน ทะลักความหวังพรั่งพรูในโมงยามที่โลกดูจะมีแต่เรื่องร้าย การอุบัติของโควิด-19 ยังเป็นเรื่องทำ (ความเข้า) ใจได้ แต่คุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ จากผู้นำที่ไม่ได้เลือก-ไล่ไม่ไป แม้แต่อากาศหายใจยังสูบเข้าไปเต็มปอดไม่ได้ และโหดร้ายสุดกับการบังคับใช้กฎหมายไล่ล่ากดขี่ผู้คน ดูจะทำให้โมงยามนี้เป็นชั่วโมงแห่งความสับสน หลายครั้งรู้สึกอับจนหนทาง

ในบรรยากาศสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนั้น การได้ยินเสียงแห่งความฝันดังลั่นออกมาบ้างช่างน่าพลอยยินดี รวมทั้งการที่ได้ยืดอกยอมรับว่าถึงแม้เราจะเป็นยุคสมัยแห่งความโชคร้าย แต่อย่างน้อยที่สุด เราจะไม่เป็นยุคสมัยที่ส่งต่อโลกเช่นนั้นให้กับคนรุ่นต่อไป ดังเช่นที่อแมนดาลงท้ายไว้ว่า 

 

“เราจะไม่หันหลังกลับ

หรือชะงักจากคำดูแคลน

เพราะเรารู้ว่าการนิ่งเฉย เฉื่อยชาของเรา

จะกลายเป็นมรดกส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป”

 

ใช่, ไม่ว่าเราจะเกิด เติบโตในยุคสมัยที่โชคร้ายเพียงใด แต่อย่างน้อยที่สุด ในช่วงชีวิตนี้ขอให้เราได้แน่ใจ และสัญญากับตัวเองได้เต็มปากว่า

“เราจะจาก[โลก]นี้ไป

ให้ดีกว่า[โลก]ที่เราได้รับมา”

.

อแมนดา,

เขาเรียกเธอว่ากวีเยาวชน

หากเธอคือ ‘ผู้เฒ่า’ แห่งหมู่บ้านของเรา

 

Tags: , , ,