“เสรีภาพจงเจริญ”

เสียงสุดท้ายที่ฮันส์ โชล เปล่งออกมาท้าทายความตาย แสกหน้าคำพิพากษาประหารชีวิต ด้วยข้อหาทรยศต่อชาติ อาจหาญดูหมิ่นท่านผู้นำ 

เสียงสุดท้ายสั้นเพียงเฮือกลมหายใจ ก่อนใบมีดคมกริบของเครื่องประหารที่ได้ชื่อว่า ‘อิงมนุษยธรรม’ ที่สุดอย่างกิโยตินจะพรากชีวิตสองพี่น้องตระกูลโชล ให้จบสิ้นโดยพลันในวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 1943 

เสียงสุดท้ายสิ้นสุดลงง่ายๆ เพียงเพชฌฆาตปล่อยใบมีดลงสู่เบื้องล่างที่ศีรษะถูกตรึงไว้ หากไม่มีเครื่องประหารใดจะประหัตประหารจิตวิญญาณเสรีได้ เมื่อแรงสั่นสะเทือนของเสียง ‘เสรีภาพจงเจริญ!’ ที่แท้จริงนั้นดังผ่านสิ่งที่สองพี่น้อง และสหายขบวนการ ‘กุหลาบขาว’ ได้ฝากไว้

โซฟี โชล หลงใหลในธรรมชาติและการอ่าน สองสิ่งที่ส่งผลต่อความคิดเธอมหาศาล

เมื่อมองเห็นมวลเมฆบนท้องฟ้า กิ่งไม้ใบไม้แกว่งไกวโอนเอน ท่ามกลางแสงสีแจ่มใส ฉันตั้งหน้ารอคอยให้ฤดูใบไม้ผลิมาถึงอีกครั้ง” (223)

หากคุณกำลังโดนทางการไล่ตามจับ ด้วยข้อหาที่อาจถึงชีวิต คุณจะมีปฏิกิริยาเช่นไร? หวาดกลัว ตัวสั่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ?

แต่ไม่เลย นั่นไม่ใช่ปฏิกิริยาของโซฟี ตรงกันข้าม สิ่งที่โซฟีทำหลังรู้ว่าทางการเกสตาโปเริ่มแว่วข่าวถึงการมีส่วนร่วมของเธอในกลุ่มกุหลาบขาว คือการเดินกลับห้องพักตามปกติ เปิดแผ่นเสียงบรรเลงบทประพันธ์เพลง Trout Quintet ของ ฟรันทซ์ ชูเบิร์ท ท่วงทำนองที่สนุกสนานราวกับปลาเทราต์กระโดดไปมา (ตามชื่อเพลง) แหวกว่ายในธาราอย่างเริงร่า จนทำให้เธอกระโดดโลดเต้นในใจ แม้สถานการณ์ภายนอกจะห่างไกลจากคำว่าแจ่มใส

ภาพ ‘นกนานาชนิดส่งเสียงเพลงเจื้อยแจ้ว สรรพสิ่งทั้งหลายกู่ก้องร้องตะโกนอย่างสุขหรรษา’ ที่ปรากฏในเนื้อเพลงนั้น วาดภาพฝันถึงวันที่โลกผันจากฤดูกาลเหน็บหนาว เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิอีกครั้ง ภาพที่เป็นดั่งปลายทาง และเป็นจุดเริ่มต้นของการยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการใชีชีวิตไปพร้อมๆ กัน

โซฟีหลงไหลในธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่เธอเติบโตในเมืองเล็กๆ แวดล้อมด้วยภูเขา ลำธาร และความคิดอ่านเสรีที่ได้จากพ่อของเธอ โซฟีเชื่อเสมอว่าพระเจ้าเป็นผู้สรรค์สร้างสรรพสิ่ง หาก ‘พระเจ้า’ ในความหมายของเธอหาใช่ใครอื่นไม่ นอกจากความหยั่งรู้ มโนธรรม จิตใต้สำนึกลึกล้ำไพศาลไร้สิ้นสุดในมนุษย์ทุกคน

ความศรัทธาต่อ ‘พระเจ้า’ ในแง่นี้นั้น ทำให้เธอมองการประหัตประหารเสรีภาพทางความคิดว่า เป็นการกระทำอุกอาจที่ไม่เพียงแต่พรากสิทธิเสรีภาพ หากยังทำลายความหมายสูงสุดของการมีชีวิตจนสิ้นซากไป และในแง่นี้นั้น การปกป้อง ต่อต้านทรราชย์ใดๆ ที่กระทำเช่นนั้นจึงเป็นพันธกิจสำคัญในขณะมีชีวิต 

ด้วยความศรัทธาอย่างยิ่งต่อจิตเสรีของชีวิต โซฟีจึงรับไม่ได้อย่างยิ่ง เมื่อเธอต้องรับฟังโฆษณาชวนเชื่อซ้ำซากว่า ‘ความรักชาติจะผลักดันเราสู่ความยิ่งใหญ่’ อีกทั้งยังมีเหตุมากมายที่ทำให้เธอไม่สามารถอดรนทนเฉยได้อีกต่อไป ทั้งการเห็นกิจกรรมควบคุมความคิดอย่างการเผาหนังสือ การต่อต้านงานศิลปะสมัยใหม่ที่ฮิตเลอร์บอกว่าเป็นการบ่อนทำลายวัฒนธรรมเยอรมันดั้งเดิม รวมทั้งการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำให้เสรีภาพของวัยเยาว์ ไม่ว่าจะเป็นการไว้ทรงผมที่ต่างออกไป สังสรรค์กับเพื่อนฝูง หรือการรักร่วมเพศเดียวกันกลายเป็น ‘เรื่องผิดกฎหมาย’ 

เหตุการณ์ต่างๆ สร้างความอึดอัด ทับถมใจมาเรื่อยๆ จนถึงจุดแตกหักที่ทำให้โซฟีรับไม่ได้อีกต่อไป เมื่อพี่ชายของเธอถูกจับกุมขณะฝึกในค่ายทหารด้วยข้อหามี ‘สัมพันธภาพใกล้ชิด’ กับเยาวชนสมาชิกที่นับว่าเป็นความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 175 ของเยอรมันในขณะนั้น ที่ตัดสินการรักร่วมเพศเดียวกันว่าเป็นความผิดถึงขั้นต้องจำคุก 

คำพิพากษานี้ ส่งผลให้โซฟีต้องแบกรับถ้อยคำเสียดสีจากผู้คนรอบข้าง กลายเป็นบาดแผลของครอบครัวที่เชื่อว่านี่เป็นมูลเหตุสำคัญที่เริ่มทำให้เธอมีความคิดต่อต้านระบอบทรราชย์ที่ใช้อำนาจควบคุมความคิด ลิขิตชีวิตคนด้วยตรรกะวิปริต ผิดธรรมชาติมนุษย์

รัฐดำรงคงอยู่เพื่อสนองรับใช้ปัจเจกบุคคล ไม่ใช่ในทางกลับกัน” เซนต์โธมัส อากีนาส

บางส่วนจากสารพัดงานปรัชญา วรรณกรรม และพระวจนะในคัมภีร์ไบเบิลที่พี่น้องตระกูลโชลหันมาให้ความสนใจอ่านงานเขียน แลกเปลี่ยนสนทนา แสวงหาคุณค่าบางอย่าง เพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณของตนท่ามกลางความไม่ชอบกลของสังคม โดยเฉพาะในช่วงที่นโยบายรังแกชาวยิวรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สุเหร่าถูกเผา ชาวยิวถูกสังหาร แต่ความโหดร้ายในสายตาโซฟีไม่ใช่เพียงการกระทำของพลพรรคนาซี หากรวมถึงการนิ่งเฉย ไม่ทำอะไรเลยของชาวเยอรมนีต่อเหตุการณ์ตกต่ำทางมนุษยธรรมเช่นนี้

ฮันส์ โชล, โซฟี โชล และคริสตอฟ พรอบส์ บางส่วนของแกนนำกลุ่มกุหลาบขาว

ทุกคนมีส่วนผิด นับตั้งแต่การเข้าพิชิตโปแลนด์ คนยิวในแผ่นดินนี้มีมากกว่าสามแสนคนถูกฆ่าล้างผลาญไปในสภาพเลวร้ายยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน … แล้วก็อีกเช่นเคย ประชาชนเยอรมันต่างพากันนอนหลับนิ่งเฉย นอนอยู่อย่างทึ่มทื่อและโง่งั่ง ปล่อยให้บรรดาอาชญากรฟาสซิสต์เหล่านี้มีโอกาสแสดงความมุทะลุดุดันออกอาละวาดอย่างบ้าคลั่ง และพวกมันก็กำลังลงมือทำอยู่ตลอดเวลา​… ทุกคนมีส่วนผิด… ผิด… ผิด… ผิด!” (353)

ถ้อยคำจากใบปลิวฉบับที่หนึ่ง ในนามกลุ่ม ‘กุหลาบขาว’ มิตรสหายที่เธอได้มาพบที่มหาวิทยาลัยมิวนิกที่มักใช้เวลาส่วนใหญ่สนทนากันยาวนานในสารพัดหัวข้อ ทั้งปรัชญา ศาสนา วรรณกรรม ด้วยทัศนะที่คัดค้านนาซี บทสนทนาที่เข้มข้นมากขึ้น มิตรภาพที่แน่นแฟ้นมากขึ้น ประกอบกับอำมหิตของนาซีที่เริ่มทวีขึ้น ทำให้พวกเขาตัดสินใจก้าวจากการถกเถียงเชิงความคิด ไปสู่การลงมือต่อต้านระบอบเผด็จการอย่างเป็นรูปธรรม

การตัดสินใจที่เปลี่ยนมิตรสหายในรั้วมหาลัย ให้กลายเป็น ‘ปรปักษ์ต่อชาติ’ เป็น ‘ศัตรูของประชาชน’ ตามนิยามเผด็จการ

การตัดสินใจที่พวกเขารู้แก่ใจว่าเสียงต่อชีวิตแค่ไหน หากรู้ดีในส่วนลึกของใจเช่นกันว่า การไม่กระทำการใดนั้นเป็นภัย และชวนอับอายต่อการมีชีวิตอยู่ยิ่งเสียกว่า

กลุ่มกุหลาบขาวเริ่มการต่อต้านอย่างสงบด้วยการทำใบปลิวแจก และขอให้ผู้รับช่วยทำสำเนาส่งต่อไปให้มากที่สุด เนื้อหาในใบปลิวเขียนด้วยผู้คนต่างกันไป ด้วยใจความต่างวาระไป มีทั้งการขอความร่วมมือให้ชาวเยอรมนีต่อต้านนาซี ‘ก่อนจะสายเกินไป’ หากไม่เช่นนั้นแล้ว นี่จะกลายเป็น ‘ความรู้สึกผิดบาปรวมหมู่’ และชื่อเยอรมนีจะต้อง ‘เสื่อมเกียรติยศไปจนตลอดกาล’ ไปจนถึงการวิพากษ์ปรัชญาชาตินิยม ประณามระบอบเผด็จการว่าเป็นความชั่วช้าสามานย์ ขัดกับจิตเสรีของมนุษย์โดยธรรมชาติ 

ในใบปลิวครั้งที่ห้า เป็นที่แน่ชัดว่า ‘กุหลาบขาว’ ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มเพื่อนนักศึกษาขนาดเล็กอีกต่อไป หากเป็น ‘ขบวนการต่อต้านแห่งเยอรมนี’ ที่ยิ่งเติบโตมากเท่าไร แรงกระเพื่อมทางความคิดของกลุ่มยิ่งกระจายตัวไปในวงกว้างขึ้นเท่านั้น และนั่นย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้จุดประกายความคิดด้วยเช่นกัน 

แต่อย่างที่ได้เกริ่นไปในข้างต้นแล้วนั้นว่า ปฏิกิริยาของโซฟีกลับนิ่งสงบ เมื่อพบว่าทางการเกสตาโปเริ่มรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของเธอ ความเงียบสงบของโซฟีที่คงเส้นคงวา แม้ในวันที่ถูกจับกุมแล้วเธอก็ยังยืนยันแน่ชัดต่อเจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนว่า 

ดิฉันเชื่อว่าพวกเราทำสิ่งประเสริฐสุดให้แก่ประเทศชาติ ดิฉันไม่เสียใจในสิ่งที่ได้ทำลงไป ดิฉันยินดีรับผลพวงอันเนื่องจากการกระทำของตนเอง” (256)

และแม้เจ้าหน้าที่สอบสวนนาซีจะยืนกรานเปิดฉากอบรมสอนสั่ง ร่ายความหมายลัทธิชาตินิยมใส่โซฟีว่าเธอควรจะสำนึกถึงบุญคุณท่านผู้นำและกองทัพไว้บ้าง โซฟีก็ยังคงตอบกลับด้วยความสงบนิ่งว่า 

ท่านต่างหากที่มีโลกทัศน์ผิดพลาดไปแล้ว” (256) และ “สิ่งที่เราได้เขียนและพูดคือสิ่งที่หลายคนเชื่อเช่นนั้นอยู่แล้ว ทำไมท่านจึงไม่กล้าเผชิญกับมันเล่า” (275)

โซฟีถูกจับกุมในเช้าวันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ 1943 เช้าวันนั้นโซฟีและฮันส์ออกจากบ้านไปมหาวิทยาลัยตามปกติ เตรียมนำใบปลิวปึกใหญ่ไปกระจายตามจุดต่างๆ เมื่อมาถึงห้องโถงกลางขนาดใหญ่ชื่อว่า Lichthof ที่ห้อมล้อมด้วยห้องบรรยายที่อาจารย์และนักศึกษารวมตัวกันแน่นขนัดอยู่ข้างใน ชั่วขณะที่โซฟีและฮันส์กำลังแยกกันทำงาน อาจเป็นความพลุ่งพล่านบางอย่าง หรืออาจเป็นเสี้ยวสะดุดที่ทำให้โซฟีปัดมือผลักใบปลิวปลึกใหญ่ร่วงจากโถงกลางลงสู่เบื้องล่าง จังหวะเดียวกับที่นักศึกษาจำนวนมากทยอยออกจากห้องบรรยายพอดิบพอดี และพนักงานมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกผู้จงรักภักดีต่อนาซีก็เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวพอดี

หลังจากถูกสอบสวนยาวนาน ถูกบังคับให้สารภาพเพื่อสาวความไปยังผู้มีส่วนร่วมในขบวนการกุหลาบขาวคนอื่นๆ โซฟีก็ถูกตัดสินด้วยโทษประหารชีวิตอย่างไร้เงื่อนไข เพื่อให้เป็นคำเตือน ขู่ให้ใครต่อใครที่ริอาจคิดท้าทายระบอบนาซีได้เห็นว่าการเลือกเส้นทางนี้จะมีจุดจบเช่นไร

อนุสรณ์สถานระลึกถึงกลุ่มกุหลาบขาวลานหน้ามหาวิทยาลัยมิวนิค

ความคิดนี้เสรี ความคิดฉันผลิบานโดยอิสระ

ความคิดนี้เสรี ความคิดฉันก่อเกิดพลัง

ผู้รู้มิอาจกำหนด ผู้ล่ามิอาจดักจับ

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ความคิดนี้เสรี

ฉันคิดเช่นที่ต้องการ สิ่งนี้ก่อสุขสันต์

มโนธรรมกำหนด ฉันต้องให้คุณค่าต่อสิทธินี้

ความคิดฉันไม่สนองต่อเจ้านายหรือผู้เผด็จการ

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ความคิดนี้เสรี

ถ้าทรราชจับฉันโยนเข้าคุก

ความคิดฉันจะยิ่งเบ่งกระจายเสรีเช่นพฤกษาฤดูผลิบาน

รากฐานจะพังภินท์ โครงสร้างจะล้มสลาย

เสรีชนจะตะโกนก้อง 

ความคิดนี้เสรี” (357)

เนื้อร้องจากทำนองเพลงเก่าแก่ของเยอรมนี ที่เคยถูกใช้ในการต่อต้านอำนาจนิยมมายาวนานก่อนหน้าการเกิดขึ้นของขบวนการกุหลาบขาว เนื้อหาร้องถึงคุณค่าของเสรีภาพที่ไม่มีสิ่งใดจะกั้นขวางได้ และได้กลายมาเป็นเพลงประจำการเคลื่อนไหวมวลชนในเยอรมนีจนถึงปัจจุบัน บทเพลงนี้ถูกห้ามเผยแพร่ในยุคเผด็จการหลายต่อหลายครั้ง และแน่นอนรวมถึงครั้งที่นาซีปกครองประเทศด้วย

แต่แม้จะมีการสั่งห้ามไม่ให้มีการบรรเลง ‘บทเพลงอันตราย’ นี้อย่างไร ก็ไม่อาจห้ามให้โซฟีเป่าฟลูตเพลงนี้ให้พ่อของเธอฟัง เมื่อครั้งที่เขาถูกจำคุกในคดีหมิ่นผู้นำเผด็จการ

บทเพลงอันตรายที่ถูกสั่งห้ามยังคงถูกนำมาร้องต่อไป ทำให้เห็นว่าเผด็จการอาจใช้อำนาจตัดสินถูก-ผิดได้ แต่พวกเขาไม่อาจห้ามความคิดผู้คน และแรงกระเพื่อมที่ส่งผลต่อไป

พวกเขาอาจสั่งประหารชีวิต โซฟี โชล ได้

แต่พวกเขาไม่อาจห้ามให้เสียงสะท้อนของเสียงตะโกนเฮือกสุดท้ายของเธอที่ร้องออกมาว่า

“เสรีภาพจงเจริญ!”

และถ้อยความอื่นๆ ที่ถูกบันทึกในใบปลิว สลักไว้ในความคิดผู้คน ส่งผลต่อขบวนการต่อต้านความไม่ชอบธรรม เป็นตัวอย่างอารยะขัดขืนที่ข้ามกาล ข้ามเวลา

 

อ้างอิง

ไพรัช แสนสวัสดิ์. โซฟี โชล กุหลาบขาวและนาซี. WAY OF BOOK, 2563.

ที่มาภาพ

https://hitraveltales.com/munich-sophie-scholl-memorial/

https://thewisdomdaily.com/german-refused-nazi/

Fact Box

  • โซฟี โชล กุหลาบขาวและนาซี, ผู้เขียน ไพรัช แสนสวัสดิ์, สำนักพิมพ์ WAY of BOOK ราคา 230 บาท
Tags: , , ,