ในช่วงเดือนที่ผ่านมา คงไม่มีใครไม่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับซึงรี บิ๊กแบงและผองเพื่อน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีอาชญากรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งล่วงละเมิดทางเพศ ค้ามนุษย์ ติดสินบนเจ้าพนักงาน จนถึงใช้สารเสพติด ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างที่สุดสำหรับคนในวงการบันเทิงเกาหลี

นอกจากเรื่องเบื้องลึกเบื้องหลังของขบวนการผิดกฎหมายครั้งนี้ จนถึงวิธีการสืบค้นและนำเสนอข่าวของนักข่าวเกาหลีใต้ ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจนั่นก็คือ ความตื่นรู้เรื่องเพศในสังคมเกาหลีใต้ ที่จุดติดมาในช่วงปีให้หลังมานี้ และน่าจะยังยืนระยะอีกยาวในปี 2019

ความตื่นตัวครั้งนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่มาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การเคลื่อนไหวต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ ‘มีทู’ (#Metoo) รวมถึงปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่รัฐบาล สถาบันการศึกษา และประชาชนมีต่อการป้องปรามอาชญากรรมและความรุนแรงทางเพศ

#Metoo การสร้างความตื่นรู้ที่ต่อเนื่องและจริงจัง

ลอร่า บิคเกอร์ (Laura Bicker) แห่งสำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ต้นทางสำคัญของการเคลื่อนไหวมีทูในสังคมเกาหลีนั้นคือ กรณีของอัยการซอ ชี-ฮย็อน ผู้ถูกอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเมาสุราเข้าประชิดร่างกายเธอทั้งที่ไม่ยินยอมต่อหน้าผู้คนมากมายในงานศพแห่งหนึ่งเมื่อปี 2010 โดยไม่มีแขกคนใดทักท้วงหรือตำหนิติติงพฤติกรรมของอดีตรัฐมนตรีคนนั้น

อัยการซอได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของเธอ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า เธอจึงตัดสินใจไปให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์หนึ่งของสถานี JTBC เพราะเห็นว่า นี่ขนาดเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ได้รับความเป็นธรรม แล้วประชาชนตาดำๆ ล่ะจะเป็นอย่างไร หลังจากให้สัมภาษณ์ บรรดาพรรคการเมืองและสื่อมวลชนต่างพากันยกย่องเธอว่า เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของการเคลื่อนไหวเพื่อความถูกต้องเป็นธรรมทางเพศในสังคมเกาหลีใต้

กรณีของอัยการซอส่งผลสะเทือนเลือนลั่นไปทั่วแผ่นดินเกาหลี บุคคลมีชื่อเสียงหลายคนในหลายวงการถูกกล่าวหาในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ เช่น อัน ฮี-จ็อง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชุงช็องใต้ ตัวเต็งผู้สมัครประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนต่อไป หรือ โค อึน มหากวีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลหลายครั้ง ผลก็คือ รายแรกถูกพิพากษาจำคุกและคงไม่มีโอกาสได้กลับเข้าสู่วงการการเมืองอีกแล้ว ส่วนรายหลังถูกถอดชื่อและผลงานออกจากแบบเรียน รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซลสั่งปิดห้องสมุดที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา แม้ยังไม่ได้พิสูจน์ความผิดตามกระบวนการยุติธรรมก็ตาม

นอกจากสองกรณีนี้ที่เป็นการล่วงละเมิดทางเพศที่ผู้ชายที่มีอำนาจและสถานะทางสังคมสูงกว่าแล้ว ยังมีอีกกรณีที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนรักเพศเดียวกันที่ทำงานแวดวงเดียวกัน

ผู้กำกับอี ฮย็อน-จู ประกาศลาออกจากวงการ หลังถูกผู้กำกับอีกคนหนึ่งกล่าวหาว่า อีได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกับเธอโดยที่เธอไม่ยินยอม ผู้กำกับอียอมรับว่า เธอเป็นเลสเบียน และได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้กำกับที่ออกมากล่าวหาจริง แต่ก็ “เป็นไปโดยธรรมชาติ” ไม่ได้มีการใช้กำลังความรุนแรงบังคับขู่เข็ญ อย่างไรก็ดี แฟนผู้ชายของผู้กำกับที่อ้างตัวเป็นผู้เสียหายได้โทรหาเธอ และเธอก็ยืนยันตามที่ว่า เดือนต่อมา เธอได้รับหมายศาลเพราะถูกฟ้องร้องข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ

เพิ่มเติมจากการติดตามตรวจสอบผู้มีชื่อเสียงแล้ว บรรดามวลมหาโคริยาชนสุภาพสตรีทั้งหลาย ยังได้ออกมาเดินขบวนและรณรงค์สร้างความตระหนักถึงการล่วงละเมิดทางเพศในสังคมเกาหลีปัจจุบันอีกด้วย เช่น การชุมนุมเรียกร้องให้ตรวจสอบและทำลายกล้องแอบถ่าย (spycam) การชุมนุมเรียกร้องให้การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมาย การแสดงจุดยืนคัดค้านนิยามความสวยแบบที่เป็นอยู่ในสังคมเกาหลีเพื่อท้าทายระเบียบสังคมแบบชายเป็นใหญ่

รายงานของ Korea Exposé สื่อทางเลือกในเกาหลีใต้ระบุว่า การชุมนุมเรียกร้องให้ตรวจสอบและทำลายกล้องแอบถ่ายเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2018 ถือเป็นการชุมนุมของผู้หญิงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีร่วมสมัย ผู้ชุมนุมนัดหมายกันใส่เสื้อสีแดง เพื่อแสดงความเกรี้ยวกราด พร้อมกับย้ำคำสำคัญว่า “ชีวิตของฉันไม่ใช่ภาพโป๊ของคุณ”

พลังของการเคลื่อนไหวมีทูนั้นแผ่ไพศาลไปทั่วสังคมเกาหลี แม้แต่มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลก็หนีไม่พ้น…

กรณีแรก อาจารย์คณะแพทยศาสตร์คนหนึ่งที่ลงสมัครรับเลือกตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลต้องขอถอนตัวออกจากกระบวนการสรรหา แม้จะได้รับเลือกตั้งจากประชาคมด้วยคะแนนเป็นอันดับ 1 เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการทำหนังสือคัดค้านโดยขอให้สอบสวนว่า ผู้สมัครท่านนี้เกี่ยวข้องกับกรณีล่วงละเมิดทางเพศตามที่มีผู้กล่าวหาหรือไม่ กรณีนี้ทำให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีถูกตำหนิว่า ไม่สามารถคัดกรองบุคคลที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมได้

กรณีที่สอง มีนักศึกษาร้องเรียนว่า ‘อาจารย์เอ (A교수)’ (นามสมมติของอาจารย์สาขาวิชาภาษาสเปนคนหนึ่ง) ได้ล่วงละเมิดเธอด้วยการจับขาเธอและค่อย ๆ เลื่อนขึ้นไปสัมผัสชายกระโปรง พร้อมกับพูดประโยคที่นักศึกษาคนนั้นรู้สึกอึดอัด เช่น “อย่าไปเที่ยวต่างจังหวัดกับแฟนสองต่อสองนะ” และ “ถ้าจะมีแฟน ต้องมาขออนุญาตผมก่อนนะ”

กรณีที่สองนี้ทำให้นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ไม่พอใจอย่างมาก และได้รวมตัวกันชุมนุมหน้าอาคารสำนักงานอธิการบดีเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา เวลาประมาณ 5 โมงเย็น (ที่เลือกช่วงเวลานี้ เพราะต้องการให้ผู้บริหารที่กำลังกลับบ้านได้เห็น) โดยจัดกิจกรรมปราศรัย ร้องเพลง อ่านแถลงการณ์ และตะโกน “ไล่อาจารย์เอออกไป!” พร้อมกับจุดเทียนแบบเดียวกับที่ผู้ชุมนุมเคยทำเมื่อปี 2016-2017 และเดินไปติดกระดาษข้อความตำหนิอาจารย์เอที่หน้าห้องทำงานของเขาด้วย

นักศึกษารวมตัวกันแปะกระดาษข้อความตำหนิอาจารย์เอ

การชุมนุมขับไล่อาจารย์เอที่หน้าสำนักงานอธิการบดีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม

นอกจากการเคลื่อนไหวออฟไลน์แล้ว นักศึกษากลุ่มดังกล่าวยังเปิดหน้าเฟซบุ๊กสำหรับรณรงค์ขับไล่อาจารย์เอด้วย เฟซบุ๊กนี้ทำหน้าที่หลายอย่าง อาทิ ให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ให้ข้อมูลกิจกรรมรณรงค์ และนัดหมายรวมกลุ่มชุมนุมแต่ละครั้ง ซึ่งการชุมนุมครั้งล่าสุดมีสื่อหลักของเกาหลีใต้อย่าง KBS และ MBC มาบันทึกภาพและทำข่าวด้วย

#YouToo ดูปฏิกิริยาและเสียงสะท้อนอื่นๆ ในสังคมเกาหลีใต้

คนในสังคมเกาหลีมีปฏิกิริยาต่อการเคลื่อนไหวนี้ค่อนข้างหลากหลาย

ในระดับรัฐบาล ท่านประธานาธิบดีมุน แจ-อินประกาศตัวชัดเจนว่า ท่านสนับสนุนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงและขบวนการ ‘เฟมินิสต์’ ผลจากการประกาศตัวชัดเจนนี้ทำให้คะแนนนิยมของท่านในหมู่ผู้หญิงเพิ่มขึ้น แต่กลับลดลงอย่างมากในหมู่ผู้ชายอายุ 20-30 ปี

และหลังจากมีกรณีอื้อฉาวของซึงรี ท่านมุนก็ได้ใช้อำนาจประธานาธิบดีออกคำสั่งให้ดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดและผู้เกี่ยวข้องอย่างถึงที่สุด พร้อมกับสั่งอัยการรื้อ 2 คดีที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ ได้แก่ คดี ‘คนหน้าเหมือน’ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลนางสาวปัก กึน-ฮเย และคณะ มีกิจกรรมร่วมเพศหมู่กับผู้หญิงจำนวน 30 คน โดยมีนายทุนเป็นผู้จัดหามาให้ รวมถึงคดีนักแสดงหญิงชื่อดังจาง จา-ยอน (Jang Ja-Yeon) เสียชีวิตในบ้าน โดยระบุในจดหมายลาตายว่า เธอถูกต้นสังกัดบังคับให้ให้บริการทางเพศแก่ผู้บริหารสื่อและนักธุรกิจจำนวน 30 คน เอกสารชิ้นหนึ่งระบุว่า เธอเคยต้องติดตามเอาใจผู้บริหารที่บินมาเล่นกอล์ฟที่ประเทศไทยด้วย

ท่านมุนกล่าวว่า “หากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ เราก็ไม่อาจเรียกสังคมนี้ว่าเป็นสังคมที่เป็นธรรม” ซึ่งแนวคิดเรื่องสังคมเป็นธรรมนี้เป็นหัวใจหลักในนโยบายสาธารณะของท่านเมื่อครั้งสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ถือเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของชาวเกาหลีใต้ที่ออกมาจุดเทียนขับไล่อดีตประธานาธิบดีเมื่อปีสองปีที่แล้ว

สำหรับวงการบันเทิงเอง มีนักแสดงที่สนับสนุนการรื้อคดีของชังและให้ความเห็นเชิงบวกต่อขบวนการมีทูหลายคน ตั้งแต่ยุน จี-โอ (Yoon Ji-Oh) เพื่อนสนิทของชังและพยานสำคัญในคดี ผู้เก็บจดหมายลาตายและรับรู้เรื่องราวของชังมาโดยตลอด ยุนได้โพสต์อินสตาแกรม วิงวอนสื่อมวลชนและเพื่อนดารานักแสดงให้ช่วยกันรณรงค์ส่งเสียงสนับสนุนไปยังทำเนียบประธานาธิบดี

เมื่อปีที่แล้ว โซ จี-ซ็อบ (So Ji-Seob) นักแสดงชื่อดัง ได้แสดงความเห็นสนับสนุนใครก็ตามที่ทำให้สังคมส่วนรวมได้ยินเสียงของตัวเอง และทุกคนก็ควรพยายามเปลี่ยนแปลงและสร้างโลกที่ดีกว่า เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “การเป็นคนดีและการเป็นนักแสดงที่ดีนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ผมก็ไม่แน่ใจหรอกว่า การเป็นคนดีหมายถึงอะไร แต่ผมอยากเป็นคนที่ส่งต่อพลังบวกแล้วก็ทำให้คนรู้สึกมีความสุข ไม่ว่าคนคนนั้นผ่านอะไรมาก็ตาม”

สำหรับภาคการศึกษา ประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศและการใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยตระหนักและถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ศูนย์สิทธิมนุษยชนมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (SNU Human Rights Center) ได้เผยแพร่แนวปฏิบัติเมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศเผยแพร่บนเว็บไซต์ และเปิดสายโทรศัพท์รับข้อมูลร้องเรียน ที่สำคัญคือ บังคับให้นักศึกษาเข้าใหม่ทุกคนทุกระดับต้องเข้ารับฟังบรรยายเกี่ยวกับการป้องปรามอาชญากรรมทางเพศและการคุ้มครองสิทธิภายในวิทยาเขตเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

นอกจากระบบรับร้องเรียนแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้เผยแพร่แบบสอบถามเพื่อการวินิจฉัยตนเองเกี่ยวกับอำนาจกำหนดตนในทางเพศ (Sexual Self-Decision Power) และแบบทดสอบความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งแต่ละคำถามจะมีคำตอบที่ถูกต้องอยู่พร้อมกับคำอธิบายในทางกฎหมายและทางสังคมรองรับ แบบสอบถามออนไลน์เหล่านี้จะช่วยปัจเจกบุคคลประเมินทัศนคติและการดำรงตนทางเพศให้ปลอดภัยจากการเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำด้วย

ผลสำรวจเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2018 ระบุว่า 80% ของคนที่ตอบแบบสอบถามของสถาบันพัฒนาสตรีแห่งเกาหลีใต้ สนับสนุนการเคลื่อนไหวมีทู เพราะมีส่วนสร้างความตระหนักรู้เรื่องความรุนแรงทางเพศและการเลือกปฏิบัติ ขณะที่ 62% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า สังคมเกาหลีใต้เป็นสังคมไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิง

รายงานของ The Hankyoreh ชี้ให้เห็นผลลัพธ์เชิงบวกของการเคลื่อนไหวมีทูที่เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ความคิดที่ไม่เคยได้พูดและเสียงที่ไม่เคยได้ยินได้เปล่งออกมา พร้อมกับปรับทัศนคติของคนในสังคมที่ตำหนิเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำให้ต้องอับอายและปล่อยให้เรื่องเงียบไปเอง กลายเป็นผู้ชี้ให้เห็นปัญหา (whistle-blower) ที่ตัวผู้กระทำและโครงสร้างทางสังคมที่เกื้อหนุนให้วิธีคิดและการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรมยังดำรงอยู่

อย่างไรก็ดีในการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่นี้ก็ส่งผลด้านกลับอย่างที่เกิดขึ้นในซีกโลกตะวันตกเช่นกัน The Korea Herald รายงานเสียงสะท้อนและคำวิจารณ์ต่อการเคลื่อนไหวมีทู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้ถูกกล่าวหาตัดสินใจจบชีวิตตัวเองหลังจากกลายเป็นประเด็น ยู อา-อิน (Yoo Ah-In) เคยโพสต์ฟุตเทจคนที่ถูกเผาในยุโรปยุคกลางบนอินสตาแกรมของเขา เพื่อจะสื่อเป็นนัยว่า นี่คือการล่าแม่มดแบบหนึ่ง ทั้งที่ยูกล่าวว่าตัวเขาเองนั้นก็เป็นเฟมินิสต์ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางคนถึงกับกล่าวว่า เหยื่อคือคนที่ต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียชีวิตของผู้ถูกกล่าวหาด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ มีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนหนึ่งได้ตั้งกลุ่ม #Youtoo เพื่อต่อสู้เชิงสัญลักษณ์กับ #Metoo โดยชี้ให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวมีทูได้ทำให้ผู้ชายสูญเสียและเจ็บปวดเป็นครั้งที่สอง และการเคลื่อนไหวนี้คือผลข้างเคียงของความเกลียดชังเพศชาย ผู้ใช้กลุ่มนี้ได้ระดมทุนเพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่วรรณกรรมชื่อ คิม จี-ฮุน เกิดปี 1990 ที่รำพึงถึงความจำเป็นที่ผู้ชายต้องถูกบังคับเกณฑ์ทหาร ทำให้เสียโอกาสทางสังคมหลายอย่าง แข่งกับวรรณกรรมเฟมินิสต์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์สังคมชายเป็นใหญ่สไตล์เกาหลีที่ผู้หญิงต้องเสียสละทุกอย่างเพื่อครอบครัวอย่าง คิม จี-ย็อง เกิดปี 1982 ซึ่งสุดท้าย ผู้ดูแลหน้าเฟซบุ๊กได้ยกเลิกโครงการระดมทุนและปิดหน้าลง เพราะมีผู้ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาทั้งชายหญิงแสดงความเห็นคัดค้านในสื่อออนไลน์จำนวนมาก

สำหรับผู้เขียน การเคลื่อนไหวมีทูได้ปรับเพดานของความตระหนักรู้ถึงความไม่เท่าเทียมและการล่วงละเมิดทางเพศในสังคมที่รับรู้กันว่า เป็นสังคมชายเป็นใหญ่อย่างเกาหลีให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทั้งคิม จี-ย็อง และคิม จี-ฮุน ในการต่อสู้ตามแนวทางที่ตนเชื่อ เพื่อให้สังคมเกาหลีเป็นสังคมที่เป็นธรรมอย่างแท้จริงตามที่ท่านมุนได้พูดเสมอก็แล้วกันครับ  

Tags: , , ,