1.

ในทุกสงครามและความรุนแรง สิ่งที่จำเป็นมิใช่เพียงการปกป้องชีวิตให้รอดพ้นจากความตายและอยู่รอดปลอดภัย ทว่า การรักษาความเป็นมนุษย์ให้หลงเหลืออยู่ก็เปรียบเสมือนสนามรบที่ซ่อนตัวอยู่ในสงครามอีกชั้นหนึ่ง ในช่วงที่การเกลียดและกลัวชนต่างชาติ (Xenophobia) ถูกจุดชนวนขึ้นในยุโรปโดยกองทัพนาซี ชาวยิวจำนวนมากต้องเผชิญหน้ากับความเกลียดชังนานาประเภท ทั้งยังกลายเป็นเป้าหมายของความรุนแรงโดยตรงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

เมื่อคราที่กองทัพนาซีแผ่ขยายอำนาจถึงออสเตรีย ฟรอยด์ในฐานะชาวยิวผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดได้ถูกเรียกตัวเข้าพบเพื่อรับการไต่สวน สำหรับชายวัย 80 กว่าปี สิ่งนี้อาจเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสเกินกว่าจะรับมือได้  ในหนังสือของมาร์ก เอ็ดมุนด์สัน (Mark Edmundson) บอกเล่าว่า อันนา (Anna Freud) ลูกสาวของฟรอยด์ อาสาเป็นตัวแทนพ่อเพื่อเข้าไปพบกับเจ้าหน้าที่ของนาซี  ท้ายที่สุด เธอได้รับการปล่อยตัว และจากนั้นไม่นาน ครอบครัวของฟรอยด์ก็ลี้ภัยไปอยู่ลอนดอน  หลายคนอาจมองว่าครอบครัวของฟรอยด์โชคดีและด้วยสถานะของเขา การอพยพลี้ภัยและการค้นหาที่พักพิงใหม่น่าจะเป็นเรื่องที่ง่ายดายกว่าชาวยิวทั่วไป ผมเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ทว่า สิ่งที่หัวใจของผมยังคงจดจำก็คือ ก่อนที่อันนาจะเดินทางไปรับการไต่สวน ฟรอยด์ได้ยื่นยาพิษใส่มือลูกสาว เป็นนัยให้เธอฆ่าตัวตายเสียดีกว่าถูกนาซีทรมาน

สำหรับผู้เป็นพ่อ การกระทำดังกล่าวไม่ต่างจากการปล่อยให้ลูกสบตากับความตาย ไม่ว่าจะเป็นการยินยอมให้เธอเป็นตัวแทนและการยื่นยาพิษให้ มันอาจเป็นการตัดสินใจอันยากยิ่งของฟรอยด์ ชายผู้เชื่อในมนุษยภาพอย่างลึกซึ้ง

2.

ภายในห้องทำงานของฟรอยด์ นักท่องเที่ยวและผู้เยี่ยมชมมักจะให้ความสำคัญกับเก้าอี้ทำงานของเขา จินตนาการของคนส่วนใหญ่อาจจะเดินทางไปสู่อดีตของชายคนหนึ่งที่ใช้เก้าอี้นี้นั่งเขียนงานวิจัย บันทึกอาการของผู้ป่วย ตลอดจนเขียนจดหมายโต้ตอบทางความคิดกับปัญญาชนคนอื่นๆ ในยุโรป เก้าอี้ของฟรอยด์จึงมิใช่เก้าอี้ทั่วไป หากเป็นดั่งสัญลักษณ์และที่ตั้งทางปัญญาของเขา โดยส่วนตัว ผมไม่ใคร่สนใจเก้าอี้สักเท่าไหร่ สายตาของผมจับจ้องแต่กระจกบานหนึ่งซึ่งแขวนอยู่บริเวณหน้าต่างติดกับเก้าอี้ทำงานตัวนั้น

นั่นคือ กระจกที่อันนามอบให้กับผู้เป็นพ่อ

อันนา เป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัวฟรอยด์และนับได้ว่าเป็นคนที่ใกล้ชิดกับผู้เป็นพ่อมากที่สุด เธอเกิดในปี 1895 อันเป็นปีเดียวกับที่ฟรอยด์เผยแพร่ผลงานในชื่อ Studies on Hysteria ในหนังสือบอกเล่าประวัติชีวิตของอันนา ระบุว่าเธอเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นท่ามกลางบทสนทนาทางปัญญาของผู้เป็นพ่อกับเพื่อนๆ เธอสามารถใช้ภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ ฮีบรู และอิตาเลียนได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้ในสมุดบันทึกของฟรอยด์ผู้พ่อเอง อันนาคือบุคคลที่ฟรอยด์เขียนถึงมากที่สุดในบรรดาสมาชิกทั้งหมดของครอบครัว ผมคิดว่าความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของอันนากับผู้เป็นพ่อมีหลายแง่มุมให้ครุ่นคิดมากไปกว่าความเข้าใจทั่วๆ ไป ด้านหนึ่ง ฟรอยด์ได้บันทึกการเติบโตของอันนาเสมือนเป็นการศึกษาจิตใต้สำนึกของเด็ก ในหนังสืออันมีชื่อเสียงโด่งดังของเขาคือ การตีความความฝัน (The Interpretation of Dreams) ฟรอยด์ได้บันทึกชีวิตของอันนาน้อยวัย 19 เดือนไว้อย่างน่าสนใจ ฟรอยด์เชื่อมโยงการเติบโตของลูกสาวไปสู่อาการหลอน (Hallucination) ของเด็กซึ่งซ่อนอยู่ในภาษาที่เด็กใช้ เช่นคำว่า ‘สตรอว์เบอร์รี’ ที่อันนาพูด อาจมิได้สะท้อนการฝึกหัดทางภาษาเพียงอย่างเดียว แต่สะท้อนภาพของจิตใต้สำนึกออกมาในรูปของความอยากกระหาย (Need) ซึ่งซ่อนเร้นอยู่ในวัตถุหรือรูปทรงที่เด็กใช้เรียกออกมา

อนึ่ง เราคงต้องเข้าใจก่อนว่า อาการหลอนดังกล่าวมิใช้อาการทางประสาท หากเป็นขั้นตอนของการสร้างและยืนยันตัวตนหรือความเป็นอัตบุคคล (Subject) ของเด็ก ฌาคส์ ลากอง (Jacques Lacan) นักจิตวิเคราะห์คนสำคัญ ผู้มีส่วนสำคัญในการทำให้แนวคิดของฟรอยด์มีความเป็นระบบและเชื่อมโยงกับแนวคิดทางสังคมศาสตร์มากขึ้น อธิบายว่าขั้นตอนการสร้างตัวตนเช่นนี้คือ ขั้นตอนกระจกเงา (Mirror Stage)  ขั้นตอนนี้เกิดขึ้นมาจากจินตนาการของภาพแทนความเป็นตนเองผ่านวัตถุสิ่งของ หรือแม้กระทั่งกฎเกณฑ์ทางสังคม อัตบุคคลจึงเป็นเสมือนภาพของการเป็นผู้ถูกกระทำซึ่งถูกจ้องมองในกระจกและยอมรับระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ เข้ามา ขณะเดียวกัน ผู้กระทำหรือผู้จ้องมองกระจกนั้นก็ไม่สามารถแยกตัวเองออกจากเงาที่ตนกำลังจ้องได้ มนุษย์จึงมิได้เป็นผู้กระทำการอย่างแท้จริง แต่เป็นทั้งผู้กระทำและผู้รับผลของการกระทำอันเนื่องมาจากกฎเกณฑ์ ค่านิยม และอำนาจในสังคม  ขณะเดียวกัน การก่อร่างสร้างอัตบุคคลของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นในระดับจิตใต้สำนึก การใช้อำนาจและรับผลของอำนาจต่างๆ จึงเกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ

การก่อร่างสร้างอัตบุคคลของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นในระดับจิตใต้สำนึก การใช้อำนาจและรับผลของอำนาจต่างๆ จึงเกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ

ชีวิตของอันนามีความน่าสนใจตรงที่เธอได้กลายเป็นภาพสะท้อนของการศึกษาทางจิตวิเคราะห์  เธออาจไม่ใช่วัตถุทางการศึกษาเสียทีเดียว หากชีวิตของเธอได้ฉายภาพบางประการเกี่ยวกับภูมิทัศน์ทางจิตใจของผู้คนช่วงต้น ค.ศ. 2000 ในช่วงอายุ 17 ปีเธอมีอาการป่วยจากโรคซึมเศร้าและสภาวะไม่อยากอาหาร (Anorexia) นอกจากนี้  เธอยังมีความรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ วิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง  ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนของชีวิตด้านทึมมืดของผู้คนในยุโรป ในช่วงที่ความเจริญทางวิทยาการก้าวขึ้นสู่จุดสุดยอดผ่านความหมายของคำว่า ‘ศิวิไลซ์’

อันนาในบทบันทึกของฟรอยด์จึงเป็นดั่งกระจกเงาสะท้อนชีวิตและภูมิทัศน์ทางจิตใจของผู้คนในยุคนั้น

กระจกเงาบานที่แขวนอยู่ข้างเก้าอี้ทำงานนั้นเล่า เป็นเช่นไร?

ในชีวิตของฟรอยด์  มาร์ธา เบร์นายส์ (Martha Bernays) ผู้เป็นภรรยามักถูกเล่าสั้นในฐานะผู้หญิงทรงเสน่ห์และเปี่ยมการศึกษา เธอได้สละเวลาทุกอย่างมาเป็นแม่ผู้อบอุ่นของลูกทั้ง 6 คน รวมไปถึงการเป็นแม่บ้านที่มีส่วนในการหนุนครอบครัวให้มั่นคงและเสียสละเพื่อสามี  แม้จะมีการวิจารณ์ในส่วนนี้อย่างกว้างขวาง ทว่า ในแง่มุมทางจิตวิเคราะห์กลับมีคำหนึ่งซึ่งอาจช่วยให้เข้าใจได้ นั่นคือปมมาตุฆาต (Electra Complex)  คำนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยคาร์ล ยุง (Carl Jung) มิตรและลูกศิษย์ของฟรอยด์ ยุงใช้คำนี้เพื่ออธิบายถึงจิตวิทยาทางเพศเชิงการแข่งขัน (Psychosexual competition) ระหว่างแม่กับลูกสาวในการครอบครองผู้เป็นพ่อหรือผู้ชายซึ่งเป็นใหญ่ในบ้าน เด็กสาวจะเริ่มพัฒนาและสร้างอัตบุคคลขึ้นมาผ่านผู้เป็นแม่ราวกับการส่องกระจก แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือ เธอจะต้องสร้างตัวตนของเธอขึ้นมาอย่างเป็นอิสระและแตกต่างจากแม่ กระนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างลูกสาวกับแม่ก็เหมือนดั่งที่นิยายหรืองานเขียนหลายเล่มบอกเล่าเอาไว้ก็คือ เป็นทั้งความผูกพัน ความขมขื่น พันธนา และการพยายามดิ้นให้หลุดออกจากวงจรความเป็นหญิงที่แม่มีและดำรงอยู่

ความสัมพันธ์ระหว่างอันนากับมาร์ธาไม่มีความชัดเจนในลักษณะนั้น  มาร์ธาเสียชีวิตในวัย 90 ปี (1861 – 1951) แต่เธอกับลูกก็มิได้สนิทสนมกันมากนัก ในช่วงที่อันนาประสบสภาวะเจ็บป่วย เธอเลือกที่จะปรึกษาพ่อและเดินทางไปอิตาลีเพื่ออาศัยอยู่กับคุณยายของเธอ ในวัย 19 ปี เธอเลือกที่จะไปอังกฤษเพื่อฝึกฝนภาษาด้วยตนเอง จากนั้น เธอได้เลือกดำเนินรอยตามเส้นทางชีวิตของพ่อ และในสายวิชาชีพนักจิตวิเคราะห์นี้เองเธอก็ประสบความสำเร็จ งานเขียนเล่มแรกของเธอเรื่อง An Introduction to Psychoanalysis: Lectures for Child Analysts and Teachers 1922-1935 คือปฐมบทที่ยอดเยี่ยมต่อการประยุกต์แนวคิดจิตวิเคราะห์มาทำความเข้าใจเด็กซึ่งผู้เป็นครูและผู้ดูแลเด็กทุกคนควรได้เรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนการสอนในเรื่องเพศและกระบวนการสร้างตัวตนของเด็ก ท่ามกลางบรรยากาศของสังคมที่มุ่งเน้นความเงียบหงิมและเก็บกดปิดกั้นทางเพศ ภายใต้ข้ออ้างของความเป็นอารยะ

อันนาเหมือนพ่อมากกว่าแม่ เธอมุ่งมาดพัฒนาความคิดของพ่ออย่างเต็มที่จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นดั่งตัวแทนของผู้เป็นพ่อทั้งทางความคิดและการดำเนินชีวิต ลูอิส บรีเจอร์ (Louis Breger) นักเขียนอัตชีวประวัติของฟรอยด์ กล่าวถึงงานเขียนของเธอในเชิงวิพากษ์วิจารณ์เสียด้วยซ้ำว่า ขาดความเป็นแบบฉบับและงานส่วนมากตกอยู่ในเงื้อมเงาทางทฤษฏีของผู้เป็นบิดา

การเดินตามรอยทางของพ่อ อาจเป็นภาพสะท้อนแบบหนึ่งของชัยชนะในปมมาตุฆาตที่อันนามีต่อแม่ของเธอ ผมคิดว่าอันนาคงไม่รู้สึกเสียใจอย่างไรต่อคำวิจารณ์ที่มิใช่มีเพียงแค่ลูอิสเท่านั้นที่คิดและแสดงออกแบบนี้  สำหรับเธอ พ่ออาจเป็นมากกว่าสัญลักษณ์ของอำนาจและความพึงใจ  หากเรามองผ่านทัศนะของลากอง ฟรอยด์ในฐานะพ่ออาจเป็นดั่งจุดอ้างอิงในดินแดนแห่งจินตนาการ (The Realm of the Imaginary) ที่ช่วยสร้างตัวตนในความคิดของอันนาและเป็นสิ่งที่อันนาแสดงออกมาให้คนอื่นได้เห็นเพื่อให้โลกรับรู้ซึ่งตัวตนของเธอ

สิ่งที่ซ่อนอยู่ในปมมาตุฆาตมิใช่การแก่งแย่งระหว่างผู้หญิง แต่มันคืออำนาจของความเป็นพ่อ โลกแห่งจินตนาการได้เปิดเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างพ่อและลูกสาว ขณะที่ในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้เป็นลูกสาวก็ยังคงทำหน้าที่ตัวแทนของพ่อจนวาระสุดท้ายของชีวิต

3.

ภายในห้องทำงานของฟรอยด์ ผมยืนมองกระจกบานนั้นพร้อมกับนึกถึงเรื่องราวของอันนาอยู่นาน นักท่องเที่ยวหลายคนบอกให้ผมยืนหลบไปทางอื่น เนื่องจากพวกเขาต้องการถ่ายรูปกระจกบานนี้  หลายคนถ่ายในลักษณะเซลฟี (Selfie) หน้ากระจก ผมไม่สามารถคาดเดาได้ว่าพวกเขาและเธอเหล่านั้น เห็น ‘ใคร’ อยู่ในนั้น

ท่ามกลางความรุ่มรวยในรสนิยมและความเป็นอยู่ของกระฎุมพี ทำไมอันนาจึงเลือกมอบกระจกบานหนึ่งให้กับผู้เป็นพ่อ ในฐานะนักจิตวิเคราะห์ด้วยกัน กระจกคืออุปลักษณ์หรือ Metaphor สำคัญ ในการทำความเข้าใจพัฒนาการในตัวตนของผู้ป่วย ทว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกนั้นเล่า กระจกนั้นเป็นเช่นไร

ทำไมอันนาจึงเลือกมอบกระจกบานหนึ่งให้กับผู้เป็นพ่อ

ยามที่ฟรอยด์ส่องกระจก เขาจะเห็นอันนาอยู่ในนั้นหรือไม่  ในริ้วรอยบนใบหน้าและรอยขมวดระหว่างคิ้วนั้น ฟรอยด์เห็นตนเองย้อนกลับไปสู่วัยเยาว์ในรูปของหญิงสาวคนหนึ่งบ้างไหม  เฉกเช่นอันนาที่เห็นเงาในกระจกและจินตนาการถึงชายสูงวัยคนหนึ่ง  บางที พวกเขาอาจสบตากันทุกครั้งที่จ้องมองกระจกบานนั้น

ย้อนไปสู่ยาพิษที่ฟรอยด์หยิบยื่นใส่มือลูกสาว ห้วงยามนั้น ผมเชื่อว่าในมือของเขาหรือที่ใดสักแห่งในห้องทำงานย่อมต้องมียาพิษชนิดเดียวกันอยู่ด้วย หากวันนั้นอันนาไม่ได้รับการปล่อยตัวออกมา ฟรอยด์คงตัดสินใจปลิดชีพตัวเองตามเธอไปอย่างแน่นอน

ในห้วงยามของสงคราม มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยอมตายเพื่อรักษาความเป็นมนุษย์ เพราะอย่างน้อยมันยังดีกว่าการมีชีวิตอยู่อย่างสูญสิ้นความเป็นคน

อ่านบทความตอนแรก

เยี่ยมบ้านฟรอยด์ ตอน ‘การใช้ชีวิต’

ติดตามตอนต่อไป

เยี่ยมบ้านฟรอยด์ ตอน(จบ) ‘เราทุกคนคือผู้ป่วย’

อ้างอิง

Breger, Louis. Freud: Darkness in the Midst of Vision. John Wiley and Sons. 2000.

Cohen, David. Great Psychologist as Parents: Does knowing the theory make you an expert?. Routledge. 2016.

Edmundson. Mark. The Dead of Sigmund Freud: The Legacy of His Last Days. Bloomsbury. 2007.

Lacan, Jacques. The Four Fundamental Concepts of Psychoanalysis. London.1994.

Tags: , , ,