1.

ในฐานะที่เป็นพื้นที่ทางกายภาพ พิพิธภัณฑ์ฟรอยด์ที่เวียนนาทำหน้าที่เล่าเรื่องเชื่อมโยงชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของฟรอยด์ได้ดีดังที่เขียนไปในสองตอนก่อนหน้า ทว่า ทั้งหมดนั้นคือภาพที่ปรากฏและถูกคัดสรรขึ้นมานำเสนอเท่านั้น (Present) ผมอดคิดไม่ได้ถึงความย้อนแย้งบางประการว่า การเล่าเรื่องทั้งหมดนี้เหมือนดั่งการทำงานของจิตสำนึกและเป็นส่วนยอดปลายของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น  หากเราซื่อสัตย์ต่อแนวทางของจิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์ เราย่อมต้องค้นหาสิ่งที่ไม่ปรากฏ (Absent) ในการเล่าเรื่อง หรือสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ภายในราวกับฐานภูเขาน้ำแข็งขนาดมหึมาที่จมอยู่ใต้น้ำ

ในแง่แนวคิด แม้เขาจะนับได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกความสำคัญในบทบาทและการทำงานของจิตใต้สำนึก ทว่า ชายชราซึ่งเสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 1939 คงไม่ทันได้รู้ว่า แนวคิดของเขาแม้จะได้รับการพัฒนาต่อไปมากมาย แต่ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างถึงรากถึงโคนเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มนักสตรีนิยมที่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาสำคัญของฟรอยด์คือการใช้เครื่องเพศเป็นสัญลักษณ์ของการแยกความเป็นชายและหญิงออกจากกัน ความเป็นผู้หญิงจึงอยู่ในฐานะผู้ชายที่ไม่มีองคชาตและด้อยกว่าเนื่องจากไร้สัญลักษณ์แห่งอำนาจ ปัญหาในแง่นี้ชี้ให้เห็นว่าฟรอยด์ยังคงยึดติดและตั้งต้นกับการจำแนกความเป็นเพศผ่านลักษณะทางกายภาพและเครื่องเพศของผู้ชายเป็นสำคัญ ท่ามกลางความลุ่มหลงในความรู้แห่งยุคสมัย ฟรอยด์อาจไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำว่าเขาก็มิอาจรอดพ้นจากการครอบงำความคิดว่าด้วยผู้ชายเป็นใหญ่ ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงวิถีแบบชาวยิวกระฎุมพีที่เขาใช้ชีวิต ซึ่งน่าจะมีส่วนให้เขามองไม่เห็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของตนเอง

​​บนเก้าอี้เล็กๆ ที่มีไว้รับรองผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ผมนั่งนึกถึงชีวิตของนักจิตวิเคราะห์สตรีคนหนึ่ง เธอชื่อ ซาบีนา ชปีลไรน์ (Sabina Spielrein)

2.

ในปี ค.ศ. 1977 ภายในห้องใต้ดินของอาคารซึ่งเคยเป็นสถาบันจิตวิทยาของเมืองเจนีวา ได้มีการค้นพบไดอารีและจดหมายจำนวนมากของหญิงรัสเซียไม่ทราบชื่อคนหนึ่ง รายละเอียดจำนวนมากในนั้นระบุถึงการสนทนาโต้ตอบทางความคิดกับสองนักบุกเบิกด้านจิตวิเคราะห์คนสำคัญ คือฟรอยด์ และคาร์ล กุสตาฟ ยุง (Carl Gustav Jung) เอกสารเหล่านี้ราวกับเป็นประจักษ์พยานสำคัญในการสำรวจส่วนที่ลึกที่สุดของจิตใจมนุษย์ และนำไปสู่การผลิตภาพยนตร์และสารคดีคุณภาพเยี่ยมสองเรื่องในปี ค.ศ. 2002 คือ The Soul Keeper และ My name was Sabina Spielrein 

ใช่ เจ้าของลายมือในบันทึกทั้งหมด คือ ซาบีนา ชปีลไรน์

ซาบีนา ลืมตาดูโลกปี ค.ศ. 1885 ในเมืองรอสตอฟ (Rostov) ประเทศรัสเซีย ในครอบครัวชาวยิวผู้เคร่งครัดทางศาสนา เธอเป็นพี่สาวคนโตของน้องทั้ง 5 คน ซาบีนาเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ในด้านการเรียน โดยเฉพาะทางด้านภาษา เธอสามารถพูดรัสเซีย เยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว  ทว่า ที่โดดเด่นที่สุดคงจะเป็นความสามารถด้านดนตรี โดยเฉพาะเปียโน เพลงที่เธอชื่นชอบเป็นพิเศษคือ ‘Tumbalalaika’ บทเพลงที่ไร้ความเป็นเจ้าของ หากเป็นเสมือนท่วงทำนองร่วมของคนในยุโรปตะวันออก

ตั้งแต่เล็ก ซาบีนาเป็นคนชอบเขียนบันทึกประจำวัน ประกอบกับความที่โตมาในครอบครัวที่เคร่งครัดศาสนา ในสมุดบันทึกของเธอจึงมีชื่อของเทวดาผู้พิทักษ์ (Guardian Angels) ปรากฏขึ้นในฐานะเพื่อนคุยและผู้รับฟังคำร้องขอในยามที่เธอสับสนและกังวลใจอยู่เสมอ เมื่ออายุย่าง 17 ปี ซาบีนาประสบกับสภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจ ในช่วงเวลานั้น สภาวะจิตเภทหรือ Hysteria ที่เธอประสบอยู่ถูกตีตราในเชิงศีลธรรมอยู่ด้วย คนไข้จึงมิได้เป็นเพียงผู้ป่วย หากถูกมองว่ามีความไร้ยางอายทางเพศอยู่ในจิตใจและการแสดงออก ซาบีนาเคยถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายภายใต้ข้ออ้างของการเยียวยา อาทิ การผูกล่ามติดเตียง การอาบน้ำเย็นจัด และการสวมใส่หน้ากากป้องกันการกัดลิ้น ทว่าหน้ากากดังกล่าวกลับคล้ายคลึงกับหน้ากากแห่งความอับอายที่เอาไว้ใช้กับผู้หญิงซึ่งละเมิดข้อห้ามทางเพศในยุคกลาง

ในช่วงเวลานั้น สภาวะจิตเภทหรือ Hysteria ที่เธอประสบอยู่ถูกตีตราในเชิงศีลธรรมอยู่ด้วย

 

ในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1904  ซาบีนาถูกส่งไปรักษาตัวที่ซูริก ที่สถานบำบัดทางจิต Burghölzli Treatment and Care Institution ที่นี่ เธอกลายเป็นคนไข้คนแรกของนักจิตเคราะห์ชาวเยอรมันนามคาร์ล ยุง

ในภาพยนตร์เรื่อง The Soul Keeper บอกเล่าบทสนทนาครั้งแรกเมื่อเขาทั้งสองพบกันได้อย่างน่าสนใจและสอดคล้องกับชีวิตของซาบีนาเป็นอย่างมาก ยุงเดินเข้าไปในห้องคนไข้พร้อมกับพยาบาล ทว่า ซาบีนามีท่าทีตื่นกลัวและวิ่งไปหลบอยู่หลังฉากกั้นบริเวณมุมห้อง เขาให้พยาบาลเดินออกไป เมื่ออยู่กันเพียงลำพัง ยุงถามซาบีนาว่าทำไมถึงคิดจะตาย คำตอบที่เขาได้รับคือ “เพราะฉันเป็นคนบาปหนา”

หลักการรักษาของยุงแตกต่างจากคนอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกันเป็นอย่างมาก เขาเน้นการทำความเข้าใจผู้ป่วยและให้เธอได้มีโอกาสเล่าเรื่องตามความคิดของตนเอง ในบางครั้ง ยุงใช้กลวิธีการรักษาผ่านเกมทางภาษา หรือการพูดคำๆ หนึ่ง จากนั้นให้ซาบีนาตีความและอธิบายความหมายนั้นออกมา ตัวอย่างเช่น เมื่อยุงเอ่ยคำว่า ‘พ่อ’ ซาบีนาจะตอบว่าการลงทัณฑ์ และ เมื่อยุงพูดคำว่า ‘มือ’ ซาบีน่าจะตอบว่าการทุบตี ครั้งที่น่าสนใจยิ่ง คือเมื่อยุงเอ่ยชื่อของซาบีนาออกมา เธอตอบว่าความตาย และเมื่อเขาพูดว่า ‘น้องสาว’ เธอก็ตอบว่าสุสาน เกมทางภาษานี้มีส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจภูมิหลังของซาบีนาได้เป็นอย่างดี  ความเป็นพ่อในลักษณะที่ใช้อำนาจและให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว ตลอดจนความผูกพันระหว่างความตายกับตัวตนของเธอ ซึ่งสะท้อนอย่างชัดเจนเมื่อเธอต้องสูญเสียน้องสาววัยหกขวบด้วยโรคไข้รากสาดน้อย ตอนนั้นเธออายุ 15 ปี

การรักษาของยุงมิใช่เพียงรับฟังการเล่าเรื่องของซาบีนาเท่านั้น เขายังเห็นพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่ในตัวเธอ ดังนั้น ซาบีนาจึงได้รับคำแนะนำและถูกหยิบยื่นให้อ่านหนังสือปรัชญา ที่เขียนขึ้นโดยนักคิดทรงอิทธิพลในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนของฟรอยด์ นิชเช และโชเปนฮาวเออร์  ทว่า สิ่งที่มีอิทธิพลต่อแนวทางการรักษาของยุงจริงๆ คือความรัก เขาเชื่อมั่นในศักยภาพของความเป็นมนุษย์และการเยียวยาคนไข้ให้ฟื้นความเป็นคนขึ้นมาได้ด้วยความรัก ความคิดเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงของความคิดโรแมนติกแบบเยอรมัน (German Romanticism) ซาบีนาก็เชื่อในความรักเช่นกัน ทว่าความรักของเธอมีลักษณะซับซ้อนและย้อนแย้งตามการนิพนธ์ของวากเนอร์ (Richard Wagner) คีตกวีผู้มักประพันธ์บทเพลงซึ่งถ่ายทอดความรักในฐานะสิ่งที่ถือกำเนิดมาพร้อมกับความสูญเสียและความตาย กล่าวในภาษาแบบจิตวิเคราะห์คือ ภายในส่วนลึกสุดของจิตใต้สำนึกนั้น สัญชาตญาณแห่งชีวิตและความรัก (Eros) และสัญชาตญาณแห่งความตาย (Thanatos) เป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น มิได้เป็นคู่ตรงข้ามกันแบบความเข้าใจผิดทั่วไป

สัญชาตญาณแห่งชีวิตและความรัก (Eros) และสัญชาตญาณแห่งความตาย (Thanatos) เป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น

ความสัมพันธ์ระหว่างซาบีนาและยุงเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในช่วงเวลานั้น ทั้งสองได้ก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างคนไข้กับจรรยาบรรณของนายแพทย์สู่ความรักที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากยุงมีภรรยาอยู่ก่อนแล้ว ตอนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง The Soul Keeper บอกเล่าการเผชิญหน้ากับปัญหายุ่งยากในส่วนนี้ได้ดีมาก ท่ามกลางความพยายามของยุงในการทำให้ซาบีนามีความมั่นใจในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นมากขึ้นในพื้นที่สาธารณะ ตัวเขาเองกลับถูกเธอดึงออกมาจากความเหนียมอายในการแสดงออกทางความรักและความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างหญิงชายทั้งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว  ในภาพยนตร์ ยุงถึงกับบอกว่าซาบีนาทำให้เขารู้สึกในแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

เฉกเช่นคนที่ออกจากกรงขังของความศิวิไลซ์ คนเหล่านี้โหยหาความรักและการแสดงออกที่เป็นมากกว่าการปฏิบัติตามโครงสร้างหรือธรรมเนียมของสังคม การตามหาแรงปรารถนาแห่งความรักของปัจเจกบุคคลอาจเป็นส่วนหนึ่งของการตามหาเสรีภาพในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง มากกว่าการสยบยอมต่อความหมายของความรักและการดำเนินชีวิตที่ถูกกำหนดมาไว้แล้วอย่างเบ็ดเสร็จ ในโลกของซาบีนา มนุษย์คืออัตบุคคลแห่งแรงปรารถนาและเสรีภาพ ที่ตั้งคำถามและพังทลายกฎระเบียบที่บงการความเป็นมนุษย์อยู่พร้อมกัน ทว่า สุดท้ายแล้ว ความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ก็จบลง ยุงกล่าวกับซาบีนาว่าความรักของเธอกำลังทำร้ายชีวิตของเขา และแรงปรารถนา (Passion) จะทำลายพวกเขาทั้งคู่

ภาพยนตร์และสารคดีทั้งสองเรื่องเล่าความสัมพันธ์ของทั้งสองไว้ในความหมายระหว่างบรรทัดว่า ท่ามกลางการรักษา ยุงค้นพบว่าแท้จริงแล้วตนเองคือคนไข้และเขาได้รับการเยียวยาจากซาบีนา ทว่า หลังจากได้รับการปลดปล่อยแล้ว เขากลับหาจุดอ้างอิงกับตัวตนใหม่ของตัวเองไม่ได้ สำหรับเขาเสรีภาพที่ได้รับมีความน่าประหวั่นพรั่นพรึง

ท่ามกลางปัญหาในการรักษาและถูกรักษาของยุงนี่เอง เขาได้เริ่มต้นเขียนจดหมายถึงฟรอยด์ บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมขอคำปรึกษา นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ฟรอยด์รู้จักชื่อของซาบีนา

หลังแยกทางกับยุง ซาบีนาได้ตัดสินใจเรียนต่อจนจบปริญญาเอกด้านการแพทย์และทำการค้นคว้าเกี่ยวกับโรคจิตเภทผ่านมุมมองและเนื้อหาด้านจิตวิเคราะห์เป็นสำคัญ เธอกลายเป็นนักจิตวิเคราะห์หญิงคนที่สองที่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมจิตวิเคราะห์แห่งเวียนนาซึ่งแวดล้อมไปด้วยผู้ชาย  แม้เธอจะได้รับอิทธิทางความคิดจากฟรอยด์และยุง แต่ซาบีนาได้รับการยกย่องในภายหลังว่าความคิดของเธอก่อร่างสร้างมาจากประสบการณ์ของความเป็นผู้หญิง เธอเป็นนักจิตวิเคราะห์เพียงคนเดียวที่เคยผ่านสภาวะของการเป็นคนไข้และทนทุกข์กับการรักษามากมาย ซาบีนาได้ข้ามเส้นสมมติที่ขีดสร้างความเป็นคนอย่างไม่เท่ากันระหว่างคนจิตเภทและคนปกติ และสลายเส้นแบ่งนั้นลงด้วยตัวเธอเอง  ซาบีนาได้พบกับฟรอยด์ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1911 ในสารคดีเรื่อง My name was Sabina Spielrein เล่าไว้อย่างน่าสนใจว่า การพบกันครั้งนั้นส่งผลต่อการพัฒนางานและความคิดของฟรอยด์ในระยะหลังเป็นอย่างมาก ฟรอยด์ได้อ้างอิงความคิดของเธอโดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยความตายและแรงขับทางเพศ (Libido) ในความหมายของพลังทะยานชีวิต

ยุงกล่าวกับซาบีนาว่าความรักของเธอกำลังทำร้ายชีวิตของเขา และแรงปรารถนา (Passion) จะทำลายพวกเขาทั้งคู่

 

ในช่วงที่ทำงานในเวียนนา ซาบีนาได้จัดบรรยายสาธารณะและเขียนบทความต่างๆ ไว้มากมาย งานเขียนของเธอแทบทุกชิ้นจะถูกส่งให้ยุงเป็นผู้อ่านและให้ความเห็น เธอได้รับความไว้วางใจจากฟรอยด์ในแง่ของการรักษาคนไข้ ฟรอยด์มักจะส่งคนไข้ของเขาไปให้เธอรักษาแทนอยู่บ่อยครั้ง อีกด้านของความไว้วางใจก็คือ การช่วยให้ซาบีนามีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น เนื่องจากชีวิตในเวียนนาช่วงเวลานั้นนับว่ามีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป  ประกอบกับการสมาคมในกลุ่มปัญญาชนที่นั่นมีราคาที่ต้องจ่ายมากมาย สุดท้าย ซาบีนาเลือกเดินทางออกจากเวียนนามุ่งหน้าสู่กรุงเบอร์ลิน

ปี ค.ศ. 1912 เธอแต่งงานกับนายแพทย์อายุรเวชผู้มีภูมิหลังทางเชื้อชาติเหมือนเธอ คือ ชาวยิวที่เติบโตในรัสเซีย หนึ่งปีหลังจากนั้นเธอได้ให้กำเนิดลูกสาวคนแรก ในช่วงเวลาที่ทำงานในเบอร์ลิน ซาบีนายังคงเขียนจดหมายถึงยุงและฟรอยด์อย่างสม่ำเสมอ จากการค้นพบเอกสารในห้องใต้ดิน ทำให้ทราบว่าซาบีนาเขียนจดหมายถึงยุงจนถึงปี ค.ศ. 1919 เป็นอย่างน้อย ในขณะที่ของฟรอยด์สิ้นสุดลงที่ปี ค.ศ. 1923 อย่างไรก็ตาม ชีวิตของเธอในเบอร์ลินก็ไม่ยาวนานนัก หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง เธอเดินทางไปทำงานที่สวิตเซอร์แลนด์แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาเรื่องค่าครองชีพและการดำรงชีวิตอีกครั้ง ในแง่การค้นคว้า ไม่ค่อยมีใครบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับสามีมากนัก รู้เพียงว่าหลังคลอดลูกคนแรกได้ไม่นาน สามีของเธอได้มีลูกกับผู้หญิงอื่นและย้ายไปอยู่ด้วยกัน ซาบีนาจึงเป็นผู้ดูแลลูกด้วยตัวเองมาตลอด กระทั่งในปี ค.ศ. 1920 เธอได้มีโอกาสนำเสนอความคิดในเวทีประชุมวิชาการครั้งที่ 6 ของสภานานาชาติว่าด้วยจิตวิเคราะห์ ที่กรุงเฮก การบรรยายครั้งนั้นเองทำให้เธอได้งานที่มั่นคงขึ้นบ้าง ซาบีนาย้ายไปทำงานที่เมืองเจนีวา ที่นั่นเธอทั้งจัดการบรรยายและเปิดคลินิกบำบัด ความคิดที่เธอนำเสนอที่กรุงเฮกคือประเด็นว่าด้วยพัฒนาการของเด็ก ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ในเรื่องเสรีภาพในการทำความรู้จักเรื่องเพศ

เธออยู่ที่เจนีวาเพียงสามปีเท่านั้น ในปี ค.ศ. 1923 ซาบีนาตัดสินใจเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวของเธอที่รัสเซีย เธออาศัยอยู่ในกรุงมอสโควและที่นี่ เธอได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการภาควิชาจิตวิทยาเด็กที่มหาวิทยาลัยมอสโควที่หนึ่ง (First Moscow University) ชีวิตของซาบีนามีจุดเปลี่ยนมากมาย เธอมิเคยและมิอาจมีชีวิตอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลานานได้ ในปี ค.ศ. 1924 เธอกับสามีกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง ทั้งสองเดินทางกลับไปอยู่ยังบ้านเกิดของซาบีนาที่เมืองรอสตอฟ สองปีต่อมาซาบีนาได้ให้กำเนิดลูกสาวคนที่สองที่นั่น เธอทำงานสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยและเป็นผู้ก่อตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กในแนวทางจิตวิเคราะห์ โดยเฉพาะเด็กที่มีอาการจิตเภท ในสถานพยาบาลแห่งนั้น เธอสอนให้เด็กรู้จักความลี้ลับของร่างกายและเสรีภาพในการเรียนรู้และแสดงออกทางเพศควบคู่ไปกับการเล่นดนตรี  ซาบีนาตระหนักดีถึงสภาวะเก็บกดปิดกั้นที่เธอเผชิญมาในวัยเด็กและความทารุณที่ได้รับในนามของการเยียวยารักษา  ในสถานพยาบาลแห่งนี้เธอจึงเปรียบเสมือนเป็นเทวดาผู้พิทักษ์ของเด็ก เฉกเช่นที่เธอเคยอธิษฐานถึง

เธอสอนให้เด็กรู้จักความลี้ลับของร่างกาย
และเสรีภาพในการเรียนรู้และแสดงออกทางเพศ

 

อย่างไรก็ตาม ซาบีนาต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี ค.ศ. 1936 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สตาลินเถลิงอำนาจสูงสุดและสั่งระงับการเรียนการสอนด้านจิตวิเคราะห์อย่างสิ้นเชิง  ในช่วงเวลาที่ใกล้กัน เธอยังสูญเสียน้องชายซึ่งถูกฆ่าตายท่ามกลางความโหดร้ายภายใต้การปกครองของสตาลินอีกด้วย ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง The Soul Keeper แสดงให้เห็นถึงบรรยายกาศอันแสนกดดันผ่านบทสนทนาหนึ่งในช่วงที่ทหารบุกเข้าไปในสถานรับเลี้ยงเด็กของเธอ ซาบีนาถูกเรียกตัวไปพบนายทหารคนหนึ่งเพื่อรับฟังว่า การสอนแนวคิดว่าด้วยเสรีภาพทางความคิดและการทำให้มีเสรีภาพทางเพศกับเด็กนั้น เป็นการปลุกปั่นยั่วยุและขัดต่อหลักการพื้นฐานของระบอบเลนิน-มาร์กซิสต์  นายทหารผู้นั้นระบุว่า เธอควรจะสอนว่ารถยนต์เป็นสัญลักษณ์แห่งความเสื่อมทรามของนายทุนมากกว่า

นอกจากนี้ นายทหารคนเดิมยังยื่นเอกสารให้เธอเซ็นยินยอมและรับในความผิดพลาดของตนเอง  ซาบีนาหยิบเอกสารแผ่นนั้นขึ้นมาพิจารณาและฉีกทิ้ง เธอโดนตบเข้าที่หน้า กระนั้นเธอยังสวนกลับด้วยแววตาและใบหน้าที่ขึงขัง โดยหยิบยกถ้อยคำของมายาคอฟสกี้ (Mayakovsky) กวีชาวรัสเซียที่ว่า “ถึงแม้ว่าเขาจะฆ่าฉัน และถึงแม้ว่าเขาจะกลบฝังฉัน ฉันจะลุกขึ้นอีกครั้ง…”

ชีวิตของซาบีนาหลังจากสตาลินครองอำนาจเบ็ดเสร็จถือเป็นปริศนาค่อนข้างมาก บันทึกที่ค้นพบในเมืองเจนีวาก็มิได้ระบุถึงเรื่องราวชีวิตของเธอในรัสเซีย  ความตายของเธอและคนในครอบครัวยิ่งไม่มีใครคาดเดาได้ว่าเกิดขึ้นตอนไหนและอย่างไร ชื่อของเธอแทบจะเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์พร้อมกับการที่ความคิดจิตวิเคราะห์กลายเป็นสิ่งต้องห้ามในช่วงเวลาอันมืดมนที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ยุโรป

กระทั่งปี ค.ศ. 1983 ผู้สื่อข่าวและนักเขียนชาวสวีเดนคนหนึ่งได้ทำการค้นคว้าเรื่องราวของเธอ จนทราบจากเพื่อนบ้านของซาบีนาว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ค.ศ. 1942 เธอกับลูกสาวอีกสองคนถูกต้อนไปรวมกับคนยิวจำนวนหนึ่งโดยกองทัพเยอรมันที่เข้ายึดเมืองรอสตอฟเป็นครั้งที่สอง ซาบีนาและลูกถูกสังหารวมกับชาวยิวคนอื่นๆ โดยทหารนาซี ไม่กี่ปีหลังจากเหตุการณ์นี้ สามีของเธอก็เสียชีวิตลง

3.

ผมยังคงนั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวเดิม เวลาผ่านไปนานจนเจ้าหน้าที่เดินเข้ามาถามพร้อมยื่นกระดาษทิชชู่ให้  เธอถามว่าทำไมร้องไห้ในพิพิธภัณฑ์ ผมกล่าวขอบคุณเพียงสั้นๆ แล้วเดินออกมา

ระหว่างทางเดินกลับจากพิพิธภัณฑ์ฟรอยด์ไปมหาวิทยาลัยเวียนนา ทำนองเพลง ‘Tumbalalaika’ แว่วเข้ามาในใจครั้งแล้วครั้งเล่า  บ้านของฟรอยด์หลังนี้คงไม่ได้มีแต่เขาและครอบครัวที่ใช้ชีวิตอยู่ ถนนเส้นนี้คงไม่ได้มีแต่ฟรอยด์และเหล่าปัญญาชนชายที่ใช้มันพาไปสู่ร้านกาแฟเพื่อการพบปะสังสรรค์ ทว่า ซาบีนาคงได้เคยนั่งสนทนากับฟรอยด์บนเก้าอี้ตัวใดตัวหนึ่งในบ้านและเธอคงเคยเดินบนถนนเส้นนี้ เป้าหมายของเธอคงไม่ใช่ร้านกาแฟ หากน่าจะเป็นสนามเด็กเล่นสักแห่ง

ภาพที่ไม่ปรากฏ (Absent) ในพิพิธภัณฑ์ฟรอยด์แห่งนี้ก็คือเรื่องราวของ ‘ความเป็นผู้หญิง’ ที่ไม่ใช่ผู้หญิงทั้งในฐานะนักจิตวิเคราะห์และผู้ป่วย แม้ผมจะชื่นชอบฟรอยด์และความคิดของเขาเพียงไร แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าความคิดของเขาถูกปกคลุมด้วยความเป็นชาย และตัวเขาก็อยู่ในสังคมที่ยอมรับในความสามารถและความสำเร็จของผู้ชายเป็นพื้นฐาน

เส้นทางชีวิตของซาบีนาจึงแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง  ชื่อของเธอมิได้ถูกจารึกเอาไว้ในฐานะ ‘บิดา’ ของนักจิตวิเคราะห์ ทั้งยังมิได้มีภาพลักษณ์แห่งการประสบความสำเร็จในชีวิตและวิชาชีพ ผมคิดว่าเธอก็คงไม่ชอบสักเท่าไหร่หากจะมีใครยกย่องให้เธอเป็น ‘มารดา’ ของนักจิตวิเคราะห์ในภายหลัง

หากเราย้อนกลับไปสู่ข้อถกเถียงว่าด้วยการเอาองคชาตเป็นเครื่องมือในการจำแนกความแตกต่างทางเพศและสัญลักษณ์ทางอำนาจ ซาบีนาเหมือนจะไม่ให้ความสำคัญในความแตกต่างระหว่างชายและหญิง มากเท่ากับการมุ่งเป้าไปยังการรื้อถอนการเก็บกดปิดกั้นทางเพศไปสู่การเรียนรู้เรื่องเพศและการแสดงออกทางเพศอย่างมีเสรีภาพ ชีวิตของเธอเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีที่สุดว่าไม่ว่าจะมีองคชาตหรือไม่ ทุกเพศล้วนมีสิทธิและศักยภาพที่จะปลดปล่อยตัวเองให้เป็นไทจากการครอบงำ ตลอดจนสิทธิที่จะแสดงออกและได้มาซึ่งความรักและความปรารถนาอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่แบ่งแยกเพศและเชื้อชาติ

ซาบีนาเหมือนจะไม่ให้ความสำคัญในความแตกต่างระหว่างชายและหญิง มากเท่ากับการมุ่งเป้าไปยังการรื้อถอนการเก็บกดปิดกั้นทางเพศ

แน่นอน ชีวิตและความคิดของซาบีนาคือสิ่งแปลกปลอมในยุคสมัยของเธอ  เรามิอาจปฏิเสธได้ว่าความทรมานและยากลำบากในภูมิทัศน์แห่งชีวิตที่เธอประสบ ล้วนเกิดขึ้นบนฐานของอำนาจในความเป็นชาย ไม่ว่าจะเป็นผู้เป็นพ่อ คนรัก แวดวงปัญญาชน รวมไปถึงอำนาจเผด็จการทหารแบบสตาลินและนาซีซึ่งเชิดชูความเป็นชายอย่างสูงสุด

ในยุคสมัยของเธอ องคชาตจึงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่กดขี่และเถลิงบนร่างกายของคนทุกเพศ  เมื่อเรามองผ่านประสบการณ์ของซาบีนา ความเสื่อมทรามในความศิวิไลซ์ที่แท้จริงมิใช่การสูญเสียรากหรือวัฒนธรรมที่ดีงามตามการนิยามของอุดมการณ์โรแมนติกแบบเยอรมัน  ทว่า มันคือการผนวกเอาความเจริญให้แนบติดกับอำนาจความเป็นชาย จนกลายเป็นลักษณาการทางอำนาจที่เบ็ดเสร็จ

ในความศิวิไลซ์เช่นนี้ เราทุกคนต่างหากที่เป็นผู้ป่วย พวกเราหวาดกลัวและรู้สึกพรั่นพรึงกับเสรีภาพ ทั้งยังพยายามหลีกเร้นให้ห่างจากมัน

ในหลักฐานหรือเอกสารสำคัญหลายชิ้น ระบุตรงกันอย่างน่าสนใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างซาบีน่ากับยุงมีลักษณะของความเป็นหนึ่งเดียวกันทางจิตวิญญาณอันลึกซึ้ง (Spiritual Union) ซาบีนาเป็นหญิงชาวยิวและยุงเป็นชายอารยัน ทั้งสอง โดยเฉพาะซาบีนาได้ข้ามผ่านพรมแดนของความเป็นเพศและความเกลียดชังทางเชื้อชาติ สู่ความรักที่มนุษยชาติควรมอบต่อกัน เธอคือผู้ตั้งคำถามกับการทำลายความเป็นคนและยืนยันความเป็นมนุษย์ด้วยชีวิตทั้งหมดของเธอเอง

สำหรับผม ซาบีนา สปีลไรน์ คือตัวแทนของเจตจำนงอันเสรี

ตอนต่อไป

เยี่ยมบ้านฟรอยด์ ตอน (พิเศษ) สุสานและความฝัน

อ้างอิง

ภาพยนตร์เรื่อง The Soul Keeper (2002)

สารคดีเรื่อง My name was Sabina Spielrein (2002)

www.jwa.org (Jewish Women’s Archive)

Covington, Coline and Barbara Wharton (eds). Sabina Spielrein: Forgotten Pioneer of Psychoanalysis. Brunner – Routledge. 2003.

Tags: , , , , , , ,