ยามสายวันหนึ่งของฤดูร้อน ผมเดินฝ่าอุณหภูมิอันอบอ้าวกลางกรุงเวียนนาเพื่อเดินทางไปยังบ้านเลขที่ 19 บนถนน Berggasse ในวันที่เมืองนี้ระอุไปด้วยไอแดด ความงามของสถาปัตยกรรมต่างๆ ก็พลันหายไปจนหมดสิ้น และแทบไม่เหลือกลิ่นอายของความโรแมนติกที่คนร่ำลือ

บ้านหลังนี้เคยเป็นที่พำนักของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud; 1856-1939) บิดาทางความคิดจิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์ และเป็นหนึ่งในนักคิดทรงอิทธิพลของคริสต์ศตวรรษที่ 19 แนวคิดของของเขาไม่เพียงเปิดภูมิทัศน์ทางจิตอันซับซ้อนของมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล ทว่ายังแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงกับบริบททางสังคมและระบอบของอำนาจที่ทำงานในสังคมนั้นๆ อย่างแยบยล

ผมหลงใหลแนวคิดจิตวิเคราะห์ตั้งแต่เรียนปริญญาตรีกับนักมานุษยวิทยาท่านหนึ่งในมหาวิทยาลัยเล็กๆ ตีนดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ คิดอยู่เสมอว่าหากมีโอกาสก็จะมาเยี่ยมเยือนที่พำนักของฟรอยด์สักครั้ง เพราะโดยส่วนตัว ผมมีความเชื่อว่าความคิดของเขาน่าจะปรากฏให้เห็นผ่านร่องรอยต่างๆ บ้าง ไม่มากก็น้อย

บ้านหลังนี้ได้รับการฟื้นฟูในปี 1971 โดยการริเริ่มของอันนา ฟรอยด์ (Anna Freud; 1895-1982) ลูกสาวคนเล็ก เธอตั้งใจให้ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาข้าวของสำคัญของผู้เป็นบิดา สำหรับให้ผู้สนใจเดินทางมาเยี่ยมชม โดยให้คงสภาพเดิมมากที่สุด โดยเฉพาะห้องทำงาน ห้องตรวจคนไข้ ห้องรอคิวการรักษา ตลอดจนของสะสมต่างๆ ของฟรอยด์ ส่วนห้องนอนของเขากับลูก ปัจจุบันถูกดัดแปลงเป็นโถงนิทรรศการชั่วคราวและบริเวณสำหรับกิจกรรมเสวนาที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง

บ้านของฟรอยด์มิได้เป็นบ้านเดี่ยว (House) แต่เป็นบ้านที่มีลักษณะคล้ายกับห้องชุดหรืออพาร์ตเมนต์เสียมากกว่า ที่พักในลักษณะนี้ในประเทศออสเตรียและเยอรมนีเรียกว่า Wohnung ซึ่งจัดเป็นบ้านอีกประเภทหนึ่ง

 

หน้าตึกฝั่งสวน แสดงภาพหน้าตัดของบ้านเลขที่ 19 (ภาพ: www.freud-museum.at)

เช่นเดียวกับผู้เข้าชมทั่วไป เมื่อเดินทางมาถึง ผมจะต้องกดกริ่งตั้งแต่ทางเข้าประตูบ้านชั้นล่าง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปลดล็อกลูกบิดที่ประตู จากนั้น เมื่อเดินขึ้นไปบนชั้นที่ 1 (ชั้นล่างสุดคือชั้น E) ก็พบว่าบริเวณหน้าประตูทางเข้าบ้านมีกริ่งเล็กๆ ซ่อนอยู่อีกอันหนึ่ง หากไม่กดกริ่งนี้ ประตูก็จะไม่เปิดให้เราเข้าไป ความรู้สึกมันช่างคล้ายกับการไปเยี่ยมบ้านเพื่อนหรือคนรู้จักมากกว่าการไปพิพิธภัณฑ์ และนี่คงเป็นความต้องการของอันนาและทีมผู้จัดทำที่ต้องการให้ ‘ที่นี่’ เป็นเหมือนบ้านที่อยู่รวมปะปนกับบ้านในชั้นอื่นๆ

ปัจจุบัน ผู้เยี่ยมชมก็ยังคงเดินขึ้นลงบันไดสวนทางกับผู้อยู่อาศัยร่วมตึกอย่างเป็นปกติ

หลังจากซื้อตั๋วเรียบร้อย ผมเดินเข้าไปในโถงนิทรรศการก่อนเป็นอันดับแรก นิทรรศการครั้งนี้ถูกจัดขึ้นในหัวข้อ ‘The apartment is doing well.’ ซึ่งเริ่มจัดแสดงมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา การจัดแสดงต้องการสื่อให้เห็นถึงการใช้ชีวิตเกือบครึ่งศตวรรษของครอบครัวฟรอยด์ในบ้านหลังนี้ ชีวิตอันประกอบไปด้วยภรรยาและลูกหกคน นอกจากนี้ยังมีน้องสะใภ้อีกหนึ่ง และคนปรนนิบัติรับใช้อย่างน้อยสองคน

โถงของนิทรรศการประกอบด้วยภาพถ่ายครอบครัวในช่วงของความเปลี่ยนแปลงต่างๆ จดหมายเขียนด้วยลายมือของฟรอยด์ และสารคดีเกี่ยวกับครอบครัว บรรยากาศของนิทรรศการจึงมีลักษณะของความก้ำกึ่งและใกล้ชิดกันระหว่างการฉายภาพความเป็นส่วนตัวกับภาพความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่ครอบครัวของฟรอยด์ผ่านพ้นช่วงเวลาต่างๆ

หัวใจหลักของการเล่าเรื่องดำเนินรอยตามความคิดเรื่อง ‘การใช้ชีวิต’ (Dwelling) ของวอลเตอร์ เบนยามิน (Walter Benjamin; 1892-1940) โดยเฉพาะรูปแบบการใช้ชีวิตในครัวเรือนของบรรดากระฎุมพี (Bourgeois) ในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งนอกจากเป็นสิ่งสำคัญ ยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมสมัยใหม่เรื่องเสรีภาพส่วนบุคคลที่จะเลือกใช้ชีวิตในสถานที่หนึ่งๆ เพื่อพักอาศัย หรือเคลื่อนย้ายไปในสถานที่อื่น การใช้ชีวิตในแง่นี้จึงผูกพันกับพื้นที่ทางกายภาพเป็นสำคัญ

คำว่า Dwelling ในชื่อนิทรรศการ แปลมาจากคำว่า Wohnen ในภาษาเยอรมัน อันหมายถึงการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เชิงกายภาพ และการมีเสรีภาพที่จะใช้ชีวิตเช่นนี้เอง จึงจะเกิดความหมายของการมีชีวิตอยู่ หรือ Leben

ย้อนกลับไปเมื่อสมัยฟรอยด์ยังใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนี้ ความคิดว่าด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่และการใช้ชีวิตแบบนาคร (Urbanism) เป็นที่เฟื่องฟูมาก ในศตวรรษที่ 19 เวียนนากลายเป็นศูนย์กลางของศิลปวิทยาการหลายด้าน ชาวยิวในเวียนนาถือเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในเมือง และชาวยิวมากกว่าครึ่งก็พักอยู่ในเขตที่ 1, 2 และ 9 อันถือเป็นย่านของกระฎุมพีผู้มีการศึกษาและรสนิยม

บ้านของฟรอยด์ตั้งอยู่ในเขตที่ 9 กึ่งกลางระหว่างมหาวิทยาลัยเวียนนาและโรงพยาบาล สถานที่ซึ่งเขาใช้ชีวิตผูกพันมาโดยตลอด ระหว่างทางคั่นด้วยร้านกาแฟแบบเวียนนา ซึ่งเป็นแหล่งพบปะของปัญญาชนในสมัยนั้นอีกหลายร้าน ภายในบ้านของฟรอยด์และบรรดาชาวยิวชนชั้นกระฎุมพีทั้งหลายจึงซึมซับรับเอาวัฒนธรรมสมัยใหม่เข้ามา จนมีส่วนทำให้พวกเขาผ่อนปรนความเคร่งครัดทางประเพณีและวัตรปฏิบัติทางศาสนา บางครอบครัวถึงกับจัดต้นคริสต์มาสไว้สำหรับเด็กๆ ในช่วงเทศกาล

ออตโต บาวเออร์ (Otto Bauer; 1881-1938) นักคิดชั้นนำของกลุ่มออสโตร-มาร์กซิสต์ ระบุไว้อย่างน่าสนใจว่า ในช่วงเวลานั้น อัตลักษณ์ของคนยิว (น่าจะหมายถึงชนชั้นกระฎุมพี) มีลักษณะที่เป็นแก่นสารน้อยมาก พวกเขาเป็นเสมือนผู้คนที่ปราศจากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม พวกเขายังคงเป็นส่วนหนึ่งของอดีตที่ไกลแสนไกล พร้อมกับซึมซับรับเอาวัฒนธรรมต่างๆ โดยรอบ

แม้ฟรอยด์ในวัยเด็กจะมีชีวิตที่ไม่รุ่มรวยนัก ทว่าตลอดระยะเวลา 47 ปีที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนี้ (1891-1938) เขาก็มีชีวิตแบบชนชั้นกระฎุมพีภายในบ้านเพดานสูง ห้องหับแยกเป็นสัดส่วนและทันสมัย ประดับด้วยเครื่องใช้และของตบแต่งแบบคลาสสิก ซึ่งมีผลต่อชีวิตและวิธีคิดของเขาเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ฟรอยด์ยังใช้ส่วนหนึ่งของบ้านเป็นห้องทำงานและรักษาคนไข้ผู้มีอาการจิตเภท (Hysteria) บ้านในความหมายของพื้นที่การใช้ชีวิต สำหรับฟรอยด์ มันจึงเป็นพรมแดนอันพร่าเลือนระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว

ในศตวรรษที่แล้วคงมีผู้คนมากหน้าหลายตาเดินทางมากดกริ่งที่หน้าบ้านหลังนี้ และเข้าคิวเพื่อรอรับการรักษาจากฟรอยด์แทบทุกวัน เพราะในยุคที่ความความเจริญในยุโรปทะยานขึ้นสูงสุด พวกเขาก็ค้นพบว่าตนเองป่วยไข้ทางจิตใจกันมาก โดยเฉพาะโรคจิตเภท

อันที่จริง ความป่วยไข้ประเภทนี้มักเป็นที่เข้าใจผิดมาโดยตลอดว่ามีสาเหตุจากความเสื่อมทรามทางศีลธรรมและความไร้ยางอายในการแสดงออกทางเพศ ต่อความเชื่อประเภทนี้ การศึกษาจิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์นั้นวิพากษ์ไว้อย่างแหลมคมว่า การเก็บกดและปิดกั้นทางเพศต่างหากที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการป่วยไข้ โดยเฉพาะการควบคุมบทบาทและการแสดงออกทางเพศของชายและหญิงอย่างชัดเจนภายใต้กรงเหล็กของศีลธรรม ฟรอยด์อธิบายเพิ่มเติมถึงบทบาทของความศิวิไลซ์แบบเมืองใหญ่ต่อความป่วยไข้ทางจิตของผู้คน อาทิ การแสดงออกซึ่งความปรารถนาทางเพศของผู้หญิงกลายเป็นสิ่งต้องห้ามของสังคม ขณะที่การค้าบริการทางเพศในเมืองก็เกิดขึ้นเพื่อรองรับแรงขับทางเพศ (Libido) ของผู้ชาย ซึ่งมิอาจแสดงออกได้กับภรรยา ภายใต้มายาคติเรื่องศีลธรรมทางเพศ (Sexual Morality) ที่น่าสนใจคือภาวะป่วยไข้อันเนื่องมาจากความเก็บกดปิดกั้นทางเพศ มักเกิดขึ้นในกลุ่มกระฎุมพีเป็นสำคัญ

ปีเตอร์ เกย์ (Peter Gay; 1923-2015) นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความคิดของฟรอยด์และวัฒนธรรมเยอรมัน มีความเห็นว่าชีวิตของบรรดาชาวยิวชนชั้นกระฎุมพีในช่วงเวลาดังกล่าว มีลักษณะที่เกาะกลุ่มสมาคมกันเองค่อนข้างมาก พวกเขายอมรับสภาวะป่วยไข้และรับการรักษาจากฟรอยด์อย่างสม่ำเสมอ กระฎุมพีกลุ่มนี้ยังมีความเชื่อเสียด้วยซ้ำว่าการใช้ชีวิตในเมืองและความศิวิไลซ์มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการทำลายระบบประสาทและก่อให้เกิดโรคจิตเภท ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ยังคงพึงพอใจที่จะใช้ชีวิตเยี่ยงกระฎุมพีในเมืองต่อไป การใช้ชีวิตในบ้านอาจฉุดให้อาการป่วยทางจิตใจของสมาชิกในบ้านดำดิ่งฝังลึก และในทางกลับกันก็อาจเป็นหนทางหนึ่งในการจัดการและเยียวยา ผมเชื่อว่าสภาวะย้อนแย้งเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าเสรีภาพในการเลือกที่จะใช้ชีวิตและมีชีวิตอยู่เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ผมไม่แปลกใจเลยที่ห้องรอคิวรับการรักษาและห้องรักษาคนไข้ของฟรอยด์ไม่ได้มีลักษณะของคลินิกแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน ทว่ามีความเป็นบ้าน นับตั้งแต่ที่นั่งรอของผู้ป่วยและมุมแขวนเสื้อโค้ต ห้องรักษาก็คล้ายกับห้องรับแขก แวดล้อมไปด้วยรูปภาพและของตบแต่ง ตลอดจนชุดโซฟาเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย

เหนือสิ่งอื่นใด มันคือความรู้สึกถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างฟรอยด์กับคนไข้ที่ถูกปรับให้ลดลง จนผู้รับการรักษารู้สึกได้ถึงความปรารถนาที่จะใช้และมีชีวิต แม้ว่าชีวิตจะยังคงเวียนวนอยู่กับสถานะกระฎุมพีที่อาจนำมาซึ่งการป่วยไข้เช่นเดิม แต่หากเราพิจารณาจากจุดยืนของฟรอยด์ การหลุดพ้นจากความเจ็บป่วยทางจิตใจ มนุษย์จะต้องปลดปล่อยตนเองจากภายใน จากความเก็บกดปิดกั้น และเชื่อมโยงไปสู่การปลดปล่อยสังคมจากระบอบของอำนาจที่ไม่เป็นธรรม

ห้องรอคิวรับการรักษา (ภาพ: www.freud-museum.at)

ในปี 1930 งานเขียนของเขาเรื่อง Civilization and its Discontents ได้รับรางวัลเกอเธ่จากเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งนับว่าเป็นรางวัลอันทรงเกียรติในด้านการค้นคว้าและวิจัย งานชิ้นนี้ของเขานับเป็นงานชิ้นแรกที่เขียนขึ้นเพื่อเชื่อมโยงความคิดด้านจิตวิเคราะห์กับงานด้านสังคมวิทยาอย่างเป็นระบบ ทั้งยังแฝงไว้ด้วยการวิพากษ์ด้านมืดของความศิวิไลซ์อย่างแยบยล ในระหว่างบรรทัดของหนังสือเล่มนี้ ผมคิดว่าฟรอยด์ต้องการบอกกับเราว่าความศิวิไลซ์มิได้เพียงแค่พรากความเป็นมนุษย์ของเราไป แต่มันยังสร้างความเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความเจ็บป่วยทางจิตใจและอัดแน่นไปด้วยพลังการทำลายล้าง

สามปีต่อมา ด้วยคำสั่งของของฮิตเลอร์ ผู้นำนาซี งานเขียนชิ้นนี้และหนังสืออีกหลายเล่มของฟรอยด์ถูกเผาทิ้งร่วมกับหนังสืออีกจำนวนมากกลางกรุงเบอร์ลิน ปี 1938 ฮิตเลอร์ขยายอำนาจเข้าสู่เวียนนาและออสเตรีย ฟรอยด์ตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ที่กรุงลอนดอน สถานที่ซึ่งให้การต้อนรับเขาเป็นอย่างดี

ทว่าในวันที่ 23 กันยายน ปีถัดมา ฟรอยด์ก็เสียชีวิต หลายคนให้ความเห็นว่านอกจากความชราภาพ เขาคงเหนื่อยล้าจากการเดินทาง และความทุกข์ทรมานทางใจจากผลพวงของสงคราม

หลังจากเยี่ยมชมบ้านของเขา ผมก็มีโอกาสได้เห็นรูปแบบของชีวิตและบ้าน ซึ่งเป็นทั้งสถานที่ทำงานและบ้านของครอบครัว สถานที่ที่ฟรอยด์ได้มองเห็นสมาชิกในครอบครัวถือกำเนิด เติบโต และเสียชีวิต ร่องรอยสึกกร่อนบริเวณพื้นบันไดทางขึ้น บ่งบอกว่าบ้านหลังนี้เคยเปิดต้อนรับคนไข้และมิตรสหายจำนวนนับไม่ถ้วน

ผมไม่อาจเข้าไปนั่งอยู่ในใจของฟรอยด์ได้ ทว่าร่องรอยภายในบ้านของเขากำลังบอกเล่าบางสิ่งกับผม

บางทีความตายของคนคนหนึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการถูกบังคับให้พลัดพรากจากการใช้ชีวิตอย่างมีเสรีภาพ จนเขาเองไม่อาจค้นหาเหตุผลของการมีชีวิตอยู่

ติดตามตอนต่อไป
เยี่ยมบ้านฟรอยด์ ตอน ‘กระจกเงาและเรื่องเล่าของลูกสาว’

อ้างอิง:
Robertson, Ritchie. Introduction. In A Case of Hysteria (Dora). Author by Sigmund Freud. Translated by Anthea Bell. Oxford University Press. 2013
Benjamin, Walter. The Arcades Project. Translated by Howard Eiland and Kevin McLaughlin. Harvard University Press. 2002.
Freud, Sigmund. Civilization and Its Discontents. Translated by David Mclintock. Penguin Book. 2002.
Gay, Peter. The Bourgeois Experience: Victoria to Freud Volume 2 : The Tender Passion. Oxford University Press. 1987.

FACT BOX:

ออตโต บาวเออร์ ใกล้ชิดสนิทสนมกับฟรอยด์ในหลายแง่มุม ทั้งบทสนทนาทางความคิด และอีดา บาวเออร์ (Ida Bauer) น้องสาวของเขา ก็เป็นคนไข้คนสำคัญของฟรอยด์ และปรากฏในงานเขียนวิเคราะห์ผู้ป่วยจิตเภทของฟรอยด์ในนามสมมติว่า โดรา (Dora)

Tags: , , , , , , , ,