เยอรมนี ได้ชื่อว่าเป็นประเทศแห่งนักคิดและนักเขียน กว่าครึ่งของประชากรจำนวน 83 ล้านคนในประเทศนี้ ‘อ่านหนังสือ’ อย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าจากการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่า ชาวเยอรมันอ่านหนังสือน้อยกว่าคนชาติอื่น อาทิ บราซิล รัสเซีย และจีน แต่หากเปรียบเทียบจำนวนประชากรแล้ว สถิติกว่าครึ่งหนึ่งนับเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว

เยอรมนี เป็นบ้านเกิดของนักเขียนรางวัลโนเบลถึง 8 คน ประเทศนี้มีจำนวนห้องสมุดมากกว่าโรงหมักเบียร์ และช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ยังมีงานสัปดาห์หนังสือจัดขึ้นที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต เป็น ‘Book Fair’ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

งานสัปดาห์หนังสือแห่งเมืองแฟรงก์เฟิร์ตเป็นประเพณีสืบทอดมายาวนานกว่า 500 ปี และเกิดขึ้นหลังจากโยฮันเนส กูเทนแบร์ก (Johannes Gutenberg) นักประดิษฐ์แห่งไมนซ์ คิดค้นเทคโนโลยีการพิมพ์ขึ้นมา โดยใช้ตัวพิมพ์โลหะอัลลอยด์ และหมึกพิมพ์ที่ใช้น้ำมันเป็นฐานแม่พิมพ์สำหรับหล่อตัวพิมพ์ได้อย่างแม่นยำ รวมถึงแท่นพิมพ์แบบกด ที่พัฒนาจากเครื่องกดที่ใช้ในการทำไวน์ ช่างพิมพ์หนังสือสามคน คือ โยฮันเนส ฟุสต์ (Johannes Fust) เพเทอร์ เชิฟเฟอร์ (Peter Schöffer) และคอนราด เฮงคิส (Konrad Henckis) ได้ร่วมกันจัดงานแฟร์ขึ้นที่แฟรงก์เฟิร์ต เพื่อเป็นพื้นที่การเปลี่ยนถ่ายการค้าของสำนักพิมพ์ แทนที่การค้าต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือ

ล่วงถึงปลายศตวรรษที่ 17 งานหนังสือแฟรงก์เฟิร์ต เมืองริมฝั่งแม่น้ำไมน์ ยังคงเป็นศูนย์กลางตลาดหนังสือสำคัญของยุโรป กระทั่งวิวัฒนาการด้านการพิมพ์รุดหน้า และตลาดหนังสือขยายวงกว้างมากขึ้น ผู้ปกครองเมืองไลพ์ซิกเริ่มเห็นชอบที่จะผลักดันให้เป็นเมืองตลาดหนังสือขึ้นมา และดูเหมือนจะทาบรัศมีงานแฟร์ของเมืองแฟรงก์เฟิร์ตได้ด้วย

สองศตวรรษต่อมา งานสัปดาห์หนังสือแห่งเมืองแฟรงก์เฟิร์ตกลับมาบูมอีกครั้ง หลังจากเยอรมนีถูกแบ่งแยกเป็นสองประเทศ  ปี 1949 มีผู้ประกอบการด้านหนังสือและการพิมพ์ 205 รายเข้าร่วมในงานแฟร์บริเวณโบสถ์พอล สถานที่จัดงานครั้งแรกหลังสงครามยุติ ไม่กี่ปีถัดจากนั้นก็เริ่มมีผู้ประกอบการจากต่างชาติเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย กระทั่งกลายเป็นงานแฟร์ระดับสากลตราบถึงทุกวันนี้

งานสัปดาห์หนังสือแห่งเมืองแฟรงก์เฟิร์ตครั้งที่ 71 ในปีนี้ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 7,450 ราย จาก 104 ประเทศทั่วโลก

ชาวเยอรมันชอบอ่านอะไร

ผลสำรวจของสถาบันวิจัย Splendid Research ในเมืองฮัมบวร์ก ที่จัดทำขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปี 2017 จากการสอบถามประชากรชาวเยอรมันอายุระหว่าง 18-69 ปีในรัฐต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 1,000 คน ในหัวข้อการอ่านและหนังสือ ระบุว่า 61 เปอร์เซ็นต์ยังอ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอ 22 เปอร์เซ็นต์อ่านหนังสือทุกวัน ขณะ 13 เปอร์เซ็นต์นั้นไม่อ่านหนังสือเลย

สื่อที่ใช้ในการเสพ ได้แก่ หนังสือที่เป็นกระดาษ 91 เปอร์เซ็นต์ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (อี-บุ๊ก) 41 เปอร์เซ็นต์ และหนังสือเสียง 24 เปอร์เซ็นต์ ข้อนี้สะท้อนให้เห็นว่า หนังสือที่เป็นสิ่งพิมพ์ของประเทศเยอรมนียังไม่ตาย แม้ว่าวิวัฒนาการทางออนไลน์จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในสังคมก็ตาม

ประเภทของหนังสือที่ชาวเยอรมันนิยมชมชอบมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ คือ นิยายอาชญากรรม รองลงมา 40 เปอร์เซ็นต์เป็นนิยายแนวตื่นเต้นเร้าใจ และอันดับสาม 32 เปอร์เซ็นต์เป็นหนังสือแนว How-To

การสำรวจแยกย่อยไปที่เพศ พบว่า นักอ่านเพศหญิงชอบนิยายรัก และนิยายอิงประวัติศาสตร์ ในขณะที่นักอ่านเพศชายชอบอ่านหนังสือวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปจนถึงการเมือง และประวัติศาสตร์ 

เรื่องน่ารู้สำหรับหนังสือในเยอรมัน

  • ในแต่ละปี มีหนังสือภาษาเยอรมันตีพิมพ์ออกมาไม่ต่ำกว่า 70,000 ปก พร้อมวางจำหน่ายในร้านหนังสือ และทางออนไลน์ และจำนวนพิมพ์ของหนังสือแต่ละปกแตกต่างกันที่หมวดหมู่ของหนังสือ ปกติแล้ว หนังสือประเภทนิยายจะมีการพิมพ์ต่อครั้งจำนวน 4,000 เล่ม ในขณะที่หนังสือแนววิชาการยอดพิมพ์อยู่ที่ 2,000-3,000 เล่ม ประเภทความเรียงหรือบทกวีราว 1,000-2,000 เล่ม
  • Bestseller หรือหนังสือขายดี ไม่ได้บ่งบอกถึงคุณภาพของหนังสือเล่มนั้นๆ ซึ่งในตลาดหนังสือเยอรมันจะตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำอยู่ที่จำนวน 100,000 เล่ม ถึงจะขึ้นแท่นหนังสือขายดีได้
  • ในหลายประเทศ รวมทั้งไทย มักจะพิมพ์ชื่อเรื่องบนสันปกหนังสือจากบนลงล่าง แต่สันปกหนังสือของเยอรมันจะพิมพ์ชื่อเรื่องจากล่างขึ้นบน หากวางหนังสือลงบนโต๊ะก็จะเห็นชื่อหนังสือที่สันปกแบบกลับหัวกลับหาง
  • หนังสือในหอสมุดแห่งชาติเยอรมนี (Deutsche Nationalbibliothek) ตั้งอยู่ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต และไลพ์ซิก มีหนังสือในความครอบครองทั้งสิ้น 36.1 ล้านเล่ม และมีกฎข้อบังคับคล้ายกับหอสมุดแห่งชาติไทย ที่ให้สำนักพิมพ์ทุกแห่งจัดส่งหนังสือให้กับหอสมุดแห่งชาติปกละ 2 เล่ม
  • เพื่อให้สอดคล้องกับคำขวัญ ‘เยอรมันเป็นชาตินักอ่าน’ หรืออย่างไรก็แล้วแต่ สายการบินหนึ่งของเยอรมนีอนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถขนสัมภาระที่เป็นหนังสือขึ้นเครื่องได้ 1 กิโลกรัม ฟรี!

 

อ้างอิง:

https://www.buchmesse.de/

https://www.sueddeutsche.de/kultur/frankfurter-buchmesse-2019-eroeffnung-1.4642975

https://www.zdf.de/nachrichten/heute/immer-weniger-deutsche-lesen-buecher-was-sagt-die-branche-100.html

file:///C:/Users/Pentium/Downloads/studie-buecher-oktober-2017.pdf

https://www.facebook.com/dw.euromaxx.de/videos/558514948320436/

Tags: , , , , ,