หลังห่างหายจากการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันมา 60 ปี ประเทศฝรั่งเศสได้กลับมาเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกอีกครั้งในปี 1998 หลังเอาชนะประเทศโมร็อกโกในการโหวตโดยคณะกรรมการบริหารของฟีฟ่าด้วยคะแนนเสียง 12 ต่อ 7 ในระหว่างการประชุมสามัญที่สำนักงานใหญ่ฟีฟ่า เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 1992 ทำให้ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่สามที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2 ครั้ง ต่อจากเม็กซิโกและอิตาลี 

ฟุตบอลโลกรอบนี้ถือเป็นครั้งที่ 9 ที่ถูกจัดขึ้นในทวีปยุโรป และนับเป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานฟีฟ่าของ เซปป์ แบล็ตเตอร์ (Sepp Blatter) และเป็นครั้งแรกที่เพิ่มทีมที่เข้าร่วมแข่งขันจาก 24 เป็น 32 ทีม

ตั้งแต่เริ่มจัดครั้งแรกในปี 1930 ที่ประเทศอุรุกวัย ช่วงเวลาหลายทศวรรษหลังจากนั้น ฟุตบอลโลกกลายเป็นทัวร์นาเมนต์กีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ฟุตบอลโลกที่ฝรั่งเศสในปี 1998 หรือที่เรียกติดปากกันว่า ‘ฟรองซ์ 98’ มีผู้รับชมการแข่งขันทั่วโลกหลายร้อยล้านคน และมีการให้การสนับสนุนจากองค์กรมากมาย กลายเป็นมหกรรมกีฬาระดับโลกที่ผู้คนเฝ้ารอคอยอย่างใจจดใจจ่อ

ตลอดการแข่งขันมีสิ่งให้พูดถึงมากมาย หลายเหตุการณ์กลายมาเป็นตำนานเล่าขานจนถึงทุกวันนี้ หลายเรื่องเป็นหมุดหมายสำคัญที่เปลี่ยนโฉมหน้าสังคม และเป็นบทบันทึกทางหน้าประวัติศาสตร์ของโลกที่สะท้อนผ่านเกมกีฬาลูกหนัง

 จนถึงวันนี้ โลกเปลี่ยนแปลงไปมากจากปี 1998 ที่ผ่านมา และยังคงเดินหน้าเปลี่ยนไปไม่หยุด แต่เสน่ห์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากช่วงเวลาที่ถูกหยุดไว้ในฟุตบอลโลก ‘ฟรองซ์ 98’ ล้วนตอกย้ำคำว่า ‘คลาสสิก’ ที่แท้จริงทุกครั้ง เมื่อได้ย้อนกลับไปมอง

 

ความสำเร็จของทีมชาติฝรั่งเศส

แน่นอนว่าฟรองซ์ 98 จบลงด้วยการคว้าแชมป์สมัยแรกของฝรั่งเศสเจ้าภาพ ภายใต้การคุมทีมของ เอเม่ ฌักเก้ต์ (Aimé Jacquet) หลังเอาชนะ ‘แซมบา’ บราซิลที่นำทัพโดย ‘โล้นทองคำ’ โรนัลโด (Ronaldo) ไปได้ในนัดชิงชนะเลิศ 3 ประตูต่อ 0 ทำให้แฟนบอลและชาวฝรั่งเศสกว่าล้านคนหลั่งไหลออกมาร่วมเฉลิมฉลองเต้นรำและร้องเพลงชาติตลอดค่ำคืนบนถนนฌ็อง-เซลีเซ่ (Champs-Élysées) อันโด่งดัง รวมถึงรุ่งอรุณของวันถัดไป ที่มีขบวนพาเหรดแห่ถ้วยเวิลด์คัพบนรถบัส และมีผู้คนนับแสนมาร่วมฉลองความสำเร็จของพลพรรค ‘ตราไก่’ ด้วยความสุขเหลือล้น

ช่วงปลายยุค 90 และช่วงต้นสหัสวรรษ ทีมชาติฝรั่งเศสเต็มไปด้วยนักเตะผิวสีและเลือดผสม ด้วยความที่ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่เปิดรับผู้อพยพจากประเทศอาณานิคมของตนเองในอดีต โดยเฉพาะในโซนแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนืออย่างแอลจีเรีย ตูนีเซีย โมร็อกโก หรือที่เรียกกันว่า มาเกร็บ (Maghreb) ช่วงเวลานั้น แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพได้รับการเชิดชูอย่างมาก นักการเมือง ปัญญาชน และสื่อสารมวลชน พยายามยกคำนี้ขึ้นมาเพื่ออธิบายว่าฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีความยึดมั่นที่ยึดตามหลักการของสาธารณรัฐคือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ สามารถบูรณาการผู้คนจากหลายหลายวัฒนธรรม หลากหลายเชื้อชาติ ให้สามารถเข้ามาถือสัญชาติฝรั่งเศสได้ ถึงแม้นักวิชาการบางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าคำที่ว่านี้เป็นแค่มายาคติก็ตาม

ในแง่หนึ่ง การคว้าแชมป์เวิลด์คัพของทีมชาติฝรั่งเศสจึงเปรียบเสมือนการรวมประเทศฝรั่งเศสที่ประสบความสำเร็จเพราะชายที่ชื่อ ซีเนดีน ซีดาน (Zinedine Zidane) สองประตูที่เขาทำได้ในเกมนัดชิงชนะเลิศ ทำให้เขากลายเป็นขวัญใจชาวฝรั่งเศส รวมถึงเป็นชาวฝรั่งเศสที่เป็นที่รู้จักที่สุดในโลก และกลายเป็นสัญลักษณ์ของสังคมหลากเชื้อชาติยุคใหม่ในฝรั่งเศส เพราะครอบครัวของเขาเป็นผู้อพยพจากแอลจีเรีย

นอกจากนั้น ฟุตบอลโลกยังถูกมองว่าเป็นโอกาสในการแสดงความสำเร็จ และความน่าสนใจ ทางอุตสาหกรรมไฮเทค วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวของฝรั่งเศส ท่ามกลางคำถามทางสังคมที่เกิดขึ้นมากมายในฝรั่งเศสตลอดช่วงทศวรรษ 1990

 

เหตุการณ์สุดคลาสสิกที่ยังถูกเล่าขานถึงปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลา 32 วัน ในการแข่งขัน เกิดเหตุการณ์ที่น่าจดจำมากมายในสนาม แม้จะผ่านมากว่าสองทศวรรษ แต่หลายเรื่องราวยังคงถูกจดจำ ถูกเล่าขานมาจนถึงทุกวันนี้ นับว่าทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างการชิงชัยบนผืนหญ้าในฟรองซ์ 98 นั้น ช่างสะท้อนความงดงามและคลาสสิกของโลกฟุตบอล รวมถึงความเป็นมนุษย์ของเหล่านักกีฬาได้ดีเหลือเกิน

หนึ่งในเหตุการณ์ที่ถูกจดจำมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการโดนไล่ออกของ เดวิด เบ็คแฮม (David Beckham) ในรอบน็อกเอาต์ที่อังกฤษพบกับอาร์เจนตินา เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงต้นครึ่งหลังนาทีที่ 47 ขณะที่เสมอกันอยู่ 2 ประตูต่อ 2 เบ็คแฮมถูกดิเอโก ซิเมโอเน (Diego Simeone) กระแทกด้านหลังขณะจะรับบอลที่บริเวณใกล้กับกลางสนาม เขาล้มลงฟุบหน้าบนพื้นหญ้า ก่อนใช้ขาข้างขวากระแทกซิเมโอเนที่กำลังเดินถอยหลังใกล้กับเขาล้มลงต่อหน้าผู้ตัดสินชาวเดนิช คิม มิลตัน นีลเซน (Kim Milton Nielsen) ส่งผลให้ถูกใบแดงโดยตรง แม้ภายหลังจะมีการวิพากษ์ว่าซิเมโอเนล้มลงง่ายเกินไปก็ตาม ท้ายที่สุด อังกฤษพ่ายอาร์เจนตินาในการดวลจุดโทษ เบ็คแฮมถูกตำหนิ และกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาแฟนบอลทันที

นอกจากนั้น ในเกมเดียวกันยังมีอีกเหตุการณ์ที่น่าจดจำ คือการแจ้งเกิดให้โลกได้รู้จัก ‘โกลเดนบอย’ ไมเคิล โอเวน (Michael Owen) ที่ขณะนั้นยังเป็นผู้เล่นดาวรุ่งพุ่งแรงวัย 18 ปี ของอังกฤษ หลังจากใช้ความเร็วฉีกหนีแนวรับของกองหลังอาร์เจนตินาสองคนอย่างอาจหาญเข้าไปยิงประตูขึ้นนำ 2 ต่อ 1 แม้อังกฤษจะตกรอบ แต่กราฟชีวิตโอเวนพุ่งทะยานขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่เขาจะก้าวไปคว้ารางวัลเกียรติยศสูงสุดของการเป็นนักฟุตบอลคือ บัลลงดอร์ (Ballon d’Or) ในปี 2001 และนับเป็นนักเตะอังกฤษคนที่สี่ได้ที่รางวัลนี้ ต่อจาก สแตนลีย์ แมทธิวส์ (Stanley Matthews) ในปี 1956, บ๊อบบี ชาร์ลตัน (Bobby Charlton) ในปี 1966 และ เควิน คีแกน (Kevin Keegan) ในปี 1978 และ 1979

นอกจาก ซีเนดีน ซีดาน นักเตะที่สปอตไลต์แห่งทัวร์นาเมนต์ฟรองซ์ 98 จับจ้องไปมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘โล้นทองคำ’ โรนัลโด ศูนย์หน้าทีมชาติบราซิลในวัย 21 ปี ผู้เป็นโคตรปรากฏการณ์ของวงการฟุตบอล ณ ขณะนั้น เขาโชว์ฟอร์มยิงประตูสี่ลูกพาบราซิลที่เป็นแชมป์ฟุตบอลโลกมาแล้ว 4 สมัย ทะลุเข้าชิงชนะเลิศกับฝรั่งเศส

กระทั่งเกิดเหตุการณ์ลึกลับสุดคลาสสิกเรื่องหนึ่งของประวัติศาสตร์โลกฟุตบอลขึ้น เมื่อในช่วงแถลงข่าวก่อนเกมเริ่ม กลับไม่มีชื่อของโรนัลโดในแผนการเล่นนัดชิง สร้างความแตกตื่นให้กับนักข่าวที่ต้องวิ่งวุ่นหาสาเหตุการหายไปของเขา จนมีข่าวลือว่าเขามีอาการบาดเจ็บ

แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นอีก เมื่อถึงเวลาลงสนาม กลับมีชื่อของโรนัลโดอีกครั้ง ท่ามกลางความงุนงงของนักข่าวอีกรอบ และความไม่มั่นใจว่าโรนัลโดจะฟิตพอเล่นนัดชิงหรือไม่ ก่อนที่ผลสุดท้ายทุกอย่างจะปรากฏออกมาในรูปของสกอร์ที่บราซิลพ่ายไปถึง 3 ประตูต่อ 0 

หลังจบเกม เป็นที่เชื่อกันว่า โรนัลโดมีอาการ ‘ป่วยลึกลับ’ จนต้องถูกนำส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วนในวันนั้น (แน่นอนว่าไม่มีการเปิดเผยข่าวต่อสื่อมวลชน) มีทฤษฎีสมคบคิดมากมายเกี่ยวกับตัวเขาในวันนั้น ทั้งการถูกวางยา ความเครียดสะสม หรือกระทั่งการใช้ยาแก้ปวดต่อเนื่องยาวนานจนร่างกายรับไม่ไหว จนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง

แม้กระทั่งตัวโรนัลโดเองก็เคยให้สัมภาษณ์เพียงแค่ว่า ในวันนั้น เขาตัดสินใจเข้าไปนอนพักผ่อนที่ห้องพักหลังมื้อเที่ยง และตื่นมาพร้อมความสับสน เพราะภาพที่เห็นคือ ในห้องพักเต็มไปด้วยเพื่อนร่วมทีมที่กำลังพูดคุยกันด้วยสีหน้าเป็นกังวล ก่อนแจ้งให้เขาทราบว่าเขาหลุดตัวจริงไปแล้ว จึงไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจและอนุญาตให้ลงสนาม เขาจึงกลับมาที่แคมป์ทีมชาติอีกครั้งพร้อมใบรับรองแพทย์ และบอกกับ มาริโอ ซากัลโล่ (Mário Zagallo) โค้ชทีมชาติบราซิลในขณะนั้นว่า “ผมต้องลงเล่น”

นอกจากเรื่องราวของเหล่านักฟุตบอลแล้ว ฟรองซ์ 98 ยังมีเหตุการณ์ที่น่าจดจำอีกมากมาย ทั้งความสำเร็จของโครเอเชียที่เพิ่งเข้ามาเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกในฐานะประเทศเอกราช หลังจากก่อนหน้านี้เคยเข้าแข่งในฐานะส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวีย และจบด้วยอันดับสาม รวมถึงการที่ดาวยิงโครแอตอย่าง ดาวอร์ ซูเคอร์ (Davor Šuker) สร้างตำนานกลายเป็นดาวซัลโวสูงสุดของทัวร์นาเมนต์ หรือการที่ฟรองซ์ 98 เป็นฟุตบอลโลกครั้งแรกที่มีการนำกฎกติกา ‘โกลเดนโกล’ ที่กำหนดให้ทีมที่ยิงประตูในช่วงทดเวลาได้ก่อนเป็นผู้ชนะ

 

ทัวร์นาเมนต์ที่ซ่อมแซมความสัมพันธ์ระหว่างชาติ

นับตั้งแต่มีการโค่นล้มพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (Mohammad Reza Pahlavi) เนื่องจากการปฏิวัติอิหร่าน และการโจมตีสถานทูตอเมริกันในอิหร่าน รวมถึงการสนับสนุนอิรักของอเมริกา ในช่วงปี 1979 ของสงครามอิหร่าน-อิรัก ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านยุติลง และนับเป็นศัตรูกันโดยปริยายนับแต่นั้น

เมื่อการจับฉลากฟุตบอลโลกรอบแบ่งกลุ่มพาให้ทั้งสองประเทศมาอยู่ด้วยกันในกลุ่ม F การปะทะกันของสหรัฐฯ และอิหร่านจึงถูกขนานนามว่าเป็น ‘The Mother of All Games’ ที่นอกจากแฟนบอลจะรอชมแล้ว ยังถูกจับตามองในเรื่องการเมืองการทูตที่ร้อนแรงระหว่างสองชาติ เจ้าหน้าที่ของการแข่งขันแมตช์ดังกล่าวจึงต้องระมัดระวังมากกว่าแค่เรื่องความปลอดภัย แต่มันหมายถึงภาพที่จะถูกเผยแพร่ผ่านสื่อ

ความกังวลของทางฟีฟ่านั้นอยู่ที่นอกสนาม เพราะมีข่าวกรองว่า กลุ่มขบวนการต่อต้านการปฏิวัติสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (The People’s Mujahedin Organization of Iran) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) ได้ซื้อตั๋ว 7,000 ใบสำหรับเกมนี้ และกำลังวางแผนที่จะประท้วงในระหว่างการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม การมีแฟนบอลจำนวนมากมายมหาศาลที่มาชมการแข่งขัน การกระทำบางสิ่งท่ามกลางฝูงชน 42,000 คน นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

จากข่าวกรองดังกล่าวจึงมีการวางแผนส่งต่อรูปถ่ายกลุ่มที่เตรียมก่อความไม่สงบให้กับตากล้องการแข่งขัน เพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายทอดสดใบหน้าพวกเขา รวมถึงแบนเนอร์ที่ทางกลุ่มเตรียมมาเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง แม้จะมีสมาชิกในกลุ่มบางคนสามารถลักลอบนำแบนเนอร์เข้ามาในสนามได้ก็ตาม เมื่อแผนการณ์ขั้นต้นของกลุ่มไม่ประสบความสำเร็จ แผนสำรองสำหรับตำรวจปราบจลาจลของฝรั่งเศสที่เตรียมตัวสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดจึงไม่จำเป็นต้องออกโรง

ปัญหาถัดมา คืออิหร่านเป็นทีม B และสหรัฐอเมริกาเป็นทีม A ซึ่งตามกฎข้อบังคับของฟีฟ่า ทีม B ควรต้องเป็นฝ่ายเดินไปหาทีม A สำหรับการจับมือก่อนการแข่งขัน แต่ อาลี คาเมนี (Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุดของอิหร่านออกคำสั่งอย่างชัดแจ้งว่า ทีมอิหร่านจะต้องไม่เดินเข้าหาชาวอเมริกัน ด้วยเหตุดังกล่าว เมอห์แดด มาซูดี (Mehrdad Masoudi) เจ้าหน้าที่ประจำการแข่งขันผู้เกิดในอิหร่าน จึงต้องเข้าไปเจรจาประนีประนอมให้นักเตะอเมริกันเป็นฝ่ายเดินเข้าหานักเตะอิหร่านแทน โชคดีที่นักเตะอเมริกันยินยอมรับการร้องขอดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากมองจากมุมของสหพันธ์ฟุตบอลอิหร่าน พวกเขาย่อมไม่ปรารถนาให้ภาพของเหล่านักเตะผู้เป็นตัวแทนของประเทศต้องดูย่ำแย่อย่างแน่นอน แต่ต้องใช้การแข่งขันแมตช์นี้เพื่อแสดงให้เห็นภาพลักษณ์ที่ดีของอิหร่านมากที่สุด ในวันแข่งขัน จึงมีการเตรียมดอกกุหลาบขาว อันเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพให้นักเตะอิหร่านถือไว้คนละช่อ เพื่อมอบให้กับนักเตะอเมริกันทุกคนที่เดินมาจับมือพร้อมรอยยิ้ม ก่อนจะมีการชักภาพร่วมกันต่อหน้าแฟนบอลนับหมื่นในสนาม และนับล้านทั่วโลก

เมื่อนกหวีดการแข่งขันเริ่มต้น ทั้งสองทีมดวลเดือดกันตลอด 90 นาที อย่างแฟร์เพลย์ในเกมกีฬา ก่อนจบลงด้วยชัยชนะของอิหร่าน 2 ประตูต่อ 1 และเป็นชัยชนะครั้งแรกของอิหร่านในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย  ทำให้ผู้คนในกรุงเตหะรานของอิหร่านออกมาฉลองชัยกันอย่างมีความสุข ทั้งเต้นรำ ดื่มแอลกอฮอล์อย่างเปิดเผย ผู้หญิงบางคนถึงกับถอดผ้าคลุมศีรษะออก นับเป็นการนำความสุขและการฉลองกลับคืนสู่อิหร่านอีกครั้ง หลังระบอบการปกครองของอิหร่านค่อนข้างหวาดกลัวกับเรื่องดังกล่าว

ส่วนฝั่งสหรัฐอเมริกา แม้จะพ่ายแพ้ในการแข่งขัน แต่ เจฟฟ์ อากูซ (Jeff Agoos) กองหลังของอเมริกาในนัดดังกล่าวเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “สิ่งที่พวกเราทำใน 90 นาที มันมากกว่าที่นักการเมืองทำมาตลอด 20 ปี เสียอีก”

 

บทเพลงและวัฒนธรรมป็อปคัลเจอร์

สิ่งที่ผู้คนจะจดจำจากการแข่งขันฟุตบอลโลกในแต่ละคราว นอกจากการแข่งขันในสนามแล้ว สีสันนอกสนามก็เป็นเสน่ห์ที่ผู้คนให้ความสนใจ หนึ่งในสัญลักษณ์ของฟุตบอลโลกทุกครั้งคือ ‘เพลงประจำการแข่งขัน’ แน่นอนว่า The Cup of Life ที่ขับร้องโดย ริกกี มาร์ติน (Ricky Martin) ศิลปินชาวเปอร์โตริโก นับเป็นบทเพลงอมตะของการแข่งขันฟุตบอลโลกอย่างแท้จริง ด้วยเอกลักษณ์ของความสนุกสนานในพาร์ตดนตรี และเนื้อเพลงที่ติดหู 

หลังประสบความสำเร็จอย่างมากจากเพลง Maria ในขณะที่ ริกกี มาร์ติน กำลังบันทึกสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 4 ของเขาอย่าง ‘Vuelve’ ทางฟีฟ่าได้ติดต่อหาเขา และขอให้เขาทำเพลงประกอบฟุตบอลโลก 1998 ที่กำลังจะเกิดขึ้น

“ผมยอมรับว่าความท้าทายนี้ทำให้ผมรู้สึกประหม่าเล็กน้อย แต่โอกาสและศักยภาพในการเติบโตในอาชีพการงานของผม ทำให้ผมตัดสินใจรับงานนี้” ริกกีเขียนเรื่องราวนี้ในอัตชีวประวัติของเขา นอกจากนั้น เขายังระบุว่า มันเป็นโอกาสพิเศษในการนำเสนอเสน่ห์ของดนตรีละตินให้คนอื่นๆ ทั่วโลกได้รับฟัง

หลังจากนั้น ริกกี มาร์ติน จึงทำงานร่วมกับโปรดิวเซอร์อย่าง เคซี พอร์เตอร์ (KC Porter), โรบิ โรซา (Robi Rosa) และ เดสมอนด์ ไชลด์ (Desmond Child) เพื่อสร้างสรรค์เพลงธีมแห่งการแข่งขันฟุตบอลโลกขึ้นมา ผลจึงกลายมาเป็นเพลง La Copa de la Vida ซิงเกิลภาษาสเปนลำดับที่สองในอัลบั้ม ‘Vuelve’ และถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Cup of Life

ด้วยจังหวะที่สนุกสนานแบบละติน และเนื้อเพลงที่พูดถึงการผลักดันตนเองให้มุ่งไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ทำให้ The Cup of Life ฮิตติดหูไปทั่วโลก กลายเป็นเพลงที่ประสบความสำเร็จที่สุดของ ริกกี มาร์ติน รวมถึงขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งในหลายประเทศ พาให้ชื่อของริคกี มาร์ติน กลายเป็นศิลปินระดับโลก และทำให้เขาได้ขึ้นแสดงในงานประกาศรางวัลแกรมมี่ครั้งที่ 41  

นอกจากเรื่องบทเพลง หากย้อนไปในยุคปลายเก้าศูนย์ที่เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตยังไม่สะดวกสบายเท่าทุกวันนี้ ความสนุกของยุคนั้นจึงสะท้อนผ่านสิ่งของต่างๆ อีกหนึ่งความคลาสสิกของป็อปคัลเจอร์ในยุคเก้าศูนย์ คือการสะสมสติกเกอร์นักฟุตบอลในดวงใจ ผ่านสมุดสะสมพานินี (Panini) ด้วยความเรียบง่ายแค่ลุ้นว่าสติกเกอร์ที่ได้จะเป็นใบหน้าใคร และแปะลงบนหน้ากระดาษสมุด เพื่อนำไปอวดกันว่าใครสะสมได้มากที่สุด 

พานินีจึงเป็นสิ่งที่นักสะสมทุกวันนี้ต่างถวิลหา เพราะมันเป็นสมุดบันทึกประวัติศาสตร์ของโลกลูกหนัง ที่แฝงไปด้วยมนต์ขลังและความคลาสสิกอย่างแท้จริง

ในยุคที่โลกยังไม่รู้จักเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม หรือยูทูบ

ในยุคที่ผู้คนเงยหน้าปฏิสัมพันธ์กันมากกว่าก้มหน้า

ในยุคที่โลกกว้างใหญ่อยู่รอบตัวเรามากกว่าสมาร์ตโฟนเครื่องเล็กในมือ

ฟรองซ์ 98 จึงเป็นอีกหนึ่งไดอารีที่บันทึกเหตุการณ์ช่วงเวลาของความสุขและความสนุกในปลายยุคแอนะล็อก ที่มนุษย์ยังคงใช้ชีวิต มองโลก และแสดงออกด้วยจริตในอีกรูปแบบหนึ่ง แบบที่เทคโนโลยียังไม่ได้ขัดเกลาเราจนกลายเป็นอย่างทุกวันนี้

และถึงแม้ว่าไม่มีสิ่งใดสามารถคงอยู่นิรันดร์ได้ในความเป็นจริง

แต่เมื่อไรก็ตามที่ The Cup of Life เริ่มบรรเลงขึ้น เชื่อแน่ว่ากลิ่นอาย บรรยากาศ และสีสันแห่งโลกในปี 1998 จะย้อนกลับมาในความทรงจำแฟนบอลเสมอ

 

 

อ้างอิง

https://www.sportsnet.ca/soccer/1998-world-cup-the-french-revolution/

https://core.ac.uk/download/pdf/326545129.pdf

https://www.fourfourtwo.com/features/usa-vs-iran-france-98-most-politically-charged-game-world-cup-history

https://www.footballparadise.com/memorable-moments-from-the-1998-world-cup-20-years-on/

https://www.fourfourtwo.com/features/what-really-happened-ronaldo-1998-world-cup-final-his-own-words

https://talksport.com/football/377360/france-croatia-players-1998-world-cup-all-star-team/

https://www.theguardian.com/football/2018/jul/13/world-cup-best-all-time

https://www.reuters.com/article/uk-soccer-worldcup-viewers-idUKKCN1OK19B

https://en.wikipedia.org/wiki/The_Cup_of_Life

Tags: , , , ,