จากผลการลงคะแนนลับ เพื่อเลือกประธานสภาฯ พบว่านายชวน หลีกภัย ซึ่งเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐ ได้รับการโหวตเป็นประธานสภาฯ ด้วยคะแนน 258 เสียง ส่วนนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์  ได้คะแนนเสียง 235 เสียง

ซึ่งมีข้อสังเกตว่า แต่เดิมพลังประชารัฐและพรรคร่วมอื่นๆ มี 253 เสียง ซึ่งมีการงดออกเสียง 1 จึงเท่ากับว่าจะมีเสียงโหวตประธานสภาฯ เพียง 252 เสียง แต่กลับปรากฏว่าในการลงคะแนนครั้งนี้ได้คะแนนเสียงถึง 258 เสียง

จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า อีก 6 เสียงนี้มาจากไหน เป็นใคร ขั้วไหน พรรคไหน

และเมื่อพิจารณาจากอีกขั้ว ซึ่งก็คือ 7 พรรคฝั่งประชาธิปไตย ซึ่งมีคะแนนเสียงเดิม 243 เสียง แต่ไม่สามารถออกเสียงได้ 2 เสียงก็คือธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และลาป่วยอีกหนึ่งเสียง ประกอบกับมีคนไม่ร่วมลงคะแนน 2 เสียง (หนึ่งในนั้นคือนายกนก ลิ้มตระกูล ส.ส. อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย) แต่ผู้ที่ลงคะแนนให้นายสงพงษ์กลับมีเพียง 235 ซึ่งเท่ากับว่าอาจมีคะแนนหายไป 6-8 เสียง นั่นเอง

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากผู้ที่ลงมติเห็นด้วยกับการเลื่อนวันเลือกประธานสภาฯ ที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐนั้น มีผู้ลงมติให้เลื่อนมีจำนวน 246 เสียงและมี 5 เสียงจากพรรคพลังประชารัฐที่ตอบผิด และนายชัย ชิดชอบ ที่ต้องงดออกเสียงในฐานะประธานสภาฯ ชั่วคราว จึงพอคาดการณ์ได้ว่าคะแนนเสียงที่จะเลือกนายชวน หลีกภัย ซึ่งเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐนั้นน่าจะมีจำนวน 252 คน แต่คะแนนที่ออกมาที่ลงคะแนนให้นายชวน หลีกภัย กลับมีจำนวนถึง 258 เสียง หรือเพิ่มมาถึง 6 เสียงในช่วงบ่าย

เพราะฉะนั้นจึงมีการสรุปข้อสังเกตกันว่า ในการลงคะแนนเลือกประธานสภาฯ ในครั้งนี้ ฝั่ง 7 พรรคประชาธิปไตยอาจมีงูเห่าอย่างน้อย 6 ตัวที่โหวตเลือกนายชวน หลีกภัย แทนที่จะโหวตเลือกนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ จนทำให้นายชวน หลีกภัย ได้เป็นประธานสภาฯ ในที่สุด

Tags: , , , , , , , ,