การเสด็จเยือนไทยระหว่าง 20-22 พฤศจิกายนในปีนี้ของสันตะปาปาฟรานซิสถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับหลายภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะคริสตชนคาทอลิกชาวไทยหรือศาสนจักรไทยเท่านั้น แต่รวมไปถึงฝ่ายรัฐบาลไทย ซึ่งสันตะปาปาฟรานซิสถือว่าเป็นผู้นำรัฐคนแรกที่มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบันที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
เมื่อดูโปรแกรมการเสด็จเยือนประเทศไทยแล้ว การเยือนครั้งนี้ดูเหมือนเป็นเพียงแค่การเยี่ยมเยือนคริสตชนคาทอลิกชาวไทยที่มีจำนวนน้อยนิด ซึ่งกำลังเฉลิมฉลอง 350 ปีแห่งการก่อตั้งพระศาสนจักรในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้การเสด็จเยือนประเทศไทยของสันตะปาปาจึงแตกต่างจากการเสด็จเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่สันตะปาปาพยายามสร้างสะพานแห่งสันติภาพ หรือการเสด็จเยือนญี่ปุ่นที่เป็นการเยือนเชิงสัญลักษณ์ว่าด้วยการต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์
สันตะปาปาฟรานซิส ขณะเยือนประเทศไทยเมื่อ 20-22 พฤศจิกายน 2562
โดยปกติแล้วช่วงเวลาปลายเดือนของพฤศจิกายนจะเป็นช่วงที่สันตะปาปาแต่งตั้งพระคาร์ดินัล หากแต่ว่าพระศาสนจักรภายใต้การนำของสันตะปาปาฟรานซิสไม่มีอะไรที่เป็นแบบแผนตายตัว อย่างไรก็ดีการแต่งตั้งพระคาร์ดินัลก็เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วในวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า พระคาร์ดินัลทั้ง 13 องค์ที่เพิ่งแต่งตั้งมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม ซึ่งอาจพอสรุปได้ว่า สำหรับสันตะปาปาฟรานซิสแล้ว การสนทนาแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือระหว่างพระศาสนจักรกับโลกมุสลิม เป็นหนทางที่นำไปสู่สันติภาพ
แรงจูงใจของวาติกันที่เข้ามามีบทบาทในการเมืองโลก
ตั้งแต่อดีต พระศาสนจักรเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก มีระบบบริหารเพื่อให้หลักการและการปฏิบัติกิจทางศาสนาสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น ศาสนจักรยังมีองค์กรบริหารที่ทำหน้าที่เหมือนรัฐบาลกลางภายใต้การนำของสันตะปาปา ซึ่งรู้จักกันในนาม สันตะสำนัก (Holy See) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “รัฐวาติกัน” หรือ “วาติกัน”
ในฐานะรัฐเอกราช วาติกันนั้นมีประมุขของรัฐ คณะทูต รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และออกมาแสดงจุดยืนของตนเองเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในเวทีโลก อีกทั้งยังเป็นผู้สังเกตการณ์ในองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เช่น สหประชาชาติ องค์การการค้าโลก และสภายุโรป เป็นต้น
หากมองแง่ของรัฐชาติ (Nation-State) แน่นอนว่าภารกิจหลักของการทูตวาติกัน คือ การปกป้องและให้ความช่วยเหลือเหล่าผู้ศรัทธาที่ถูกคุกคามไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ถึงกระนั้น บทบาทของวาติกันในการเมืองโลกเผยให้เห็นว่า เป้าหมายของการทูตวาติกันไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การให้ความช่วยเหลือแก่บรรดาผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก แต่ยังรวมไปถึงผู้คนทั่วโลกที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง และการใช้กำลังทางทหาร ซึ่งเห็นได้จากท่าทีของวาติกันที่ส่งเสริมสันติภาพ และความพยายามที่จะพบปะหารือกับผู้นำประเทศที่เกี่ยวข้องกับสงครามในตะวันออกกลาง หรือปมขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เพื่อหยุดวิกฤติที่ดูเหมือนไม่มีวันสิ้นสุด
แรงจูงใจของวาติกันในการเข้ามามีบทบาทในการเมืองโลกมีพื้นฐานจากหลักการทางศีลธรรมที่วาติกันยึดถือ ปรัชญาและคำสอนของศาสนจักรเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดการดำเนินงานของการทูตวาติกัน ซึ่งข้อปฏิบัติทางจริยธรรมเหล่านี้ช่วยรักษาชื่อเสียงของวาติกันในฐานะรัฐที่เป็นกลาง ทั้งนี้วาติกันเลือกที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับประเด็นการเมืองใดๆ เว้นเสียแต่ว่าประเด็นปัญหาทางการเมืองขัดกับศีลธรรมจรรยา และการเข้ามาเป็นตัวละครในเวทีโลกเป็นหนทางเดียวที่วาติกันสามารถปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และส่งเสริมความเป็นธรรมในระเบียบโลก
วาติกันนับว่าเป็นหนึ่งในรัฐที่มีเครือข่ายทางการทูตที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก โดยในปัจจุบันวาติกันมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับ 183 รัฐทั่วโลก และเมื่อสองปีที่ผ่านมา วาติกันได้เริ่มต้นความสัมพันธ์ทางกับทูตกับประเทศพม่า ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือนก่อนการเสด็จเยือนประเทศพม่าของสันตะปาปาฟรานซิสในปี 2017
ถึงแม้ว่าวาติกันจะมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับนานาประเทศทั่วโลก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าวาติกันจะเป็นมหาอำนาจในโต๊ะเจรจา วาติกันเป็นเพียงแค่รัฐขนาดเล็ก (เล็กกว่าสนามบินดอนเมือง) มีพื้นที่เพียง 0.44 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น (น้อยที่สุดในโลก) และมีประชากรอยู่ประมาณ 804 คน วาติกันไม่มีแม้กระทั่งเครื่องมือทางเศรษฐกิจหรือทางทหารที่จะนำมาใช้ต่อรองได้ ด้วยเหตุนี้บทบาททางการทูตของวาติกันจึงจำกัดอยู่แค่การเป็นคนกลาง และประสานฝ่ายต่างๆ โดยไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกถูกรังแก หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ แม้ว่าแต่ละฝ่ายจะมีจุดยืนที่แตกต่างกัน
หากกล่าวอีกนัยหนึ่ง การทูตวาติกันคือการทำให้แน่ใจว่า ไม่มีใครที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทถูกกีดกันหรือถูกเพิกเฉย พร้อมกับสนับสนุนและโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายหันมาพูดคุย ซึ่งพระคุณเจ้า ซีลวาโน โตมาซี (Mgr. Silvano Tomasi) อดีตผู้สังเกตการของวาติกันในสหประชาชาติ อธิบายถึงบทบาททางการทูตของวาติกันว่า “พวกเราพยายามทำให้ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปมความขัดแย้งหันหน้าหารือกัน”
บรรยายภาพ: พระคุณเจ้า ซีลวาโน โตมาซี (Mgr. Silvano Tomasi) อดีตผู้สังเกตการของวาติกันในสหประชาชาติ ณ การประชุมใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 103 ภาพจาก ILO
อย่างไรก็ดี จุดแข็งด้านการทูตของวาติกัน ซ่อนอยู่ในความสามารถในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ พร้อมกับมุมมองวิเคราะห์ของคนในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วยบรรดาคริสตศาสนิกชนและศาสนจักรท้องถิ่น นักการทูต / สมณทูต (Nuncio) ที่ประจำอยู่ที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานการกุศล ที่บ่อยครั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยง
เพราะวาติกัน เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ยอดเยี่ยม
คำบอกเล่าและประสบการณ์ที่ถ่ายทอดโดยสมาชิกพระศาสนจักรหรือองค์กรเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของวาติกัน และเป็นองค์ประกอบสำคัญของการทูตวาติกัน ทั้งนี้ด้วยบทบาทการเป็นคนกลางในการเมืองโลก วาติกันจำเป็นต้องแสดงให้ทุกฝ่ายเห็นว่า วาติกันรับรู้ถึงความต้องการและเข้าใจสถานการณ์ท้องถิ่นของแต่ละฝ่าย ชอง-แบบติสต์ โนเอ้ (Jean-Baptiste Noé) ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์การเมืองชาวฝรั่งเศสให้ความเห็นว่า “เครือข่ายข้อมูลของพระศาสนจักรถือว่าเป็นหนึ่งในความได้เปรียบ(ของวาติกัน)”
จุดเด่นข้อนี้ของวาติกันดึงความสนใจจากประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวและความเห็นของนักการทูตวาติกันทุกฝีก้าว โดยสหรัฐฯ เชื่อว่า วาติกันมี “แหล่งข้อมูลที่ยอดเยี่ยม” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลของประเทศที่สหรัฐฯ ไม่อาจเข้าถึงได้ เช่น เกาหลีเหนือ ที่ซึ่งมีบาทหลวงคาทอลิกไปที่นั่นบ่อยครั้งเพื่อบรรเทาภาวะความอดอยาก และรักษาประชาชนเกาหลีเหนือที่เจ็บป่วย นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมองว่า วาติกันสามารถเป็นพันธมิตรที่จะช่วยผลักดันวาระต่างๆ ของสหรัฐฯ ในเวทีโลก
เอกสารทางการทูตมากมายของสหรัฐฯ บนวิกิลีกส์ (Wikileaks) ได้บรรยายถึงบทบาทในโต๊ะเจรจาและความคิดเห็นของตัวแทนทางการทูตของวาติกันไว้อย่างละเอียด ทั้งยังพบว่า สหรัฐฯ พยายามนำเสนอนโยบายและเป้าหมายของตนให้สอดคล้องกับหลักคำสอนของพระศาสนจักรที่วาติกันยึดถือ รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญที่เป็นที่ยอมรับในศาสนจักรมาอยู่ในคณะตัวแทนการทูต โดยหวังว่า หากสหรัฐฯ โน้มน้าววาติกันสำเร็จ วาติกันจะสร้างความเข้าใจให้กับประเทศอื่นๆ ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมากขึ้น ในทางกลับกัน “หากวาติกันตัดสินว่า (สิ่งที่สหรัฐฯ นำเสนอ) ผิดศีลธรรม มันคงเป็นการยากที่จะผลักดันวาระของสหรัฐฯ ในเวทีระหว่างประเทศ”
แม้ว่าวาติกันอาจจะต้องยืนอยู่ตรงกันข้ามกับประเทศมหาอำนาจอย่างสิ้นเชิงตามหลักศาสนา เช่น เรื่องของการใช้กำลังทางทหารเพื่อยุติปัญหา วาติกันยังคงยึดมั่นต่อจุดยืนตนเองในการพยายามดึงประเทศที่เกี่ยวข้องกลับเข้ามาหาทางออกบนโต๊ะเจรจา
วาติกันกับสงครามและสันติภาพ
จากเอกสารของสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงวาติกันฉบับหนึ่งเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2003 ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งเดือนก่อนที่สหรัฐฯ และฝ่ายพันธมิตรจะเข้าบุกอิรัก เล่าถึงคณะตัวแทนทางการทูตวาติกันที่เข้าพบประธานาธิบดีซัดดัม ฮุซเซน (Saddam Hussein) ซึ่งประกอบด้วยฟรานโก โคโปล่า (Franco Coppola) และคาร์ดินัลโรเจ้ร์ เอท์เชการาย (Roger Etchegaray) การเข้าพบครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อโน้มน้าวให้ซัดดัมยอมร่วมมือกับประชาคมนานาชาติ ทั้งนี้ โคโปล่าให้คำแนะนำแก่สหรัฐฯ สำหรับการเจรจากับซัดดัมว่า “พวกเขา (ฝ่ายรัฐบาลและประธานาธิบดีซัดดัม) ไม่ชินกับการหารือ และการถูกท้าทาย […] ถ้าพวกคุณต้องการอะไรจากเขาแล้วล่ะก็ พวกเขาต้องไม่ถูกฉีกหน้า”
บรรยายภาพ: คาร์ดินัลโรเจ้ร์ เอท์เชการาย (Cardinal Roger Etchegaray) จาก Stan Rougier: “Dieu est Amour”
นอกจากนี้ เอกสารดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า วาติกันพร้อมที่จะปฏิเสธการให้ความร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจ ถึงแม้ว่าวาติกันอาจจะต้องแลกด้วยชีวิตของเจ้าหน้าที่ทางการทูต “ทางวาติกันตัดสินใจไม่ตอบรับคำขอของ J5 (คณะกรรมการร่วมระหว่างเพนตากอน และรัฐบาลสหรัฐฯ) ที่ขอให้วาติกันจัดทำรายชื่อ และระบุสถานที่ตั้งทางการทูตของวาติกันหรือตำแหน่งสถานที่คาทอลิกบนภาพถ่ายดาวเทียม” ซึ่งโคโปล่าชี้แจงว่า “พวกเราไม่สามารถบอกได้ว่ามันไม่ ‘โอเค’ ที่จะระเบิดตรงนี้ แต่มัน ‘โอเค’ ที่จะระเบิดตรงนั้น”
ทั้งนี้ทั้งนั้น วาติกันเคารพการตัดสินใจของประเทศต่างๆ หากทุกฝ่ายเลือกที่จะใช้กำลังทหาร หลังจากที่ได้พบปะกับผู้นำอิรัก โคโปล่าออกมาย้ำว่า “แนวทางการแก้ไขนั้นขึ้นอยู่กับประชาคมนานาชาติ ถ้าเป้าหมายคือการกำจัดซัดดัม สงครามเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด แต่โลกจะต้องเตรียมเผชิญหน้ากับผลลัพท์ของการตัดสินใจนี้” โดยโคโปล่ามองว่าสงครามจะเป็นตัวจุดชนวนให้กับกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง และนำไปสู่ “ผลกระทบที่ไม่อาจประเมินได้” (ซึ่งหนึ่งในผลกระทบที่ว่าก็คือกลุ่มก่อการร้ายไอซิสในปัจจุบัน)
ถึงแม้ว่าการทูตวาติกันจะล้มเหลวในการยับยั้งสงครามอิรัก ความสำเร็จของการทูตวาติกันในการยับยั้งการเผชิญหน้าที่รุนแรง และสร้างเสริมสันติภาพยังคงปรากฎให้เห็นระหว่างศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน ข้อพิพาทระหว่างชิลี และอาร์เจนตินาว่าด้วยเรื่องหมู่เกาะบริเวณช่องแคบบีเกิ้ล (Beagle Channel) ในปี 1978 ได้ทวีความรุนแรงจนกองทัพของทั้งสองประเทศพร้อมที่จะประจันหน้า แต่ชิลีและอาร์เจนตินาก็ยอมให้วาติกันเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม โดย โรเจลีโอ ฟรีเต้ร์ (Rogelio Pfirter) เอกอัครราชทูตของอาร์เจนตินาประจำวาติกันกล่าวว่า “บทบาทการเป็นตัวกลางของวาติกันมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ (ของประเทศอาร์เจนตินา) การทูตวาติกันยื่นมือเข้ามาในจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพราะไหวพริบและความสามารถของคาร์ดินัล อันโตนีโอ ซาโมเร่ (Cardinal Antonio Samorè)” โดยคาร์ดินัล อันโตนีโอ ซาโมเร่ ได้เจรจานานกว่า 6 ปี เพื่อหาข้อตกลงระหว่างชิลี และอาร์เจนตินา ซึ่งในที่สุดทั้งสองประเทศก็ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ
บรรยายภาพ: คาร์ดินัล อันโตนีโอ ซาโมเร่ (Cardinal Antonio Samorè) ตัวแทนจากวาติกันผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างชิลีและอาร์เจนตินา
ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การทูตของวาติกันต้องยกให้ เหตุการณ์การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และคิวบาในปี 2014 หลังจากที่ทั้งสองประเทศตัดขาดความสัมพันธ์นานกว่า 50 ปี ผู้นำของสหรัฐฯ และคิวบาในขณะนั้น ซึ่งได้แก่บารัค โอบามา (Barack Obama) และราอูล คาสโตร (Raul Castro) ต่างออกมาพูดถึงบทบาทสำคัญของวาติกันในการฟื้นฟูความสัมพันธ์นี้อย่างชัดเจน
โดยระหว่างการให้สนุทรพจน์ในวันที่ 17 ธันวาคม 2014 โอบามา ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในขณะนั้น ออกมากล่าวว่า “เรียนสมเด็จพระสันตะปาปา (ฟรานซิส) พวกเรารู้สึกซาบซึ้งสำหรับการสนับสนุนของท่านที่ไม่อาจจะประเมินค่าได้ ซึ่งช่วยให้พวกเราเริ่มต้นใหม่อีกครั้งกับประชาชนชาวคิวบา…”
ส่วนทางด้านคาสโตร ซึ่งกล่าวสนุทรพจน์ในวันเดียวกัน พูดในทำนองเดียวกันกับโอบามา “ผมอยากขอขอบคุณวาติกันสำหรับการช่วยเหลือต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สันตะปาปาฟรานซิส สำหรับความพยายามทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคิวบาและสหรัฐฯ”
เมื่อย้อนกลับไปดูสันตะปาปาจากศตวรรษที่ 20 ระหว่างที่โลกต้องเผชิญกับสงครามโลกและสงครามเย็น สันตะปาปาจาก 6 ใน 9 คน เป็นอดีตนักการทูต เช่น ปิอุสที่ 12 (Pius XII) และ จอห์นที่ 23 (John XXIII) โดยหลายคนจบจากโรงเรียนการทูตวาติกันโดยเฉพาะ (Pontificia Ecclesiastica Academia) ซึ่งเป็นโรงเรียนการทูตที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และยังเป็นโรงเรียนต้นแบบของโรงเรียนการทูตหลายแห่งในยุโรป ถึงกระนั้นสันตะปาปาในยุคปัจจุบันที่ไม่ได้ผ่านเส้นทาง “ทูตอาชีพ” อย่างสันตะปาฟรานซิส ยังคงมีบทบาทในเวทีโลกรวมถึงขับเคลื่อนนโยบายการทูตของวาติกัน
สันตะปาปาปิอุสที่ 12 (ซ้าย) : อดีตอัครสมณทูตในเยอรมนี (1920-1930)
สันตะปาปาจอห์นที่ 23 (ขวา) : อดีตอัครสมณทูตในฝรั่งเศส (1944-1953)
การจัดลำดับความสำคัญของนโยบายการต่างประเทศของวาติกันนั้นดูเหมือนจะปรับเปลี่ยนไปตามภูมิหลังของสันตะปาปาแต่ละองค์ การต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรป คือ ภารกิจหมายเลขหนึ่งของวาติกันภายใต้การนำของสันตะปาปา จอห์น ปอลที่ 2 (John Paul II) จากโปแลนด์ ประเทศที่เคยตกอยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ จากวาระนี้ ทำให้ผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต มีคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ออกมาพูดถึงการล่มสลายของหม่านเหล็กว่า “ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกจะเป็นไปได้ หากปราศจากสันตะปาปาองค์นี้” ในขณะที่โป๊ปฟรานซิส สันตะปาปาองค์ปัจจุบัน ซึ่งมีพื้นเพจากครอบครัวชาวอิตาเลียนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอาร์เจนตินา เน้นในเรื่องของการเปิดรับผู้อพยพ
ท่ามกลางวิกฤตการณ์และภัยคุกคามในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งก้าวข้ามเส้นพรมแดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การทูตถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผชิญหน้าความท้าทายใหม่ ที่ต่างมีความเชื่อมโยงกับตัวละครอื่นในเวทีโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
สำหรับวาติกันแล้ว การทูต คือ “ศิลปะแห่งการสร้างสันติภาพ” และยังเป็นช่องทางที่วาติกันสามารถปกป้องสิ่งที่ตัวเองเชื่อและยึดถือ รวมทั้งคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น
ความสัมพันธ์ทางการทูตของวาติกันซึ่งผนวกเข้ากับเครือข่ายข้อมูลที่กระจายอยู่ทั่วโลกไม่เพียงแต่จะช่วยวาติกันให้รู้เท่าทันทิศทางการเปลี่ยนแปลง แต่ยังช่วยให้วาติกันยืนหยัดในฐานะรัฐที่เป็นกลาง และสามารถปรับตัวเพื่อดำรงอยู่ในโลกปัจจุบัน แต่กระแสชาตินิยมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งผู้นำของประเทศเหล่านี้เลือกที่จะไม่ฟังเสียงใดๆ ดูเหมือนจะกลายเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ของการทูตวาติกัน ณ ขณะนี้ ถึงกระนั้นวาติกันก็ยังคงเชื่อมั่นว่า “ด้วยสันติวิธี ทุกอย่างนั้นเป็นไปได้”
ในความทรงจำ Mgr. Roger Etchegaray (1922-2019) : ผู้ที่ได้รับภารกิจให้ไปยังชายขอบเพื่อประสานรอยร้าวของโลก
บรรณานุกรม
-
Constance Colonna-Cesari: Dans les secrets de la diplomatie vaticane
-
Jean-Baptiste Noé: Le temps long du Vatican. Le temps, facteur de la puissance, on jbnoe.fr, décembre 2016
-
http://press.vatican.va/content/salastampa/it/bollettino/pubblico/2018/01/08/0014/00034.html
-
https://www.la-croix.com/Archives/2009-10-10/Les-nonces-apostoliques.-_NP_-2009-10-10-355355
Fact Box
- คำสามคำนี้ Church (พระศาสนจักร) Holy See (สันตะสำนัก) และ Vatican (นครวาติกัน) ต่างสร้างความสับสนมากมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Holy See และ Vatican ซึ่งใช้สลับกันอยู่บ่อยครั้ง
- ทั้งสามคำนี้มีนิยามที่แตกต่างกัน ในขณะที่ Church จะเน้นไปในแง่ของความเชื่อทางจิตวิญญาณ Holy-See และ Vatican นั้นจะมองในรูปแบบของอำนาจอธิปไตยและอาณาบริเวณ
- การใช้คำว่า Church นั้นจะพูดถึงหมู่ชนผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก บาทหลวง สังฆราช/บิชอป เหล่าคริสตชน (คล้ายกับกับพุทธบริษัท เพียงแต่อยู่ในเวอร์ชั่นศาสนาคริสต์) และมีสันตะปาปาเป็นผู้นำทางศาสนา
- ส่วน Holy See สื่อถึงรัฐเอกราช ตั้งขึ้นในค.ศ. 752 ในฐานะรัฐ Holy See มีประมุขของรัฐ (สันตะปาปา), คณะบริหาร (Roman Curia) ฯลฯ รวมทั้งการยอมรับทางกฎหมายระหว่างประเทศ และมีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ในสหประชาชาติ นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกที่มีสิทธิโหวตในทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี Holy See ไม่มีพื้นที่อาณาเขตใดอยู่ใต้การปกครอง และเป็นแค่เจ้าของอาคารเพียงไม่กี่แห่ง ทั้งนี้ทั้งนั้น Holy See ถูกเรียกว่า Vatican บ่อยครั้งเนื่องจาก Holy See ตั้งอยู่ภายในนครวาติกัน
- สำหรับ Vatican นั้น เป็นคำที่บ่งบอกถึงพื้นที่ และสื่อถึงย่านๆ หนึ่งในทิศตะวันออกของโรมที่เรียกกันว่า Vatican City ทั้งนี้ก่อนที่จะมีสนธิสัญญาลาเตรัน (Lateran treaty) ในปี 1929 ย่านดังกล่าวยังไม่เป็นอิสระจากอิตาลี สนธิสัญญาลาเตรันนี้ทำให้ Vatican เป็นนครรัฐ มีอิสระเหนือพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งรับรองความเป็นอิสระของสันตะปาปา และหน่วยงานบริหารต่างๆ ของศาสนจักร