สันตะปาปาฟรันซิส (Francis) ประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน และผู้นำสูงสุดของศาสนจักรคาทอลิก ได้เสด็จเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ณ กรุงอาบูดาบี ระหว่างวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมี เชค โมฮาเหม็ด บิน ไซอิด อัล นะห์ยัน (Sheikh Mohammed ben Zayed al-Nahyane) มกุฎราชกุมารแห่งอาบูดาบีให้การตอนรับ

แน่นอนว่า การเยือนประเทศมุสลิมของสันตะปาปานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ สันตะปาปาจอห์น ปอล ที่สอง (John Paul II) ก็เคยได้เสด็จเยือนประเทศโมร็อกโกมาแล้ว เมื่อปี ค.ศ. 1985

หากแต่การเยือนประเทศมุสลิมครั้งนี้ของสันตะปาปาฟรันซิส นับเป็นการเสด็จเยือนคาบสมุทรอาหรับครั้งแรก ดินแดนบ้านเกิดของศาสนาอิสลาม ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการเสด็จเยือนที่สันตะปาปาฟรันซิสทรงตัดสินใจเพียงผู้เดียว เนื่องจากแผนการเดินทางไปยังประเทศดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในปฏิทินการเดินทางที่มีอยู่แต่เดิม

สาเหตุที่สันตะปาปาฟรันซิส ทรงเลือกที่จะเสด็จไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นเพราะว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ “เป็นประเทศที่พยายามทำให้ตัวเองเป็นโมเดลแห่งการอยู่ร่วมกัน” กล่าวคือ ปัจจัยต่างๆ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา และจำนวนชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้สันตะปาปาฟรันซิส ทรงมองเห็นว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศที่เปิดกว้างต่อวัฒนธรรม และความเห็นที่แตกต่าง โดยจะสามารถนำไปสู่การแลกเปลี่ยนพูดคุยที่มีความหมายได้ต่อไป

ทั้งนี้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีมากกว่า 200 ชนชาติ นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศเดียวที่ยอมรับให้มีศาสนสถานอื่นที่ไม่ใช่มัสยิดอย่างเป็นทางการได้ กล่าวคือ มีโบสถ์คริสต์คาทอลิกอยู่ 8 แห่ง และมีผู้ที่นับถือศาสนคริสต์นิกายคาทอลิกประมาณ 1 ล้านคน

จุดประสงค์หลักของการเสด็จเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ของสันตะปาปาฟรันซิส คือ การสานความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม เพื่อสร้างเสริมสันติภาพ พร้อมกับต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบร่วมกัน ซึ่งความร่วมมือนี้ จะช่วยต่อสู้กับกลุ่มมุสลิมสุดโต่งที่อ้างการใช้ “ความรุนแรงในนามศาสนา หรือในนามพระเจ้า”

อย่างไรก็ดี นอกจากประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาแล้ว การเสด็จเยือนครั้งนี้ของสันตะปาปาฟรันซิส ดูเหมือนว่ามีนัยยะสำคัญทางการเมืองโลกอีกด้วย

เพราะเพียงก่อนหน้าที่จะทรงประทับเครื่องบินมายังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นประเทศหลักที่ส่งทหารเข้าร่วมกับกองกำลังผสมนำโดยซาอุดีอาระเบียในประเทศเยเมน และถูกประณามว่าทำให้พลเรือนต้องเสียชีวิตมากมาย สันตะปาปาฟรันซิสได้แสดงความกังวลต่อสงครามในเยเมน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เคารพข้อตกลงการพักรบที่มีก่อนหน้านี้ พร้อมกับออกมาเรียกร้องให้นานาประเทศเข้ามาช่วยเหลือประเทศเยเมนอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ดี ไม่มีใครทราบอย่างแน่ชัดว่า สันตะปาปาฟรันซิสทรงตรัสอะไรระหว่างการเข้าพบ มกุฎราชกุมาร แห่งอาบูดาบี ถึงกระนั้น เจ้าหน้าที่ของวาติกันได้ออกมายืนยันว่าสันตะปาปาฟรันซิส ทรงพูดถึงเรื่องสงครามในเยเมนระหว่างการเสด็จเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ที่มาภาพ: Vatican Media/­Handout via REUTERS

การพบมกุฎราชกุมารแห่งอาบูดาบี ดูเหมือนจะเป็นหนทางที่รอบคอบที่สุดสำหรับสันตะปาปาฟรันซิส เพื่อส่งต่อความปรารถนาที่จะสร้างสันติภาพในเยเมนไปยังซาอุดีอาระเบีย โดยมกุฎราชกุมารแห่งอาบูดาบีมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดิอาระเบีย โมฮัมเมด บิน ซัลมาน (Mohamed Ben Salman) นอกจากนี้ มกุฎราชกุมารแห่งอาบูดาบี ยังเป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษา (mentor) ให้กับมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียอีกด้วย

เนื่องด้วยบทบาทการทูตของวาติกันในคาบสมุทรอาหรับค่อนข้างจำกัด การพบปะพูดคุยกับผู้นำประเทศ และผู้นำศาสนาเป็นเพียงสิ่งเดียวที่สันตะปาปาฟรันซิสสามารถช่วยคลี่คลายปัญหาสงครามในประเทศเยเมน

ในโลกตะวันตกซึ่งตำแหน่งสันตะปาปาไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้นำศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก แต่ยังเป็นตัวแทนแห่งสันติภาพ และความยุติธรรม (ซึ่งเทียบได้กับองค์ดาไลลามะ ในศาสนาพุทธ)

ทำให้สันตะปาปาฟรันซิสมีอิทธิพลต่อทัศนคติของประชาชนในชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและอิตาลี แม้ว่าผู้คนจำนวนมากในประเทศดังกล่าวจะไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ก็ตาม

เป็นที่ยอมรับว่าสันตะปาปาฟรันซิสไม่อาจโน้มน้าวผู้นำประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา หรือประเทศตะวันตกอื่น เช่น อังกฤษและฝรั่งเศส ที่มีท่าทีเมินเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้โดยตรง ทว่าอิทธิพลของสันตะปาปาฟรันซิสต่อความคิดเห็นของประชาชนในประเทศเหล่านี้ สามารถถ่ายทอดเป็นอิทธิพลต่อคะแนนความนิยมของผู้นำประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ถึงกระนั้น เนื่องด้วยปัญหาที่ทวีปยุโรปและสหรัฐฯ กำลังเผชิญในขณะนี้ คงไม่มีผู้นำประเทศไหนกล้ายื่นมือเข้ามาช่วยในสงครามเยเมน

เมื่อสังเกตการเสด็จเยือนประเทศต่างๆ ของสันตะปาปาฟรันซิสที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า สันตะปาปาฟรันซิสทรงเสด็จไปยังประเทศมุสลิมบ่อยครั้ง ซึ่งประเทศต่อไปที่สันตะปาปาฟรันซิสจะทรงเยือน คือ ประเทศโมร็อกโก ระหว่างวันที่ 30 และ 31 มีนาคมนี้

การติดต่อกับประเทศมุสลิมต่างๆ ของสันตะปาปาฟรันซิส ชี้ให้เห็นว่า ทรงมีความพยายามที่จะแสดงให้โลกมุสลิมค้นพบว่า ศาสนาคริสต์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยึดเป็นอาณานิคมของโลกตะวันตก และศาสนาคริสต์ไม่เป็นพันธมิตรของอิสราเอล ดังนั้นการมาของศาสนาคริสต์ในโลกมุสลิมไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อประเทศมุสลิมแต่อย่างใด

สิ่งที่สันตะปาปาฟรันซิสกำลังทำให้ขณะนี้ สะท้อนให้เห็นว่าทำไมถึงเลือกใช้ชื่อ (นักบุญ) ฟรันซิส แห่งอัสซีซี ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจเข้าพบและพูดคุยกับสุลต่านแห่งอียิปต์ อัล กามิล (Al-Kamil) ท่ามกลางสงครามครูเสดที่กำลังปะทุเมื่อราว 800 ปีก่อน

แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยไปกว่า 8 ศตวรรษ แต่ทั้งสอง มีแนวคิดเหมือนกัน คือ “ทำให้ตนเองเป็นเครื่องมือ แห่งสันติภาพ” เป็นผู้สร้างสันติสุข

[Public domain], via Wikimedia Commons

รูปหน้าแรก: สันตะปาปาฟรันซิสใน Zayed Sports City Stadium ที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (REUTERS/Ahmed Jadallah)

บรรณานุกรม

Tags: , , , , ,