มนุษย์เราเมื่อเห็นสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่รู้จัก ก็มักจะหาชื่อเรียกที่อิงกับสิ่งที่ตัวเองรู้จักหรือคุ้นเคย และเมื่อพูดถึงสิ่งที่มนุษย์คุ้นเคยแล้ว จะมีอะไรที่มนุษย์รู้จักไปดีกว่าร่างกายและอวัยวะของตัวเองที่ใช้มาตั้งแต่เกิด
ด้วยเหตุนี้ ชื่ออวัยวะจึงถูกเอามาใช้เรียกและทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัวมากมาย ตัวอย่างเช่น เราเห็นหัวหอมหรือมันเป็นหัว เราเห็นส่วนปลายของเม็ดข้าวเป็นจมูก เราเห็นฐานของภาชนะเป็นก้น
ภาษาอังกฤษก็มีลักษณะเช่นนี้ เช่น a head of cabbage, an ear of corn หรือ a hand of bananas หรือแม้แต่คำว่า window ซึ่งมาจากคำที่กลายมาเป็น wind และ eye ในปัจจุบัน เพราะคนแต่มองว่าช่องที่ให้ลมผ่านว่าเป็นเหมือนลูกตา
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากจะมีอวัยวะที่มนุษย์หมกมุ่นด้วยไม่น้อย ก็คงหนีไม่พ้นสิ่งที่อยู่ใต้สะดือ จึงไม่แปลกที่คำหลายๆ คำมีที่มาเกี่ยวข้องกับส่วนสงวนเหล่านี้
สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า มีคำอะไรบ้างที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันโดยอาจไม่เคยรู้เลยว่า มีที่มาเกี่ยวข้องกับอวัยวะในกางเกง/ใต้กระโปรงของเรา
Pencil
คำว่า pencil ที่ใช้เรียกดินสอแบบที่เราใช้ขีดเขียนอยู่ทุกวันนี้ มาจากคำภาษาละตินว่า peniculus หมายถึง พู่กัน คำนี้อันที่จริงแล้วแปลตรงตัวได้ว่า หางขนาดเล็ก ที่พู่กันมากลายเป็นหางขนาดเล็กได้ก็เพราะพู่กันมีพู่ขนสัตว์ตรงปลายเล็กๆ ทำมาจากขนม้าบ้าง ขนอูฐบ้าง ชวนให้นึกถึงว่าเป็นหางของสัตว์เหล่านี้ เพียงแต่ย่อส่วนลงมาเท่านั้นเอง
คำว่า peniculus ที่แปลว่า หางขนาดเล็ก นี้ มาจากส่วนเติมท้าย -ulus ที่ใช้ทำให้สิ่งต่างๆ เล็กลง (เช่นในคู่คำอย่าง part-particle และ mole-molecule) รวมกับ penis ซึ่งเดิมแปลว่า หาง ก่อนจะมาใช้หมายถึง กระปู๋ อย่างในปัจจุบัน
ส่วนที่หางและ ‘น้องชาย’ มาเกี่ยวกันได้ก็เพราะล้วนแล้วเป็นอวัยวะลักษณะคล้ายรยางค์ยื่นออกจากร่างกาย แค่ยื่นออกมาคนละด้านเท่านั้นเอง
อันที่จริง นอกจากดินสอแล้ว ยาเพนิซิลลินก็เกี่ยวดองกับเครื่องเพศบุรุษเช่นกัน เพราะมาจาก peniculus ที่แปลว่า พู่กัน เหมือนกับคำว่า pencil ว่ากันว่าอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ผู้ค้นพบเพนิซิลลินตั้งชื่อยาปฏิชีวนะชนิดนี้แบบนี้ ก็เพราะรูปร่างของเชื้อราที่นำมาทำยามีส่วนที่ฟูออกคล้ายพู่กันนั่นเอง
Orchid
กล้วยไม้ที่เราเห็นกันดาษดื่น ไม่ว่าจะที่อยู่ในช่อดอกไม้ที่ไว้ใช้บูชาพระ วางประดับในจานอาหาร หรือใช้ปักแจกันประดับต่างๆ อันที่จริงแล้วก็มีชื่อในภาษาอังกฤษที่มีที่มาอย่างที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง
คำว่า orchid ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า กล้วยไม้ มาจากคำว่า orkhis ในภาษากรีกโบราณ หมายถึง ลูกอัณฑะ (ความหมายนี้ยังอยู่ในศัพท์การแพทย์ เช่น polyorchidism อันหมายถึง การที่พ่อแม่ให้ลูกอัณฑะมาเกินสอง หรือ orchiectomy อันหมายถึง การผ่าตัดลูกอัณฑะออก)
ที่ดอกไม้ที่สวยงามขนาดเป็นสัญลักษณ์ประจำสายการบินแห่งชาติมาเกี่ยวโยงกับตุ้มน้อยในกางเกงของคุณผู้ชายได้ก็เพราะหัวใต้ดินของกล้วยไม้บางสายพันธุ์มีขนาดและรูปทรงคล้ายไข่ไก่ ซ้ำยังงอกออกมาหัวเดียวแต่งอกขึ้นมาเป็นคู่ด้วย ชวนให้นึกถึงคู่แฝดในกางเกงในเป็นที่สุด
ความละม้ายนี้ไม่ได้มีแต่ชาวกรีกหรือโรมันที่เห็น เพราะชาวอังกฤษเองแต่เดิมก็เรียกกล้วยไม้ว่า bollockwort มาจาก bollock ที่แปลว่า ลูกอัณฑะ มารวมกับ wort ที่แปลว่า พืช (แบบใน pennywort ที่ใช้เรียก ใบบัวบก) ได้ความหมายรวมทำนองว่า ต้นพวงสวรรค์ นั่นเอง
Avocado
ผลไม้นี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเม็กซิโก เริ่มปรากฏในบันทึกของชาวยุโรปครั้งแรกในบทเขียนของชาวสเปนที่เดินทางไปล่าอาณานิคมในบริเวณนั้น ต่อมาภายหลัง เริ่มมีการนำผลไม้เนื้อหอมมันชนิดนี้มาปลูกในอเมริกา จนได้รับความนิยมและปรากฏในอาหารเพื่อสุขภาพมากมายเช่นทุกวันนี้
คำว่า avocado นี้ ภาษาอังกฤษรับมาจากคำว่า aguacate ในภาษาสเปนอีกที ซึ่งเป็นคำที่ชาวสเปนผู้ล่าอาณานิคมพยายามถ่ายเสียงจากคำว่า ahuakatl ในภาษานาวัตล์ (Nahuatl) ที่ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในเม็กซิโกสมัยนั้นใช้เรียกผลไม้ชนิดนี้
(ใครที่ยังอยากกินกวากาโมเล่หรือขนมปังทาอโวคาโดบดอย่างมีความสุข อ่านข้ามย่อหน้าต่อไปได้นะครับ)
แต่ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า ahuakatl นอกจากจะหมายถึง อโวคาโด แล้ว ยังหมายถึง ลูกอัณฑะ อีกด้วย ใครเคยได้เห็นและสัมผัสพื้นผิวของผลอโวคาโดก็คงพอจินตนาการความเชื่อมโยงทางกายภาพนี้ได้ไม่ยาก
ทั้งนี้ ก่อนที่อโวคาโดจะมีชื่ออย่างในปัจจุบัน ชาวอเมริกันเคยเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า alligator pear ด้วย ส่วนหนึ่งก็เพราะฟังเสียงคำว่า aguacate ผิด และอีกส่วนเพราะผิวที่ขรุขระของผลอโวคาโดนั่นเอง
Cuttlefish
หมึกกระดองที่คนไทยคุ้นเคยในเมนูอย่าง ปลาหมึกผัดไข่เค็ม หรือ น้ำแกงปลาหมึกยัดไส้ นั้น ก็ไม่พ้นจิตใจอันหมกมุ่นกับเรื่องเครื่องเพศของมนุษย์เช่นกัน
คำว่า cuttlefish ที่ใช้เรียกสัตว์ประเภทนี้ ประกอบจากคำว่า fish ที่แปลว่า ปลา (แม้ว่าหมึกกระดองจะไม่ใช่ปลาก็ตาม) มารวมกับ cuttle ที่หมายถึง หมึกกระดอง คำนี้มาจากคำอังกฤษเก่าว่า cudele ที่ว่ากันว่าเป็นญาติกับคำว่า cod ที่แต่เดิมหมายถึง ถุง แต่ต่อมาในภาษาอังกฤษยุคกลางกลับมาใช้หมายถึง หนังหุ้มอัณฑะ แรงบันดาลใจน่าจะมาจากลักษณะของหมึกกระดองที่มีรูปทรงคล้ายถุงหรือกระเปาะนั่นเอง
อันที่จริงแล้ว คำว่า cod ที่แปลว่า หนังหุ้มอัณฑะนี้ ยังปรากฏในคำว่า codpiece อันหมายถึง กระจับหรือถุงกระเปาะที่ผู้ชายชาวยุโรปยุคคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 นิยมใส่บริเวณอวัยวะเพศด้วย
Vanilla
กลิ่นวานิลลาที่เราพบเจอในอาหาร ขนม และเครื่องดื่มต่างๆ ในปัจจุบัน มีที่มาจากพืชตระกูลกล้วยไม้ชนิดหนึ่ง เดิมพบในแถบเม็กซิโก ภายหลังชาวสเปนที่เข้ามาล่าอาณานิคมได้ลิ้มรสและติดใจ จึงนำกลับไปยังยุโรปด้วย
ส่วนของต้นวานิลลาที่ให้กลิ่นที่เราคุ้นเคยนี้คือส่วนฝัก มีลักษณะเรียว สีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ เมื่อกรีดออกจะพบเมล็ดเกาะกันกับของเหลวข้นภายใน เมื่อนำไปใส่แล้วให้กลิ่นหอมหวาน
คำว่า vanilla มาจากคำว่า vaina ในภาษาสเปน ซึ่งมาจากคำว่า vagina ในภาษาละตินที่ปัจจุบันภาษาอังกฤษนำมาใช้หมายถึง จิ๊มิ อีกที
ที่ส่วนสงวนของสตรีมาเกี่ยวกับวานิลลาได้ก็เพราะคำว่า vagina ในภาษาละติน ใช้หมายถึง ฝัก (ความหมายนี้ยังพบได้ในภาษาอังกฤษในคำว่า invaginate ที่แปลว่า เก็บดาบเข้าฝัก ด้วย) หรือ เปลือกหุ้มเมล็ดธัญพืช ได้ด้วย (กรุณาใช้จินตนาการเชื่อมโยงระหว่างฝักและจิ๊มิได้ตามสะดวก) ดังนั้น คำว่า vanilla จึงมาจากความหมายที่แปลว่า ฝัก และหมายถึง ฝักขนาดเล็ก นั่นเอง
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ คำว่า vanilla ในปัจจุบันไม่ได้หมายถึงแต่กลิ่นรสของวานิลลา แต่นำมาใช้อธิบายรสนิยมทางเพศที่ไม่โลดโผนหรือซุกซนแบบ Fifty Shades of Grey ด้วย ที่เป็นเช่นนี้ว่ากันว่าเพราะรสวานิลลาเป็นรสที่ใครๆ ก็กินกัน เป็นตัวเลือกที่ปลอดภัย ไม่โลดโผนตื่นเต้นอะไร จึงกลายมาหมายถึงคนที่ไม่ได้ชอบการมีเซ็กซ์แบบโซ่แส้กุญแจมือนั่นเอง
แถมอีกนิด อันที่จริงคำหนึ่งที่ใช้เรียกปลอกดาบในภาษาอังกฤษคือคำว่า scabbard คำนี้นอกจากจะหมายถึง ฝักที่ใช้ใส่ดาบแล้ว ก็เคยแปลว่า จิ๊มิ เช่นเดียวกัน
บรรณานุกรม
- http://www.etymonline.com/
- American Heritage Dictionary of the English Language
- Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
- Edelstein, Stewart. Dubious Doublets: A Delightful Compendium of Unlikely Word Pairs of Common Origin, from Aardvark/Porcelain to Zodiac/Whiskey. John Wiley & Sons: New Jersey, 2003.
- Forsyth, Mark. The Etymologicon: A Circular Stroll Through the Hidden Connections of the English Language. Icon Books: London, 2011.
- Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.
- Shorter Oxford English Dictionary
- The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
- Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.