สำหรับผู้คนในนครบาร์เซโลนา การพูดถึงปลาทองในวงสนทนามีความหมายสองแบบ  แบบที่หนึ่งคือการพูดถึงปลาทองที่อยู่ในขวดโหลโดยทั่วไป ส่วนแบบที่สองนั้นหมายถึงปลาทองขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ปลาทองแบบแรกอาจมีอายุไม่ยาวนาน แต่ปลาทองแบบที่สองอยู่คู่นครบาร์เซโลนามากว่ายี่สิบปีแล้ว

หลังจบเทศกาลกีฬาโอลิมปิคในปี 1992 ประติมากรรมรูปปลาทองขนาดใหญ่ยักษ์ (El Peix) ของแฟรงค์ เกห์รี’ (Frank Gehry) ก็ยึดครองพื้นที่แถบโอลิมเปีย พอร์ต ด้วยความสูง 35 เมตร และความยาว 56 เมตร แม้ว่ามันจะเป็นส่วนหนึ่งของโถงทางเดินที่นำไปสู่โรงแรมด้านหลัง แต่ความโดดเด่นของปลาทองยักษ์นี้ก็ทำให้ผู้คนที่ผ่านไปมาในบริเวณนั้นแยกมันออกจากอาคารข้างเคียง และแทบจะละสายตาจากมันเสียมิได้

เกล็ดสีทองด้านนอกของมันที่สะท้อนแสงแดดเป็นประกายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันสร้างขึ้นจากสเตนเลสชั้นดี ส่วนโครงสร้างเหล็กด้านในก็สะท้อนให้เห็นถึงวิทยาการอาคารอันน่าทึ่ง และยิ่งเมื่อคิดว่าสถาปนิกผู้สร้างสรรค์ชีวิตปลาทองตัวนี้ คือผู้ออกแบบอาคารรูปทรงทันสมัยล้ำไปในกาลเวลาอย่างพิพิธภัณฑ์ศิลปะกุกเกนไฮน์ในเมืองบิลเบาด้วยแล้ว ปลาทองตัวนี้จึงเปรียบเสมือนของขวัญล้ำค่าจากสถาปนิกและเป็นดังสัญลักษณ์ใหม่ประจำเมือง

นครบาร์เซโลน่าไม่ได้มีดีในระดับโลกเพียงแค่ทีมฟุตบอล แต่ยังได้รับการยกย่องในฐานะเมืองที่มีสถาปัตยกรรมชั้นเลิศอย่างมหาวิหารลา ซากราดา ฟามิลิอา (Temple Expiatori de la Sagrada Familia) มหาวิหารในรูปแบบของอาร์ต นูโว ที่รังสรรค์ขึ้นจากจินตนาการของสถาปนิกชาวคาตาลันนาม อันโตนิโอ กอดี้ (Antonio Gaudi) ความซับซ้อนและลวดลายอันวิจิตรพิสดารของมหาวิหารแห่งนี้ทำให้แม้ผู้ออกแบบจะล่วงลับไปแล้ว ผลงานชิ้นนี้ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จนถึงบัดนี้มหาวิหารก็ยังมีการก่อสร้างต่อเนื่องไปอย่างไม่สิ้นสุด

ในขณะที่ลา ซากราดา ฟามิลิอาใจกลางเมือง เป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นดังตัวแทนจากศตวรรษที่ผ่านมา ปลาทองขนาดมหึมาริมทะเลก็เปรียบดังสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่เป็นตัวแทนจากศตวรรษหน้า สองอาคารนี้ได้เป็นเสมือนแม่เหล็กขนาดยักษ์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้เดินทางมาเยือนนครแห่งนี้ ความสำเร็จในการใช้สถาปัตยกรรมในฐานะสิ่งกระตุ้นอุตสาหรรมการท่องเที่ยวของ แฟรงค์ เกห์รี ประสบความสำเร็จอีกครา หลังจากการที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกุกเกนไฮน์ที่บิลเบาได้เปลี่ยนเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งให้เป็นเมืองที่ไม่อาจพลาดการเยี่ยมชมได้

ปลาทองแห่งบาร์เซโลน่าไม่ใช่ปะติมากรรมปลาขนาดยักษ์ชิ้นแรกของ แฟรงค์ เกห์รี ในปี 1986 แฟรงค์ได้สร้างประติมากรรมที่มีรูปทรงคล้ายการม้วนตัวของปลาคาร์พไว้ที่โกเบ ประเทศญี่ปุ่น ปลาที่มีเกล็ดซึ่งทำจากแผ่นทองแดงตัวนั้นทำให้ร้านอาหารที่มีชื่อว่า Cafe Fish ได้รับความสนใจจากผู้สัญจรไปมา และทำให้สาธารณชนพบว่าความหลงใหลที่มีต่อปลาของแฟรงค์นั้นลึกล้ำกว่าสถาปนิกคนอื่นๆ

ความลุ่มหลงที่แฟรงค์มีต่อปลาเริ่มต้นจากวัยเด็กที่เขาต้องติดตามผู้เป็นยายไปตลาดเป็นประจำเพื่อซื้อปลามาทำอาหารสำหรับวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันที่อนุญาตให้ชาวยิวกินปลาได้ ช่วงเวลาก่อนการปรุงอาหาร ยายของแฟรงค์จะปล่อยปลาตัวนั้นไว้ในอ่างอาบน้ำ และในขณะที่ยายของเขากำลังง่วนกับการเตรียมเครื่องปรุงต่างๆ แฟรงค์จะเฝ้ามองและเล่นกับปลาตัวนั้นจนกว่าวาระสุดท้ายของมันจะมาถึง

เหตุการณ์ที่ว่านั้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกสัปดาห์ จนในที่สุดมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำที่ยากจะถอดถอนของ แฟรงค์ เกห์รี เขากล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่าผมไม่ได้คิดว่าจะใช้ปลาเป็นรูปทรงต้นแบบ แต่หลายครั้งที่ผมไม่คิดถึงมัน มันก็จะปรากฏตัวขึ้นมาอยู่เสมอ” 

คำกล่าวที่ว่าสะท้อนผ่านผลงานหลายชิ้นของแฟรงค์ที่แสดงให้เห็นถึงความลุ่มหลงในสิ่งมีชีวิตใต้น้ำประเภทนี้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟรูปปลาที่ทำจากพลาสติกลามิเนตซึ่งจัดแสดงที่แกลเลอรี่ Gagosian กรุงนิวยอร์คในปี 2016 หรือต่างหูรูปปลาที่เขาออกแบบให้บริษัทเครื่องประดับชื่อก้องอย่าง Tiffany&Co ในปี 2006 

ความลุ่มหลงปลายังทำให้ แฟรงค์ เกห์รี ทุ่มเทความสนใจในสิ่งที่เรียกว่าพื้นผิวโค้งมน (Curved Surfaces) เขาร่างแบบจากรูปทรงของปลาจำนวนมากไว้ในสมุดบันทึกและศึกษาการเปลี่ยนลักษณะของเกล็ดปลาในขณะที่มันว่ายไปมา จนนำมาสู่การออกแบบและพัฒนาอาคารหลายต่อหลายแห่ง อาคารอันเป็นประจักษ์พยานของการพัฒนารูปทรงจากพื้นผิวที่ไม่เป็นเส้นตรงและไม่ราบเรียบราวกับเกล็ดปลาได้แก่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะกุกเกนไฮน์ที่บิลเบา โรงมหรสพของดิสนีย์ที่แคลิฟอร์เนีย เป็นต้น  

รูปทรงเหล่านั้นเองทำให้ แฟรงค์ เกห์รี เคลื่อนตัวจากการเป็นสถาปนิกในกลุ่มโพสต์โมเดิร์นนิสม์ (Post-Modernism) ที่สนใจการหยิบยืมรูปแบบของอาคารในอดีต มาสู่การเป็นสถาปนิกในกลุ่มรื้อสร้าง (Deconstructionism) ที่สนใจในรูปทรงและผังพื้นอันซับซ้อนในที่สุด 

 

ในวัยเก้าสิบเอ็ดปี แฟรงค์ เกห์รี ได้กลายเป็นสถาปนิกที่มีอายุยืนยาวคนหนึ่ง ไม่ต่างจาก ฟิลิป จอห์นสัน (Philip Johnson) สถาปนิกรุ่นก่อนหน้าที่ผ่านพัฒนาการด้านสถาปัตยกรรมจากยุคโมเดิร์นนิสม์สู่ยุคโพสต์โมเดิรน์นิสม์ หากแต่แฟรงค์กลับเปลี่ยนผ่านจากทั้งสองยุคมาสู่ยุคที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นส่วนสำคัญในการออกแบบ 

กระนั้นแม้จะมีการเปลี่ยนผ่านที่ยาวนาน สิ่งหนึ่งที่ดูจะตราตรึงใจและส่งผลอย่างมากต่องานออกแบบของเขาน่าจะได้แก่ปลา’ 

แฟรงค์ เกห์รี สดุดีปลาไว้ว่าปลาคือสิ่งมีชีวิตที่มีรูปทรงที่สมบูรณ์แบบและเป็นสัตว์ที่มีส่วนผสมระหว่างรูปทรงกับการเคลื่อนไหวที่ลงตัวที่สุด

Tags: ,