ในแวดวงศิลปะ มีคนชายขอบกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า Outsider Art หรือศิลปินนอกกระแสนิยม ศิลปินกลุ่มนี้สร้างสรรค์ผลงานโดยไร้ซึ่งทฤษฎี ผ่านเครื่องมือคือสภาวะจิตใจและสัญชาตญาณเป็นแกนหลักเพื่อตอบสนองต่อตัวเอง ทั้งวาด ปั้น หยิบจับสิ่งของใกล้ตัวมาบรรจงประดิดประดอยตามใจตน ผลงานของพวกเขาจึงแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาและมีความสร้างสรรค์ เหล่านี้ว่า ‘อาร์ตบรูต’ (Art Brut)

แม้เราจะไม่ค่อยได้ยินเกี่ยวกับอาร์ตบรูตในเมืองไทยมากนัก แต่ในออสเตรียมีการพยายามผลักดันศิลปินนอกกระแสนิยมด้วยการเปิดพื้นที่จัดแสดงผลงานในบ้านศิลปะบำบัด (jean dubuffets art brut) อย่างเต็มที่ หรือที่ญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญกับศิลปะอาร์ตบรูตมากว่า 40 ปีแล้ว 

ด้วยความเชื่อในคำว่า “ใครก็เป็นศิลปินได้” สองภัณฑารักษ์ชาวไทยและญี่ปุ่นอย่าง สืบแสง แสงวชิระภิบาล หรืออาจารย์ก้อง และ เซนะ คิโมโตะ ที่ต้องการให้ศิลปะอยู่ใกล้ชิดกับผู้คน เล็งเห็นความสำคัญของศิลปะอาร์ตบรูต และต้องการสื่อสารแนวคิดเกี่ยวกับศิลปะแขนงนี้ รวมถึงสนับสนุนและเชิดชูคุณค่าในผลงานของกลุ่ม Outsider Art จึงเกิดเป็นนิทรรศการแสดงผลงานอาร์ตบรูตขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ในชื่อ ความงามนิรนาม หรือ Figure of Unknown Beauty

ทั้งคู่ร่วมคัดสรรผลงานของศิลปินที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่ ผู้ป่วยทางจิตเวช ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ต้องขัง ฯลฯ ทั้งชาวไทยและญี่ปุ่นรวม 51 ผลงาน นำเสนอทั้งหมด 5 หัวข้อ นั่นคือ “การทำซ้ำ ความหนักแน่น และความกลมกลืน” ที่หยิบยกประเด็นความดิบมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน สอง “นานาจากสิ่งมีชีวิตประจำวัน” หยิบจับวัสดุใกล้ตัวมาสร้างสรรค์ตามรูปแบบของตัวเอง สาม “ความปรารถนาคือบ่อเกิดอันสร้างสรรค์” ผลงานที่ผ่านตัวตน ความคิด หรือส่วนลึกทางจิตใจของศิลปิน สี่ “ศิลปะที่เกิดจากความสัมพันธ์” เน้นภูมิหลังการสร้างสรรค์ผลงานของความสัมพันธ์กับคนรอบตัว สุดท้าย “สู่มิติใหม่แห่งการสร้างสรรค์” ผลงานของศิลปินร่วมสมัยและศิลปินนอกกระแสนิยมสร้างผลงานออกมาในรูปแบบใหม่ๆ 

กว่า 70 ปีที่ศิลปะอาร์ตบรูตถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดของศิลปินชาวฝรั่งเศส ฌอง ดูบูฟเฟต์ (Jean Dubuffet)โดยในปี 1945 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดูบูฟเฟต์ตั้งคำถามกับตัวเองว่าศิลปะที่ดีนั้นหน้าตาเป็นแบบไหน นอกเหนือจากศิลปะในกลุ่มฟิวเจอร์ริสม์ (Futurism) ดาดาอิสม์ (Dadaism) หรือเซอร์เรียลลิสม์ (Realism) ที่สำหรับเขาแล้ว ล้วนแต่เป็นศิลปะที่สะท้อนถึงความมีเล่ห์เหลี่ยม ดังนั้น เขาจึงออกเดินทางศึกษาหาข้อมูลหลายแห่ง จนไปเจอผลงานศิลปะของผู้ป่วยทางจิตเวชในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ดูบูฟเฟต์รู้สึกได้ทันทีถึงพลังงานใสซื่อที่ปรากฏในงานศิลปะของบุคคลเหล่านี้ โดยไม่ต้องแสวงหาหลักทฤษฎีในการสร้างสรรค์งาน นับแต่นั้น ฌอง ดูบูฟเฟต์จึงเปรียบเสมือนใบเบิกทางให้ศิลปินนอกกระแสได้มีพื้นที่ทางสังคมเพื่อแสดงออกทางด้านศิลปะ 

“คำว่า Outsider Art อาจจะเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับการการศึกษาด้านศิลปะไม่ได้รับอิทธิพลหรือข้อมูล ซึ่งเป็นข้อมูลทางสังคมหรือวัฒนธรรม เหมือนคนที่หลบซ่อนหรือหนีตัวเองออกจากสังคมแล้วใช้กิจกรรมเพื่อก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ เช่น งานศิลปะหรืออื่นๆ ในการสร้างงานเพื่อสื่อสารบางประการ งานที่ออกมาอาจจะเป็นงานสร้างสรรค์ ในรูปแบบอื่นๆ ที่เราไม่เคยได้เห็นทั่วไปหรือไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก ซึ่งพูดถึงพลังงานบริสุทธิ์ ความรู้สึกทางด้านจิตใจของมนุษย์มากกว่าเน้นไปที่แนวคิดของศิลปะ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ในศตวรรษที่ 21 งานศิลปะทุกชิ้นว่าด้วยเรื่องแนวความคิด กระบวนการทางความคิด มากกว่าตัวงานศิลปะ มันจึงทำให้งานศิลปะดูไม่รู้เรื่อง เพราะเน้นไปที่กระบวนการทางความคิด

“และด้วยความที่เขาไม่ได้รับอิทธิพลทางสังคมหรือชุดข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรม ดูบูฟเฟต์ยิ่งมองว่าดี เนื่องจากทำให้ศิลปินก้าวข้ามลิมิต ก้าวข้ามกรอบความคิดความรู้รูปแบบการศึกษาศิลปะ จึงเกิดความหมายของคำว่าความเป็นอิสรภาพ ไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ ไม่ได้มองว่างานศิลปะดีหรือไม่ดี กระทำบนพื้นฐานจิตใจตัวเองเป็นหลักในการสร้างสรรค์ผลงานและการแสดงออก พูดง่ายๆ ว่า การทำสิ่งนี้ช่วยให้เขารู้สึกผ่อนคลาย และคนส่วนใหญ่มักจะคิดบวก” อาจารย์ก้องอธิบาย 

นิทรรศการนี้ไม่เพียงเปิดพื้นที่ให้ศิลปินนอกกระแสนำผลงานของตนมาจัดแสดงเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยความน่าสนใจในแง่ของรายละเอียดทางด้านศิลปะซึ่งมีความพิเศษในการสื่อสารตรงไปตรงมากับคน ผู้ชมคนไทยได้เห็นงานแปลกใหม่ ทำให้เข้าถึงคนง่าย เพราะไม่ได้ใช้แนวคิดมาตีกรอบ แค่ดูผลงานแล้วรู้สึกไปกับมัน อีกทั้งงานศิลปะโดยลักษณะนี้ใช่จะหาชมกันได้ง่าย 

“งานศิลปะนี้ถูกผลิตขึ้นจากบุคคลนอกวงการศิลปะ คนมาดูอาจจะได้แรงบันดาลใจว่าใครก็สามารถทำงานสร้างสรรค์ได้ ขีดเส้นใต้ว่า ‘สร้างสรรค์’ นะครับ ผลงานสร้างสรรค์อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปะก็ได้ จะได้เรียนรู้หรือมุมมองของกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้เป็นคนกระแสหลักที่คุณอาจจะเคยเห็นหรือรู้จัก ยกตัวอย่างเช่น  มุมมองของคนพิการ มุมมองของคนที่อยู่ในเรือนจำ มุมมองของคนที่มีปัญหาทางจิตเวช คุณจะได้เรียนรู้อีกมุมหนึ่งของคนชายขอบสังคม การแสดงออกของบุคคลเหล่านี้ทำให้รู้ว่าตัวตนหรือโลกของเขากำลังมองเห็นอะไรหรือเขาคิดอะไร หรือคุณจะได้รับมุมมองทางสุนทรียศาสตร์ของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ที่แปลกใหม่ น่าสนใจ ซึ่งบางครั้งก็คือสิ่งที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันแต่อาจจะคาดไม่ถึง ผมคิดว่านิทรรศการนี้อาจช่วยผลักดันหรือกระตุ้นให้คนรู้สึกว่าการทำงานสร้างสรรค์มันอยู่ใกล้ตัว อาจจะมองอะไรที่ละเมียดละไมขึ้น เพราะพูดถึงสังคม Inclusive Society คือสังคมแบบองค์รวมที่ให้ความสำคัญกับทุกคนเท่าเทียมกัน อาจทำให้มีมุมมองต่อโลกที่กว้างขึ้นหรือยอมรับความหลากหลายของคนได้มากขึ้น” อาจารย์ก้องอธิบายเสริม

สำหรับผลงานในนิทรรศการ เราได้รับเกียรติจากอาจารย์ก้องพาทัวร์รอบนิทรรศการพร้อมนำเสนอผลงานเด่นและเป็นซิกเนเจอร์หลัก ถ้าจะดูให้สนุก ลองอ่านสูจิบัตรที่แปะตามผนังเรียงตามหัวข้อไปเรื่อยๆ ซึ่งช่วยขยายความตัวผลงานควบคู่กับดูงานไปด้วยก็จะเพลินดี โดยหากเดินจากทางเข้านิทรรศการด้านซ้ายมือจะเริ่มด้วย “การทำซ้ำ ความหนักแน่น และความกลมกลืน” บริเวณนี้ห้ามพลาดผลงานของ ‘พศิน สิงห์เสน่ห์’ (กรุงเทพฯ, 2533) ศิลปินอาร์ตบรูตในประเทศไทย ที่อาจารย์ก้องบอกอย่างภูมิใจว่าศิลปินชื่อดังบางท่านยังทึ่งในผลงานของเขา ลักษณะผลงานเป็นภาพวาดสีดำสลับแดงตั้งเด่นอยู่บนผนัง ทั้งผลงานอีกนับสิบวางเรียงซ้อนกันเป็นตั้ง สะท้อนให้เห็นถึงวิธีสื่อสารทางอารมณ์อย่างตรงไปตรงมา 

ถัดไปทางด้านหลังจะเจอกับผลงานเครื่องปั้นดินเผาสีสวยงามสะดุดตาของ ‘โยชิฮิโกะ อิโต’ (จังหวัดชิงะ, 2477-2548) ทั้งแดงและฟ้าดูคล้ายปะการังในทะเล ผลงานของอิโตเกิดจากแรงกระตุ้นภายในจิตใจและเปรียบเสมือมรดกชีวิตเขานั่นเอง ถัดไปที่ผลงานของ ‘โนริโกะ ฮิกะชิโมโตะ’ (จังหวัดโอซากะ, 2526) ตั้งสูงเด่นเห็นชัด โดยศิลปินใช้วิธีการแต้มสีตามจุดวงกลมบนแผ่นบับเบิลเป็นลวดลายเรขาคณิต จนกลายเป็นผลงานชิ้นใหญ่ ทำซ้ำๆ คล้ายการทอผ้า ผลงานนี้หากใช้เวลาพิจารณาจะเห็นว่าฮิกะชิโมโตะเพียรพยายามกับความคิดสร้างสรรค์นี้อย่างยิ่ง ชิ้นงานจึงเต็มไปด้วยความประณีต 

ไปต่อที่ “นานาจากสิ่งมีชีวิตประจำวัน” ชวนชมผลงานของ ‘มาซาชิ คานาซากิ’ (กรุงโตเกียว, 2533) ที่ศิลปินอาศัยการนำกระดาษฟรีก๊อปปี้ผสมกับกาวไม้ บ่มชิ้นงานนานกว่าสามปีเป็นอย่างน้อย ทำให้เนื้อเท็กซ์เจอร์ออกมามีลักษณะคล้ายหินอ่อนรูปทรงเก๋ หรือผลงานศิลปินชาวญี่ปุ่นอย่าง ‘ยูกิ ฟูจิโอกะ’ (จังหวัดคุมะโมโตะ, 2536) ด้วยการนำวัสดุใกล้ตัวในชีวิตประจำวันอย่างกรรไกรตัดกระดาษสีต่างๆ ให้เป็นริ้วดูพลิ้วสวยงามตามสไตล์เขาเอง ศิลปินสร้างผลงานลักษณะนี้ทุกวันราวกับลมหายใจของเขา อีกผลงานทางด้านซ้ายมือในตู้กระจกตรงทางโค้ง ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะเห็นวัตถุเป็นก้อนสีดำ แต่ลองมองใกล้ๆ มันคือกองแว่นตาที่ศิลปิน ‘มาโกโตะ ทากะมารุ’ (จังหวัดฮอกไกโด, 2513) ใช้วัสดุเทปใส ลงสีด้วยปากกามาร์กเกอร์ แล้วพันด้วยสก็อตเทปใสทบอีกชั้นเป็นจำนวนหลายพันชิ้น 

ขณะที่ “ความปรารถนาคือบ่อเกิดการสร้างสรรค์” ชมผลงานภาพวาดของ ‘เข้ม-ศุภฤกษ์ แสงใส’ (อุบลราชธานี, 2522-2561) ผู้มีชื่อเสียงในสื่อสังคมออนไลน์และกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าย่านข้าวสาร ศิลปินข้างถนนผู้หลบหนีจากครอบครัวที่ไม่ยอมรับในเพศสภาพของเขา ภาพวาดของเข้มเต็มไปด้วยไอดอลนางงาม เช่น น้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์ หรือมารีญา พูลเลิศลาภ “ลองเพ่งมองไปที่ดวงตาของภาพพวกนี้ดู ในดวงตาเหมือนเขากำลังสื่ออะไรบางอย่าง” อาจารย์ก้องบอกพร้อมชี้ไปยังดวงตาในรูป ต่อมาถึงผลงานของ ‘มาริเอะ ซุสุกิ’ (จังหวัดนางาโนะ, 2522) ผลงานที่เกิดจากแรงผลักดันภายในตัวตนถ่ายทอดออกมาเป็นรูปอวัยวะเพศ หน้าอก สอดแทรกลวดลายต่างๆ ใช้เทคนิคการวาดด้วยปากกามาร์กเกอร์สีน้ำลงบนกระดาษ โดยผลงานของซุสุกิเคยจัดแสดงที่เซนต์ ปิแอร์ แกลเลอรี ที่กรุงปารีส ในชื่อนิทรรศการ ‘Art Brut Japonais’ และที่ประเทศญี่ปุ่นรวมถึงประเทศอื่นๆ ด้วย 

ตามด้วย “ศิลปะที่เกิดจากความสัมพันธ์” ให้รีบพุ่งตรงไปยังผลงานของ ‘ทากะโนริ เฮราอิ’ (จังหวัดอิวาเตะ, 2523) ผลงานของเฮราอิจัดแสดงในตู้กระจกทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าบรรจุกระดาษขนาดเอสี่วาดลวดลายเรขาคณิตสุดซับซ้อน เป็นส่วนหนึ่งของไดอารี่ที่เฮราอิใช้เวลาวาดร่วม 10 ปี รวมกันจนเป็นกระดาษกองตั้งสูงประมาณ 1 ฟุต เธอทำขึ้นเพราะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับผู้อื่น 

“ผมว่าถ้าใครมาดูครั้งแรกก็ดูไม่ออกหรอกว่ามันคือไดอารี่ เราจะเห็นความแปลกของตัวงาน สังเกตรูตรงกลางกระดาษ พอเขาวาดเสร็จก็ใช้เชือกร้อยต่อกันเหมือนสมุด ผลงานนี้ศิลปินหลายท่านชอบมาก เป็นซิกเนเจอร์ของงานเลยก็ว่าได้” อาจารย์ก้องเล่าเสริมด้วยน้ำเสียงหนักแน่น 

หรือจะเป็นผลงานภาพพิมพ์อิงค์เจ็ตและภาพวาดสีน้ำมันกับรูปเศษอาหารพาดเรียงยาวบนฝาผนังกว่าร้อยภาพของ ‘ฮานาโกะ อิมะมุระ’ (จังหวัดเกียวโต, 2522) ที่อิมะมุระชอบเขี่ยเศษอาหารทิ้งไว้ตามจุดต่างๆ แม่ของเธอจึงเลือกที่จะบันทึกสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นเวลา 20 ปี ถ้าลองไล่สายตาดูทีละภาพส่วนใหญ่จะเป็นเปลือกส้ม ก้างปลา และเศษขนมปัง 

ปิดท้ายด้วย “สู่มิติใหม่แห่งการสร้างสรรค์” แน่นอนใครๆ เป็นต้องสะดุดตากับผลงาน ‘เสมอ พีระชัย’ (2562) ศิลปินเร่ร่อนในชื่อผลงาน My Mapping ผ่านความเป็นลัทธิสัญลักษณ์นิยม ทั้งพื้นถนน ป้ายรถเมล์ สื่อถึงเหตุผลบางประการที่ศิลปินมีต่อสังคม ซึ่งถ้าอยากทราบแนวคิดผลงานของเสมอให้เดินไปอีกด้านจะเจอสื่อศิลปะวีดิทัศน์ ซึ่งเป็นผลงานของ ‘จักรวาล นิลธำรง’ (กรุงเทพฯ, 2520) นำเสนอแนวคิดปริศนาในภาพของผลงานก่อนหน้า (คุณเสมอ) ผ่านประเด็นการตั้งคำถามต่างๆ เช่น “หากมนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะเป็นศิลปิน” เราพบว่าผลงานนี้เป็นการเชื้อเชิญให้คนพิจารณาความหมายของศิลปะเช่นเดียวกับชื่อผลงานอย่าง ‘Code Unknown’ 

ส่วนห้องด้านหลังติดผ้าม่านคือผลงาน ‘เรียวตะ คุนาซางิ’ (จังหวัดอิวาเตะ, 2531)  ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่ใช้เทคนิคการวาดด้วยปากกามาร์กเกอร์ชุด 30 สี วาดเป็นจุดๆ คล้ายรวงข้าว แบ่งเป็นสีโทนเย็นและร้อน โดยภาพของคุนาซางิจะถ่ายทอดผลงานผ่านโปรเจกเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพ เสียง พร้อมซับแปลภาษาอังกฤษบนฝาผนัง ให้ความรู้สึกสงบนิ่ง ตบท้ายนิทรรศการ ความงามนิรนาม ด้วยผลงานภาพยนตร์สั้นกึ่งสารคดีของ ‘ต่อสวัสดิ์ สวัสดิ์-ชูโต’ (กรุงเทพฯ, 2531) โดยสัมภาษณ์ศิลปินอาร์ตบรูตสามท่าน คือ ชูกลิ่น, มาดี และแคทรียา ว่าทำไมเขาจึงลงมือทำงานศิลปะ ในชื่อ ‘Art from Soul’ ด้วยเรื่องราวที่ทำหน้าที่คล้ายภาคผนวกของศิลปะอาร์ตบรูต

นอกจากนิ้ มีศิลปินบางท่านได้รับการศึกษาทางด้านศิลปะมาจัดแสดงในนิทรรศการร่วมด้วย เช่นผลงาน ‘แคทลียา อัศวานนท์’ (กรุงเทพฯ, 2533) ด้วยตัวผลงานมีความโดดเด่นเข้าข่ายศิลปะอาร์ตบรูตและแตกต่างจากงานศิลปะจากกลุ่มผลงานในสถาบันโดยปราศจากกฎเกณฑ์สะท้อนสภาวะความอิสระในการสร้างสรรค์งาน ทั้งยังเคยมีโอกาสวาดภาพร่วมกับเจ้าหญิงราชวงศ์ญี่ปุ่นครั้งเสด็จพระราชดำเนินยังประเทศไทยด้วย รวมถึงต่อสวัสดิ์ สวัสดิ์-ชูโต ก็เช่นเดียวกัน ผลงานต่อสวัสดิ์สร้างการตระหนักรู้และเห็นถึงคุณค่าการสร้างสรรค์ในผลงานเพื่อมุ่งเยียวยาจิตใจ  

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูนิทรรศการจบเรานึกถึงประโยคหนึ่งในบทสัมภาษณ์ของ เก๋-พันทิพา ตันชูเกียรติ แห่ง  Likay Bindery ผู้หลงใหลในงานคราฟต์บอกว่า “ความหมายของ Creativity ของคนคนนั้นมันอาจจะไม่ใช่การค้นพบอะไรใหม่ แต่คุณได้เรียนรู้ในแต่ละวันว่าในกระบวนการนั้นๆ หรือระหว่างการทำงานนั้นๆ ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดข้อคิดเห็นอะไรกับตัวเอง” 

เพราะผลงานทั้งหมดไม่เพียงมอบความบันเทิงใจที่เราอยากจะใช้เวลาเพลิดเพลินไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ แต่ยังทำให้เรารู้สึกได้ว่าศิลปินเหล่านี้สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมี ‘เป้าหมาย’ และ ‘จุดประสงค์’ ซึ่งสื่อออกมาทางผลงานได้ชัดเจน อีกแง่หนึ่งก็มีความน่าค้นหาและดูคล้ายกำลังหลบซ่อนอยู่ในมุมลับของตัวเอง สิ่งเหล่านี้แหละคือเสน่ห์ของศิลปะอาร์ตบรูต จะตัดสินอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้ชมงานศิลปะเท่านั้นที่รู้ 

หมายเหตุ: นิทรรศการความงามนิรนามยังเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 บริเวณห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือติดตามความเคลื่อนไหวอื่นๆ ได้ที่เฟซบุ๊กเพจ BACC หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือโทรศัพท์ 0-2214-6630 

Fact Box

ศิลปินนอกกระแสนิยมต้องมีเงื่อนไขคือไม่ได้รับการศึกษาทางศิลปะ ไม่มีการเทรนนิ่ง หลบหนีออกจากสังคม ไม่ใช้ข้อมูลหรืออิทธิพลทางสังคมซึ่งก็คือปัจจัยภายนอกเข้ามาข้องเกี่ยวในการสร้างสรรค์งาน ส่วนศิลปินกระแสนิยมหรือศิลปินกระแสหลัก คือศิลปินที่ประกอบอาชีพศิลปะและอยู่ในกระแสนิยม ที่ทำงานศิลปะโดยมีรายได้หรือมีอาชีพเป็นศิลปิน เช่น วาดรูป ถ่ายรูป ใช้ชีวิตด้วยการทำงานสร้างสรรค์  

Tags: , , , ,