Counting นิทรรศการศิลปะของ อรวรรณ อรุณรักษ์ ทำให้ฉันสัมผัสได้ถึงท่าทีอันใจเย็นของศิลปินที่ค่อยๆ ใช้เวลาเก็บเล็กผสมน้อย ถ้อยคำ เหตุการณ์ และสรรพชีวิตจากต่างกาลเทศะที่กระพือรอบตัวเธอ ทั้งในประเทศไทย เยอรมัน กัมพูชา และเวียดนาม เมื่อสอบถามศิลปินก็พบว่าการเก็บเกี่ยวนี้กินระยะเวลากว่า 5 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014-2019 แต่ทว่าในนิทรรศการเส้นแบ่งของประเทศเหล่านี้ถูกสลายลงไป แทนที่ด้วยการเชื่อมต่อผ่านการเดินทางของเธอที่เกาะเกี่ยวและสัมพันธ์กับแต่ละชีวิต มากกว่าการขีดคั่นด้วยเส้นแบ่งเขตประเทศ 

ศิลปินบันทึกและนำเสนอชั่วขณะเหล่านี้ผ่านภาพระบายสีไม้ และกลอนเปล่าสั้นๆ บนอิฐบล็อกทั้งหมด ชวนให้นึกถึงการเดินย่ำและการครุ่นคิดตามลำพังไปบนทางเท้า การคิดเช่นนี้แม้จะทำอยู่ลำพังแต่กลับเต็มไปด้วยการหวนรำลึกและสัมพันธ์กับสรรพชีวิตในอดีต ปะปนกับความมุ่งหวังต่ออนาคต และการปะทะของปัจจุบันที่รายล้อมไปด้วยวัตถุ ในการเคลื่อนที่ มีตะกอนทับถมเป็นเรื่องราว ปรากฏถ้อยคำและจินตภาพแต่ละก้าวบนทางเท้าและบนก้อนอิฐที่ก่อตัวเป็นชั้น 

การคิดที่เชื่อว่าเป็นการกระทำอย่างสันโดษ หรือเป็นพลังจากเหตุผลและปัญญาของปัจเจก หรือเป็นอภิสิทธิ์ของคนที่ว่างและพรั่งพร้อมด้วยความสะดวกสบาย จึงไม่ใช่ความหมายที่ฉันได้รับจากนิทรรศการนี้ การคิดในที่นี้ ได้สร้างปฏิสัมพันธ์ผ่านทั้งวัตถุอย่างอิฐบล็อก ท่าเดิน ความทรงจำ ความรู้สึก การคิดเกิดขึ้นได้อย่างสามัญธรรมดาบนฟุตปาธ และแน่นอนว่าอาศัยเรื่องราวจากหลากหลายคนและบริบทที่รายล้อม ไม่ใช่เพียงพลังจากการทบทวนตรรกะและเหตุผลของปัจเจก 

นอกจากความเป็นไปได้ที่พบว่า การคิดมีลักษณะของการก้าวเดินไปพร้อมกับสรรพชีวิตในความทรงจำที่ปรากฏตัวในปัจจุบันแล้ว อรวรรณยังตอบคำถามจริยศาสตร์ที่คาใจฉันก่อนหน้านี้มาสักพัก คำถามดังกล่าวคือ ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและชีวิตอื่นในกระบวนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงบันดาลใจ หรือวัตถุดิบในการทำงานศิลปะควรเป็นอย่างไร  

คำถามนี้เกิดขึ้นเมื่อฉันพบว่ากระบวนการสร้างสรรค์หรือทำงานศิลปะ บางครั้งเต็มไปด้วยท่าทีของความรุนแรง การรุกล้ำ การฉกฉวย การเปิดเปลือย การตีแผ่ ชีวิตผู้อื่นในฐานะที่เป็น ‘วัตถุดิบ’ ที่ ‘ดิบ’ เสียจนแล่เนื้อเถือหนัง เปิดโปงอารมณ์ ความอ่อนไหวส่วนตัวของผู้อื่นมาใช้ในนามของการทำงานศิลปะ 

ในนามของการสร้างสรรค์นั้น ศิลปินได้ตระหนักถึงการพึ่งพา พึ่งพิงเรื่องราว และแรงบันดาลใจบนชีวิตอื่นหรือไม่ สถาบันหรือโรงเรียนศิลปะในไทยมีการเรียนการสอนการให้ความรู้เรื่อง จริยธรรมการวิจัยในคนหรือไม่ หรือตระถึงประเด็นเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน? สำหรับฉัน การเก็บข้อมูล ทำวิจัย คลุกคลีกับผู้อื่นเพื่อหยิบยืม หยิบฉวยเรื่องราวของพวกเขามาใช้ในการทำงานของตัวเอง ย่อมต้องคำนึงถึงผู้คนเหล่านั้นเป็นสำคัญ ก่อนจะทำความเข้าใจ ตีความ จมจ่อม กล่อมเกลาเพื่อสร้างบทสนทนากับความคิดอื่น เรื่องราวอื่น เทคนิคทางศิลปะอื่น โดยมีการยินยอมของบุคคลเหล่านั้นเป็นหลักฐานและคำสัญญาที่เปิดโอกาสให้เปลี่ยนแปลง ปกปิด ลบทิ้งได้ข้อมูลได้เสมอ ฉันคิดว่าการทำงานศิลปะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านชีวิตผู้อื่นไม่ต่างกันกับการวิจัยมนุษย์ในศาสตร์สาขาอื่น ฉะนั้นศิลปินควรเห็นความสำคัญประเด็นละเอียดอ่อนเช่นนี้ในกระบวนการทำงานอย่างยิ่ง 

งานของอรวรรณมีท่าทีต่อเรื่องราวชีวิต และผู้คนที่เธอเกาะเกี่ยวมาใช้ในงานศิลปะอย่างระมัดระวัง ศิลปินจุ่มตัวท่ามกลางชีวิต เจือจาง และหลอมละลายเรื่องราวของผู้คนเหล่านั้นด้วยภาษา น้ำเสียง ลายเส้น และสีสันในแบบของเธอ ชวนให้นึกถึงการวาดรูปเล่นและขีดเขียนของเด็ก สดใส มีสีสัน สนุกกับการเคลื่อนไหวของชีวิตรายล้อมที่ไม่สร้างความแปลกปลอมในการดำรงอยู่ท่ามกลางสิ่งอื่นๆ ในนามของการทำงาน ‘ศิลปะ’ ความระมัดระวังเหล่านี้ยังเห็นได้จากการเลือกใช้วัสดุอย่าง สีไม้ ดินสอ กระดาษไข ก้อนอิฐ มาเป็นวัตถุในการสร้างสรรค์ผลงาน 

วัตถุและเทคนิคเหล่านี้ให้ผลเป็นความคลุมเครือ ความเบาบาง รูพรุน ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมจินตนาการ ตีความและเรียกเร้าความทรงจำในแบบของตัวเอง โดยไม่หยิบฉวยเอาเรื่องราวของผู้อื่นมาใช้ในงานอย่างคมชัด ตรงไปตรงมา บรรยากาศในนิทรรศการของอรวรรณจึงมีลักษณะคล้ายฟองน้ำที่เต็มไปด้วยรูพรุนดูดซับเรื่องราวมากมายจากที่ต่างๆ ก่อนจะปลดปล่อยมันออกมาโดยเจือจาง สกัดเอาความชัดเข้มของบุคคลที่เธอนำมาใช้ในงานออกไป เรื่องราวเหล่านี้รอคอยการทำละลายของผู้ชม มีช่องว่างให้อย่างอื่นไหลเวียนไปรอบๆ ทั้งในทางความรู้สึกนึกคิด และทางกายภาพที่เป็นช่องว่างทางเดินระหว่างกองอิฐบล็อก    

นอกจากนี้ผู้เขียนชื่นชอบการเฝ้ามองอย่างละเอียดละออของศิลปินที่สังเกตเห็นวิถีชีวิต โดยเขียนออกมาเป็นถ้อยคำคล้ายกลอนเปล่าอย่างประเด็นเรื่องเวลา ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละรูปแบบ การนับเวลาของพระวัดไทยในเยอรมันนีผ่าน“สติ๊กเกอร์ฉลากจากกล้วยส้ม  สะสมเวลาของทุกๆ เช้า…” หรือเวลาในการนั่งแท็กซี่ที่ “การนับเวลาเริ่มต้นที่ 35 บาท จาก 35 บาทตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เวลาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรายังอยู่กันที่เดิม…” มีอีกหลายประเด็นชีวิตและสังคมที่หล่นร่วงผ่านกลอนเปล่าของศิลปินบนก้อนอิฐเหล่านี้ที่ไม่ได้กวักมือและยัดเยียดให้มาเห็นหากก็ไม่ได้ปล่อยปละละลืม มันล้วนเต็มไปด้วยเรื่องของตัวเอง

นิทรรศการนี้ทำให้ฉันเห็นว่าการคิดและ การทำงานศิลปะ นั้นเป็นการจุ่มตัวท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิตอื่นรายรอบเกี่ยวพันและเชื่อมต่อระหว่างศิลปินและผู้อื่น การทำงานศิลปะในงานนิทรรศการนี้ปรากฏความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและโลกหลายใบของผู้อื่นที่โคจรมาข้องแวะกับเธอ ซึ่งแน่นอนว่าในนามของการสร้างสรรค์นั้น หากศิลปินไม่ระมัดระวัง งานศิลปะสามารถกลายเป็นการฉกฉวย และล่าอาณานิคมทางการรับรู้ได้ อรวรรณทำให้เห็นว่าการรับรู้ของเธอ ของผู้อื่น ของผู้ชม เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนด้วยตัวเอง เมื่องานศิลปะมีรูพรุน ความคลุมเครือ และความบางเบากระจายอยู่โดยรอบ  

 

เอื้อเฟื้อภาพถ่ายจาก บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ 

ภาพถ่ายโดย โวลฟ์แกง เบลวิงเคิล และ อรรคพล สุทัศน์ ณ อยุธยา

Tags: , , , , ,