อาจเพราะสถานการณ์ทางการเมืองอันร้อนระอุของฮ่องกงที่ทำให้หลายคนต้องชะลอการเดินทางออกไปทำให้ผู้เขียนกลับมาเปิดดูรูปภาพในทริปของตัวเองเมื่อต้นปีอีกครั้งแล้วก็ไปสะดุดกับภาพถ่ายจำนวนหนึ่งของนิทรรศการ ‘Performing Society: The Violence of Gender’ ที่ต่ายกู๋น (Tai Kwun) ซึ่งจัดแสดงเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ – 28 เมษายนที่ผ่านมา ที่ตอนนี้ผลงานทุกชิ้นในนิทรรศการคงกลับสู่อ้อมอกศิลปินผู้สร้างไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จำได้ว่าระหว่างชมงานและหลังชมงานสดๆ ร้อนๆ นั้น ผู้เขียนรู้สึกถึงอากาศเย็น ความเงียบเชียบและความรู้สึกอึดอัดของตนเอง แต่จากนั้นก็ปล่อยมวลเหล่านั้นไปอย่างน่าเสียดาย คราวนี้ เมื่อได้หวนคำนึงถึงช่วงเวลาเหล่านั้นอีกครั้งจึงพบว่างานหลายชิ้นนั้นพูดเรื่องเดียวกันได้อย่างน่าสนใจ

ต่ายกู๋นเป็นพื้นที่เล่าถึงประวัติศาสตร์และจัดแสดงศิลปะร่วมสมัยแห่งใหม่ในฮ่องกง เพิ่งเปิดเมื่อปี 2561 นี่เอง ด้วยประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจกลาง สำนักงานคณะผู้พิพากษากลางและเรือนจำวิคตอเรีย จึงดูเหมาะเจาะดีที่นิทรรศการ Performing Society: The Violence of Gender ซึ่งบอกเล่าเรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้างซึ่งกระทำต่อเพศสภาพต่างๆ มาจัดแสดงในอาคารสำหรับศิลปะร่วมสมัย JC Contemporary ที่มีฟาซาด (Facade) โลหะดูล้ำยุคโดดเด่นท่ามกลางอาคารเก่าอื่นๆ ในพื้นที่ของต่ายกู๋น

คิวเรเตอร์รับเชิญชาวเยอรมัน Susanne Pfeffer ผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ MMK (MUSEUM MMK FÜR MODERNE KUNST) ที่เมืองแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนีใช้เวลาถึงสามปีในการค้นคว้าและคัดเลือกผลงานที่สอดรับกับแนวคิดของนิทรรศการซึ่งเธออธิบายว่าคือความรุนแรงจากบรรทัดฐานทางสังคมที่ก่อร่างมาจากการถูกอบรมสั่งสอน วัฒนธรรม โครงสร้างทางอำนามที่มีอยู่เดิม ขนบธรรมเนียมทางสังคมและศาสนา รวมถึงสิ่งที่ปรากฏทางชีววิทยา สิ่งเหล่านี้ควบคุมร่างกาย กิจกรรมทางเพศ ตัวตนและพฤติกรรมของเรา โดยแนวคิดนี้ถูกเล่าผ่านผลงานของศิลปินทั้งหมด 11 คน ได้แก่ ศิลปินนานาชาติ Jana Euler, Anne Imhof, Oliver Laric, Julia Phillips, Pamela Rosenkranz, Marianna Simnett, Raphaela Vogel รวมถึงศิลปินที่พำนักอยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่อย่าง Dong Jinling, Liu Yefu, Ma Qiusha และศิลปินท้องถิ่น-ฮ่องกงเพียงคนเดียวคือ Wong Ping

แม้ว่าศิลปินส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิง ดังที่เราทราบดีว่า แม้แต่ในปัจจุบัน ความรุนแรงเชิงโครงสร้างก็มักกระทำต่อเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่ผู้เขียนชื่นชมแนวคิดของนิทรรศการที่เสนอมุมมองความคิดของเพศชายและมุมมองความคิดที่เป็นกลางทางเพศจากศิลปินชายในนิทรรศการ เนื่องจากทุกเพศล้วนได้รับผลกระทบจากการที่โครงสร้างมีภาพตายตัวของลักษณะที่แต่ละเพศควรจะเป็น (Gender Roles Stereotypes) และบังคับให้ทุกคนต้องยอมจำนนรับสภาพเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายของศิลปินทั้งเพศสภาพและเชื้อชาตินั้นยังมีน้อยเกินไป คงจะดีไม่น้อยหากมีมุมมองของ LGBTQ+ โดยเฉพาะผู้ที่แสดงออกทางเพศไม่ตรงกับบรรทัดฐานของสังคม (gender nonconforming) ว่าพวกเขาประสบความรุนแรงเชิงโครงสร้างอย่างไร อีกทั้งในความคิดของผู้เขียน ผลงานบางชิ้นนั้นไม่ช่วยสื่อสารแนวคิดนิทรรศการเท่าไรนัก แต่ก็มีผลงานสามชิ้นที่อาจเรียกได้ว่าตรงธีม แถมยังชี้เฉพาะลงไปให้เราเห็นเรื่องความรุนแรงทางโครงสร้างในระดับสถาบันครอบครัวที่คนเป็นพ่อ แม่ และลูกต้องเผชิญ ผลงานสามชิ้นนั้นล้วนมาจากศิลปินเชื้อสายจีน คือ Wong Ping, Dong Jinling และ Ma Qiusha

ภาพจากวิดีโอ Who’s the daddy

Wong Ping ใช้แอนิเมชั่นสีสันสดใสที่มีรูปร่างหน้าตาประหลาดของเขาบอกเล่าเรื่องราวเมื่อความเป็นชายทำพิษกับผู้ชายเอง (Toxic Masculinity) ในผลงาน Who’s the daddy (ศิลปินยินดีปันให้ดูที่ https://vimeo.com/232365543) เรื่องราวเริ่มต้นที่ตัวละครเอกบ่นเรื่องอวัยวะเพศของตนเองที่ไม่เอียงซ้ายหรือขวาเพราะเล็กเกินไป ผนวกกับค่าเฉลี่ยขนาดอวัยวะเพศของผู้ชายจีนที่ไม่ใหญ่พอ เขาใช้แอปพลิเคชั่นหาคู่สุดฮิตเลือกสาวๆ ไปเดต แม้ปากผู้หญิงจะบอกว่าเธอเป็นคริสตชนที่ดี ไม่อยากชิงสุกก่อนห่าม แต่พวกเขาก็มีเซ็กส์กันในเดตแรกนั่นเอง เขาถูกผู้หญิงกดดันให้ใช้มือให้ความสุขกับเธอไปเรื่อยๆ จนมือและนิ้วของเขาบาดเจ็บ และสุดท้ายเขาต้องรับเอาเด็กจากผู้หญิงคนนั้นมาเลี้ยง โดยที่เด็กดูไม่เหมือนเขาเลย งานของ Wong Ping น่าสนใจตรงที่เสนอมุมมองของเพศชายยุคใหม่ที่เผยความอ่อนแอและตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเช่นเดียวกัน ตัวเอกในแอนิเมชั่นถูกผู้หญิงทำร้าย ซึ่งแอนิเมชั่นขยายความรุนแรงจนเกินจริงว่าเขาถูกเธอใช้ส้นสูงแทงจนตาบอดไปข้างหนึ่ง และยังเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยผู้ชายคนหนึ่งที่เอาอวัยวะเพศมาวางบนหน้าเขา 8 วินาที แต่เขากลับรู้สึกชอบที่ได้ศิโรราบต่อ ‘อำนาจ’ และ ‘ความรุนแรง’ แม้แอนิเมชั่นจะจบอย่างน่ารักอบอุ่น ตัวเอกเปิดเพลงกล่อมลูกยุคเก่าที่เคยฟังตอนเด็กให้ลูกของเขาฟัง แต่ในเพลงคู่ระหว่างพ่อ-ลูกเพลงนั้น เด็กผู้ชายถามพ่อว่า “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าผมไม่รักพ่อแล้ว” พ่อบอกว่า “ถ้าอยากให้โลกสวยและสงบสุข ลูกต้องมาจุ๊บพ่ออย่างรักใคร่” 

ที่มา: https://www.desarthe.com/artist/dong-jinling.html

วิดีโอ Dong Jinling 2-2 (2011) ที่ชั้นหนึ่งของอาคาร JC Gallery ดึงดูดความสนใจของเราด้วยภาพศิลปินบีบน้ำนมของตนเองให้พุ่งออกมาจากเต้านมซ้าย ซึ่งเป็นภาพที่ไม่คุ้นตานัก เนื่องจากปกติ เราจะได้เห็นเต้านมที่มีน้ำนมคู่กับปากของเด็กทารกสักคนเสมอ ผลงานของ Dong Jinling จึงทำให้เราสำรวจภาพของเต้านมใหม่อีกครั้ง เห็นพลังซึ่งไม่ถูกบดบังด้วยการดูดนมของเด็ก แต่ก็ไพล่ให้คิดถึงเวลาที่แม่วัวถูกรีดนมด้วยมือ บรรดาแม่ๆ ที่ถูกต่อว่าเพียงเพราะพวกเธอให้นมลูกในที่สาธารณะและการเซ็นเซอร์หัวนมเฉพาะหัวนมของผู้หญิง ประเด็นที่กระจัดกระจายนี้ชัดขึ้น เมื่อเราได้เห็นภาพถ่ายของตัวศิลปินเองบนชั้นสาม 

Dong Jinling 2-1 (2012) แสดงภาพผู้หญิงที่เต้านมทั้งสองข้างไม่เท่ากัน นั่นก็เพราะศิลปินตั้งใจให้นมลูกของเธอเฉพาะเต้านมซ้าย เต้านมขวาที่ไม่ได้ถูกใช้งานจึงคงขนาดเช่นเดิม อาจตีความได้ว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เป็นแม่ เมื่อเธอพยายามขัดขืนและอยากเก็บเต้านมตนเองไว้ให้ตนเอง เต้านมที่ไม่เท่ากันและดูแปลกนี้เป็นผลงานจากการที่เธอไม่เสียสละพื้นที่บนร่างกายให้ลูกน้อยดื่มนมจากทั้งสองถัน เมื่อเปลี่ยนสถานะเป็นแม่ ผู้หญิงมักถูกคาดหวังให้เสียสละทุกอย่างเพื่อลูกของเธอ ทั้งร่างกายและชีวิต เต้านมคือหนึ่งในพื้นที่สำคัญ การขัดขืนของศิลปิน การไม่ยอมให้ ‘ทั้งหมด’ ทำให้เราเห็นความรุนแรงที่เธอต้องเผชิญ และเชื่อได้เลยว่าต้องเคยมีคนบอกเธอแน่ๆ ว่า “ทำไมไม่ให้ลูกดูดสองข้างไปซะเลยล่ะ”

ที่มา: instagram account: @artnomadcollective

ผลงานสุดท้ายที่เป็นตัวแทนของลูกคือวิดีโอชื่อ From No. 4 Pingyuanli to No. 4 Tianqiaobeili (2007) ของ Ma Qiusha เธอเล่าชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย ‘ลูกคนเดียว’ (One-child Policy) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่นเดียวกับพ่อแม่ชาวจีนคนอื่นๆ พ่อแม่ของเธออยากได้ลูกชายแต่กลับได้ลูกสาว เธอเล่าถึงชีวิตที่ถูกกดดันว่าจะต้องเก่งในทางใดทางหนึ่ง เช่น เล่นเปียโน คัดลายมือหรือวาดภาพ พ่อแม่คาดหวังว่าเธอจะต้องสมบูรณ์แบบและประสบความสำเร็จเนื่องจากเป็นลูกเพียงคนเดียวที่พวกเขามีได้ 

Ma Qiusha เล่าอัตชีวประวัติของเธอด้วยความรู้สึกรักและชังที่มีต่อพ่อแม่อย่างไม่เร่งรีบ ผู้ชมอาจเริ่มรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติ จากสีหน้าและการออกเสียง เธอดูจะลำบากขึ้นแต่ก็ยังพอฟังเธอออกและไม่เห็นอะไรผิดปกติชัดเจน เธอยังคงเจื้อยแจ้วอยู่หน้ากล้อง ในท้ายที่สุด ผู้ชมอาจช็อกหรือรู้สึกหวาดเสียว เมื่อเธอเอาใบมีดโกนที่วางบนลิ้นออกมาจากปาก ตลอดเวลาที่ผ่านมา เธอเล่าโดยมีใบมีดโกนนั้นคอยเฉือนลิ้นตัวเองอยู่ นี่คือภาพแทนที่เรียบง่ายและชัดเจนของความรุนแรงเชิงโครงสร้างในชีวิตประจำวันที่ค่อยๆ บาดชีวิตของคนทีละนิด ทีละนิด อย่างเงียบเชียบ นี่คือสิ่งที่ทุกคนกล้ำกลืนอยู่ทุกวันโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว อาจต่างกันตามเพศสภาพแต่เราล้วนต้องพบเจอประสบการณ์เช่นนี้

สิ่งที่นิทรรศการดีๆ (แม้ไม่สมบูรณ์แบบ) มี คงจะเป็นอย่างนิทรรศการนี้ที่ทำให้เราสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ที่ได้รับกับชีวิตจริงของเรา และเมื่อหวนระลึกถึง ยังคงมีอะไรให้เราสำรวจหรืออ่านใหม่นอกเหนือไปจากเดิมเสมอ ประเด็นความรุนแรงที่เกิดจากพื้นฐานเพศสภาพซึ่งมาจากโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่หรือบรรทัดฐานที่ยึดว่าความสัมพันธ์แบบชาย-หญิงเป็นความปกติ (Heteronormative) เป็นประเด็นสากลที่พบได้ในทุกที่ ทุกคนรู้ว่ามันมีอยู่แต่กลับยากที่จะทำให้เห็นภาพร่วมกันได้ ศิลปะจึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้เราได้เห็น หลังมติที่ต้องการผลักดันให้เกิดคณะกรรมาธิการด้านความหลากหลายทางเพศแพ้โหวต ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่าคงจะดีไม่น้อย หากมีนิทรรศการที่สำรวจเรื่องนี้ในประเทศไทยของเราบ้าง 

อ้างอิง:

https://www.taikwun.hk/en/programme/detail/performing%2520society%253A%2520the%2520violence%2520of%2520gender/309

Tags: , ,