“Oh my god, look at her butt” คือหนึ่งประโยคติดหูจากนิกกี้ มินาจที่เรารักเพราะความเผ็ดถึงใจแร้วงัยคัยแคร์ แต่โลกนี้ไม่ได้มีแค่แรปเปอร์สาวสายบิชจริตเฟียร์ซ (—ซึ่งก็ต่อสู้อยู่ในแวดวงที่แรปเปอร์ชายคอยรันวงการและพร้อมจะประเมินแรปเปอร์หญิงอยู่ตลอดเวลา) คราวนี้เราอยากพูดถึงแรปเปอร์หญิงในพื้นที่อื่นๆ กันบ้าง อย่างอัฟกานิสถาน เยเมน หรือเวียดนาม
เมื่อการแรปของพวกเธอเป็นมากกว่าความหลงใหลในวัฒนธรรมฮิปฮอป แต่ยังเป็นการเล่าเรื่องของตัวเอง และแสดงจุดยืนว่าผู้หญิงสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่พวกเธออยากจะเป็น แม้อยู่ในสังคมที่ผู้ชายยังเป็นใหญ่ในนามของพระเจ้าก็ตาม
ในโลกอาหรับ เมื่อหมวกแก๊ปมาแทนที่ฮิญาบ
พาราไดส์ โซรูรี (Paradise Sorouri) คือแรปเปอร์หญิงคนแรกของอัฟกานิสถาน ที่ทำเพลงเกี่ยวกับสิทธิสตรีได้ถึงน้ำถึงเนื้อในทุกวรรคตอนจนอยากจะกราบแทบเท้า
มีความเจ็บปวดที่ไม่สิ้นสุดในเสียงร้องของฉัน ไม่ใช่ขั้วโลกเหนือแต่ที่นี่ก็โคตรหนาว ฉันอยากวิ่งหนีแต่ถูกแทงจากด้านหลัง ฉันอยากคิดแต่ก็ถูกแทงที่หัว
ฉันถูกเผาในนามของอิสลาม การคิดจะแก้แค้นคือเรื่องน่าอดสู ฉันถูกราดน้ำกรดไปทั่วทั้งตัว ฉันถูกขาย แล้วก็ตายอย่างไร้วิญญาณ
…
สามีสามารถข่มขืนฉัน แล้วก็มีเมียอีก 4 คน และผู้คนก็ไม่ได้รู้สึกผิดกับฉันเลย แต่ฉันก็จะขอส่งเสียงนี้ไปให้พวกเขา
อัฟกานิสถานคือชื่อประเทศของฉัน แต่มันกลับเต็มไปด้วยความเจ็บปวด พวกเราได้แต่รอระเบิดลูกต่อไปตั้งแต่เช้าจนค่ำ ระเบิดเอาชีวิตผู้คนข้างนอก ขณะที่ฉันก็เสียสติอยู่ข้างใน จงฟัง ที่นี่ไม่มีความหวัง พวกคุณจงไปซะ ฉันเองเป็นผู้หญิงเหมือนๆ กับพวกคุณ อย่าปล่อยฉันทำอยู่คนเดียว จงคว้ามือไปด้วยกัน
https://www.youtube.com/watch?v=RB_IlKTAIJs
นี่คือหนึ่งในเนื้อร้องที่กล้าหาญที่สุดเท่าที่เคยฟังมาในชีวิต ขณะที่ก็น่าหวั่นใจว่าหากพวกผู้ชายหัวเก่าได้ยินเข้า เธอจะเป็นยังไง และเมื่อเสิร์ชต่อก็พบว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นกับเธอจริงๆ ในเมืองหลวงอย่างกรุงคาบูลเธอถูกขู่ฆ่าและขู่จะข่มขืนในรถบัสประจำทาง จนเธอไม่สามารถเดินทางโดยขนส่งสาธารณะได้อีก และในคืนหนึ่งที่เมืองเฮราต (Herat) เธอถูกผู้ชาย 10 คนรุมทำร้ายระหว่างเดินกลับบ้าน มีคนพบเธอนอนโชกเลือดและเสื้อผ้าขาดวิ่นอยู่กลางถนนในวันรุ่งขึ้น (คนๆ นั้นคือนักดนตรีชื่อ Diverse ซึ่งต่อมาคือแฟนของเธอ ปัจจุบันทั้งคู่ย้ายไปอยู่เยอรมนี ทำเพลงและโปรดิวซ์งานด้วยกันในนาม 143 Band Music)
ย้อนไปในปี 2013 นักเขียนของ The Washington Post ติดตามโซรูรีไปเพื่อทำสารคดีในอัฟกานิสถาน พวกเขาเช่าบ้านหลังหนึ่งในแถบสลัม ซึ่งองค์กรเอ็นจีโอในนิวยอร์กเป็นผู้ออกเงินให้ และขณะที่ถ่ายทำอยู่ตรงระเบียง ไม่เกิน 5 นาทีเจ้าของบ้านก็มาไล่เธอออกไป เพราะมีเพื่อนบ้านแจ้งว่ามีผู้หญิงกำลังถ่ายทำอะไรสักอย่างอยู่ในบ้านหลังนี้
“คนอัฟกันยังไม่เปิดกว้างพอที่จะเห็นผู้หญิงแสดงออกในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะการร้อง เต้น หรือออกทีวีก็ตาม” เธอเล่า และทุกอย่างจึงยากไปหมดสำหรับโซรูรี แต่เธอก็เลือกที่จะทำต่อด้วยเหตุผลที่ว่า “ถ้าฉันเอาแต่เงียบ มันจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”
เธอจึงทำเพลงออกมาอีกหลายเพลง ทั้งวิจารณ์รัฐบาลตาลีบานและการก่อการร้าย พูดถึงปัญหาความยากจนและคอร์รัปชั่นในประเทศ ในปี 2017 เธอก็ถูกยกให้เป็น 1ใน 30 คนเอเชียที่น่าจับตาโดยนิตยสารฟอร์บส์ (30 Under 30 Asia 2017) สาขาการบันเทิงและการกีฬา เธอยังเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้แรปเปอร์หญิงคนอื่นๆ กล้าที่จะทำในสิ่งที่อยากทำเช่น ซูซาน ฟีรูซ (Soosan Firooz) และโซนิต้า อลิซาเดห์ (Sonita Alizadeh) แรปเปอร์หญิงที่อายุน้อยที่สุดในอัฟกานิสถาน ในปี 2018 นี้ เธอยังมีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น
ขณะที่ประเทศใกล้เคียงอย่างเยเมน ชะตากรรมของผู้หญิงก็ไม่ได้ต่างกันนัก แรปเปอร์สาวอย่างอมานี ยาห์ยา (Amani Yahya) ถูกข่มขู่ในทุกช่องทางหลังจากเธอเปิดตัวเพลงแรกและขึ้นเวทีโดยปราศจากฮิญาบ ในทุกๆ โชว์ ยาห์ยาจะแรปในลุคสตรีทและสิ่งที่เธอร้องพุ่งเข้าประเด็นอย่างตรงไปตรงมา
เธอคือเด็กสาวคนสวย เธอคือเด็กสาวคนสวย เธอตื่นขึ้นทุกวันเพียงเพื่อจะช่วยแม่ทำงาน แล้วพวกคุณก็เอาปืนจ่อหัวเธอ…. เธอคือเด็กสาวธรรมดาๆ มีฝันธรรมดาๆ หนังสือ ของเล่น และสนามเด็กเล่น คือสิ่งที่เธอต้องการ แต่ตอนนี้คุณได้ฆ่าฝันของเธอไปแล้ว ทิ้งเธอไว้กับความเจ็บปวดตลอดกาล
ยาห์ยาแต่งเพลงนี้ให้กับเพื่อนวัยเด็กของเธอที่ถูกบังคับให้แต่งงานเมื่ออายุ 11 ปี ซึ่งนี่คือสิ่งที่เด็กหญิงในเยเมนรวมถึงประเทศอื่นๆ ในโลกอาหรับต้องเผชิญ (กฎหมายเยเมนเพิ่งกำหนดให้ผู้หญิงแต่งงานหลังอายุ 18 ปี ก็เมื่อปี 2015 แต่ก็ยังไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัดนัก) โดยยาห์ยาแรปเป็นภาษาอังกฤษที่แอบเรียนรู้เองจากโทรทัศน์ตั้งแต่เด็ก เธอตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะร้องเป็นภาษาอังกฤษ เพราะอยากให้ทั้งโลกได้รับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในประเทศตัวเองบ้าง โดยมีครอบครัวของเธอเป็นผู้สนับสนุน และนั่นเป็นเรื่องที่เธอมองว่าโชคดีที่สุด
“ฉันอยากเป็นเสียงให้กับเด็กสาวในเยเมน การแรปคือการส่งข้อความ เรื่องมันซีเรียส พวกคุณต้องฟังว่ามันร้ายแรงแค่ไหน และการเป็นแรปเปอร์ ศิลปิน หรือแอคทิวิสต์ในเยเมนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนี่เป็นสังคมที่ผู้ชายปกครองอยู่ มันเป็นเรื่องเสี่ยงถึงชีวิต” ยาห์ยาเล่า
ในปี 2016 เธอยังเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ไปร่วมพูดคุยใน Women’s Forum for the Economy & Society ที่เธอเผยในช่วง Q&A ว่าตนมักจะจัดอีเวนต์อย่างลับๆ เพื่อแรป ทั้งงานเต็มไปด้วยผู้หญิง และเด็กหญิงในเยเมนหลายคนก็พยายามติดต่อเพื่อให้กำลังใจเธอ ขอกำลังใจจากเธอ หรือส่งเรื่องราวของตัวเองให้เธอหยิบไปแต่งเป็นเนื้อร้อง
สิ่งที่คล้ายกันของทั้งโซรูรีและยาห์ยา คือครอบครัวของทั้งคู่ต่างลี้ภัยสงครามไปจากประเทศบ้านเกิด โซรูรีย้ายไปทาจิกิสถาน ขณะที่ยาห์ยาย้ายไปซาอุดีอาระเบีย พวกเธอพบโลกของป็อปคัลเจอร์จากสื่อข้างนอกประเทศ แต่ท้ายที่สุดพวกเธอตัดสินใจกลับมาทำสิ่งตามความฝันและต่อสู้ในบ้านเกิดของตัวเอง นั่นจึงทำให้ (ไม่ว่าลึกๆ แล้วพวกเธอจะอยากแสดงพลังผ่านเรือนร่างอย่างแรปเปอร์หญิงในประเทศอื่นๆ หรือสนใจแบรนด์เนมหรือไม่ก็ตาม) พวกเธอเลือกจะพูดถึงสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าในบริบทของตัวเอง ซึ่งนั่นทำให้พวกเธอดูห้าวหาญไม่น้อยไปกว่าพวกผู้ชายที่กำหินไว้ในมือ ทหารที่ถือปืน หรือนักการเมืองที่คอยสั่งการอะไรต่อมิอะไรอยู่ด้านบนสุดของปัญหา
ก่อนจะย้ายมาพูดถึงแรปเปอร์หญิงอีกคนจากฝั่งเอเชีย ขอพูดถึงแรปเปอร์หญิงจากโลกมุสลิมอีกคนที่น่าสนใจ นั่นคือโมนา เฮย์ดาร์ (Mona Haydar) ที่ออกมาแรปโต้กลับคนที่บอกให้พวกเธอถอดฮิญาบออก ทั้งพวกคนที่พกความศิวิไลซ์มาเต็มกระเป๋ารวมถึงพวกเฟมินิสต์สุดโต่งที่เชื่อว่าเสรีภาพมีเพียงหนึ่งเดียว เฮย์ดาร์อยากให้พวกเขาจงยอมรับความแตกต่างหลากหลายของผู้หญิงบนโลกใบนี้กันเสียที
โมนาเป็นชาวซีเรียที่อาศัยในอเมริกา เพลงเดบิวต์ของเธอเมื่อปี 2017 คือ ‘Hijabi’ (Wrap My Hijab) ถูกยกให้เป็นหนึ่งในเพลงประท้วงที่ดีที่สุดของปี 2017 โดย Billboard.com และเนื้อหาของมันก็เป็นอีกหนึ่งน้ำเสียงจากผู้หญิงมุสลิมที่โลกควรฟัง
“ผมพวกเธอเป็นยังไงเหรอ ผมเธอคงจะสวยนะ นั่นน่ะไม่ทำให้เธอเหงื่อออกเหรอ แล้วมันรัดแน่นเกินไปไหม ผมเธอเป็นยังไงเหรอ ผมยาวมั้ย พวกเธอจงทวงคืนชีวิตตัวเองได้แล้วนะ”
(พวกคนที่พูดอย่างท่อนก่อนหน้า) คุณแค่เห็นที่นี่เป็นโลกตะวันออก พวกคุณก็แค่พูดไปเรื่อยๆ นี่มันไม่ใช่กิจกรรมยามว่างแสนเอ็กซอติกของคุณหรอกนะ ฉันเบื่อเต็มทีกับความสนใจใคร่รู้ของพวกคุณ ฉันต้องการแค่ PayPal มากกว่า ถ้าพวกคุณอยากให้เรามีการศึกษาน่ะนะ
ต่อด้วยท่อนฮุคติดหูที่ย้ำว่าโลกเสรีที่แท้จริง คือการปล่อยให้พวกเธอสวมฮิญาบต่อไป และยอมรับในสิ่งที่พวกเธอเป็นต่างหาก ซึ่งหากเทียบกับสองแรปเปอร์สาวด้านบน พวกเธออาจเห็นไม่ตรงกันนักเรื่องวิถีปฏิบัติทางศาสนา อาจเพราะแต่ละคนก็คงมีเรื่องที่ถูกกดทับหรือถูกแวดล้อมด้วยปัญหาในคนละบริบท แต่ไม่ว่าใครจะมาประเด็นไหน การแรปของพวกเธอก็เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังทีเดียว
เวียดนาม ในประเทศที่เนื้อหาของศิลปินถูกรัฐบาลตรวจตรา
เขยิบมาใกล้บ้านเราอย่างเช่นเวียดนาม ซูบอย (Suboi) ถูกขนานนามว่าเป็น Queen of Hip-Hop ผู้เติบโตมาจากวงการเพลงใต้ดิน ในประเทศที่เนื้อหาของศิลปินยังคงถูกตรวจตราโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ เนื้อเพลงของซูบอยเต็มไปด้วยความขบถ ห่ามแบบฮิปฮอป กับไลฟ์สไตล์แบบที่ตรงข้ามกับความอนุรักษ์นิยมที่รัฐบาลยึดถือเอาไว้ และเธอยังพยายามเสนอภาพลักษณ์แบบอื่นสำหรับแรปเปอร์สาวชาวเอเชีย ที่ยังมักถูกมองแบบเหมารวมว่าเป็น cute girl (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากภาพในเคป็อป)
ในปี 2016 ซูบอยสร้างความประทับใจให้ชาวเวียดนาม เมื่อเธอเข้าร่วมงานมีตติ้งระหว่างอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าขณะที่เขายังอยู่ในตำแหน่ง กับคนรุ่นใหม่ชาวเวียดนามในโฮจิมินห์ซิตี้ โดยซูบอยได้ยกมือขึ้นถามโอบาม่าว่า “ในมุมมองของคุณ ศิลปะและวัฒนธรรมสำคัญกับประเทศๆ หนึ่งแค่ไหน โดยเฉพาะในประเทศที่ทุกอย่างถูกจำกัดอย่างเวียดนาม—ศิลปินมีอะไรที่ต้องพูดอีกเยอะมาก”
ก่อนจะตอบ โอบาม่าขอให้เธอแรปสดให้เขาฟังสักท่อนหนึ่ง ซึ่งซูบอยแรปออกมาเป็นภาษาเวียดนาม ก่อนจะแปลให้เขาฟังว่าเธอพูดเกี่ยวกับเรื่องของคนมีเงินที่อาจจะไม่ได้มีความสุขเสมอไป และกล่าวถึงสังคมชายเป็นใหญ่ในเวียดนาม ที่ที่ผู้คนยังมองว่าการแรปไม่ใช่ของสำหรับผู้หญิง
หลังจากที่ได้ฟัง โอบาม่าก็ตอบเธอว่า “ด้วยความสัตย์จริง บางครั้งศิลปะก็อันตราย และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมบางครั้งรัฐบาลจึงกังวลเกี่ยวกับศิลปะ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อเหลือเกินก็คือ เมื่อไรที่คุณเผด็จการกับศิลปะ นั่นเท่ากับคุณกำลังเผด็จการกับความฝันอันสูงสุดที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน”
อย่างไรก็ตาม การเยือนประเทศเวียดนามของโอบาม่าในครั้งนั้น เขามาในฐานะอเมริกาที่อยากสนับสนุนความคิดเสรีนิยมในเวียดนาม พร้อมทั้งแสดงเจตจำนงว่าอยากเยียวยาบาดแผลที่อเมริกาเคยมีส่วนสร้างให้กับเวียดนามตั้งแต่สมัยสงครามโลก และสิ่งที่เขาต้องการสนับสนุนเพื่อจะนำไปสู่โลกเสรีนิยมก็คือ ซอฟต์พาวเวอร์ ที่จะแทรกซึมเข้าสู่ผู้คนและส่งผลต่อความคิดพวกเขาอย่างแนบเนียนทั้งยังทรงพลังกว่าอาวุธ—การยกมือถามของซูบอย จึงไม่น่าจะใช่แค่ความอยากรู้ว่าโอบาม่าจะตอบอย่างไรแน่ๆ
ล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา ซูบอยได้ร่วมงานกับสตูดิโอเพลงขวัญใจวัยรุ่นอย่าง 88rising สำหรับโซรูรีหรือยาห์ยา เราเห็นเรื่องราวของพวกเธอโผล่ผ่านสื่อต่างๆ ล่าสุดก็คือปี 2016 ถึงกลางๆ ปี 2017 แม้ไม่รู้จะไปติดตามที่ไหน แต่หวังว่าตอนนี้พวกเธอจะยังคงสู้อยู่ในมุมหนึ่ง และมันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในสักวัน
และเมื่อมองกลับมาในบ้านเรา แรปเปอร์หญิงในเมืองไทยก็ใช่ว่าจะไม่มี หลายคนในรายการ The Rapper หรือ Show Me the Money ก็เปิดพื้นที่ให้แรปเปอร์หญิงไว้อย่างน่าสนใจ บางคนเลือกเน้นไปที่ความสตรองในความรักหรือการด่าคนรักแบบเผ็ด บางคนเลือกเล่าเรื่องครอบครัวหรือการทำตามความฝัน ซึ่งน่าติดตามต่อว่าเราจะได้ฟังเนื้อหาอื่นใดนอกเหนือจากนั้นอีกบ้าง และเชื่อว่าหากจะทำ พวกเธอก็น่าจะทำได้เจ๋งไม่แพ้ใคร
ที่มา:
- https://www.theguardian.com/music/2016/dec/01/afghanistan-first-female-rapper-paradise-sorouri-143band-interview
- https://www.theguardian.com/music/2015/jun/08/amina-yahya-yemens-first-female-rapper-i-will-find-a-way-i-will-shine
- https://www.indiatimes.com/news/world/meet-paradise-sorouri-afghanistan-s-first-female-rapper-badass-who-s-fighting-for-women-without-a-voice-267525.html
- https://www.washingtonpost.com/news/worldviews/wp/2013/07/29/afghan-girl-dreams-of-becoming-star-rapper/?noredirect=on&utm_term=.7bdfaeae9464
- http://www.monahaydar.com/
- http://time.com/4347331/vietnam-rapper-suboi-obama-hip-hop/