ฝนเทมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง
เป็น 2 ชั่วโมงแห่งสายฝนไร้ระเบียบ
กระซ่าน กระเซ็น กระจัด กระจาย
เสียงฝนมาพร้อมกับบรรยากาศที่เย็นฉ่ำ และไม่มีทีท่าจะหยุดตกง่ายๆ
“มาเบตง แต่ไม่นั่งแท็กซี่เบนซ์แปลว่ามาไม่ถึงนะน้อง”
เสียงทักทายที่แทรกมากับสายฝนที่ตกแบบสะเปะสะปะดังขึ้น หลังจากเราย่างเท้าสู่ตลาดเสรี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา สถานที่จอดคิวรถ ‘แท็กซี่เบนซ์’ ที่ไม่ว่าเม็ดฝนจะเทกระหน่ำ แดดจะแรงแผดเผาแค่ไหน พวกเขาก็พร้อมต้อนรับ เป็นคนขับ เป็นไกด์ เป็นเพื่อนโดยสารขนส่งทุกคนไปยังปลายทางที่ ‘เบตง’
หลังจากใช้สายตากวาดไปทั่วคิวรถแท็กซี่เบนซ์ เบนซ์รุ่นคลาสสิกได้จอดเรียงรายอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 คัน รอคิวพร้อมออกไปโลดแล่นบนท้องถนน โดยมีรุ่นยอดนิยมคือ เบนซ์ตาหวานและเบนซ์หางปลา อย่างรุ่น 240D 280S และ 300D
“ไปเบตง 800 บาท นั่งได้ 4 คน ตกคนละ 200 บาท” แบผู้ดูแลคิวรถแท็กซี่เบนซ์บอกราคาแก่เรา (แบ ภาษามาลายูแปลว่าพี่ชาย) และขายของอย่างหนักต่อว่า ด้วยห้องโดยสารรถเบนซ์ที่กว้างขวาง การนั่งบนรถ 4 คนจึงไม่มีความอึดอัด ท้ายรถก็บรรจุของได้เยอะ ยิ่งช่วงเวลาที่ฝนตกรถเบนซ์ก็เกาะถนนแน่น สมดุลรถดี เมื่อรวมกับคนขับที่มีความชำนาญ จดจำได้ทุกเส้นโค้งบนท้องถนน รู้ถึงขั้นว่าโค้งไหนควรผ่อนควรเร่งความเร็วอยู่ระดับไหน นอกจากแท็กซี่เบนซ์จะรับรองความปลอดภัยบนท้องถนนแล้ว ใครอยากมีเพื่อนคุยระหว่างทาง หรือไกด์นำเที่ยวสักคนก็ไม่มีปัญหา
“จัดมา 1 คันค่ะ” รถเบนซ์รุ่น 380 SE สีแดงคันใหญ่ เป็นพาหนะที่จะพาเราไปสู่เบตงวันนี้ มาพร้อมกับโชเฟอร์ ‘แบโฮะ’ ที่เป็นเพื่อนพูดคุย แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหารตลอดระยะทางกว่า 126 กิโลเมตร บนถนนหมายเลขที่ 410
“เดี๋ยวผมจะโชว์ให้ดูว่า แท็กซี่เบนซ์เบตงของจริงเขาขับกันอย่างไร” แบเอ่ยขึ้นหลังจากรถออกตัวมาได้สักระยะ
“แท็กซี่เบนซ์มีของจริงของปลอมด้วยหรือ แล้วของจริงขับอย่างไร” เราเอ่ยถาม
“แท็กซี่เบนซ์เบตงของจริงต้องขับมือเดียว” แบพูดพร้อมกับยื่นมือขวาออกนอกหน้าต่าง บทสารพัดสนทนาจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่แบเริ่มขับขี่ด้วยมือข้างเดียว
Living in the Red Zone ชีวิต ความฝัน และผู้คนชายแดนใต้ คือซีรีส์ที่ The Momentum ภูมิใจนำเสนอเรื่องราวของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากผู้คนหลากหลายบทบาทและอาชีพ เพื่อทำความเข้าใจหนึ่งในดินแดนที่ ‘พิเศษ’ และมีเสน่ห์ที่สุดของประเทศไทยแห่งนี้
แบโฮะพูดถึงรถร่วมทุกข์ร่วมสุขคันนี้ว่า เบนซ์คันนี้อายุ 45 ปีแล้ว รถจดทะเบียนตั้งแต่ปี 2520 โดยเขาซื้อรถเพื่อนยากคันนี้ต่อมาจากคนอื่นในราคาแสนกว่าบาท อาชีพคนขับแท็กซี่เบนซ์ของเขาจึงเริ่มขึ้นในวัยหนุ่มอายุประมาณ 26-27 ปี และขับล่วงเลยมาจนถึงตอนนี้ก็อายุ 65 ปีแล้ว
“ถ้าให้ผมพูดถึงจุดเด่นแท็กซี่เบนซ์ว่าคืออะไร เดี๋ยวก็มาบอกว่าผมโม้อีก” แบโฮะพูดพร้อมกับหัวเราะ เขาพูดถึงข้อดีของแท็กซี่เบนซ์ต่อว่า คนขับชำนาญพื้นที่ เพราะเส้นทางยะลา- เบตง ค่อนข้างขับยาก ด้วยถนนที่มี 2 เลน และมีทางโค้งมากกว่า 360 โค้ง
“ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือพวกเราขับเก่งนั่นแหละ (ขำ) ถ้าผมไปขับรถที่กรุงเทพฯ ผมก็คงชำนาญสู้แท็กซี่หรือคนขับแถวนั้นไม่ได้ แต่ที่นี่เบตงเราขับจนเชี่ยวชาญ ขับมานานเป็นสิบยี่สิบปีแล้ว”
แบโฮะตอบคำถามของเราว่าทำไมแท็กซี่ยะลา-เบตง ถึงต้องใช้รถเบนซ์ นั่นเพราะรถขนาดเล็กไม่เหมาะเวลาเข้าโค้ง รถเบนซ์มีตัวถังที่หนักจึงยึดเกาะถนนได้ดีกว่า ดังนั้น ‘ความปลอดภัย’ จึงเป็นคำตอบของคำถามนี้
“ถ้าจะเล่นมือถือก็เล่นตรงนี้นะครับ เลี้ยวข้างหน้าสัญญาณจะหายแล้ว”
“แบจำได้ทุกโค้งที่สัญญาณจะหายเลยหรือ” เราเอ่ยถามด้วยความทึ่ง
“อย่าว่าแต่สัญญาณโทรศัพท์เลย ผมจำได้หมดว่าโค้งไหนต้องยกเท้าผ่อนแรงเท่าไร ทางชันต้องเหยียบเท้าแค่ไหน มันเป็นความเคยชินและความชำนาญ ถ้าคุณไม่เชื่อก็มาดูหน้าปัดไมล์รถสิ มันพังมาตั้งนานแล้วผมไม่ได้ซ่อม” หลังแบโฮะพูดจบ เราโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อดูไมล์ของรถในทันที
ความเร็ว 0 กิโลเมตร/ชั่วโมง
“จริงด้วยแบไม่ได้พูดเล่น ไมล์รถพังจริงด้วย” เราพูดพร้อมกับปาดเหงื่อ เอาล่ะเส้นทางแห่งชีวิตได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งแล้วสินะที่โอเคเบตง
เอกลักษณ์อีกอย่างของแท็กซี่เบตงคงหนีไม่พ้น ‘รถไม่มีแอร์’ ตลอดระยะทาง 126 กิโลเมตรนั้น หน้าต่างทั้ง 4 บาน ถูกปรับลดลงเพื่อรับลม ฝนที่โปรยปรายตั้งแต่เช้าส่งผลให้ยามสายใกล้เที่ยงเรายังได้สัมผัสอากาศหนาวและเย็นอยู่
“เห็นไหมผมบอกแล้วว่าอากาศเย็นไม่ต้องใช้แอร์ หน้าร้อนก็ไม่ร้อนเท่าไร คนที่อยู่ที่นี้ไม่ต้องเปลืองค่าไฟ ค่าแอร์ แค่พัดลมก็หนาวกันแล้ว และอีกเหตุผลที่แท็กซี่เบนซ์ไม่มีแอร์เพราะนักท่องเที่ยวบางคนเขาก็ไม่เอาแอร์เพราะเมารถ จะอ้วก โค้งมันเยอะ เปิดหน้าต่างก็ได้กินลม ชมวิว ถ้าตอนนี้อยู่กรุงเทพฯ เวลานี้คงนั่งเหงื่อแตกกันแล้ว แต่ที่นี่ยังหมอกลงอยู่เลย”
“ช่วงนี้เศรษฐกิจเป็นอย่างไรบ้าง” เราเอ่ยขึ้น
“ตอนนี้คนน้อยเมื่อก่อนคนเยอะ น้ำมันก็แพง ก่อนโควิด-19 วิ่งรับนักท่องเที่ยวได้หลายเที่ยว ประมาณ 3-4 เที่ยวต่อวัน วิ่งไปแล้วก็วิ่งกลับ ตอนนี้วิ่งประมานวันละ 1 เที่ยว”
“มีที่พักหรือยัง จะเอากี่บาท แบแนะนำได้ เอาโรงแรมที่มีคนละครึ่งไหม หรือห้องราคา 500 – 600 บาทก็ดี หรือแบบโฮมสเตย์ก็นอนสบายนะ” แบเอ่ยถาม ขณะร่ายชื่อที่พักพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในแต่ละแห่ง พร้อมกับแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ยาวไปจนถึงร้านอาหารที่ควรไปกินสักครั้งเมื่อมาเยือนเบตง
“มาเบตงต้องกินข้าวมันไก่ เดี๋ยวจะชี้ร้านให้ดูว่าร้านไหนอร่อย เดี๋ยวไปส่งให้เลยก็ได้ แบแนะนำร้านได้ แต่แบไม่กินนะ ร้านเป็นของคนจีน มันไม่ฮาลาล ที่นี่ไทย จีน มุสลิมเราอยู่ร่วมกันได้ เลยมีร้านอาหารที่หลากหลาย”
“ตอนนี้น้ำมันก็แพงขึ้นเรื่อยๆ วิ่งรถแบบนี้ยังคุ้มอยู่ไหม”
“เมื่อก่อนน้ำมันถูก ก็พอกิน ตอนนี้ไม่พอมันลิตรละสามสิบกว่าบาทแล้ว และแพงขึ้นเรื่อยๆ แก๊สเราก็ติดไม่ได้เพราะขับขึ้นเขาอันตราย ตอนนี้ถึงขับแท็กซี่ไม่คุ้มมันก็จำเป็นแล้ว ไม่รู้จะทำอะไร นี่คืออาชีพเรา หากินแบบนี้ วิ่งรถมาเกือบ 30 ปีแล้ว”
แบโฮะพูดต่อว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงที่ด่านข้ามประเทศระหว่างไทยและมาเลเซียยังไม่ปิดลง ตอนนั้นถือว่าสบายมาก เพราะด่านไทย-มาเลเซียมีระยะทางใกล้กันมากประมาณ 8-9 กิโล ก็สามารถข้ามประเทศไปเติมน้ำมันได้สบายๆ เพราะมาเลเซียมีน้ำมันที่ราคาถูกกว่าประเทศไทย
“สมมติน้ำมันบ้านเราลิตรละ 20 บาท บ้านเขาลิตรละ 15 บาท ราคาต่างกันเยอะ เขากินภาษีน้อย รัฐเขากินน้อย”
‘โอเคเบตง’ ป้ายขนาดใหญ่ติดอยู่ข้างทางที่เป็นเครื่องยืนยันว่า เราได้เดินทางมาถึงเบตงแล้ว
การเดินทางจากยะลามาเบตงใช้เวลาราวๆ 3 ชั่วโมง ด้วยโค้งที่เยอะ ทางที่ชัน ต้องคอยผ่อนหนักผ่อนเบาตลอดทาง และยังไม่รวมด่านตรวจที่ตั้งขนาบสองข้างทางแบบนับไม่ถ้วน
หากภูเขาเป็นสิ่งแรกเมื่อนึกถึงภาคเหนือ ทะเลก็คงเป็นสิ่งแรกที่นึกถึงภาคใต้ แล้วภาพแรกที่คุณนึกถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คืออะไร?
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตกอยู่ใต้กฎหมายพิเศษร่วม 18 ปีแล้ว คนในพื้นที่ถูกปฏิบัติแตกต่างไปจากประชาชนในพื้นที่อื่น จากสิ่งที่ไม่ปกติถูกกระทำซ้ำๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติและเคยชิน
“มาเที่ยวเถอะ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรอก” แบเอ่ยขึ้น หลังจากเราเอ่ยถามว่าสถานการณ์ใน 3 จังหวัด ส่งผลต่อการท่องเที่ยวและรายได้ไหม
หลายสิ่งหลายอย่างที่เราสัมผัสจากสองข้างทางในระยะทาง 126 กิโลเมตรนั้น มีหลายอย่างที่กวนใจเราอยู่มาก เช่น ด่านตรวจจำนวนมาก และป้ายประกาศจับที่ติดระหว่างทางที่มี รูป ชื่อ นามสกุล ชัดเจน เหล่านี้ไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือ?
ความคิดของเราถูกขัดลง หลังจากแบขับรถพาเที่ยวชมมัสยิดกลางเบตง และขับเยี่ยมชมกราฟฟิตี้ที่ถูกวาดตามมุมบ้านเรือนต่างๆ โดยฝีมือของศิลปินมากกว่า 40 คน ที่มาร่วมใจกันบอกเล่าเรื่องราวของเบตงผ่านกำแพงใจกลางเมือง และบ้านเรือน แบอธิบายว่า สิ่งนี่ถือเป็นเสน่ห์อีกอย่างของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ และอยากให้คนมาเที่ยวชมเบตงเยอะๆ
เบตงเป็นอำเภอขนาดเล็ก ในจังหวัดยะลา มีตลาด มีของกิน มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย ที่สามารถเดินเหินเพื่อเยี่ยมชมบ้านเรือนได้อย่างง่ายดาย
สิ่งที่ทำให้เบตงดูจะ ‘พิเศษ’ กว่าอำเภอ หรือจังหวัดอื่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ เบตงถือเป็นอำเภอแรกของเมืองต้นแบบ ‘สามเหลี่ยม เศรษฐกิจมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ที่มีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพราะเป็นอำเภอที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้ง ชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จึงนำมาสู่การยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว
ช่วงเวลาของการพูดคุยสัพเพเหระได้จบลง เมื่อแบพาเรามาถึงยังจุดหมายปลายทาง สารพัดการพูดคุยทั้งครอบครัว ปากท้อง เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หลากหลายการแลกเปลี่ยนบนถนนหมายเลขที่ 410
126 กิโลเมตร ดูจะไม่เพียงพอต่อเรื่องเล่าทั้งทุกข์สุข และคำแนะนำการท่องเที่ยวจากแบ หากใครมีโอกาสได้เดินทางมาเยือนยะลา-เบตง ก็ลองมาใช้บริการแท็กซี่เบนซ์เบตงได้ ที่เรียกว่าบริการครบจบในแท็กซี่เบนซ์ 1 คัน หรือใครอยากให้แท็กซี่เบนซ์ขับไปรับถึงสนามบินหาดใหญ่ แบโฮะบอกว่าก็ย่อมได้ สามารถติดต่อนัดวันเวลาได้ตามสะดวก
แล้วมาร่วมแชร์กันว่า บนถนนหมายเลข 410 คุณมีเรื่องอะไรที่อยากจะเล่าบ้าง
Tags: แท็กซี่เบนซ์, Feature, แท็กซี่, Living in the Red Zone, ยะลา, เบตง, เบนซ์แท็กซี่