เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เกิดเหตุโศกนาฏกรรมตากใบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 85 ราย และบาดเจ็บอีกนับไม่ถ้วน เหตุเกิดจากชาวบ้าน 200 กว่ารายมาชุมนุมกันที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูแว ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 6 คน ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหายักยอกปืนของทางราชการไป 6 กระบอก แต่ชาวบ้านไม่เชื่อว่า ชรบ.กระทำดังที่ถูกตั้งข้อหา จึงนำมาซึ่งการชุมนุมใหญ่
ณ วันนั้น มะรีกี ดอเลาะ อายุ 20 ปี เป็นหนึ่งในผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม แม้ว่าเขาไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมชุมนุม เพียงแต่นั่งรถสองแถวเข้าไปซื้อเสื้อผ้าชุดรายอที่ตลาดนัดในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนถือศีลอดพอดี แต่ขณะเดินทางกลับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดรถไม่ให้ผ่าน ทำให้เขาได้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างบังเอิญ จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มะรีกีได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง เขาพิการ ต้องถูกตัดขาหนึ่งข้าง มือทั้ง 2 ข้างขยับไม่ได้ และร่างกายตั้งแต่เอวลงไปไร้ความรู้สึก
ในวาระที่ ‘คดีตากใบ’ ใกล้จะสิ้นอายุความ 20 ปี ในเวลา 00.00 ของวันที่ 25 ตุลาคม 2567 หรือเหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมงนับจากนี้ ขณะที่นาฬิกาอายุคดีความถูกนับถอยหลัง แต่ผู้ต้องหายังคงหลบหนี และชัดเจนว่าพวกเขาจะกลายเป็น ‘ผู้บริสุทธิ์’ นับแต่วันนี้เป็นต้นไป
แต่นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น (มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83) ข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น (มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 83) ข้อหาร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย (มาตรา 310 วรรคสองประกอบมาตรา 290 และมาตรา 83) และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย ผู้ต้องหาเหล่านี้ก็จะกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ทันที
ก่อนคดีจะสิ้นอายุความ The Momentum พูดคุยกับ มะรีกี ดอเลาะ หนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บจากคดีตากใบว่า ในวันนั้นเขาต้องเผชิญอะไรบ้าง และมีความรู้สึกอย่างไร หากผู้ต้องหาทั้งหมดยังหลบหนีจวบจนวินาทีสุดท้าย
“มีคนตะโกนว่า หมอบลงๆ ทหารยิงจริงๆ ยิงลงในน้ำ เหมือนฝนตกเลยกระสุนปืนเยอะมาก ผมก็เลยหมอบลงในน้ำ สักพักจึงรีบวิ่งไปที่สนามเด็กเล่น แต่เห็นคนโดนยิงตรงนั้นพอดี โดนยิงตรงแก้มเลือดออกปาก ผมกลัวกระสุนปืนจึงวิ่งกลับไปหมอบลงในน้ำต่อและเงยหน้าขึ้นให้จมูกหายใจ”
มะรีกีเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นว่า เขานั่งรถสองแถวไปตากใบ แต่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้นและประกาศว่า “ใครใคร่กลับบ้านก็กลับ” แต่เมื่อมีคนเดินไปดูที่ทางออกกลับพบว่า ประตูถูกปิดกั้นทั้งหมด ทำให้ไม่มีใครสามารถเดินทางออกจากบริเวณเกิดเหตุได้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตาและรถดับเพลิงมาระงับเหตุ ส่งผลให้ประชาชนกระเด็นเพราะแรงฉีดน้ำเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ทหารยังขว้างก้อนหินใส่ประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
ต่อจากนั้นไม่นาน ทหารก็ตะโกนให้ทุกคนถอดเสื้อและนำเสื้อมามัดมือ หากมีเชือก มีเข็มขัด หรือสายไฟก็นำมาใช้มัดแทน พร้อมสั่งให้ทุกคนเดินก้มหน้าไปที่สนามเด็กเล่น หมอบลงกับพื้นและคลานไป สภ.ตากใบ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ควบคุมตัวผู้ชุมนุมกว่า 1,300 ราย นำตัวไปสอบสวนต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างจาก สภ.ตากใบ ราว 150 กิโลเมตร
“เขาก็ให้ทุกคนหมอบนอนลงที่หน้า สภ.ตากใบ บนถนนลาดยางนานมาก ถ้าใครโผล่หัวขึ้นมาก็จะโดนเตะโดนด้ามปืน ผมรอขึ้นรถนานมาก รถคันไหนเต็มก็ออก คันไหนเต็มก็ออก ผมไม่รู้ว่า รถรอออกพร้อมกันหรือทยอยออก เพราะเงยหน้าดูไม่ได้ ถ้าเงยหน้าก็จะโดนเตะ โดนเหยียบ โดนด้ามปืน”
มะรีกีเล่าต่อว่า ทหารตำรวจก็ประกาศให้ทุกคนเดินขึ้นไปบนรถเอง ในรถของมะรีกี เขาต้องขึ้นไปนอนคว่ำหน้า ไม่สามารถหันหน้าหรือขยับตัวอะไรได้ เพราะมีคนขึ้นไปนอนซ้อนๆ กันเป็นชั้นๆ
“ผมดูไม่ได้เลยว่า รถของผมซ้อนกันกี่แถว รู้เพียงว่ามี 3 คนที่อยู่ข้างล่างผม และคนที่อยู่ 2 ข้างทั้งซ้ายขวา ซึ่งคนที่อยู่ข้างล่างผมมีเลือดออกปาก – ออกจมูก เสียงหายใจดังครอกๆ และฝนที่ตกลงมาทำให้บนพื้นรถมีน้ำแฉะ น้ำมันเลยผสมกับเลือดที่ออกทางปากและจมูก แต่พอรถขับไปสักพัก ผมก็ไม่ได้ยินเสียงครอกๆ ของเขาแล้ว
“เขาใส่คนจนเต็มรถ มันมืดจนไม่เห็นอะไรเลย หายใจก็ไม่ออก มีแต่เสียงร้องไห้ดังลั่นไปหมด คนที่อยู่ข้างบนก็โดนเหยียบ โดนด้ามปืนตี พอร้องไห้ทหารก็จะบอกว่าเงียบๆ ถ้าร้องรถจะไม่ไป คนขับรถก็ขับๆ หยุดๆ ผมอยู่บนรถนานมากนะ ไม่รู้จะบอกอย่างไร มันเจ็บ มันนาน มันมืด มันหายใจไม่ออก เหมือนผมถูกคลุมด้วยถุงพลาสติก”
มะรีกีเล่าต่อว่า คนที่เคยร้องไห้ พอผ่านไปสักพักทุกคนก็เงียบไร้สุ้มเสียง นอกจากนี้ คนที่อยู่ข้างบนก็โดนทหารเหยียบตลอดทั้งทาง จนหลังๆ มะรีกีรู้สึกอ่อนล้า คุมสติไม่อยู่จนหมดสติไปในท้ายที่สุด
“ผมไม่รู้ว่ารถขับไปถึงไหน เพราะมันขับไปข้างหน้านิดหนึ่งและถอยหลัง จนผมคิดว่า เขาเอาศพคนเสียชีวิตโยนทิ้งลงเหว ส่วนคนที่อยู่ข้างบนผมก็ตะโกนว่า ไม่ไหวแล้วๆ ส่วนคนที่อยู่ข้างล่างผมเสียงเขาก็เงียบลง ข้างซ้ายข้างขวาก็เงียบเหมือนกัน”
มะรีกีถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เช่นเดียวกับผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันอีก 4-5 รายที่มีอาการหนัก และต้องรักษาอาการอยู่โรงพยาบาลกว่า 2 เดือน และนับจากวันนั้น ชีวิต ร่างกาย และสภาพจิตใจของเขาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
“ผมโดนตัดขา มือผมหงิกทั้ง 2 ข้าง ตอนแรกขยับมือไม่ได้เลย มันเหมือนกับโดนไฟไหม้ ส่วนแขนก็เห็นกระดูกสีขาวเพราะโดนทับ เมื่อก่อนผมใช้ชีวิตได้ปกติทุกอย่าง แต่ตอนนี้แขนก็ขยับไม่ได้ทั้ง 2 แขน ตอนแรกขาอีกข้างก็ชาเดินไม่ได้ เดินนิดหน่อยก็ล้ม บังคับตัวเองไม่ได้ และภาพเหตุการณ์วันนั้นน่ากลัวมาก ผมยังเห็นมันตลอดเวลา เวลาใครพูดถึงก็จะเห็นภาพ”
มะรีกีเป็นหนึ่งในโจทก์ 48 คนที่ยื่นฟ้องเอาผิดอาญาในคดีตากใบต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมตากใบ เพื่อพิสูจน์ความจริงและต้องการเรียกร้องความยุติธรรมคืนสู่ผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และชาวบ้าน
เป็นการที่ญาติผู้เสียหายใช้สิทธิฟ้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐเอง เนื่องจากอัยการสั่งไม่ฟ้อง นำมาซึ่งการออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
แต่เรื่องทั้งหมดกำลังสิ้นสุดหลังเที่ยงคืนวันนี้ เนื่องจากคดีหมดอายุความ
“ผมอยากให้ความยุติธรรมแก่คนเสียชีวิต” มะรีกีบอกและกล่าวต่อว่า เขาทำดีที่สุดแล้วในการยื่นฟ้องครั้งนี้
“ผมคิดว่า ผมทำดีที่สุดแล้ว ผมทำเพื่อทุกคน ตอนนี้ก็รู้สึกเศร้า ในเมื่อความยุติธรรมไม่เกิด ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ผมเป็นแค่ชาวบ้านธรรมดา ถ้าคดีสิ้นอายุความ ผมก็จะหาทางใหม่ ตอนนี้ยังไม่รู้จะทำอย่างไรก็สู้ต่อ ไม่หยุดแค่นี้
“ฝากถึงฝ่ายรัฐบาลที่หนีไป คนที่หนีไปก่อนแล้ว หรือบางคนที่ยังไม่กลับมา การกระทำเหล่านี้มันสะกิดแผลที่ยังไม่แห้งของผู้โดนกระทำ”
Fact Box
โศกนาฏกรรมตากใบเกิดขึ้นในรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ซึ่งมี พลเอก สัมพันธ์ บุญญานันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และพลโท พิศาล วัฒนวงษ์คีรี เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ในช่วงเวลาเดียวกับที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ห่างจากอำเภอตากใบประมาณ 30 กิโลเมตร