“นายเป็นโศกนาฏกรรมประจำชานเมืองเหมือนโฮลเดน คอลฟีลด์ หรือไงน่ะ” มาร์ก (ชาร์ลี ฮีตัน จากซีรีส์ Stranger Things) ถามแจ็ก (โอเวน แคมป์เบลล์ จากซีรีส์ ​The Americans) ในวันแรกที่พวกเขาพบกัน อ้างอิงไปถึงตัวละครขบถผู้เป็นหัวใจหลักใน The Catcher in the Rye วรรณกรรมยุค 50s ชื่อดังของ เจ. ดี. แซลิงเจอร์

​ หากให้ว่ากันตามตรง ทั้งมาร์กและแจ็กต่างก็เป็นคนหนุ่มนอกคอกที่ไม่เข้าพิมพ์นิยมของสังคมยุค 90s (ตามท้องเรื่องในหนัง) ด้วยกันทั้งคู่ สิ่งที่โยงใยพวกเขาเข้าหากันในตอนแรกคือความรักระหว่างพ่อ (ของมาร์ก) กับแม่ (ของแจ็ก) ผู้ผ่านการหย่าร้าง ก่อนที่พวกเขาจะสานสัมพันธ์กันผ่านดนตรีร็อกอันเดือดดาลของเนอร์วานา วิดีโอเกม และการโดดเรียนไปเที่ยวเตร่สูบกัญชาด้วยกัน

​ …จากพี่น้องบุญธรรม ความสัมพันธ์ของพวกเขาจึงกลายเป็นสนิทแน่นแฟ้นขึ้น

As You Are (ชื่อของหนังอ้างอิงไปถึงเพลง ‘Come As You Are’ ของเนอร์วานา) เป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของ ไมล์ส จอริส-เพย์ราฟีต ผู้คว้ารางวัล Special Jury Prize จากเทศกาลหนังซันแดนซ์ปี 2016 มาครอบครองในวัยเพียง 23 ปี ก่อนที่หนังจะได้เข้าฉายในสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา (ตอนนี้หนังมีให้เช่า ซื้อ และสตรีมทาง Amazon แล้ว)

แม้จะเป็นหนังเล็กๆ แต่สิ่งที่โดดเด่นและน่าชื่นชมของมันคือการสำรวจความสัมพันธ์ อัตลักษณ์ และเพศสภาพของตัวละครอย่างซับซ้อนละเอียดลออ เมื่อสมการความสัมพันธ์ไม่ได้หยุดที่ตัวมาร์กกับแจ็ก หากยังมีเพื่อนสาวอย่างซาราห์ (อแมนด์ลา สเตนเบิร์ก จาก The Hunger Games) เข้ามาร่วมด้วย ซาราห์เองก็เป็นวัยรุ่นผู้แปลกแยกจากสังคมรอบตัว แม้จะเป็นเด็กเรียนดี แต่เธอเป็นสาวผิวสีที่ครอบครัวคนผิวขาวรับมาเลี้ยง และอาศัยอยู่ในละแวกบ้านที่เต็มไปด้วยคนขาว

ทั้งแจ็ก มาร์ก และซาราห์จึงเป็นคนนอกที่มาพบพื้นที่ยึดเหนี่ยวทางใจในกันและกัน ต่างเกื้อกูลเยียวยาบาดแผล แบ่งปันพละกำลังให้แก่กัน ตลอดเวลาที่คนดูได้เห็นพวกเขาออกเที่ยว ขับรถไปตามสถานที่ต่างๆ หัดยิงปืน หรือนอนแผ่บนสนามหญ้าเพื่อพูดคุยถึงสารพัดเรื่องราวในชีวิต เราจะเห็นได้ว่ามิตรภาพของพวกเขาไม่ต่างอะไรจากมิตรภาพในวันวัยอันน่าสับสนของการเป็นวัยรุ่นที่เราต่างต้องเผชิญ ซึ่งมันก็คือมิตรภาพที่เราใช้ขยับขยายและสำรวจลึกลงไปภายในเพื่อนิยามตัวตนของเรานั่นเอง

​ กระนั้น ความสัมพันธ์ของสามเพื่อนรักกลับซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อมิตรภาพกลับกลายเป็นความชอบพอฉันคนรัก โดยนอกจากแจ็กกับมาร์กจะผลัดกันเดทซาราห์ ทั้งสองหนุ่มยังพบว่าความรู้สึกที่พวกเขามีให้กันนั้นมันมากเกินคำว่า ‘เพื่อน’

As You Are จึงสำรวจการลื่นไหลของสิ่งที่เรียกว่าความรักและความชิดใกล้โดยไม่มีคำว่าเพศมาเป็นกรอบแบ่งกั้นความรู้สึก ไม่แปลกที่หลายสำนักจะชื่นชมว่าหนังเรื่องนี้สำรวจตัวละครผู้มีความเลื่อนไหลทางเพศสภาพ (gender fluidity) ได้อย่างสดใหม่ หนังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพวกเขาไม่ได้รักกันเพียงเพราะอีกฝ่ายเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่ความรักบังเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์อันเฉพาะเจาะจงและลึกซึ้งที่ต่างฝ่ายต่างมีให้กันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง…มนุษย์ผู้แหว่งวิ่นซึ่งเข้ามาประคับประคองกันบนเส้นทางอันเต็มไปด้วยขวากหนามของการเติบโต

นอกจากนี้ หนังยังไม่ได้มองตัวละครเหล่านี้ผ่านป้ายประทับใด ไม่ว่าเกย์สเตรตหรืออะไรก็ตาม แต่ปฏิบัติกับพวกเขาในฐานะมนุษย์ผู้มีความซับซ้อนและมีชีวิตจิตใจเป็นของตัวเอง เพราะป้ายประทับเหล่านี้จะมีความหมายอะไร หากความรักที่พวกเขามีให้กันเป็นของจริง

​ การไม่ประดิษฐ์เรียกความรักของมาร์กกับแจ็กว่าอะไร และการมองตัวละครตามที่พวกเขาเป็นนี่แหละที่ As You Are รื้อถอนความเข้าใจที่สังคมกระแสหลักมีต่อความรักใคร่ของมนุษย์ แสดงให้เห็นว่ามันลื่นไหล หาได้คงที่หรือเป็นสิ่งสงวนไว้สำหรับคู่รักต่างเพศเท่านั้น

​ ทัศนคติเรื่องเพศของหนังที่ทันยุคนั้นทาบทับกับฉากหลังกรันจ์ร็อกแห่งยุค 90s ของหนังได้อย่างน่าสนใจ เพราะต่อให้หนังมีมุมมองก้าวหน้าเพียงใด ก็ไม่ได้ละเลยความเป็นจริงของยุคในท้องเรื่องที่ว่าความรักแบบนี้ไม่อาจดำเนินต่อไปได้ง่ายๆ ดังที่พวกเขาหวัง หนังใส่เหตุการณ์ที่เคิร์ต โคเบน แห่งวงเนอร์วานายิงตัวตายมาเป็นจุดสำคัญที่หักเหเรื่องราว ราวกับเพื่อกระตุกเตือนคนดูว่าตัวละครเหล่านี้ยังอยู่ในโลกยุคเก่า และโศกนาฏกรรมของโคเบนนี่เองที่จะขยายเงามาครอบทับชีวิตของพวกเขาจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมท้ายเรื่อง (ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนเช่นกัน)

เปล่าเลย นี่ไม่ใช่สปอยเลอร์ เพราะหนังเปิดเรื่องด้วยการบอกคนดูตั้งแต่แรกว่าเกิดโศกนาฏกรรมบางอย่างขึ้น ก่อนค่อยๆ คลี่คลายโยงใยความสัมพันธ์ของวัยรุ่นทั้งสามผ่านการสืบสวนของตำรวจ คำให้การของคนที่เกี่ยวข้อง ตัดสลับด้วยภาพเหตุการณ์ที่ถูกเล่าออกมา ด้วยเทคนิคนี้ หนังลัดเลาะไปตามความทรงจำของตัวละคร จากหลายฝั่งมุมมอง ทั้งที่ทาบกันได้สนิทและบิดเบี้ยว ให้คนดูได้ร่วมรับรู้ถึงโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น และค้นหาต้นตอของมัน

​ สิ่งที่น่าสะเทือนใจที่สุดที่หนังหยิบยื่นให้ คงเป็นการตัดขั้วความรักด้วยความเป็นจริงอันโหดร้ายของสังคม ต่อให้พวกเขารักกันเพียงใด มันก็ไม่อาจหลีกพ้นสายตาจับจ้องของผู้คนในเมืองเล็กๆ ที่พวกเขาอาศัยอยู่ และการสั่งสอนลงไม้ลงมือจากผู้เป็นพ่อที่ต้องการให้ลูกเป็น ‘ลูกผู้ชายเต็มตัว’ ก็ผลักดันให้ตัวละครต้องเอ่ยประโยคอันน่าเจ็บปวดที่ว่า

​ “ฉันหวังเหลือเกินให้นายเป็นผู้หญิง”

พวกเขารู้ดีว่าความรักไม่มีเพศ แต่แรงกดดันทางสังคมต่างหากที่ทำให้พวกเขาวาดหวังด้วยหัวใจแหลกสลายให้เพศของตนเป็นไปตามครรลอง เพื่อที่พวกเขาจะได้ครองรักกัน ซึ่งชวนให้ตั้งคำถามว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น พวกเขาหรือสังคมกันแน่ที่เหนี่ยวไกปืน

​ As You Are เปิดพื้นที่อันกว้างขวางให้คนดูได้ใคร่ครวญตาม เต็มไปด้วยเสน่ห์ของบรรยากาศยุค 90s และเคมีที่เข้ากันของเพื่อนรักทั้งสาม ที่ต้องชื่นชมความสามารถของเหล่านักแสดงและจอริส-เพย์ราฟีตที่รีดเค้นการแสดงอันเป็นธรรมชาติจากพวกเขาออกมาได้ขนาดนี้

นี่เป็นหนังอีกเรื่องที่ทำให้คุณตกหลุมรักได้ไม่ยาก

FACT BOX:

  • Gender fluid หรือ Gender Fluidity เป็นคำบรรยายอัตลักษณ์ทางเพศที่ได้รับความนิยมขึ้นมาในช่วงหลังมานี้ หมายถึงเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศที่ไม่ตายตัว ไม่หยุดนิ่งอยู่ในกรอบ และสามารถเปลี่ยนผันไปได้ตามกาลเวลา คนที่ใช้คำๆ นี้ในการอธิบายอัตลักษณ์ทางเพศของตนจึงมักไม่ยึดติดอยู่กับระบบการแบ่งเพศเป็น 2 ขั้ว (binary) ที่กำหนดลักษณะและบทบาทของความเป็นหญิงเป็นชาย (feminity/masculinity) อย่างชัดเจน หรือบรรทัดฐานทางสังคมที่มองว่าคนเราควรมีเพศตามกำเนิด (cisnormative) หรือควรพึงใจรักคนต่างเพศ (heteronormative) นั่นเอง
  • Nirvana เป็นวงระดับตำนานที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุค 90s ด้วยลักษณะดนตรีที่ระเบิดอารมณ์และความคับข้องใจที่มีต่อสังคม โดยในวันที่ 8 เมษายน 1994 เคิร์ต โคเบน นักร้องนำของวงได้ฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนในที่พักของตน การตายในวัยเพียง 27 ปี ของโคเบนส่งกระแสช็อกไปทั่วโลก เกิดการถกเถียงและทฤษฎีสมคบคิดมากมายเพื่อหาสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักระบุไปที่อาการติดยาเสพติด ความกดดันจากชื่อเสียง และสภาพจิตใจอันย่ำแย่ของเจ้าตัว หากสนใจเรื่องราวการตายของโคเบนเพิ่มเติม เราขอแนะนำสารคดี Cobain: Montage of Heck ที่เพิ่งสร้างออกมาเมื่อปี 2015
Tags: , , , , ,