‘หิวต้องกินข้าว’ เป็นธรรมชาติของทุกชีวิต มนุษย์ต้องกินเพื่อคลายความหิวโหย กินเพื่อเพิ่มพลัง และไม่ว่าจะมีฐานะร่ำรวยหรือยากจน เป็นชนชั้นสูงหรือรากหญ้า ทุกคนล้วนต้องกินเพื่อให้พรุ่งนี้ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้
ถึงจะพูดว่า คนทุกคนต้องกินไม่ว่ามีฐานะเช่นไร ทว่าในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ คนรากหญ้าและแรงงาน ประชากรจำนวนไม่น้อยไม่อาจอิ่มเอมด้วยมูลค่าที่สูงเกินรับไหว สำทับด้วยปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบอาหารให้สูงขึ้น ขณะที่รายได้เท่าเดิม (หรือบางคนได้รายได้น้อยลง) ยิ่งฉุดให้ชนชั้นแรงงานเหล่านี้ไกลห่างจากความอิ่มท้องมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ความ ‘อิ่ม-อร่อย’ แทบจะผูกขาดไว้กับผู้มีเงิน มีร้านขายอาหารเล็กๆ กำลังใช้พื้นที่ประกาศตามหาลูกค้ากลางเมืองหลวง
“เราขายข้าวแกงแค่ 20 บาท ตั้งอยู่ตรงนี้เพื่อแรงงานที่เขามาทำงานในย่านนี้ ขายในราคาถูกเพราะคนกินคือคนรากหญ้า
“ผมขายบะหมี่ให้คนทำงาน คนรากหญ้า อยากให้เขาได้อิ่มท้อง กำไรผมได้ไม่มาก ความสุขต่างหากที่ผมได้เยอะ”
หญิงและชายอธิบายคอนเซปต์ร้าน บอกเล่าว่า อาหารของตนมีไว้สำหรับคนประเภทใด ในยุคที่ความอร่อยแทบจะผูกขาดไว้ให้คนมีเงินเข้าถึง แม่ค้าข้าวแกงกลางทองหล่อ กับพ่อค้าบะหมี่ใต้สะพาน ประกาศว่าพวกเขาคือ ตัวแทนความอร่อยและความอิ่มท้องของคนธรรมดา และบทสนทนานี้จะพาผู้อ่านทำความรู้จักตัวตนและแนวคิดของพวกเขาเหล่านี้กัน
อิ่มในหลืบพิพัฒน์
“ผมขับวินมอเตอร์ไซค์แถวนี้ครับ เวลาพักเที่ยงผมมักจะแวะกินปลาดุกฟูกับแกงเขียวหวานที่ร้านข้าวแกงพี่ต่ายเป็นประจำมา เพราะอร่อย ราคาถูก ได้กับข้าวเยอะ กินเสร็จก็ไปทำงานวินฯ ส่งลูกค้าต่อหาเงินเลี้ยงเมียกับลูก”
ชายเสื้อกั๊กส้มแนะนำตัวเองขณะยืนถือจานข้าว
กับข้าวจานนี้ตักให้โดย เชฟต่าย เจ้าของร้านข้าวแกง 20 บาท บริเวณด้านหน้าสวนครูองุ่น มาลิก ใจกลางย่านเศรษฐกิจอย่างทองหล่อ
ในย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองหลวง การเข้าถึงอาหารราคาถูก และได้ปริมาณที่ทำให้อิ่มท้อง เป็นเรื่องยากสำหรับแรงงานค่าแรงถูก เนื่องจากที่ดินมีมูลค่าสูง ส่งผลให้ราคาอาหารมีราคาสูงตามไปด้วย ผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าแรงต่ำ กรรมกรก่อสร้าง คนขับแท็กซี่ ฯลฯ โดยมากจึงเลือกทำกับข้าวเองจากที่พักอาศัย หรือเลือกเดินทางออกนอกย่านเศรษฐกิจหวังได้กินอิ่มในราคาจับต้องได้
หลังการเข้ามาของร้านข้าวแกง 20 บาท แรงงานย่านทองหล่อและละแวกใกล้เคียงไม่ค่อยได้เดินทางออกจากย่าน หรือตื่นเช้าเพื่อทำอาหารให้ทันเข้าเมือง เนื่องจากอาหารที่ต่ายทำจัดวางในอ่างสเตนเลสกว่า 10 กว่าเมนูนี้ มีราคาเพียงเมนูละ 20 บาท ราดข้าวหอมมะลิอุ่นร้อนที่เลือกปริมาณได้
“วันหนึ่งเราจะทำขายประมาณ 10-11 เมนู ทำให้เสร็จก่อน 10 โมง แล้วนำไปตั้ง เมนูยืนพื้นจะมีแกงเขียวหวานกับปลาดุกฟู
“เมื่อก่อนเราเคยทำ 7-8 เมนู แล้วมันไม่พอขาย ลูกค้าหลายคนเดินมาตอนที่ของเราหมดแล้ว เราเองก็กลัวคนมาหาเราแล้วไม่ได้กินข้าว เราเลยเพิ่มเมนู”
ลูกค้าของต่ายในย่านใจกลางเมือง ไม่ได้เป็นกลุ่มนักธุรกิจ คุณหญิงคุณนายมากมีเงินทองแต่อย่างใด หากแต่เป็นคนอย่างไรเดอร์ พนักงานออฟฟิศ กรรมกรก่อสร้างที่อยู่ข้างร้าน ไปจนถึงหมอพยาบาลที่แวะเวียนมายามพักเที่ยง และทั้งหมดคือ ‘ผู้ใช้แรงงาน’
“คนที่เราขายจะเป็นพวกวินมอเตอร์ไซค์ พวกกรรมกรเสียเยอะ เมื่อก่อนเราเลยเปิดร้านข้าวแกงเช้ากว่านี้ เพราะลูกค้าที่เขาเข้างานกันตั้งแต่เช้าชอบแวะมาซื้อข้าวที่ร้านไปกินในที่ทำงาน”
การขายข้าวแกงในราคาถูกสำหรับต่าย ยืนอยู่ด้วยความหวังอยากให้ผู้ใช้แรงงานได้กินอิ่มจนมีแรงทำงานต่อถึงค่ำ แม้ลูกค้าจะมากมาย แต่กำไรที่ได้อาจไม่มากเทียบเท่าร้านค้าละแวกเดียวกัน อย่างไรเสีย ต่ายถือว่านี่คือการ ‘ช่วยเหลือคน’
“เราคิดเสมอว่า เราช่วยคนได้เยอะมาก ครั้งหนึ่งเราบอกกับลูกค้าว่า อาจขายราคา 20 บาทเหมือนเดิมไม่ได้แล้วนะ แต่ลูกค้าเขาไม่ว่าอะไร บอกให้เราขึ้นราคากับข้าวได้เลย แต่ขออย่างเดียว ขอให้เราอยู่กับเขาในย่านนี้นานๆ ก่อน
“ลูกค้าบางคนบ่นกับเราว่า ไปสั่งผัดเผ็ดปลาดุกกับไข่ลูกเขยร้านอื่นแล้วรู้สึกว่าแพง เหมือนเอากับข้าวมาโปรยๆ บนข้าว ปลาดุกได้แค่ 2 ชิ้น ไข่พะโล้ฟองหนึ่ง ในราคา 50 บาท เทียบกับเราปริมาณนั้นเราให้ถูกกว่า ข้าวเราก็ให้เขาเยอะ ข้าว 1 กระสอบ เราใช้แค่ 2 วันเอง หากเป็นที่อื่น 1 กระสอบคงเหลือใช้นานกว่านั้น”
ต่ายแย้มกลยุทธ์ที่ทำให้คนธรรมดาอิ่มท้อง ขณะที่เธอสามารถทำรายได้จากการขายข้าวแกงราคาถูก คือการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบของแต่ละเมนู ขึ้นอยู่กับราคา วันใดผักแพง เธอเลือกใช้เนื้อสัตว์ประกอบอาหาร หากวันใดเนื้อสัตว์แพงเปลี่ยนมาใช้ผัก เป็นกลยุทธ์การค้าขายสำหรับร้านอาหารคนธรรมดาเพื่อคนธรรมดา
“เวลาวัตถุดิบแพง เช่น ผักขึ้นราคา เราก็จะแก้ปัญหาโดยการใช้ผักน้อย เอาเนื้อสัตว์มาแทน หรืออย่างบางเมนูมีวัตถุดิบไหนที่เอามาแทนได้ก็แทนกันไป หรือบางทีก็เปลี่ยนเมนูไปเลย เช่น มะเขือเปราะราคาขึ้นช่วงก่อนราคา 60-80 บาท ตอนนี้เราเลยเปลี่ยนมาใช้หน่อไม้ราคา 35 บาท ซึ่งถูกกว่าครึ่งหนึ่ง เวลาเราไปเดินตลาด เราจะรู้ราคาสินค้าแต่ละอย่างว่า อันไหนแพงขึ้น อันไหนถูกลง ถ้าสินค้าไหนแพงเราก็จะไม่ใช้”
การเลือกซื้อวัตถุดิบที่ปรับเปลี่ยนตามความถูก-แพง ไม่มีผลกับคุณภาพอาหาร เพราะต่ายยังคงเลือกส่วนผสมแต่ละเมนูของเธอ โดยยึดคุณภาพเป็นหลัก เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่เป็นลูกค้าหลักยังได้กิน ‘ของดี’ ในราคาสบายกระเป๋า มากกว่านั้นคือการให้อาหารแต่ละเมนูที่เธอทำเป็นพลังแก่แรงงานในช่วงเวลางานที่เหลือ
สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าอาหารคือ แนวคิดการมองเห็น ‘คนรากหญ้า’ ของต่าย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นอันใกล้นี้ ครอบครัวของต่ายเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่เธอยังเยาว์วัย ส่วนหนึ่งของการเป็นลูกหลานครอบครัวนักกิจกรรมทางการเมือง ทำให้เธอรู้ดีว่าความลำบากของคนธรรมดารอบตัวเธอวันนี้คืออะไร ที่สำคัญ ในวันนี้เธอยังคงเป็นความอิ่มท้องให้กับนักเรียกร้องทางการเมืองมาหลายยุคหลายสมัย
“ต่ายเคยทำครัวราษฎรแจกให้เหล่าผู้ชุมนุม ตอนนั้นจำได้ว่าเราแจกขนมจีนน้ำยากับแกงเขียวหวาน ปักหมุดอยู่บริเวณป้ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า แจกไป 9,300 กล่อง สั่งขนมจีนมา 300 กิโลกรัม มีมาม่าแจกช่วงดึก และตอนเช้าเราก็แจกโจ๊ก
“สิ่งที่เราต้องการคือเราอยากให้เพื่อนได้กิน สำหรับเพื่อนนักกิจกรรมเราจะรู้อยู่แล้ว เวลายุ่ง เวลาไปเดินขบวน เราเหมือนเป็นกองกำลังให้กับกองทัพ เราทำอาหารเลี้ยงม็อบตั้งแต่ม็อบ ‘คนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ’ แล้ว ยืนทำอาหารที่สนามหลวง ตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน แล้วก็ไปม็อบของคนเสื้อแดง แล้วก็มาม็อบของน้องๆ นักศึกษา เราทำแบบนี้ตั้งแต่อายุยังไม่ 30 ตอนนี้เราอายุ 46 ปีแล้ว
“เราไปทำอาหารในม็อบ เราก็มีอุดมการณ์ร่วมกับเขานะ เขาเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่เอารัฐประหาร เราก็เป็นครัวประชาธิปไตย ตอนไปทำอาหารเลี้ยงน้องๆ เขาถึงได้ตั้งชื่อครัวเราว่า ‘ครัวราษฎร’ ติดป้ายไวนิลใหญ่ๆ อยู่ท้ายรถกระบะ เวลาเราไปแจกกับข้าว เราไปไม่ต่ำกว่า 300 กล่องนะ”
เพราะเป็นสามัญชนคนธรรมดาเช่นเดียวกัน ต่ายจึงเข้าใจว่า การได้กินอิ่มนั้นสำคัญพอกับการสร้างประชาธิปไตยให้ประเทศ รวมทั้งการมองเห็นความสำคัญของคนรากหญ้า กับการเข้าถึงสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตที่เรียกว่าอาหาร เพราะการกินให้อิ่มสำหรับต่าย คือพลังงานชั้นเยี่ยมในการต่อสู้กับการกดขี่ทางสังคมในชนชั้นแรงงาน
“เราอยากให้แรงงานได้กินอิ่ม จะได้ไปสู้กับนายทุนไงล่ะ” ต่ายทิ้งท้าย
ความอิ่มของคนรากหญ้าใต้สะพาน
“ตั้งแต่ร้านของผมยังไม่มีชื่อเสียง มีน้องคนหนึ่งซื้อบะหมี่ร้านเราครั้งละ 10 ก้อน เขาบอกผมว่า ผมทำให้เขากับเมียอิ่ม เพราะที่ซื้อบะหมี่ไป 10 ก้อน เขาแบ่งกินกับเมียเขาคนละ 5 ก้อน เพราะตอนนั้นเมียของเขาท้อง และการเงินของเขาก็แย่ วันไหนเขาเจอเรา เขาจะขอบคุณเราใหญ่เลย”
ก๊อป เล่าให้เราฟังข้างรถพ่วงข้างขายบะหมี่ของเขา เมื่อเราถามว่าอะไรคือความประทับใจกับการเป็นพ่อค้าขายบะหมี่ป๊อกป๊อก และดูเหมือนว่าคำตอบที่ได้มาสู่นโยบายขายบะหมี่ของเขาในปัจจุบัน
“ผมมองว่า ร้านนี้เป็นตัวแทนของคนรากหญ้าอยู่แล้ว และมันเป็นนโยบายของร้านที่อยากให้คนกลุ่มนี้ได้อิ่มท้อง ลูกค้ากลุ่มแรกๆ ของผมก็เป็นกลุ่มพี่ขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ ไรเดอร์ เมสเซนเจอร์ คนงานโรงงาน เขาเป็นทั้งลูกค้า และเป็นกำไรชีวิตของผม”
จุดเริ่มต้นการขายบะหมี่ของก๊อปใต้สะพานพระราม 7 แห่งนี้ เกิดขึ้นจากการสนทนากับคนขับแท็กซี่ขณะจอดพักรถใต้สะพาน ในระยะ 1 สัปดาห์ คำถามของก๊อปวนอยู่กับความกังวลว่า หากตนขายบะหมี่แล้ว กลุ่มแท็กซี่กลุ่มนี้จะยอมจ่ายเงินเพื่อกินบะหมี่ของเขาหรือไม่ และท้ายที่สุดก็ได้คำตอบที่ก๊อปพอใจ
“ก่อนเริ่มขายบะหมี่เราไปดูหน้าร้านมาก่อน แต่ต้องจ่ายเป็นแสน เราไม่ได้มีงบขนาดนั้น เลยขับรถวนไปวนมา อยู่ๆ มานั่งอยู่ใต้สะพานพระราม 7 แวบแรกเห็นพี่แท็กซี่จอดรถพักผ่อนกันตรงนี้ประมาณ 6-7 คัน เลยแวะนั่งคุย คำแรกที่ผมถามเขาว่า ‘พี่ครับ ถ้าผมเอาบะหมี่ป๊อกป๊อกมาขายตรงนี้ พี่จะกินไหม’ เขาตอบกลับทันทีว่า ‘กินสิ แล้วจะวอบอกคนขับแท็กซี่คนอื่นมากินด้วย’
“ผมดีใจมาก เพราะหลังจากนั้นมีพี่แท็กซี่มากินบะหมี่เยอะเลย มีครั้งหนึ่งที่ประทับใจคือ เขาบอกให้กลุ่มคนขับไปจอดรถอีกฝั่ง เพื่อให้พื้นที่เราขายของ เวลาลูกค้ามาซื้อบะหมี่เขาจะได้มีที่จอดรถ”
ราคา 40 บาท จะได้รับบะหมี่ 2 ก้อน และใส่บะหมี่ได้ไม่อั้นในราคา 50 บาท ซึ่งในราคานี้รวมวัตถุดิบอื่นๆ ในชาม ตั้งแต่หมูแดง เกี๊ยวหมูน้ำ ลูกชิ้น และผักอีกมากมายจนพูน ด้วยปริมาณเส้นบะหมี่ที่เลือกมากน้อยได้ตามความต้องการ ลูกค้าร้านบะหมี่แห่งนี้โดยมากจึงเป็นกลุ่มแรงงานที่ใช้ร่างกายหนัก เช่น กรรมการก่อสร้าง คนขับรถรับ-ส่งที่ทำงานข้ามวันข้ามคืน หรือบุพการีที่มีลูกหลาน ก็มักตั้งใจพาบุตรหลานมาอิ่มเอมที่ร้านบะหมี่ของก๊อปในคราวเดียว สำหรับก๊อปการเป็นปากท้องให้คนรากหญ้าดังใจหวัง คือความสุขอันสุดล้นของตัวเอง
“ถามว่าผมได้เงินเยอะไหม มันไม่ได้เยอะหรอก แต่ผมได้ความสุข บางคนถามผมว่า สิ่งที่ทำอยู่ทำไปเพื่ออะไร เพราะมันทั้งเหนื่อยรายได้ก็น้อย แต่ผมกลับมองว่า สิ่งที่ผมทำมันดีมากๆ แล้ว อย่างน้อยผมได้รับกำลังใจจากชาวบ้าน คนมากมายเข้ามาขอบคุณผม อวยพรผม แค่พูดคำว่า ขอให้เจริญๆ ผมก็มีแรงสู้แล้ว ผมทำให้คนที่เขาอดมื้อกินมื้อมาก่อนมีกินในวันนี้ ผมสามารถทำให้คนไร้บ้าน คนตกงานได้อิ่มท้อง ผมดีใจมากเลยนะ”
ทัศนะของพ่อค้านำพาผู้คนมากมายห้อมล้อมรถ รอเจ้าของร้านบะหมี่ผู้เป็นตัวแทนคนรากหญ้าประกอบอาหารให้กินอย่างใจเย็น บ้างหยิบคิวยืนเข้าแถว บ้างอุ้มลูกหลานซื้อน้ำคลายร้อนคอยกินบะหมี่อยู่ไม่ห่างจากรถ สำหรับก๊อป การได้เห็นคนเหล่านี้ได้กินอิ่มคงเป็นของขวัญชิ้นสำคัญแล้วสำหรับเขาในเวลานี้
เขาทิ้งท้ายด้วยการยืนยันกับเราอีกครั้งว่า ร้านบะหมี่เล็กๆ ใต้สะพานพระราม 7 แห่งนี้คือ ตัวแทนของคนรากหญ้า คนตั้งครรภ์ คนยากไร้ที่หิวโหย และหากไม่มีใคร จงคิดว่ามีพ่อค้าร้านบะหมี่แห่งนี้รอทำอาหารให้กินอยู่เสมอ
“มีลูกค้าเดินมาบอกผมว่า อย่าลืมเขา อย่าลืมคนรากหญ้า ผมจึงบอกกับเขาไปว่า ผมสัญญา”
Tags: คนธรรมดา, คนรากหญ้า, กับข้าว, ข้าวราดแกง, บะหมี่ป๊อกป๊อก, บะหมี่ป๊อกๆ พระราม7, บะหมี่ป๊อกๆ, สวนครูองุ่น, อาหาร, ข้าวแกง 20, Feature, ข้าวแกง 20 บาท