สถานีรถไฟหัวลำโพง จุดศูนย์กลางของระบบขนส่งสาธารณะหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ แท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก จนถึงวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ภาพคุ้นตาที่เห็นได้ทุกวันคือ บรรยากาศผู้โดยสารยืนเข้าแถวต่อคิวรอใช้บริการกันแน่นขนัด
แต่ยามนี้ กวาดสายตาไปพบเจอแต่ความหงอยเหงา กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ก็นั่งคุยกันเงียบๆ บ้างโบกไม้โบกมือเรียกลูกค้า รถแท็กซี่นับสิบคันจอดรถต่อคิวรอผู้โดยสาร พร้อมเปิดไฟ ‘ว่าง’ สว่างโร่ ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็เห็นได้ว่าพวกเขากำลังเจอกับวิกฤตครั้งใหญ่ ไร้ลูกค้า ไร้รายได้ ไร้ความมั่นคงใดๆ
ประสิทธิ โพธิ์ไพร
วินมอเตอร์ไซค์
“ออกไปวิ่งข้างนอกก็ไม่รู้จะวิ่งไปทำไม วิ่งไปก็ไม่มีคนเรียก เปลืองค่าน้ำมันเปล่าๆ สู้มารอที่หัวลำโพงดีกว่า แต่นี่ไม่มีคนเลย คนต่างจังหวัดเขาก็ไม่กล้าเข้ากรุงเทพฯ เข้ามาก็ไม่มีงานทำ กลายเป็นว่าตอนนี้ไม่รู้จะหาลูกค้าจากไหนแล้ว”
ประโยคข้างต้นคือเหตุผลหลักที่ทำให้ ประสิทธิ โพธิ์ไพร ต้องมานั่งจับกลุ่มกับเพื่อนวินมอเตอร์ไซค์บริเวณหน้าสถานีหัวลำโพง แม้เขาจะเข้าใจสถานการณ์ดีว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีรายได้อู้ฟู่เหมือนช่วงก่อนโควิด-19 แต่ในใจก็แอบหวังเล็กๆ ว่าจะมีผู้โดยสารเดินเข้ามาบ้าง สักคนก็ยังดี
การนั่งวินมอเตอร์ไซค์ที่ต้องใกล้ชิดชนิด ‘เนื้อแนบเนื้อ’ กับคนขับ ก็อาจทำให้ผู้โดยสารหลายคนหวาดระแวง ส่งผลต่อการเว้นระยะห่าง งดใช้บริการชั่วคราว
“ผมมีงานประจำอีกงานหนึ่งคือ วิ่งส่งของให้บริษัท แต่ตอนนี้พนักงานกลัวผมมาก เชื่อไหมเวลาไปออฟฟิศ เขาไม่ให้เราเข้าเลย ให้นั่งด้านนอก แล้วจะมาวางของให้ห่างๆ โควิด-19 เล่นเอาทั้งเงินทั้งใจมันป่นปี้หมดเลย”
ถึงอย่างไร ประสิทธิก็ต้องรอคอยลูกค้าต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะทำงานสองอย่างพร้อมกันขนาดนี้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อสำหรับภาระที่ต้องแบกรับอีกมากมาย
เรืองวิทย์ ทองไพร
คนขับแท็กซี่
“นั่งรอตั้งแต่ตีห้ายังไม่ได้ออกรถเลย ยังไม่ได้สักบาท ตอนนี้มีอยู่ยี่สิบบาท เดี๋ยวว่าจะแบ่งเงินสักสิบบาทไปซื้อไข่มาเจียว”
เสียงสะท้อนของ เรืองวิทย์ ทองไพร คนขับแท็กซี่ชาวร้อยเอ็ดที่มาจอดรอผู้โดยสารตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ เพื่อหวังรายได้จากลูกค้าสักคนที่จะนำไปต่อชีวิตด้วยไข่เจียวราคาประหยัด วันนี้เขาระบายความคับแค้นใจที่ต้องเจอกับปัญหาผู้โดยสารลดหาย เพราะพิษโควิด-19 เรืองวิทย์ระบายออกมาอย่างสิ้นหวังว่า งวดนี้มีแต่ตายกับตายเท่านั้น
“ทุกวันนี้ลองทำทุกอย่างแล้ว ไปสมัครงานเป็นคนขับรถในโรงงาน ช่วงนี้เขาก็ไม่รับคน แอปพลิเคชันแกร็บ (Grab) ก็เปิดแล้ว ทำหมดทุกอย่างแล้วแต่ก็ยังไม่มีลูกค้าอยู่ดี จะกลับไปบ้านนอกก็ไม่มีอะไรทำ เงินลงทุนเราก็ไม่เหลือแล้ว มันยากไปหมด
“ไม่ออกมาขับแท็กซี่ก็ไม่ได้ ออกมาอย่างน้อยก็ยังมีโอกาสได้เจอลูกค้า แต่ถ้าไม่ออกมาคือไม่มีรายได้เลย แล้วจะเอาเงินที่ไหนจ่ายค่าเช่ารถ ค่าเช่าบ้าน ค่าเลี้ยงดูครอบครัว”
ทุกวันนี้ เรืองวิทย์ก็ยังต้องกัดฟันสู้ ออกมาเผชิญหน้ากับบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยเชื้อไวรัสตั้งแต่เช้ามืดจดค่ำ ด้วยการต่อแถวคิวแท็กซี่ยาวเหยียดนับกิโลที่เฝ้าคอยให้ผู้โดยสารสักคนเดินมาขึ้นรถ โดยที่ไม่รู้เลยว่าโชคจะเข้าข้างหรือไม่
สุรัต ถาวรนิวัตน์
พนักงานเดินตั๋วรถไฟ
“กลัวอยู่แล้ว ไม่กลัวได้ไง ผ่านทั้งจังหวัดสีส้ม สีเหลือง สีแดง แต่ทำยังไงได้ มันเป็นงาน ก็ต้องป้องกันตัวเอง ใส่ถุงมือ ใส่แมสก์ ต้องวัดผู้โดยสารทุกคน เป็นการป้องกันทั้งเขาและเรา โชคดีที่ทางการรถไฟเขาจัดหาอุปกรณ์มาให้ ก็ช่วยเราได้ระดับหนึ่ง”
ความกังวลจาก สุรัต ถาวรนิวัตน์ พนักงานเดินตั๋วรถไฟ ขบวนแล้วขบวนเล่าที่ผ่านหลายจังหวัดทั้งปลอดภัย ทั้งสุ่มเสี่ยง ทำให้เขาต้องดูแลตัวเองให้ปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการป้องกันตัวเองและตรวจสอบผู้โดยสารทุกคนอย่างจริงจังและเข้มงวด
“เรามีอาชีพเดียว เช้าไปเย็นกลับ ก่อนเข้าบ้านก็ต้องรีบอาบน้ำเลย ให้ครอบครัวสบายใจ เราไม่อยากพาเชื้อโรคเข้าไปเสี่ยงเขา”
การรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังจะมีมาตรการงดเดินขบวนรถท่องเที่ยว และขบวนรถเชิงพาณิชย์ นั่นหมายความว่าค่าเบี้ยเลี้ยงในแต่ละเที่ยวของพนักงานรถไฟก็จะลดลงตามไปด้วย คงต้องมาดูกันว่ารายได้ที่หายลงไปนั้นจะกระทบต่อสุรัตและพนักงานรถไฟคนอื่นๆ หรือไม่
นุสรา ชมภูนุช
กระเป๋ารถเมล์สาย 29 หัวลำโพง-ธรรมศาสตร์รังสิต
“ถ้าเหตุการณ์ปกติ อย่างช่วงที่เศรษฐกิจแย่ๆ ขาหนึ่งก็ยังขายตั๋วได้ 50-60 ใบ เสียค่าชาร์จสามร้อยบาท ก็ยังเหลือนิดหน่อยกลับมาบ้าง แต่ตอนนี้รอบหนึ่งขายตั๋วได้สิบกว่าใบ แล้วรอบชาร์จรอบหนึ่งก็ล่อไปสามร้อยกว่าบาทแล้ว
นุสรา ชมภูนุช กระเป๋ารถเมล์สาย 29 หัวลําโพง-ธรรมศาสตร์รังสิต เล่าถึงหัวอกกระเป๋ารถเมล์ ในวันที่ไม่ต้องเบียดเสียดกับผู้คนที่ยืนห้อยโหนบนรถอีกต่อไป นั่นไม่ใช่สิ่งที่ตัวเธอยินดีแม้แต่น้อย เพราะหมายถึงความไม่มั่นคงทางอาชีพที่กำลังจะตามมาในอนาคต
“นอกจากค่ากินอยู่ ก็ไม่มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเลย เรื่องภาระหนี้สินไม่ต้องพูดถึง เอาแค่ได้ซื้อข้าวกินก็พอแล้ว ต่อไปถ้ารถเสียก็ไม่รู้เหมือนกันว่าต้องทำยังไง เราเป็นรถร่วมบริการก็จะไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐเท่าที่ควร จะกู้เงินมาโปะตรงนั้นตรงนี้ก็ไม่อยากทำ เดี๋ยวมันเป็นดินพอกหางหมู”
นอกจากความกังวลใจว่าจะนำรายได้จากไหนมาประคองอาชีพกระเป๋ารถเมล์ และจุนเจือปากท้อง ปัจจุบันเธอยังต้องเผชิญกับความกลัวระหว่างส่งตั๋วและรับเงินผู้โดยสาร ซึ่งเธอบอกว่า ไม่เคยรู้สึกอุ่นใจเลยสักครั้ง
“สิ่งที่พอทำได้คือ ทำให้มั่นใจว่าร่างกายเราสะอาดพอ ใส่หน้ากาก ล้างมือ แต่ลึกๆ แล้วทุกวันนี้ก็ไม่เคยมั่นใจได้เลยว่าตัวเองจะไม่ติดเชื้อเวลาเจอผู้คน”
เหมือนเป็นเรื่องตลกร้าย ที่ในวันนี้หลายคนกลับไม่ได้ยินดีเมื่อเห็นท้องถนนที่โล่งและผู้คนไม่แออัดยัดเยียด การมาหัวลำโพงในครั้งนี้คือการได้เห็นผู้คนที่เดินทางมาหลายร้อยกิโลเมตรกำลังถูกพิษโควิด-19 บังคับให้หยุดอยู่กับที่ และใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวังที่ริบหรี่ลงทุกวัน
ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีผู้โดยสารจากสถานีขนส่งหายไปกว่า 60-70% โดยพบว่ามีปริมาณผู้โดยสารเดินทางเฉลี่ยที่ 30,000 คนต่อวัน จากเดิมมีปริมาณเดินทางเฉลี่ยอยู่ที่ 80,000 คนต่อวัน ส่วนยอดคืนตั๋วการเดินทางก็มีมาต่อเนื่อง ขาดทุนกว่า 43 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งมวลชนขาดทุนรวมกว่า 500 ล้านบาท
และแน่นอนว่าพนักงานขนส่งสาธารณะที่อยู่ปลายสายของเม็ดเงิน คือผู้ถูกกระทำมากที่สุดในช่วงเวลานี้
ความหวังว่าจะมีลูกค้า ความหวังว่าจะมีรายได้ ความหวังว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไป คือแรงผลักดันที่ทำให้เขาตัดสินใจลุกออกจากบ้าน ยอมพาตัวเองมาอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยง ด้วยความหวังว่า วันนี้ฉันจะมีเงินซื้อข้าวกินสักมื้อเพียงเท่านั้น