เมื่อกล่าวถึงแรงงานพม่า เรานึกถึงอะไรเป็นอย่างแรก? พนักงานเสิร์ฟตามร้านอาหารที่พูดไทยไม่ชัด คนงานตามโรงงาน ข่าวยาเสพติดและความรุนแรง หรือตัวตนคนที่ถูกเรียกด้วยคำว่า ‘แรงงานพม่า’?

The Road to Mandalay เป็นผลงานเรื่องล่าสุดของมิดี ซี (Midi Z) ผู้กำกับไฟแรงชาวพม่าที่น่าจับตาที่สุดคนหนึ่งของแวดวงภาพยนตร์โลก แม้ปัจจุบันจะพำนักและถือสัญชาติไต้หวันแล้ว แต่เขาก็ยังย้อนกลับไปสำรวจความลำเค็ญของชีวิตคนพม่าอยู่เรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากหนังฟิกชันและสารคดีหลายเรื่องของเขา ไม่ว่าจะเป็น Return to Burma (2011), Ice Poison (2014) หรือ City of Jade (2016)

สำหรับหนทางที่ชาวพม่าใช้หนีความยากจนนั้น ซีเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 ทาง “ทางแรกคือเป็นคนลักลอบค้ายาเสพติด อีกทางคือไปทำงานอยู่ในเหมืองหยก ส่วนทางที่สามคือลักลอบเข้าไปในประเทศอื่น”

และคราวนี้ ซีหยิบเอาชีวิตชาวพม่าที่ลักลอบเข้ามาหางานในไทยมาเล่า หนังติดตามเลี่ยนชิง (อู๋เค่อซี – นักแสดงสาวคู่บุญของซี) หญิงสาวชาวพม่าเชื้อสายจีนจากเมืองล่าเสี้ยว (Lashio – เมืองในรัฐฉาน อันเป็นเมืองที่ซีเติบโตมา) ที่ลักลอบข้ามพรมแดนเข้ามาในไทยเพื่อหาโอกาสสร้างชีวิตที่ดีกว่าในกรุงเทพฯ ระหว่างทางเธอได้พบกับอากู่ (เคอเจิ้นตง ที่พลิกบทบาทจากหนุ่มหน้าใสใน You Are the Apple of My Eye จนแทบจำไม่ได้) ผู้พยายามสานสัมพันธ์กับเธอและต่อมาได้ชักชวนให้เธอเลิกทำงานล้างจานในกรุงเทพฯ เพื่อไปทำงานในโรงงานทอผ้าด้วยกัน อากู่ต้องการเก็บหอมรอมริบเพื่อสักวันจะได้กลับพม่า แต่เลี่ยนชิงทะเยอทะยานกว่านั้น เธอไม่ได้มองกรุงเทพฯ เป็นปลายทางความฝัน แต่เป็นบันไดไต่ไปหาโอกาสที่คิดว่าดีกว่าในไต้หวัน

ตลอดทั้งเรื่อง คนดูจึงได้เห็นเลี่ยนชิงดิ้นรนไขว่คว้าฝัน ตั้งแต่ควักเงินจำนวนมากจ่ายค่าลักลอบเข้าไทย ไปสมัครงานดีๆ ในกรุงเทพฯ เดินทางไปทำใบอนุญาตทำงานจนถึงบัตรประชาชนปลอม ซึ่งระหว่างการดิ้นรนของเธอนี้เองที่เราได้เห็นความฝันของเธอถูกขยี้ลงครั้งแล้วครั้งเล่า

The Road to Mandalay จึงเป็นชื่อหลอก เพราะไม่มีมัณฑะเลย์ในหนัง และเราไม่เคยได้เห็นหนทางใดที่ทอดยาวไปมัณฑะเลย์ นอกเสียจากวังวนคดเคี้ยวของการคอร์รัปชั่นและหนทางฝันสลายที่ทอดตัวอยู่แต่ในประเทศไทย

การดูหนังเรื่องนี้ในฐานะคนไทยจึงอาจสร้างความกระอักกระอ่วนได้ไม่น้อย จากการได้เห็นความยากลำบากของชีวิตแรงงานพม่าในไทยอย่างตรงไปตรงมา หนังชูให้ชาวพม่าผู้เป็นเสมือนคนนอกในสังคมไทยกลายมาเป็นเสียงเล่าหลักของเรื่อง และผลักให้คนไทยกลายไปเป็น ‘คนนอก’ แม้ตลอดทั้งเรื่องจะเกิดขึ้นบนแผ่นดินไทยก็ตาม คนไทยที่เราเห็นจึงมีแต่นายจ้างผู้เอารัดเอาเปรียบ ข้าราชการ ตำรวจ หรือทหารที่ได้ประโยชน์จากระบบที่กดขี่ชาวพม่า หนังจึงบอกเล่าความเป็นจริงในชีวิตชาวพม่าได้อย่างน่าสิ้นหวัง พอๆ กับที่มันวิพากษ์สังคมไทยได้อย่างเจ็บแสบ

หนังชูคำถามมากมายไว้รายทาง แต่แน่นอนว่ามันไม่ได้ใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงในการไล่ตอบว่า แล้วเราควรแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายอย่างไร (ถ้ามันมีคำตอบที่ง่ายดายขนาดตอบได้ในหนังเรื่องเดียวน่ะนะ) แต่ดูเหมือนว่าขั้นแรกสุดอาจเป็นการตระหนักว่าต้นตอที่แท้จริงของปัญหาอยู่ตรงไหนบ้าง และเริ่มมองแรงงานพม่าในฐานะที่เป็นคนไม่ต่างจากเรา

สำหรับเลี่ยนชิง เอกสารต่างๆ ที่เธอและอากู่วิ่งโร่ทำตลอดทั้งเรื่องอาจดำรงสถานะใบเบิกทางฝันสู่อนาคตที่ดีกว่า แต่การดิ้นรนครั้งแล้วครั้งเล่าของพวกเขากลับแสดงให้เห็นว่ามันยังเป็นเสมือนเอกสารยืนยันความเป็นมนุษย์ในตัวพวกเขาด้วย ราวกับว่าหากไม่มีเอกสาร พวกเขาจะเป็นได้เพียงสิ่งมีชีวิตในซอกหลืบ และถูกคุกคามได้ทุกเมื่อ แต่ด้วยการที่หนังหยิบเอาชีวิตแรงงานพม่ามาเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง พวกเขาจึงถูกจดจ้องในฐานะมนุษย์ที่มีความคิด ความรู้สึก และความฝัน พูดอีกอย่างก็คือ ความเป็นมนุษย์ของพวกเขาที่ถูกแสดงออกมาในหนังนั้นไม่ต้องรอให้มีเอกสารใดมารองรับยืนยัน คนดูก็สามารถรู้สึกร่วมไปกับโชคชะตาของพวกเขาได้

นอกจากนี้ เมื่อหนังเลือกแสดงภาพชีวิตของชาวพม่าเชื้อสายจีนที่พูดภาษาจีนเป็นหลัก (เหมือนกับตัวซีเอง) หนังจึงทลายภาพจำเดิมๆ ที่คนไทยมีต่อแรงงานพม่าว่าต้องมีหน้าตาประมาณไหน พร้อมๆ กับเผยให้เห็นถึงความซับซ้อนหลากหลายทางเชื้อชาติที่มีอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเราอาจละเลยหรือไม่เคยล่วงรู้มาก่อน

The Road to Mandalay มีความประณีตทางภาพยนตร์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับผลงานที่ผ่านมาของซี อาจเพราะได้รับทุนสนับสนุนจากทั้งไต้หวัน ฝรั่งเศส เยอรมนี และพม่า แต่ถึงอย่างไร ลักษณะภาพที่ขับเน้นความสมจริงดิบเถื่อนอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาก็ยังโดดเด่นอยู่ในผลงานเรื่องนี้ ด้วยการแช่ภาพแน่นิ่งอยู่กับความเป็นจริงอันโหดร้าย หนังสะสมความสิ้นหวังไปจนระเบิดออกเป็นโศกนาฏกรรมชวนช็อกท้ายเรื่อง
ผู้เขียนไม่อาจบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ปลายทางเรื่องราวของเลี่ยนชิงและอากู่ นอกจากชื่นชมในความกล้าหาญของซีที่จบหนังเรื่องนี้ได้อย่างท้าทายและร้ายกาจ ที่บอกว่าท้าทายเพราะสุดท้ายเราต้องเป็นฝ่ายเลือกว่าจะนิยามโศกนาฏกรรมนี้ผ่านมุมมองไหน ในทางหนึ่งเราอาจมองมันให้สอดคล้องไปกับพาดหัวข่าวความรุนแรงของแรงงานพม่าที่เคยได้ยินกันบ่อยๆ
แต่ในอีกทางเราอาจเลือกมองมันในฐานะโศกนาฏกรรมของความรักและความฝันอันไม่สมหวังที่มีความน่าเจ็บปวดครบถ้วนในตัวมันเอง

FACT BOX:

  • The Road to Mandalay ฉายเปิดตัวครั้งแรกที่เทศกาลหนังเมืองเวนิสปีที่แล้ว คว้ารางวัล Fedeora Award for Best Film ไปครอง รวมทั้งได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลม้าทองคำของไต้หวันถึง 6 รางวัล (รวมทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) ในขณะที่ตัวมิดี ซี คว้าตำแหน่งคนทำหนังไต้หวันดีเด่นแห่งปี
  • The Road to Mandalay ไม่ได้เข้าฉายทั่วไปในประเทศไทย แต่ได้รับเลือกให้เป็นหนังฉายปิดเทศกาล SAC ASEAN Film Festival 2017 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อวันที่ 19-23 สิงหาคมที่ผ่านมา
Tags: , , , , , ,