แม้ว่าพรรคก้าวไกลได้ ส.ส.มากที่สุดด้วยจำนวน 151 เสียง และพรรคก้าวไกลเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว พร้อมกับฟอร์มรัฐบาลเรียบร้อย รวมเสียงได้กว่า 312 เสียง แต่เส้นทางต่อไปก็ไม่ง่าย ยังคงเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามนานาชนิด

เพราะสิ่งสำคัญคือกลไกจากรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างกฎหมายและบรรดาองค์กรอิสระต่างๆ ยังคงทำงานอยู่ เพราะสิ่งสำคัญคือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการเลือกนายกรัฐมนตรี และเพราะสิ่งสำคัญคือเสียงที่ใกล้กันมาก ก้ำกึ่งกับพรรคเพื่อไทย จะทำให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมีรอยร้าวได้ตลอดเวลา

แล้วหลังจากนี้ พิธาจะต้องเจออะไรบ้าง The Momentum รวบรวมไว้ได้ดังนี้

1. กกต.รับรอง ส.ส. ยื่นเรื่อง ‘หุ้น itv’ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

เรื่องหุ้นไอทีวี (itv) ของพิธานั้น ถูกตรวจสอบโดย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในห้วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง โดยเป็นการตรวจสอบว่า หากพิธาถือหุ้นกิจการสื่อมวลชนอย่างไอทีวี 4.2 หมื่นหุ้น อาจเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ตามที่มีการระบุไว้ในมาตรา 98 (3) ว่าด้วยคุณสมบัติที่ห้ามลงสมัคร ส.ส. โดยระบุว่า “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ”

ว่ากันว่า มีการวาง ‘จังหวะเวลา’ ไว้เป็นอย่างดี โดยเรืองไกรเลือกปล่อยข้อมูลในช่วงท้าย ก่อนการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน เพื่อให้พ้นจากอำนาจการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยรอให้พิธาได้รับเลือกเป็น ส.ส.ก่อน แล้วรอดูว่า กกต.จะรับเรื่องหรือไม่ หาก กกต.รับเรื่อง จะส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญทันทีเลยไหม และหากส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินใจ ‘แขวน’ พิธาไปพลางๆ ก่อนหรืออย่างไร

พิธาเคยชี้แจงเรื่องนี้ว่า หุ้นไอทีวีเป็นมรดกที่ได้มาจากพ่อ และไม่สามารถโอนออกมาได้ เนื่องจากกิจการอยู่ระหว่างเป็นคดีความ โดยเขาเองเคยแจ้ง กกต.ไปแล้วขณะเป็น ส.ส.สมัยที่ผ่านมา ก็ไม่มีปัญหาใดๆ ขณะเดียวกัน ทีมกฎหมายของพรรคก้าวไกลก็ยืนยันว่า ก่อนหน้านี้เคยมีบรรทัดฐานแล้วว่ากิจการใดเป็นสื่อ หรือไม่ได้เป็นสื่อ และศาลฎีกาก็ยังวินิจฉัยเป็นคุณกับผู้ถูกร้องเรื่องนี้หลายครั้ง ก่อนหน้าจะเกิดกรณีพิธา

จริงอยู่ เรื่องดังกล่าวเป็น ‘เรื่องตลก’ ในสายตาประชาชนทั่วไป ไอทีวีปิดกิจการมาแล้วกว่า 16 ปี แต่หากมองให้ลึก ก็ดูเหมือนมีการวางงาน เมื่อมีผู้ไปยกมือถามในการประชุมผู้ถือหุ้นว่าไอทีวียังประกอบกิจการสื่ออยู่หรือไม่ แล้วผู้บริหารไอทีวีตอบว่า ‘ยังดำเนินการอยู่ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท’ อีกทั้งยังมีการยื่นงบการเงิน–ผลประกอบการอยู่

หลายครั้ง ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์ว่า ตัดสินตามบรรยากาศของสังคมในห้วงเวลานั้นๆ และตัดสินตามใบสั่ง จนเกิดคำวินิจฉัยแปลกๆ ออกมามาก ครั้งนี้จึงต้องจับตาดูว่า ถ้าพิธาตกม้าตายด้วยเรื่องถือหุ้นสื่อ จะเกิดอะไรขึ้น

2. ลุ้นพรรคร่วมรัฐบาลรวมเสียงเลือกประธานสภาฯ

ขั้นแรกหลังจาก กกต.รับรองผลเลือกตั้ง และ ส.ส.​อย่างเป็นทางการ ก็คือต้องเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรในระยะเวลา 15 วัน โดย ณ วันนี้ ยังไม่ทันทำอะไรก็เริ่มมีปัญหา พรรคเพื่อไทย 141 เสียง บริภาษไปยังพรรคก้าวไกล 151 เสียง ว่าไม่ควร ‘กินรวบ’ ตำแหน่งประธานสภาฯ และหากพรรคก้าวไกลให้ตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารกับพิธาไปแล้ว ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติก็ควรให้กับพรรคเพื่อไทยบ้าง

ฟากพรรคก้าวไกลโต้กลับด้วยเหตุผลเรื่องกลไกสภาฯ ที่พรรคเตรียมร่างกฎหมายไว้แล้วกว่า 45 ฉบับ และหากประธานสภาฯ เป็นคนของพรรคอื่น การเสนอกฎหมายเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาอาจเป็นไปได้ยากขึ้น ขณะเดียวกัน ในระยะไม่กี่ปีนี้ ก็ไม่เคยปรากฏว่าพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งไม่ได้รับตำแหน่งประธานสภาฯ มีแค่เพียงปี 2562 เท่านั้น ที่พรรคประชาธิปัตย์ต่อรองจนได้ ชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ สำเร็จ เพราะพรรครัฐบาลหลักต้องการเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก

การตอบโต้ไป-มาเรื่องประธานสภาฯ ทำให้มีเสียงขู่จากแฟนคลับพรรคเพื่อไทย ขอให้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลก้าวไกล หรือเสียงจาก อดิศร เพียงเกษ ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ขู่ถึงขั้นให้ ‘ฟรีโหวต’ กรณีนี้ เพื่อมาลุ้นกันว่าประธานสภาฯ จากก้าวไกลหรือเพื่อไทย จะได้คะแนนเสียงมากกว่า

เป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่สวยงามเสียเลยสำหรับรัฐบาลผสม 8 พรรคนี้

3. จับตาศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่อง และ ‘แขวน’ พิธาหรือไม่

หลายครั้งที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินใจเป็นมาตรฐานในการ ‘แขวน’ กรณีที่มีเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นต้นว่ากรณีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ถือหุ้นสื่อ หรือกรณีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี หรือไม่ ทั้งสองล้วนถูกแขวนเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยทั้งสิ้น

ข้อนี้น่าสนใจตรงที่ว่า หากรับเรื่องและแขวนพิธา ก็จะเป็นปมกดดันในช่วงเวลาที่สภาฯ ต้องเลือกนายกฯ โดยหากนายกฯ ถูกแขวน หรือนายกฯ กำลังถูกร้องเรียนเรื่องถือหุ้นสื่อ มีสิทธิที่จะถูกตัดสิทธิ โมเมนตัมอาจเปลี่ยนไปอีกทิศทางหนึ่ง

4. รวมเสียงในสภาให้เกิน 376 เสียง

โจทย์ยากอีกข้อที่ทำให้วันนี้ยังไม่มีใครมั่นใจ 100% ว่าพิธาจะเป็นนายกฯ คนต่อไป ก็คือตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 การจะขึ้นนั่งตำแหน่งนายกฯ ได้ จำต้องมีเสียงเกิน ‘กึ่งหนึ่ง’ ของรัฐสภา นั่นคือ ส.ส.และ ส.ว.ต้องรวมกันได้เกิน 376 เสียง

หากพรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถรวมเสียง ส.ส.ได้เกินจำนวนดังกล่าว เพื่อ ‘ปิดสวิตช์ ส.ว.’ ก็จำต้องวิ่งหาเสียง ส.ส.อีกอย่างน้อย 64 เสียง โดยวันนี้มี ส.ว.ราว 20 เสียงเท่านั้น ที่รับปากว่าจะโหวตให้พิธา และมี ส.ว.อย่าง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ และกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ที่ยืนยันว่าจะไม่โหวตให้ ส่วนอีกจำนวนมากยังไม่แสดงท่าที

หลายคนคาดการณ์ว่า โฉมหน้าของพิธานั้นอันตรายเกินไป เกินกว่าจะให้เป็นนายกฯ คนที่ 30 อีกทั้งพรรคก้าวไกลยังมีข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ ส.ว.เกรงกลัว บางส่วนคาดการณ์ไปถึงฉากทัศน์ที่เสียงสนับสนุนพิธาไม่ถึง 376 เสียง จนก้าวไกลตัดสินใจยอมแพ้ ต้องเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยมาให้รัฐสภาโหวตแทน

กระนั้นเอง ในทางกลับกัน พรรคก้าวไกลยังคงพยายามอย่างยิ่งยวดในการ ‘วิ่ง’ ทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ทุกเครือข่ายชนชั้นนำ เพื่อโน้มน้าว ส.ว.ให้มากที่สุด ซึ่ง ณ วันนี้ไปจนถึงวันโหวตนายกฯ ยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก

5. ศาลรัฐธรรมนูญอาจตัดสิทธิ ‘พิธา’ ในฐานะ ส.ส.-นายกฯ

คำถามสำคัญคือ หากเรื่องของพิธาวิ่งไปถึงศาลรัฐธรรมนูญจริงจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เอาเข้าจริงเรื่องของพรรคก้าวไกล-พรรคอนาคตใหม่ หลายเรื่องที่เข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญและนำไปสู่ข้อวินิจฉัยนั้นเต็มไปด้วยข้อกังขา ไม่ว่าจะเป็นการตัดสิทธิธนาธรไม่ให้เป็น ส.ส. เพราะเป็นเจ้าของแมกาซีนที่ปิดตัวไปแล้ว หรือการรับเรื่อง ‘อิลลูมินาติ’ ของพรรคอนาคตใหม่ไว้วินิจฉัย และถึงที่สุดก็คือการตัดสิน ‘ยุบพรรค’ อนาคตใหม่ ด้วยเหตุที่พรรคกู้เงินจากธนาธร จนสังคมเชื่อว่ามีกระบวนการ ‘นิติสงคราม’ ในการจัดการกับพรรค

ด้วยเหตุนี้ หากบรรดา ‘อำนาจเก่า’ เห็นว่าพิธาอันตรายเกินไป พวกเขาสามารถตกลงกับพรรคอื่นๆ ได้มากกว่า หรือพวกเขาพยายามพลิกขั้วกลับมามีอำนาจเองก็อาจเล่นเกมนี้

แต่แน่นอน นี่เป็นเกมที่อันตราย เพราะต้องไม่ลืมว่า ‘พิธาฟีเวอร์’ ยังคงอยู่ และ 14 ล้านเสียงที่เลือกพรรคนี้ ก็เห็นหน้าชัดๆ เป็นตัวเป็นตน พื้นที่อย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก้าวไกล ‘เกือบ’ แลนด์สไลด์ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ก่อนจะเดินไปถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ก็ต้องเริ่มจากกระบวนการกล่อมเกลาสังคม กระบวนการดิสเครดิต เพื่อโน้มน้าวสังคมให้เข้าใจว่าทำไมพวกเขาต้องเลือกเส้นทางนี้

6. ศาลรัฐธรรมนูญอาจตัดสิทธิ ส.ส. 151 คน ของพรรคก้าวไกล

เอาเข้าจริง ฉากทัศน์นี้ค่อนข้างจะสุดโต่ง และยังคงเป็นไปได้ยาก ทว่าเรืองไกร (หรือผู้ที่อยู่ข้างหลังเรืองไกร) ได้หงายไพ่นี้ออกมา โดยให้เหตุผลว่า ข้อบังคับพรรคก้าวไกลระบุว่า เมื่อพิธามี ‘ลักษณะต้องห้าม’ แต่ยังใช้อำนาจในฐานะหัวหน้าพรรคลงนามรับรองผู้สมัคร ส.ส. ก็อาจเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ทว่าหากใช้สายตาของบรรดาผู้เสียผลประโยชน์ เอาง่ายๆ อย่างการ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ‘ยกเลิกเกณฑ์ทหาร’ หรือการ ‘ชน’ กับทุนผูกขาด และอาจเริ่มนโยบายบางประการแล้ว เห็นว่าก้าวไกลเจรจาต่อรองไม่ได้ ไพ่ใบนี้ก็อาจถูกหยิบขึ้นมา

ต้องไม่ลืมว่า วันที่พรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสินยุบพรรคนั้น ก็มีอายุไม่ถึง 2 ปี และได้รับความนิยมในระดับที่มี ส.ส. 82 คน มีผู้ที่ลงคะแนนเลือกมากกว่า 6 ล้านเสียงเช่นกัน ทว่าข้อวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ก็มีน้อยคนที่จะคล้อยตาม คนในสังคมจำนวนไม่น้อยเห็นว่า เหตุผลที่ยุบพรรคไม่ใช่การที่ธนาธรให้พรรคกู้เงิน หากแต่เป็นการที่พรรคอนาคตใหม่โหวต ‘ไม่รับ’ พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์

แต่เมื่อกระแสลมไปในทิศทางนี้ ยิ่งทุบก็ยิ่งโต พรรคก้าวไกล มีคะแนนเสียง 14 ล้านเสียง และ ส.ส. 151 คน หากเล่นเกมนิติสงคราม ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคก้าวไกลอาจมีคะแนนเสียงในระดับ 200 เสียง กลายเป็นพรรคใหญ่เลยก็ได้

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าบรรดาชนชั้นนำ บรรดาอำนาจเก่าจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะสร้างรั้วกั้น จะหาทางประนีประนอม หรือจะทำใจยอมรับ

เป็นกระบวนการที่จะได้รู้กันในเร็ววันนี้

Tags: , , , , ,