“กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคที่มีประชาชน 6.3 ล้านคนเลือกเข้ามา แต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ 7 ท่านยุบไปครับ” นั่นคือคำกล่าวแนะนำตัว ก่อนเขาจะเริ่มต้นบรรเลงอภิปรายไม่ไว้วางใจการบริหาร โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทิม – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามถึงวิสัยทัศน์ ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ซึ่งแฝงอยู่ในทุกแผนงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตลอดระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ (ขึ้นปีที่ 6) ถึงแม้ GDP ยังคงเติบโต และประเทศยังคงเดินไปข้างหน้าได้บ้าง แต่ข้อมูลชี้ว่าความเหลื่อมล้ำกำลังถ่างช่องว่างระหว่างคนรวย 1 เปอร์เซนต์ และคนที่เหลืออีก 99 เปอร์เซนต์ ให้ออกกว้างขึ้น 

จึงนำไปสู่คำถามที่ตามมาว่า ‘ใครมั่นคง ใครมั่งคั่ง และใครยั่งยืน’

เขากล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันอาจแย่กว่าทั้งสมัยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ น้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554 รวมถึงวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีบ้านเกิดให้กลับไปแล้ว เขาชี้ว่าตอนนี้สภาพเศรษฐกิจไทย ‘แข็งบนอ่อนล่าง’ โดยเขาได้ยกข้อมูลอัตราการเติบโตของ GDP ภาคเกษตรระหว่างปี 2540 และปัจจุบันขึ้นมาเทียบกัน ซึ่งในปี 2540 GDP ขณะที่เรากำลังประสบวิกฤตต้มยำกุ้ง ภาคเกษตรเรายังเติบโตถึงร้อยละ 13 ต่อปี ขณะที่ในปัจจุบันเติบโตน้อยกว่าร้อยละ 2 ต่อปี

เขายังยกข้อมูลการขอใช้สิทธิประกันสังคมของคนว่างงานที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ รวมถึงดัชนีชี้วัดความมั่นใจของผู้บริโภคที่ต่ำที่สุดในรอบ 68 เดือน

พิธาไม่ได้แย้งว่าโครงการเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จะนำไปสู่การลงทุนและเม็ดเงินมหาศาล เขาเพียงตั้งคำถามว่าความมั่งคั่งที่เกิดจะตกอยู่ในมือใคร ก่อนจะยกข้อมูลที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวทั้งฟอร์บส์ นิเคอิ เอเชียไทส์ ซึ่งรายงานผลตรงกันว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา 5 ตระกูลเจ้าสัวไทยมีมู,ค่าทรัพย์สินรวมกันเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของงบประมาณแผ่นดิน

ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในมือคนเพียง 1 เปอร์เซนต์ และนโยบายของรัฐบาลประยุทธ์ก็เป็นนโยบายของนายทุน โดยนายทุน และเพื่อนายทุน

พิธาตั้งคำถามถึงความยั่งยืนที่รัฐบาลพยายามส่งเสริม ก่อนยกตัวอย่าง การนำเข้าขยะที่เพิ่มมากขึ้นถึง 850 เปอร์เซนต์ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา การสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยและส่งเสริมตั้งโรงงานน้ำตาลทางภาคอีสานอันเป็นต้นตอของฝุ่น PM2.5 รวมถึงการทำเหมืองแร่ที่เพิ่มมากขึ้นจาก พ.ร.บ.เหมือแร่ 2560 ที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืน ไม่บังคับให้เหมืองแร่ที่ต่ำกว่า 100 ไร่ ต้องทำ EIA

พิธาสรุปว่าประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคม ถึงจะทำให้ประเทศยังมีความหวังและไปต่อไปได้ ต้องทลายทุนผูกขาดเพื่อกระจายความมั่งคั่งออกอย่างเท่าเทียม ก่อนเขาทิ้งท้ายถึง พล.อ.ประยุทธ์ว่า “ถ้าอยู่ต่ออีกหนึ่งวันก็สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มอีกหนึ่งวัน ถ้าอยู่ต่อไปนานก็จะสร้างความเสียหายให้ประเทศไม่สิ้นสุด ผมจึงไม่สามารถไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแม้แต่อีกวันเดียว”

ทั้งนี้ เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ในช่วงต้นของการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เลขธิการพรรคเพื่อไทย และตัวแทนพรรคฝ่ายค้านได้ยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งหมด 6 คน ได้แก่ 

  1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  2. พล.อ.ประวิตร วงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
  3. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
  4. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  5. ดอน ปรมัตรวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ.
  6. ร.อ.พรหมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์

สมพงษ์ ได้เปิดประเด็นถึงความล้มเหลว 5 ข้อของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้แก่ ล้มเหลวในการสร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย, ล้มเหลวในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ,  ล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ, ล้มเหลวในการปราบปรามการคอรัปชัน และล้มเหลวในภาวะความเป็นผู้นำ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลุกขึ้นมาโต้ตอบในรอบแรกว่า ตัวผมและทุกท่านที่มานั่งในสภาวันนี้ก็ด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับเดียวกัน ประชาชนเป็นผู้เลือกเข้ามา และก็ได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งโดยไม่ใช้เสียงสมาชิกวุฒิสภาเลย นอกจากนี้ สิ่งที่ยกมาพูดทั้งหมดก็ไม่ใช่ ‘ความจริงโดยสมบูรณ์’

ทั้งนี้ ประยุทธ์ยังกล่าวถึงเหตุผลที่ทำการยึดอำนาจในปี 2557 ว่า เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ นปช. และความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้จำเป็นต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ เขากล่าวทิ้งท้ายว่า “ท่านจะยอมให้ประเทศเป็นอย่างนั้นต่อไปหรือ นั่นคือเหตุผลให้ผมเข้ามา” 

ต่อมา ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เริ่มเปิดอภิปรายว่านายกฯ มีสถานะร่ำรวยผิดปกติ และไม่โปร่งใสที่จะยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ โดยจากการยื่นบัญชีทรัพย์สินนายกฯ มีทรัพย์สินทั้งชีวิตตั้งแต่เป็นทหาร 128,664,535.40 บาท แต่ช่องรายจ่ายกลับมีถึง 466,499,594.52 บาท

ยุทธพงศ์ อ้างถึงที่ดินพื้นที่ 5 ไร่ของครอบครัวนายกฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยุทธพงศ์เรียกว่า ‘บ่อตกปลา’ นอกจากนี้ยังเป็นที่ดินในพื้นที่สีเขียว แต่กลับมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ 69 Property มารับซื้อกว่า 600 ล้าน ทั้งนี้ นับจากวันที่ซื้อที่ดินบริษัทดังกล่าวเพิ่งเปิดตัวมาได้เพียง 7 วันเท่านั้น

ยุทธพงษ์ กล่าวต่อในประเด็นที่สอง ถึงความสัมพันธ์กับบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (NCC) ซึ่งเป็นทุนใหญ่ที่ได้รับสัมปทานก่อสร้างศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ อย่างไรก็ตาม ตามสัญญาที่ระบุไว้ บริษัทดังกล่าวทำสัญญาว่าจะสร้างโรงแรมหรู แต่กลับไม่ได้ทำตามสัญญา 

ในเวลาต่อมา รัฐบาลได้ต่อสัญญาสัมปทานให้บริษัทดังกล่าวอีกกว่า 50 ปี เพื่อดำเนินโครงการ New CBD หรือโครงการพื้นที่สำหรับนักธุรกิจบนถนนพระราม 4 ซึ่งประกอบไปด้วย การก่อสร้างศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ สามย่านมิตรทาวน์ วันแบ็งค้อก เดอะพาร์ค (The Parq) ท่ามกลางความเห็นแย้งของหน่วยงานราชการ อย่าง สำนักอัยการสูงสุด และสำนักงบประมาณ ที่เรียกร้องทำการประมูลสัมปทานดังกล่าวอย่างโปร่งใสและเปิดกว้าง เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ

ในประเด็นที่สาม ยุทธพงษ์อภิปรายถึง การแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนต่อขยายแก่บริษัทบีทีเอส จากแต่เดิมที่สัญญาดังกล่าวเหลืออายุสัญญากว่า 10 ปี แต่รัฐบาลกลับต่อสัญญาเพิ่มไปอีก 30 ปี ด้วยการใช้อำนาจของมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช. 3/2562 ให้มีการยกเว้นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 62

ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการฮั้วประมูล หรือการสมยอมในการเสนอราคาเกิดขึ้นในสัญญาฉบับดังกล่าว 

ประเด็นสุดท้ายคือ มีผู้ต้องหาที่เป็นข้าราชการเลื่อนยศ เมื่อปี 2554 มีเรือสินค้าของจีนลำหนึ่งล่องมาบริเวณเชียงแสน สามเหลี่ยมทองคำ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารจะบุกยิงลูกเรือเสียชีวิตจำนวน 13 คน เพราะถูกหลอกว่าเรือสินค้าจีนมียาเสพติด ทั้งนี้ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พ.อ.พิรพงษ์ ช่วยบำรุง ผู้ต้องหาที่หนึ่งในคดีดังกล่าวกลับได้เลื่อนยศและตำแหน่ง จากพันเอก-พันตรี รวมถึงปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งเสนาธิการ

 

 

Tags: , , , ,