“ถ้าใครรู้จักเราจะรู้ว่าเราเป็นฟูดดี้ เป็นคนชอบของอร่อยและจะเลือกกินอาหารที่ชอบจริงๆ เราเลี้ยงตัวเองดีมาก เคยบอกกวิ้นว่า ‘ถ้าจะให้กูทำอะไรเพื่อประท้วง อย่างโกนหัวกูทำได้ แต่กูไม่อดอาหารนะ’”

‘รุ้ง’ – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นิยามตัวเองว่าเป็น ‘ฟูดดี้’ (foodie) หรือคนที่ไม่ได้กินเพียงเพื่ออิ่มท้อง แต่อาหารนับเป็นส่วนสำคัญของชีวิต กล่าวกันว่าเกณฑ์วัดความเป็นฟูดดี้ล้วนอยู่พ้นลำคอขึ้นไป ได้แก่ปากที่แสวงหาของอร่อย สมองที่สะสมรสชาติมหาศาลแล้วแอบจำแนก จัดระเบียบ สร้างคอลเล็กชันของรสชาติตั้งแต่ดีเลิศถึงแย่มากไว้อย่างเงียบๆ และจิตวิญญาณอันเร่าร้อนเมื่อหยั่งถึงทุกสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับอาหาร

รุ้งมีคุณสมบัติทั้งหมดที่ว่ามา ในฐานะฟูดดี้ รุ้งรักอาหารและต้านทานความอร่อยไม่ได้ทว่าในฐานะนักศึกษาผู้ดันเพดานการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยขึ้นสู่จุดสูงสุด ไม่ว่าเธอจะกินอะไร เธอไม่อาจเขี่ยความจริง คำถาม และสภาพปัญหาของสังคมไทยที่แทรกซ่อนมากับอาหารออกไปได้

อาหารในคุกและพาสต้าสูตรฝังใจ

“อาหารเป็นเรื่องใหญ่ในนั้นมาก การพูดถึงอาหารเป็นบทสนทนาปกติ ทุกคนจะนึกถึงอาหารข้างนอก พอมีคนใหม่ๆ เข้ามาก็จะมาเล่าให้คนข้างในฟังว่า เออ มีร้านชานมใหม่นะ มีร้านไก่ทอดใหม่เป็นอย่างงี้ๆ ทุกคนจะนึกถึงอาหาร อยากกินบอนชอน อยากกินปิ้งย่าง อยากกินหมูกระทะจังเลย เป็นเรื่องที่พูดกันได้ทั้งวัน ทุกคนโหยหาอาหารที่ชอบ ที่มันอร่อย”

การปราศรัย ‘19 กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร’ ผลักรุนให้ฟูดดี้อย่างรุ้งได้มากินอาหารในสถานที่ที่เข้ามากินได้ยากอย่างเรือนจำ ในห้องอาหารหลังกำแพงแห่งนี้ รุ้งได้เจอกับพิธีกรรมเล็กๆ น้อยๆ ก่อนกินอาหารที่ไม่เคยเจอมาก่อน

“ข้าพเจ้าจะรับประทานอาหารมื้อนี้เพื่อประทังชีวิต ข้าพเจ้าเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนเองจึงต้องรับผลกรรมนั้น ข้าพเจ้าจะทำความดีและปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง”

ข้อความข้างต้นคือคำปฏิญาณที่ผู้ต้องขังในทัณฑสถานหญิงกลาง หรือจริงๆ แล้วคือทุกเรือนจำทั่วประเทศไทยต้องท่องก่อนการรับประทานอาหารทุกมื้อ หากใครเปล่งเสียงออกมาเบาเกินไป ผู้ช่วยผู้คุมจะขู่ว่าจะไม่ให้กินอาหารมื้อนั้น

รุ้งยังมีพลังใจมากพอจะขัดขืนการสำนึกกรรมนี้ (ที่เธอยืนยันว่าเธอไม่ได้ก่อ) แต่เพื่อนหลายคนถูกความหม่นซึมสิ้นหวังในคุกดูดกลืนแรงขัดขืนหมดสิ้นแล้ว

“เราฟังแล้วมันน่าหดหู่ ช่วงเวลากินข้าวมันควรเป็นช่วงเวลาที่เราน่าจะมีความสุข แต่กลายเป็นฉันต้องกล้ำกลืนกินอาหารที่มีคุณภาพย่ำแย่มื้อนี้ลงไป เพราะว่าฉันทำผิดมา ฉันมีกรรมที่ต้องชดใช้มัน”

‘กรรม’ เป็นเครื่องกำกับคุณภาพชีวิตของคนในคุกที่น่าสนใจ เวลาที่เคลื่อนผ่านในแดนขังนั้นราวกับตั้งใจสอดแทรกบทเรียน ‘ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’ ไว้ทุกวินาที ทว่าสิ่งที่ดูจะตกแต่งผลของกรรมให้ดีขึ้นได้ก็คือ ‘เงิน’

การใช้ชีวิตในคุก เงินจะเริ่มสำแดงความสำคัญตั้งแต่ลืมตาตื่น นั่นคือหากใครมีเงินจะจ้างเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันพับเครื่องนอนได้ด้วยค่าจ้าง 30 บาทต่อสัปดาห์ ในช่วงเวลาอาบน้ำซึ่งผู้ต้องขังต้องคิดคำนวณอย่างตึงเครียดว่าจะใช้เวลาเพียง 30 วินาที และน้ำเพียง 8 ขัน ทำความสะอาดส่วนใดของร่างกายและหากอาบช้าจะเหลือน้ำก้นบ่อที่เต็มไปด้วยขี้ฝุ่น ทว่าจากรายงานของสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (2560) ระบุว่า หากมีเงินการซื้อน้ำอาบก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน1 ต่อจากนั้นคือเวลาซักผ้าซึ่งหากอยากจ้างผู้ต้องขังด้วยกันซัก อัตราการจ้างจะอยู่ที่ 200-600 บาทต่อสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับผงซักฟอก น้ำยา และความประณีต

หลังอาบน้ำเสร็จ การต้องใช้ผ้าผลัดอันเปียกชื้นต่อจากผู้อื่นเป็นโชคร้ายที่พบเจอได้ และรุ้งเคยต้องใช้ผ้าอันง่ายต่อการแพร่เชื้อโรคนั้นมาแล้ว สบู่ ผ้าอนามัย ชุดชั้นใน รองเท้า ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ต้องขังจะได้รับทันที ในหลักการสิทธิมนุษยชนระบุให้เรือนจำจัดหาสิ่งของเหล่านี้ แต่คำปฏิเสธจากเรือนจำว่า “มีของให้ไม่พอ” ทำให้ผู้ต้องขังหลายคนต้องรอญาตินำเงินมาเข้าบัญชีแล้วซื้อจากร้านค้าของทัณฑสถานหรือรอขึ้นทะเบียนจนได้เป็นผู้ต้องขังอนาถา จึงจะเข้าถึงสิ่งของที่ยืนยันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐานเหล่านั้น

สิ่งหนึ่งที่ผู้ต้องขังควรเข้าถึงได้โดยไร้เงื่อนไขคือน้ำดื่มสะอาด ทว่าในความเป็นจริงเมื่อชะโงกมองที่ก้นตู้น้ำของทัณฑสถานจะเห็นรอยสนิมกัดกร่อนผสมกับฝุ่นลอยวนไม่น่าไว้ใจ รุ้งกล่าวว่าผู้ต้องขังมักดื่มน้ำน้อยกว่าปกติเพราะเหตุนี้ “เราไม่รู้ว่าน้ำกรองมีคุณภาพมากแค่ไหน คนถึงดื่มแล้วเจ็บคอกันไปหมด นักโทษเลยพยายามดื่มน้ำขวดที่ซื้อจากร้านค้าในเรือนจำมากกว่า ข้างในนั้นน้ำคริสตัลจะได้สัมปทาน ในคุกถ้ามีเงินจะอยู่สบายมาก แต่คนไม่มีเงินทำอย่างนั้นไม่ได้”

ในบรรดาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ที่เงินช่วยยกระดับให้ดีขึ้นได้ คุณภาพของอาหารดูจะขึ้นอยู่กับเงินมากที่สุด ดังที่รุ้งเล่าว่า

“ภาพรวมในคุก ทุกอย่างดูไม่ใส่ใจ ทั้งอาหาร ความเป็นอยู่ สภาพจิตใจคน บรรยากาศในคุก ความเครียดของคน ทุกอย่างดูแย่ไปพร้อมๆ กัน เราเห็นแล้วจิตตก อาหารในคุกลดทอนความเป็นมนุษย์มาก ทั้งรสชาติ คุณภาพ หน้าตา เอาจริงๆ ถึงหน้าตาจะไม่ดีหรือรสชาติไม่อร่อย แต่อย่างน้อยนี่คืออาหาร คุณภาพควรต้องโอเคระดับหนึ่ง อาหารในคุกทำจากผักต้มที่ไม่ค่อยมีรสชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ ออกไปทางจืด ข้าวแข็ง ถ้ามีเนื้อสัตว์จะให้เนื้อสัตว์นิดเดียว เรียกว่าเป็นเศษเลยก็ว่าได้ อย่างไก่เหมือนเอาโครงไก่มาสับๆ ให้เรากิน

“อาหารที่จำได้แม่นสุดจะเป็นมักกะโรนีที่จืดเหมือนกินแป้งแหยะๆ มีซอสมะเขือเทศเจือจางหน่อยๆ มีเนื้อสัตว์ปรุงน้อย  มันไม่ได้ดีหรือแย่ที่สุดหรอก แต่เราจำได้ว่าเราเถียงกับผู้คุมว่าทำไมรสชาติแย่จัง ทำไมคุณภาพไม่ดีกว่านี้ เขาก็บอกว่า ‘ชิมแล้วนะ ก่อนจะเอามาให้พวกเธอกินฉันก็ว่ามันกินได้’ เราเลยถามเขากลับไปว่าแล้วถ้าให้กินตอนนี้เลยกินไหมคะ เขาก็ไม่กิน เออ มันตลกดี เราเลยจำได้แม่น”

อาหารในคุกไทยที่ไร้รสชาติ ไม่ชวนกิน หรือกระทั่งทำให้เจ็บป่วยและรู้สึกเหมือนถูกลงโทษไม่ใช่สิ่งใหม่ สังฆราชปาลเลอกัวซ์บรรยายถึงอาหารนักโทษสมัยรัชกาลที่ 4 ว่า “ให้อาหารเพียงข้าวนิดเกลือหน่อยเท่านั้น”2  ในยุคถัดมาบันทึกของนักโทษคดีกบฏบวรเดชบันทึกถึงเมนูหมูผัดพริกผสมผักบุ้งว่า “หมูมีเนื้อ หนัง มัน ขน เสร็จในตัว ข้างผักบุ้งก็มีทั้งต้น ใบ ดอก โคนต้น และราก”3 ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์ และนักโทษในเรือนจำลาดยาวเคยเรียกแกงในเรือนจำว่า ‘แกงยางรถยนต์’4 สื่อถึงความแข็งเหนียวเคี้ยวยาก

ร่องรอยของคุณภาพอาหารดังกล่าวดูจะสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้ต้องขังตั้งฉายาให้อาหารโรงเลี้ยงหรืออาหารที่ปรุงจากฝ่ายสูทกรรมอย่างเปี่ยมความคิดสร้างสรรค์เช่น ‘ต้มจืดล้อแม็กซ์’ ใช้เรียกต้มจืดหัวไชเท้าที่หัวไชเท้าแข็งราวยางรถยนต์ ‘แกงส้มปลาระเบิด’ แทนแกงส้มที่เนื้อปลาชิ้นเล็กราวผ่านสมรภูมิรบมาจนร่างกระจุย ‘ต้มแม่หมูกะหล่ำปลี’ สื่อถึงต้มจืดหมูวุ้นเส้นกะหล่ำปลีที่เนื้อหมูเหนียวเกินเคี้ยว

อย่างไรก็ตามในศตวรรษที่ 21 มีงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าอาหารดีๆ มีผลช่วยปรับปรุงอารมณ์ผู้ต้องขังให้ง่ายต่อการปรับปรุงพฤติกรรมตนเองไปในทางที่ดีขึ้น หรือหากย้อนกลับไปดูโครงการด้านอาหารขนาดใหญ่หลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 จะพบว่านักวิชาการที่ทำงานให้คณะราษฎรสนับสนุนให้คนไทยกินอาหารให้ครบหมู่และกินเนื้อสัตว์มากขึ้นโดยกล่าวว่าการกินเนื้อสัตว์นั้น “ทำให้จิตใจสมบูรณ์แจ่มใสสดชื่นอยู่เสมอ สามารถควบคุมการงานให้ดำเนินไปสู่ความสำเร็จได้โดยเรียบร้อย และทำให้ใจกล้าเป็นนักรบ”5

ปัจจุบัน สิทธิการมีสุขภาพที่ดีของผู้ต้องขังได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก6 องค์การสหประชาติออกข้อกำหนดในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังไว้ว่า “เรือนจำต้องจัดให้ผู้ต้องขังทุกคนได้รับอาหารตรงเวลา และมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนเพียงพอต่อทั้งสุขภาพ และกำลังกาย โดยต้องจัดเตรียม ประกอบ อาหารและเสิร์ฟอย่างถูกสุขลักษณะ รวมทั้งจัดให้มีน้ำดื่มสำหรับผู้ต้องขังทุกคนได้ดื่มเมื่อต้องการ”7 พ.ศ. 2564 กรมราชทัณฑ์จัดสรรงบประมาณค่าอาหารสามมื้อให้ผู้ต้องขังวันละ 31 บาท8 แม้อาจฟังดูเป็นเงินน้อยกว่าที่จะบริการจัดการตามข้อกำหนดได้ แต่รุ้งชวนคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้

“พอคนไม่อยากกินอาหารแบบนี้ อยากกินอาหารที่ดีกว่า ผู้ต้องขังคนไหนที่มีเงินหน่อย เขาก็จะซื้อกับข้าวจากร้านค้าของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นอาหารที่ดีกว่าอาหารโรงเลี้ยง มันคือการสร้างกำไรให้กับคุกนั้นๆ ด้วย เราคิดว่าอาหารดีกว่านี้ได้จริงๆ นะ เราสงสัยว่าเงินไปไหนหมด จริงๆ งบอาหารมื้อละ 10 กว่าบาท กับคนจำนวนเท่านั้น ของยิ่งซื้อเยอะมันยิ่งถูกลงใช่ไหม เพราะฉะนั้นมันน่าจะดีกว่านี้ได้”

รุ้งตั้งคำถามต่อผลแห่งภาษีประชาชนเสมอ จึงไม่น่าแปลกใจที่รุ้งจะตั้งคำถามต่ออาหารในคุกอันเป็นผลจากภาษีประชาชนเช่นกัน

ข้นร้อนและหอมกรุ่น: เรื่องราวของทาโก้ มัสมั่น และแกงเขียวหวาน

ฟูดดี้อย่างรุ้งกินอาหารได้ทุกอย่าง แต่อาหารที่เธอชอบเป็นพิเศษดูจะมีคุณสมบัติหนึ่งร่วมกันคือความเข้มข้นและมีรสสัมผัสของครีม

ในวัย 16 ปี รุ้งไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนทั้งที่มลรัฐโอคลาโฮมาและอาร์คันซอ ในสายตารุ้ง มลรัฐทางใต้ทั้งสองแห่งของสหรัฐอเมริกา มีสิ่งที่เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนกันคือไร่ ฟาร์มวัว และทางรถไฟชวนเหงา สิ่งที่ทำให้รุ้งรู้สึกตื่นเต้นขึ้นมาบ้างคืออาหาร  ‘Tex-Mex’ หรืออาหารเม็กซิกันที่ทำในแบบอเมริกัน ซึ่งรวมถึงทาโก้แป้งกรอบด้วย

“การเดินทางครั้งนั้นเราแทบไม่ได้เที่ยวเท่าไร เคยไปห้างแค่ 1-2 ครั้ง พอไม่ได้ออกไปข้างนอกเองเลย อาหารที่เรากินจะเป็นอาหารที่โรงเรียนกับอาหารที่ทำในบ้านเสียส่วนใหญ่ ซึ่งอาหารโรงเรียนมันก็ไม่ได้เลิศเลอขนาดนั้น เป็นอาหารแช่แข็งบ้าง  แต่ถ้าเป็นอาหารที่บ้าน จะมีอยู่ 2 เมนูที่โฮสต์ทำให้กินคือทาโก้ (taco) กับทาโก้แคสเซอรอล (taco casserole) เป็นอาหารไม่กี่อย่าง ณ ตอนนั้นที่เรากินได้ และขอเบิ้ล เป็น 2 เมนูที่อร่อยสุด ตอนนั้นเรากินอะไรแทบไม่ได้เลย แต่ว่าถ้าเป็นสองเมนูนี้เราจะขอเติมตลอดเลย

“ภาพรวมของการไปแลกเปลี่ยนครั้งนั้นถือเป็นประสบการณ์ที่แย่มากเพราะไปอยู่บ้านแรกเราโดนขโมยตังค์ บ้านที่สองก็เจอประสบการณ์ไม่ดี เพราะฉะนั้นความสุขของเราจะไปอยู่ที่ของกินเป็นส่วนใหญ่ มีช่วงหนึ่งที่เราต้องไปอยู่บ้านผู้ดูแลนักเรียนแลกเปลี่ยนในเขตนั้น ต้องไปนอนโซฟา ตอนนั้นหนาวมากๆ ผู้ดูแลเขาทำดัมปลิงซุป (dumpling soup) ร้อนๆ ให้กินแล้วมันอร่อย เราเป็นคนชอบกินอยู่แล้ว พอเราเจอของอร่อยในเวลาที่อะไรมันไม่เป็นเหมือนที่คิด มันเหมือนช่วยเติมเต็มเราว่าโอเค อย่างน้อยก็มีของกินที่อร่อยวะ”

ครีมข้นที่หล่นลงท้องยามลำบากคือความสุขอันล้นพ้น ทาโก้แคสเซอรอลคืออาหารอิ่มท้องอุ่นใจที่แต่ละชั้นแป้งแทรกด้วยเนื้อ ชีส และครีมก่อนเอาเข้าเตาอบร้อนๆ ส่วนดัมปลิงซุปในความทรงจำของรุ้งคือซุปครีมร้อนข้นหนักท้อง ที่ใช้เนื้อไก่สุกฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ ลงตุ๋นกับน้ำซุปไก่ ครีม เนย ปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทย จากนั้นจึงนวดแป้งเข้ากับผงฟู น้ำมัน และบัตเตอร์มิลค์ ปั้นเป็นชิ้นพอเหมาะแล้วเคี่ยว แม้ dumpling จะแปลว่าเกี๊ยว แต่เนื้อสัมผัสนั้นหนึบคล้ายย็อคคี (gnocchi) ของอิตาลีมากกว่าเกี๊ยวในความหมายของคนเอเชีย

หลังกลับจากสหรัฐอเมริกา รุ้งเปลี่ยนจากเด็กสาวขี้อายมาเป็นคนกล้าแสดงออก กล้าพูด หากเห็นอะไรผิดเธอจะกล้าโต้แย้ง ความกล้าของรุ้งนับว่าติดหนี้ทาโก้อยู่ไม่มากก็น้อย

ตุลาคม 2563 หลังรุ้งถูกปล่อยตัวชั่วคราวจากการคุมขัง และเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลพระรามเก้า สิ่งแรกที่รุ้งทำคือสั่งทาโก้มาเต็มเตียงโรงพยาบาล

“พอกลับมาไทยก็พยายามหาร้านอร่อยกินจนไปเจอทาโก้ร้าน Sunrise ที่ใกล้เคียงกับที่โฮสต์เราทำให้ที่สุดแล้ว เป็นทาโก้แป้งกรอบ ใส่ซาวร์ครีม (sour cream) เยอะๆ มีมะเขือเทศ ได้ทั้งความกรอบของแป้งและมีเนื้อ เราชอบกินเนื้อมาก มันเหมือนเป็นของที่เราชอบมาผสมกัน ตอนเราออกมาจากคุกครั้งแรกที่นอนอยู่โรงพยาบาล เราจำได้ว่ากวิ้นน่ะชอบกัวคาโมเล่ของร้าน Taco Sunrise และเราก็อยากกินพอดี เราเลยซื้อแบบที่เราชอบและกวิ้นชอบ แล้วเอามาแบ่งกัน”

เมื่อรุ้งมาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ‘ความเข้มข้น’ ยังคงเป็นรสสัมผัสที่รุ้งเลือก ที่มหาวิทยาลัยรุ้งมีร้านอาหารโปรดชื่อ ‘ร้านน้องแอม’ ซึ่งอยู่คู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิตมาตั้งแต่ พ.ศ. 2532

“เราติดแกงเขียวหวานเพราะร้านน้องแอมที่ธรรมศาสตร์ ทุกวันที่ไปมหา’ลัย ทั้งมื้อเช้ามื้อเที่ยงเราจะสั่งเมนูนี้แบบเดิมทุกวัน 3 ปีไม่เปลี่ยนเลย มันอร่อย เราจะขอให้เขาตักมะเขือให้เยอะๆ มันเป็นแกงเขียวหวานไก่แต่เราจะสั่งไก่กรอบมากินเพิ่มอีก จนแม่ค้าเขาจำได้”

เกษร์กุสุมา รุจิพุฒธันยพัต หรือ ‘หญิง’ ลูกสาวของป้าอู๊ด เจ้าของร้านน้องแอมยืนยันว่ารุ้งเป็นลูกค้าประจำ

“น้องรุ้งจะมากินที่ร้านบ่อยค่ะ เขาน่ารักมาก อัธยาศัยดี เวลามาซื้อจะยิ้มแย้ม น้องรุ้งจะชอบทานแกงเขียวหวานไก่กรอบ ด้วยความที่ไก่ทอดเราหนังกรอบเนื้อนุ่ม น้องๆ เลยเรียกกันว่าไก่กรอบ ขายไปขายมานักศึกษาบางคนมองว่าไก่กรอบกินกับน้ำแกงเขียวหวานอย่างเดียวก็อร่อย เพราะว่าน้ำแกงเขียวหวานของแม่พี่หญิงจะเข้มข้น เลยกลายเมนูทางเลือกค่ะ”

ว่ากันว่าขอบเขตของอาหารที่ฟูดดี้ตัวจริงชอบนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นร้านมิชลินสตาร์เท่านั้น แต่อาจรวมถึงร้านเล็กๆ ที่มีดีอย่างไม่โอ้อวด ร้านน้องแอมเป็นเช่นนั้นทั้งรสชาติและบริการ

ปี 2564 ร้านน้องแอมขายอาหารข้าวราดแกงหนึ่งอย่าง 25 บาท สองอย่าง 30 บาท แกงจืดและต้มยำถ้วยละ 10-15 บาท ด้วยรสชาติที่ดี ปริมาณที่ให้เยอะ และราคาถูก ทำให้ร้านน้องแอมกลายเป็นร้านโปรดของชาวธรรมศาสตร์ แต่นั่นยังไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดที่ร้านน้องแอมมีคนต่อคิวซื้ออาหารยาวกว่าร้านอื่น ความอบอุ่นทางใจเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ผู้คนรักร้านอาหารเรียบง่ายร้านนี้

“เราจะบอกไปปากต่อปากว่าใครไม่มีเงินมากินข้าวร้านน้องแอมได้ หรือถ้าเราสังเกตเห็นว่าน้องคนไหนน่าจะมีปัญหาทางการเงิน เราจะชวนน้องมากินข้าวที่ร้าน เราอยากให้น้องกินอิ่ม น้องจะได้มีสติปัญญาเรียนหนังสือหรือเอาเงินไปซื้ออุปกรณ์การเรียน ถ้าเป็นคนทำงานแม่จะคอยบอกพวกพี่ตลอดว่าตักให้เขาเยอะๆ อย่างมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่วิ่งอยู่ในมหาวิทยาลัย วันหนึ่งๆ กว่าเขาจะได้เงินมันยาก ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งหาเงินยากขึ้น เราอยากให้เขากินอิ่มๆ เขาจะได้ประหยัดแล้วมีเงินไปทำอย่างอื่นค่ะ”

ร้านน้องแอมรอดพ้นจากความเปลี่ยนแปลงด้านอาหารครั้งใหญ่ของธรรมศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2557  ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยเกิดรัฐประหารมาได้ ในปีนั้นบริษัทเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีได้เข้ามาลงทุนปรับเปลี่ยนโรงอาหารกลางซึ่งเป็นโรงอาหารที่ใหญ่ที่สุดในธรรมศาสตร์ให้ ‘ทันสมัย’ ตามเกณฑ์บริษัท โดยกำหนดแหล่งวัตถุดิบ ตกแต่งสถานที่จนดูคล้ายฟู้ดคอร์ตในห้าง เก็บค่าเช่าที่สูงขึ้น เจ้าของร้านเดิมหลายรายต้องหลุดออกจากโรงอาหารระบบใหม่ ส่วนรุ้งกล่าวว่ารสชาติของโรงอาหารแห่งนี้แตกต่างจากโรงอาหารอื่นๆ อย่างชัดเจน

“เรารู้สึกว่ารสชาติแบบโรงอาหารซีพีคือรสคล้ายๆ ในห้าง เป็นรสกลางๆ แต่โรงอาหารอื่นรสชาติเป็นธรรมชาติมากกว่า  ดูปกติเหมือนนั่งกินข้าวแกงข้างทาง เสน่ห์ของข้าวแกงข้างทางเราจะชอบตั้งแต่เดินเข้าร้านไป เพราะว่ามันละลานตาดี มีแกงหลายๆ แบบไว้ให้เลือก เราจะกินแค่ไม่กี่อย่างในนั้น แต่เรารู้สึกว่าได้เห็นแล้วมันน่าตื่นเต้นดีว่าวันนี้มีอะไรกิน และเราชอบรสชาติข้างทาง มันจะไม่ใช่รสชาติกลางๆ แต่มีรสชาติมากกว่า เป็นรสชาติที่ไปสู่ในเมนูนั้นๆ และมีอรรถรสในการกินมากกว่า”

ร้านน้องแอมตั้งอยู่ในโรงอาหารอีกแห่งหนึ่งจึงยังคงไปซื้อของสดที่ตลาดจากพ่อค้าแม่ค้าที่คุ้นเคยกันมายาวนานและกักเก็บวัตถุดิบที่ดีไว้ให้อย่างรู้ใจกันมาหลายปีเจ้าเดิม ใช้สูตรอาหารของครอบครัวซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวอยุธยาตามสูตรดั้งเดิม และเป็นที่พึ่งให้นักศึกษา-คนใช้แรงงานได้กินอิ่มอย่างสบายกระเป๋าและสบายใจเช่นเดิม

  

อิสรภาพดูคล้ายเป็นที่ตั้งของสิ่งดีๆ ทุกประการ ไม่ว่าความเติบโตงอกงามทางปัญญาหรือกระทั่งหากอยากสร้างสรรค์อาหารดีๆ สักจาน ก็ควรตั้งต้นจากอิสรภาพว่าจะซื้อวัตถุดิบที่ไหน ปรุง หรือขายอย่างไรเช่นกัน

เมื่อรุ้งเหลืออิสรภาพอยู่เพียงน้อยนิดจากการถูกคุมขัง อาหารที่เข้มข้นยังติดตามเข้ามาช่วยปลอบโยนเธอ วันแรกของรุ้งในเรือนจำ ความเป็นฟูดดี้และปราศจากความหวาดกลัวที่จะลองอาหารใหม่ๆ ทำให้รุ้งไม่ปฏิเสธ ‘อาหารโรงเลี้ยง’ โดยทันที แต่บอกตัวเองว่าจะลองกินอาหารในคุกดูก่อน และเธอก็พบกับอีกเมนูที่มีรสสัมผัสเข้มข้นอย่างที่เธอชอบ

“สิ่งที่เรากินได้เยอะที่สุดคือมัสมั่น เพราะรสชาติใกล้เคียงแกงกะหรี่สุด และมีมันเทศที่มากพอจะทำให้เราอิ่ม ปกติเราไม่เคยกินมันเทศเลย”

รุ้งเชื่อมโยงมัสมั่นเข้ากับแกงกะหรี่ที่เธอชอบ ดังบันทึกการเยี่ยมรุ้งที่ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความ บันทึกไว้ว่า

“ท้ายสุดเราบอกว่ามีคนถามว่ารุ้งชอบกินอะไร อาหารที่ชอบ รุ้งทำหน้ายิ้มชวนฝันสายตาเหมือนวาดภาพของกินที่เธอชอบทันที เราชิงพูดว่า ​“แกงเขียวหวาน ไก่ทอด ร้านน้องแอม แล้วล่ะหนึ่ง” รุ้งบอก “ใช่ๆ แล้วก็ข้าวแกงกะหรี่โคโรเกะครีมแซลมอน โคโค่ เพิ่มไก่คาราเกะ ใส่ผักดอง ชีสเยอะๆ เผ็ดเลเวลสอง…”9

อย่างไรก็ตามหลังได้ลองกินอาหารของเรือนจำมาสักพักรุ้งตัดสินใจฝากท้องไว้กับ ‘ครัวชวนชม’ ร้านอาหารหน้าทัณฑสถานหญิงกลางที่มีชื่อเสียงด้านอาหารไทยโบราณซึ่งปรุงจากทั้งฝีมือแม่ครัวของร้านและผู้ต้องขังหญิง ‘เมย์’ – เมธาวี สิทธิจิรวัฒนกุล พี่สาวของรุ้งเล่าถึงอาหารโปรดของรุ้งจากครัวชวนชมซึ่งยังคงเป็นแกงเขียวหวานว่า

“ระหว่างรอทนายเยี่ยมรุ้ง เราจะไปฝากอาหารและซื้อของใช้ให้น้องรุ้งแทบทุกวัน พอทนายออกมาเราก็มาคุยกันว่า หน้าตาน้องรุ้งสดใสไหม เป็นกังวลหรือเปล่า เพราะเรือนจำไม่อนุญาตให้ญาติเยี่ยม ให้ทนายเยี่ยมเท่านั้น”

แม้ผู้ต้องขังจะไม่ได้รับอนุญาตให้พกเงิน แต่ญาติสามารถนำเงินมาใส่ในบัญชีให้ที่ศูนย์รับฝากเงินสำหรับซื้อของให้ผู้ต้องขัง และผู้ต้องขังจะเบิกเงินมาใช้ได้ในลักษณะคูปองได้ไม่เกิน 300 บาทต่อวันในช่วงปกติ ก่อนเพิ่มเป็นวันละ 500-600 บาทในช่วงโควิด เพื่อนำไปซื้อของที่ ‘ร้านค้าสงเคราะห์’ ในทัณฑสถาน หรือญาติอาจสั่งซื้อของกินของใช้และอาหารจากร้านค้าสงเคราะห์หรือจากครัวชวนชมได้โดยตรง โดยต้องสั่งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน

“ตอนน้องรุ้งเข้าเรือนจำวันแรกๆ เขาบอกว่าเขากินแกงเขียวหวานของครัวชวนชมได้ทุกวันเลย เราเลยไปส่งอาหารให้อยู่ 3 อย่าง คือแกงเขียวหวาน ไก่ทอดชีส กับปลานิลทอด รุ้งบอกว่าส่งมาแต่แบบนี้วนๆ มาให้หนูได้เลยนะ พอส่งไปบ่อยๆ สักพักรุ้งเบื่อ บอกว่าหนูอยากกินอย่างอื่นบ้าง แต่พอเราส่งอย่างอื่นไปรุ้งก็ส่งจดหมายมาใหม่ บอกว่าเอาแกงเขียวหวานแบบเดิมนี่แหละดีแล้ว”

เมย์เล่ากึ่งขำกึ่งเอ็นดูน้องสาว ส่วนรุ้งกล่าวถึงความในใจต่อแกงเขียวหวานว่า

“เราติดแกงเขียวหวานเพราะร้านน้องแอม ตอนอยู่ในคุกแกงเขียวหวานเป็นเหมือนเมนูมาตรฐาน เป็นรสชาติมาตรฐานที่จะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้อีกแล้ว เลยใกล้เคียงกับอาหารข้างนอก แกงเขียวหวานทำให้เรารู้สึกโอเคขึ้นว่าอย่างน้อยวันนี้ก็ได้กินของอร่อยวะ”

แต่ละวันในคุก รุ้งจะกินอาหารมื้อหลักเพียงมื้อเที่ยงหรือมื้อเย็นเพียงมื้อเดียวเพื่อรอแกงเขียวหวานจากครัวชวนชม เช่นเดียวกับการกินแต่แกงเขียวหวานจากร้านน้องแอมตลอดเวลา 3 ปีที่เป็นนักศึกษา การเลือกกินแต่ของอร่อยนับเป็นคุณสมบัติของฟูดดี้อย่างชัดเจน

นักอดอาหารมือใหม่กับเพื่อนคนเก่ง

ในช่วงรุ้งถูกคุมขัง นอกจากพี่สาวที่คอยส่งอาหาร ทนายความ ตลอดจนประชาชนที่ส่งกำลังใจและเขียนจดหมายมาหา รุ้งยังมีเพื่อนที่ทำให้เธอต้านทานความสิ้นหวังอันหนาหนักซึ่งคลี่คลุมทุกชีวิตในคุกได้ คนแรกคือ ‘เพนกวิน’ – พริษฐ์ ชิวารักษ์ รุ่นพี่ที่ชวนเธอมาเป็นโฆษกสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และต่อมาหลังผ่านการกินไก่ทอด KFC ร่วมกันหลายต่อหลายบักเก็ตในคืนประชุมกิจกรรมนักศึกษาคืนแล้วคืนเล่า สรรพนามของรุ้งและเพนกวินได้ถูกปรับลดเหลือเพียง ‘กู’ กับ ‘มึง’

“การมาเจอกวิ้น เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้รู้ว่าเราต่อสู้เพื่ออะไร การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องทางการเมืองคืออะไร จากก่อนหน้านี้ที่เราไม่รู้ว่ามันทำยังไง ทำแล้วได้ผลอะไร ต้องเคลื่อนไหวยังไงให้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น”

แม้เพนกวินจะถูกคุมขังคนละเรือนจำกับเธอ แต่เจตจำนงของเขาก็ยังคงเดินทางมาถึงเธอ 15 มีนาคม 2564 เพนกวินตัดสินใจอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิพื้นฐานของจำเลยในคดีอาญา นั่นคือสิทธิในการประกันตัวในขณะที่ยังถือว่าเป็น ‘ผู้บริสุทธิ์’ จนกว่าจะมีคำพิพากษาศาลถึงที่สุด

(ตัดเพื่อต่อ อดเพื่ออิ่ม: อาหารแห่งพิธีกรรมชีวิตของ ‘สุรีย์รัตน์’ และ ‘พริษฐ์ ชิวารักษ์’)

29 มีนาคม 2564 รุ้งเห็นภาพเพนกวินที่อดอาหารมาร่วมสองสัปดาห์นั่งรถเข็นมาเบิกความ เขาดูอ่อนล้า ท่อนแขนพร้อยด้วยรอยเข็มจากการแทงสายน้ำเกลือ ภาพนั้นสั่นสะเทือนรุ้ง จนคนรักอาหารอย่างเธอตัดสินใจทำสิ่งที่เคยบอกเพนกวินไว้ว่าจะไม่ทำอย่างเด็ดขาด

“สิ่งที่เราไม่เคยคิดจะทำเลยคือการอดอาหาร แต่ตอนเจอกวิ้นในศาลรอบสองหลังอดอาหารไปเกือบสองอาทิตย์ เห็นมันซูบมาก ไม่มีแรง เราทรุดไปหมด เห็นแล้วก็คิดว่าทำไมเพื่อนเราต้องทำขนาดนี้วะ แล้วตอนนั้นมันอดคนเดียว สิ่งที่มันพูดก็เพื่อพวกเราทุกคน แล้วมันก็เป็นเพื่อนสนิทเรา ร่วมสู้มาด้วยกัน แล้วทำไมตอนนี้ถึงจะไม่สู้ไปกับเพื่อน เราเลยคุยกับกวิ้นแล้วออกไปอ่านแถลงการณ์ประกาศอดอาหารตรงนั้น”

รุ้งไม่เคยศึกษาเรื่องการอดอาหารมาก่อน แต่คิดเอาเองว่าควรเริ่มจากจำกัดการกินอาหารให้น้อยลงก่อนสัก 3 วัน เพื่อปรับร่างกาย วันที่ 4 รุ้งเริ่มไม่กินอาหาร มีเพียงน้ำเปล่า นม น้ำหวาน และน้ำผลไม้เซาะซึมลงสู่กระเพาะว่างโหวง

“เราคิดจะเลิกหลายรอบมาก คิดจะเลิกตั้งแต่ 3 วันแรกด้วยซ้ำ มันทรมาน เราส่งข้อความหากวิ้นบ่อยๆ ผ่านทนาย ถามมันว่าต้องขนาดนี้เลยเหรอวะกวิ้น มันพูดเชิงให้กำลังใจแต่กดดันไปด้วย ‘รุ้ง มึงเชื่อกู มาทางนี้แหละเพื่อน’ โอเค เราเชื่อใจมัน พยายามคุยกับกวิ้นหลายรอบมากว่าเลิกเถอะ แต่เราจะติดตรงที่ถ้ากวิ้นไม่เลิก เราก็จะไม่เลิกไง เลยยื้อมาจนถึงวันสุดท้าย”

ประชาชนนอกเรือนจำเกลี้ยกล่อมให้เธอและเพนกวินเลิกอดอาหาร รุ้งจึงส่งข้อความผ่านมาทางทนายความว่า “ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากกินข้าวนะ คนที่รู้จักเราจะรู้ว่าเราเป็นฟูดดี้ ชอบกินอาหารมากแค่ไหน ทั้งเราและเพนกวินถ้ามีเวลาว่างจะตระเวนหาร้านอร่อยกินกัน เวลาไปทำงานก็เสาะหาร้านประจำไว้เพื่อกินอาหารอร่อย แต่เรื่องที่นำมาสู่ตอนนี้ก็เพราะเราไม่ได้รับความเป็นธรรม…”10

3 พฤษภาคม 2564 รุ้งน้ำหนักลดไปประมาณ 14 กิโลกรัม และเริ่มมีอาการชาตามนิ้วมือนิ้วเท้า พยาบาลในเรือนจำต้องจ่ายวิตามินบีกับเกลือแร่ให้เธอ11 กลิ่นไข่ดาว แกงเขียวหวาน ผัดกะเพรา ที่ในเวลาปกติคนเราแทบไม่ได้อ้อยอิ่งกับกลิ่นสามัญเหล่านี้ แต่เมื่อรุ้งต้องอดอาหาร กลิ่นเหล่านั้นกลับกรุ่นฟุ้งชวนทรมาน ยิ่งในช่วงวันหยุดเทศกาล เช่น วันสงกรานต์ ซึ่งทัณฑสถานเลี้ยงไก่โคโรเกะและพิซซ่า สถานการณ์ยิ่งยากลำบากขึ้นไปอีก

“คนอื่นจะกินข้าวอยู่หน้าห้อง แล้วเราอยู่ในห้อง กลิ่นมันก็จะลอยมา คือสภาพหน้าตามันดูไม่ดีนะ แต่กลิ่นมันดีมาก แม้หิวแต่ก็ต้องห้ามตัวเอง เราเลยสูดกลิ่นเข้าไปลึกๆ แล้วกินน้ำตามเอา รู้สึกว่าอย่างน้อยได้สัมผัสทางกลิ่นก็ยังดีวะ มโนไปว่าตัวเองได้กลิ่น”

สำหรับฟูดดี้ไม่ว่าชีวิตจะแย่แค่ไหน แต่หากมีของกินอร่อยก็จะช่วยทำให้เป็นสุขได้ แม้ในช่วงเวลาที่ไม่อาจเคี้ยวซดกำซาบอาหารใดๆ การได้สูดกลิ่นก็ช่วยให้รุ้งรั้งความสุขเล็กๆ น้อยๆ ไว้ได้บ้าง

 

เมื่อทนายความ คอรีเยาะ มานุแช มาเยี่ยมรุ้งและถามว่าเธอเป็นอย่างไร อยากกินอะไรบ้าง รุ้งร่ายยาวถึงอาหารเหล่านั้น ซูชิ ข้าวหมกไก่ มัสมั่น แกงเขียวหวาน พะแนงไก่กรอบ ชาบู กุ้งเผา ฯลฯ แต่เมื่อคอรีเยาะห์ยื่นทางออกให้เธอว่า “งั้นกินเลยสิคะ” เธอกลับตอบเสียงกร้าวว่า “ไม่” ก่อนทอดเสียงอ่อนว่า “จะออกไปกินข้างนอก”12

รุ้งไม่ปล่อยให้เจตนารมณ์ของเพนกวินถูกทอดทิ้ง เธอเดินหน้าอดอาหารอย่างแน่วแน่ พร้อมใช้เวลานี้เรียนรู้สิ่งที่ได้เจอในคุก เธอได้เจอเพื่อนใหม่ในคุกหลายคนและแบ่งปันหนังสือ ‘โลกของคนไร้บ้าน’ ซึ่งเขียนและส่งมาโดย ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่เธอเรียนอยู่ให้เพื่อนใหม่อ่าน ด้านศิริกาญจน์ ทนายความได้บันทึกเรื่องการผูกมิตรของรุ้งกับเพื่อนใหม่หลังแบ่งปันหนังสือว่า

“เธอคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ที่เคยเกือบเป็นคนไร้บ้านเพราะภาวะทางครอบครัวบีบให้กลายเป็นคนไร้บ้านได้จริง ทำให้หวนคิดถึงคนไร้บ้านที่เธอเคยเจอและคุยในที่ชุมนุม ที่เขามาร่วมมาขายของก็มี และห่วงว่าคนที่โดนดำเนินคดีจากการไปชุมนุมซึ่งเป็นคนไร้บ้านจะได้รับการช่วยเหลือเพียงพอไหม”13

ในบรรดาเพื่อนใหม่หลายต่อหลายคน รุ้งได้พบเพื่อนหนึ่งที่ต่อมากลายเป็นเพื่อนคนสำคัญที่ทำให้เธอมีกำลังใจอดทนถึงวันได้ออกไปกินอาหารข้างนอกได้

“มีเพื่อนสนิทอยู่คนหนึ่งค่ะ เขาเป็นนักศึกษาเพิ่งจบ อายุไล่เลี่ยกันและเข้ามาก่อนรุ้งไม่นาน เขาสนับสนุนประชาธิปไตย เคยโอนเงินสนับสนุนม็อบ เขาจำเราได้ว่าเราคือรุ้งนะ เลยจูนกันติดแล้วคุยเรื่องการเมืองกันตลอด”

รุ้งเล่าว่าเพื่อนคนนั้นของเธอเป็นคนเก่งคนหนึ่ง มีความสามารถ ไม่ควรจะต้องเข้าไปอยู่ในคุก

“หากประเทศเราให้สวัสดิการเรียนฟรีจนถึงมหาวิทยาลัย เขาก็ไม่ต้องอยู่ตรงนั้น ครอบครัวของเขามีลูกสองคนแต่แม่ส่งให้เขาเรียนได้แค่คนเดียว เขารู้สึกว่าน้องเขาไม่เคยได้อะไรเลย เพราะฉะนั้นเขาจะหาค่าเทอมให้น้องเอง นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้น”

รุ้งและเพื่อนใหม่พูดคุยกัน แบ่งปันทุกข์สุขกัน แม้ในสถานที่ซึ่งไม่น่าจะมีใครโอบอุ้มใครได้ ทั้งสองยังหาโอกาสดูแลซึ่งกันและกันให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องอาหาร

“พักหลังๆ จิตใจเราเริ่มแข็งแกร่งขึ้น เลยอาสาไปตักข้าวให้เพื่อน อย่างน้อยฉันกินไม่ได้ แต่ฉันได้สัมผัสมันผ่านกระบวยอันนี้ก็ยังดี ทุกคนจะชอบให้เราตัก เพราะเราตักให้เยอะ จะขอให้รุ้งไปตักอีก เราจะตักให้เพื่อนสนิทเยอะเป็นพิเศษ เลือกเนื้อให้เพื่อนเยอะๆ และเราจำได้ว่าเพื่อนชอบกินข้าวต้มมัดมาก เวลาเจอทนายเราจะฝากไปบอกพี่เมย์ให้ซื้อข้าวต้มมัดจากครัวชวนชมมาฝากเพื่อนตลอด ทำให้เรารู้สึกโอเคที่มีอาหารแบ่งให้เพื่อนกิน”

ไม่ใช่แต่รุ้งเท่านั้นที่ช่วยโอบอุ้มเพื่อนเมื่อมีโอกาส เพื่อนคนดังกล่าวมีส่วนช่วยประคับประคองรุ้งอย่างมากเช่นกัน

“ตอนอดอาหาร เราคิดถึงอาหารตลอดเวลา คิดถึงตลอดจริงๆ  พอได้เวลากินจะสะกิดเพื่อนแล้วว่า มึง… อยากกินแกงกะหรี่ มึง… อยากกินไข่เจียว แล้วพอลงแดนไปมันจะมีข้าวไข่ดาว-ข้าวไข่เจียวขาย เราจะบอกเพื่อนว่า ‘มึงซื้อมากินซิ กูจะได้ดูมึงกิน ถ้าอย่างน้อยมึงได้กิน กูก็ยังรู้สึกดี’ อย่างน้อยเรายังได้นั่งจ้องจานไข่เจียวตรงหน้าเรา เราได้รู้ว่ามันอยู่ตรงนี้ เอาจริงมันก็ประหลาดเหมือนกันนะ ตลกดี แต่ว่า เออ… มันก็ผ่านมาได้นะ เพื่อนเรามันไม่อยากให้เราอดหรอก แต่ถ้าจะอดอย่างน้อยก็ช่วยให้อดแบบไม่ตาย มันพยายามช่วยดูว่าวันนี้เรากินนมพอไหม กินน้ำพอไหม ปากแห้งหรือเปล่า”

หลังเพนกวินอดอาหาร 45 วัน และรุ้งอดอาหาร 38 วัน ทั้งสองคนได้รับการประกันตัวโดยมีเงื่อนไข ในวันปล่อยตัวรุ้งออกมาสวมกอดแม่และพี่สาว รุ้งกลับสู่บ้านซึ่งมีอาหารบำรุงเลี้ยงเสมอเมื่อร้องขอ ไม่ว่าจะเป็นผัดฟักนิ่มๆ ใส่ไข่และกุ้ง ผัดฟักทองใส่ไข่ และต้มจืดมะระฝีมือแม่ หรือสตรอว์เบอร์รีชอร์ตเค้กซึ่งเป็นเค้กชนิดแรกๆ ที่เมย์ พี่สาวรุ้งฝึกทำโดยมีรุ้งเป็นคนเสียสละตัวเองชิมรสชาติตอนยังไม่เข้าที่ ก่อนเมย์จะกลายมาเป็นเชฟเบเกอรี่เต็มตัว และกลับมาสู่โลกของอาหารข้างนอก

  “เรายังมองอาหารเหมือนเดิมนะ เราอยากแยกตัวเองทั้งสองที่ออกจากกัน ไม่เอามาซ้อนกัน เราจะไม่กินแกงเขียวหวานข้างนอกแล้วคอยเปรียบเทียบนึกถึงแกงเขียวหวานในนั้น เราอยู่ตรงนี้ก็โฟกัสแค่ตรงนี้”

รุ้งยังกินอาหารอย่างเอร็ดอร่อยทุกมื้อเหมือนเดิม เธอกล่าวว่าความทรงจำเดียวจากในทัณฑสถานหญิงกลางที่เธอจะคิดถึงบ่อยๆ คือความทรงจำถึงเพื่อนแท้ในยามยากของเธอ

สังคมที่เรากินอาหารดีๆ โดยไม่รู้สึกผิด

คำว่า ‘ฟูดดี้’ เกิดขึ้นในทศวรรษ 1980 อันเป็นช่วงที่โลกได้สัมผัสความมั่งคั่งที่สั่งสมมาจากยุคอุตสาหกรรมเบ่งบานอย่างเต็มที่ คนหนุ่มสาวเติบโตมาพร้อมทางเลือกในการกินอาหารที่มากขึ้น ต่อมาในยุคมิลเลนเนียลและการแพร่กระจายของข้อมูลในยุคดิจิทัลยิ่งทำให้ผู้คนเข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารมากยิ่งขึ้นไปอีก ในยุคนี้อาจนิยามได้ว่า “ทุกคนคือฟูดดี้” คำว่าฟูดดี้ถูกโจมตีว่าใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อมากเกินไป

ปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่โลกเกิดโรคระบาดโควิด-19 การแสดงออกถึงความสมบูรณ์พูนสุขดูจะเลี่ยงการเกิดความรู้สึกผิดไปไม่ได้ในภาวะที่ผู้คนอดอยากขาดแคลน ในอเมริกาเกิดปรากฏการณ์ที่รายการโทรทัศน์ของเชฟดังๆ เปลี่ยนจากการทำอาหารหรูหราฟู่ฟ่า ใช้เทคนิคซับซ้อน มาเป็นอาหารเรียบง่ายประหยัดเวลา เพื่อแสดงออกถึงความตระหนักในความทุกข์ยากลำบากของผู้คนในช่วงโควิด เพราะสภาพเศรษฐกิจบอบช้ำและความจริงในชีวิตเจ็บปวดเกินกว่าผู้คนจะอินกับภาพอาหารกิ๊บเก๋ขึ้นกล้อง แต่ห่างไกลจากชีวิตตัวเอง14 คุณค่าและความหมายของฟูดดี้เริ่มถูกตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือมีที่ทางไหมในยุคปัจจุบันและอนาคต กล่าวได้ว่าฟูดดี้กำเนิดขึ้นมาพร้อมความมั่งคั่งของสังคมและมีทีท่าจะคลอนแคลนเพราะความขัดสนของสังคมเช่นกัน

อาหารไม่อาจแยกขาดจากสังคมได้ ดังเรื่อง ‘ไวรัลกุ้งเผา’ ที่เคยเกิดขึ้นกับรุ้ง ย้อนกลับไปเมื่อ เช้าวันที่ 15 ตุลาคม 2563 รุ้งถูกจับกุมจากการปราศรัย #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ก่อนถูกคุมตัวที่เรือนจำธัญบุรี ในบรรยากาศมัวสลัวของห้องกักโรคแดนแรกรับ รุ้งอยู่รวมกับผู้ต้องขัง 48 คน ในห้องนั้นมีโทรทัศน์อยู่เครื่องหนึ่งซึ่งเปิดแต่รายการบันเทิง แต่รายการโทรทัศน์ที่รุ้งได้ดูซึ่งไม่มีข่าวสารหรือการเมืองเจือปนกลับกลายเป็นการเมืองในเวลาต่อมา

“ตอนเย็นๆ เขาจะเปิดทีวีให้ดู เรานอนอยู่ตรงหน้าทีวี วันนั้นเขาเปิดรายการที่พาไปกินกุ้งเผาตอนสองทุ่ม ในขณะที่เรากินข้าวเย็นตอนบ่ายสอง15 ตอนนั้นทรมานและติดตามาก แบบ เชี่ย… อยากกินกุ้งเผาอะ พอตอนอยู่โรงพยาบาลพระรามเก้าเลยบ่นอยากกินกุ้งเผาๆ พี่ทรายก็ไปซื้อมาให้”

หลังรุ้งได้รับการประกันตัวและพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล ขณะรุ้งสั่งซื้อกัวคาโมเล่ให้เพนกวิน ทราย เจริญปุระ ได้ซื้อกุ้งเผาให้รุ้งเช่นกัน ภาพรุ้งกินกุ้งเผากลายเป็นไวรัลและถูกโจมตีจากคนส่วนหนึ่งว่ารุ้งประกาศตนว่าต่อสู้กับศักดินาแต่กลับ ‘กินหรู’

ข้อโจมตีคล้ายกันนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับกรณี ‘ไพร่กินไวน์ อำมาตย์กินเบียร์’ เมื่อ พ.ศ. 2554 ซึ่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์แสดงความแปลกใจที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ผู้ประกาศตนว่าเป็นไพร่มากินอาหารที่ร้านอาหารชั้นดีร้านเดียวกับตน แถมสั่งไวน์ดื่มขณะที่ตนสั่งเบียร์ ทั้งสองกรณีนำไปสู่การตอบโต้ช่วงชิงวาทกรรมว่า อัตลักษณ์ไพร่ (2554) หรือประชาราษฎร์ (2563) ไม่ใช่ความยากจนและขอให้หยุดจำกัดตีตรา แต่คือสถานะคนส่วนใหญ่ของประเทศผู้ไม่สยบยอม (และจะกินอะไรก็ได้)

สำหรับกรณีของรุ้งนั้นแปรเปลี่ยนเป็นขบวนการเคลื่อนไหว #ให้มันจบที่กุ้งเรา เมื่อเกิดการแจกกุ้งแม่น้ำเผาร้อยกิโลกรัมและหมูหันในม็อบเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทย และเกิดการช่วงชิงวาทกรรม ‘กินหรู’ โดยชี้ให้เห็นว่าบ้านเมืองที่กุ้งเผาถูกจัดให้เป็นของหรูนั้น แสดงว่าบ้านเมืองผิดปกติ  “ถ้าการเมืองดี ใครๆ ก็กินกุ้งเผาได้” เกิดการตั้งคำถามว่า หากคิดถึงราคากุ้งเผาแน่นอนว่าสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำวันละ 350 บาทของคนไทย ทว่าความผิดปกตินี้อยู่ที่ใด? ระหว่างราคาอาหารหรืออัตราค่าแรงขั้นต่ำกับค่าครองชีพของคนไทยที่แปรเป็นสัดส่วนแล้วนับว่าค่าอาหารของคนไทย ‘แพง’ กว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ

ในสังคมไทยการกินอาหารดีๆ ดูราวกับเป็นอภิสิทธิ์ ใช่เพียงคนที่โจมตีรุ้งจะคิดเช่นนี้ แม้แต่รุ้งเองยังอดคิดไม่ได้เช่นกัน แต่การคิดของเธอนั้นเป็นไปการสะสางต้นเหตุของปัญหาและเพื่อความเปลี่ยนแปลง

คำถามต่อสังคมครั้งแรกๆ ของรุ้งตั้งต้นจากอาหาร ในวัยประถม รุ้งเคยไปกินข้าวต้มกับพ่อแม่ เมื่อมีเด็กวัยไล่เลี่ยกันเข้ามาขายของในร้าน รุ้งเรียกเด็กคนนั้นว่า ‘น้อง’ และถามพ่อแม่ว่าน้องมาขายของได้อย่างไร เต็มใจหรือโดนบังคับ พ่อแม่ของน้องอยู่ที่ไหน16 และคำถามครั้งต่อมายังคงเกิดขึ้นเพราะอาหาร

“ตอนช่วง ม.ปลาย เรามีเพื่อนสนิทคนหนึ่ง เรารักมันมาก เราก็อยากไปเที่ยวกับเพื่อนบ้างหรือพาเพื่อนไปร้านอาหาร ไปคาเฟ่บ้าง แต่เขาก็ไปกับเราไม่ได้เพราะเขาไม่ได้มีเงินเก็บมากขนาดนั้น เราจะให้เงินเพื่อนมันก็ไม่ใช่ และไม่ยั่งยืนด้วย เลยคิดว่าทำไมเพื่อนถึงจะมีกินเหมือนเราไม่ได้ มีเท่าๆ กันไม่ได้ ความคิดแบบนี้มันสะสมมาเรื่อยๆ”

สังคมที่รุ้งและเพื่อนๆ ในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกำลังสร้าง ย่อมหมายถึงสังคมที่อาหารเรือนจำได้รับการปรุงโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สังคมที่ร้านอาหารเล็กๆ แต่มีคุณภาพยืนหยัดอยู่ได้ สังคมที่หลังจากทำงานหนักทั้งวัน ผู้คนกินดื่มอาหารดีๆ ด้วยเงินสุจริตของตนได้โดยไม่ล้มละลาย สังคมที่กุ้งเผาไม่ใช่อาหารฟุ่มเฟือยเกินเอื้อม และสำหรับรุ้งน่าจะหมายถึงสังคมที่ไม่มีเด็กเล็กๆ มาขายของในร้านข้าวต้ม แต่ได้วิ่งเล่นหรืออ่านหนังสือนิทาน สังคมที่เด็กสาวมีโอกาสนั่งกินขนมในคาเฟ่กับเพื่อนอย่างผ่อนคลายเบิกบาน สังคมเช่นนั้นเองที่รุ้งและเพื่อนๆ ยอมแลกทุกอย่างเพื่อให้ได้มา

 

บรรณาธิการต้นฉบับ: อนุสรณ์ ติปยานนท์

ขอขอบคุณ: ณัฎฐา ชื่นวัฒนา และ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ผู้ร่วมสัมภาษณ์รุ้งในครั้งนี้

 


เชิงอรรถ

1 รายงานของสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (2560) ระบุถึงการซื้อขายน้ำในทัณฑสถานหญิงกลางว่า “ผู้คุมเรือนจำยังเก็บน้ำในอ่างไว้ต่างหากเพื่อขายให้ผู้ต้องขัง ทำให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับผู้ต้องขังคนอื่น” จากเอกสาร หลังกำแพง ส่องสภาพเรือนจำไทยภายหลังรัฐประหาร (2560) International Federation for Human Rights / Union for Civil Liberty. 2560.  https://www.fidh.org/IMG/pdf/report_final_thai.pdf น.20

2 กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์กับการราชทัณฑ์, โดย สุชาติ บาปุยะวาทย์, 2517 (กรกฎาคม- สิงหาคม), วารสารราชทัณฑ์, 22(4), น. 31-39. (ค.ศ.1854)

3 ชุลี สารนุสิต. แดนหก, โรงพิมพ์สมรรถภาพ 2488.

4 ทองใบ ทองเปาด์. ความทรงจำในคุกถึงจิตร ภูมิศักดิ์, ใน สุชาติ สวัสดิ์ศรี (บรรณาธิการ). จิตร ภูมิศักดิ์ นักรบของคนรุ่นใหม่. (กรุงเทพฯ : สังคมศาสตร์ปริทัศน์, 2517), น. 266.

5 ยงค์ ชุติมา. ประมวลบทความของนายแพทย์ยงค์ ชุติมา (พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายแพทย์ยงค์ ชุติมา ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 8 สิงหาคม 2507). น.60

6 World Health Organization. (2020). Prisons and health: Partnership for health in the criminal justice system. Retrieved from https://www.euro.who.int/en/health- topics/health-determinants/prisons-and-health/focus-areas/nutrition, September 9, 2020

7 ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ข้อ 22(1) United Nations Office on Drugs and Crime. (2015). The United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners (the Nelson Mandela Rules). Retrieved from https://www.unodc.org/documents/justice-and-prison- reform/Nelson_Mandela_Rules-E-ebook.pdf, September 9, 2020. 

8 www.hosdoc.com/service/ccioc-mainmenu-14/item/9-helping-you-in-jail-first.html

9 ศิริกาญจน์ เจริญศิริ. บันทึกเยี่ยม ‘รุ้ง’ ปนัสยา: ข่าวสารภายนอก หนังสือที่อ่าน และอาหารที่ชอบ ขณะยังอดอาหาร. 4 พฤษภาคม 2564. https://tlhr2014.com/archives/29195

10 บันทึกเยี่ยม “รุ้ง” ปนัสยา: “เราขอแค่โอกาสในการสู้คดีอย่างเต็มที่” https://tlhr2014.com/archives/28370

11 บันทึกเยี่ยมรุ้ง ปนัสยา: เหตุที่ใช้ทัณฑ์ทรมานตนเอง ในการทดลองความจริง https://tlhr2014.com/archives/27760

12 คอรีเยาะห์ เหมือนนุแซ. บันทึกการเยี่ยมรุ้ง ปนัสยา 27 เมษายน 2564 https://www.facebook.com/103184308548124/posts/114306274102594/

13 อ้างแล้วใน 9

14 https://www.theatlantic.com/culture/archive/2020/05/foodiness-isnt-about-snobbery-anymore/611080/

15 หมายเหตุ: การกินข้าวเย็นตอนบ่ายสองของรุ้งคือเวลาปกติ เนื่องจากทัณฑสถานได้กำหนดเวลากินอาหารของผู้ถูกคุมขังไว้อย่างกระชั้น 06.30 น. มื้อเช้าได้เริ่มต้นขึ้น 11.30 น. คือเวลาของมื้อเที่ยง อาหารมื้อเย็นไล่ตามมาติดๆ ตอน 14.30 น. เพื่อให้ผู้ต้องขังขึ้นเรือนนอนโดยเร็ว ผู้ต้องขังจึงต้องกินอาหารติดกันสามมื้อภายใน 8 ชั่วโมง แต่ละมื้ออาหารห่างกันเพียง 3 ชั่วโมง ด้วยเวลาอันกระชั้นเช่นนี้ส่งผลให้ผู้ต้องขังบางรายเลือกที่จะไม่กินอาหารบางมื้อ และป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารกันมาก 

16 สุภชาติ เล็บนาค, ตรีนุช อิงคุทานนท์, พาฝัน หน่อแก้ว – ‘รุ้ง ปนัสยา’ จากหญิงสาวธรรมดาสู่ผู้กล้าดันเพดานขึ้นสูงสุด https://themomentum.co/interview-panusaya

Fact Box

สูตรแกงเขียวหวานไก่กรอบร้านน้องแอม

“ครอบครัวพี่หญิงเป็นคนจังหวัดอยุธยาฯ ค่ะ  กับข้าวส่วนใหญ่ที่เราทำนี่ได้วิชาจากยาย แม่พี่หญิงจะบอกเสมอว่าทำอาหารให้เหมือนกับเราทำกินกันในครอบครัว เวลาทำกับข้าวแม่ใช้ของคุณภาพดีๆ เครื่องปรุงดีๆ พิถีพิถัน ไม่หวงเครื่อง เป็นอย่างนี้มาตลอด 32 ปีแล้วค่ะ แม่ยึดมั่นมาก ถ้าเราไม่มั่นใจเราจะไม่เอาขึ้นหน้าร้าน แม่บอกว่าเขามากินข้าวเรา เราอยากให้เขากินอิ่มอร่อย”

: ‘หญิง’ - เกษร์กุสุมา รุจิพุฒธันยพัต หนึ่งในเจ้าของร้านน้องแอม

วัตถุดิบและเครื่องปรุงแกงเขียวหวาน

  • เนื้อไก่ส่วนสะโพกไม่ติดกระดูก
  • เครื่องแกงเขียวหวานสำเร็จอย่างดี (หากตำเองใส่ข่า ตะไคร้ กระเทียม หอมแดง พริกจินดาสีเขียว พริกขี้หนูสวนสีเขียว ผิวมะกรูด พริกไทยขาว กะปิ เกลือ)
  • พริกขี้หนูสวนสีเขียวกับผิวมะกรูด ใช้ตำเพิ่มลงไปผสมกับพริกแกงเขียวหวานสำเร็จรูป
  • มะเขือพวงและมะเขือเปราะ
  • ใบโหระพา
  • พริกชี้ฟ้าสีแดง
  • ใบมะกรูด
  • หัวกะทิ/หางกะทิ
  • น้ำตาลโตนด น้ำปลาดี เกลือ
  • ข้าวหอมมะลิ
  • ข้าวเสาไห้

วัตถุดิบและเครื่องปรุงไก่กรอบ

  • อกไก่และสะโพก
  • ซีอิ๊วขาว
  • ผงกระเทียม
  • รากผักชี
  • แป้งข้าวเจ้าและแป้งทอดกรอบ
  • น้ำมัน
  • น้ำเย็น

สูตรแกงเขียวหวาน

โขลกเครื่องแกงเขียวหวานเข้ากับพริกขี้หนูสวนสีเขียวและผิวมะกรูดเพิ่มให้กลิ่นหอมและสีสวย จากนั้นแช่มะเขือเปราะในน้ำเกลือทิ้งไว้เพื่อให้มะเขือไม่ดำ ผัดเครื่องแกงกับหัวกะทิจนแตกมันและมีกลิ่นหอมของเครื่องแกง ใส่ไก่ลงไปผัดกับเครื่องแกงให้ไก่ซึมซับรสชาติจากเครื่องแกงแล้วเติมหางกะทิลงไปเพื่อเป็นน้ำแกง พอไก่เริ่มสุกแล้วใส่มะเขือพวงและมะเขือเปราะลงไปแล้วเร่งไฟแรงทันที เพื่อช่วยให้มะเขือไม่ดำอีกทางหนึ่ง ปรุงรสด้วยน้ำปลาอย่างดี เติมน้ำตาลโตนดเล็กน้อยพอตัดเค็ม เติมใบโหระหา พริกชี้ฟ้าหั่น และใบมะกรูดฉีกเป็นขั้นตอนสุดท้าย ชิมรสให้เผ็ดนำ เค็มตาม มีรสหวานปะแล่มจากกะทิเป็นหลัก

สูตรไก่กรอบและข้าว

ร้านน้องแอมจะใช้เนื้อไก่ฮาลาล เพื่อให้นักศึกษาที่เป็นคนมุสลิมได้กินได้ด้วย โดยใช้เนื้อสะโพกที่เลาะกระดูกออกแล้ว หมักไก่กับผงกระเทียม ซีอิ๊วขาว รากผักชี จากนั้นผสมแป้งข้าวเจ้าผสมกับแป้งทอดกรอบละลายในน้ำเย็น นำไก่ลงชุบแป้ง แล้วทอดในน้ำมันที่ท่วม ส่วนการหุงข้าวร้านน้องแอมจะใช้ข้าวหอมมะลิประมาณ 95% อีก 5% เป็นข้าวเสาไห้หุงรวมกัน เมื่อราดแกงแล้วข้าวจะให้สัมผัสนิ่มพอดี ไม่แฉะหรือแข็งร่วนเกินไป

Tags: ,