เราใช้เวลาคิดอยู่สักระยะว่าจะเลือกใครเป็นบทสัมภาษณ์ส่งท้าย หากกำหนดหัวเรื่องว่าเป็น ‘บุคคลผู้สร้างแรงกระเพื่อม’ มากที่สุดในปีนี้

ไม่กี่สัปดาห์ก่อน มีคนเสนอชื่อ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ให้ติดอันดับเป็น 1 ใน 10 บุคคลผู้สร้าง ‘Momentum’  ของปี 2563 แน่นอน ทั้งกองบรรณาธิการ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้หญิงสาววัย 22 ปี นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคนที่ ‘น่าสนใจ’ ในมุมของการสร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมไทย โดยไม่มีใครปฏิเสธ

เพราะตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม ที่ปนัสยาขึ้นเวทีแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อ่าน 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยการ ‘ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์’ จากวันนั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยก็เปลี่ยนไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

‘เพดาน’ ว่าด้วยการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกดันขึ้นจนสูงสุด และไม่อาจถอยกลับไปสู่จุดเดิมได้อีกแล้ว …

การเคลื่อนไหวหลังจากนั้น ปนัสยา ขยับจากการเป็นโฆษกสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ขึ้นเป็นหนึ่งในแกนนำการชุมนุม เธอขึ้นเวทีชุมนุมใหญ่อีกหลายครั้ง กลายเป็นแกนนำคณะราษฎร ตามมาด้วยการเป็นผู้ต้องหา และผู้ต้องขัง ในคดี ‘ความมั่นคง’ ก่อนจะถูกปล่อยออกมา เมื่อ ‘ชนชั้นนำ’ ต้องการลดกระแสความร้อนแรงทางการเมือง

แม้จะถูกปล่อยออกมาแล้ว ปนัสยาก็ยังเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกแจ้งความจับด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มากที่สุดคนหนึ่งในประเทศนี้ ชนิดที่ว่าหากทุกคดี ศาลตัดสินลงโทษด้วยอัตราโทษสูงสุด ปนัสยาอาจติดคุกนานกว่า 60 ปี ไม่นับรวมความผิดตามมาตรา 116 หรือ ยุยง ปลุกปั่น ให้เกิดความไม่สงบ ที่เธอมีหมายเรียกค้างไว้อีกจำนวนมาก

ไม่กี่วันก่อนที่ปีแห่งความยุ่งเหยิงนี้จะผ่านพ้นไป เราชวนปนัสยามาที่ Walden Home Café ร้านเล็กๆ บนถนนเจริญนคร เพื่อชวนคุยเรื่อง ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ของตัวเธอ และของสังคมไทย  พร้อมกับออกตัวล่วงหน้าว่า — เราเลือกให้เธอเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้าง Momentum มากที่สุดของปี

‘‘ทำไมพี่ถึงเลือกหนู’’

ปนัสยาถามเรา เราไม่ได้ตอบคำถามของเธอในทันที แต่พยายามให้เธอตอบคำถามนี้ด้วยตัวเอง ด้วยบทสัมภาษณ์ต่อจากนี้ไป …

คิดว่าความเปลี่ยนแปลงที่คุณสร้างขึ้นมาในปีนี้คืออะไร

หลักๆ ก็คงเป็นการเปิดเพดานให้คนสามารถพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างสาธารณะมากขึ้น แต่ก็มีเรื่องอื่นที่เป็นเรื่องรองตามมาเหมือนกัน คือการเป็น ‘คนธรรมดา’ แล้วออกมาพูดในเรื่องใหญ่ขนาดนี้ เอาง่ายๆ เราไม่ใช่ใครมาก่อน เราแค่ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย แต่เผอิญได้โอกาสออกมาพูดแค่นั้นเอง เพราะฉะนั้น ความเปลี่ยนแปลงที่ได้ก็คือภาพของการที่ใครก็สามารถแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้

รวมถึงการเป็น ‘ผู้หญิง’ เพราะก่อนหน้านี้ถกเถียงกันเยอะพอสมควรว่าผู้หญิงอยู่ที่ไหน ทำไมถึงมีแต่ผู้ชายเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำไมต้องปล่อยให้ผู้ชายปราศรัยทั้งหมด ไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงขึ้นเวทีเลย จริงๆ ณ ตอนนั้นไม่ใช่ว่าเราไม่ให้โอกาส แต่เราไม่สามารถหาผู้หญิงขึ้นเวทีได้

เพราะอะไร

ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ตอนนั้นไม่รู้จักใครเลยที่เป็นผู้หญิงแล้วอยากออกมาพูด เราทาบทามไปหลายคน แต่ก็ไม่มีใครขึ้นเวที ส่วนตัวเราเอง ตอนต้นปีมีการจัดเวทีการเมืองในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เหมือนกัน ซึ่งเราก็อยู่ในจุดที่ขึ้นเวทีได้ แต่ก็เลือกที่จะไม่ขึ้น อาจเป็นเพราะรู้สึกไม่มั่นใจว่าขึ้นไปพูดแล้วจะตรงกับความคิดเห็นคนอื่นหรือไม่

ทีนี้ จากเดือนกุมภาพันธ์ มาจนถึงเดือนสิงหาคม ก็มีเวลาให้เราเรียนรู้ จนวันที่ 10 สิงหาคม โอเค เราพร้อม ก็เลยออกมาพูด

ขอย้อนกลับไปนิดนึง ก่อนหน้านี้คุณทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง 

ตั้งแต่มัธยมปลายจนถึงเข้ามหาวิทยาลัย เราทำชุมนุมเชียร์ ทำโค้ดแปลอักษร แล้วตอนมหาวิทยาลัยเราทำเป็นโค้ดล้อการเมืองชุดแม่งูเอ๋ย ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ปี 2562

ตอนนั้น เราคิดว่ามันใหญ่ รู้สึกว่ามันเหนื่อยแล้วกับการที่เราได้สะท้อนภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดในปีนั้นให้สังคมรับทราบ  โดยหวังให้คนในสังคมตระหนักว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วคุณอยากเปลี่ยนแปลงอะไรไหม แต่พอสุดท้ายเรากลับมาคิดว่า ไอ้สิ่งที่ทำลงไป มันไม่ได้อะไร จริงๆ น่าเสียดายมาก เพราะในพื้นที่นั้น เรามีโอกาสเยอะในการพูด มีสื่อจับจ้องเยอะในงานฟุตบอลประเพณี แต่กลับไม่ได้ใช้พื้นที่นั้นได้สมบูรณ์

อันที่จริง สิ่งที่ทำได้อีกอย่างคือ สะท้อนว่าตัวคนในชุมนุมเชียร์เอง คนที่ทำล้อการเมืองคิดอะไรอยู่ แล้วอยากให้คนรับทราบเรื่องอะไร เจาะจงไปเรื่องเดียวเลยก็ได้ แต่ทุกครั้งที่ผ่านมา มันเหมือนเป็น norm ของการล้อการเมืองว่าต้องจบแค่สรุปเหตุการณ์รายปี แล้วก็จะเป็นแค่นั้นตลอดไป

ก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ทำไมถึงเลือกเรียนด้านสังคมวิทยาฯ 

เอาจริงๆ เราอยากทำงานอยู่ในวงการเมืองอยู่แล้วนะ ที่เรียนด้านนี้ ส่วนหนึ่งคืออยากทำวิจัยนโยบายให้พรรคการเมือง เพราะคิดว่านั่นคือสิ่งที่น่าจะทำได้ เราไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นตัวหลัก แค่อยากสนับสนุนเฉยๆ คิดแค่นั้น แล้วสังคมวิทยาก็เหมาะกับคนขี้สงสัย ถ้าเรียนคณะนี้จะได้เข้าใจมากขึ้น

แล้วอะไรที่ทำให้อยากทำนโยบาย หรืออยู่เบื้องหลังพรรคการเมือง

คิดแค่ว่า อยู่ตรงไหนก็ได้ที่มันจะช่วยในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ตอนนั้นคิดแค่นี้ว่าอยู่ตรงไหนก็ได้ เป็นตัวเล็กตัวน้อยแค่ไหนก็ได้ขอแค่ได้ช่วย ก็พอใจแล้ว

นี่คือความฝันช่วงมัธยมปลาย 

ใช่ แต่จริงๆ แล้ว เคยมีฝันก่อนหน้านั้นคือการสร้าง ‘ความเปลี่ยนแปลง’ เราเคยอยากเป็นนักข่าว อยากเป็นแอนิเมเตอร์ อยากเป็นคนทำหนัง อย่างเช่นตัวการ์ตูน ถ้าทำการ์ตูน ก็เข้าถึงคนได้ง่าย เข้าถึงเด็กได้ แล้วเราสามารถใส่ข้อมูลไว้ในการ์ตูนได้ เหมือนเป็นสื่อให้เขาได้รับทราบอีกที

อย่างไรก็ตาม จุดหมายปลายทางอยู่ที่เดียวกันคือ อยากทำอะไรที่สามารถขับเคลื่อนสังคมได้

อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมามองว่า จะไม่ไปสาย Animator แล้ว จะมุ่งมาทางการเมือง ทำเรื่องนโยบายแน่ๆ 

เป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า ตอนแรกอยากเป็น Animator จะเข้าไปเรียนที่ ABAC แล้ว แต่สุดท้ายก็มีค่านิยมของคนไทยว่า ถ้าคุณเก่ง ก็ต้องเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาลให้ได้  คือถ้าคุณเก่ง คุณต้องเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาลได้ ถ้าคุณเรียนเอกชนแปลว่าคุณรวยแต่โง่ มันยังมีภาพจำอย่างนั้นอยู่ในความคิดเรา เพราะพี่สาวเราที่เรียน ABAC โดนมา เราก็เลยไม่อยากให้ใครมาสบประมาท ก็เลยเลือกดูว่าจะเข้าคณะไหนได้บ้าง เลือกเรียนธรรมศาสตร์หมดเลย 4 อันดับ สังคมวิทยา ปรัชญาการเมือง เศรษฐศาสตร์ แล้วก็ศิลปศาสตร์-ปรัชญา เราติด 3 อันแรก แต่ว่าสุดท้ายก็เลือกสังคมวิทยาอยู่ดี

ที่เป็นแบบนี้ ส่วนหนึ่งคือพ่อมาช่วยสนับสนุนความคิด เรานั่งอ่านหลักสูตรกับพ่อ แล้วรู้สึกว่ามันน่าจะเหมาะกับเรามากกว่า แล้วคณะนี้ มันสามารถไปเป็นนักข่าวต่อได้ด้วย ก็เลยโอเค มาทางนี้แล้วกัน ถ้าไม่เป็นนักข่าว ก็อาจจะเป็นนักวิจัย หรืออาจเป็นอย่างอื่นก็ยังได้

คนที่อยากเป็นนักข่าว ส่วนหนึ่งจะชอบอ่านข่าว ติดตามการเมือง หรืออ่านหนังสือประวัติศาสตร์ คุณเป็นแบบนั้นไหม

ตอนเด็กๆ ไม่ได้อ่านหรอก เราไม่ได้สนใจขนาดนั้นเลย แค่รับทราบจากชีวิตประจำวันว่ามันมีสิ่งผิดปกติ ไม่ค่อยอ่านหนังสือการเมือง ไม่ค่อยอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ แต่เรามีความสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่า ทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

เช่น ตอนเด็กๆ เราไปกินข้าวต้มโต้รุ่ง มันมีเด็กตัวน้อยๆ ต้องมาขายพวงมาลัย ขายดอกไม้ ขายตุ๊กตา เราก็ถามแม่ถามพี่ว่า ทำไมดึกแล้ว น้องเขายังต้องมาขายอยู่อย่างนี้ แล้วแม่น้องเขาไปอยู่ไหน มีใครช่วยเขาหรือเปล่า คนที่ส่งมาขายเป็นแม่เขาจริงๆ หรือเปล่า เพราะว่าเราเคยเห็นในหนังในทีวีว่ามีขบวนการเอาเด็กมาทำงาน เราก็สงสัย แต่ตอนนั้นไม่มีใครตอบเรา และเราก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร  เพราะเรายังเป็นเด็กประถมอยู่ ก็เลยปล่อยมันไป หรือตัวอย่างเช่นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทำไมรถติดจังเลย ทำไมรถเมล์ไม่มีเส้นทางบอกว่าจะไปโผล่ที่ไหน ก็เลยเป็นเหตุให้เราไม่ชอบนั่งรถเมล์ เพราะไม่รู้เส้นทาง ต้องนั่งยังไง ต้องลงที่ไหน แต่ในต่างประเทศ ในอังกฤษ เขามีแผนที่ให้เลยว่า ขึ้นสายนี้ เจอตรงนี้ ลงตรงนี้ มาเวลานี้ แล้วทำไมเราทำแบบเดียวกันไม่ได้

หรือฟุตบาท เราอยากเดินเที่ยวก็เดินได้ไม่สะดวก กลัวสะดุด มันก็วกกลับมาที่ว่าถ้าการเมืองมันดี เราก็คงมีชีวิตที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี ที่ติดใจที่สุดอีกอย่างก็คือ ตอนเด็ก เราถูกทำโทษ ต้องจีบมือ แล้วครูจะเอาแปรงลบกระดานมาเคาะตอกเล็บ ซึ่งมันเจ็บมาก ทั้งที่ตอนนั้น กฎกระทรวงศึกษาธิการเพิ่งออกมาว่าห้ามลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง พอตอนม.4 จะโดนครูตี ก็บอกครูว่า ห้ามตีเรานะ แต่คนอื่นไม่รู้สิทธิ์ ก็ยอมให้ครูตีไปเรื่อยๆ ผลสรุปสุดท้ายคือเพื่อนๆ ในห้อง มองว่าทำไมเราไม่โดนทำโทษเหมือนเขา เพราะเขามองว่าครูมีอำนาจมากที่สุดในโรงเรียน ถ้าทำอะไรที่มันผิดไปจากที่ครูบอก จากที่ครูคาดหวัง คือไม่ดี ทั้งที่สิทธิ์ของเขามันมีอยู่ แม้อำนาจของครู ก็ไม่สามารถลิดรอนสิทธิ์นี้ได้

จริงๆ ถ้าเด็กทุกคนรู้สิทธิ์ของตัวเอง รู้ว่าทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ครูก็ทำแบบนี้ไม่ได้ ในทางกลับกัน ครูที่ทำหน้าที่สอน กลับไม่บอกสิทธิ์เด็ก และยังไม่ทำตามกฎอีก เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ติดใจมากที่สุด

อะไรทำให้คนอย่างคุณที่ไม่เคยสนใจการเมืองจริงจัง เริ่มหันมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

พอขึ้นปี 2 จากที่เคยอยู่ชุมนุมเชียร์ ก็มีรุ่นพี่ชวนให้เข้าพรรคนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนแรกเขาก็ทาบทามให้เข้าพรรคหนึ่ง แต่เรารู้สึกว่าอุดมการณ์ไม่ตรงกัน เลยย้ายมาพรรค ‘โดมปฏิวัติ’ ซึ่งมีเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) อยู่ในนั้น ก็เลือกทำฝ่ายยุทธศาสตร์ ซึ่งหัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์คือเพนกวิน ก็เลยเริ่มสนิทกับเพนกวิน

ทีนี้ พรรคโดมปฏิวัติไม่ได้ทำงานแค่ในรั้วมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ทำข้างนอกด้วย เลยเชิญชวนกันออกไปดูสังคมข้างนอก เพนกวินก็พยายามดึงทุกคนออกไปยื่นหนังสือ ไปประท้วงชูป้าย ไปลงชุมชน ที่แรกที่เราเลือกคือสมัชชาคนจนที่มานอนหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ปัญหาของสมัชชาคนจนมีมายาวนานกว่า 20 ปี แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้ได้เห็นอะไรเยอะขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ เรานึกว่าเวลามีปัญหาอะไร พอไปบอกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือยื่นหนังสือรัฐบาล ปัญหานั้นคงถูกแก้ได้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ประชาชนไม่เคยมีความสำคัญ

หลังจากนั้น เราก็เข้าร่วมสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย  (สนท.) ซึ่งพอพรรคโดมปฏิวัติเป็นส่วนหนึ่งของสนท. เพนกวินก็ดันเราเข้าไปเป็นโฆษก นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งของการมาอยู่ตรงนี้ ได้ออกสื่อเยอะขึ้น ต้องให้สัมภาษณ์ ต้องเข้าร่วมประชุม แล้วก็กลายเป็นผู้ปราศรัย วันที่ 10 สิงหาคมเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เราไม่ได้เป็นแค่นักศึกษาเฉยๆ อีกต่อไปแล้ว

ทำไมเขาถึงเลือกคุณเป็นโฆษก เป็นคนพูดเก่งหรืออธิบายเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย

จริงๆ เราไม่ได้พูดเก่งเลย แต่ไม่รู้เพนกวินเห็นอะไร (หัวเราะ) ทุกวันนี้ถามมันก็ยังไม่ยอมบอกว่าทำไมถึงเลือกกูเป็นโฆษก เพนกวินมันแค่กระซิบบอกว่าเป็นโฆษกไหม ทำแบบนี้นะ แค่ให้สัมภาษณ์ เราก็เลยบอกว่าได้ๆ

ตอนนั้นเป็นประเด็นอะไรที่ให้สัมภาษณ์

ประเด็นแรกๆ คือเรื่องการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วงโควิด-19 รอบแรก เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แล้วก็ตามด้วยเรื่องการหายตัวของพี่ต้าร์ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

แล้วเรื่องสถาบันฯ เริ่มเข้ามาตอนไหน

ก็มาจากเรื่องพี่ต้าร์ ตอนนั้นเรานั่งกินข้าวอยู่กับพี่สมยศ (สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย) ลูกสาวพี่สมยศโทรมาบอกว่าพี่ต้าร์หายไป แล้วทุกคนตรงนั้นรู้พร้อมกันหมดเลย แย่แล้วว่ะ

ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่า ทำอะไรก็ได้ ให้เรื่องนี้เข้าสู่สื่อกระแสหลัก ด้วยความหวังว่า ถ้ามีคนรู้เยอะ อาจเป็นตัวช่วยในการตามหาเขา ด้วยความหวังว่า เขาอาจจะไม่หายไปไหน วันต่อมาเราเลยจัดม็อบที่สกายวอล์คปทุมวัน แล้วก็ต่อเนื่องจากนั้นมาเรื่อยๆ

แล้วก่อนจะเกิดเหตุการณ์ปราศรัยวันที่ 10 สิงหาคมที่ธรรมศาสตร์ คุยกันว่าอย่างไร เพราะหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น อานนท์ นำภาเป็นคนพูดเปิดทางไว้ให้แล้วที่ราชดำเนิน

จริงๆ เรื่องนี้ก็เป็นความคิดของในวงธรรมศาสตร์ แต่ยังพูดในวงเล็กมากๆ เอาง่ายๆ คือมีไม่เกิน 6 คน เริ่มจากคนไม่เยอะ เพราะไม่แน่ใจว่าพูดได้ไหม พูดกับใครได้บ้าง ขนาดพวกเรา เจอกันเองยังไม่กล้าทักกล้าถามเรื่องนี้

ตอนนั้น พอม็อบมาถึงธรรมศาสตร์ เราก็ประชุมกัน 2 สัปดาห์ ก่อนจะถึงวันที่ 10 สิงหาคม เพนกวินก็ไปทาบทามอานนท์ว่าพูดเปิดทางให้หน่อย ทีนี้ด้วยความที่อานนท์เขาเป็นทนาย ก็มีวิธีการพูดที่จะปลอดภัยมากกว่าเรา ก็เลยเป็นอานนท์มาพูดก่อนในวันที่ 3 สิงหาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ก่อนหน้านั้น เราเห็นตั้งแต่ม็อบแรกที่กลุ่ม Free Youth จัด ว่าคนอยากพูดเรื่องนี้ ป้ายที่พูดเรื่องนี้ก็เยอะ แล้วก็กระแสจากรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสด้วย ซึ่งวันนั้นก็มีคนอยู่หลายแสนคนแล้ว

ตอนที่คุยกัน คิดไหมว่ามันจะเป็นประเด็นจุดติด นอกจากที่เราเห็นในรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส

ตอนนั้นเหมือนเราลงพนันกันมากกว่า แต่เราอยู่ในข้างที่เห็นว่าอย่างไรก็จุดติด แล้วอย่างน้อยก็เป็นธรรมศาสตร์ด้วย เลยเริ่มจากเวทีที่ธรรมศาสตร์

ตอนนั้น ไม่ได้บอกใครว่าจะเป็นม็อบที่พูดเรื่องสถาบันฯ แล้วไม่ใช่คนเดียวที่พูด แต่มากกว่า 4 คนที่พูดเรื่องนี้ รู้กันอยู่ประมาณ 4-5 คน ว่าจะมี 10 ข้อเรียกร้องนั้นออกมา เอาจริงๆ ก็เหมือนหลอกเพื่อนอยู่เหมือนกัน แต่หลังจากนั้นเพื่อนก็เข้าใจว่า ทำไมเราถึงบอกใครไม่ได้

ภาพ: AFP

แล้ว 10 ข้อเรียกร้อง มีที่มาอย่างไร

10 ข้อ มาจากข้อเสนอของอาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส) เมื่อหลายปีก่อน ก็เอามาปรับ คนเขียนมีแค่ไม่กี่คน คนหนึ่งคือเพนกวิน อีกคนคือเพื่อนที่เรียนทางรัฐศาสตร์ ทางนิติศาสตร์มาช่วยกันเขียน ก็เลยออกมาเป็น 10 ข้อที่ปรับตามยุคสมัยแล้ว

มันมีเหตุการณ์ที่เคยเกิดก่อนหน้านี้ อย่างที่สุรชัย แซ่ด่าน หรือวันเฉลิมโดน กลัวไหมว่าสักวันจะเป็นแบบนั้น 

กลัว กลัว กลัว เราคิดไปก่อนเลย เราคิดไปถึงแบบ … ฉันขึ้นไปจับไมค์แล้ว ลงมากูตายแน่เลยว่ะ คิดไปถึงแบบนั้นเลยนะ แต่ว่ามันเป็นการลองเสี่ยง ถ้าคนเห็นด้วยเยอะ เราก็จะไม่เป็นอะไร ถ้ามันจุดติด เราจะปลอดภัย แล้ววันนั้นเราลงพนันไปว่ามันน่าจะจุดติด แล้วมันก็ติดยาวมาถึงทุกวันนี้

เสียงสั่นไหมตอนขึ้นไปพูด

ตัวสั่นเลย ขาสั่น มีจังหวะหนึ่งเกือบล้มลงไปด้วยนะ เพราะว่าขาอ่อนมาก ต้องจับขาไมค์แล้วก็ประคองตัวเองขึ้นมาอยู่นิ่งๆ เพราะมันเป็นครั้งแรกด้วยที่เราขึ้นปราศรัยจริงๆ เราตื่นคนข้างหน้าเวที เพราะคนเยอะมาก มองไม่สุดขอบด้วยซ้ำ

ปฏิกิริยาแรกๆ ที่ได้จากเวทีนั้นคืออะไร

คนแรกคืออานนท์ อานนท์ไม่รู้ว่าว่าเราจะหยิบ 10 ข้อไปพูด พอเราให้อานนท์ดู เขาก็หันมาถาม มองหน้าแล้วบอก “เอาอย่างนี้เลยเหรอรุ้ง มึงไปกินรังแตนมาจากไหน” คำนี้เลย จำได้แม่น (หัวเราะ)

เราก็บอกว่า แบบนี้แหละพี่ หนูคิดมาแล้ว แล้วอานนท์ เขาต้องพูดหลังรุ้งไง รุ้งพูดไปก่อน แล้วอานนท์ต้องพูดตาม เขาก็ยังบ่นจนถึงทุกวันนี้เลย ไปเจออานนท์วันก่อนก็ยังบ่นอยู่เลยว่า เอากูไปไว้หลังรุ้งทำไม (หัวเราะ) มึงปรี๊ดไปแล้ว แล้วกูจะทำยังไงต่อ ก็ยังบ่นกันอยู่

แล้วตอนนั้นรู้สึกไหมว่า ฝ่ายรัฐจะเอามาตรา 112 กลับมาใช้แน่ หลังจากที่พูดออกไป

คิด แต่มันอยู่ตรงฐานว่า เราเป็นนักศึกษา แล้วก็อีกอย่างหนึ่งที่เฟมินิสต์อาจจะไม่ชอบ คือการที่เราเป็นผู้หญิง มันทำให้เกราะของเรา ค่อนข้างหนา เพราะว่าตอนนั้นผู้หญิงที่พูดเรื่องสถาบันฯ มีน้อย เราคิดว่าอย่างไรก็ตามมันถูกใช้อยู่แล้ว และอาจจะใช้มากกว่านั้นด้วย แต่ถ้าเราทำให้กลุ่มเราเองมีอำนาจต่อรองกับทางรัฐบาล และสถาบันฯ มากขึ้น มันก็จะยังดึงขากันอยู่ ซึ่งตอนนี้เราก็ยังดึงขากันอยู่

ฟังแล้ว เรื่องวันที่ 10 สิงหาคมเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญ คิดไหมว่า หลังจากเหตุการณ์วันนั้น พอยกเรื่องนี้ขึ้นมา จะมีทิศทางเคลื่อนไหวอย่างไรต่อ

คิดกันไว้ว่า โอเค เราอาจจะใส่ข้อมูลให้ผู้ปราศรัยเยอะขึ้น ไม่อยากให้เป็นม็อบอารมณ์ แต่อยากให้เป็นม็อบประเด็น ซึ่งในทุกๆ ครั้ง คนที่ออกมาพูดต้องมีประเด็นเป็นของตัวเอง และต้องมีความรู้มากพอที่จะพูด

แต่ว่าบางครั้ง ในยุทธศาสตร์ของเรา มันก็ต้องไม่มีเหมือนกัน เพื่อให้มันไหลไปตามสถานการณ์การเมือง ซึ่งตอนนี้ภาพมันก็เป็นอย่างที่เห็น อาจมีหลุดบ้างช่วงที่เราติดคุกไป ที่เกิดเป็นม็อบออร์แกนิค มีหลายกลุ่มก้อนขึ้นมา อาจทำให้เชิงประเด็นของม็อบหลายอย่างหายไป ซึ่งทางฝั่งเราก็พยายามดึงกลับมา โดยกุญแจสำคัญของการทำม็อบแต่ละครั้งคือ ต้องได้อะไรกลับมา

ภาพ: AFP

แล้ววันนี้ สิ่งที่ได้กลับมาคืออะไร

วันที่ 10 สิงหาคม เป้าหมายเดียวของเราคือ เปิดเพดานให้พูดได้ 19-20 กันยายนคือทำอย่างไรก็ได้ให้มันไปไกลกว่านี้ เหมือนไปหยิกเขา ให้เขามาสนใจ ซึ่งมันก็ทำได้ คือเราทำไปแล้ว เราก็เห็นปฏิกิริยาต่อจากนั้น อาจจะวันถัดไปก็ได้ หรืออาจจะอาทิตย์หนึ่งก็ได้ แต่เราก็เห็นความเคลื่อนไหวของสถาบันฯ

แต่พอเป็นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของคณะราษฎร ที่มีเรื่องสถาบันฯ พ่วงเข้ามา หลายคนบอกว่า พอเอาเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยว อาจทำให้ข้อเรียกร้องอื่นๆ อย่างให้นายกฯ ลาออก หรือแก้รัฐธรรมนูฐญ เป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย คุณมองอย่างไร

จริงๆ เรามองกลับกัน มองว่ามันทำให้สองข้อแรกง่ายขึ้นด้วยซ้ำ เพราะข้อ 3 เป็นเรื่องหนักและใหญ่สุด ถ้ารัฐบาลมองว่าสถาบันฯ ยังสำคัญ ข้อ 1 กับข้อ 2 ก็ต้องทำได้ อาจจะสักข้อหรือทั้ง 2 ข้อ ลองนึกดูสิ หากไม่มีข้อ 3 เราจะใช้อะไรมาต่อรองให้ข้อ 1 กับข้อ 2 ทำได้สำเร็จ

รู้สึกไหมว่า พอมีข้อ 3 มาแทรก ทำให้แนวร่วมบางส่วนหายไป

ช่วงแรก อาจจะมีคนหายไปบ้าง จนทำให้เรามองไม่ค่อยเห็นว่ามีใครมาร่วมกับเราบ้าง แต่พอเวลาผ่านไป ทุกวันนี้คิดว่าแนวร่วมเราเยอะมาก เยอะแบบทวีคูณ ไม่ใช่แค่ในวงที่เรารู้จักนะ แต่ในวงที่เราไม่รู้จักหลายๆกลุ่มกลายมาเป็นแนวร่วม

มองปลายทางของเรื่องนี้อย่างไร

เรามองว่า ถึงอย่างไรก็ตามก็ต้องพูดเรื่องนี้อยู่ดี ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ถ้าปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ เรื่องอื่นก็แก้ได้ เพราะโครงสร้างประเทศเรามันเป็นแนวดิ่ง จากด้านบนสุดลงมาที่เครือข่าย ลงไปถึงราก มันมี ‘ปรสิต’ ที่อยากจะกินส่วนไหนก็สามารถทำได้เลย เพราะเป็นอำนาจที่เบ็ดเสร็จ แล้วก็อาจจะมีอำนาจเหนือกฎหมายแฝงอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้เครือข่ายดี ก็ต้องจัดระบบระเบียบ ทำให้ก้อนด้านบนสุดคลายตัวออก ตัดความสัมพันธ์กับภาคการเมืองออก เพราะถ้าเราบอกว่า พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ ประมุขก็ต้องเป็นประมุขจริงๆ แล้วต้องอยู่ข้างบน ไม่ลงมายุ่งกับการเมือง

15 ตุลาคม คุณถูกบุกจับ หลังจากรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รู้สึกอย่างไรบ้าง

(หัวเราะ) ยังไงดีวะ คือตอนนั้นเนี่ย ไม่เคยคิดเลยว่าจะโดนจับ คิดว่าคนอื่นโดน เพนกวิน ไมค์ อานนท์ โดนแน่นอน แต่เรายังประเมินตัวเองต่ำอยู่ ในสายตาเขา เราอาจจะไม่ใช่ เพนกวินโดนแน่ๆ อานนท์ ไมค์ (ภาณุพงศ์ จาดนอก) โดนแน่นอน ตอนนั้นเรายังประเมินตัวเองต่ำอยู่ไง เราอาจจะเป็นใครก็ได้ในสายตาเขาไง

แต่ดูคุณแรงสุดเลยนะ วันที่ 19 กันยายน

ใช่ เราลืมคิดเรื่องนี้ไป (หัวเราะ) แต่ว่าวันนั้นเราออกมาก่อน เพราะยังต้องเหลือคนที่มาร่วมขบวนการต่อ ก็เลือกกันว่า ใครจะอยู่บ้าง ใครจะไปบ้าง ก็เลือกกันเสร็จ พอเลือกเสร็จ กลายเป็นว่าโดนจับเพิ่มอีก 2 คน สุดท้ายก็มารู้ว่าจะโดนจับตอน 6 โมงเช้า

ถ้าจำได้ ตอนที่ไลฟ์ออกแถลงการณ์นั้น รู้แล้วว่าตำรวจอยู่ข้างล่างมารอจับเราอยู่ ยังไงก็ไม่รอด เลยทำแถลงการณ์ พอแถลงการณ์เสร็จก็เตรียมขึ้นไปนอน เพราะทั้งคืนนั้นยังไม่ได้นอน แล้วถ้าโดนจับไปแต่ยังไม่ได้นอน ก็น่าจะแย่ ที่ไม่คาดคิดคือ มีเพื่อนอีกคนที่โดน เพราะเขาแทบไม่ได้ทำอะไรเลย แค่อ่านประกาศคณะราษฎร ใช้เวลาแค่ 2-3 นาทีเท่านั้น แต่ก็โดนรวบไปด้วย

แล้วตอนถูกจับ เขาบอกไหมว่าจะโดนอะไรบ้าง

เขาจะใช้วิธีพูดว่า ไปทำเอกสารแปปเดียว เดี๋ยวก็ได้ออกมาม็อบตอนเย็น ใครจะเชื่อ กูไม่เชื่อ (หัวเราะ) ก็เลยฝากงานกับเพื่อนไปเลยว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ม็อบต้องจัดต่อ เป้าหมายต้องเหมือนเดิม ห้ามเปลี่ยน  ฝากเพื่อนไว้แค่นี้ก็ บาย กูไปละนะ 

ตอนอยู่ในคุก รู้อะไรเกี่ยวกับข้างนอกบ้างไหม

เราอยู่ในนั้น 16 วัน ก็รู้บ้าง แต่จะรู้เหมือนเราอ่านพาดหัวข่าว ไม่ได้รู้รายละเอียด รู้ว่ามีการเรียกร้อง Free พวกเรา แล้วก็รู้ว่ามีการปรับตัวบางอย่างของสถาบันฯ

คุณบอกว่าคุณเปลี่ยนไป หลังจากเข้าเรือนจำ 16 วัน คุณไปเจออะไรในนั้นบ้าง

สิ่งที่เรารู้คือ ต้องปฏิรูปคุกด่วน เพราะข้างในมันแย่มาก เหมือนเราอยู่ในคอกสัตว์ เหมือนเราเป็นสัตว์ตัวหนึ่งที่รอเขาเอาอาหารมาให้ รอให้เขาบอกว่าเราต้องทำอะไร เพราะตารางมันเป๊ะๆ ไปหมด ตื่นตี 5 สวดมนต์ มีเวลานอนสักนิดหนึ่ง 6 โมงครึ่ง ต้องมาร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี

คุณร้องไหม

ไม่ร้อง (หัวเราะ) แต่คนข้างในร้อง เราก็ไม่กล้าอะไร เข้าใจใช่ไหม มันอยู่ห้องเดียวกัน และบางทีมันจะเป็นผลัดๆ ก็จะแบ่งกันไปอาบน้ำในแต่ละห้อง เพราะอยู่ในช่วงกักตัว เฝ้าระวังโควิด-19

ถ้าย้อนกลับมาตรงนี้นิดหนึ่งคือ ถ้ากักโรคอยู่ ก็ไม่ควรที่จะอยู่พื้นทีเดียวกันเลย หรือไม่ควรที่จะยัด 50 คนเข้ามารวมกันในห้องกักโรค เพราะวันนั้น ถ้าติดคือทั้ง 50 คน ติดกันหมดแน่นอน แต่ด้วยพื้นที่ที่ไม่พอก็เลยต้องทำแบบนี้ บางทีลงไปใกล้เวลาเคารพธงชาติ ถ้าอาบน้ำอยู่แล้วเพลงชาติขึ้นมา ทั้งที่เรานุ่งผ้าถุง ตัวเปียก หรือใส่ชุดชั้นในอยู่ ก็ต้องยืนทั้งแบบนี้ ซึ่งมันทุเรศมาก หลังจากเคารพธงชาติ ต้องสวดมนต์ต่อในสภาพแบบนั้น ก็ต้องนั่งยองๆ ลงไปด้วย ซึ่งแม้เราจะไม่ได้นับถือศาสนา หรือนับถือศาสนาอื่น ก็ต้องลงไปนั่งสวดมนต์อยู่ดี แล้วก็ขึ้นมาอยู่บนห้องยาวๆ

ป้ายหน้าห้องจะบอกว่าช่วงเวลาไหนต้องทำอะไร อย่างทีวี จะเปิด 3 เวลา คือก่อนเที่ยง หลังเที่ยง และก่อนนอน แต่ปกติจะเปิดแค่รอบเดียวคือก่อนนอน เพราะไม่มีใครมาเช็ก ตอนเราอยู่ก็มีหลายวันที่แขกมาหา วันนั้นจะดูดีเป็นพิเศษ คือจะเปิดทีวีให้ดูตลอดเวลา มีข้าว มีเสื้อหลวง ชุดหลวงให้ใส่ จากที่ปกติใส่แต่ชุดนอน ทั้งที่แขกก็ไม่ได้เข้ามาหา แค่เดินดูอยู่ข้างหน้า

แล้วสิ่งที่ซัฟเฟอร์อีกก็คือ ชุดหลวงที่เอามาให้ใส่คือเหม็นมาก เหมือนซักแต่ไม่ได้ตาก เขาเอามาให้ใส่ก็ต้องใส่แบบนั้น

ที่จำได้คือ ตอนที่คุณอยู่ข้างในคุก ต้องย้อมผมสีดำ ตัดผมสั้น แล้วก็มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (สมศักดิ์ เทพสุทิน) มาเยี่ยม

คนข้างนอกสนใจเราเยอะ อยากรู้ว่าข้างในเราเป็นอย่างไร แค่เราโดนตัดผม ทุกคนก็เดือดแทน เพราะฉะนั้น เราค่อนข้างมีอำนาจต่อรองพอสมควร  ยกตัวอย่างเช่น ห้องมันจุได้มากสุด 50 คน เรารู้สึกว่ามันเยอะไป มันนอนเบียดกัน แบบตัวติดกันจริงๆ ถ้ามีคนหนึ่งพลิก อีกคนหนึ่งก็ต้องพลิกตามเป็นทอดๆ แล้วบอกว่ากักโควิด แต่ให้คนแออัดขนาดนี้ได้อย่างไร

เราก็พูดกับผู้คุม โดยมีรัฐมนตรีนั่งอยู่ข้างหลังว่า แบบนี้ไม่ได้ วันถัดมาทุกห้องเหลือ 30 คน จาก 50 ซึ่งทำได้ตั้งแต่แรก แต่ไม่ยอมทำ หรืออีกเรื่องมันจะมีตู้น้ำ โดยปกติจะมีคนนำถังน้ำมาให้เรา แล้วเทใส่ตู้ แต่ตู้นั้นจะไม่เคยล้าง แล้วมีกลิ่นน้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน เต็มไปหมด คนที่อยู่ข้างในจะบอกเสมอว่า น้องรุ้ง น้ำตรงนั้นกินไม่ได้นะ แต่พอเราไปบอกผู้คุม หลังจากนั้นก็มีการล้างถังทุกวัน  หรือข้าวไม่พอ ก็เติมได้ ซึ่งปกติเขาจะไม่ให้เติม แถมยังด่าเหมือนหมูเหมือนหมาใส่คนที่ขอเติมด้วย

อีกเรื่อง ข้าวของเครื่องใช้ที่นักโทษได้รับเพื่อเริ่มต้นการใช้ชีวิตในคุก เช่น เครื่องอาบน้ำ สบู่ ยาสระผม ผ้าอนามัย ก็จะได้ครั้งเดียว ทั้งที่มีของที่สามารถเบิกได้ตลอด แต่เวลาคนไปขอ เขาก็จะด่ากลับเหมือนหมูเหมือนหมาเช่นกัน ทั้งที่คนที่อนุมัติให้เบิกก็ไม่ใช่ผู้คุม แต่เป็นผู้ช่วยผู้คุมซึ่งเป็นนักโทษเหมือนกัน แต่พอเราอยู่ เราและคนอื่นๆ จะสามารถขอเบิกยาสระผม ขอผ้าอนามัยได้ เพราะถ้าไม่ให้ เราก็จะถามว่า ทำไมให้ไม่ได้

เอาเข้าจริง เรื่องพวกนี้ เราไม่ต้องมีอำนาจต่อรองก็ได้ แต่ว่าคุณแค่ทำให้มันเป็นไปตามระบบ ตามสิ่งที่มันควรจะเป็น ก็โอเคขึ้นแล้ว เพราะอยู่ในนั้น ทุกอย่างมันแย่อยู่แล้ว เรายังต้องมาซัฟเฟอร์อีกว่าฉันจะอยู่รอดไหม ทั้งๆ ที่ในนั้น เราไม่ควรลงโทษใครซ้ำ มันควรเป็นที่ที่เอาคนไปเรียนรู้ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม ก่อนจะออกมาในสังคมอีกครั้งหนึ่ง แล้วปล่อยเขาออกไปในตอนที่เขาพร้อมแล้ว

ภาพ: AFP

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า พอออกจากคุกแล้วรู้สึกเคว้งไปพักหนึ่ง เพราะอะไร

เหมือนเราถูกทำร้ายใจทุกวัน ทนายเรายื่นประกันให้ทุกวัน แต่ทุกๆ วันจะได้ผลลัพธ์เหมือนเดิมคือ ไม่ให้ประกัน เหมือนเราตื่นเต้นมากว่า วันนี้เราอาจจะได้ออกนะ แต่พอตกเย็นเราก็รู้ว่าไม่ได้ มันทำร้ายจิตใจทุกวัน

ถึงจะเตรียมใจไว้แล้วว่าต้องติดคุก แต่พอติดจริง มันต้องเริ่มใหม่ เราเจอใครก็ไม่รู้ เราต้องทำตัวอย่างไร เราไม่มีอิสรภาพ ไม่ได้เจอเพื่อนๆ ไม่ได้เจอครอบครัว ไม่ได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ ไม่ได้เรียน ไม่ได้ทำอะไรก็ตามที่เราอยากทำ เราได้แต่ทำตามที่เขาบอกให้ทำเท่านั้น

เราเรียกร้องเสรีภาพ แต่เราถูกยึดเสรีภาพ มันก็เลยร้าวมาก พอออกมาต้องใช้เวลาสักพัก กว่าจะกลับมาเป็นแบบเดิมได้

อะไรทำให้คุณกลับมาได้

เพื่อน เราโหยหาเพื่อนมาก เราอยู่ด้วยกันทั้งวันไง เวลาทำงานคืออยู่ด้วยกันแทบ 24 ชั่วโมง ช่วงแรกอยู่กับเพื่อนแทบตลอดเวลา ไม่อยู่คนเดียวเลย เวลานอนก็ไม่อยู่คนเดียว พออยู่คนเดียวมันแย่ เราจะเก็บไปฝัน ตอนที่อยู่ในคุกเราฝันว่าจะได้เจอเพื่อน ตื่นมาแล้วจะเจอเพื่อน แต่ตื่นมากลับเจอลูกกรงแทน ตอนออกมา อยู่ที่โรงพยาบาล เราฝันว่ากลับไปอยู่ในคุก ตื่นมาก็ร้องไห้กลัว เริ่มงงว่าอะไรจริง ไม่จริงอยู่พักใหญ่ เดือนหนึ่งก็ต้องอยู่กับเพื่อนตลอดเวลา ตอนนี้มีแฟนก็ดีขึ้น มีคนช่วยดูใจ จนตอนนี้คิดว่าตัวเองกลับมาเป็นปกติแล้ว

ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่ 10 สิงหาคม ตัวคุณเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

มันทำให้เรานิ่งขึ้น เราเรียนรู้ว่าถ้าเมื่อไหร่ที่เราลน หรือมีใครที่ลนขึ้นมา แผนมันจะพัง ทุกอย่างที่เตรียมการมันจะพังไปหมด เพราะการทำงาน ไม่ใช่แค่ว่าเรามีขั้นตอน แต่มันทำงานกับใจคนด้วย เอาไม่เอา สู้ไหมหรือถอยแล้ว ทุกคนเลยเรียนรู้ที่จะนิ่ง ใจเย็น และคิดให้รอบคอบมากขึ้น

ในอีกแง่มุมหนึ่ง หลายคนมองว่าม็อบแผ่วแล้ว จุดไม่ติดแล้ว คิดอย่างไร

ไม่จริง ถ้าจะบอกว่าแผ่ว คนต้องเริ่มลืมข้อเรียกร้องที่เราพูด ถ้าบอกว่าจุดไม่ติดแล้ว ก็ต้องไม่มีคนออกมาม็อบ หรือออกมาพูดอะไรเรื่องนี้อีก ซึ่งไม่จริง ยังมีคนพูดต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้

เราคิดว่ามันไม่ได้แผ่ว แค่ล้า ซึ่งเป็นปกติของมนุษย์  เราออกมาทุกวัน ทำไมเราจะไม่เหนื่อย แต่ไม่ใช่ว่าเป้าหมายของเรามันหายไป หรืออุดมการณ์หายไป เราแค่พักผ่อนร่างกาย เดี๋ยวเราก็กลับมา และตอนนี้เป็นช่วงเทศกาลช่วงปีใหม่ เราก็อยากให้ทุกคนได้อยู่กับครอบครัว เราก็อยากอยู่กับครอบครัวเหมือนกัน โอเค ใช้ช่วงเวลานี้ก่อน แล้วปีหน้าเรามาลุยกันกันยาวๆ อีกรอบ

ตอนนี้มองเห็นตอนจบของเรื่องนี้หรือยัง มันใกล้ขนาดไหน หรือยังอีกยาวไกล

บอกไม่ได้ แต่ว่าคิดว่าเรามองไปที่เป้าหมายมันตลอดคือ เรารู้ ทุกคนต่างรู้ว่าสุดท้ายแล้วยังไงมันจะจบอยู่ดี มันอาจจะจบในแบบที่เราเรียกร้องทุกวันนี้ หรือมันอาจจะจบในอีกทางหนึ่งที่รุนแรงกว่า แต่ถึงอย่างไร มันก็จะจบ

สิ่งที่เราทำอยู่คือ วางเส้นทางอย่างไรให้มันไปสักทาง แกนนำไม่ได้นำ แต่เหมือนเป็นแค่ตัวแทนที่สะท้อนของประชาชน เราพูดให้ คุณคิดอะไรมา เราพูดให้ เท่านั้นเอง ตอนนี้มันดูแผ่ว บางคนอาจจะรู้สึกว่าทำไมม็อบมันหายไป ไม่มีการเคลื่อนไหวแล้วเหรอ จริงๆ ไม่ใช่ การพักผ่อนมันเป็นสิ่งสำคัญในการต่อสู้ และช่วงนี้จังหวะมันได้พอดี ก็พักก่อนทุกคน เพราะยังไงปีหน้าคงไม่ได้พัก (หัวเราะ) 

มองอย่างไรที่เขาบอกว่าเป็นการต่อสู้ระหว่าง generation ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่

ไม่เชิง เพราะว่ามันก็มีทั้ง 2 เจเนอเรชันที่เข้าร่วม เราอยากเรียกว่ามันเป็นการต่อสู้ระหว่างระบอบใหม่และระบอบเก่า การต่อสู้เรื่องวัฒนธรรม เรื่องจารีต มันเป็นเรื่องนั้นมากกว่า เพราะมีคนหลายกลุ่มอายุที่ร่วมในขบวนการ อันที่จริง ถ้าคุณเห็นด้วยว่าจารีตเดิมดีอยู่แล้ว เหมือนเดิมดีแล้ว ก็ว่าไป แต่ฝั่งเราเห็นว่าไม่ เราต้องเปลี่ยนให้ก้าวหน้าขึ้น ให้ทันสมัยขึ้น ให้เป็นสากลมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นการต่อสู้เรื่องความคิดมากกว่าเรื่องอายุ

มีเรื่องอะไรไหมที่อยากจะสื่อสารให้มากขึ้น

เรารู้ว่ามันมีหลายคนที่คิดเหมือนเรา และคิดว่ามันเพียงพอ เช่น ถ้าเราต้องการเปลี่ยนเรื่องนี้  เราต้องใช้ประมาณ 3% ของสังคม หรือประมาณ 2.2 ล้านคน คิดว่าคนอาจจะมีถึงเท่านั้น แต่เรายังคิดว่ายังเรียกคนออกมาขนาดนั้นไม่ได้

เราย้ำในทุกๆ ครั้ง ว่า ออกมาเหอะ เราไม่อยากให้ทุกคนมองว่าการมาม็อบมันเป็นอะไรที่ทำลายชีวิต ทำลายอนาคต การที่ออกมาคือก้าวหนึ่งในการทำให้อนาคตตัวเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่คุณต้องการ ถ้าคุณเห็นด้วย คุณออกมากับเรา คุณก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น คนกลุ่มหนึ่งทำอะไรไม่ได้ 100 คน 1,000 คนก็อาจจะทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้ามากกว่านั้นมันทำได้จริงๆ

อยากให้เปลี่ยนความคิดว่า มันไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจหรือร้ายแรงในการมาม็อบ เพราะว่าสุดท้ายแล้วมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคุณตั้งแต่เกิดมาในการแสดงความเห็น

การเดินทางที่ผ่านมาถือว่ามาไกลเกินเป้าไหม สร้างความเปลี่ยนแปลงตามที่เราหวังไหม

มันเกินไปเยอะมาก ตอนแรกเรานั่งคุยกันว่าถ้าเราอยากจะให้พูดเรื่องสถาบันฯ กันแบบเปิดเผย อาจต้องใช้เวลา 2 ปี หรือมากที่สุดคือ 5 ปี แต่มันดันเปลี่ยนไปภายในไม่กี่เดือน ในไม่กี่วัน มันก้าวเยอะกว่าที่เราคิดเยอะมาก อะไรที่เราคิดว่า 5 ปีจะเกิด มันเกิดภายในเดือนเดียว เราก็เลยคิดว่าตอนจบของเรื่องนี้อาจจะมาเร็วกว่าที่คิด สิ่งที่เราคิดไว้ว่า 10 ปี อาจได้เห็นใน 2 ปีก็ได้ 

การที่ต้องไปสถานีตำรวจ ขึ้นศาล เป็นภาระแค่ไหน

เหนื่อย เสียเวลามาก แทนที่เราจะไปเข้าเรียน หรืออ่านหนังสืออยู่ที่บ้าน ใช้ชีวิตส่วนตัวบ้าง ก็ต้องตื่นไปสถานีตำรวจ วันหนึ่งเราอาจจะไป 2 ที่ แบบเช้า สน.นึง บ่ายอีกสน. วันหนึ่งไปศาล วันหนึ่งไปอีกที่ มันก็เสียเวลา

เรื่องเรียนเป็นอย่างไรบ้างตอนนี้

ดร็อปเยอะ ปกติเราจะเรียนประมาณ 6 ตัวต่อเทอม เราถอนให้เหลือ 3 ตัว ถอนวิชาหลักก่อน เพราะว่าไม่ไหว อาจารย์ก็บอกว่ารุ้งไม่น่าถอนเลย น่าจะบอกอาจารย์ก่อน เราก็บอกอาจารย์ไปว่าหนูไม่ไหว มันกินเวลาชีวิตเยอะมากในการออกมาทำกิจกรรม เพราะเราต้องใช้เวลากับมันแทบทั้งวัน ยกเว้นเวลานอน เพราะฉะนั้น เวลาที่เราจะเข้าเรียนแบบมีประสิทธิภาพ มันแทบหาไม่ได้เลย เราก็เลยต้องเหลือวิชาที่ง่ายเอาไว้ ตัวยากๆ ค่อยลงเทอมหน้าหรือเทอมถัดไป

ก็คงไม่จบ 4 ปีหรอก แต่มันก็เป็นอะไรที่แลกกัน และเราเรียนช้ามาปีหนึ่ง เพราะเคยไปเรียนแลกเปลี่ยนมา ก็เลยไม่ได้คิดมากเรื่องนี้ เรียนช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร เราคิดว่าตอนนี้มันคุ้มค่า ค่อยเรียนอีก 2 ปีก็ยอมได้ พ่อแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร แล้วแต่ลูก

เวลามีข่าวว่าจะโดนเก็บ หรือโดนอุ้ม เชื่อไหม 

บางครั้งก็เชื่อ เพราะแหล่งข่าวที่ได้มาน่าเชื่อถือ มันถึงต้องมีการประกาศให้ทุกคนรู้ อย่างเช่น ตอนอยู่ที่หอ ที่ตำรวจมา การที่เราเรียกคนมามันทำให้ตำรวจถอยออก เวลามีคนอยู่เยอะ การที่สื่อมาหาเรา ทำให้พวกนี้ถอยออก ไม่กล้าทำ เพราะจริงๆ เขาอยากทำในทางลับ ไม่ใช่ทางเปิดเผย ในทางเปิดเผยก็คือดำเนินคดีเข้าคุก แต่ถ้าเป็นอย่างอื่นจะทำในทางลับ เพราะฉะนั้นเราเลยต้องอยู่กับคนอื่นตลอดเวลาเพื่อความปลอดภัย

คือเราไม่รู้หรอกว่าจริงหรือไม่ แต่ถ้าชะล่าใจแล้วเกิดอะไรขึ้นมา สิ่งที่เราทำก็อาจจะไม่สำเร็จหรือเปล่า หรือเราอาจจะอยู่ไม่ทันเห็นความสำเร็จของมัน ก็เลยต้องป้องกันไว้ก่อน ทุกคนต่างรู้ดีว่า ก่อนหน้านี้การพูดเรื่องนี้สถาบันฯ ในประเทศนี้ มันอันตรายแค่ไหน ไม่ได้บอกให้ทุกคนกลัวนะ เราก็ไม่กลัว ไม่อยากกลัวด้วย แต่ว่าไม่ชะล่าใจดีที่สุด รอบคอบดีที่สุด

ใช้ชีวิตอย่างไร ท่ามกลางข่าวว่าจะโดนอุ้มอีกแล้ว จับอีกแล้ว

โชคดีที่เราอยู่แถวมหาวิทยาลัย ก็เรียกเพื่อนมาหา มาอยู่กับกูนะ เราเช่าบ้านไว้ไง คนก็จะมากองได้เยอะ อยู่จนถึงเช้า แล้วค่อยสลายตัว ถ้ามีเรื่องอะไรก็กลับมาใหม่ ทุกคนพร้อมมา ในกลุ่มเรา มันอยู่กันด้วยความรัก

อะไรที่ทำให้ชนะความกลัว และกลับมาได้

ความคาดหวัง หลายครั้งที่เราออกไปก็จะเจอคนเยอะ ก็จะมีหลายๆ คนที่เข้ามาคุย เคยมีป้ามาพูดว่า “ป้าฝากความหวังไว้ที่หนูนะ ชนะให้ได้นะ”  หรือมีคนแก่อายุแบบ 80-90 มาที่ม็อบ เราก็ไปนั่งคุยด้วย เขาก็ให้กำลังใจ เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถทิ้งทุกคนได้ ไม่สามารถจริงๆ ถ้าเราทิ้ง เราจะรู้สึกผิดมาก มันอาจจะมีแวบหนึ่งที่เคยคิดเหมือนกันว่า อยากเลิกแล้ว แต่เราก็รู้สึกผิดทั้งต่อตัวเองและต่อคนอื่นมาก

เพราะฉะนั้น จะชนะได้ มันไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง แต่ต้องร่วมกัน ไม่อยากให้คนหายไปในขบวนแม้แต่คนเดียว รวมถึงตัวเราเองด้วย

คิดอย่างไรที่ BBC เพิ่งจัดอันดับว่าคุณว่าเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ทรงอิทธิพล

มองว่ามันดี ดีในเชิงที่ว่าเราสามารถมีอำนาจต่อรองกับกลุ่มผู้มีอำนาจได้มากขึ้น เนื่องจากมีคนสนใจเราเยอะทั้งต่างประเทศ และในประเทศ

แต่ว่าอีกทางก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ไม่ชอบการจัดอันดับเท่าไหร่ เพราะเรามองว่าทุกคนมันมีอิทธิพลในตัวเองอยู่แล้ว แต่ถ้ามันต้องยกคนใดคนหนึ่งขึ้นมาเพื่อบอกว่าคนนี้มีอิทธิพล แล้วคนอื่นไม่มีเหรอ บอกว่าคนนี้สำคัญ แล้วคนอื่นไม่สำคัญเหรอ ทุกคนมีความสำคัญในแบบของตัวเอง และมีอิทธิพลในแบบของตัวเอง แต่ละคนสร้างความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในทุกๆ วินาทีของชีวิตอยู่แล้ว

1 ปีที่ผ่านมากับการต่อสู้สอนอะไรบ้าง

มันสอนให้เรารอบคอบ ฉลาดขึ้น เพราะว่าการทำการเมืองมันยาก ตั้งแต่เด็กเรามองว่าการเมืองเป็นอะไรที่ยากที่สุดในชีวิตแล้ว มันมีหลายอย่างต้องประเมิน ต้องระวัง การจะพูดอะไรในแต่ละคำ การจะเจอใคร เข้าหาใคร สนิทกับใคร ก็ต้องเลือก

อีกอย่างหนึ่งที่มันสอนคือ การใช้เวลาให้คุ้มค่า เราไม่รู้เลยว่าวันนี้เป็นแบบนี้ พรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น เราบอกบางคนที่เรารักได้ก็บอกไปสิ เพราะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะไปไหน หรือจะยังอยู่ได้อีกกี่วัน จึงพยายามใช้ชีวิตกับคนที่เรารักให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

เคยคิดไหมว่า ถ้าไม่ได้มาขึ้นเวทีนี้ ชีวิตจะเป็นอย่างไร จะเป็นปนัสยาแบบไหน 

ถ้าไม่ได้ขึ้นเวทีวันนั้น วันนี้อาจจะยังเป็นลูกกระจ๊อกในสภานักศึกษาอยู่ อาจจะเป็นคนที่ถนัดเรื่องวิจัยมากๆ เพราะมันเคยมีช่วงหนึ่งที่เราแม่นมาก ตอนนี้ก็ลืมไปหมด

คงไม่ได้ทำอะไรเยอะ คงไม่ได้เป็นเบื้องหน้าของอะไรก็ตามด้วยซ้ำ เพราะที่ผ่านมาเราจะอยู่แต่เบื้องหลังหรือตรงกลาง แต่ไม่ค่อยออกหน้าเองสักที เพราะไม่กล้า รู้สึกว่าตัวเองเก่งไม่พอที่จะไปทำ ในอนาคตก็อาจจะเรียนจบแล้วอาจจะเข้าบริษัทสักบริษัท ทำวิจัยการตลาด วิจัยนโยบายอะไรก็ว่าไป

อะไรที่เราฝันในอนาคต แล้วมันยังมีโอกาสที่จะได้ทำอยู่ไหม

มี ในอนาคตก็คงเรียนไปก่อน ถ้าในอนาคตอาจจะทำพรรคการเมืองเอง ก็อาจจะแพลนตรงนี้ก่อนก็ได้ เพราะว่าการที่ทำวิจัยได้ การเก็บข้อมูลเองได้ การดูข้อมูลเชิงลึกเองได้ เราว่ามันเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจอะไรมากกว่า ดีกว่าไม่ได้จับข้อมูลเองแล้วมาตัดสินใจ เราไม่ค่อยชอบแบบนั้น

ถ้าคุณบรรลุเป้าหมายได้จริงๆ แล้วมีโอกาสในการเข้าไปในวงการการเมือง เข้าสภา หรือเข้าทำเนียบ คิดไหมว่าอยากทำตำแหน่งอะไร

นั่งคุยกับเพื่อนทั้งวันเลยเรื่องนี้ (ยิ้ม) ด้วยความที่ทำสภานักศึกษา แล้วจะมีจริตอะไรแบบนี้ เช่น อยู่ดีๆ นั่งเมากัน เราก็แบบ กูจะเป็นประธานสภา ให้เชิญอภิปรายครับ

เราอยากเป็นโฆษกรัฐบาล ถ้าเกิดชนะขึ้นมา กูจองเป็นโฆษกรัฐบาล ใครมีอะไรพูดได้เลย ส่วนตอนนี้ก็โฆษกคณะราษฎรไปก่อน

Fact Box

  • รุ้ง ปนัสยา เป็นชาวนนทบุรีโดยกำเนิด จบการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบ นนทบุรี เป็นลูกคนสุดท้อง ในบรรดาพี่สาว 3 คน ตอนเด็กๆ เธอนิยามว่าตัวเองเป็นคนขี้อาย และเป็น 'อินโทรเวิร์ต' แต่หลังจากเป็นเด็กกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป..
  • สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ ยกให้รุ้งเป็น 1 ใน 3 ผู้หญิงไทย ที่ติดอันดับ 100 ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพล และสร้างแรงบันดาลใจประจำปี 2020 ร่วมกับคนไทยอีก 2 คน คือ ซินดี สิริยา เบอร์บริดจ์ นักขับเคลื่อนสิทธิสตรี และกชกร วรอาคม สถาปนิกชื่อดัง
  • การแปรอักษร  'แม่งูเอ๋ย' ในงานฟุตบอลประเพณีฯ ธรรมศาสตร์ - จุฬาฯ ที่รุ้งอยู่เบื้องหลังสแตนด์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562 ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในการแปรอักษรการเมืองที่ 'แสบ' ที่สุดในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลประเพณี
Tags: , , , , ,