สายใยอาหารแห่งการก่อกำเนิด

สายสะดือ​ได้ถูกตัดลง​ เมื่อทารกน้อยถือกำเนิดจากครรภ์มารดา

ในพิธีกรรมแห่งการเกิดของหลายวัฒนธรรม การตัดสายสะดือถือเป็นขั้นตอนที่ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องด้วยสายสะดือคือเส้นทางกายภาพเพียงทางเดียวในการยึดโยงร่างกายระหว่างแม่กับลูกเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน คือเส้นทางลำเลียงสารอาหารจากร่างกายของมารดาสู่ตัวอ่อนในครรภ์​ตลอดเก้าเดือนตราบจนวันคลอด

อย่างไรก็ตาม หลังคมกรรไกรสบกันและเส้นทางดังกล่าวถูกตัดขาด ได้เกิดเส้นทางใหม่ที่มารดาจะปูนเปี่ยมอาหารจากร่างกายของตนเองให้ทารกและผนึกร่างกายของทั้งสองเข้าด้วยกันได้อีกครั้ง ผ่านเส้นทางของ ‘น้ำนม’ การให้นมทารกคือการสละส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ‘แม่’ เป็นอาหารเพื่อให้ลูกเติบโต ​หลังการให้นมทารกจบลง การสละร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งของแม่เพื่อเป็นอาหารให้ลูกดูจะสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้

ยิ่งนานวันที่ลูกเติบโตขึ้น แม่ยิ่งไม่ได้ผูกขาดการทำอาหารเพื่อเลี้ยงดูลูกแต่เพียงผู้เดียว แต่อาหารจากสายสะดือและทรวงอกยังคงมีพลังในฐานะอาหารแห่งการก่อกำเนิดเสมอ​

สำหรับ ‘เพนกวิน’ – พริษฐ์ ชิวารักษ์ คนแรกๆ ที่ยุติการผูกขาดการทำอาหารให้เขาโดยแม่ คือปู่กับย่าซึ่งขอหลานชายที่กำลังน่ารักไปเลี้ยงตั้งแต่ตอนอายุ 3 ขวบ ที่จังหวัดลำปาง และบำรุงเลี้ยงด้วยอาหารอันจะติดตรึงใจเขาไปอีกยาวนาน

“ตอนเด็กๆ กวิ้นโตที่บ้านย่าตลอด ตอนนั้นเราทำงานบริษัท เย็นวันศุกร์เราจะขึ้นรถไฟไปหาลูก เช้าวันเสาร์ถึงลำปาง คืนวันอาทิตย์นั่งรถไฟกลับ มาถึงกรุงเทพฯ เช้าวันจันทร์ทำงานต่อ” สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ เล่าถึงช่วงที่เธอเริ่มสร้างครอบครัว ด้วยภาระของพนักงานออฟฟิศ ทำให้เธอได้เจอลูกเพียงสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น

“กวิ้นจะรู้สึกว่าเขาเป็นคนเหนือ ภาษาล้านนาเขาก็อ่านออกเขียนได้ทั้งที่เราไม่เคยส่งเรียน เขาชอบบอกว่าบ้านเขาอยู่ลำปาง ที่มาอยู่กรุงเทพฯ ก็เพราะมาเรียนหนังสือเฉยๆ นะ ตอนมาอยู่กรุงเทพฯ ใหม่ๆ เขาจะยังมีนิสัยซื่อๆ อยู่ ไม่ค่อยเป็นเด็กกรุงเทพฯ สักเท่าไร”

ครัวในบ้านปู่ย่าของพริษฐ์ ในลังถึงอันระอุร้อนด้วยไอน้ำมีผักนึ่งไว้รอให้หยิบกินแทบทุกมื้อ พริษฐ์จึงยังติดนิสัยชอบกินผักแนมอาหารจนถึงทุกวันนี้ กลิ่นเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าว ขิงแก่ อบเชย รากผักชี พริกไทย โป๊ยกั๊ก ซีอิ๊ว รำเพยจากน้ำพะโล้สีน้ำตาลเข้มกลิ่นคาราเมลหอมหวาน เครื่องเทศแบบจีนมีไม่ขาด ขณะเดียวกันยังมีขนมปัง เนย และทูน่ากระป๋องไว้ทำแซนด์วิช แต่สิ่งที่เป็นดั่งจิตวิญญาณของครัวคือวัตถุดิบของอาหารภาคเหนือ เช่น ถั่วเน่าหรือถั่วเหลืองหมักอัดเป็นแผ่น กระปุกใส่น้ำปู๋ที่ได้จากการเคี่ยวปูนาด้วยไฟร้อนจนได้น้ำปรุงรสสีดำสนิทที่มีกลิ่นหอมนัวฉุนเฉียว พวงดอกเงี้ยวแห้งเตรียมทำขนมจีนน้ำเงี้ยว หนังควายจี่เป็นริ้วยาว ดีปลีเผ็ดร้อน เมล็ดมะเเขว่นแห้งเผ็ดซ่า ฯลฯ และที่ขาดไม่ได้คือโถข้าวเหนียว อาหารหลักประจำครัวถิ่นเหนือ

พริษฐ์มักจะได้รับมอบหมายจากย่าให้รับหน้าที่ ‘หม่าข้าว’ หรือสงข้าวเหนียวแล้วแช่น้ำทิ้งไว้หนึ่งคืนก่อนจะนำมาหุงในวันรุ่งขึ้น ซึ่งการเตรียมข้าวเหนียววิธีนี้จะทำให้ได้ข้าวนึ่งที่หอมนุ่มยั่วน้ำลาย พริษฐ์พูดถึงมุมมองของเขากับข้าวเหนียวและอาหารเหนือว่า

“ช่วงแรกๆ ที่ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ผมต้องปรับตัวหลายอย่าง ตอนอยู่ลำปางผมกินข้าวเหนียวกับอาหารทุกอย่าง กินข้าวเหนียวกับผัดกะเพราด้วย ซึ่งพ่อแม่ผมสอนว่า เวลากินอาหารอีสานตามร้านไม่ให้ใช้มือกินข้าวเหนียว แต่ผมก็ยืนยันความเป็นคนล้านนามากๆ ว่าต้องใช้มือสิ จะมาใช้ช้อนส้อมได้ยังไง ข้าวเหนียวมันเตือนเรามากๆ ว่าเรามาจากที่ไหน เป็นใครมาก่อน

“อีกอย่างที่ผมต้องเรียนรู้คือ ในกรุงเทพฯ ผักทุกอย่างที่เห็นตามรั้วไม่ใช่ว่าเราไปเก็บกินได้ เพราะมันสกปรก อยู่ลำปางมีผักมีอะหยังขึ้นมาเล็กๆ น้อยๆ เราก็เก็บมาให้ย่าทำกับข้าว เอาไปนึ่งเอาไปต้มได้ กับข้าวบ้านเราที่กินอยู่ภาคเหนือ กินแล้วมันสบายใจครับ มันสด อร่อย มีเอกลักษณ์ และให้ความรู้สึกอบอุ่น กินได้เรื่อยๆ กินอย่างสบายใจ”

หนึ่งในอาหารที่กินแล้วสบายใจสำหรับเขาเสมอ คืออาหารที่มีผักกาดดองเป็นส่วนประกอบ

“ผมชอบกินผักกาดดอง ถ้ากินข้าวซอย กินขนมจีนน้ำเงี้ยว แน่นอนว่าต้องมีผักกาดดองมาเป็นเครื่องแนมอยู่แล้ว ผมชอบกินผักกาดดองใส่ไข่ และถ้าสั่งข้าวขาหมู สิ่งที่ผมชอบที่สุดก็คือผักกาดดองนี่แหละครับ วันไหนย่าทำพะโล้ แกจะลุกไปตลาดตั้งแต่เช้าเพื่อซื้อขาหมูเผา แกจะทำเต็มสูตร ใส่ขาหมู ใส่เป็ด ทำหม้อใหญ่ บางวันย่าจะตุ๋นผักกาดดองไปในพะโล้ด้วย ผมรู้สึกว่ามันอร่อยดี”

จักรวาลของผักกาดดองนั้นกว้างใหญ่ สำหรับคนจีนนิยมนำ ‘ชาไช้กัว’ หรือผักกาดเขียวแห้งเค็ม มาต้มกับหมูสามชั้นหรือทำเป็นเคาหยก (หมูสามชั้นตุ๋นผักกาดแห้ง) ซึ่งใช้วิธีเรียงหมูสามชั้นหั่นเป็นแผ่นบาง วางชาไช้กัวทับ แล้วนำไปนึ่ง ‘ผักกาดดองเค็ม’ ยังปรากฏในต้มขาหมูพะโล้ผักกาดดองและขาหมูต้มเค็ม

ส่วนคนล้านนามีกรรมวิธีการทำ ‘ผักกาดส้ม’ ซึ่งเริ่มต้นจากล้างผักกาดเขียวให้สะอาด ซอยให้ละเอียด ใส่ข้าวนึ่ง นวดให้เข้ากัน ใส่เกลือเม็ดและน้ำซาวข้าว ปิดฝา ดองไว้ 1-2 วัน ผักกาดส้มเป็นส่วนผสมสำคัญในน้ำพริกน้ำผักข้นขลุกขลิก และเป็นผักเคียงในสำรับอาหารเหนือเสมอ รสเปรี้ยวเค็มของผักกาดดองช่วยตัดเลี่ยนอาหารมันๆ และคืนการรับรสสู่ความสมดุลได้เป็นอย่างดี

“ก่อนย่าแกเสีย ผมจะขอให้ย่าช่วยทำพะโล้ขาหมูผักกาดดองให้กินบ่อยๆ พอมาอยู่กรุงเทพฯ เลยขอให้แม่ลองช่วยทำให้กิน แล้วภาระนี้เลยตกไปสู่แม่ต่อเป็นทอดๆ ถ้าเป็นสูตรของแม่ทำ แกจะเน้นไปที่ผักกาดดองมากกว่า เพราะว่าผมชอบกินผักกาดดองมากกว่าครับ ไม่ค่อยกินขาหมูเท่าไร”

อาหารตำรับของย่าเมื่อส่งทอดมาถึงแม่ ทั้งวิธีการและชื่อเรียกได้เปลี่ยนไป จาก ‘ต้มพะโล้ขาหมูผักกาดดอง’ เป็น ‘ต้มผักกาดดองพะโล้’ ที่สุรีย์รัตน์ได้ปรับปรุงสูตรและลดวัตถุดิบหลายอย่างให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่และขนาดของครัวที่เล็กลงในเมืองใหญ่ ขณะเดียวกันยังคงรักษารสชาติต้นแบบและความทรงจำของการผสมผสานระหว่างรสชาติน้ำแกงพะโล้ที่เข้มข้นที่ตัดกับรสเปรี้ยวอ่อนๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของอาหารจานนี้เอาไว้ได้เป็นอย่างดี

สำหรับพริษฐ์แล้ว ‘ต้มพะโล้ขาหมูผักกาดดอง’ เป็นเสมือนบันทึกความทรงจำส่วนตัวถึงย่าซึ่งรักเขาจนแทบไม่อยากจะคืนเขาให้พ่อแม่ ส่วนข้าวเหนียวเป็นเสมือนเครื่องย้ำเตือนถึงรากเหง้าความเป็นล้านนา แต่นั่นยังไม่ใช่อาหารเหนือทั้งหมดที่เขาหวนหา

“ตอนอดอาหาร ผมคิดถึงอาหารเหนือมากๆ โดยเฉพาะแป้งนมย่างของร้านไส้อั่วแม่จันทร์ดี เวลาครอบครัวผมกลับลำปาง จะซื้อแป้งนมหมักร้านนี้กลับมาปิ้งกินที่บ้านทีละเป็นกิโลฯ ตอนอยู่ในคุกผมคิดอยู่บ่อยๆ ว่าถ้าออกไปได้ จะพาเพื่อน พาพ่อแม่กลับไปกินร้านนั้น”

ไส้อั่วแม่จันทร์ดีเป็นร้านบรรยากาศบ้านๆ หลังคามุงสังกะสี อยู่เยื้องวัดสวนดอก ลำปาง โดยขายทั้งอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ทั้ง จิ๊นส้ม แหนม หางหมู และแป้งนมหรือเนื้อส่วนราวนมหมูที่มีสัมผัสนุ่มเด้งเจือรสหวานจางและกลิ่นหอมอ่อนๆ ที่หลงเหลือจากน้ำนม ฯลฯ เป็นการใช้ประโยชน์จากเนื้อสัตว์จากหัวถึงหางโดยไม่มีสิ่งใดสูญเปล่า ทั้งยังเป็นหลักฐานแสดงถึงความนิยมชมชอบในการบริโภคเนื้อสัตว์ของการครัวถิ่นเหนือ และหากจะพูดถึงอาหารที่เปรียบเหมือนเพชรยอดมงกุฎของอาหารเมืองแล้ว คงไม่อาจข้าม ‘ลาบ’ อาหารโปรดอีกอย่างของพริษฐ์ไปไม่ได้

“ลาบจะอร่อยไม่อร่อย ขึ้นอยู่กับพริกลาบนี่แหละ พริกลาบเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ของล้านนา ความง่ายๆ แต่ซับซ้อนและลึกล้ำ เป็นแค่ผงผงหนึ่ง เราสับเนื้อแล้วใส่ผงนี้เข้าไป แต่ในผงนี้ไม่ใช่ผงธรรมดา มีส่วนผสมหลายอย่าง ให้ความหอมที่เป็นเลเยอร์ลึกซึ้งนะครับ ซึ่งมันสะท้อนประวัติศาสตร์ล้านนาเหมือนกัน เพราะการที่พริกลาบมีความซับซ้อนขนาดนี้เป็นเพราะความรุ่งเรืองทางการค้าสมัยก่อนของล้านนา เวลาเรากินลาบ เราไม่ได้กินแค่เนื้อเอาไปสับๆ ปรุงรส แต่เรากินประวัติศาสตร์การค้า เรากินถึงขั้นค่านิยม เรากินคติเกี่ยวกับการรบทัพจับศึกสมัยก่อน”

พริกลาบมีส่วนผสมที่สลับซับซ้อน และสะท้อนถึงความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของภาคเหนืออันเกิดมาจากการเป็นชัยภูมิและจุดพักสินค้าสำคัญในเส้นทางการค้าทางบกในสมัยโบราณ ดังจะเห็นได้ว่าพริกลาบประกอบไปด้วยเครื่องเทศจากหลากพื้นที่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งพริกแห้ง ลูกจันทน์เทศ ดีปลี อบเชย โป๊ยกั๊ก กระวาน เปราะหอม เม็ดผักชี มะแขว่น เทียนข้าวเปลือก มะแหลบ พริกไทยดำ กานพลู ดอกจันทน์เทศ ฯลฯ ต้องนำมาคั่วให้แห้งในกระทะซึ่งเป็นเครื่องครัวที่ได้รับอิทธิพลจากจีน ก่อนนำมาบดให้เป็นผงรวมกับเกลือละเอียด ซึ่งไม่ใช่ของหาง่ายในภาคเหนือสมัยก่อน และแผ่ตากให้ความชื้นระเหยไปจนหมด

โดยมากทั้งส่วนผสม สัดส่วนของเครื่องเทศ และเคล็ดลับในการตระเตรียมอันเป็นการเฉพาะของพริกลาบรสเด็ดในถิ่นต่างๆ จะถูกเก็บงำไว้อย่างแน่นหนาในระดับลับที่สุด หลังคลุกเคล้าพริกลาบเข้ากับเนื้อสัตว์ที่สับจนเหนียว ซึ่งสำหรับภาคเหนือนั้นมักเป็นเนื้อควาย แล้วโรยด้วยต้นหอมผักชี จะได้ลาบเนื้อดิบรสเลิศ จัดจ้านไปด้วยรสเผ็ดซ่าซับซ้อนที่กระตุ้นผัสสะการรับรสไปทุกส่วน ทว่าพริษฐ์ในวัยเด็กไม่ได้รับอนุญาตจากย่าให้กินลาบดิบหรือของดิบอื่นใดเลยแม้แต่น้อย ลาบที่จะให้หลานรักกินนั้นต้องผ่านการคั่วให้สุกอยู่เสมอ

ลาบ พะโล้ผักกาดดอง ข้าวนึ่ง และอาหารเหนือนานาชนิด เลี้ยงดูพริษฐ์ให้เติบโตเป็นเด็กแข็งแรงดังที่สุรีย์รัตน์ตั้งใจไว้ แต่สิ่งที่สุรีย์รัตน์ไม่ได้คาดหมายคือ ความคิดอ่านของพริษฐ์ได้เติบโตอย่างละเมียดลุ่มลึกและซับซ้อน ไม่ต่างจากพริกลาบที่ไหลเวียนอยู่ในตัวเขา

รสขมและความดิบ กับการบรรลุนิติภาวะทางรสชาติ

พ่อแม่ไปชิงตัวพริษฐ์กลับมาสู่อ้อมอกได้ตอน ป.2 เทอม 2 เนื่องจากพริษฐ์เป็นเด็กมีความสามารถทางสติปัญญาและความถนัดเฉพาะทางสูงกว่าเด็กอื่นในวัยเดียวกัน (gifted) เขาเข้าใจเนื้อหาในแบบเรียนนำหน้าเพื่อนไปไกล สมองช่างคิดรัวคำถามใส่ครูเสมอ จนครูต้องบอกเขาให้อยู่นิ่งๆ ห้ามพูด ห้ามตั้งคำถาม สุรีย์รัตน์ทนเห็นลูกนั่งตัวแข็งตามคำสั่งครูไม่ได้ เธอจึงพาลูกมาเรียนกรุงเทพฯ เพื่อให้ได้เรียนในโรงเรียนที่เข้าอกเข้าใจ โดยปู่กับย่ายังคอยหาโอกาสชิงตัวพริษฐ์กลับในตอนปิดเทอมเสมอ

แม้ว่าครัวของบ้านที่กรุงเทพฯ จะมีขนาดเล็กลง และผักต่างๆ ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนภาคเหนือ แต่สุรีย์รัตน์ได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้ครัวแห่งนี้เป็นครัวที่เต็มไปด้วยกลิ่นหอมฉุย อาหารต้ม ผัด แกง ทอด ที่ทำได้อย่างรวดเร็ว เริ่มเข้ามาแทนที่อาหารเหนือที่ใช้เวลานานในการทำ เนื่องจากสุรีย์รัตน์เองต้องทำงานนอกบ้านด้วย และในโอกาสพิเศษ พ่อกับแม่จะพาพริษฐ์และน้องสาวไปกินอาหารนอกบ้าน เช่น สเต๊กซานตาเฟ่ หรือก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋นหม้อไฟ

การกินก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋นหม้อไฟช่วยเปิดใจให้พริษฐ์กินตับได้ ซึ่งเมื่อก่อนนั้นพริษฐ์ไม่กินตับเพราะกลัวรสขมในตับเช่นเดียวกับเด็กในวัยเดียวกัน แต่พ่อหลอกเขาว่าตับคือหัวใจ ทำให้พริษฐ์สามารถกินได้ และต่อมาเขายังชื่นชอบอาหารทำจากตับที่สุรีย์รัตน์ปรุงให้เรื่อยมา

“อาหารที่แม่ทำแล้วผมชอบที่สุดก็คือตับทอดกระเทียมพริกไทย ตับทอดกระเทียมฯ ที่แม่ทำไม่ว่าจะอุ่นใหม่กี่รอบยังไงมันก็จะนิ่ม ไม่แข็งเลย ผมชอบกินตับทอดกระเทียมฯ มาก ตอน ม.ต้น จะขอให้แม่ทำใส่กล่องข้าวไปกินที่โรงเรียน บางวันจะขอให้แม่ทำไปเลี้ยงเพื่อนๆ ด้วย”

ขณะที่สุรีย์รัตน์เผยถึงเคล็ดลับการทอดตับไม่ให้ขมว่า “ตับทอดกระเทียมพริกไทยของแม่จะไม่ได้แข็งเหมือนตามร้าน ของเราจะนุ่มๆ กรอบๆ เราจะหั่นตับชิ้นไม่บางมาก ใช้ไฟแรงๆ ผัดแค่พอสุก แล้วทานร้อนๆ”

การรับรู้ถึงความอร่อยจากรสขมเป็นสัญญาณของการบรรลุนิติภาวะด้วยรสชาติในหลายวัฒนธรรม โดยปกติเด็กส่วนใหญ่มักปฏิเสธอาหารที่มีรสขมแม้เพียงแตะปลายลิ้น ทำให้ผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ที่มีรสขมนั้นเป็นดั่งศัตรูในจานข้าวของเด็กๆ เช่น คะน้า บรอกโคลี ตับของสัตว์ หรือแม้กระทั่งใบขี้เหล็ก ทั้งที่รสขมนั้นเป็นหนึ่งในมิติการรับรู้รสชาติของมนุษย์ที่ไม่ได้ผูกติดอยู่กับการเอาชีวิตรอดหรือรสขมที่เป็นยาพิษเสมอไป การรับรู้ถึงความหวานของรสขมจึงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความเป็นผู้ใหญ่ ที่สามารถหาแง่งามได้แม้แต่ในช่วงเวลายากลำบากที่สุด หากจะกล่าวว่ารสขมเป็นรสชาติแห่งการเปลี่ยนผ่านก็นับว่าไม่ผิดนัก

นอกจากรสขมแล้ว การกินดิบยังเป็นอีกรสชาติแห่งการเปลี่ยนผ่านเช่นกัน ในวัยเด็กของพริษฐ์ ลาบดิบมักถูกสงวนไว้ให้เป็นอาหารของชายฉกรรจ์และคนที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วเท่านั้น เขาได้หัดกินหลู้และลาบซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเป็นอาหารเหนือที่ดิบ โดยเฉพาะหลู้นั้นจะใส่เลือดช่วยเพิ่มความฉ่ำ หรือใส่เลือดเป็นก้อนช่วยเพิ่มรสสัมผัสนุ่มเหนียวด้วย เมื่อเขาเติบโตเป็นนักศึกษาและได้เข้าสู่ขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยแล้ว

“ผมอยากกินลาบก้อยกับซอยจุ๊มากเลย เรื่องการกินของดิบของพวกผม ถ้าต้องโทษใคร ต้องไปโทษทนายอานนท์ นำภา นะครับ เขาเป็นคนทำให้วัฒนธรรมซอยจุ๊แพร่หลายในหมู่นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวมากขนาดนี้ ตอนผมเด็กๆ ไม่ค่อยได้กินของดิบ คุณปู่คุณย่าไม่ให้กินเลย แต่พอไปคุยเรื่องคดีที่สำนักงานศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พี่อานนท์แกจะทำซอยจุ๊แล้วชวนเรากิน ตอนแรกเราคิดว่า เอ๊ะ! มันเป็นของที่มนุษย์เรากินได้จริงๆ เหรอ แต่พอกินเข้าไปแล้วก็รู้สึกว่ามันอร่อยดี แม้กินแล้วอาจต้องดูแลตัวเองบ้าง เลยกินมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้”

(อานนท์ นำภา และคณะลาบ: การต่อต้านบนจานเนื้อดิบ)

“มีอยู่ครั้งหนึ่งที่อีสานเขาจัดชุมนุม เพื่อนๆ ผมไปอีสานกันเกือบหมดแล้วตั้งวงกินซอยจุ๊ ส่วนผมไปม็อบเชียงรายแล้วพรรคพวกก็พาไปกินหลู้กับลาบควาย วงอีสานกับล้านนากินคืนเดียวกันพอดี เราเลยตั้งสำนักหลู้แข่งกับสำนักซอยจุ๊เลยว่าคนภาคไหนกินได้โหดกว่ากัน เป็นอะไรที่สนุก ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยเห็นวัฒนธรรมกินของดิบในภาคกลางกับภาคใต้ ผมภูมิใจที่เรามีวัฒนธรรมนี้อยู่”

ขมแรกและดิบแรกของพริษฐ์ผ่านไป เครื่องหมายการเปลี่ยนผ่านของความเป็นผู้ใหญ่ถูกฝากไว้ในร่างกายของเขาแล้ว และดังที่เราทราบดี ชีวิตผู้ใหญ่ไม่ได้มีเพียงความหวานหอม แต่มีความทุกข์และขมขื่นเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตด้วย

ทัณฑโภชน์

แม้ปกติอาหารจะเป็นสิ่งบำรุงเลี้ยงชีวิตมนุษย์ แต่บางครั้งอาหารอาจเป็นเครื่องลงทัณฑ์ทรมานได้เช่นกัน

เมื่อพริษฐ์ถูกจับกุมคุมขังตามข้อหาร่วมชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจราษฎร ฐานความผิดตามมาตรา 116 และ 112 สุรีย์รัตน์ไม่อาจดูแลและทำกับข้าวให้ลูกชายได้ ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งเสรีภาพของผู้ต้องขังถูกจำกัด พริษฐ์ได้พบกับนิยามของอาหารที่ต่างจากอาหารที่เขาเคยพบมา

“ตอนกวิ้นถูกขัง แม่เจอเขาทีไรก็คุยเรื่องกินทุกที เขาสั่งอาหารมาหลายอย่างที่เขาอยากกินถ้าเขาได้ออกจากคุก เช่น น้ำพริกปลาทูกับผักทอดห้าอย่าง ต้มผักกาดดองพะโล้ ตับทอดกระเทียม” สุรีย์รัตน์เล่า

ภายในเรือนจำ การใช้ชีวิตตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนถูกกำหนดไว้ตามตารางเวลาอย่างชัดเจน การที่ผู้ต้องขังเข้าไปอยู่ในเรือนจำนั้นก็เพื่อเป็นการ ‘ลงโทษ’ เพื่อชดเชยกับการทำผิดกฎหมาย ทำให้สาระของชีวิตในเรือนจำจึงเป็นเรื่องของการตอกย้ำสถานะการเป็นผู้กระทำความผิดประหนึ่งการรับโทษ เพื่อไถ่บาปให้กับความผิดของตน ดังนั้น ความเป็นอยู่รวมทั้งอาหารในเรือนจำจึงเป็นเรื่องของการดำรงชีวิตในลักษณะที่เรียบขนานไปกับเส้นมาตรฐานความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เท่านั้น

“การเข้าเรือนจำเปิดประสบการณ์ใหม่ในการกินอาหารเหมือนกัน ผมเพิ่งเคยรู้ว่าผักคะน้ามันมีสีเหลืองด้วยนะฮะ คือเขาเอาคะน้าใกล้เน่าแล้วมาให้นักโทษกิน สิ่งที่เราเห็นบ่อยมากในอาหารเรือนจำคือมะเขือกับหน่อไม้ อาจเป็นเพราะว่ามันถูกหรือยังไงก็ไม่ทราบนะครับ ในเรือนจำบางวันมีอาหารเป็นข้าวต้มหมู ที่ใส่ผักบุ้งสดๆ โยนเข้าไปในหม้อข้าวต้ม แล้วบอกว่านี่ข้าวต้มผักบุ้งพวกคุณต้องกินกันนะ ซึ่งบางทีผมรู้สึกว่ามันเหมือนอาหารหมู อาหารเต่า กินแล้วเหม็นเขียวมาก”

พริษฐ์เล่าว่าอาหารการกินในเรือนจำมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ‘อาหารโรงเลี้ยง’ ที่นักโทษเรียกกันว่า ‘ข้าวหลวง-แกงหลวง’ แม้จะมาจากภาษีประชาชน ซึ่งเกณฑ์นักโทษเข้าไปประกอบอาหารในฝ่ายสูทกรรม กับอาหารอีกประเภทหนึ่งคือ ‘อาหารเบิก’ หรืออาหารที่ทางเรือนจำทำมาเป็นพิเศษแล้วขายให้ ซึ่งมีให้เลือกราว 20 กว่าชนิด

“การที่เราไปอยู่ในคุกทำให้เราคืนสู่สามัญเรื่องกินเหมือนกัน จากเดิมที่เราพิถีพิถันเรื่องการกิน แต่พอมาอยู่ในคุกแล้วแค่ได้กินข้าวผัด ไข่ลวก ไส้กรอก หรืออะไรก็ตามที่พอจะหามาปรุงใหม่ๆ ร้อนๆ ได้ ก็ถือเป็นอาหารวิเศษมากแล้ว ในคุกมีเป็ดพะโล้แห้งกิ่ว ตัวเล็กๆ ผอมๆ แถมยังขายแพงด้วย สภาพเป็ดก็ไม่ค่อยดี เพราะเขาไม่ได้เก็บไว้ในตู้เย็น แต่เก็บไว้ในกล่องน้ำแข็งที่ไม่ใส่น้ำแข็ง เอามารวนเอามาคั่วร้อนๆ กิน อยู่ในคุกเท่านี้ก็ถือว่าอร่อยแล้วล่ะ

“ผมรู้สึกว่าเรื่องการกินเป็นสิ่งที่ผมต้องปรับตัวมาก นัยหนึ่งผมพยายามจะรักษาการกินการอยู่ในเรือนจำให้ดีที่สุด ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่กินเพื่อให้มันอยู่รอดไป แต่มันคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย ผมพยายามหาอาหารที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ในนั้น เช่น ซื้ออาหารเบิกหรือกินอาหารจากของที่เขาดัดแปลงมาลองกินกัน

“ในคุกมีหลายอย่างที่ทำให้ผมได้รู้ว่า อาหารการกินคนเรานี่ดัดแปลงนิดหนึ่งมันก็วิเศษขึ้นมาได้ เราทำตังเมกินกันด้วยการเอาผงกาแฟ ผงโกโก้ ผงคอฟฟี่เมต ผงน้ำตาล แล้วแต่เราจะหาได้ มาผสมกัน ใส่นมข้นหวาน ใส่น้ำนิดหน่อย คลุกให้พอหนืดๆ ปั้นเป็นก้อน แล้วก็เรียกมันว่า ‘เดียวดาย’ ”

สำหรับผู้ต้องขังส่วนใหญ่รวมทั้งตัวพริษฐ์ การยืนยันสิทธิในการเข้าถึงรสชาติของอาหารที่มีรสชาติถูกปากบ้าง เป็นเสมือนการยืนยันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นเสมือนการต่อต้านพิธีลงทัณฑ์ในเรือนจำ แต่นั่นยังไม่เพียงพอสำหรับพริษฐ์ เขาตัดสินใจยกระดับการต่อกรและลงเดิมพันไว้สูงลิ่ว

ตบะนี้ไม่ได้มีเพื่อเทวา

15 มีนาคม 2564 บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีที่ 701 ศาลอาญา การพันธนาการและควบคุมร่างกายที่กระทำต่อจำเลยเกิดขึ้นหลายชั้น ทั้งผ่านเสื้อผ้าสีน้ำตาลลูกวัวอันบางเบา การไม่อนุญาตให้สวมรองเท้า การลั่นกุญแจข้อเท้า การไม่พิจารณาคดีอย่างเปิดเผย การไม่อนุญาตให้ผู้ฟังการพิจารณาคดีนั่งไขว่ห้างซึ่งตอกย้ำสถานะอันต่ำกว่าของทุกคนที่เหลือ การตรึงกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากบริเวณทั้งรายรอบและในตัวตึกพิจารณาคดี ตำแหน่งอันสูงส่งของบัลลังก์ผู้พิพากษาเป็นสัญลักษณ์แสดงให้ถึงอำนาจ สัญญะที่หลอมรวมกันทั้งหมดในห้องพิจารณาคดีนั้น บีบให้จำเลยนั้นดูเล็กจ้อยและรู้สึกพรั่นพรึง

ทว่าสิ่งเหล่านั้นกลับไม่ทำให้พริษฐ์สะทกสะท้าน เขาลุกขึ้นยืนบนเก้าอี้ห้องพิจารณาคดี และประกาศว่าจะอดอาหารเพื่อประท้วงเรียกร้องสิทธิประกันตัว หลังถูกคุมขังนานถึง 2 เดือน และถูกปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวมา 5 ครั้ง เขาตัดสินใจใช้เนื้อตัวร่างกายและชีวิตของตัวเองท้าทายความอยุติธรรมที่ได้รับ

“เรื่องการอดอาหารเป็นสิ่งที่เราเคยศึกษามาบ้างว่าเป็นแนวทางในการต่อสู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อสู้ตอนเราอยู่ในที่คุมขัง เราอยากดำเนินการต่อสู้ต่อไป ไม่ใช่แค่นั่งอยู่ในเรือนจำเฉยๆ การกินเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ คนเราต้องกินถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ เราเลยทำให้การไม่กินเป็นเครื่องตอกย้ำความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสังคมว่า สังคมนี้มีความไม่เป็นธรรม กระบวนการยุติธรรมไม่มีความเป็นธรรมให้ประชาชน ดังนั้นประชาชนคนนี้ขอไม่กินเพื่อกระตุ้นเตือนส่วนอื่นๆ ของสังคม ของโลก ให้รับรู้ว่าบ้านเมืองเรากำลังลงแดง”

ในตำนาน มักมีเรื่องเกี่ยวกับการบำเพ็ญตบะของมนุษย์ที่ทรมานร่างกายเพื่อขอความเห็นใจจากหมู่เทพ เพื่อทวยเทพจะได้บันดาลพรให้ผู้นั้นพ้นทุกข์หรือสมหวังสมปรารถนา พิธีกรรมเหล่านี้มักดำเนินไปอย่างยาวนานและเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานของเจ้าพิธี แต่การบำเพ็ญตบะของพริษฐ์ไม่ได้สื่อสารกับเทพเทวาหรือชาวฟ้าผู้อิ่มทิพย์ ไร้ความรู้สึกหิวและเจ็บปวด หากแต่เขากำลังสื่อสารกับมนุษย์เดินดินที่มีชีวิต เลือดเนื้อ และความเจ็บปวดเช่นเดียวกับเขา

“ผมอดเพราะว่าผมอยากอิ่มในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผม ในการอดอาหาร 47 วันของผม ผมรู้สึกว่ามันเป็นการต่อสู้ มีบรรยากาศแห่งการต่อสู้มาหาเราทุกวี่ทุกวัน เริ่มตั้งแต่วันแรกเลยที่เราประกาศอดอาหารกลางศาล ตอนแรกศาลไม่ให้เราอ่าน ผมเลยใช้สิทธิเสรีภาพในการต่อสู้คดีว่า เฮ้ย! เราต้องอ่านถ้อยแถลงต่อศาลได้สิ ไม่งั้นเราจะสู้คดียังไงล่ะ

“ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์หลังจากอดข้าว ผมถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ต้องไปกักขังเดี่ยวอยู่ที่สถานกักขังกลางปทุมธานี 15 วัน ช่วงนั้นเป็นช่วงวิกฤตของร่างกายอยู่เหมือนกัน 2-3 อาทิตย์แรก ร่างกายผมจะมีความสวิง ปรับตัวไม่ได้ น้ำตาลตกวูบ พลังงานน้อย การเผาผลาญไม่สมดุล ปกติระดับน้ำตาลในเลือดของคนเราต้องอยู่สัก 80 กว่าๆ มีวันหนึ่งระดับน้ำตาลผมอยู่ที่ 50 ต้นๆ จากนั้นก็เริ่มต้นปฐมบทการใส่น้ำเกลือ ทุกวันนี้ตามท้องแขนยังมีรอยเข็มน้ำเกลือแทงเต็มไปหมด”

สองสัปดาห์หลังพริษฐ์เริ่มอดอาหาร 29 มีนาคม 2564 รุ้งได้เห็นภาพพริษฐ์นั่งรถเข็นและดูอ่อนระโหยโรยแรงมาเบิกความ ภาพนั้นสั่นสะเทือน ‘รุ้ง’ – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จนเธอประกาศอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวด้วยอีกคน

15 เมษายน 2564 เข้าสู่วันที่ 31 ของการอดอาหารที่พริษฐ์ข้ามผ่านหลักไมล์ที่ยาวนานกว่าการอดอาหารนาน 21 วันของคานธีมา 10 วันแล้ว พริษฐ์เริ่มมีอาการอ่อนเพลีย ริมฝีปากแห้ง ขาทั้งสองข้างอ่อนแรง ต้องมีคนช่วยพยุงเวลาเดิน

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีหลายคนอดอาหารประท้วง แต่มีไม่กี่คนอดอาหารอย่างลับสายตาคนเช่นพริษฐ์ หนังสือพิมพ์หลายฉบับเกาะติดการอดอาหารของ ร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร โทรทัศน์หลายช่องถ่ายทอดการอาหารของ พลตรี จำลอง ศรีเมือง อย่างพร้อมเพรียง มีการรายงานการอดอาหารต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา ผ่านทางสื่อออนไลน์ในหลายช่องทาง แต่การอดอาหารของพริษฐ์มีเพียงสายตาของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เพื่อนในคุก และทนายความ ที่รับรู้ถึงความเป็นไปของการอดอาหารเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมครั้งนี้

19 เมษายน 2564 เป็นอีกวันหนึ่งที่พริษฐ์ต้องเบิกความ สื่อทุกสำนักรอจับภาพเขาอยู่นอกประตูทางเข้าเรือนจำกรุงเทพฯ เพื่อรายงานข่าวร่างกายเขาเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด แต่เจ้าหน้าที่ได้รีบนำเอาฉากกั้นมาบังเพื่อไม่ให้มีใครได้เห็นหรือบันทึกภาพพริษฐ์ผู้อดอาหารเข้าสู่วันที่ 35 และน้ำหนักลดไป 20 กิโลกรัม

“ช่วงหลังๆ รู้สึกว่าร่างกายเริ่มอยู่ตัวขึ้น ไม่เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา หลังผ่านช่วงนี้ไปได้ มันเป็นการต่อสู้กับจิตใจเราเป็นหลักว่าจะยังอดข้าวไปทำไม ทำไมถึงไม่กลับไปกินเหมือนคนทั่วๆ ไป ยิ่งช่วงนั้นเราอยู่คนเดียว ไม่มีใครอยู่เป็นเพื่อนเลย ยิ่งเป็นการต่อสู้กับจิตใจที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัสอยู่เหมือนกันฮะ เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้ทบทวนหลายๆ อย่างในชีวิตเหมือนกัน

“สักวันที่ 30-40 เราอยากกินข้าวแล้ว มันหิวมาก เราอดข้าวมาเป็นเดือนแล้ว แต่ก็รู้สึกว่า เฮ้ย! ถ้าเราถอยกลับไปกินข้าวตอนนี้ แล้วหนึ่งเดือนแห่งความทรมานที่ผ่านมาเราต่อสู้ไปทำไม การอดข้าวของเราปลุกให้สังคมลุกขึ้นมาเห็นความผิดปกติที่เราอยากสื่อสารได้ชัดขึ้น เรายังไม่อยากถอย ไม่อยากหยุดเท่านี้ เราอยากจะสู้ต่อ”

28 เมษายน 2564 หรือวันที่ 44 ของการอดอาหาร เขากล่าวถึงช่วงนี้ว่า “เหมือนร่างกายค่อยๆ เสื่อมไปทีละน้อย เริ่มปวดท้อง วันหนึ่งขับถ่ายแล้วมีก้อนสีดำๆ ผมก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร พยาบาลตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นลิ่มเลือด”

เข้าสู่วันที่ 46 ของการอดอาหาร พริษฐ์ข้ามผ่านระยะเวลาที่ร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร อดอาหารยาวนานถึง 45 วัน ในการอดอาหารต้านรัฐประหารปี 2557 ถึงขณะนี้สุขภาพของพริษฐ์เริ่มทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็วจนไม่แน่ใจว่าเขาจะรักษาชีวิตไว้ได้หรือไม่

พริษฐ์มีความหวังกับมนุษย์เพื่อนร่วมสังคมกับเขาพอที่จะใช้ร่างกายต่างฟืนเป็นเชื้อเพลิงก่อไฟพิธี เพื่อโหมควันเป็นสัญญาณป่าวร้องให้คนทั่วไปได้ประจักษ์ถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ผ่านปะรำพิธีนั่นคือร่างกายที่อ่อนล้าและเจ็บป่วยของเขา

พิธีบัตรพลีของสุรีย์รัตน์

ท้องฟ้าวันนั้นยังขมุกขมัว ขอบฟ้ายังมีรอยฝน คนกลุ่มใหญ่ยืนล้อมวงรอบหญิงวัยกลางคนผมยาว สวมเสื้อยืดสีขาวผู้ยืนสงบนิ่ง ดวงตาแน่วแน่คู่นั้นอธิบายหมดสิ้นว่าเจตจำนงของดวงตาแรงกล้าเพียงใด เธอก้มหน้าลง เมื่อคมกรรไกรสัมผัสปอยผมยาวสลวยสีดำขลับของเธอ เสียงร้องไห้คร่ำครวญพลันดังระงมขึ้นรอบตัว ผมเส้นแล้วเส้นเล่าถูกโกนออกจนชิดหนังศีรษะ เผยให้เห็นโคนผมขาวสะอาดเกลี้ยงเกลา

นี่ไม่ใช่พิธีกรรมปลงผมของนักบวชสตรีในศาสนาใด แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 เมษายน 2564 ปอยผมเหล่านั้นถูกกล้อนก่อนโรยตัวลงบนทางเท้าที่น้ำฝนเจิ่งนอง ริมถนนหน้าศาลอาญา กรุงเทพมหานคร ใจกลางแสงแฟลชที่สว่างวาบและเสียงลั่นชัตเตอร์ของกล้องถ่ายรูปรัวถี่อย่างเกรี้ยวกราด—สุรีย์รัตน์นั่นเอง เธอไม่ได้อุทิศเส้นผมเนื่องในศาสนพิธีใดๆ แต่วันนี้สุรีย์รัตน์ได้ใช้เส้นผมของเธอต่างเครื่องบัตรพลีบูชา ตั้งพิธีร้องป่าวขอความเป็นธรรมให้กับลูกชาย

ปกติพิธีบัตรพลีมีขึ้นเพื่อเซ่นสรวงต่อเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่การสละเส้นผมของสุรีย์รัตน์คือการใช้ส่วนหนึ่งของร่างกายตนเป็นเครื่องบัตรพลีเพื่อให้เพื่อนมนุษย์ในสังคมไทยรู้ร้อนรู้หนาวต่อความไม่เป็นธรรมและหันมามองชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับพริษฐ์

“เราเป็นมนุษย์แม่ที่โคตรรักลูก ลูกเราอดอาหารอยู่ แล้วทนายโทรมาบอกว่าลูกแย่ ลูกเลือดออกในกระเพาะอาหาร เราคิดถึงลูกที่กำลังจะตาย สติเราหลุดเลยค่ะ อยู่เฉยๆ ไม่ได้แล้ว วันก่อนตัดผมเราคุยกับพี่ด่าง (กฤษฎางค์ นุตจรัส) ถึงเที่ยงคืนเลยนะ ตอนแรกพี่ด่างบอกว่าศาลจะให้ประกัน แต่ตอนหลังเขาบอกว่าไม่น่าจะได้ ตื่นมาเช้าวันรุ่งขึ้นเราคิดว่าจะทำยังไงดีหนอ ตอนแรกคลุมผมจะอาบน้ำตามปกติ แล้วก็แว้บขึ้นมาในหัวว่าเราจะทำอย่างนี้ จากนั้นเราก็สระผม ทุกคนจะเห็นว่าวันที่เราไปคุกไปศาลวันนั้นเราปล่อยผมยาวตลอด ปกติจะมัดผม แต่วันนั้นเราจะให้คนเห็นว่าผมฉันเคยยาว

“แล้วเราก็ไปบอกกวิ้นว่าแม่จะทำแบบนี้ แม่ไม่ได้มาขออนุญาตลูก ปกติเราจะไม่ก้าวก่ายการต่อสู้ของลูก แต่วันนั้นเราไปบอกกวิ้นว่าแม่ไม่รู้ว่าพี่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่แม่จะทำ เพราะแม่ไม่สามารถปล่อยให้ลูกตายได้”

สุรีย์รัตน์เคยถูกตัดส่วนหนึ่งของร่างกายเพื่อให้พริษฐ์มีชีวิตมาก่อนหน้านี้แล้ว นั่นคือการตัดสายรกในวันพริษฐ์แรกกำเนิด ในวันนี้เธอ ‘ตัดเพื่อต่อ’ ชีวิตของพริษฐ์อีกครั้ง หลังปอยผมของสุรีย์รัตน์ร่วงลงบนผืนดินหน้าศาลเพียงไม่กี่ชั่วโมง พริษฐ์ได้รับการประกันตัว ก่อนถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และได้ออกมากินอาหารที่เธอทำอีกครั้งในวันคล้ายวันเกิดของเธอและพริษฐ์ที่ห่างกันไม่กี่สัปดาห์

“ก่อนวันเกิด กวิ้นบ่นว่าอยากกินเป็ดพะโล้กับเป็ดผัดโหระพา พอวันเกิดเขาแม่เลยทำไปให้ ทั้งที่เขาบอกว่าเขาไม่ค่อยมีเวลา เราแห่กันไปทั้งบ้านเลยนะ แม่ทำไข่เจียวหอยนางรมกับหมึกอบวุ้นเส้นไปด้วย ทำไปเยอะ เผื่อเพื่อนๆ เขาด้วย วันนั้นเพื่อนๆ เขามาประชุม มีพี่ไผ่ด้วย เด็กๆ ฟาดเรียบ แม่ก็มานั่งรอขึ้นไปเก็บของ ได้เก็บจานอย่างน้อยก็มีความสุข วันนั้นกวิ้นไม่ค่อยได้กิน เขาบอกว่ากินไม่ทันแล้วมี้ มี้ทำมาให้กวิ้นใหม่นะครับ แต่เขาถูกจับเสียก่อน

“เราพยายามใช้เวลาร่วมกับเขา อย่างปีนี้ที่ผ่านมาเราแทบไม่ได้เจอกันเลย แม่เกิดเดือนกรกฎาคม วันเกิดแม่เขาก็หาเวลามาหาแม่อย่างเหนื่อยๆ แล้วสั่งหมูกระทะมากินหน้าบ้านกัน นานเป็นปีแล้วที่เราไม่ได้นั่งกินข้าวพร้อมกันสี่คน วันนั้นเป็นมื้อแรกในรอบหนึ่งปี มีความสุขดีค่ะ เรารอมานาน ตอนเขาติดคุก เราทรมานมากที่ต้องแยกจากลูก เลยรู้สึกว่าทุกเวลาที่ใช้ด้วยกันมันมีค่าขึ้น”

ในวันเกิดของพริษฐ์ นอกจากอาหารของแม่แล้ว เพื่อนๆ ยังสั่งเค้กปลาแซลมอน แม้จะมีของอร่อยให้เลือกมากเพียงใด แต่เขาไม่อาจอิ่มเอมกับอาหารได้เช่นเดิม ร่างกายของพริษฐ์เปลี่ยนไปหลังการอดอาหารในคุกซึ่งยาวนานถึง 75 วัน หากมองจากภายนอกอาจไม่เห็นความเสียหายทางกายภาพได้ชัดเจน แต่ปัจจุบันเขากินอาหารได้น้อยลงมาก เมื่อกินอาหารเข้าไปเพียงนิดเดียว พริษฐ์จะอาเจียนออกมา ตับของเขายังถูกทำลายเสียหายไปบางส่วน ซึ่งอวัยวะภายในที่เสียหายนี้นับเป็นราคาแห่งการบัตรพลีเพื่อสังคมไทยของเขา

ไม่นานนักหลังอาหารมื้อสุดท้ายที่ครอบครัวชิวารักษ์ได้ร่วมรับประทานอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา พริษฐ์ได้ถูกศาลเพิกถอนประกันทำให้ในขณะนี้เขาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอีกครั้ง

บทบาทผกผันในพิธีกรรมยืดเยื้อ

ในเรือนจำขณะนี้ พริษฐ์กับเพื่อนๆ ยังคงถูกคุมขังอยู่เช่นเดิม นักกิจกรรมหลายคนเริ่มทยอยได้รับหมายจับกุมเพิ่มและถูกส่งตัวตามเข้ามาในเรือนจำ สุรีย์รัตน์เล่าถึงสภาพล่าสุดของลูกชายเมื่อต้นเดือนตุลาคมหลังติดเชื้อโควิดในเรือนจำว่า

“ร่างกายเพนกวินอ่อนแอมาตั้งแต่ตอนอดอาหารแล้ว เวลากินอาหารก็จะปวดท้องและอาเจียนออกมา ยิ่งตอนนี้ทนายบอกว่าเขาปวดหัวมาเป็นเดือนแล้วยังไม่หาย ดูโทรมมาก หน้าซีด เหนื่อยมากจนพูดจาแทบไม่ไหว การติดเชื้อโควิดในเรือนจำจากช่วงถูกขังครั้งก่อนก็เหลือผลตกค้างและกระตุ้นโรคหอบหืดของเขาให้กำเริบ ตอนนี้เขาหอบทุกวัน พอทุกอย่างประกอบกัน ร่างกายของเขาเลยยิ่งแย่”

แม้สุรีย์รัตน์ได้ทำพิธีบัตรพลียื้อชีวิตลูกไว้สำเร็จ ส่วนพริษฐ์ได้ทำพิธีบำเพ็ญตบะคู่ขนานไปกับมารดาจนเขาได้รับอิสรภาพอีกครั้งก็ตาม แต่คราวนี้ดูเหมือนพิธีกรรมอันยืดเยื้อนี้ได้เกิดการเปลี่ยนตัวเจ้าพิธีเสียแล้ว จากความป่วยไข้และความทุกข์ทรมานที่พริษฐ์และสุรีย์รัตน์ได้รับ ทำให้บทบาทของทั้งสองดูราวกับได้เปลี่ยนไปเป็นเครื่องเซ่นสรวงบูชายัญ สุรีย์รัตน์และพริษฐ์ไม่ยินยอมพร้อมใจรับบทบาทใหม่ในพิธีกรรมครานี้ โดยเฉพาะสุรีย์รัตน์ที่คิดว่าลูกชายของเธอมีความตั้งใจอันบริสุทธิ์และความปรารถนาดีต่อบ้านเกิดเมืองนอนอย่างแรงกล้า

“แม่เคยบอกเขาว่าถ้าเมืองไทยไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับลูก ไม่ได้ชอบในสิ่งที่ลูกทำ ลูกก็ไปเรียนต่อเมืองนอกเลย ไปอยู่เมืองนอกเลยก็ได้ เขาบอก ‘ไม่ นี่คือแผ่นดินเกิดของกวิ้น กวิ้นจะอยู่ที่นี่’ พูดตั้งไม่รู้กี่รอบจนเลิกพูดแล้ว เวลาเราบ่นอะไรเกี่ยวกับประเทศไทยเขาจะบอกว่า ‘มี้อย่าลืมกำพืดตัวเอง’ เพนกวินเขารักความเป็นไทย รักประเทศไทยมาก”

สำหรับเจ้าพิธี พริษฐ์อาจเป็นเพียงเครื่องเซ่นที่ล้มตายได้อย่างไร้ค่า แต่สำหรับอีกหลายคน เขาคือเพชรยอดมงกุฎของประเทศที่ไม่ควรค่าแก่การบูชายัญภายใต้ความปรารถนาของเจ้าพิธีใดๆ และเขาฝากความหวังที่จะรอดพ้นจากการเชือดด้วยคมดาบเหนือแท่นพิธีไว้กับมวลมนุษย์สามัญที่เขารักและศรัทธายิ่ง

Fact Box

สูตรตับผัดกระเทียมฝีมือสุรีย์รัตน์

วัตถุดิบ

  • ตับหมู เลือกใช้ส่วนที่เรียกว่า ‘ตับแป้ง’ ซึ่งมีสีอ่อนนวล ไม่แดงจัดเหมือนตับเหล็ก และรสสัมผัสนุ่มหวานกว่าตับส่วนอื่นๆ
  • สามเกลอ ได้แก่ กระเทียม พริกไทย และรากผักชี
  • ซอสปรุงรส น้ำมันหอย น้ำมัน
  • นมจืด จะเป็นนมกล่องที่เด็กๆ กินกันก็ได้
  • แป้งสาลีหรือแป้งอื่นๆ ที่มีในบ้าน

วิธีทำ

  1. ล้างตับแป้งให้สะอาดและหั่นเป็นชิ้นหนาพอสมควร หากหั่นชิ้นบางไปเมื่อผัดแล้วตับจะไม่นุ่ม
  2. โขลกสามเกลอให้ละเอียดในระดับปานกลาง ให้เหลือเนื้อสัมผัสที่เมื่อผัดแล้วยังพอเคี้ยวได้ ไม่แหลกละเอียดเกินไป
  3. นำตับที่หั่นไว้มาหมักเข้ากับสามเกลอ ซอสปรุงรส น้ำมันหอย นมจืด และแป้งสาลี หากอยากให้อร่อยและเครื่องปรุงเข้าเนื้อ ให้หมักทิ้งไว้ข้ามคืน หากไม่มีเวลาให้หมักอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
  4. ตั้งกระทะใส่น้ำมันลงไป นำตับที่หมักแล้วลงผัดในไฟกลางก่อน จากนั้นผัดในไฟแรงเพียงไม่นาน เมื่อสังเกตเห็นว่าตับอยู่ในระดับเกือบสุกแต่ยังไม่สุก ให้ปิดไฟทันที วิธีเช็กคือใช้ตะหลิวกดลงบนตับให้รู้สึกถึงความนุ่มของตับที่พอถูกกดแล้วจมแต่ยังเด้งขึ้นมาได้ ปล่อยให้ความร้อนสะสมที่กรุ่นเหลืออยู่ในเนื้อตับทำให้ตับสุกพอดี จะทำให้ตับนุ่มน่ารับประทาน
  5. เสิร์ฟร้อนๆ รับประทานตอนผัดเสร็จใหม่ๆ
Tags: , , ,