ท้องฟ้าเหนือกรุงเทพฯ วันนี้แจ่มใสไร้เงาฝน ลมหนาวพัดเย็นสบาย ฝูงนกหลากชนิดส่งเสียงร้องอย่างร่าเริง บ้างโผบินอย่างเสรีบนท้องฟ้ากระจ่างสีอ่อน บ้างร่อนลงบนพุ่มไม้เตี้ยๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ระหว่างหมู่อาคารคอนกรีตย่านฝั่งธนฯ บ้านเล็กกะทัดรัดหลังหนึ่งในกลุ่มอาคารนี้เป็นบ้านของ กฤช เหลือลมัย นักกิน นักเขียน กวี นักค้นคว้าด้านอาหารที่มีความรู้ลึกซึ้งและแม่นยำคนหนึ่งของประเทศไทย

เมื่อมองลอดบานเฟี้ยมไม้เปิดกว้างที่เผยให้เห็นครัวขนาดเล็กกะทัดรัด แต่พร้อมพรั่งไปด้วยวัตถุดิบนานาชนิดสำหรับการทำ ‘ผัดเผ็ด’ ซึ่งเป็นอาหารจานโปรดของ ไมค์’ – ภาณุพงศ์ จาดนอก นักเคลื่อนไหวด้านเยาวชน ซึ่งต่อมาได้เข้าร่วมกับขบวนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย อาหารจานนี้มีเอกลักษณ์คือมีรสชาติเผ็ดร้อนจัดจ้านจากพริกแกงตามแบบการครัวภาคตะวันออก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของภาณุพงศ์

ภาณุพงศ์ถูกจับกุมตัวอย่างกะทันหันในวันที่ 23 กันยายน 2564 นับเป็นครั้งที่สามแล้วที่เขาต้องเข้าเรือนจำ การจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากนักเคลื่อนไหวรายอื่นๆ เช่น อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และอีกหลายคนได้ถูกจับกุมไปก่อนไม่นานนัก การจับกุมในครั้งนี้ทำให้การนัดหมายเพื่อปรุงและชิมอาหารจานโปรดของภาณุพงศ์ที่เคยถูกวางแผนเอาไว้อย่างดีกลับพังลงไม่เป็นท่า

ก่อนภาณุพงศ์จะถูกจับ เขาได้เขียนเล่าสูตรการทำปลากระบางผัดเผ็ดไว้ด้วยลายมือเป็นระเบียบสม่ำเสมอโดยปากกาลูกลื่นสีน้ำเงินบนกระดาษสมุดสองแผ่นบาง วัตถุดิบและสูตรพริกแกงเผ็ดถูกอธิบายอย่างละเอียดแบบที่ผู้อ่านสามารถทำตามสูตรได้อย่างไม่ยากเย็น แผ่นกระดาษสมุดถูกถ่ายภาพและส่งต่อเป็นไฟล์ภาพให้กฤช เพื่อเขาจะได้ทำตามสูตรในวันนี้

“วันนี้ผมจะลองทำตามสูตรของเขาเป๊ะๆ แต่ของแบบนี้คนมันทำไม่เหมือนกันหรอก ถ้าทำโดยไม่ต้องเปิดตำราไมค์ ผมจะทำอีกแบบหนึ่ง อาจจะคล้ายๆ เรื่องสัดส่วนผมจะกะไปตามความสมควร แต่ใช้วัตถุดิบและลำดับก่อนหลังตามที่เขาบอกมา” กฤชเอ่ยก่อนเริ่มต้นการทำอาหารที่ถ่ายทอดจากความทรงจำของภาณุพงศ์

วิหคแห่งท้องทะเล

ภาณุพงศ์เรียกจังหวัดของเขาว่า ‘ประเทศระยอง’  ริมชายหาดของทะเลระยองเต็มไปด้วยดอกผักบุ้งทะเลสีม่วงอ่อนลู่ลมเหยียดราบไปกับพื้น คล้ายเป็นกรอบภาพให้กับท่าเรือ IRPC บริเวณท่าเรือมีเรือเดินสมุทรหนักหลายตันจอดอยู่ที่ปลายสะพาน ด้านหน้าสำนักงานจัดหางานจังหวัดของระยองมีป้ายประกาศรับสมัครงานอันใหญ่โตกว่าสิบเมตร เนื้อหาบนป้ายมีตำแหน่งงานต่างๆ นับร้อยตำแหน่ง งานแทบทุกงานล้วนแต่เป็นงานภาคอุตสาหกรรม เช่น ช่างรีดแผ่นเหล็ก ช่างประจำเครื่องหล่อ พนักงานขับรถในโรงงาน ช่างไฟฟ้า ช่างโรงงานท่อ ช่างรีดร้อน ฯลฯ ทว่าไม่ใช่ทุกคนในระยองที่ได้รับประโยชน์จากอุตสาหกรรมเหล่านี้

“ประเทศระยองเคยเรียกร้องขอปกครองตนเอง สิ่งที่คนระยองต้องการจริงๆ คือคุณภาพชีวิต ทั้งด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และการจัดการทรัพยากรอย่างทั่วถึงนะครับ ที่ระยองมีฝาย เขื่อน และอ่างเก็บน้ำอยู่หลายแห่ง แต่เกษตรกรไม่มีน้ำใช้ ขณะที่อุตสาหกรรมใช้น้ำทะเลเป็นจำนวนมากโดยที่คนไม่รู้ นิคมอุตสาหกรรรมบางแห่งใช้น้ำทะเลเข้าไปหล่อเย็นเครื่องจักรที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและปล่อยน้ำอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียสลงทะเล จนปลาตายและปะการังฟอกขาว แต่ไม่เคยมีใครรับผิดชอบ

“เด็กระยองหลายคนจบมาไม่มีงานทำเพราะอุตสาหกรรมไม่รับคนระยองเข้าทำงาน กลัวจะรวมตัวกันประท้วง ถ้าจะรับมาทำก็จะเป็นแบบซัพพลายเออร์ (แรงงานเหมาช่วง) ซึ่งการจ้างงานแบบนี้หลังจากคุณจบงานหรือตกงานจะไม่มีสวัสดิการเลยนะครับ เหมือนการทำงานอยู่บนเส้นด้าย จะขาดเมื่อไหร่ไม่รู้”

โอกาสเข้าถึงตำแหน่งงานและหลักประกันเรื่องสวัสดิการของคนท้องถิ่นคือสิ่งที่ภาณุพงศ์ต้องการ เขาเรียนรู้เรื่องนี้มาจากครอบครัวของเขาเอง ซึ่งมีพ่อเป็นพนักงานเหมาช่วงของโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง อาชีพของพ่อไม่ได้มาพร้อมความมั่นคงหรือสวัสดิการมากพอ สมาชิกที่เหลือในครอบครัวของจึงต้องกลายเป็นกำลังหลักเคียงข้างพ่อ ไม่ใช่เพียงกำลังเสริม ดังที่ ยุพิน มะณีวงศ์ แม่ของเขาเล่าให้ฟังว่า

“ไมค์เคยโดนโจมตีเรื่องที่เคยเป็นเด็กเก็บขยะ มันมาจากที่เขาไปช่วยแม่ทำงานทั้งชุดนักเรียนนั่นแหละ ตั้งแต่เขาเริ่มออกทำงานรับจ้างได้ หลังเลิกเรียนหรือเสาร์-อาทิตย์เขาก็มาทำงานกับแม่ ถามว่าแม่สงสารไหม แม่สงสารมาก เราเอาลูกไปเลี้ยงในไร่ตั้งแต่เล็ก แต่ถ้าวันหนึ่งเขาไม่มีแม่แล้วเขาจะอยู่ได้ แล้วมันก็เป็นไปอย่างที่เราตั้งใจไว้ ความลำบากของการทำงานเป็นเรื่องปกติของคนหาเช้ากินค่ำทั่วๆ ไป แต่มันมาคู่กับความภาคภูมิใจว่าปีนี้ลูกของเราเขาโตขึ้นอีก ผ่านมาปีหนึ่ง เรามองลูกแล้วเห็นทุกคนอยู่ครบ แม่อย่างภูมิใจเลยว่าแม่เลี้ยงลูกรอด”

ยุพินกล่าวว่าอาหารที่เธอใช้เลี้ยงดูลูกๆ นั้นเป็นอาหารที่ ‘ไปตามสภาพครอบครัว’ เช่น ผักกับน้ำพริกปลาร้า แกงป่า ผัดเผ็ดเนื้อ แต่อาหารที่ไมค์โปรดปรานมากที่สุดคือ ‘ผัดเผ็ดปลากระบาง’

“อาหารที่แม่ไมค์ทำบ่อยๆ เป็นอาหารรสจัด แต่ที่ไมค์ชอบที่สุดคือผัดเผ็ดปลากระบาง เพราะว่าเราชอบรสชาติและความหอมของปลาเวลาโดนย่างบนเตาถ่าน เอาใบตองรองเนื้อปลา พอย่างเสร็จแล้วแม่จะใช้ไมค์ให้ฉีกเป็นชิ้นพอดีคำ กว่าจะได้ผัดปลาก็หายไปเยอะ เพราะไมค์ฉีกแล้วไมค์ก็กินไปด้วย” ภาณุพงศ์เล่าถึงคืนวันที่เขาและแม่เคยช่วยกันทำอาหารอย่างสบายๆ ซึ่งเขาไม่มีช่วงเวลาอย่างนั้นมาเนิ่นนานแล้ว

กฤชเดินไปหยิบปลากระเบนย่างที่ตากไว้บนหลังคารถ ปลากระบางย่างอย่างที่ไมค์ชอบนั้นหาซื้อยากพอใช้ ปลาประเบนธงที่สั่งซื้อทางออนไลน์จึงถูกส่งมายังบ้านของกฤชมารอไว้แทนที่ตั้งแต่เมื่อวานนี้ เนื้อปลากระเบนธงย่างทั้งสองชิ้นมีความหนาราวหนึ่งนิ้ว เนื้อในมีสีเหลืองอ่อนตัดกับหนังกระเบนสีเข้มจนเกือบดำ กฤชเล่าว่าหลังจากได้ปลามา เขานำไปอบอีกครั้งด้วยไฟอ่อนแต่เช้าตรู่ ก่อนจะนำออกจากเตามาตากแดดเพื่อดึงความชื้นออกจากเนื้อปลากระเบน และปรุงรสตามสูตรต่อไปในวันนี้

โดยทั่วไปแล้ว ‘ปลากระเบนผัดเผ็ด’ มักถูกจัดเป็น ‘อาหารป่า’ จานหนึ่ง นิยามของคำว่าอาหารป่าในปัจจุบันมักหมายถึงอาหารที่มีวัตถุดิบที่ได้มาจากป่า ส่วนมากคือเนื้อสัตว์ป่า สัตว์ป่าส่วนใหญ่ไม่เชื่องพอที่จะเพาะเลี้ยงในฟาร์มได้ สามารถเอาชีวิตรอดได้เองตามธรรมชาติ หลุดรอดจากการเป็นเหยื่อในห่วงโซ่อาหาร และเติบโตได้โดยปราศจากการช่วยเหลือควบคุมจากมนุษย์ เช่นในกรณีของปลากระเบน หรือ ‘วิหคแห่งท้องทะเล’ การซื้อหาเนื้อปลากระเบนในตลาดสดแต่ละครั้งจึงเป็นเรื่องไม่แน่นอนอย่างยิ่ง ดังที่กฤชอธิบายว่า

“ผมจะทำผัดเผ็ดปลากระเบนเวลาที่มีของครับ ปลากระเบนนี่ไม่ได้หาง่ายนะ ต้องใช้ร้านที่เขาย่างรมควันกาบมะพร้าวดีๆ ถึงจะอร่อย ไม่อย่างนั้นจะยังเหลือกลิ่นแอมโมเนียที่เกิดขึ้นตอนปลาไม่สดแล้ว แต่ถ้ารมควันไฟกาบมะพร้าวหอมๆ จะทำให้กลิ่นหายไปได้ ปลาที่ย่างดีต้องแห้งนิดหนึ่งและต้องถึงควัน แต่ปลากระเบนรมควันดีๆ หายากครับ”

ไม่ว่ามนุษย์จะพยายามหาทางกำจัดกลิ่นฉุนในเนื้อปลากระเบนให้หมดจดเท่าใดก็ตาม ตั้งแต่การนำไปย่าง รมควัน ทอด ฯลฯ เนื้อปลากระเบนแปรรูปเหล่านี้ยังคงมีกลิ่นเฉพาะอยู่ แม้กลิ่นที่ว่านี้จะเจือจางลงไปมากก็ตามที เช่นเดียวกับชีวิตของภาณุพงศ์ที่ผ่านเหตุการณ์ไม่เป็นธรรมและการคุกคามมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่อาจกักขังตัวตนอันเป็นอิสระ และสกัดเจตจำนงอันแน่วแน่ของเขาออกไปได้เลย

อหังการ์แห่งรสชาติ

“แกงที่แม่ทำนี่ต้องตำเองครับ ความเผ็ดถ้ามีสิบระดับก็ให้ระดับสิบเลยครับ ไมค์เลยกลายเป็นคนกินอาหารรสจัด อาหารของระยองรสชาติจะติดหวาน เช่น หมูชะมวง น้ำพริกกะปิ มันจะหวาน แต่บ้านไมค์จะไม่กินหวาน มีแค่พี่สาวคนเดียวที่กินหวาน” ภาณุพงศ์อธิบายถึงรสโปรดของสมาชิกในบ้าน ‘การเลือก’ รสชาติ วัตถุดิบ วิธีการปรุง ทุกการเลือกคือเครื่องยืนยันศักดิ์ศรีท่ามกลางข้อจำกัดของทรัพยากร

รสชาติของอาหารป่ามักมีความเผ็ดร้อนเป็นตัวชูโรง ความเผ็ดร้อนของอาหารป่าในนิยามนี้เป็นรสชาติที่แสดงตัวตนผ่านเส้นพรมแดนระหว่างความโอชะและความเจ็บปวด ซึ่งเป็นทั้งรสชาติและรสสัมผัสที่ซับซ้อน แต่ถึงอย่างนั้น หลายครั้งหลายหนรสเผ็ดในอาหารป่ายังถูกด้อยค่าด้วยอคติ ซึ่งกฤชไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้เลย

“นิยามของอาหารป่าที่เราได้ยินกันมากในสังคมคือการขว้างโครม! นิยามจากที่อื่นเข้ามา เรามักได้ยินว่า ‘โอ๊ย! อาหารป่าเผ็ดมาก’ ‘อาหารป่าไม่มีรสอื่นเลยนอกจากรสเผ็ด’ หรือ ‘อาหารป่าทำขึ้นเพื่อกลบรสเนื้อที่เหม็นสาบ เหม็นคาว’ ใช่ไหม? สารพัดนิยามประโคมมาเพื่อให้เห็นว่าอาหารป่าไม่เหมือนอาหารเมือง ไม่เหมือนอาหารของเรา เมื่อใดก็ตามที่พูดถึงอาหารป่าจะมีความเป็นอื่นสูงมากนะครับ

“ผมว่ามันเป็นมายาคติตั้งแต่ข้อแรกว่ารสเผ็ดมีราคาถูก เป็นรสสำหรับคนจนกิน พริก ดีปลี มะแขว่น หรือพริกไทยถูกที่ไหนล่ะ เอาเข้าจริงรสเผ็ดมีราคาแพงทีเดียวในโลกสมัยเก่า หรือโลกสมัยนี้ก็ตาม การที่คุณเอาวัตถุดิบมากมายก่ายกองที่มีความรุนแรงของรสชาติต่างๆ เช่น ในกรณีพริกแกง เราสามารถนำมันมาอัดรวมกันในครกแล้วทำให้รสชาติสมดุลกันได้เนี่ย ไม่กระจอกนะฮะ ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ ฉะนั้น ต่อให้คนมองว่าอาหารป่ามีแต่รสเผ็ด ความเผ็ดนั้นก็ไม่ใช่จะทำให้อร่อยได้ง่ายๆ เราต้องเข้าใจฐานของความหลากหลายในเรื่องความเผ็ดและความอร่อยของความเผ็ดก่อน แล้วจะถึงจะพูดต่อไปได้ว่าอาหารป่าไม่ได้เผ็ดอย่างเดียว หรือสักแต่เอาความเผ็ดมากลบรสชาติ มันไม่ใช่แบบนั้นเลย”

รสเผ็ดในอาหารป่าไม่ใช่รสที่ป่าเถื่อนและหยาบกระด้าง หากแต่เป็นรสหนึ่งในสมการรสชาติอันซับซ้อน เฉกเช่นตัวตนของภาณุพงศ์ที่มีหลายแง่มุมอันแฝงความละเอียดอ่อนเอาไว้ เช่น จริงๆ แล้วเขามีความฝันที่อยากเป็นเชฟ เขามีทักษะในการจัดดอกไม้ได้สวยมากขนาดทำเป็นอาชีพได้ หรือเขาเป็นคนที่มีบุคลิกผ่าเผยและนั่งหลังตรงจนน่าทึ่ง

วันที่ 3 กันยายน 2563 ในห้องพิจารณาคดีหมายเลข 712 ณ ศาลอาญา การไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของภาณุพงศ์ดำเนินไป บรรยากาศของห้องพิจารณาคดีในวันนั้นเป็นการพิจารณาแบบปิดที่มีความตึงเครียดและเข้มงวดผิดปกติ แต่ตลอดระยะเวลาห้าชั่วโมงอันเต็มไปด้วยความกดดันนั้น แผ่นหลังของภาณุพงศ์แทบจะไม่ได้เอนลงไปแตะพนักไม้ของเก้าอี้ในห้องพิจารณาคดีเลย เขาเป็นมนุษย์ที่นั่งหลังตรงได้ยาวนาน จนน่าสงสัยว่าเขาต้องเป็นคนเช่นไร ถูกเลี้ยงดูมาแบบไหน หรือความภาคภูมิใจชนิดใดตรึงหลังเขาให้ตั้งตรงได้เช่นนั้น

ก่อนการมานั่งในห้องพิจารณาคดีวันนั้น ภาณุพงศ์สร้างเส้นทางการต่อสู้และเป็นนักกิจกรรมมาจากการเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดระยอง ตั้งแต่เขายังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย โดยเขาได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยคะแนนเสียงที่เยอะที่สุดจากผู้สมัคร 9 คน กล่าวได้ว่าภาณุพงศ์มาจากระบอบประชาธิปไตยแต่แรก

“ถ้าคุณอยากจะพัฒนาเด็กคนหนึ่งคุณต้องทำตัวเป็นน้ำที่สะท้อนความต้องการ ไม่ใช่ทำตัวเป็นแสงแดดคอยแผดเผาโดยไม่รู้เลยว่าเขาจะร้อนหรือไม่ร้อน ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เด็กทุกคนเรียกร้องความเชื่อมั่น ความไว้ใจ ความยอมรับ ถ้าคุณยอมรับเขา เชื่อมั่นในศักยภาพและคำพูดของเขา นั่นคือสิ่งที่เขาดีใจ ‘เฮ้ย! พี่แม่งเชื่อใจกูว่ะ พี่แม่งดีกับกูว่ะ’ เราเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กได้เยอะมาก”

ตอนนั้นภาณุพงศ์เริ่มออกมาอยู่คนเดียวและทำงานเป็นพนักงานโรงแรมหาเลี้ยงตัวเองแล้ว เขามีรายได้กว่าหมื่นบาทต่อเดือน แต่เงินนั้นหมดไปกับการช่วยแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนซึ่งมีทุกรูปแบบ ทั้งปัญหาการศึกษาคุณภาพต่ำ เด็กมั่วสุม ยาเสพติด การถูกคุกคาม และปัญหาครอบครัว ยุพินเล่าถึงชีวิตของไมค์ช่วงนั้นว่า

“ตีสอง ตีสาม นอนอยู่ มีคนโทร.ตาม ‘พี่ มีน้องผู้หญิงออกจากบ้านพักมา มาเดินอยู่กลางทาง กู้ภัยกักตัวไว้อยู่ พี่ออกไปช่วยเหลือตรงนี้ด้วย’ ลูกก็ต้องลุกไป แม่ถามว่าทำไมไม่แจ้งหน่วยงานล่ะลูก เขาบอก ‘แม่เอ๊ย คนที่รอความหวังอยู่ คนที่ขาดแคลนมานานเหลือเกิน เราไปแจ้งหน่วยงานเขาจะได้รับการช่วยเหลือที่มันทันไหมแม่ น้องเป็นผู้หญิง เราต้องพาเขาไปอยู่ที่ปลอดภัย ถ้าเราไม่ทำ น้องก็อันตราย’ เขาก็มีข้อเหตุผลของเขามาพูด เราก็ปล่อย จริงๆ ใจแม่กับใจไมค์ก็ประมาณเดียวกัน”

ตัวตนที่ถูกหล่อหลอมมาให้ไม่ทนทานต่อการเหยียบย่ำเพื่อนมนุษย์ของภาณุพงศ์นั้นแข็งแรงอย่างยิ่ง หลังถูกคุมตัวในรอบที่สองเมื่อต้นปี 2564  คืนหนึ่ง เขาเห็นนักโทษชายคนหนึ่งร้องตะโกนถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากศาลจนเสียสติและถูกทำร้ายจากนักโทษที่เป็นผู้ช่วยผู้คุม โดยมีผู้คุมยืนดูเฉยๆ เขาแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่พอใจต่อการกระทำนั้น วันต่อมาเขาฝากข้อความไปโพสต์สู่สาธารณะทันที จนมีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเรือนจำคืนนั้น แม้จะอยู่ในคุกเขายังคงปกป้องคนอื่นเหมือนที่เคยทำมาตลอด

“แม่ได้คุยกับไมค์ครั้งหนึ่งตอนตำรวจเพิ่มข้อกล่าวหา ไมค์ถามว่า ‘แม่… แม่ได้ขึ้นปราศรัยหรือยัง’ แม่บอก ‘ยังลูก… แม่ขี้เกียจให้ลูกออกมาบอกว่าปล่อยแม่กู’ ไมค์เขาก็หัวเราะ แล้วบอกว่าหนูแข็งแรงดีนะแม่ เขาไม่มีทีท่าว่าจะสลดหรือย่อท้อ ยังเป็นไมค์ที่นั่งหลังตรงไหล่ตั้งเหมือนเดิม” ยุพินกล่าว

หลอมรวมผ่านน้ำมันร้อน

“แม่จะทำแบบผัดเผ็ดปลากระบางมาแบบแห้งๆ กับพริกแกง กะปิจะใส่ไปตอนที่เราตำเครื่องแกงผิวมะกรูด เราจะไม่โรยใบมะกรูด แต่ผัดไปเลย แล้วก็ใส่ใบยี่หร่าเผ็ดๆ ใบกะเพรา พริกไทยอ่อน เราจะทำแบบไม่ต้องใส่เครื่องอะไรเยอะ ก็คือพริกแกงผัดกับปลาให้พอแห้ง แล้วก็ใส่เครื่องปรุงรสลงไป น้ำปลากับผงชูรสนิดหนึ่งแล้วก็ผัด เพราะว่าเราจะได้รสชาติของความเป็นพริกแกง พริกแกงสูตรแม่ก็อร่อย” ภาณุพงศ์กล่าวถึงขั้นตอนการผัดพริกแกงอย่างออกรส

“เสียดายวันนี้เราไม่ได้ข่าที่ฉุนเท่าไร กะเพราก็ไม่ฉุนเท่าไร เท่าที่ดูสูตรที่ไมค์และแม่เขาทำก็จะเป็นสูตรพริกแกงเผ็ดแบบเด็ดๆ เลย เท่าที่ผัดปลากระเบนของครัวไทยจะทำได้คือใส่ทั้งกระชายทั้งพริกไทยอ่อน และใบไม้ใส่ใบฉุนๆ ร้อนๆ ครบหมดเลย รับรองว่าแซ่บแน่นอน ดูจากสูตรแล้วนับว่าเป็นสูตรที่โอเคมาก เรียกว่าเป็นสูตรมาตรฐานที่ค่อนข้างเน้นพริก เผ็ดอย่างที่ไมค์รับรองไว้จริงๆ จัดไป! ดูซิว่าใครจะกินเผ็ดกว่ากัน!” กฤชเอ่ยกลั้วหัวเราะ

ถึงตอนนี้ เครื่องแกงที่กฤชบรรจงตำด้วยครกหินจนเนียนละเอียดก็พร้อมผัดน้ำมัน ก่อนที่จะผสมเข้ากับเนื้อปลากระเบนและเครื่องเทศสดรสร้อนที่รอท่าอยู่

ผัดเครื่องแกงใช้ไฟอ่อนๆ กลางๆ ขึ้นอยู่กับกระทะด้วยครับ อันนี้กระทะใหญ่หน่อยจะไหม้ช้า แต่ถ้าเป็นกระทะจีนต้องระวัง มันจะร้อน พริกแกงจะไหม้เกินไป ผัดให้มันมีกลิ่นหอมขึ้นมา จากนั้นเราก็ใส่ปลากระเบน ใส่น้ำนิดหนึ่งเพราะไม่อย่างนั้นจะแห้งเกิน และใส่น้ำปลาอีกนิดหนึ่ง”

กฤชใช้ช้อนค่อยๆ วางพริกแกงลงในกระทะที่มีน้ำมันร้อน เสียงฉ่าดังขึ้นฉับพลันในวินาทีที่เครื่องแกงสดเนื้อละเอียดได้สัมผัสกับน้ำมันร้อนที่เต้นเร่าอย่างโกรธเกรี้ยว กลุ่มควันไร้สีม้วนตัวขยายขนาดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเต็มห้องครัว ไอน้ำและควันส่งกลิ่นหอมฉุนของน้ำมันหอมระเหยจากพริกตำและสมุนไพรหลากชนิดในพริกแกงถูกความร้อนปลุกให้ตื่นขึ้น อัตลักษณ์แห่งกลิ่นของพริกแกงผัดเผ็ดสไตล์ระยองได้เผยตนออกมาอย่างอหังการ์ต่อหน้ากฤชและกลุ่มผู้มาเยือน จนทำให้เกิดอาการน้ำหูน้ำตาไหล ไอจามกันอย่างฉับพลันและทั่วถึง

“โห เขาไม่ใส่น้ำตาลเลย! แสดงว่ากินเผ็ดจริงนะ นี่ล่ะ ปลากระเบนจะกลิ่นประมาณนี้ กลิ่นรมควันจะขึ้นมาตอนผัด เราผัดคั่วให้มันแห้งนิดหนึ่ง”

“สิ่งที่อร่อยที่สุดคือแม่ไม่ตักใส่จาน แม่จะคากระทะไว้แบบนั้น แล้วพอใครจะกินก็ตักข้าวร้อนๆ ราดน้ำปลา แล้วก็เอาผัดเผ็ดปลากระบางมาใส่ แล้วก็คลุกข้าว โอ๊ย! อร่อย! กินกันไปเหงื่อแตกกันไป” ภาณุพงศ์กล่าวถึงบรรยากาศการกินอาหารจานนี้ในสำรับของครอบครัว ซึ่งบรรยากาศการกินต่างจากการกินผัดเผ็ดปลากระเบนที่ขณะนี้หอมกรุ่นอยู่บนเตาในบ้านของกฤชพอสมควร

“ไมค์ก็ไมค์เถอะวะ!”

กฤชกล่าวอย่างครึกครื้น พลางตักผัดเผ็ดปลากระเบนใส่จานและตั้งลงบนโต๊ะตัวเล็กในครัว พริกแกงเนื้อละเอียดผัดน้ำมันเคลือบปลากระเบนที่ถูกฉีกเป็นชิ้นเล็กอย่างทั่วถึง บ่งบอกถึงฝีมือการผัดอย่างชำนาญ เนื้อปลากระเบนฉีกอาบด้วยสีส้มแดงของพริกแกงตัดกับสีเขียวของใบยี่หร่าและก้านพริกไทยอ่อนดูยั่วน้ำลาย ทำให้เหล่าผู้มาเยือนที่ยืนออรอบโต๊ะต่างก็สาละวนตักผัดเผ็ดหอมกรุ่นใส่จานของตนคนละนิดละหน่อย

แววตาของผู้มาเยือนทุกคนมีความหวั่นเกรงในรสเผ็ดของอาหารจานนี้ หลังจากช่วงก่อนหน้าที่พริกแกงเผ็ดได้สำแดงเดชระหว่างผัดจนน้ำตาไหลพรากกันถ้วนหน้า แต่พลันที่ผัดปลากระเบนได้สัมผัสลิ้น ความกลัวที่มีต่อความเจ็บปวดจากรสเผ็ดของผัดปลากระเบนพลันหายไป รสเผ็ดที่น่าหวาดกลัวถูกผสานรวมเป็นหนึ่งเดียวกับความหอมกรุ่นอันหลากหลายของสมุนไพรในเครื่องแกง ตั้งแต่กลิ่นหอมอมเปรี้ยวสดชื่นจากตะไคร้ น้ำมันหอมระเหยจากผิวและใบมะกรูด กระชาย พริกไทยสดบวกกับกลิ่นหอมฉุนของกะเพราและยี่หร่าที่ปะทุขึ้นมาโอบอุ้มรสเผ็ดจากพริกเอาไว้อย่างสมดุลและเป็นเอกภาพ

รสชาติกลมกล่อมในคำแรกของผัดเผ็ดปลากระเบนยั่วให้ผู้กินตักเนื้อปลากระเบนเข้าปากเพิ่มอย่างรวดเร็ว แต่แล้วรสเผ็ดที่เป็นมิตรในรสสัมผัสแรกก็กลายร่างเป็นความเผ็ดที่ฉุนเฉียวและเจ็บปวด ผู้มาเยือนหลายคนได้หยุดการลิ้มรสผัดเผ็ดจานนี้เอาไว้เพียงคำแรกเท่านั้น ในขณะที่ผู้มาเยือนบางคนยังคงกินผัดเผ็ดปลากระเบนต่อไป แม้ว่าจะเป็นการกินแบบน้ำตาซึมก็ตาม

เมื่อข้าวหมดจาน น้ำตาก็แห้งเหือด พร้อมกับรสเผ็ดที่ค่อยๆ จางหาย ผู้มาเยือนจึงได้สัมผัสถึงรสหวานหอมบางเบา เป็นสภาวะที่คล้ายกับการลอยเรือในท้องทะเลอันราบเรียบหลังผ่านพายุมรสุมลูกใหญ่ การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยคงมีรสเผ็ดเช่นนี้กระมัง แม้ว่าในการขับเคลื่อนจะเจออุปสรรคสารพันแต่เหล่าผู้เรียกร้องประชาธิปไตยหลายคนก็ไม่หยุดเดินหน้า

“อาหารมันเป็นบทสนทนาจริงๆ อย่างที่หลายคนพูด เรารู้สึกว่าเราอยากคุยกับเขาด้วยหัวข้อเดียวกับเขา เรื่องผัดปลากระเบนนี่ล่ะ แต่ด้วยรายละเอียดแบบของเรา เจรจากัน สนทนากันผ่านอาหารจานเดียวกัน แต่มีรายละเอียดแตกต่างกัน คุยกันผ่านกระเทียมที่เราเลือกใช้ว่าทำไมถึงเลือกใช้กระเทียมพันธุ์นี้ คุยกันว่าทำไมเราถึงเลือกใช้พริกกะเหรี่ยงแทนพริกที่เขาใช้คือพริกจินดา ทำไมเราถึงอยากใส่ขมิ้นเข้าไปอีกนิดหนึ่ง เราคิดว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากสนทนากับเขาผ่านอาหารที่เขาชอบ” กฤชกล่าว

“ผมรู้สึกว่าตอนนี้เหมือนผมต้องทำตามสูตรเขาทุกอย่าง เหมือนนั่งฟังเขาพูด เหมือนเขาลุกขึ้นยืนและพูดอะไรบางอย่างที่เขารู้สึก เขาคิด เขาเห็น ให้เราฟัง ในโอกาสข้างหน้าเราก็อยากทำแบบนี้ให้เขากินบ้าง แต่เป็นสูตรของเรา จะได้สนทนากลับไปในหัวข้อเดียวกัน พอรู้ว่าเขาชอบกินอาหารแบบนี้คล้ายๆ เรา ใจจริงเราก็อยากทำให้เขากินนะ แล้วก็อยากให้เขาลองทำ แล้วมาลองชิมดูนะ”

ในขณะที่กฤชได้ปรุงอาหารรสเผ็ดร้อนของโปรดให้ภาณุพงศ์อย่างสุดฝีมือ แต่อาหารที่ภาณุพงศ์ได้ลิ้มรสขณะถูกจองจำ คงจะเป็นรสชาติที่ต่างจากอาหารเผ็ดร้อนประจำสำรับของครอบครัวที่เขาคุ้นเคย ดังที่เขาเล่าถึงอาหารอันจืดชืดจำเจที่เขาได้กินเมื่อถูกคุมขังครั้งก่อนว่า “อาหารในคุกค่อนข้างจะทรหดนะครับ ส่วนมากเป็นผักต้มไม่มีรสชาติ ไม่มีจืดหวานเค็ม อาหารในคุกที่อร่อยที่สุดคือข้าวต้มกับปลาทูเค็มเละๆ ที่เห็นแต่ก้าง เรียกได้ว่าเป็นวิญญาณปลา แต่ได้รสชาติของความเค็ม… นอกนั้นเรากินไม่ได้เลย”

สำหรับกฤชแล้วสิทธิในการกินอาหารที่มีคุณภาพและรสชาติดีนั้นเป็นเครื่องยืนยันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างหนึ่งเช่นกัน

“ผมเป็นห่วงว่าพวกเขา (เหล่านักเคลื่อนไหวที่ติดคุก) จะได้กินอาหารอร่อยอย่างที่พวกเขาอยากกินหรือเปล่า คนเรา การทำแบบนี้ได้เรียกว่าเป็นการเสียสละความสุขส่วนตัวนะว่าไหม ต้องแลกมาด้วยความยากลำบากบางอย่าง ของที่จะได้ทำเป็นปกติในชีวิตก็ไม่ได้ทำ อยากกินอะไรก็ไม่ค่อยได้กิน เขาควรจะได้กินอะไรอย่างที่เขาชอบกินในนั้น อย่างเราทำผัดเผ็ดที่ไมค์ชอบกินมาขนาดนี้ แต่เราผัดเสร็จแล้วเขาไม่ได้กิน… เศร้าไหม”

 


หมายเหตุ: ปลากระเบนธง หรือ Cowtail Stingray (Pastinachus sephen) ไม่ได้มีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายประเทศไทย ในบัญชีของสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) 3.1 มีสถานะใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) และไม่ได้อยู่ในบัญชีแนบท้ายของอนุสัญญา CITES (อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงชนิดสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้สูญพันธุ์)

Fact Box

สูตรผัดเผ็ดปลากระบางของไมค์

“เราจะทำแบบไม่ต้องใส่เครื่องเยอะครับ คือใช้พริกแกงผัดกับปลากระบางให้พอแห้ง”

— ภาณุพงศ์ จาดนอก

วัตถุดิบ

  • ปลากระบางหรือปลากระเบนย่าง
  • น้ำมันสำหรับผัด (น้ำมันจากพืชหรือสัตว์ก็ได้)

ส่วนผสมสำหรับพริกแกง

  • พริกแห้ง 9 เม็ด
  • ข่า 3 แว่น
  • ตะไคร้ 3 ต้น
  • หอมแดง 3 หัว (หั่นเพื่อให้ตำง่าย)
  • กระเทียมไทย 7 กลีบ
  • ผิวมะกรูดหั่นแว่น 5 แว่น
  • กะปิครึ่งช้อนโต๊ะ

ผักสำหรับผัดกับน้ำมันและพริกแกง: ใบมะกรูด ใบยี่หร่า ใบกะเพรา พริกไทยอ่อน

วิธีการปรุง

  1. ฉีกปลาเนื้อปลากระเบนหรือปลากระบางด้วยมือให้เป็นชิ้นพอดีคำ (ไมค์จะชอบปลากระบางมากกว่า)
  2. ตำพริกกับกระเทียม ตามด้วยตะไคร้ ข่า ผิวมะกรูด ตำส่วนผสมให้ละเอียดไปทีละอย่างแล้วค่อยใส่ส่วนผสมอื่นลงตำตาม
  3. ใส่หอมแดงลงไปตำให้ละเอียดแล้วใส่กะปิตามลงไป ตำส่วนผสมทั้งหมดให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันก็เป็นอันใช้ได้

(เคล็ดลับจากไมค์)

*หอมแดงควรตำทีหลัง เพราะหอมแดงมีน้ำ หากตำก่อนจะทำให้พริกแกงไม่ละเอียดและตำยาก

*ส่วนผสมทุกอย่างควรหั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อง่ายต่อการตำและทำให้รวดเร็วในการตำละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน

  1. ผัดพริกแกงเข้ากับเนื้อปลากระเบนฉีก เติมใบมะกรูด ใบยี่หร่า ใบกะเพรา และพริกไทยอ่อนทั้งก้านลงผัดตาม ปรุงด้วยน้ำปลาและผงชูรส ซึ่งสูตรของไมค์จะไม่ใส่น้ำตาลเลย
Tags: , , , , , ,