“สาธุเด้อ พ่อโคตร แม่โคตร คนในตระกูล (ที่ทำพิธี) ขอให้ความเจ็บไข้อย่าได้ใกล้ ความไข้อย่าให้มี ความจัญไรสิ่งไม่ดีอย่าเข้ามาแตะ ขอให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป”
ข้างต้นคือคำแปลผญา (ภาษิตอีสาน) บางส่วนของแม่ครูผู้นำประกอบพิธีกรรม ‘แกลมอ’ พิธีศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยรักษาเยียวยาตั้งแต่การเจ็บไข้ได้ป่วยไปจนถึงปัญหาชีวิต ที่มีมาอย่างยาวนานของชาติพันธุ์กูย ที่นอกจากคาถา การปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และพิธีธรรมที่ไม่อาจละสายตาไปได้แล้ว
ภาพเยาวชนอายุอานามไม่เกิน 18 ปี มือข้างหนึ่งถือตะกร้าหมาก ให้ความรู้สึกน่าเกรงขาม มีอำนาจ ดูแก่วิชาเกินกว่าอายุชีวิต และกลายเป็นบุคคลหลักในการทำพิธี ตั้งแต่ขับกลอน ท่องคาถา ฟ้อนรำ ไปจนถึงพิธีกรรมปัดเป่าโรคภัยเคราะห์ร้าย ที่เข้าร่วมพิธีแกลมอพร้อมกับเยาวชนรุ่นไล่เลี่ยกัน หน้านวลใส ดูอ่อนหวานในเวลาทั่วไป แต่เมื่อเพลง ดนตรี และการขับร้องบรรเลงขึ้น เธอผู้นี้กลับร่ายรำออกลวดลายในแบบที่ไม่ว่าใครก็ไม่อาจละสายตาไปได้
2 คนนี้แหละที่ดึงดูดความสนใจของเรา ไม่แพ้พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และหาดูยากอย่างแกลมอ ผู้นั่งท่ามกลางสตรีเพศและแม่เฒ่าสูงวัย เป็นเยาวชนเพียง 2 คนที่เราเห็นในพิธีกรรม ที่วัดบ้านตะเคียน จังหวัดสุรินทร์
ขณะที่สายธารการเปลี่ยนผ่านไหลอย่างรวดเร็ว ผนวกกับผลจากการกดทับทางวัฒนธรรม จนเกิดแนวโน้มว่า ประเพณี วิถีชีวิต พิธีกรรม ไปจนถึงภาษาท้องถิ่น กำลังค่อยๆ สูญหาย ไปจากคนรุ่นใหม่
แต่ทำไมคนรุ่นใหม่ที่ว่าถึงปรากฏตัวในบทบาท ‘ร่างทรง’ และเข้าร่วมพิธีกรรมความเชื่อดั้งเดิม มากไปจนถึงการกลายเป็นกุญแจสำคัญ ถ่ายทอดภูมิความรู้ วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิม ให้สืบต่อไปในปัจจุบันและอนาคต
ร่างทรงองค์เควียร์
“พิธีแกลมอแกลออสมัยก่อนจะจำกัดให้แค่ผู้หญิงเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้เขาอนุโลมให้เพราะผีบรรพบุรุษเขาเลือกเอง” ทินกร โสภาพันธุ์ กล่าว
ทินกรอธิบายเหตุผลว่า ทำไมถึงมาร่วมพิธีแกลมอได้ เพราะปัจจุบันผีบรรพบุรุษจะเลือกผู้สืบทอดเอง ซึ่งเธอเข้าร่วมพิธีแกลมอตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เรียนรู้จากยายทวดที่อยากให้ช่วยอนุรักษ์พิธีกรรมนี้ไว้ เพราะกลัวสูญหาย จนปัจจุบันทินกรอายุ 17 ปี และได้รับการเรียกขานว่า ‘ครูบา’ เพราะมีทั้งความสามารถลีลาในการกล่าวบทผญา ท่องคาถาแม่นขึ้นใจ และร่ายรำที่สนุกสนานไปกับพิธี
“เขาเลือกว่าจะเข้าคนไหนอย่างไร แล้วแต่เลยว่าจะเลือกเข้าใคร สมมติบ้านนั้นมีแกลอออยู่ แล้วยายที่เคยมีเขาเสียชีวิตลง ก็ต้องมาสืบทอดให้ลูกหลาน”
ชาวกูยมีความเชื่อว่า หากใครเจ็บไข้ขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ หรือเกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน สิ่งเหล่านี้หมายถึงผีบรรพบุรุษลงโทษ อาจเพราะทำผิดศีลหรือลบหลู่ผี ซึ่งมีวิธีแก้ผ่าน ‘พิธีแกลมอ’ โดยการทำนายโรคภัยไข้เจ็บด้วยการนำเอาข้าวสาร 1 ถ้วย และเงิน 1 บาท วางบนข้าวสารเพื่อให้แม่ครูหรือแม่เฒ่าดูว่า ความป่วยไข้ทั้งกายใจมีสาเหตุมาจากอะไร
วิธีการคือ จะนำข้าวสารไปโปรยรอบตัวพร้อมกับพูดคาถา ต่อมานำข้าวสารจำนวนหยิบมือใส่ในฝ่ามือซ้าย แล้วจับกระปุกปูนแกว่งเบาๆ เหนือข้าวสาร ชาวกูยเรียกการทำนายอาการเจ็บไข้นี้ว่า ‘โปล’
พิธีกรรมจะประกอบด้วยแม่หมอทำหน้าที่อัญเชิญดวงวิญญาณประทับร่าง มีนักดนตรี นางรำขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และเครื่องบวงสรวง เช่น พานบายศรี ดอกไม้ธูปเทียน เหล้า บุหรี่ หมากพลู ข้าวสาร และไข่ไก่
“เมื่อก่อนไม่เคยเชื่อเลยว่าแกลมอมีจริง ตกเย็นมาเรานอนติดเตียงเลย ปวดร่างกายไปหมด ไปหาหมอ กินยาอย่างไรก็ไม่หาย ฉีดยาก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม จนเราขึ้นไปจุดเทียนบนหิ้ง บอกเขาว่า ถ้าล่วงเกินอะไรไปก็ขอโทษที่พูดอย่างนั้น ขอขมาเด้อ ให้ลูกหาย พอเรามานั่งแป๊บเดียวหายเลย ลุกกินข้าวได้ปกติ มันเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ ” ทินกรเล่า
“ของหนูก็เหมือนกัน เป็นเรื่องอุบัติเหตุที่ไม่น่าจะเกิด หลายคนเลยบอกว่าเป็นผีบรรพบุรุษ ตอนแรกหนูก็ไม่เชื่อ จนเรามาเจอกับตัวเองก็เริ่มเชื่อ” คณิต สมบัติมล อายุ 15 ปี กล่าวเสริม
คณิตเป็นนางรำ ที่คนเรียกตำแหน่งเธอว่า ‘ท้าวสาวนาง’ เล่าถึงสถานการณ์ชาวกูยในปัจจุบันว่า คนรุ่นหลังๆ ไม่ค่อยสนใจวิถีชีวิตและพิธีกรรม เพราะขนาดภาษากูยที่ใช้กันในชุมชน แม้เด็กคนรุ่นใหม่จะฟังออกแต่ก็มีความเขินอายที่จะตอบกลับเป็นภาษาเดียวกัน แต่กลับหันมาใช้ภาษาไทยกลางในการสื่อสารแทน จึงเป็นเรื่องน่ากังวลว่า พิธีกรรม ประเพณี และวิถีชีวิตชาติพันธุ์กูยอาจสูญหาย
“เพื่อนในรุ่นเดียวกันก็ถามหนูว่า ทำไมสนใจแบบนี้ หนูก็บอกกลับไปว่ามันคือวัฒนธรรมของหมู่บ้าน คนไม่เชื่อพูดอย่างไรเขาก็ไม่เชื่อ ต้องมาดูตัวตาตัวเอง และนี่คือสิ่งที่เราอยากอนุรักษ์ไว้” คณิตกล่าว
ความเชื่อ ไสยศาสตร์ และ TikTok
“พิธีแกลมอ แกลออ ก็คือการรักษาคนป่วยเจ็บไข้นั่นแหละ” ศุภณัฐ กระสังข์ อายุ 15 ปี กล่าว
แกลมอ คือชื่อพิธีกรรมที่ใช้เรียกจัดตอนกลางวัน ส่วน แกลออ คือพิธีกรรมในตอนกลางคืน อธิบายอย่างง่าย ทั้งสองคือพิธีที่ใช้รักษาความป่วยไข้และขอให้คนในชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งไม่ได้มีเพียงบทบาทของวิญญาณเท่านั้น แต่คือการรักษาจิตใจด้วยความเชื่อ ผ่านดนตรี การร่ายรำ และเสียงเพลง ที่รายล้อมพร้อมหน้าไปด้วยคนในครอบครัว
ศุภณัฐปรากฏตัวพร้อมกับผ้าเบี่ยงที่ออกแบบกะพู่หรือพู่ห้อยชายผ้าเอง ด้วยสีสันตามที่เขาชอบ เพราะเมื่อไปออกงานแกลมอ ชุดของเขาจะได้แตกต่างจากใครเพื่อน ปากแต่งแต้มด้วยสีแดงสดที่มาจากการเคี้ยวหมาก เล็บมือทาด้วยสีเล็บเจลดำ เพนต์ทับด้วยสีขาว ครูบาอาจารย์มอบฉายาองค์ประจำตัวศุภณัฐว่า ‘สนมน้อยใส่สร้อยสังวาล’
“น้องเรียกตัวเองว่าเกย์ น้องก็จะมีเพื่อนรุ่นพี่คอยทำพิธีแบบนี้อีก 10 กว่าคน อยู่หมู่บ้านข้างๆ เป็นกะเทยผมยาว เวลามีงานเขาก็จะโทรศัพท์บอก ไปทำพิธีแกลมอ ทำบายศรี หรือบางครั้งก็ไปเที่ยวเล่นกันบ้าง”
ศุภณัฐอธิบายให้เห็นภาพว่า ปัจจุบันไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้นที่เป็นตัวหลักในการประกอบพิธีกรรม เพราะในช่วงหลังผู้มีความหลากหลายทางเพศมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน สืบทอด ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตเป็นอย่างมาก
“น้องชอบ น้องรักในวิถีชีวิตชาวกูยมาก น้องศึกษากับคนแก่ในหมู่บ้านเรื่อยมา”
นอกจากการพิธีแกลมอแล้ว ศุภณัฐยังสืบทอดวิถีชีวิตทั่วไปของชาวกูย เช่น เลี้ยงหม่อนและทอผ้า ที่ไม่ใช่แค่สืบทอดในชีวิตประจำวันและชุมชนเท่านั้น เขายังเผยแพร่ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมเหล่านี้ สู่สาธารณะในโลกออนไลน์ผ่าน TikTok ที่มีผู้ติดตามเกือบ 4,000 คน
“น้องอยากเผยแพร่ ให้คนอื่นได้รับรู้ว่า ชาวกูยเรามีการละเล่นแบบนี้นะ เขาทำกันแบบนี้ และอยากเผยแพร่ให้เด็กรุ่นใหม่หรือคนที่อยู่ไกลได้รู้จัก”
นี่คือเป้าหมายของสนมน้อยใส่สร้อยสังวาล ที่คล้ายกับการทำหน้าที่เป็นทูตวัฒนธรรมเพื่อให้คนเห็นวิถีชีวิตและเข้าใจคนในชุมชนมากขึ้น
“บางคนเขาก็ชอบ บางคนไม่ชอบเขาก็มาคอมเมนต์ เราก็แล้วแต่ความเชื่อเลย ใครจะเชื่อก็ได้ไม่เชื่อก็ได้ แต่เคยมีพี่ที่เขาอยู่กรุงเทพฯ เขาทักมาบอกว่า อยากดูว่าเราเล่นกันอย่างไร มีความสนใจ และถามว่าคือพิธีอะไร”
ผี เพศ ศาสนา และร่างทรง
“เด็กสมัยนี้เขาอาจจะไม่เชื่อกัน ทั้งไม่เคยโดน และโดนเพื่อนล้อที่มาทำแบบนี้” คณิตกล่าว
ทั้ง 3 คนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากสืบสาน อนุรักษ์ ประเพณี พิธีกรรม ไปจนถึงวิถีชีวิตชาวกูยเอาไว้ และอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจใหม่ เพราะอาจมีความเชื่อผิดๆ ในพิธีกรรมอยู่บ้าง
“คนส่วนมากเขาไม่เข้าใจ ไม่ค่อยเชื่อ ไม่ชอบ เพราะกลัวว่าการเข้าทรงจะทำให้อายุสั้น เหมือนที่หมอดูเขาพูดกัน แต่นี่เป็นบรรพบุรุษเราที่เขามาประทับและปกปักรักษาลูกหลานทุกคน ซึ่งเป็นคนละอย่างกับร่างทรงหมอดู นี่คือผีบรรพบุรุษ” คณิตอธิบายเพิ่ม
นอกจากการเป็นผู้ถูกเลือกโดยผีบรรพบุรุษแล้ว อีกสิ่งที่ผู้รับหรือร่างทรงต้องปฏิบัติตามข้อห้ามของครูบาอาจารย์ เช่น ห้ามกินเนื้อวัว ปลาไหล หรือหนู
“ถ้าเขาไม่เชื่อพูดอย่างไรเขาก็ไม่เชื่อ ต้องเริ่มด้วยความเข้าใจก่อน”
คือคำกล่าวของคณิตที่อยากให้ทุกคนเปิดใจ และทำความเข้าใจวิถีชาวกูยก่อน ส่วนทินกรกำลังจะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 กล่าวว่า แม้จะต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยแต่ก็จะกลับมาร่วมพิธีกรรม ประเพณีตลอด และคงไม่เดินทางไปไหนไกลจากจังหวัดสุรินทร์
“เราเลือกเกิดไม่ได้หรอก เราเกิดที่นี่เราภูมิใจในภาษาของเรา มีภาษาเป็นของตัวเอง ” คือคำยืนยันของทินกร
ขณะที่ศุภณัฐก็จะยังคงอัปโหลดคลิปต่างๆ ลงโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ เพื่อเผยแพร่ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม และความภูมิใจในชาติพันธุ์กูย
เขากล่าวว่า “แกลมอเป็นประเพณีที่สำคัญ เพราะเป็นการรักษาคนป่วย และเป็นความเชื่อของชาวกูยด้วย น้องอยากให้ทุกคนช่วยกันรักษาประเพณีแบบนี้ไว้ ไม่อยากให้สูญหายไปครับ”
ไม่ว่าจะเพศ ศาสนา หรือความเชื่อ แต่ทั้ง 3 คนล้วนคือพลวัตของการเปลี่ยนผ่านในสังคม เป็นภาพสะท้อน เป็นพลังของการขับเคลื่อนไปข้างหน้าและไม่ถอยหลัง บางคนเปิดพื้นที่ที่เคยถูกสงวนไว้ให้เฉพาะเพศใดเพศหนึ่งให้กลายเป็นของทุกคน บางคนธำรงรักษาความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนไม่ให้เลือนหาย บางคนตั้งคำถามกับมาตรฐานกลางที่เคยถูกยึดมั่นว่า ‘ถูก’ และ ‘ควร’
พวกเขาชี้ให้เห็นว่า อัตลักษณ์และความเชื่อท้องถิ่นไม่ใช่สิ่งที่ควรถูกกลืนหายไปกับค่านิยมกระแสหลัก เพราะสิ่งเหล่านั้นคือราก คือแก่น คือจิตวิญญาณของผู้คน
เพราะศรัทธาไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่สิ่งที่เราเลือกเชื่อ บางครั้งคือสิ่งที่เยียวยาเราดีที่สุด อย่างที่ทินกรบอกกับเราว่า
“ทำไมคนถึงคิดว่านับถือผีไม่ดี อย่าลืมว่าแต่ก่อนคนนับถือผีมาก่อนจะนับถือพุทธ เรานับถือผีก็เพื่อความสบายใจ เพื่อเยียวยา เพื่อบำบัดทุกข์และเติมสุขให้ นี่แหละคือเหตุผลที่เรานับถือ”