กรณี #จดหมายปรีดี ที่จะถูกเปิดในวันที่ 5 มกราคม 2024 นี้ ที่หอจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศ ฝรั่งเศส ทำเอาคนไทยจำนวนไม่น้อย ‘ลุ้น’ ว่าจะมีเนื้อหาอะไรบ้าง และจะมี ‘ความลับ’ อะไรที่ซ่อนอยู่ภายในเอกสารสำคัญ ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะเปิดได้จริง

แต่ที่จริงแล้ว หากสืบไปยัง ‘หลักการและเหตุผล’ ที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่จะเปิดในวันที่ 5 มกราคมนี้ อาจไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่หรือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นนัก และหากพิจารณาให้รอบคอบ ‘จดหมาย’ ก็อาจไม่ได้เป็น ‘จดหมาย’ เสียทีเดียว ขณะเดียวกัน เรื่องใหญ่อย่างกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ซึ่งหลายคนคาดหมายว่าจะอยู่ในเอกสารเหล่านี้ ก็อาจไม่ได้มีการกล่าวถึงด้วยซ้ำ 

The Momentum ANALYSIS ชวนวิเคราะห์ว่า แล้วจะมี ‘เบื้องหลัง’ อะไรอยู่ในจดหมายฉบับนี้

1. ที่มาของ ‘จดหมายปรีดี’

หากสืบค้นกลับไป ที่มาของเรื่องนี้เริ่มต้นจาก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส โพสต์ข้อความว่า “มีเอกสาร ‘ของ’ หรือ ‘เกี่ยวกับ’ ปรีดี พนมยงค์ ในหอจดหมายเหตุกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส แต่ไม่เปิดให้ดู จนกว่าจะถึงปี 2024” โดยสมศักดิ์โพสต์เรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2018 ทำให้หลายคนคาดหมายกันมากว่า เอกสารดังกล่าวอาจเป็นเอกสาร ‘ส่วนตัว’ ของปรีดีที่ฝากไว้กับหอจดหมายเหตุฯ และอาจมี ‘ความลับ’ บางอย่างซ่อนอยู่ในจดหมายเหล่านี้ จนหลายคนเฝ้ารอวันที่จะเปิดจดหมายจากปรีดี และหลายคนตั้งมั่นว่าจะมีชีวิตอยู่ให้ถึงเพื่อรออ่านจดหมาย

จริงๆ แล้วเรื่องนี้ ดิน บัวแดง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพิ่งออกมาเฉลยผ่านบทความว่า เป็นคนส่งภาพนี้ให้สมศักดิ์ในขณะที่ค้นคว้าเกี่ยวกับสารคดีปรีดีและจอมพล ป. พิบูลสงคราม เรื่อง Frienemies ขณะที่เรียนอยู่ในฝรั่งเศส โดยในขณะนั้น เขายังไม่เข้าใจว่า เอกสารที่เขียนว่า ‘Dossier De Pridi’ หมายถึงอะไร เป็นเอกสารของปรีดีหรือเอกสารเกี่ยวกับปรีดี จนกระทั่งถามหอจดหมายเหตุฯ โดยตรงในปี 2019 ก็ค้นพบว่า เป็น ‘เอกสารทางการทูต’ ปกติ ไม่ใช่เอกสารส่วนตัว ทว่าไม่มีโอกาสได้ชี้แจง

“ผมซึ่งได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ปี 2019 แล้วว่า ไม่ใช่ ‘จดหมายปรีดี’ ต่อมาในปี 2021 เมื่อได้กลับไปอีกครั้ง ก็ได้รับการยืนยันอีกรอบว่า ไม่ใช่ ‘จดหมายปรีดี’ แน่นอน ในปีนี้เองที่ผมได้ค้นเอกสารชุด 147QO/158 ซึ่งเป็นเอกสารเกี่ยวกับการลี้ภัยของปรีดี (เอกสารปรีดี 2017) ผมก็ยิ่งมั่นใจว่า ‘จดหมายปรีดี’ ไม่มีจริง และที่จะเปิดปี 2024 คือ 147QO/215 นั้น คือชุดที่ต่อเนื่องจากที่ผมค้นมาแล้วต่างหาก

“ผมมีข้อมูลทั้งหมดนี้ แต่ก็ไม่ได้เผยแพร่ออกไป เพราะทั้งไม่อยากทำลาย ‘ความหวัง’ ของคนอย่างที่กล่าวมา และทั้งรู้สึกว่าถ้าจะเขียนอธิบายเอกสารเหล่านี้ จะต้องเขียนเป็นบทความที่ดี ซึ่งผมไม่มีเวลา” คือข้อที่ดินเขียนไว้ในเว็บไซต์

ดินสรุปไว้ว่า ‘จดหมายปรีดี’ ไม่มีอยู่จริง มีแต่ ‘เอกสารปรีดี’ ที่หอจดหมายเหตุฯ ทว่าน่าเสียดายที่ไม่ถูกเผยแพร่เป็นวงกว้าง ทำให้เกิดมุขตลกประเภท ‘สูตรอาหารปรีดี’ และปัญญาชน-สื่อมวลชนนำไปขยายความกันจำนวนมาก โดยไม่เข้าใจว่าเอกสารเหล่านี้แท้จริงแล้วคืออะไร

โดยสรุปก็คือ เอกสารปรีดีเป็นสิ่งที่เรียกว่า Cable คือเอกสารที่เขียนโดยสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย แล้วส่งกลับมายังกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส 

2. ทำไมต้องเผยแพร่ในปี 2024

หากจำกันได้ ‘จดหมายผิดซอง’ ที่ จรรยา ยิ้มประเสริฐ, จรัล ดิษฐาอภิชัย, นิธิวัต วรรณศิริ และยาน มาร์ฉัล เปิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา อันที่จริงเป็น ‘เอกสารปรีดี’ ที่เปิดมาแล้วเมื่อปี 2017 และเปิดซ้ำอีกรอบวานนี้

ดินบอกว่า เนื้อหาในจดหมายดังกล่าว โดยสรุปคือเป็นการ ‘ปะติดปะต่อ’ ประวัติศาสตร์การเมืองช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง, การขึ้นสู่อำนาจของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รวมถึงการลี้ภัยและเคลื่อนไหวของปรีดีหลังจากลี้ภัยไปจีน

เหตุสำคัญที่เปิดได้ในปี 2017 เนื่องจากตามกฎหมายฝรั่งเศส เอกสารจดหมายเหตุเกี่ยวข้องกับ ‘ความลับเรื่องความมั่นคงของชาติ’ ‘ผลประโยชน์พื้นฐานของรัฐในการเมืองระหว่างประเทศ’ และ ‘การปกป้องชีวิตส่วนตัว’ จะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อมีอายุครบ 50 ปี เอกสารดังกล่าวครอบคลุมเวลาตั้งแต่กุมภาพันธ์ 1958 ถึงธันวาคม 1967 ดังนั้น เอกสารดังกล่าวจึงมีอายุครบ 50 ปี ในปี 2017 พอดี

ทว่าเอกสารดังกล่าวยังขาด ‘ตอนหลัง’ คือเป็นการบันทึกเกี่ยวกับ ‘ปรีดี’ ในช่วงปี 1967-1972 ซึ่งควรจะถูกเผยแพร่ได้ตั้งแต่ปี 2022 ทว่าดินระบุว่า เจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุฯ ระบุว่ามีเอกสารบางส่วนที่ลากยาวไปถึงปี 1974 ทำให้กว่าจะเผยแพร่ได้ต้องรอปี 2024

ด้วยเหตุนี้ เอกสารปรีดีจึงต้องรอเปิดในปีนี้

3. เอกสารปรีดีน่าจะเกี่ยวข้องกับอะไร

เมื่อทาบบริบทการเมืองไทยระหว่างปี 1967-1974 ก็นับเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจยิ่ง เนื่องจากยังอยู่ในช่วงรัฐบาลเผด็จการทหาร (จอมพล ถนอม กิตติขจร) และช่วง ‘สงครามเย็น’ ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเริ่มเติบโตใน ‘เขตป่า’ หลายแห่งทั่วประเทศ และหากรวมเอกสารอื่นๆ ที่คาบเกี่ยวไปถึงปี 1974 ก็หมายความว่า สิ่งที่ทางการฝรั่งเศสได้รับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1973 และถือเป็นการล้ม ‘สามจอมพล’ ก็อาจถูกพ่วงรวมไปใน ‘เอกสารปรีดี’ ด้วย

ในเอกสารฉบับก่อนหน้าหรือเรียกว่า ‘เอกสารปรีดี 2017’ พูดถึงปรีดีว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และขั้นตอนการ ‘ลี้ภัย’ ของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยให้ความเห็นว่า น่าจะให้ปรีดีไปตั้งหลักที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนเดินทางเข้าฝรั่งเศส เพื่อให้ไม่มีปัญหากับรัฐบาลไทย รวมถึงทางการฝรั่งเศสควรให้การสนับสนุนในการแยก ‘ปรีดี’ ออกจากจีน เพื่อแยกตัวจากภาพลักษณ์คอมมิวนิสต์

ขณะเดียวกัน ยังมีบันทึกของ อังเดร โรสส์ (Andre Ross) ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ที่บอกว่า รัฐบาลไทยน่าจะลงความเห็นว่าสำหรับกลุ่มทหารไทย การที่ปรีดีอยู่จีนต่อไปจะเป็นประโยชน์มากกว่า เนื่องจากจะได้กล่าวหาว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ ภาพลักษณ์ปรีดีจะย่ำแย่ และตัดขาดปรีดีออกจากเครือข่ายเสรีนิยมในต่างประเทศ

ข้อสังเกตอีกอย่างก็คือ ในเอกสารปรีดี 2017 ยังมีบันทึกของ กีโยม จอร์จ-ปิโกต์ (Guillaume Georges-Picot) อุปทูตฝรั่งเศส ที่เขียนไว้ว่า ปรีดีต้องการย้ายทั้งครอบครัวไปอยู่รวมกันที่ฝรั่งเศสเพื่อประหยัดรายจ่าย เพราะครอบครัวมีรายจ่ายสูง เนื่องจากมีลูกสาวพิการอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งค่ารักษาแพง ขณะเดียวกัน เป้าหมายของปรีดีมีเพียงอย่างเดียว คือได้รับอนุญาตให้กลับไทยไปบวช และไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

กระนั้นเอง กว่าปรีดีจะเดินทางไปยังปารีสได้ก็ต้องรอถึงปี 1970 ซึ่งต้องรอจดหมายฉบับที่เปิดในวันที่ 5 มกราคมนี้ เพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดหายต่อไป

ทั้งหมดนี้ ดินบันทึกไว้ไว้ว่า เอกสารปรีดี 2024 น่าจะพูดถึงการต่อรองระหว่างปรีดีกับกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส การออกวีซ่าให้ปรีดี รวมถึงชีวิตช่วงแรกของปรีดีในฝรั่งเศส ระหว่างปี 1970-1972 ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญอย่างการฟ้องกระทรวงต่างประเทศไทยและสถานเอกอัครราชทูตไทยเพื่อทวงสิทธิในเงินบำนาญ การฟ้องร้องหนังสือพิมพ์สยามรัฐที่กล่าวหาเรื่องความเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต รวมถึงการเดินทางไปยังอังกฤษเพื่อพบ ลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบตเทน ระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคม 1970

4. ปรีดีและกรณีสวรรคต

หลายคนคาดหมายว่า เอกสารปรีดีจะกล่าวถึงกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ซึ่งปรีดีถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลัง และเป็นคดีที่ทำให้ปรีดีหมดอำนาจทางการเมือง กระทั่งอยู่ในประเทศไทยไม่ได้จนถึงแก่อสัญกรรมในปี 2526

ข้อเท็จจริงก็คือปรีดีไม่เคยพูดว่ามีใครก็แล้วแต่ ‘ลอบปลงพระชนม์’ รัชกาลที่ 8 ทั้งในช่วงแรกปรีดียืนยันว่าเป็น ‘อุบัติเหตุ’ แบบเดียวกับที่รัฐบาลปรีดีแถลงเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 1946 และเมื่อใครก็ตามไปพบ ปรีดีเองไม่เคยให้ร้ายกับบุคคลใดว่าเป็นผู้ลอบปลงพระชนม์

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยกล่าวไว้ในคลิปวิดีโอของตัวเองว่า เคยถามกับปรีดีว่า ‘หมองูตายเพราะงูใช่ไหม’ ปรีดีก็ยอมรับว่าใช่ – สุลักษณ์บอกว่าความผิดพลาดของปรีดีครั้งนั้น คือการใช้หลักรัฐศาสตร์ ไม่ใช่ ‘นิติศาสตร์’ ทั้งยังไม่ยอมเชื่อตามที่ ‘หลวงอดุลเดชจรัส’ แนะนำให้เอาบุคคลในเหตุการณ์ 7 คน ได้แก่ ชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน, ฉลาด เทียนงามสัจ, จรูญ ตะละภัฏ, คุณพระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตดุลย์, พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาแยกกันสอบสวน ทว่าให้เป็นฝีมือของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ในการสืบสวน

จากนั้น เมื่อรัฐบาลแถลงว่าเรื่องดังกล่าวเป็น ‘อุบัติเหตุ’ ก็เลยกลายเป็นความผิดพลาดของปรีดี ที่ทำให้เรื่องดังกล่าวบานปลาย เป็นเรื่องที่ ‘ฝ่ายขวา’ สามารถนำไปขยายความต่อได้อีกไกล

“เชื่อว่าท่านไม่เคยพูดให้ร้ายใคร อย่างมากท่านก็จะบอกเพียงว่ากรณีนี้ให้ไปถามใครเท่านั้น ซึ่งเป็นการบอกโดยนัย” หนึ่งในคนที่ใกล้ชิดกับครอบครัวของปรีดีเคยกล่าวเรื่องนี้ 

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 9 มิถุนายน 2022 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นำต้นฉบับลายมือของปรีดีซึ่งค้นพบในอีกลักษณะหนึ่ง กล่าวคือปรีดีเชื่อว่ามีผู้อื่นลอบปลงพระชนม์ แต่ลายมือดังกล่าวยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ปรีดีเขียนในช่วงเวลาใด และเขียนเนื่องในโอกาสอะไร

สิ่งที่คนไทยรู้ก็คือ วาระสุดท้ายของชีวิต การตายของปรีดี อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำคณะราษฎร และ ‘รัฐบุรุษ’ คนแรกของไทย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 1983 แม้ปรีดีจะมีสถานะเป็นอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีสถานะเป็นรัฐบุรุษ แต่ไม่ได้มีตัวแทนจากรัฐบาลไทยเข้าร่วมงาน แม้แต่ตัวแทนสถานทูตไทยในกรุงปารีสก็ไม่ได้เข้าร่วมงาน อีกทั้งในประเทศไทยก็ไม่ได้มีพิธีใดๆ ทว่าในฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรี เมอร์ซิเออ โมรอย ส่งพวงหรีดมาคารวะศพ

ขณะเดียวกัน เมื่อ ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ ภริยาของปรีดีเสียชีวิต ก็สั่งเสียไว้ว่า เมื่อตายจะไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น

แม้กรณีสวรรคตจะไม่เกี่ยวและไม่ได้อยู่ในเอกสารปรีดี 2024 แต่การได้ปะติดปะต่อช่วงเวลาสำคัญในชีวิตอดีตรัฐบุรุษ และทราบ ‘เบื้องหลัง’ เหตุการณ์บางอย่างในสายตารัฐบาลฝรั่งเศส ก็ย่อมน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เพียงแต่ต้องเข้าใจเบื้องต้นว่า เอกสารมีจริง ไม่ใช่สูตรอาหาร และไม่ใช่จดหมายส่วนตัวที่บันทึก ‘กรณีสวรรคต’ เท่านั้น

อ้างอิงข้อมูลจาก:

https://www.facebook.com/somsakjeam/posts/pfbid0C84QEqWDTg5p3KysFVLewB9grAvRuCXnJ9R9UBR2ZevuMn2wStnaN541kE4Gpjkrl

https://www.youtube.com/watch?v=WWgcf-TUDn8

https://thaistudentsoverseas.com/2024/01/02/dossier-de-pridi-immature-thai-intellectuals/

https://www.academia.edu/112485187/ว_าด_วย_เอกสารปรีดี_ที_ชานกรุงปารีส_การลี_ภัยของปรีดีจากจีนสู_ฝรั_งเศส

 

Tags: , , , , ,