ในสุนทรพจน์ของบิลที่ช่วยออกหาเสียงให้ฮิลลารีตลอด 15 เดือนที่ผ่านมา
เขามักจะพยายามเล่าเรื่องในมุมโรแมนติก ความรัก การเจอกันครั้งแรก
เล่าถึงเรื่องสนุกๆ ระหว่างคบกัน
เล่าฉากขอแต่งงาน ไปจนถึงเล่าเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกัน
ในเวลาที่ฝ่ายหนึ่งขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง

“ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1971 ผมพบผู้หญิงคนหนึ่ง”

นี่คือประโยคแรกในสุนทรพจน์ของ บิล คลินตัน ในที่ประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตในปีนี้ เขาเริ่มต้นในปี 1971 ซึ่งเป็นปีที่เจอกับฮิลลารีเป็นครั้งแรก เพื่อย้อนให้ผู้ฟังเห็นว่าเป็นเวลากว่า 45 ปีมาแล้ว ที่เขาได้ใช้ชีวิตและผ่านบททดสอบต่างๆ ร่วมกับเธอในฐานะ ‘คู่รัก’ และ ‘คู่ชีวิต’

ในสุนทรพจน์ของบิลที่ช่วยออกหาเสียงให้ฮิลลารีตลอด 15 เดือนที่ผ่านมา เขามักจะพยายามเล่าเรื่องในมุมโรแมนติก ความรัก การเจอกันครั้งแรก เล่าถึงเรื่องสนุกๆ ระหว่างคบกัน เล่าฉากขอแต่งงาน ไปจนถึงเล่าเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกันในเวลาที่ฝ่ายหนึ่งขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง

ในบรรดาเรื่องเล่าต่างๆ เรื่องที่มักถูกเล่าซ้ำอยู่เสมอในเวทีต่างๆ คือการกลับไปเล่าบทสนทนาแรกของทั้งคู่ในห้องสมุดกฎหมายของมหาวิทยาลัยเยล

“ในค่ำคืนนั้น ผมเอาแต่จ้องมองฮิลลารีอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดฮิลลารีก็ลุกขึ้นจากโต๊ะเดินมาหาผม แล้วพูดขึ้นว่า เราน่าจะแนะนำตัวกันดีกว่า แทนที่คุณจะเอาแต่มองฉัน แล้วฉันก็เอาแต่มองกลับไปแบบนี้ ฉัน ‘ฮิลลารี ร็อดแดม’ แล้วคุณล่ะ ชื่ออะไร”

บิลย้ำว่า “ผมรู้สึกประทับใจ และประหลาดใจมาก และไม่ว่าพวกคุณจะเชื่อหรือไม่ ในขณะนั้นผมพูดอะไรไม่ออก”

หลังจากนั้นทั้งคู่ไม่ได้พบปะกันอีกเลย จนกระทั่งวันสุดท้ายของการเรียนในฤดูใบไม้ผลิ ปี 1971 ทั้งคู่เดินไปสำนักทะเบียนด้วยกันเพื่อลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาหน้า จนกระทั่งถึงสำนักทะเบียน เจ้าหน้าที่รายหนึ่งก็เงยหน้าขึ้นมาแล้วถามว่า

บทสนทนาระหว่างเราที่ได้เริ่มต้นในห้องสมุดกฎหมายเมื่อ 45 ปีที่ผ่านมา
จะยังคงแข็งแกร่ง มันกินเวลายาวนาน
ผ่านช่วงเวลาที่ดีที่ช่วยเติมเต็มความสุขให้กับเรา
รวมถึงเวลาที่ยากลำบากซึ่งช่วยทดสอบเรา

“บิล คุณมาทำอะไรแถวนี้ คุณลงทะเบียนไปแล้วเมื่อเช้าไม่ใช่เหรอ?”

ฮิลลารีเขียนถึงเหตุการณ์นี้ในหนังสือ Living History ของเธอว่า “ฉันหัวเราะเมื่อเขาสารภาพว่าแค่อยากใช้เวลาอยู่กับฉัน เราออกเดินด้วยกันเป็นระยะทางไกลซึ่งได้กลายเป็นการนัดพบครั้งแรกของเรา”

เธอยังเริ่มต้นกล่าวสุนทรพจน์ตอบรับการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ด้วยการเขียนสุนทรพจน์ล้อกับบิลว่า

“บทสนทนาระหว่างเราที่ได้เริ่มต้นในห้องสมุดกฎหมายเมื่อ 45 ปีที่ผ่านมาจะยังคงแข็งแกร่ง มันกินเวลายาวนาน ผ่านช่วงเวลาที่ดีที่ช่วยเติมเต็มความสุขให้กับเรา รวมถึงเวลาที่ยากลำบากซึ่งช่วยทดสอบเรา”

สุนทรพจน์แนวโรแมนติกทั้งหมดนี้ได้รับการเผยแพร่เป็นระยะทั้งจากบิลบ้าง ฮิลลารีบ้าง ตลอดหลายสิบเดือนที่ผ่านมา เพื่อรื้อฟื้นภาพลักษณ์ที่สาธารณชนมักมองพวกเขาทั้งคู่ในฐานะ ‘คู่ชีวิตที่อยู่กันได้ด้วยผลประโยชน์ทางการเมือง’ มากกว่าจะเป็น ‘คู่รัก’ กันจริงๆ

แต่ในบรรดาคำนิยามต่างๆ ดูเหมือนคำว่า ‘หุ้นส่วนทางการเมือง’ จะเป็นคำที่ดีที่สุดในการอธิบายความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่

3 เหตุการณ์ต่อไปนี้คงช่วยขยายความความสัมพันธ์แบบ ‘หุ้นส่วนทางการเมือง’ ได้ดี…

 

เหตุการณ์ที่ 1 “ฉันอยากอยู่บ้าน อบคุกกี้ และชงชา”

ในปี 1991 เมื่อบิลตัดสินใจลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งมีคู่แข่งคนสำคัญคือ รองประธานาธิบดีบุช (ผู้พ่อ) โดยปกติคณะทำงานของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องทำหน้าที่ควบคุมกำหนดการและออกแบบสารทางการเมืองของภริยาผู้สมัคร แต่กรณีของฮิลลารีต่างไปจากนั้น

“ฉันเริ่มรวบรวมคณะทำงานของตัวเองทันทีที่บิลประกาศลงสมัครชิงตำแหน่ง สิ่งที่ฉันทำขัดกับแนวทางปฏิบัติโดยทั่วไป” ซึ่งบิลก็เปิดโอกาสนั้นและไม่ได้บังคับให้เธอต้องฟังทีมหาเสียงของเขาอย่างเคร่งครัดแต่อย่างใด

ในเวลานั้นฮิลลารีถูกโจมตีเรื่องการประกอบอาชีพทนาย รวมถึงการก่อตั้งสำนักงานกฎหมายโรส ซึ่งเธอเข้าไปเป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ปี 1979 เธอถูกมองว่าอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับรัฐอาร์คันซอ ซึ่งบิลเป็นผู้ว่าการรัฐอยู่ นัยยะสำคัญของการโจมตีเช่นนี้ ก็คือการสื่อสารว่า ‘โลกของผู้หญิงอยู่ที่ครัวเรือน ไม่ใช่โลกการทำงานนอกบ้าน!’

คำตอบต่อไปนี้สะท้อนให้เห็นถึง ความเป็นหุ้นส่วนทางการเมืองที่ไม่ยอมจำนนอยู่ในครัวเรือนได้ดี

“คุณรู้ไหมว่าฉันอยากให้ตัวเองสามารถอยู่บ้าน อบคุกกี้ และชงชาได้จริงๆ แต่สิ่งที่ฉันตัดสินใจทำคือปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ ซึ่งฉันทำมาก่อนที่สามีฉันจะเป็นคนของประชาชนเสียอีก”

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ทำให้เธอได้รับการโจมตีจากฝ่ายรีพับลิกันว่าเป็นพวก ‘เฟมินิสต์หัวรุนแรง’ ‘ทนายนักรบเฟมินิสต์’ หรือกระทั่ง ‘ผู้นำด้านอุดมการณ์ของรัฐบาลคลินตัน ที่จะคอยผลักดันวาระการประชุมเกี่ยวกับเฟมินิสต์หัวรุนแรง’

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สารทางการเมืองของฮิลลารีในขณะนั้นคือผู้หญิงไม่จำเป็นต้องอยู่ในครัวเรือนเท่านั้น เพราะผู้หญิงสามารถมีความคิดเห็น มีความสนใจ และมีอาชีพเป็นของตัวเองได้

ในที่สุดเธอตัดสินใจลาออกจากงาน และคณะกรรมการบริหารบริษัทต่างๆ รวมถึงกองทุนคุ้มครองเด็ก เธอบ่นเล็กน้อยหลังตัดสินใจเช่นนี้ว่า เธอเคยทำงานเต็มเวลาในช่วงเวลาที่แต่งงานกับบิล แต่เมื่อเข้าสู่สนามการเลือกตั้งประธานาธิบดีเธอได้กลายเป็นเพียง ‘ภรรยาของ…’

หลังจากแต่งงานกันมา… เราเป็นเชียร์ลีดเดอร์ที่ดีที่สุด
เป็นนักวิจารณ์ที่รุนแรงที่สุด และเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของกันและกัน

เหตุการณ์ที่ 2 ‘บทบาทอันเหมาะสมของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง?’

ภาพลักษณ์ที่อเมริกันชนมองมายังฮิลลารีในช่วงเวลาที่บิลเป็นประธานาธิบดี คือ “ไม่เหมือนสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง แต่เหมือนเป็น co-president หรือประธานาธิบดีร่วมเสียมากกว่า”

ฮิลลารีเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า แต่เดิมภาพลักษณ์ของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง มักถูกจดจำในเชิงสัญลักษณ์ หรือในฐานะตัวแทนความเป็นผู้หญิงอเมริกันในอุดมคติเสียมากกว่า แต่บทบาทสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในยุคของเธอต่างไปจากนั้น

“หลังจากแต่งงานกันมา… เราเป็นเชียร์ลีดเดอร์ที่ดีที่สุด เป็นนักวิจารณ์ที่รุนแรงที่สุด และเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของกันและกัน”

และ “เราทำงานด้วยกันมานานกระทั่งบิลรู้ว่าไว้ใจฉันได้ เราเข้าใจกันดีว่า ฉันจะอุทิศตัวให้กับการบริหารประเทศ”

เมื่อบิลขึ้นเป็นผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอ เขาแต่งตั้งเธอเป็น ‘ประธานคณะกรรมการบริหารด้านสุขภาพในชนบทและการศึกษาสาธารณะ’ และเมื่อบิลขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาได้แต่งตั้งเธอเป็น ‘ประธานคณะทำงานเพื่อการปฏิรูปการประกันสุขภาพแห่งชาติของประธานาธิบดี’ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่คุ้นตาและยังกลายเป็นประเด็นร้อนแรงทั้งใน/นอกทำเนียบขาว เพราะตำแหน่งดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างมากในฐานะหนึ่งในเสาหลักทางนโยบายเศรษฐกิจในยุคบิลที่มุ่งจะหั่นค่าใช้จ่ายสุขภาพที่สูงเสียดฟ้า

ในเวลานั้นการผลักดันนโยบายประกันสุขภาพของฮิลลารีล้มเหลว แต่ก็มาสำเร็จให้หลังในสองทศวรรษต่อมาในยุคประธานาธิบดีโอบามา

นอกจากนั้นเธอยังเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกในประวัติศาสตร์ที่มีห้องทำงานในส่วนปีกตะวันตกของทำเนียบขาวด้วย โดยปกติบรรดาทีมงานของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง มักจะทำงานอยู่บริเวณปีกตะวันออกมากกว่าปีกตะวันตก เพราะปีกตะวันตกเป็นที่ตั้งของฝั่งประธานาธิบดี เป็นที่ตั้งห้องทำงานรูปไข่ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี และห้องสรุปสถานการณ์

ฮิลลารีผลักดันเรื่องที่ตั้งของห้องทำงานด้วยตัวเอง เพราะเห็นว่าทีมงานของเธอก็ควรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมปีกตะวันตก โดยทีมงานของเธอมีมากกว่า 20 ชีวิต หรือรู้จักกันในนาม ‘Hillary Land’ ซึ่งได้รับการพูดถึงจากสื่อมวลชนในเวลานั้นด้วยว่า “มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก”

ฉันไม่ได้ลงสมัครเพื่อให้สามีฉันจะได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3
ฉันไม่ได้ลงสมัครเพื่อให้โอบามาได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3
ฉันลงสมัครเพื่อให้เป็นสมัยแรกของตัวฉันเองที่จะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

เหตุการณ์ที่ 3 ‘ฉันไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้สามีฉันได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3’

ในช่วงแรกของการประกาศลงสมัครชิงประธานาธิบดีในรอบที่สอง ฮิลลารีถูกกึ่งถาม กึ่งแซว กึ่งเสียดสี อยู่บ่อยๆ ว่า เธอจะเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ไปทำไม ในเมื่อเธอเป็นประธานาธิบดีร่วมของบิลมาแล้วตั้ง 2 สมัย หรือเธอลงเพื่อจะให้สามีของเธอได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 หรือเปล่า

เธอตอบคำถามเหล่านี้ว่า

“ฉันไม่ได้ลงสมัครเพื่อให้สามีฉันจะได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ฉันไม่ได้ลงสมัครเพื่อให้โอบามาได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ฉันลงสมัครเพื่อให้เป็นสมัยแรกของตัวฉันเองที่จะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ”

ถึงที่สุดแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ก็คือ ‘หุ้นส่วนทางการเมือง’ ที่พยายามแบ่งสันปันส่วน คัดง้าง หารแบ่ง เกลี่ยผลประโยชน์ เกลี่ยอำนาจระหว่างกันมายาวนานเกือบ 5 ทศวรรษ

‘เกลี่ยอำนาจ’ ในความหมายนี้คือ ต่างคนต่างต้องมีที่ยืนในเวทีทางการเมืองไม่น้อยหน้าระหว่างกัน ต่างคนต่างต้องยอมประนีประนอมระหว่างกัน เพื่อให้ทั้งคู่อยู่ในอำนาจต่อไปได้ เหมือนที่ฮิลลารีไม่ได้ตัดสินใจหย่าขาดจากบิลทันที หลังเกิดกรณีอื้อฉาวในห้องทำงานรูปไข่ เพราะทั้งคู่เกลี่ยผลประโยชน์กันลงตัวและเธอเลือกยืนหยัดข้างบิล

เขาจึงรอดพ้นจากการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งมาได้

 

ความสัมพันธ์แบบ ‘หุ้นส่วนทางการเมือง’ นั่นเอง ที่ทำให้บิลออกหาเสียงและกล่าวสรรเสริญฮิลลารีต่อสาธารณะอย่างหนักหน่วง ทั้งยังฉวยใช้สายสัมพันธ์ต่างๆ ในแวดวงการเมืองและธุรกิจ ทำทุกอย่างเพื่อให้ภรรยาก้าวสู่จุดสูงสุดในทางการเมือง

เพราะในสายสัมพันธ์แบบ ‘หุ้นส่วนทางการเมือง’ มันวางอยู่บนฐาน ‘เมื่อเธอได้ ฉันก็ต้องได้ เมื่อฉันได้ เธอก็ต้องได้’

…เราต่างได้ผลประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่มิใช่หรือ?

Tags: , , , ,