ปี 2022 ที่ผ่านมา เป็นปีแห่งความผันผวน ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป คนบางคนที่เคยโด่งดังมากก็ ‘ดับ’ ในปีนี้ ขณะที่อีกหลายๆ คนก็ใช้ปีนี้เป็นปีแห่งการแจ้งเกิด เปิดประเด็นใหม่ และพาสังคมไทยดันเพดาน กระทั่งทะลุเพดานขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
บุคคลเหล่านี้ที่ The Momentum เลือกมา ล้วนสร้างปรากฏการณ์บางอย่าง สร้าง ‘แรงกระเพื่อม’ ให้สังคมไทย ไม่ว่าจะในด้านบวกหรือด้านลบ แต่ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนและเขย่าสังคมไทยด้วยแรงที่มากพอ จนทำให้หลายคนต้องหันมามองและพินิจพิเคราะห์พวกเขาอย่างละเอียด
นี่คือ 10 บุคคลผู้เขย่าสังคมที่ The Momentum เลือกมาในปีนี้ และขอชวนผู้อ่านย้อนกลับไปทบทวนเรื่องของแต่ละบุคคลที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา
“ไม่คิดว่าคนจะสนใจนายตำรวจอย่างผม” — พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์
การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ โดย รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นครั้งแรกที่ชื่อ พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และอดีตหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจากลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง ข้อมูลจากรังสิมันต์บ่งชี้ว่ามีความพยายาม ‘จัดการ’ กับพลตำรวจตรีปวีณอย่างเด็ดขาด เป็นการเปิดเบื้องหลังครั้งแรกว่าทำไมนายพลคนนี้ถึงตัดสินใจลี้ภัยไปที่ออสเตรเลีย และเพราะเหตุใดถึงยังกลับมาไม่ได้ ต้องอยู่ต่างประเทศจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 7 ปี
การที่พลตำรวจตรีปวีณได้เปิดตัวออกมาพูด และ ‘แฉ’ ถึงเบื้องหลังความเน่าเฟะของวงการตำรวจ วงการทหาร และวงการราชการทั้งหมด ที่ช่วยกันปิดบังซ่อนเร้นคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา โดยตัดตอนให้อยู่ที่ทหารระดับนายพลคนเดียว ถือเป็นการดับเครื่องชน ชนิดที่ไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว
“ผมมีหลักฐานทั้งหมดนะครับ คุณพูดไปเถอะ คุณโกหก ก็ขอให้จำคำพูดของคนเหล่านี้เอาไว้ จำไว้ให้ดีนะครับว่าพูดอะไรไว้ อย่าร้องเป็นหมาแล้วกัน ถ้าวันหลังผมเอามาแฉ เพราะผมเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวน ผมไม่ได้ทำอาชีพเกาะโต๊ะ” คือส่วนหนึ่งจากปาคำที่เขาให้สัมภาษณ์กับ The Momentum เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
หลังจากที่สถานีโทรทัศน์อัลจาซีราแพร่สารคดีของพลตำรวจตรีปวีณ และหลังจาก The Momentum เผยแพร่บทสัมภาษณ์ อดีตนายตำรวจระดับสูงผู้นี้ก็เดินสายบรรยายตามมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศออสเตรเลีย เพื่อพบปะพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ จนได้เห็นว่ามีคนไทยอีกมากที่ยังคงให้กำลังใจเขา
“เป็นสิ่งที่ผมไม่คาดคิดเหมือนกัน ไม่คิดว่าคนจะสนใจนายตำรวจอย่างผม”
ในฐานะที่เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ ‘Drive Momentum’ และทำให้สังคมไทยเห็นแผลอันเหวอะหวะว่าด้วยการค้ามนุษย์ และความฟอนเฟะในวงการตำรวจไทย เราจึงสนทนากับพลตำรวจตรีปวีรอีกครั้งในช่วงก่อนผลัดเปลี่ยนปี
ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ “อย่าร้องเป็นหมาแล้วกัน ถ้าวันหลังผมเอามาแฉ” พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ได้ทาง https://themomentum.co/closeup-paween-pongsirin/
ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ จาก พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ถึง 200 นโยบายพลิกกรุงเทพฯ
ชัยชนะ 1.4 ล้านเสียง ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 22 พฤษภาคม 2565 คือการบอกกับสังคมว่าการเมืองคือ ‘ความเป็นไปได้’ และฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลยังคงมีความหวัง
ในแง่หนึ่ง 1.4 ล้านเสียงของชัชชาติทุบทำลายทุกสถิติของ ผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนในอดีต ซ้ำยังทำให้กรุงเทพฯ ทุกเขตเป็น ‘สีเขียว’ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้
ในอีกแง่หนึ่ง การเลือกตั้งวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 คือวันครบรอบ 8 ปีของการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 การรัฐประหารที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำฯ ทำการรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และหนึ่งในกระบวนการรัฐประหารวันนั้น คือการนำถุงดำคลุมหัวชัชชาติไปเก็บตัวไว้ในค่ายทหารนานกว่า 1 สัปดาห์
“เมื่อ 8 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ผมถูกคลุมหัว มัดมือ ตอนนี้แหละ นาทีนี้เลย เพิ่งถูกนำตัวไป ตอนกลับ ก็ถูกคลุมหัวกลับ หลังจาก 7 วันผ่านไป เลยไม่รู้ว่าถูกพาไปไหน แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกเกลียด ให้อภัยกับสิ่งทีเกิดขึ้น นั่นคือความทรงจำเตือนใจเราว่า เมื่อไรก็ตามที่ประชาชนทะเลาะกัน เกลียด กลัวซึ่งกันและกัน สุดท้ายจะมีกลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์” คือคำแถลงของชัชชาติในวันที่ได้รับชัยชนะ
ผ่านมา 6 เดือนให้หลัง ชัชชาติพา กทม. เข้าสู่การบริหารมิติใหม่ เป็นการปลดล็อก ‘ขั้วเดิม’ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลายสิบปี และเจอเรื่องท้าทายที่ยังแก้ได้ไม่ตกอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ หรือปัญหาคาราคาซังว่าด้วยความขัดแย้งกับบีทีเอสที่ยังไม่สามารถแก้ได้
แต่ทั้งหมดนำมาซึ่งความเชื่อมั่นใหม่ๆ ชัชชาติเป็นผู้นำทางการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุด เขาได้รับเชิญไปบรรยายนับร้อยเวที และนโยบายหลายอย่างก็ถูกผลักดัน และได้รับแรงหนุนจากภาคเอกชนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ชัยชนะของชัชชาติทำให้เห็นว่า ‘การเปลี่ยนการเมือง’ นั้นเป็นไปได้จริง และเสียงประชาชนย่อมหมายถึงเสียงสวรรค์
แต่การทำตามเสียงประชาชน ทำตามนโยบาย 200 ข้อที่หาเสียงไว้นั้นยากเย็นยิ่งกว่า เช่นเดียวกับการรักษาคะแนนนิยม และทำตามคาดหวังของประชาชนทุกหมู่ ทุกกลุ่ม ก็เป็นเรื่องท้าทายเช่นเดียวกัน
แต่ถ้าหากชัชชาติยังรักษาความเป็นชัชชาติวันนี้ได้ต่อไปอีก 3 ปี อนาคตของเขาในทางการเมืองย่อมไปอีกขั้น และไปได้ไกลกว่าเดิมอีกมากอย่างแน่นอน
ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ชัชชาติก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ได้ทาง https://themomentum.co/closeup-chadchart-sittipunt-bkkupsidedown/
มิลลิ — ปีแห่งการเติบโตและก้าวสู่ระดับอินเตอร์ของแรปเปอร์มหัศจรรย์
ปี 2565 ถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมดนตรีโลกกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งการจัดคอนเสิร์ตและอีเวนต์ดนตรีมากมาย เช่นกันกับในประเทศไทยที่ศิลปินมากหน้าหลายตาต่างทยอยปล่อยผลงานทั้งซิงเกิลและอัลบั้ม หนึ่งในนั้นคือ ‘มิลลิ’ (MILLI) แรปเปอร์มหัศจรรย์แห่งยุค ที่เส้นทางชีวิตพาเธอทะยานสูงอีกครั้งในปีนี้
เริ่มตั้งแต่การได้ขึ้นแสดงในเวทีดนตรีระดับโลกอย่าง Coachella ร่วมกับศิลปินจากค่าย 88uprising ในเดือนเมษายน และสร้างกระแสฟีเวอร์ให้กับแฟนเพลงชาวไทยในเวลานั้นอย่างมาก เธอนับเป็นศิลปินเดี่ยวไทยคนแรกที่ได้ขึ้นโชว์ในเทศกาลดังกล่าว ซึ่งบางส่วนในบนเวทีในวันนั้น มิลลิมีการแรปเนื้อหาเสียดสีรัฐบาลไทย เช่น รถไฟไทยที่ล้าหลัง และเรื่องเสาไฟกินรีต้นละแสน ที่เป็นข่าวอยู่พักหนึ่ง นอกจากนี้ในช่วงท้ายของการแสดงยังมีการนำ ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ขึ้นไปกินบนเวที จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ข้าวเหนียวมะม่วงขายดิบขายดีในประเทศไทยในช่วงนั้น
หลังจากนั้น มิลลิยังมีโอกาสได้ขึ้นเวทีระดับโลกอีกครั้งในคอนเสิร์ต Head in the Clouds ในเดือนสิงหาคม ที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ที่เป็นการรวมศิลปินชั้นนำจากเอเชียมากมาย อาทิ JAYPARK, BIBI, YOONMIRAE, Chung Ha, EAJ, JACKSON WANG, NIKI, Rich BRIAN, WARREN HUE และ MILLI
นอกจากการแสดงดนตรี มิลลิยังได้ร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่อง Fast & Feel love เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ ของผู้กำกับฯ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ แม้เธอจะไม่ได้มีบทบาทหลักในเรื่อง แต่ก็สร้างความเซอร์ไพรส์ให้ผู้ชมไม่น้อย กับฉากที่เธอรับบทเป็นนักเรียนที่ต้องเล่าถึงความฝันในอนาคตให้กับอาจารย์ที่ปรึกษา โดยเธอเล่าว่าต้องการเป็นศิลปินระดับสากล
กระทั่งช่วงปลายปีในเดือนพฤศจิกายน ก็ถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญในช่วงอายุครบ 20 ปีของมิลลิ เธอได้ปล่อยอัลบั้มเต็มอัลบั้มแรกในชื่อ ‘แบบ เบิ้ม เบิ้ม’ (BABB BUM BUM) ที่ได้ร่วมงานโปรดิวเซอร์คู่ใจอย่าง น็อต สพัชญ์นนทน์ หรือ SpatChies พร้อม 10 เพลง ที่สะท้อนสไตล์ของมิลลิได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีการดึงศิลปินอื่นๆ ที่น่าสนใจมาร่วมฟีเจอร์ริงด้วย เช่น TangBadVoice หรือ BOWKYLION
ถือว่ามิลลิเป็นศิลปินไทยที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง ด้วยวัยเพียง 20 ปี และหากย้อนดูเส้นทางดนตรีของเธอนับตั้งแต่ปล่อยซิงเกิลแรกก็เพิ่งผ่านมาเพียงสามปีเท่านั้น น่าสนใจว่าหลังจากนี้มิลลิจะเขย่าวงการดนตรีทั้งไทยและเทศด้วยความสามารถอันล้นเหลือของเธออย่างไรบ้าง
กำเนิดสตาร์ดวงใหม่ที่ชื่อ พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร
ถือเป็น Rising Star คนสำคัญประจำปี สำหรับ พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร ที่ในปีนี้เขาได้พัฒนาจากการเป็นดารานักแสดงสู่บทบาทศิลปินเพลงอย่างเต็มตัว ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากแฟนเพลงในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้เขากลายเป็นสตาร์ดวงใหม่ของเมืองไทยที่น่าจับตามอง
ย้อนกลับไปก่อนหน้า พีพีเริ่มต้นเส้นทางวงการบันเทิงจาการเป็นนักแสดงในสังกัดนาดาวบางกอก โดยมีผลงานแสดงเรื่องแรกจากซีรีส์ My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน (2562) ในบท ทิวเขา ซึ่งเป็นการรวมแสดงคู่กับ บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล ในบท หมอเต่า และด้วยเคมีที่เข้ากันระหว่างทั้งคู่ พีพีและบิวกิ้นจึงได้บทนำในซีรีส์เรื่องต่อมาอย่าง แปลรักฉันด้วยใจเธอ (2563) ซีรีส์วายเรื่องแรกของค่ายนาดาว โดยพีพีรับบทเป็น โอ้เอ๋ว และบิวกิ้นรับบทเป็น เต๋ จนทำให้ชื่อของ พีพีเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศในฐานะนักแสดงดาวรุ่งมากความสามารถ จนต้องมี แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 2 (2564) ซีรีส์ภาคต่อออกมา เพื่อตอกย้ำความสำเร็จของเขาในฐานะนักแสดง
ทางด้านดนตรี พีพีมีโอกาสได้ชิมลางมาก่อนหน้านี้ จากการแสดงในมิวสิกวิดีโอต่างๆ ในเพลง MSN ของวง Helmethead และในเพลง ฉันยืนอยู่ตรงนี้ ของวง LingRom และเมื่อนาดาวมีโปรเจกต์ให้พีพีและบิวกิ้นร้องเพลงประกอบซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ ทั้งคู่ก็สามารถถ่ายทอดความสามารถด้านเสียงเพลงออกมาได้อย่างน่าประทับใจ โดยพีพีมีโอกาสได้ร้องเพลง หรูเหอ, โคตรพิเศษ, มันดีเลย ใน แปลรักฉันด้วยใจเธอ และ รู้งี้เป็นแฟนกันตั้งนานแล้ว, ห่มผ้า, หลอกกันทั้งนั้น, ทะเลสีดำ, ไม่ปล่อยมือ ใน แปลรักฉันด้วยใจเธอ Part 2
ต่อมาในปี 2565 พีพี ได้ตัดสินใจแยกทางกับนาดาวบางกอก และเปิดตัว PP Krit Entertainment ค่ายดนตรีที่เขานั่งแท่นบริหาร ส่วนบิวกิ้นก็ได้เปิดตัวค่ายดนตรีที่ใช้ชื่อว่า Billkin Entertainment ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน PP Krit Entertainment ได้ผลิตผลงานดนตรีของพีพีในนาม PP Krit ออกมามากมายทั้ง นอกสายตา, หวง, The Weekend และ Fire Boy ที่สร้างปรากฏการณ์ในช่วงปลายปี 2565 ส่งผลให้ PP Krit เป็นที่รู้จักได้กลุ่มผู้ฟังจำนวนมากและกว้างขวางมากขึ้น
และที่สำคัญคือเป็นการประกาศศักดาให้คนไทยได้รู้ว่า ดาราก็สามารถเป็นศิลปินเพลงที่มีคุณภาพได้
สิ่งที่น่าสนใจของพีพี คือการขยับจากดารา นักแสดง มาสู่การเป็นนักร้องและศิลปินได้อย่างไม่เคอะเขิน ในวันนี้ PP Krit คือศิลปินที่ยึดมั่นในตัวตน ไม่เขวตามกระแสและทิศทางของดนตรีในประเทศ ส่งผลให้เขาดูโดดเด่น เตะตา และมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน ซึ่งพีพีก็ทำออกมาได้ยอดเยี่ยม ถึงขนาดที่ว่าตัวเขาได้มีโอกาสขึ้นแสดงบนเวทีในงานเทศกาลดนตรีระดับโลกอย่าง SUMMER SONIC 2022 และ SUMMER SONIC EXTRA ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปี 2565 คือปีที่พีพี ได้พัฒนาจากนักแสดง นักร้อง กลายเป็นสตาร์คนใหม่ของเมืองไทยที่น่าจับตามอง ด้วยรสนิยมและสไตล์การนำเสนอผลงานทั้งการแสดงและดนตรีในแบบเฉพาะตัวของเขาเช่นนี้ จึงน่าจับตาต่อไปอย่างยิ่งว่าในปี 2566 เราจะได้เห็นผลงานคุณภาพจากพีพีออกมาในรูปแบบไหนบ้าง
ขบวนการค้ามนุษย์ของรัฐไทยในมุมมอง รังสิมันต์ โรม
“เราอยู่ในยุคค้าทาสที่กฎหมายห้ามทำ แต่ทำกันเหมือนไม่มีกฎหมาย”
หนึ่งในบุคคลที่ The Momentum เลือกให้เป็นบุคคลแห่งปีคือ รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เขาได้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในประเด็น ‘การค้ามนุษย์’ ขุดคุ้ยต่อจากเรื่องตั๋วช้างและป่ารอยต่อ ที่เขาเคยอภิปรายไปก่อนหน้านี้ เพราะทั้งหมดล้วนมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครหรือผลประโยชน์ และเป็นประเด็นที่พรรคก้าวไกลเคยนำเสนอมาแล้วหลายวาระ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่
หลายปีมาแล้วที่คนในสังคมไทยเคยโจมตีประเด็นโรฮีนจาอย่างรุนแรง โดยกล่าวโทษคนที่เห็นใจ ปกป้อง หรือรายงานข่าวการลี้ภัยของโรฮีนจา ในช่วงเวลานั้น เราน่าจะจดจำ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามที่เดินทางไปถึงเรืออพยพโรฮีนจาที่ลอยค้างอยู่กลางทะเล เธอเคยถูกสังคมประณามสาปส่ง เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงต้องให้ความช่วยหรือแสดงความเห็นใจกับชาวโรฮีนจา ไปจนถึงความเห็นจำนวนมหาศาลตามโซเชียลมีเดียที่โจมตีใครก็ตามที่ปกป้องเรื่องสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮีนจา ด้วยวลียอดนิยม
“ถ้าเห็นใจมากก็เอาไปเลี้ยงที่บ้านสักคนไหม”
รังสิมันต์ยังคงจำเรื่องราวในช่วงเวลานั้นได้ ทำให้ก่อนการอภิปรายเรื่องค้ามนุษย์โรฮีนจา เขาไม่วายกังวลว่าสังคมไทยจะเข้าใจสิ่งที่เขาพยายามสื่อสารมากน้อยแค่ไหน ประกอบกับความสนใจเรื่องการเมืองของผู้คนในสังคมแผ่วลงจากปีที่ผ่านมา ด้วยสภาพเศรษฐกิจและโรคระบาดที่รุมเร้า ประเด็นอภิปรายในสภาฯ ส่วนใหญ่จึงมักจำกัดความสนใจอยู่แต่ในวงสนทนาของคอการเมือง ไหนจะเรื่องโรฮีนจาที่เป็นประเด็นละเอียดอ่อน และเคยเห็นกันมาแล้วว่า หากใครพูดถึงในเชิงมนุษยธรรม ก็ไม่พ้นจะถูก ‘ทัวร์ลง’ แต่ตอนนี้ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
“ผมรู้สึกเห็นถึงการเติบโตของสังคมไทย คนส่วนใหญ่เริ่มยอมรับว่าบางอย่างที่เคยทำมันผิดพลาด การที่คุณยอมรับว่าเคยทำอะไรบางอย่างที่ผิดพลาด จะทำให้เราเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงได้ เพราะเราจะเรียนรู้ในสิ่งที่เราทำผิด แล้วเราก็จะไม่ผิดพลาดซ้ำอีก”
“ผมอภิปรายเรื่องตั๋วช้าง ป่ารอยต่อ เรื่องค้ามนุษย์ ถ้าไม่มีใครฟังมันก็เท่านั้น สิ่งที่พูดไปจะไม่มีความหมายเลยถ้าผู้คนไม่ช่วยกันพูดซ้ำ แต่เป็นเพราะประชาชนทุกคนช่วยกันผลักดันให้ประเด็นต่างๆ ถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น ช่วยกันส่งเสียงให้ดังขึ้น สิ่งเหล่านี้คือส่วนสำคัญอย่างมากในการทำลายรัฐบาลที่ไม่เห็นหัวประชาชน”
ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ ขบวนการค้ามนุษย์ของรัฐไทยในมุมมอง รังสิมันต์ โรม ได้ทาง https://themomentum.co/closeup-rome-rohingya-trafficking/
แพทองธาร ชินวัตร “การเมืองคือความเป็นไปได้”
การปรากฏตัวของ อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร เมื่อปลายปีที่แล้วในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรคเพื่อไทย สร้างความสั่นสะเทือนไม่น้อยให้กับสนามการเมืองไทย ด้านหนึ่งสะท้อนชัดว่า ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพ่อของเธอ ยังคง ‘เอาจริง’ ในทางการเมือง แต่อีกด้านหนึ่ง เสียงวิจารณ์ก็รุมถาโถมว่าทักษิณยังคงเล่นเกมเดิม และอาจไม่เคยเรียนรู้จากข้อผิดพลาด ซ้ำยังให้ ‘ลูกสาว’ คนสุดท้อง คนที่เหมือนพ่อมากที่สุด เข้ามา ‘เสี่ยง’ ในเกมการเมืองนี้
หลังจากเปิดตัวอย่างน่าเร้าใจเมื่อปลายปีที่ผ่านมา บทบาทของแพทองธารก็มากขึ้นเรื่อยๆ ภาพของเธอปรากฏในโปสเตอร์และป้ายไวนิลหาเสียงของพรรค เคียงข้างกับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในภาคอีสานทั้งร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ รวมถึงการที่พรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จอย่างงดงามในสนามการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ว่ากันว่ามาจากการที่แพทองธารออกแรงช่วย ไปปรากฏตัว โพลหลายสำนักยกให้เธอเป็นแคนดิเดตนายกฯ อันดับที่ 1 แม้เธอเองและพรรคเพื่อไทยจะยังไม่ออกปากยืนยันว่าเธอเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ตาม
นั่นทำให้ความนิยมของพรรคเพื่อไทยพุ่งขึ้นตามไปด้วย ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะในภาคอีสาน หรือในกรุงเทพฯ ต่างก็แย่งกันลงรับเลือกตั้ง และความฝันว่าด้วย ‘แลนด์สไลด์’ ก็ยังคงอยู่ ไม่ว่าระบอบการเมืองแบบนี้จะเป็นผลร้ายหรือเป็นผลลบกับพรรคเพื่อไทยเพียงใดก็ตาม
คำถามที่ต้องพิสูจน์ต่อไปยังมีอยู่หลายข้อ เป็นต้นว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นกลางปีหน้านั้น ที่สุดแล้ว เธอจะเป็นตัวจริงไหม เธอมีความพร้อมเพียงใด หากต้องเป็นแคนดิเดตนายกฯ คนต่อไปของพรรค ทักษิณผู้เป็นพ่อนั้นวางแผนอะไรไว้บ้างในเกมนี้ และคำถามก็คือขั้วอำนาจปัจจุบันมองแพทองธารด้วยสายตาอย่างไร มองเป็น ‘ปีศาจ’ แบบเดียวกับที่มองทักษิณ ชิยวัตรผู้เป็นพ่อ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นอาของเธอหรือไม่
ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ แพทองธาร ชินวัตร “การเมืองคือความเป็นไปได้” ได้ทาง https://themomentum.co/closeup-paetongtarn-shinawatra/
ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เส้นทางการตั้งคำถามถึงอำนาจสถาบันกษัตริย์
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ถือริบบิ้นสีแดงและน้ำเงินไว้เต็มสองกำมือ พร้อมป้ายกระดาษห้อยคอ ที่แสดงข้อความว่า ‘สีแดง ยกเลิก 112’ และ ‘สีน้ำเงิน สนับสนุน 112’ โดยเธอเริ่มต้นเส้นทางแห่งการตั้งคำถามนี้ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อไปยังสถานีอโศก เพื่อโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินไปยังสถานีสนามไชย โดยมีเป้าหมายที่พระบรมหาราชวังฯ และระหว่างทาง ริบบิ้นสีแดงเธอก็พร่องลงเรื่อยๆ
ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ คือนักกิจกรรมทางการเมืองวัย 20 ปี ผู้ไม่เกรงกลัวการตั้งคำถามกับการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ เธอเริ่มต้นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อสาธารณะครั้งแรกในวันที่ 25 ธันวาคม 2564 ต่อหน้าการแสดงน้ำพุชุดสดุดีจอมราชา ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม (ICONSIAM) โดยทำการชูป้าย ‘คุกไม่ใช่ที่เคาท์ดาวน์ของคนเห็นต่าง’, ‘หากรับใช้ใบสั่งอย่างอัปรีย์ ตุลาการเช่นนี้อย่ามีเลย’ พร้อมชูสามนิ้ว และตะโกนต่อต้านการจับกุมผู้บริสุทธิ์ด้วยมาตรา 112 ทำให้เธอและกลุ่มนักกิจกรรมฯ ได้รับการตักเตือนจากเจ้าหน้าที่เรื่องการใช้สถานที่โดยไม่ทำเรื่องขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร
ต่อมาในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ตะวันและนักกิจกรรมฯ กลุ่มทะลุวัง เคลื่อนไหวอีกครั้งที่ลานน้ำพุบริเวณห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน (Siam Paragon) เพื่อจัดทำโพล ‘คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่’ บนกระดาษฟลิปชาร์ต โดยแจกจ่ายสติกเกอร์สีเหลืองนีออนสดใส ให้ผู้ที่เดินผ่านไปมาได้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่าเดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อน ซึ่งผลลัพธ์ก็เทไปที่ฝั่ง ‘เดือดร้อน’ อย่างเป็นเอกฉันท์ แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างฯ พยายามเข้ามาสะกัดกั้นการทำกิจกรรม พร้อมประกาศออกลำโพงว่า “สถานที่ส่วนบุคคลสยามพารากอน ขอสงวนการใช้พื้นที่ภายในและบริเวณโดยรอบเฉพาะกิจกรรมที่ได้ขออนุญาตล่วงหน้าและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือเท่านั้น ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนบริษัทขอสงวนที่จะดำเนินคดีตามกฎหมาย”
หลังจากนั้น ตะวันและกลุ่มทะลุวังจึงเดินเท้าเข้าตัวอาคารห้างฯ ไปยังร้าน SIRIVANNAVARI โดยไม่สนใจการติดตามของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือคำประกาศที่กระจายเสียงอยู่ และผู้คนที่พบเห็นก็ร่วมลงคะแนนกับโพลของพวกเธออย่างต่อเนื่อง เมื่อเสร็จจากห้างฯ จึงเดินหน้าต่อไปที่วังสระปทุม แต่ครั้งนี้กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามายื้อยุดฉุดกระชาก และยึดกระดาษฟลิปชาร์ตดังกล่าวไปได้
จากการชูป้ายที่ไอคอนสยาม โพลหน้าพารากอนฯ มาจนถึงวันเดินแจกริบบินต้าน ม.112 ตะวันถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงจับกุม รัดข้อมือด้วยสายเคเบิล และพาตัวไปควบคุมตัวที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ ต่อมาถูกตั้งข้อหาว่าขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 และถูกดำเนินคดีอีกครั้งในมาตรา 112 ฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์ จากการไลฟ์ผ่านทางเฟซบุ๊กก่อนมีขบวนเสด็จฯ ที่ถนนราชดำเนินนอก ในวันที่ 5 มีนาคม 2565 และถูกคุมตัวไปขังในทัณฑสถานหญิงกลางเรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพมหานคร
ทานตะวันถูกคุมขังท่ามกลางการจับตาจากหลายฝ่าย มาตรา 112 ไม่เคยใช้กับการ ‘ทำโพล’ แต่ในที่สุดก็มีการใช้มาตรานี้จับกุมผู้ต้องหา และศาลไม่อนุมัติให้ประกันตัว
หลังจากแรงกดดันมากเข้า ในที่สุด เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทำเรื่องร้องต่อศาลขอประกันตัวชั่วคราวเป็นเวลา 30 วัน ให้ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ได้สำเร็จ หลังเรียกร้องมาแล้วถึงสองครั้ง โดยเธอจะถูกจำกัดให้อยู่แค่ภายในเคหสถาน และติดกำไล EM ไว้ตลอดเวลา
จากอดีตนักเรียนไทยในสิงคโปร์ที่เคยเห็นด้วยกับรัฐประหาร และคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว สู่การมุ่งหน้ากลับประเทศบ้านเกิดเพื่อแลกทุกอย่างที่มีให้กับอนาคตของประชาชน จึงพาให้ตะวันก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมทางการเมืองที่สร้างการขับเคลื่อนให้กับสังคมไทยได้เข้มข้นเป็นที่ประจักษ์ในปีนี้
ย้อนอ่านข่าว ตำรวจหญิง ‘อุ้ม’ นักกิจกรรม โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาข้างกระทรวงกลาโหม หลังทำโพลยกเลิก 112 ได้ทาง https://themomentum.co/report-no112-feb26/
ศาลรัฐธรรมนูญยังคงสร้างปรากฏการณ์และทำให้ประชาชนต้องพูดถึงทุกปี
หากย้อนกลับไปยังปี 2564 มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น เช่น วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยจำนวน 72 ราย เข้ายื่นคำร้องต่อชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์สิ้นสุดลงหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170(5) มาตรา 184(2) และมาตรา 186 ที่ไม่ให้รัฐมนตรีกระทำอันเป็นการต้องห้ามขณะดำรงตำแหน่ง จากกรณีเอื้อสัมปทานรถไฟฟ้าผ่านการออกคำสั่งมาตรา 44 ในเดือนเมษายน 2562 เพื่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เอกชนไปอีก 40 ปี ทั้งที่ขณะนั้นสัมปทานมีระยะเวลาเหลือ 10 ปี อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและทำให้เกิดการผูกขาดในตลาด
ในครั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูลวินิจฉัยว่า ในช่วงที่พลเอกประยุทธ์ใช้มาตรา 44 ความเป็นรัฐมนตรีได้สิ้นสุดลงตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ซึ่งรัฐธรรมนูญเริ่มนับความเป็นรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีถูกตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่สามารถยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณาได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จากการชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง
หรือเหตุการณ์วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่ระบุว่า การสมรสจะทำได้ระหว่างชายและหญิงที่อายุ 17 ปีบริบูรณ์ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 27 ที่กำหนดว่า บุคคลย่อมเสมอกัน และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกัน ก่อนภายหลังจะแจ้งเพิ่มเติมว่า มาตรา 1448 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ทันที
ในปี 2565 ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังคงถูกสังคมพูดถึงไม่น้อยไปกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ภายหลังจากฝ่ายค้านยื่นให้ตีความกรณีวาระดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ว่าขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หรือไม่
โดยศาลมีมติ ‘รับเรื่อง’ และนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณา และทำให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 ขึ้นเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยคาดว่ากระบวนการพิจารณาอาจใช้เวลานานถึง 1 เดือน
ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสาม และมาตรา 158 วรรคสี่ ทำให้พลเอกประยุทธ์กลับมาดำรงตำแหน่งใหม่ได้อีกครั้งด้วยมติ 5 ต่อ 3 กระนั้นเอง พลเอกประยุทธ์ก็เหลือวาระการดำรงตำแหน่งต่ออีกเพียง 2 ปี เป็นเงื่อนเวลาต่อไปที่อาจเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ทว่าทั้งหมดต้องไม่ลืมว่า ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้คือชุดที่ผ่านการเห็นชอบ และแต่งตั้งโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ ส.ว. ซึ่งล้วนมีที่มาจากกลุ่มบุคคลและคณะบุคคลเดียวกัน และหากย้อนกลับไปมองที่ผ่านมา การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมักจะถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายอย่างเดียว หากแต่ขึ้นอยู่กับสภาพการเมืองในเวลานั้นด้วย
การสั่งพักงานนายกรัฐมนตรีของศาลรัฐธรรมนูญ และการอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีกลับมาใหม่ พร้อมกับบทบาทที่คาดเดาไม่ได้ตลอดเวลา จึงทำให้ The Momentum เลือก ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ เป็น 1 ใน 10 บุคคลแห่งปีประจำปีนี้
นักตบลูกยางสาวไทยเจเนอเรชันใหม่ เฉิดฉายในทัวร์นาเมนต์ระดับโลก
ปี 2022 ฟากฝั่งวงการกีฬาบ้านเราดูจะเอื่อยเฉื่อยและไม่มีอะไรให้น่าจดจำเสียเท่าไรนัก เว้นเสียแต่ ‘ทีมกีฬาวอลเลย์บอลหญิง’ ที่ประกาศศักดาไว้ในทัวร์นาเมนต์ระดับโลก จนแฟนๆ ต้อง ‘ซูฮก’ ให้กับความฉกาจและมุ่งมั่นของพวกเธอ
ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ทัพนักตบลูกยางสาวไทยถูกตั้งคำถามพอสมควร หลังชุดดรีมทีมที่ประกอบด้วย ‘7 เซียน’ ได้แก่ ปลื้มจิตร ถินขาว, นุศรา ต้อมคำ, อรอุมา สิทธิรักษ์, อำพร หญ้าผา, มลิกา กันทอง, วิลาวัณย์ อภิญาพงศ์ และวรรณา บัวแก้ว ทยอยโบกมืออำลาทีม เพื่อเปิดโอกาสผ่องถ่ายไปสู่ทีมเจเนอเรชันใหม่ รวมไปถึง โค้ชด่วน-ดนัย ศรีวัชรเมธากุล ที่เข้ามารับไม้ต่อจาก โค้ชอ๊อต-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ซึ่งฝากผลงานระดับมาสเตอร์พีซไว้อย่างแชมป์ระดับทวีปเอเชียปี 2009 (Asian Women’s Volleyball Championship 2009)
อย่างไรก็ดี พวกเธอพิสูจน์คำครหาเหล่านั้นด้วยผลงานรูปธรรม ไล่ตั้งแต่คว้าเหรียญทองซีเกมส์ 2022, จบอันดับ 3 ทัวร์นาเมนต์เอวีซี คัพ (Asian Women’s Volleyball Cup: AVC CUP), ทะลุถึงรอบไฟนอลเป็นครั้งแรกพร้อมจบอันดับ 8 เนชันส์ลีก 2022 (Volleyball Nations League 2022), คว้าแชมป์อาเซียน กรังด์ปรีซ์ 2022 (Volleyball Asean Grand Prix 2022) และที่น่าประทับใจอย่างยิ่งกับการจบอันดับที่ 13 ในทัวร์นาเมนต์วอลเลย์บอลหญิง ชิงแชมป์โลก 2022 (Volleyball World Championship 2022)
ดูผิวเผินอาจจะเป็นตัวเลขที่ไม่เวอร์วัง ทว่าในทัวร์นาเมนต์ ชิงแชมป์โลก พวกเธอต้องผ่าน 24 ทีมชั้นนำระดับโลก ที่บางชาติมีแรงก์กิ้งและประสบการณ์เหนือกว่าเสียด้วยซ้ำ
นัดเปิดสนามทัพนักตบลูกยางสาวไทยถูกจับตามองเป็นพิเศษ เมื่อต้องเผชิญกับทีมตุรเคียที่อยู่อันดับ 7 ของโลก คำทำนายของบรรดากูรูดูเกือบจะเป็นจริงเมื่อตุรเคียออกนำไปก่อน 0-1 เซต แต่เพราะความสามัคคี ช่วยกันเล่น คอยปรบมือและพูดให้กำลังใจ รูปเกมจึงค่อยๆ ตีตื้น จนสุดท้ายพลิกแซงไป 3-2 เซต ชนิดคนดูถ่ายทอดสดหัวใจเต้นระรัว พากันนั่งไม่ติดเก้าอี้
สรุปผลงานของทีมวอลเลย์บอลหญิงในทัวร์นาเมนต์วอลเลย์บอลหญิง ชิงแชมป์โลก 2022 ตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบสองมีดังนี้
รอบแรก
ชนะ ตุรเคีย 3-2 เซต (17-25, 31-29, 22-25, 25-19 และ15-13)
แพ้ โปแลนด์ 0-3 เซต (17-25, 17-25 และ 17-25)
ชนะ โครเอเชีย 3-0 เซต (25-18, 25-13 และ 25-21)
ชนะ เกาหลีใต้ 3-0 เซต (25-13, 25-15 และ 25-14)
ชนะ สาธารณรัฐโดมินิกัน 3-2 เซต (31-29, 16-25, 21-25, 25-22 และ 15-11)
รอบสอง
แพ้ แคนาดา 1-3 เซต (19-25, 21-25, 25-23 และ 22-25)
แพ้ เยอรมนี 1-3 เซต (19-25, 22-25, 25-18 และ 23-25)
แพ้ เซอร์เบีย 0-3 เซต (23-25, 17-25 และ 15-25)
แพ้ สหรัฐอเมริกา 2-3 เซต (25-23, 25-21,19-25, 25-27 และ 13-15)
“ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่สนับสนุนพวกเรา รวมถึงทีมต้นสังกัดของผู้เล่นที่พยายามให้ความร่วมมือและสนับสนุนพวกเราเป็นอย่างดี ปีนี้ต้องยอมรับว่าเต็มไปด้วยความคาดหวังจากแฟนๆ ช่วงซีเกมส์ผมยังคุยกับลูกทีมอยู่เลยว่าเราจะไปได้ไกลแค่ไหน เรามีแต่เด็กใหม่ และไม่มีพี่ๆ 7 เซียน คอยมาช่วย” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมวอลเลย์บอลหญิง ทีมชาติไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อ โดยยอมรับว่าปีนี้เต็มไปด้วยความกดดัน แต่เพราะความมุ่งมั่นของลูกทีม ผลงานที่ออกมาจึงดีเกินความคาดหมาย
ปัจจุบัน ทัพนักตบลูกยางสาวไทยมีผู้เล่นฟอร์มสดน่าจับตามอง อาทิ วิภาวี ศรีทอง, ธนัชชา สุขสด, สิริมา มานะกิจ, พิมพิชยา ก๊กรัมย์, ทิชากร บุญเลิศ ฯลฯ ผสมผสานกับมือตบตัวเก๋าชื่อคุ้นหู อาทิ ปิยะนุช แป้นน้อย, ทัดดาว นึกแจ้ง, หัตถยา บำรุงสุข, อัจฉราพร คงยศ และชัชชุอร โมกศรี คอยประคับประคอง ดังนั้นปีหน้าฟ้าใหม่เราคงจะได้เห็นผลงานสุดยอดของพวกเธออย่างต่อเนื่อง ชวนให้แฟนกีฬาได้รอปลาบปลื้มอิ่มอกอิ่มใจกันอีก
สารัชถ์ รัตนาวะดี เส้นทางการเติบโตสู่บุคคลที่ร่ำรวยสุดในไทย
ปี 2565 มีข่าวหนึ่งที่สื่อและประชาชนไทยให้ความสนใจ หลังจากปรากฏชื่อของ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (Gulf Energy Development) กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย จากการจัดอันดับแบบ ‘เรียลไทม์’ ของนิตยสารฟอร์บส (Forbes) ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 4.32 แสนล้านบาท แซงหน้าบรรดา ‘เจ้าสัว’ ที่คนไทยคุ้นเคยในตำแหน่งดังกล่าวมานาน ทั้ง ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ หรือ ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’
สารัชถ์เริ่มก่อตั้งบริษัท กัลฟ์ อิเล็คตริก จำกัด ทำธุรกิจพลังงานในปี 2537 โดยดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และได้จัดตั้งบริษัทอื่นๆ แตกแขนงออกมาโดยใช้คำว่า ‘กัลฟ์’ นำหน้า ก่อนจะจัดตั้ง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในปี 2554 ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเย็น และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในปี 2564 กัลฟ์แจ้งในรายงานประจำปีว่า มีรายได้รวมมากกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปี 2563 ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรในปี 2564 อยู่ที่ 9,167 ล้านบาท ส่วนสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 3.6 แสนล้านบาท
ที่น่าสนใจก็คือ ‘ลูกค้า’ ของกัลฟ์ในปัจจุบันมากกว่า 91 เปอร์เซ็นต์คือ กฟผ. และเป็นลูกค้าอุตสาหกรรม 9 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้กัลฟ์มีแผนจะขายให้ลูกค้าอย่าง กฟผ. เพิ่มเป็น 94 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2570 และลดสัดส่วนลูกค้าอุตสาหกรรมลงเหลือ 6 เปอร์เซ็นต์ในปีเดียวกัน
นอกจากธุรกิจโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ รวมถึงธุรกิจในกลุ่มอื่นๆ เช่น ธุรกิจแก๊ส ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจพลังงานน้ำ และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ปัจจุบัน กัลฟ์ยังขยายมาสู่ธุรกิจโทรคมนาคม โดยในปี 2564 กัลฟ์เข้าครอบครองหุ้นของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 42 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นการซื้อหุ้นคืนจากกลุ่ม SINGTEL ประเทศสิงคโปร์ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก่อนจะซื้อหุ้นเพิ่มเป็น 46 เปอร์เซ็นต์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 นี้เอง โดยอินทัชเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS
แม้จะเป็นบุคคลที่มีทรัพย์สินสูงสุด แต่สารัชถ์ก็ยังเก็บตัวเงียบ เขาเป็นเศรษฐีที่หลีกเลี่ยงงานสังคม แทบไม่มีภาพถ่ายปรากฏในสื่อ และให้สัมภาษณ์น้อยครั้งมาก ขณะเดียวกัน แม้ธุรกิจของเขาจะเป็นธุรกิจสัมปทาน เกี่ยวข้องกับรัฐโดยตรง แต่ก็ไม่เคยมีใครเห็นเขาปรากฏตัวในงานแถลงข่าว ในงานเลี้ยงหรืองานสัคมใดๆ ข้อคิดและข้อเขียนจากสารัชถ์จะปรากฏก็แต่ในรายงานประจำปีของกัลฟ์เท่านั้น
จึงทำให้เรื่องของสารัชถ์และกัลฟ์ยังเป็นเรื่องที่ ‘น่าค้นหา’ ต่อไป และน่าสนใจว่ามีอะไรบ้างที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ มหาเศรษฐีรายนี้ และกลุ่มทุนพลังงานกลุ่มนี้
ย้อนอ่านบทความ ‘การเติบโตของ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ บนเส้นทาง ‘มหาเศรษฐี’ ไทย’ ได้ทาง https://themomentum.co/feature-sarat-gulf/
Tags: Feature, บุคคลแห่งปี, บุคคลแห่งปี 2022