เศรษฐีไทยอันดับ 1 ขายไก่ คือ ธนินท์ เจียรวนนท์

เศรษฐีไทยอันดับ 2 ขายเบียร์-เหล้า คือ เจริญ สิริวัฒนภักดี

คือการรับรู้ที่ติดในหัวคนไทยมานานเกิน 10 ปี

กระทั่งวันหนึ่งในปี 2565 ชื่อของ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ขึ้นแซงบรรดา ‘เจ้าสัว’ ดั้งเดิม กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย จากการจัดอันดับแบบ ‘เรียลไทม์’ ของนิตยสารฟอร์บส (Forbes) ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 4.32 แสนล้านบาท

คำถามสำคัญที่ปรากฏก็คือ สารัชถ์และกัลฟ์คือใคร บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของประเทศ ‘ร่ำรวย’ มาจากอะไร การเติบโตของกัลฟ์เดินมาด้วยเส้นทางใด มีใครอุปถัมภ์ค้ำชูอยู่บ้าง เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มักจะมีชื่อของกัลฟ์และชื่อของสารัชถ์ปรากฏขึ้นเสมอทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือคดี ‘หมิ่นประมาท’ กับผู้ที่อภิปรายอย่างน้อย 2 ราย

แน่นอนว่า ชายหนุ่มวัย 58 ปี ผู้ที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในประเทศคนนี้ ดูจะเป็นบุคคล ‘ลึกลับ’ และอันตรายเหลือเกิน

สารัชถ์ รัตนาวะดี คือใคร?

หากเส้นทางของ ธนินท์ เจียรวนนท์ คือเส้นทางของลูกคนจีนแต้จิ๋วอพยพ ที่มานะอุตสาหะอย่างหนัก ขยายเครือข่ายธุรกิจเมล็ดพันธุ์พืช สู่ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจโทรคมนาคม ขยายตลาดไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ประสบความสำเร็จและสร้างทรัพย์ศฤงคารมาจนปัจจุบัน เส้นทางของสารัชถ์ดูจะเป็นอีกแบบ

เขาเป็นลูกชายของ พลเอก ถาวร รัตนาวะดี อดีตผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย นายทหาร จปร.5 อันโด่งดัง รุ่นเดียวกับพลเอก สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี, พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี และพลเอก วิมล วงศ์วานิช อดีตผู้บัญชาการทหารบก ขณะที่ฝั่งแม่ก็คือ ประทุม รัตนาวะดี น้องสาวของ วาริน พูนศิริวงศ์ แห่งหนังสือพิมพ์แนวหน้า

สารัชถ์เกิดปี 2508 เรียนที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ก่อนจะเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิศวะ จุฬาฯ รุ่นเดียวกับสารัชถ์ และรุ่นใกล้เคียงจัดเป็นบุคคลระดับ ‘ไฮโปรไฟล์’ ในเวลานี้หลายคน เป็นต้นว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อนรุ่นเดียวกัน และอีกคนหนึ่งก็คือ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอของ ปตท. คนปัจจุบัน ก็เป็นรุ่นน้องวิศวะ โยธาฯ ของสารัชถ์เพียง 1 ปี

ด้วยเหตุนี้ ในครั้งที่ชัชชาติลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. จึงมีข่าวหนาหูว่ามี ‘สารัชถ์’ และ ‘กัลฟ์’ อยู่เบื้องหลัง และเป็นทุนสนับสนุนในแคมเปญรอบนี้ โดยชัชชาติปฏิเสธกรณีนี้กับ The Momentum ในช่วง 1 เดือนก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยบอกว่าเป็นเพื่อนสนิทกับสารัชถ์ แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ และตนเอง ‘อิสระ’ อย่างแท้จริง

ขณะที่รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดนี้อย่าง ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้บริหารของกัลฟ์ หรือสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็อยู่ในวิศวะ จุฬาฯ คอนเนกชันร่วมกัน

การเติบโตแบบพุ่งทะยานของกัลฟ์

สารัชถ์เริ่มตั้งบริษัท กัลฟ์ อิเล็คตริก จำกัด ทำธุรกิจพลังงานในปี 2537 และแตกแขนงเป็นอีกหลายบริษัทในปี 2539 ในช่วงเวลาสอดคล้องกับที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เริ่มกระจายให้ผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ผลิตไฟฟ้าให้ และ กฟผ.จะเป็นผู้รับซื้อจากผู้ผลิตเอกชนอิสระ (Independent Power Producer: IPP)

โครงการที่น่าสนใจในระยะเวลาแรก เป็นต้นว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก กำลังการผลิต 734 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2541 แต่ถูกชาวบ้านคัดค้านอย่างหนัก จนสุดท้ายต้องล้มเลิกโครงการในช่วงปี 2545-2546

แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า กัลฟ์ อิเล็คตริก จะหยุด

บริษัทเริ่มเพิ่มทุนจาก 5,000 ล้านบาท เป็น 1.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2547 สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 1 และ 2 ที่ กฟผ. อนุมัติให้กัลฟ์สร้างหลังจากไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอกได้

ในปี 2554 มีการตั้งบริษัทโฮลดิงส์ชื่อ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ถือหุ้นบริษัทต่างๆ ในเครืออีกหลายบริษัท ก่อนเปิดขายหุ้น IPO ให้ประชาชนทั่วไปเพื่อเป็นการระดมทุในเดือนธันวาคม 2560 ในราคาหุ้นละ 45 บาท

และในปี 2564 กัลฟ์แจ้งในรายงานประจำปีว่า มีรายได้รวมมากกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปี 2563 ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรในปี 2564 อยู่ที่ 9,167 ล้านบาท ส่วนสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 3.6 แสนล้านบาท

ในรายงานประจำปียังระบุด้วยว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของกัลฟ์ในไทยอยู่ที่ 7,875 เมกะวัตต์ เป็นพลังงานก๊าซธรรมชาติประเภท IPP 61 เปอร์เซ็นต์ พลังงานก๊าซธรรมชาติ SPP หรือจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 31 เปอร์เซ็นต์ และเป็นพลังงานทดแทน 8 เปอร์เซ็นต์ โดยตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2570 จะผลิตไฟฟ้าได้รวม 14,498 เมกะวัตต์ โดยขยายพลังงานก๊าซธรรมชาติ IPP เป็น 77 เปอร์เซ็นต์ พลังงานก๊าซธรรมชาติ SPP ลดลงเหลือ 17 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพลังงานทดแทนลดลงเหลือ 6 เปอร์เซ็นต์

ที่น่าสนใจก็คือ ‘ลูกค้า’ ของกัลฟ์ในปัจจุบันมากกว่า 91 เปอร์เซ็นต์คือ กฟผ. และเป็นลูกค้าอุตสาหกรรม 9 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ กัลฟ์มีแผนจะขายให้ลูกค้าอย่าง กฟผ. เพิ่มเป็น 94 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2570 และลดสัดส่วนลูกค้าอุตสาหกรรมลงเหลือ 6 เปอร์เซ็นต์ ในปีเดียวกัน

กัลฟ์กับ ‘การเมือง’

การจำหน่ายไฟให้ กฟผ.มากขนาดนั้น นำมาซึ่งคำถามในสภาผู้แทนราษฎร นำโดย เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อปี 2564 ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) พุ่งขึ้นไปถึง 54 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแปลว่าประเทศไทยผลิตไฟฟ้า ‘ล้น’ เกินหลักการที่ควรจะอยู่ที่ 15-20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน

ขณะเดียวกัน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) ก็ถูกเปลี่ยนแปลงบ่อยอย่างผิดปกติ โดยมีการแก้ไขในรายละเอียดอยู่บ่อยครั้ง และปัจจัยที่ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองล้นเกิน ก็คือการเปลี่ยนเนื้อหาสาระในแผน PDP นั่นเอง ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่ามี ‘มือที่มองไม่เห็น’ แอบเปลี่ยนสาระสำคัญบางอย่างในแผนหรือไม่ เพื่อแลกกับการสนับสนุนรัฐบาล และ ‘พรรคการเมือง’ ที่สนับสนุนรัฐบาล คสช. ให้มีทุนไว้สำหรับการเลือกตั้ง

ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เบญจาถูกหมายเรียกในข้อหาหมิ่นประมาทจาก ‘กรรมการบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)’ และคดียังอยู่ในชั้นศาลจนถึงขณะนี้ ร่วมกับอีกหนึ่งคดีที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลอีกคน อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พาดพิง ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่าอาจเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนรายนี้

ย้อนกลับไปในปี 2557 สารัชถ์ รัตนาวะดี ถูกเรียกตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังการรัฐประหารโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เนื่องจากถูกมองว่าเขามีความใกล้ชิดกับรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และทักษิณ ชินวัตร จากโครงการโรงไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ เมื่อปี 2555 ซึ่งกัลฟ์เป็นผู้ร่วมประมูลรายเดียว และผู้สันทัดกรณีเห็นตรงกันว่าเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ทำให้กัลฟ์พลิกผันจาก ‘ทุนพลังงาน’ ไปสู่ทุนพลังงานที่มี ‘เจ้าของรวยที่สุดในประเทศ’

กระนั้นเอง แม้จะมีการรัฐประหาร มีการตรวจสอบการอนุมัติสัมปทานโรงไฟฟ้าอย่างเข้มข้นในยุค คสช. แต่ก็ไม่ได้กระทบกระเทือนกัลฟ์แต่อย่างใด ซ้ำยังขยายธุรกิจได้ โดยเป็นการทำธุรกิจตามแผน PDP และตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์นั่งเป็นประธาน

นอกจากนี้ จุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างคือการเติบโตก้าวไปสู่ธุรกิจโทรคมนาคม โดยในปี 2564 กัลฟ์เข้าครอบครองหุ้นของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 42 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นการซื้อหุ้นคืนจากกลุ่ม SINGTEL ประเทศสิงคโปร์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก่อนจะซื้อหุ้นเพิ่มเป็น 46 เปอร์เซ็นต์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 นี้เอง โดยอินทัชเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS

ด้วยเหตุนี้ จึงมีคนพูดแบบตลกร้ายว่า หากดีลควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ ประสบความสำเร็จ เหลือเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 ราย คือทรู​และเอไอเอส ประชาชนก็ต้องเลือกว่าจะอยู่กับ ‘ซีพี’ หรือจะอยู่กับ ‘กัลฟ์’

และเมื่อ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกถามในคลับเฮาส์ครั้งหนึ่งถึง ‘ดีล’ ที่กัลฟ์ซื้อหุ้นจาก SINGTEL ทักษิณก็ยังเอ่ยถึงสารัชถ์และกัลฟ์ในแง่ดี ต่างจากการเอ่ยถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือผู้สนับสนุนรัฐบาลบางคน สะท้อนว่าสารัชถ์และทักษิณก็ไม่ได้มีอะไรผิดใจกัน…

ความร่ำรวยที่หยุดไม่อยู่

ชื่อของสารัชถ์ปรากฏในนิตยสารฟอร์บส ในฐานะบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดเป็นครั้งแรกในปี 2561 ด้วยทรัพย์สินทั้งสิ้น 1.06 แสนล้านบาท ปีเดียวกับที่เขาถูกจัดอันดับว่าเป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ของประเทศ จากการจัดอันดับโดยวารสารการเงินธนาคาร รองจาก นายแพทย์ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จากกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ

ทรัพย์สินของสารัชถ์เพิ่มขึ้นเป็น 1.66 แสนล้านบาทในปี 2562 แตะหลัก 2 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรกในปี 2563 และมีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 4.29 แสนล้านบาท ขึ้นเป็นอันดับ 1 แซงหน้า ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือซีพี และเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งกลุ่มช้าง เป็นครั้งแรกในช่วงกลางปี 2565 ด้วยมูลค่า ‘หุ้น’ ที่สารัชถ์ลงทุนไว้มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเลือกเทกโอเวอร์ได้ถูกข้าง ขณะที่สองเจ้าสัวเชื้อสายจีนโพ้นทะเลนั้น กิจการหลายอย่าง ไม่ได้มีมูลค่าหุ้นหวือหวาเท่ากับสารัชถ์ ซ้ำยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

แต่แม้จะเป็นบุคคลที่มีทรัพย์สินสูงสุด จนถึงวันนี้ สารัชถ์ก็ยังเก็บตัวเงียบ เขาเป็นเศรษฐีที่หลีกเลี่ยงงานสังคม แทบไม่มีภาพถ่ายปรากฏในสื่อ และให้สัมภาษณ์น้อยครั้งมาก ขณะเดียวกัน แม้ธุรกิจของเขาจะเป็นธุรกิจสัมปทาน เกี่ยวข้องกับรัฐโดยตรง แต่ก็ไม่เคยมีใครเห็นเขาปรากฏตัวในงานแถลงข่าว ในงานเลี้ยง หรืองานใดๆ ข้อคิดและข้อเขียนจากสารัชถ์จะปรากฏก็แต่ในรายงานประจำปีของกัลฟ์เท่านั้น

นั่นจึงทำให้เรื่องของสารัชถ์และกัลฟ์ยังเป็นเรื่องที่ ‘น่าค้นหา’ ต่อไป และน่าสนใจว่ามีอะไรบ้างที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ มหาเศรษฐีคนนี้ และกลุ่มทุนพลังงานกลุ่มนี้

Tags: , , , , , ,