แม้จะเป็นยามบ่ายแก่ แต่แสงอาทิตย์ที่สาดส่องยังไม่มีทีท่าจะอ่อนแรงตาม อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ลานโล่งกว้างที่ถูกล้อมรั้วเป็นพื้นที่ปิดแห่งนี้ กำลังจะแปรสภาพกลายเป็นฟลอร์เปิดเพลงแบบบ้านๆ ที่เปิดโอกาสให้เหล่าผู้คนทุกวัย ได้สะบัดอายออกมาวาดลวดลายในช่วงย่ำค่ำ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นลานฉายหนังกลางแปลงใต้แสงดาวในช่วงดึก

ที่งานประเพณีโคมไฟ เฟสติวัล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ บริเวณหนึ่งของงานถูกล้อมรั้วไว้สำหรับ ‘นันทวันภาพยนตร์’ บริษัทฉายหนังกลางแปลงที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2524 หรือประมาณ 41 ปีก่อน โดยมีหัวเรือใหญ่อย่าง พงศ์ปรีชา กิตติพันธ์เมธี หรือที่แฟนๆ รู้จักกันในนาม ‘ดีเจซาบะ’ เนื่องจากเขาจะรับหน้าที่เป็นดีเจเปิดเพลงบรรเลงสร้างบรรยากาศให้ผู้เข้าร่วมงานในช่วงย่ำค่ำด้วยตนเอง 

หลังจากหัวหน้างานให้สัญญาณ เหล่าทีมงานคนหนุ่มของนันทวันภาพยนตร์ ต่างวิ่งวุ่นเตรียมสถานที่อย่างกระฉับกระเฉง โดยเฉพาะไฮไลต์หลัก คือจอหนังกลางแปลงขนาดใหญ่ที่ใช้ ‘คน’ เตรียมการด้วยการปีนไต่อย่างคล่องแคล่ว ไร้อุปกรณ์ป้องกัน ไร้ความหวาดหวั่นต่อความสูง ขณะที่ประชาชนที่ให้ความสนใจต่างเข้ามาดู รวมถึงกลุ่มยูทูเบอร์แฟนคลับที่คอยติดตามไลฟ์สดบริษัทหนังกลางแปลงแห่งนี้ในทุกที่ เรียกคนให้เข้ามาดูแต่ละครั้งหลักหลายพันวิว

หลังจากกางจอเสร็จเรียบร้อย รวมถึงการติดตั้งลำโพงขนาดยักษ์ ก็เป็นเวลาของการทดลองเปิดเพลง และระบบไฟต่างๆ เพื่อเตรียมการขั้นสุดท้าย ก่อนที่แสงอาทิตย์จะลับขอบฟ้า และไฟประดิษฐ์ภายในงานประเพณีโคมไฟ เฟสติวัล จะสว่างเรืองรอง เพื่อต้อนรับประชาชนจำนวนมากที่เริ่มทยอยเข้ามาในงาน รวมถึงในพื้นที่ของหนังกลางแปลงแห่งนี้ ที่ความสนุกของเสียงเพลงและภาพยนตร์ยามดึกกำลังจะเริ่มต้นในไม่ช้า

The Momentum มีโอกาสได้ตามติดการทำงานของ นันทวันภาพยนตร์ บริษัทฉายหนังกลางแปลงยุคแรกๆ ของเมืองไทย ที่ยังคงให้บริการผ่านวันเวลาอย่างยาวนาน กับการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย และพูดคุยกับ พงศ์ปรีชา กิตติพันธ์เมธี ที่ยังคงยืนหยัดทำหน้าที่หัวเรือใหญ่บริษัท ไปพร้อมกับการเป็นดีเจเปิดแผ่นสร้างความสนุกให้คนดูในทุกงาน

 

 

พงศ์ปรีชา กิตติพันธ์เมธี หรือ ดีเจซาบะ เล่าถึงจุดกำเนิดของบริษัทนันทวันภาพยนตร์ว่า ในอดีตเขาเคยต้องรับหน้าที่ดูแลร้านโชว์ห่วยต่อจากพี่ชาย ก่อนจะได้พบกับพรรคพวกที่อยากทำหนังกลางแปลง และชักชวนมาซื้อกิจการของเจ้าหนึ่ง ในรูปแบบการร่วมหุ้น ซึ่งในสมัยนั้นยังมีราคาต่อหุ้นที่ไม่แพงนัก

“ตอนนั้นปี 2521 ผมร่วมหุ้นกันกับเพื่อน แต่หลังจากนั้นสองปี เพื่อนก็เลิกไป เหลือแต่ผมที่ต้องสานต่อ” พงศ์ปรีชา ย้อนความ “ผมตัดสินใจหลายวันว่า ทำโชว์ห่วยด้วย ทำหนังกลางแปลงด้วย จะไหวเหรอ แต่อาศัยว่าเรารู้จักโรงหนังเจ้าพระยาที่อยู่โคราช และมีเพื่อนเป็นนักพากย์ เขาเลยแนะนำให้ไปโรงหนังสี่พระยา ซึ่งเป็นโรงหนังประจำอำเภอ ที่นั่นมีนักพากย์คนหนึ่งพูดติดอ่าง แต่เวลาพากย์หนังไม่ติดอ่าง ผมเลยได้ไปช่วยเขาแล้วรับมาสานต่อ สุดท้ายก็เปลี่ยนชื่อเป็น นันทวัน ซึ่งเป็นชื่อนักพากย์อีสานที่ดังที่สุด แต่เสียชีวิตไปแล้ว”

“ตอนไปขอชื่อนี้กับภรรยาของเขา ท่านก็อนุญาตและอวยพรว่า ‘ใช้ชื่อนันทวันก็ขอให้เจริญ’ ซึ่งก็สมพรของเขา เพราะมันดีมาตลอด”

 

หลังจากนั้น เมื่อเข้าสู่ยุคหนังมีเสียง การพากย์เสียงก็เริ่มเสื่อม  นักพากย์จึงไม่มีบทพากย์ ประกอบกับนักพากย์ที่อยู่ด้วยกันก็ลาออก พงศ์ปรีชา จึงต้องหาวิธีโดยการไปเรียนอัดเสียง จ้างคนมาสอนคอมพิวเตอร์ ตั้งโปรแกรม รวมถึงไปเข้าค่ายเรียนการพูดจากนักพูดแนวหน้าของเมืองไทยหลายคน อาทิ อ.จตุพล ชมภูนิช, อ.เสน่ห์ ศรีสุวรรณ, อ.อภิชาติ ดำดี, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ เสรี วงษ์มณฑา กระทั่งเขาค้นพบว่า ยุคต่อไปจะไม่ใช่แค่การมานั่งดูหนังอย่างเดียว แต่ต้องมีกิจกรรมอย่างอื่นร่วมด้วย

“ผมคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว อยากมีกิจกรรมให้คนมาเต้นหน้าหน้าจอหนังกลางแปลง แต่ตอนนั้นคนยังไม่ค่อยกล้า เพราะบ้านเรายังไม่มีออกกำลังตอนเย็น เราก็ค่อยๆ ชักจูงมาทีละคน ทีละเจ้า ให้เขามาเต้นที่หน้าจอ ออกกำลังกายดูหนัง มันเลยกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ว่า หนังกลางแปลงของ นันทวัน จะให้ความสนุกก่อน แล้วค่อยดูหนังตามทีหลัง”

มาถึงยุคปัจจุบัน นันทวัน ให้บริการหนังกลางแปลง พร้อมบริการความสนุกในส่วนของการเปิดเพลงให้คนมาเต้น โดย พงศ์ปรีชา รับหน้าที่เป็นคนเปิดเพลงในชื่อ ‘ดีเจซาบะ’ ซึ่งเป็นชื่อที่เขาเล่าว่าได้มาจากความชอบในการกินปลาซาบะ

“ตอนขึ้นพูดเป็นดีเจใหม่ๆ ผมพูดแต่คำว่า ‘ครับ ขอบคุณครับ’ ไม่มีทิ้งท้ายว่าชื่ออะไร ก็เลยตั้งว่าดีเจซาบะแล้วกัน เพราะชอบกินปลาซาบะ ปรากฎว่าชื่อนี้ก็ติดโฉลกขึ้นมา” พงศ์ปรีชาเล่าถึงที่มาของชื่อ ซึ่งกลายเป็นชื่อที่แฟนๆ จดจำเป็นอย่างดี

 

 

ปัจจุบันหน้าที่หลักของ พงศ์ปรีชา คือการเป็นดีเจจัดเพลงและพูดออกไมค์สร้างความสนุกสนาน ส่วนการเตรียมงานต่างๆ จะเป็นของทีมงาน ทั้งทีมงานเตรียมสถานที่ ทีมเปิดเสียง และทีมงานดูแลเพจ 

สำหรับการเป็นดีเจนั้น พงศ์ปรีชา เล่าว่าเขาชื่นชอบการเปิดผ่าน ‘แผ่นซีดี’ มากกว่าเปิดจากมือถือหรือคอมพิวเตอร์ เพราะมองว่าท้าทายกว่า โดยเฉพาะในแง่ของการจดจำ เนื่องจากเขาจะมีกล่องอุปกรณ์สำหรับบรรจุแผ่นซีดีส่วนตัวที่มีหลายร้อยแผ่น แต่ละแผ่นมีมากกว่าสิบเพลง โดยทีมงานจะเป็นผู้คัดเลือกเพลงมาให้ ทั้งเพลงเก่า เพลงใหม่ และเขาจะต้องนั่งฟังทุกเพลง เพื่อมาคิดว่า จะนำแต่ละเพลงมาต่อกันเพื่อสร้างบรรยากาศอย่างไร

“ผมชอบขึ้นด้วยเพลงเบาๆ แล้วล่อด้วยลูกทุ่งสามช่า ต่อด้วยเพลงเขมร สับเพลงแดนซ์ขึ้นมา แรงขึ้นหน่อย แล้วผ่อนลงมาช้า พอสักสี่ทุ่มกำลังได้ที่ก็เล่นเพลงดังให้คนร้องตาม ชูมือตาม เหมือนในคอนเสิร์ต ส่วนตอนปิดท้ายก็จะเล่นเพลงแรงๆ ให้สนุก” พงศ์ปรีชา เล่าพร้อมกับเปิดกล่องอุปกรณ์ที่เปรียบเสมือนกล่องขุมทรัพย์สำหรับเขาให้ชม

“พอเห็นคนสนุก เห็นคนเต้น ผมก็ดีใจแล้ว คือเขาเสียเงินเข้ามาดู เราก็ต้องการให้เขาสนุกและทิ้งความทุกข์ไว้ที่นี้ เพื่อจะได้กลับบ้านไปอย่างมีความสุข”

 

 

สิ่งที่น่าทึ่งของ นันทวันภาพยนตร์ คือ ทีมงาน

แน่นอนว่าเอกลักษณ์ของหนังกลางแปลง คือ การฉายหนังกลางแปลง ซึ่งนันทวันภาพยนตร์จะใช้ทีมงาน ‘มนุษย์’ ในการติดตั้งจอภาพยนตร์ หรือ ‘การกางจอ’ ขนาดใหญ่ 24 เมตร โดยหลังจากตั้งโครงสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหล่าทีมงานคนหนุ่มจะปีนไต่ขึ้นในมุมต่างๆ ของเสาด้วยความรวดเร็ว โดยไร้อุปกรณ์ป้องกัน ราวกับเป็นสไปเดอร์แมน 

สำหรับการขึ้นจอจะใช้คนดึงผ้าจอซึ่งเป็นผ้าเตนท์ขึ้นทีละฝั่ง ซ้าย ขวา ไล่ร้อยมัดขึงข้างบนตรงกึ่งกลาง และไล่ร้อยไปด้านซ้ายขวา ก่อนจะร้อยเป็นแนวนอนลงมาข้างล่าง 

“ทีมงานที่ขึงจอเป็นมืออาชีพที่ทำงานมาหลายปี กับบางส่วนที่เป็นเด็กใหม่ ส่วนใหญ่เราจะรับคนที่เป็นวัยรุ่น เพราะมันเป็นงานที่ต้องใช้แรงเยอะ งานก็เยอะ เรื่องแรงกำลัง วัยรุ่นจะโอเคกว่า อึดกว่า” หนึ่งในทีมงานนันทวันภาพยนตร์เล่า 

 

ในยุคที่โซเชียลเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ นันทวันภาพยนตร์ก็พยายามนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยเฉพาะกับการโปรโมตและมาร์เก็ตติ้ง หากใครเคยลองไปในเพจของนันทวัน จะพบว่าแต่ละโพสต์มีคนกดไลก์หลักหลายพัน มีทั้งอัลบั้มรวมภาพงาน มีการตัดคลิปสั้นๆ น่าสนใจเพื่อเรียกน้ำย่อย อาทิ การใช้โดรนถ่ายบรรยากาศการติดตั้งจอ มีการไลฟ์สด หลายชิ้นเป็นการทำในวันเดียวกับที่มีการจัดงาน โดยทีมงานแอดมินเพจซึ่งเป็นคนหนุ่ม ทำให้คอนเทนต์ที่ลงในเพจมีความสดใหม่

“คุณต้องทำให้ช่องทางโซเชียล Active และทันสมัยเสมอ ผมโชคดีที่มีทีมงานยังหนุ่ม พวกเขาเป็นคนดูแล ควบคุมว่าจะทำอะไร อย่างไร จะโพสต์อะไร หรือโพสต์แบบไหน เหมือนเราเป็นสื่อกลางที่ทำให้คนที่ดูโซเชียลของเราได้มาพบกัน บางคนทำสินค้า ทำแบรนด์ เขาก็มาแชร์กัน แลกเปลี่ยนกัน”

“เราต้องรับฟังคนรุ่นใหม่ อย่าไปถือว่าตัวเองเก่งที่สุดในโลกคนเดียว ไม่ได้ ผมเป็นคนที่ยอมรับความจริงและฟังเด็ก ผมถึงอยู่ตรงนี้ได้ แต่บางครั้งเรื่องไหนที่เราเห็นว่าไม่ถูก เราก็ต้องเตือนเขา หรือบางเรื่องชนได้ ผมก็จะเป็นคนชนให้ก่อน” พงศ์ปรีชากล่าว

 

 

เป็นเรื่องปกติที่เมื่อโควิดระบาด ทุกกลุ่มธุรกิจย่อมได้รับผลกระทบหมด มากน้อยต่างกัน เช่นเดียวกับ นันทวันภาพยนตร์ ที่เฉพาะปี 2564 ที่ผ่านมา นับจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน พวกเขาต้องถูกยกเลิกงานถึง 128 งาน

“ช่วงโควิดหนัก บางคนก็มาอยู่ที่บ้านผม บางคนก็เลือกกลับบ้าน บางคนก็หาจ็อบเล็กๆ น้อยๆ ทำ แล้วแต่คน แต่ถ้าใครที่มาอยู่บ้านผม เราก็มีข้าวให้กินตลอด 3 มื้อ บางครั้งก็แจกเงินเป็นของขวัญด้วย ถึงจะลำบากผมก็ไม่ให้อด เพราะเราอยู่กันเหมือนครอบครัว” พงศ์ปรีชา เล่า ขณะที่ปกตินันทวันจะมีงานราว 400 งานต่อปี แต่หากเป็นสมัยที่มีนักพากย์หนังอยู่ จะมีประมาณ 750 งาน

“ถ้าไม่มีโควิด เรามีกิจกรรมให้แฟนคลับเล่นเยอะมาก มีขายเสื้อนันทวัน รวมถึงอาจจะมีแจกฟรีเป็นของสมนาคุณ หากใครเต้นสวย เต้นสนุก เพื่อเป็นกำลังใจ” 

 

 

เมื่อดวงอาทิตย์ลาลับพร้อมกับแสงไฟจากร้านค้าที่สว่างไสวและกลิ่นอาหารที่โชยมาตามสายลมย่ำค่ำ ผู้คนเริ่มทยอยเข้ามาในงานอย่างคึกคัก บางส่วนจ่ายเงินเพื่อเข้ามาในพื้นที่ของนันทวันภาพยนตร์ ที่ขณะนี้เสียงดนตรีจากลำโพงยักษ์ดังกระหึ่มในระดับที่เสียงทุ้มของเบสทำให้อวัยวะในร่างกายถึงกับสั่นสะเทือน แม้จะยืนอยู่ข้างกัน ก็ต้องใช้วิธีตะโกนเพื่อพูดคุย 

จากแรกเริ่มที่พื้นที่ลานกว้างหน้าจอหนังกลางแปลงยังคงว่างเปล่า แต่พลันที่มีคนออกมาเปิดฟลอร์ จึงทำให้คนอื่นๆ เริ่มสลัดอายออกมาจับกลุ่มวาดลวดลายกันอย่างเมามัน ทั้งวัยรุ่น ทั้งวัยกลางคน บ้างก็หันหน้าเข้าจอหนังยืนเต้นคนเดียวไม่สนใคร โดยมีเสียงดีเจคอยพูดสร้างบรรยากาศ ไปพร้อมๆ กับการไลฟ์สดจากยูทูบเบอร์หลายคน

 

 

ที่สังเกตเห็นเป็นจำนวนมากคือเหล่าวัยรุ่นที่ออกมาเต้นตามจังหวะเพลงอย่างสนุกสนาน ที่ไม่ว่าดีเจจะเปลี่ยนผ่านกี่เพลงต่อกี่เพลง ก็ดูเหมือนจะไม่อ่อนล้าและนั่งพักง่ายๆ ทั้งยังเรียกความสนใจจากเหล่ายูทูเบอร์ที่มาไลฟ์สดผ่านช่องของตนเองได้เป็นอย่างดี

“สมัยนี้เราจะทำหนังกลางแปลงให้วัยรุ่นกลับมาดู บางทีเขายังพูดเลยว่า จ้างหนังมา ‘มีแต่หมาเบิ่ง คนบ่มีเบิ่ง’ แต่ถ้าเป็นของเราคือ ‘มีแต่คนเบิ่ง ไม่มีหมาเบิ่ง’ เพราะบางทีมีคนดูขับรถมาจากต่างจังหวัดเลย แฟนคลับก็ช่วยเราเยอะ เราก็รักทุกคน และเคยดูถูกแฟนคลับ รักกันเหมือนพี่เหมือนน้อง เราสามารถทำให้คนที่ไม่รู้จักกันมารวมอยู่ตรงนี้แล้วทำความรู้จักกัน เอาความรู้มาแลกกัน เอาสินค้ามาแลกกัน เหมือนมาพบปะกัน มาสังสรรค์กัน มาเป็นเพื่อนกัน” พงศ์ปรีชา 

ปัจจุบัน นันทวัน เน้นการเอนเตอร์เทนในช่วงเปิดเพลงดีเจเป็นหลัก ส่วนช่วงเวลาฉายหนัง คนจะดูหรือไม่ก็เป็นอีกประเด็น พงศ์ปรีชา เล่าว่า หากนับ 100 คน จากตอนแรก พอถึงช่วงฉายหนัง คนอาจจะกลับ 30 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 70 เปอร์เซ็นต์ ที่รอดูหนัง คนที่กลับก็อาจจะเป็นคนที่ดิ้นจนเหนื่อยแล้ว หรืออาจจะมีธุระต่อ 

“ผมมองว่าหนังกลางแปลงยังอยู่ได้ แต่อยู่ที่คุณภาพ คือมันเป็นมหรสพกลางแจ้งที่เราเปลี่ยนให้มีความสนุก เหมือนคุณไปแล้วได้ 2 in 1 ได้ทั้งดูหนัง ได้ทั้งการออกกำลังกาย ได้ทั้งฟังเพลงที่คุณชอบด้วย ถึงแม้คนจะรอดู 10 คน เราก็ฉาย ไม่มีเกี่ยง นี่คือคุณภาพของนันทวัน และเราสอนให้พนักงานซื่อสัตย์ต่อเจ้าภาพเสมอ” พงศ์ปรีชากล่าว

 

เมื่อถามถึงสิ่งที่ทำให้ นันทวันภาพยนตร์ อยู่ผ่านกาลเวลามาได้ถึง 20 ปี พงศ์ปรีชา เล่าว่า เป็นเพราะการ ‘ขายคุณภาพ ขายความตรงไปตรงมา และขายความซื่อสัตย์’ 

“เราพูดตรงไปตรงมา ไม่ได้คือไม่ได้ ใครจ้างเท่าไหร่ ไปแค่นั้น ข้อนี้สำคัญ เราไม่ล้มมวยให้ใคร ถ้าสมมติมีเจ้าภาพแรกจ้างมา 3-4 หมื่นบาท แต่มีอีกคนมาจ้าง 6 หมื่นขอล้มมวย ผมจะบอกว่าไม่ได้ คุณต้องเลื่อนวัน เงินผมอยากได้ แต่เราต้องทำให้ถูกต้อง เราเชื่อใจเขา เขาก็เชื่อใจเรา เรามีสัญญาใจ เราขายความซื่อสัตย์ ขายความตรงไปตรงมา สัญญาต้องเป็นสัญญา”

“ตอนแรกเราคิดจะขายแฟรนไชส์เหมือนกัน แต่ไม่เอาดีกว่า กลัวเขาเอาไปทำเสีย แล้วมันจะลามมาถึงเรา เลยจำกัดแค่นี้พอ ใครอยากได้มาตรฐานก็มาตรงนี้” 

ปัจจุบัน พงศ์ปรีชา มีลูกสองคน แต่ทำกิจการอื่นอยู่ต่างประเทศทั้งคู่ และวาดหวังว่าสักวันจะมีคนมาช่วยสานต่อ “อายุเราปูนนี้แล้วก็ต้องคิดหน่อย แต่เราก็ต้องทำอย่างสุดฝีมือ จนกว่าจะมีคนมาแทน ผมก็จะสละตำแหน่งให้เขาไป ผมจะไม่หวง ผมจะไม่คิดว่า ต้องอยู่ยงคงกระพันเป็นดีเจตลอดไป มันเป็นไม่ได้”

 

Tags: , , , ,