ในเดือนที่ผ่านมา ชาวกรุงเทพได้ตื่นตาตื่นใจกับ One Bangkok โครงการมิกซ์ยูสสุดอลังการที่เพิ่งเปิดตัวในวันที่ 25 ตุลาคม 2567
ความโด่งดังของ One Bangkok นั้นไม่น่าแปลกใจเลย เนื่องจากเป็นโครงการ Private Property Development (โครงการก่อสร้างของบริษัทเอกชน) ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
One Bangkok ประกาศว่าเป็น ‘เมืองกลางใจ’ ของผู้คน และ ‘ทำให้หัวใจเต้นเป็นจังหวะเดียวกัน’ ค่านิยมประจำองค์กร One Bangkok เน้นย้ำความสามัคคีและความเปิดกว้าง เพื่อที่จะรวบรวมผู้คนที่มี ไลฟ์สไตล์ วัฒนธรรม และความต้องการที่แตกต่างมาอยู่ในที่เดียวกัน
ในสายตาของคนหลายคน One Bangkok เป็นสัญลักษณ์ว่ากรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่โมเดิร์น เจริญและก้าวหน้า
ในที่นี้ One Bangkok มีคอนโดมิเนียมระดับ Luxury Residence รวม 3 แห่ง และ 5 โรงแรมชั้นนำ นอกจากนี้ยังมีออฟฟิศอีก 5 แห่ง ห้างสรรพสินค้าอีก 3 แห่ง โรงภาพยนตร์ ฟิตเนส สปา แกลเลอรี คอนเสิร์ตฮอลล์ และสวน One Bangkok Park อีกด้วย
มูลค่าของโครงการรวมแล้วหลายแสนล้านบาท ถูกสร้างใจกลางเมืองบนที่ดินเช่าของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันยังมีทางขึ้น-ลง ทางด่วนเป็นของตัวเอง ตัดผ่านเข้าไปในโครงการ ประมาณการว่าหากเสร็จสิ้น โครงการนี้จะมีผู้ใช้บริการมากกว่า 90 ล้านคนต่อปี
แต่ในอีกแง่หนึ่ง ภายใต้ตึกระฟ้าน่าสะดุดตาและห้างสรรพสินค้าลักซ์ชัวรีทั้งหลาย One Bangkok อาจเป็นตัวอย่างของความเหลื่อมล้ำ และการแบ่งแยกของสังคม โดยการสร้างพื้นที่ Exclusive ที่เพียงคนบางกลุ่มสามารถเข้าถึงได้
ภาพที่ชัดเจนก็คือ ชุมชนรอบข้าง One Bangkok ที่ยังคงเป็นชุมชนแออัด แฟลตสำหรับผู้มีรายได้น้อยย่าน ‘บ่อนไก่’ ที่อยู่กันมานาน 40-50 ปี
ในที่นี้ One Bangkok อาจเป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์ Fortified Enclaves ที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วโลก
Fortified Enclave แปลว่า ‘ย่านส่วนตัว’ เป็นคอนเซปต์จากนักวิชาการด้านการวางผังเมือง เทเรซา แคลเดรา (Teresa Caldeira) และหมายถึงโครงการเอกชนที่รวมตึกคอนโด ออฟฟิศ ห้างสรรพสินค้า และอีกมากมาย ในบริเวณเดียวกันพื้นที่นี้ถูกป้องกันโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย กล้องวงจรปิด และประตูกั้น
Fortified Enclave เปรียบเสมือนเมืองเล็กๆ ที่มีทุกอย่าง ที่ผู้อยู่อาศัยอาจต้องการจนไม่จำเป็นต้องออกจากบริเวณนี้สู่โลกภายนอกเลยก็ได้
แคลเดรายกตัวอย่างโครงการมิกซ์ยูสในเมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล ที่นอกจากห้องคอนโด ยังมีร้านเสริมสวย บาร์ สระว่ายน้ำ ห้องซาวน่า และห้องสมุดประจำโครงการ อีกทั้งยังมีบริการทำความสะอาดห้อง คนทำสวน เชฟส่วนตัว ครูสอนพิเศษให้เด็กๆ โค้ชกีฬา หมอนวด และอีกมากมาย
แม้ One Bangkok อาจไม่ได้มีบริการเยอะขนาดโครงการเหล่านี้ แต่ยังมีคุณสมบัติของการเป็น Fortified Enclave เช่นกัน
เพราะไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน ที่สำหรับบันเทิงในเวลาว่าง ที่ให้เดินชมธรรมชาติ หรือแม้แต่วิวสวนลุมพินีที่สวยและ Exclusive ที่สุดในเมือง One Bangkok มีทั้งหมดภายในที่เดียวกัน ทำให้กลายเป็นพื้นที่ดั่งที่แคลเดรากล่าว “การดำรงชีวิตไฮโซที่ปราศจากความวุ่นวาย ความสกปรก และความแตกต่างในเมืองหลวง”
แน่นอนอยู่แล้วว่าไม่ใช่ทุกคนในเมืองจะสามารถมีที่อยู่ในโครงการนี้ได้ คนที่สามารถอาศัยอยู่ที่นี่ล้วนเป็นคนรวยและชนชั้นกลาง ที่มีปัญญาจ่ายค่าคอนโดและค่ากินอยู่ในโครงการโมเดิร์นและลักซ์ชัวรีขนาดนี้ได้
แม้ว่าผู้สร้างไม่ได้ตั้งใจให้เป็น ‘ป้อมปราการ’ และเปิดบางพื้นที่ เช่น ร้านค้า ทางเดิน หรือสวน ให้คนภายนอกเข้ามาเยือนได้บางเวลา และในเมื่อเป็นโครงการเอกชน เจ้าของโครงการยังสงวนสิทธิ์ปิดกั้น หรือห้ามไม่ให้คนบางคนเข้าได้ตลอด ในที่สุด พื้นที่ใน Fortified Enclave แบบนี้ไม่ใช่ที่สาธารณะอันแท้จริง แต่เป็นพื้นที่เอกชนที่ถูกสร้างมาเพื่อคนบางกลุ่มเป็นพิเศษ
ส่วนคนกลุ่มอื่นจะสามารถเข้าถึงพื้นที่ บริการพิเศษ และไลฟ์สไตล์ของ One Bangkok ได้ไหม ในเมื่อแท้จริงแล้วเหล่าพนักงานที่มีหน้าที่ทำความสะอาดและบริการลูกค้า ล้วนมาจากกลุ่มรายได้น้อยที่ เมื่อเลิกงานแต่ละวันก็คงต้องกลับไปอาศัยอยู่ในห้องเช่าทรุดโทรม หรือในชุมชนแออัดที่ล้อมรอบ One Bangkok นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ Fortified Enclave จึงมักไม่ได้เป็นศูนย์รวมบุคคลหลากหลายอย่างที่โฆษณาไว้ แต่เป็นพื้นที่ที่ถูกสงวนให้คนรวย เพื่อให้พวกเขาสามารถปิดกั้นตัวเองจากความหลากหลาย (Social Heterogeneity) ในเมืองได้ หรือแท้จริงแล้ว โครงการเหล่านี้เป็นการแบ่งเขตระหว่าง สวรรค์กลางเมืองอันสะอาด สงบเงียบ และหรูหราของคนรวย กับโลกภายนอกที่สกปรก วุ่นวาย และเต็มไปด้วยคนต่างชนชั้น
อย่างที่แคลเดรากล่าว “แทนที่จะลดพื้นที่ส่วนตัวและส่งเสริมการสร้างพื้นที่สาธารณะในเมือง Fortified Enclave กลับเป็นการขยายและเปลี่ยนแปลงพื้นที่ส่วนตัว จนคนรวยไม่จำเป็นต้องใช้ที่สาธารณะอีกต่อไป ส่วนคนจน คนไร้บ้าน และคนที่ไม่สามารถเข้าถึงโครงการเหล่านี้ได้ ก็ถูกทอดทิ้งอยู่กับหมอกควันและถนนทรุดโทรมของโลกภายนอก”
“ด้วยเหตุนี้ การแบ่งแยกสังคมด้วย Fortified Enclave และการให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนตัวพร้อมกับละเลยพื้นที่สาธารณะ เป็นการลบล้างค่านิยมหลักของการอยู่ในเมือง นั่นก็คือความเปิดกว้างและการต้อนรับความแตกต่างนั่นเอง”
เขาอธิบายต่อว่า “เมื่อเราสร้างพื้นที่ Exclusive เช่น Fortified Enclave เราจะไม่เห็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดกับการอยู่ในเมืองเช่น การเดินบนถนนหรือในสวนสาธารณะกับคนต่างชนชั้นต่างเชื้อชาติ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมกับคนที่เราไม่รู้จัก การอยู่ในเมืองควรเป็นการแบ่งปันพื้นที่กับคนที่แตกต่างจากเรา”
ก็จริงอย่างที่แคลเดราพูด ตั้งแต่ยุคโบราณ ประชาชนมักมองเมืองใหญ่ว่าเป็นที่สำหรับคนทุกคน
ยกตัวอย่างเช่นกรุงเอเธนส์ (Athens) และกรุงโรม (Rome) ในสมัยโบราณ ที่โด่งดังว่าเป็นเมืองที่เจริญที่สุดในโลก ทั้ง 2 เมืองให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับที่สาธารณะ เพื่อลดความแบ่งแยกและส่งเสริมให้คนต่างชนชั้นสามารถพบคุยกันได้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน
ใน Agora (ตลาด) ของกรุงเอเธนส์ และ Forum (พื้นที่ใช้สำหรับการประชุม) ในกรุงโรม เป็นที่สาธารณะที่ชาวเมืองทุกคนสามารถสนทนาและกล่าวสุนทรพจน์เรื่องการเมืองได้เป็นประจำ ทำให้เกิดความคิดก้าวหน้าและวิธีพัฒนาสังคมมากมาย เช่น ระบอบประชาธิปไตยแรกในประวัติศาสตร์โลก
กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ถูกยกย่องว่าเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปะและความสร้างสรรค์ ได้ถูกออกแบบใหม่ในศตวรรษที่ 19 เพื่อขยายทางเดินข้างถนน สวนสาธารณะ และจัตุรัสเมืองมากขั้น ซึ่งเป็นที่ที่ชาวเมืองต่างชนชั้น ต่างไลฟ์สไตล์ได้มาเจอกัน และอยู่ร่วมกันระหว่างการเดินเล่น ชมวิว หรือฟังดนตรีข้างถนน
ณ เมืองซานฟรานซิสโก (San Francisco) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในยุคปัจจุบันชาวเมืองทั้งหลายต้องการรักษาสวนสาธารณะไว้ เพราะนอกจากเป็นสถานที่สำหรับการเดินชมธรรมชาติหรือนั่งปิกนิกกับเพื่อน สวนสาธารณะเป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถชุมนุมได้และเป็นที่ที่คนไร้บ้านสามารถพักผ่อนได้โดยไม่ถูกไล่ออกไป
สุดท้ายแล้วเมืองที่ ‘ดี’ ‘ก้าวหน้า’ และ ‘เจริญ’ แท้จริงเป็นอย่างไร?
เมืองที่ ‘ดี’ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนตึกระฟ้าและคอนโดลักซ์ชัวรี แต่ขึ้นอยู่กับการเป็นพื้นที่ที่คนทุกคนสามารถเข้าถึงและพึ่งพาได้ ไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนจน หรือแม้แต่คนไร้บ้าน
เมืองที่ ‘ก้าวหน้า’ มาจากความผสมผสานของคนที่มีความคิด วัฒนธรรม และฐานะที่ต่างกัน
เมืองที่ ‘เจริญ’ ไม่ได้มาจากการแบ่งแยกและปิดกั้นความวุ่นวายและความแตกต่างออกไป แต่มาจากการส่งเสริมให้ชาวเมืองทุกคนสามารถอยู่กับความวุ่นวายและความแตกต่างนี้ได้ ต่างหาก
แน่นอนว่า One Bangkok เป็นโครงการระดับโลกที่รวมนวัตกรรมสุดโมเดิร์นและทันสมัย แต่ในเมื่อความเจริญทั้งหมดนี้ถูกปิดกั้นไว้ให้คนบางกลุ่มเท่านั้น ที่เหลือของชาวกรุงเทพฯ รวมถึงคนจนและคนไร้บ้าน จะมีสิทธิเข้าถึงความเจริญนี้ได้บ้างไหม?
แล้ว Fortified Enclave ที่ถูกสร้างเพื่อคนบางกลุ่มเช่นนี้จะสามารถรวมใจคนทุกคน “ให้หัวใจเต้นเป็นจังหวะเดียวกัน” ได้อย่างไร?
อ้างอิง
Caldeira, Teresa P. R. 1996. “Fortified Enclaves: The new urban segregation.” Public Culture 8 (2): 303–328.
Mitchell, Don. 1995. “The End of Public Space? People’s Park, definitions of the public, and democracy.” Annals of the Association of American Geographers 85 (1): 108-133.
Thucydides. 2009 [circa 431 BCE]. Pericles’s funeral oration and the plague of Athens. Pp 96-100 in The Peloponnesian War, Martin Hammond, trans. Oxford University Press.
Wirth, Louis. 1938. “Urbanism as a Way of Life.” American Journal of Sociology 44 (1): 1-24.
https://www.onebangkok.com/en/
Tags: Feature, เอกชน, Urban, การพัฒนาเมือง, One Bangkok, Urban & City, Fortified Enclave