ไม่รู้ว่าเป็นเพราะตลกร้าย กลยุทธ์ หรือความตั้งใจใดของรัฐบาลที่กำหนดให้วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ตรงกับวันรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 8 ปีที่แล้ว โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำการรัฐประหาร

การทำรัฐประหารครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อประเทศชาติหลายด้าน โดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่พังทลายลง เมื่อกลไกทางประชาธิปไตยหยุดนิ่ง แน่นอนว่าการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยย่อมแน่นิ่งตามไปด้วย ส่งผลให้การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นต้องหยุดชะงักไปกว่า 9 ปี ถูกแทนที่ด้วยผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) ที่มาจากการแต่งตั้ง ดังนั้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้กลายเป็นเชือกปมสุดท้ายที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ยอมไฟเขียวให้ประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิใช้เสียงหลังจากประวิงเวลามาหลายปี

9 ปีที่ไร้การเลือกตั้งท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการ ควบคุม จัดการ ออกกฎระเบียบการเลือกตั้ง ฯลฯ คงจะมีเวลาเหลือเฟือ สำหรับการเตรียมตัวและถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อปี 2562 ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของ กกต. อย่างล้นหลาม

การทำงานของ กกต. ในรอบ 9 ปี กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีผลงานอะไรที่น่าติ (ชม) และควรถอดบทเรียนบ้าง?

The Momentum รวบรวม 4 ผลงานของ กกต. ที่น่าติ (ชม) เพื่อให้ กกต. และทุกคนถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ว่ามีอะไรที่ควรปรับปรุงเพื่อให้การใช้สิทธิใช้เสียงของประชาชนมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งปัญหาบัตรเลือกตั้งที่ไม่มีชื่อพรรค ไม่มีเบอร์ผู้สมัคร, ปัญหารายชื่อผีสวมสิทธิ และปัญหาสีปากกาที่การเลือกตั้งผ่านมากว่าค่อนวัน ถึงได้ข้อสรุปจาก กกต. ว่าใช้ปากกาได้ทุกสี

ทั้งหมดนี้เพื่อให้ร่วมกันพิจารณาว่า กกต. ควรทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชนอย่างไร เพื่อให้ทุกเสียงของประชาชนไม่สูญหาย กลายเป็นบัตรเสียหรือเกิดความงุนงงที่คูหา เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง และเผื่อว่าในอนาคตอันใกล้ รัฐบาลจะไฟเขียวอนุญาตให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ตามข้อเรียกร้องของประชาชนต่างจังหวัดที่อยากใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ ประจำจังหวัดบ้าง

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตและควรตั้งคำถามคือ จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้รวม 60.73 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่า กกต. คาดการณ์ไว้ และจำนวนบัตรเสียที่มีมากถึง 40,017 ใบ คิดเป็น 1.50 เปอร์เซ็นต์ สิ่งเหล่านี้สามารถสะท้อนประสิทธิภาพการทำงานของ กกต. ได้ด้วยหรือไม่?

หากประชาชนท่านไหนสนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ประจำจังหวัดเช่นเดียวกับผู้ว่าฯ กทม. สามารถลงชื่อสนับสนุนได้ที่แคมเปญ เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ทุกจังหวัดต้องได้เลือกผู้ว่าฯ ประจำจังหวัดของเราเองได้ทาง Change.org/WeAllVoters

บัตรเลือกตั้งที่ไร้ชื่อและโลโก้พรรคการเมือง

40,017 ใบ – คือจำนวนตัวเลขบัตรเสีย คิดเป็น 1.50 เปอร์เซ็นต์ แล้วบัตรเสียเกี่ยวข้องอะไรกับ กกต.?

หลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จบลง มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ตั้งคำถามว่า กกต. ทำดีกว่านี้ได้หรือไม่?

การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมา มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยกว่าที่ กกต. คาดการณ์ไว้ แต่จากการสังเกตการณ์ตามหน่วยเลือกตั้งของพีเน็ตและอาสาสมัครในเครือข่าย รวมถึงภาคประชาชนที่ช่วยกันสอดส่อง พบว่าบรรยากาศการเลือกตั้งเต็มไปด้วยความคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ บางคนถึงกับให้รถฉุกเฉินโรงพยาบาลช่วยมาส่งตัวที่หน่วยเลือกตั้ง

แต่ปัญหาที่พบคือ กรรมการประจำหน่วย (กปน.) ยังทำงานไม่เป็นมืออาชีพ แม้ว่าที่ผ่านมา กกต. จะมีการเลือกตั้งหลายครั้ง แต่ยังเกิดความผิดพลาดเล็กน้อยเสมอ เช่น ก่อนเข้าคูหา กปน. ไม่ได้ให้ผู้มีสิทธิ์ถอดหน้ากากอนามัยออกก่อนรับบัตรเลือกตั้ง ทำให้อาสาสมัครที่หน่วยเลือกตั้งคลองเตยระบุว่า เห็นคนใช้บัตรประชาชนของผู้อื่นมาลงคะแนนเสียงแทน ไหนจะการขานคะแนนที่สับสนระหว่างคะแนนผู้ว่าฯ กทม. และคะแนน ส.ก. นอกจากนี้ ภายในหน่วยเลือกตั้งยังไม่มีไฟส่องสว่างเพียงพอ ส่งผลให้ผู้มาสังเกตการณ์แทบมองไม่เห็นกระดานนับคะแนน

ส่วนกรณีบัตรเสียที่มีมากถึง 40,017 ใบ พีเน็ตพบว่าเกิดจากผู้มาใช้สิทธิ์ สับสนระหว่างหมายเลขผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และหมายเลขของ ส.ก. เพราะในบัตรเลือกตั้งไม่มีชื่อผู้สมัคร ไม่มีสังกัดพรรคการเมือง มีเพียงแค่หมายเลขเท่านั้น

แม้ว่าผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. จะมาจากพรรคการเมืองเดียวกัน แต่กลับต้องใช้เลขคนละเบอร์ ซ้ำร้ายเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งยังต้องเสียสิทธิการลงคะแนน เพราะไม่มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยที่ตัวเองได้รับมอบหมายงาน

ทำไมบัตรเลือกตั้งถึงไม่มีชื่อผู้สมัคร ไม่มีโลโก้ ไม่มีชื่อพรรคการเมือง มีเพียงเบอร์ให้กาเท่านั้น?

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 กับการประชุมแม่น้ำ 5 สาย พลเอกประยุทธ์เสนอต่อที่ประชุมว่า ให้ใช้บัตรเลือกตั้งที่มีแค่ชื่อของผู้สมัครกับเบอร์เท่านั้น และมอบหมายให้ กกต. ปฏิบัติตามข้อเสนอดังกล่าว

ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. เห็นด้วยกับข้อเสนอของพลเอกประยุทธ์ เขากล่าวว่า การใส่ชื่อและโลโก้พรรคอาจทำให้เกิดปัญหาสำหรับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ เพราะบัตรเลือกตั้งที่พิมพ์ขึ้นมาจะถูกใช้ในการเลือกตั้งทั้งในประเทศและนอกประเทศ รวมถึงความกังวลเรื่องการขนส่งบัตร หากเกิดปัญหาที่ผู้ลงทะเบียนไม่ได้รับบัตรเลือกตั้ง กกต. จะไม่สามารถจัดส่งบัตรเลือกตั้งสำรองให้ผู้มีสิทธินอกราชอาณาจักรได้

ภายหลังจาก กกต. มีแนวโน้มว่าจะทำตามคำมอบหมายของพลเอกประยุทธ์ หลายฝ่ายแสดงความไม่เห็นด้วยกับบัตรเลือกตั้งดังกล่าว

สดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. มีความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้ง กกต. ต้องให้ความสะดวกแก่ประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการเลือกตั้ง เพราะถือเป็นอาชีพและหน้าที่ของ กกต. ต้องดำเนินการอยู่แล้ว ทว่าตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 48 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ระบุให้ผู้สมัครแต่ละพรรคการเมืองมีเบอร์ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละเขตเลือกตั้ง ส่งผลให้แต่ละคนมีเบอร์แตกต่างกันแม้จะอยู่พรรคเดียวกันก็ตาม สิ่งนี้สร้างความลำบากในการจดจำเบอร์และอาจทำให้ประชาชนสับสนได้

ส่วนกรณีตัดชื่อและโลโก้พรรคออก เชื่อว่า จะทำให้ประชาชนสับสนแน่นอน เช่น ประชาชนคนหนึ่งตั้งใจเข้าคูหาไปเลือกพรรคที่ชอบ แต่บัตรที่ได้กลับไม่มีชื่อพรรคหรือโลโก้บนบัตร จึงไม่รู้จะทำอย่างไรนอกจากใช้ความจำ ซึ่งบางครั้งก็จำผิดจำถูกหรือจำไม่ได้

ส่วนประเด็นที่ กกต. กล่าวอ้างว่า จะเป็นเรื่องยากต่อการขนส่งบัตรเลือกตั้ง ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความเห็นว่า เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ง่ายมาก กกต. เพียงแค่ไปเชิญภาคเอกชนที่ทำธุรกิจเรื่องการขนส่งมาดูแล เขาจะมีวิธีบริหารจัดการอย่างดีแน่นอน อย่าเอาเรื่องการจัดการมาเป็นปัญหา และไปกระทบกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะเป็นคนละประเด็นกัน

ธนพรทิ้งท้ายว่า การที่บัตรเลือกตั้งไม่มีโลโก้พรรค ไม่มีชื่อพรรคการเมือง มีเพียงตัวเลขกับช่องกา อาจทำให้คิดในแง่ร้ายว่าจะเกิดการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส ซึ่งเคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยมาแล้ว เพราะบัตรเลือกตั้งที่มีแค่เบอร์กับช่องให้กาสามารถไปปรากฏที่หีบบัตรเลือกตั้งไหนก็ได้ ตรงนี้จะมีผลได้เสียในการนับคะแนน

สีปากกาเจ้าปัญหา

การประชาสัมพันธ์ข้อมูลและการเตรียมการเลือกตั้งย่อมเป็นหน้าที่หลักของ กกต. เพื่อให้ประชาชนออกมาใช้เสียงมากที่สุด ลดความผิดพลาด และลดจำนวนบัตรเสียให้ได้มากที่สุด

แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปัญหาพื้นฐานอย่าง ‘สีปากกา’ ได้กลายเป็นข้อถกเถียงใหญ่ แม้ กกต. จะเปิดหีบเลือกตั้งมากว่าครึ่งวันแล้วก็ยังไม่ได้ข้อสรุป

ก่อนหน้านี้ กกต. เคยออกเอกสารชี้แจงว่า การใช้ปากกาหมึกสีอื่นไม่ได้หมายความว่าเป็น ‘บัตรเสียในทันที’ เพราะไม่มีกฎหมายหรือระเบียบฯ ห้ามไว้ การพิจารณาบัตรเสียจะเป็นไปตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 100 ประกอบกับระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นข้อ 175

แต่ อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ให้สัมภาษณ์ในช่วงเช้าของวันเลือกตั้งว่า หากประชาชนคนไหนอยากนำปากกามาเองสามารถนำมาได้ แต่ที่หน่วยเลือกตั้งได้จัดเตรียมปากกาไว้คอยอำนวยความสะดวกและทำความสะอาดปากกานั้นตลอดเวลา ขอย้ำว่าให้ใช้ปากกาเฉพาะสีน้ำเงินเท่านั้น อย่านำสีอื่นมาเพราะอาจทำให้บัตรเสียได้ และฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กกต. ก็ขอให้ประชาชนระวังเรื่องของการใช้ปากกาที่ควรเป็นสีน้ำเงินและไม่ใช้ปากกาน้ำมันหรือปากกาเคมี

ทางด้าน ขจิต ชัชวาณิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่น กทม. ให้สัมภาษณ์ในประเด็นสีปากกาว่า “ปากกาอะไรก็ได้ สีไหนก็ใช้ได้ ซึ่งทาง กทม. ได้เตรียมปากกาสีน้ำเงินไว้ให้ หรือถ้าพี่น้องท่านใดยังไม่ออกไปก็ไม่ต้องเอาไป ให้ใช้ปากกาที่หน่วย เพราะมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ทาง กทม. เตรียมการมา มีความปลอดภัย ก่อนเข้าคูหาเราก็ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ก่อนอยู่แล้ว”

ความสับสนที่เกิดขึ้นทำให้ปลัดกรุงเทพมหานครต้องทำหนังสือสั่งการไปยังผู้อำนวยการเขตทุกเขตในการนับคะแนน ไม่ว่าบัตรเลือกตั้งนั้นจะกาด้วยหมึกปากกาสีอะไร แต่หากกากบาทถูกต้องไม่เป็นบัตรเสีย ให้นับเป็นคะแนนทั้งสิ้น

หรือ กกต. เป็นสาเหตุของการ ฉีกบัตร ขยำบัตร

ภายหลังการเลือกตั้งเสร็จสมบูรณ์ ทางกรุงเทพมหานคร นำโดย ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่น กทม. พร้อมด้วย สมชัย สุรกาญจน์กุล ประธาน กกต.กทม. และสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการ กกต.กทม. ได้แถลงสรุปภาพรวมของการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาว่ามีการร้องเรียนทั้งหมด 16 เรื่อง แต่ยังไร้การทุจริตในการเลือกตั้ง แม้ว่าทางมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ที่ได้สังเกตการณ์และติดตามการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิดพบว่า ยังมีการซื้อสิทธิขายเสียงเกิดขึ้นในบางชุมชน มีการแจกจ่ายเงิน 2-3 ร้อยบาท โดยเฉพาะยิ่งใกล้เลือกตั้งยิ่งมีการแข่งขัน บางคนได้รับเงินถึง 500 บาท

เหตุการณ์ผิดกฎหมายเลือกตั้งใน กทม. มีอะไรบ้าง?

– ฉีกบัตรเลือกตั้ง 3 ราย (เขตสวนหลวง เขตบางซื่อ เขตสัมพันธวงศ์)

– ขยำบัตรเลือกตั้ง 1 ราย (เขตคลองเตย)

– นำบัตรเลือกตั้งออกจากหน่วยเลือกตั้ง 1 ราย (เขตบางซื่อ)

– ทำบัตรเลือกตั้งชำรุด 1 ราย (เขตหนองแขม)

– ถ่ายภาพขณะเลือกตั้ง 1 ราย (เขตราชเทวี)

สิ่งที่อยากชี้ให้เห็น คือสาเหตุของผู้กระทำผิดกฎหมาย เช่น ผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งเขตสัมพันธวงศ์ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเฉพาะผู้ว่าฯ กทม. แต่ฉีกบัตรเลือกตั้ง ส.ก. เพราะไม่รู้จะเลือกใคร และกลัวบุคคลอื่นนำบัตรเลือกตั้งไปใช้

ผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งเขตสวนหลวงใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ก. แต่ฉีกบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ส่วนเขตบางซื่อมีคนฉีกบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบ และผู้ทำบัตรชำรุดที่เขตหนองแขม โดยให้เหตุผลต่อการกระทำดังกล่าวว่า เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองหย่อนบัตรผิดหีบ จึงรีบดึงบัตรคืนส่งผลให้บัตรเลือกตั้งชำรุด

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) พลตำรวจโท สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมศูนย์รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่ามีผู้กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง 5 กรณี คือ

1. พื้นที่สถานีตำรวจนครบาลพระโขนง มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกาหมายเลขผู้สมัครผิดจึงขอบัตรเลือกตั้งใหม่ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้แล้วฉีกบัตรเลือกตั้งทิ้ง

2. ในพื้นที่ สน.ท่าเรือ มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำเลขผู้สมัครไม่ได้ จึงขออนุญาตออกจากคูหาเพื่อมาดูข้อมูลผู้สมัครอีกครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต จึงทำกริยาไม่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่

3. สน.พลับพลาไชย 2 ฉีกบัตรเลือกตั้ง ส.ก. ทิ้ง เพราะอยู่ต่างประเทศมานาน จึงคิดว่ามีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อย่างเดียว

4. สน.เตาปูน มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจำเลขผู้สมัครไม่ได้ จึงขอออกไปดูข้อมูลผู้สมัครอีกครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต เลยขยำบัตรเลือกตั้งและโยนออกนอกคูหา

5. สน.ประชาชื่น ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทำลายบัตรเลือกตั้งเพราะมีอาการทางสมอง

สิ่งที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าบัตรเลือกตั้งที่ไม่มีชื่อ ไม่มีชื่อพรรค ไม่มีโลโก้ ส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิใช้เสียงตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่การอำนวยความสะดวกต่อประชาชนในการใช้สิทธิเป็นหน้าที่อันพึงกระทำของ กกต.

อีกสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ชัด คือประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการทำงานของ กกต. ภาพลักษณ์การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา ได้ทำลายความเชื่อใจของประชาชนบางส่วน จากกรณีการทำผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นจะพบว่า ประชาชนที่ฉีกบัตรเลือกตั้งทั้ง 3 คน (เขตสวนหลวง เขตบางซื่อ เขตสัมพันธวงศ์) ต่างมีความกังวลว่าจะมีผู้แอบใช้สิทธิของตน จึงฉีกบัตรเลือกตั้งทิ้งเสีย

การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งที่เกิดขึ้น จึงกลายเป็นภาพสะท้อนการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพของ กกต. ได้เป็นอย่างดี หรือแท้จริงแล้ว กกต. นั่นเองที่เป็นผู้ฉีกและขยำบัตรเลือกตั้งผ่านวิธีการทำงานที่ไม่อำนวยความสะดวกต่อการใช้สิทธิของประชาชน

ประกาศผลการนับคะแนนการเลือกตั้งด้วย ‘เลขไทย’

หลังจากนับคะแนนเรียบร้อยแล้ว กกต. ประกาศผลการนับคะแนนการเลือกตั้งทั้งคะแนนของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ที่เผยแพร่ผ่านสำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร ในรูปแบบพีดีเอฟ (PDF)

ปัจจุบันการใช้เลขไทยในเอกสารราชการถือเป็นการ ‘ส่งเสริม’ ไม่ใช่การบังคับ แม้ว่าตัวเลขไทยที่ทาง กกต. เลือกใช้จะไม่ผิดระเบียบข้อไหน แต่อาจสร้างความงุนงงและสับสนต่อผู้อ่านได้ เช่น เลข ๔ ที่คล้ายคลึงกับเลข ๕ หรือ เลข ๐ ที่คล้ายคลึงกับเลข ๑ นอกจากนี้ การใช้เลขไทยยังส่งผลให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถประมวลผลคะแนนได้อีกด้วย

Rocket Media Lab จึงอาสานำคะแนนจำนวนหนึ่งแปลงจากตัวเลขไทยเป็นตัวเลขอารบิก พร้อมกับจัดรูปแบบใหม่ผ่าน Google Sheets

หากใครอยากเช็กคะแนนการเลือกตั้งรายเขตย้อนหลังในรูปแบบตัวเลขอารบิกสามารถดูได้ทาง https://bit.ly/3PUxXjQ

ส่วนใครที่ชื่นชอบตัวเลขไทยจากการทำงานของ กกต. สามารถดูได้ทาง https://bit.ly/3GjtH8W

Tags: , ,