แม้อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะเป็นโครงการที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ‘ภาคภูมิใจ’ เพราะเป็นอาคารสูงแห่งแรกที่สร้างขึ้นนอกประเทศจีนของบริษัท
ทว่านับตั้งแต่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา กลับกลายเป็นเรื่องโศกนาฏกรรม เมื่ออาคารหลังนี้เกิดถล่มทับร่างแรงงานนับร้อยชีวิต เป็นอาคารเดียวจากบรรดาหลายร้อยหลายพันอาคารในกรุงเทพฯ และในประเทศไทยที่เกิด ‘ถล่ม’
คำถามที่ตามมาคือ ข้อผิดพลาดของอาคารแห่งนี้คืออะไร มีการก่อสร้างที่ผิดมาตรฐานหรือแท้จริงแล้วไม่มีมาตรฐานตั้งแต่แรก อาคารแห่งนี้เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วทำถูกต้องทุกอย่าง เพียงแต่ ‘โชคไม่ดี’ ที่อาคารเกิดถล่มลงมาทั้งหลัง
ในขณะที่มรสุมถาโถมเข้าใส่ สตง.ในฐานะเจ้าของโครงการ เรื่องชุลมุนก็ตามมาอีก เมื่อ ‘นักขุด’ กลับพบว่า บริษัทสัญชาติจีน ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ซึ่งร่วมทุนกลับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กลับเต็มไปด้วย ‘พิรุธ’ มากมาย ตั้งแต่การตั้งบริษัทอยู่ในพื้นที่ห้องแถว การไม่ปรากฏ ‘ผู้บริหาร’ ตัวจริง หากแต่เต็มไปด้วย ‘นอมินี’ ที่ไร้ความน่าเชื่อถือ ไปจนถึงมาตรฐานและความเป็นมืออาชีพ ล้วนกลายเป็นคำถามตัวโตๆ ที่ต้องถามไปถึงทั้ง สตง.และมาตรฐานการก่อสร้างอาคารหน่วยงานรัฐไทย
และชวนให้สงสัยด้วยว่า ในบรรดานับสิบอาคารที่ก่อสร้างภายใต้การร่วมทุนของบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 นั้นจะเปราะบางและมีความเสี่ยง ‘ถล่ม’ ด้วยหรือไม่
หลังผ่านเหตุอาคารถล่ม 4 วัน The Momentum ได้รวบรวม ‘คำถาม’ และ ‘พิรุธ’ ที่ยังคงไม่มีคำตอบมาตั้งคำถามดังๆ ต่อหน่วยงานอย่าง สตง.
และหวังว่าในห้วงเวลา 7 วันข้างหน้าที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขีดเส้นตายไว้ คำถามพวกนี้จะได้รับคำตอบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
1. ใช้เหล็กจากบริษัทที่ถูกสั่งปิด เพราะผลิตไม่ได้มาตรฐาน
“แค่เห็นผมก็อึ้งแล้ว แต่ผมพูดไม่ได้จริงๆ” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังจากให้เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่เพื่อเก็บเศษเหล็กจากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่พังถล่มไปตรวจสอบ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568
หลังการตรวจสอบคุณภาพของเหล็กเส้นพบว่า ไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 10 พบปัญหาเหล็กที่มีมวลเบาและมีแรงดึงกลับที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเอกณัฏระบุว่า แหล่งที่มาส่วนใหญ่มาจาก ‘ยี่ห้อเดียว’ ซึ่งขณะนั้นเขาไม่ได้กล่าวต่อว่า มาจากยี่ห้อไหน ทว่าหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงถัดมามีการเปิดเผยจากสื่อมวลชนว่า อาคารที่พังถล่มลงมานี้ใช้เหล็กเส้นยี่ห้อ ‘SKY’ ที่บริษัทผู้ผลิตปิดทำกิจการไปแล้ว
SKY ย่อมาจาก ซิน เคอ หยวน เป็น ‘เหล็กเส้น’ จากบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ที่มีชาวจีนถือหุ้นใหญ่ มีประวัติถูกกระทรวงอุตสาหกรรมอายัดเหล็กกว่า 2,441 ตัน เพราะไม่ได้มาตรฐาน และถูกสั่งให้หยุดกิจการไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2567 แต่จากการตรวจสอบของ ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.พรรคประชาชน ยังพบคนจีนกับคนงานในโรงงานทำกิจกรรมลับๆ ล่อๆ
ที่สำคัญคือก่อนหน้านั้น ซิน เคอ หยวนถือเป็นเหล็กที่ได้รับเครื่องหมายมาตรฐาน สำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้มาตั้งโรงงานที่จังหวัดระยอง
คำถามสำคัญนอกจากเหล็กพวกนี้ผ่านมาตรฐานมาได้อย่างไร คือเหล็กเส้นจากซิน เคอ หยวนก่อสร้างอาคารอะไรไปแล้วบ้าง แล้วอาคารที่ใช้เหล็กเส้นเหล่านี้ก่อสร้าง ‘เปราะบาง’ เฉกเช่นอาคาร สตง.หรือไม่
2. ชาวไทยผู้ถือหุ้นบริษัทก่อสร้าง เป็นคนขายยางรถ-สมุนไพร สงสัยเป็น ‘นอมินี’
บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างอาคาร สตง.ที่พังถล่ม มีบริษัทแม่สัญชาติจีน (ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป คัมปะนี) ถือหุ้น 49% และมีคนไทยถือหุ้นอีก 3 คนคือ โสภณ มีชัย, ประจวบ ศิริเขตร และมานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้นรวมกัน 51% ซึ่งเป็นสัดส่วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับบริษัทข้ามชาติที่ต้องการมาทำธุรกิจในไทย
แต่หากมองลึกไปยังคนไทยที่ถือหุ้นทั้ง 3 คน กลับพบว่า แต่ละคนไม่มีประวัติการทำงานด้านวิศวกรรมก่อสร้าง โสภณเป็นพนักงานขายยางรถยนต์กับล้อแม็กซ์ ด้านประจวบ เพจ CSI LA เปิดเผยว่า เป็นตัวแทนขายอาหารเสริมกับสมุนไพร ส่วนมานัสยังไม่พบประวัติการทำงานด้านวิศวกรรมและโครงการใหญ่
ทั้งนี้จากการสืบค้นพบว่า คนไทยทั้ง 3 คนที่ถือหุ้นบริษัทจีนในการก่อสร้างอาคารสำนักงานของ สตง.ยังมีชื่อเป็นกรรมการของบริษัทและถือหุ้นบริษัท ‘ทุนจีน’ ร่วมกันหลายสิบแห่ง จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งหมดถูกใช้เป็น ‘นอมินี’ เปิดทางให้ทุนจีนเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศหรือไม่
แล้วเพราะเหตุใด บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างอิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ รวมถึงเนาวรัตน์พัฒนาการ จึงตัดสินใจใช้บริษัทที่มีหน้าตากรรมการบริษัทแปลกๆ เหล่านี้ ในการลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าเป็นร้อยล้านพันล้านบาทร่วมกัน
3. บริษัทรับงานพันล้าน แต่สำนักงานใหญ่เป็นห้องแถวโทรมๆ
นอกจากชื่อชั้นของกรรมการบริษัทแล้ว การขุดคุ้ยบริษัทจีนที่รับงานสร้างตึกสูง 30 ชั้น มูลค่า 2,000 กว่าล้านบาท ได้ชี้ไปยังที่ตั้ง ‘สำนักงานใหญ่’ ของบริษัท โดยพบว่า ตั้งอยู่ในซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 ลักษณะอาคารเป็น ‘ห้องเช่าในตึกแถว’ สภาพโทรมเต็มไปด้วยคราบดำ ดูไม่เหมือนที่ทำการของบริษัทที่รับโครงการพันล้าน ทั้งยังมีการเปิดเผยตอนหลังว่า ตึกแถวที่ทั้งเก่าและแคบดังกล่าวยังเป็นทีตั้งของอีก 9 บริษัท คือ
– บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด
– บริษัท ยูไนเต็ด สตาร์ กรุ๊ป จำกัด
– บริษัท วีล มาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด
– บริษัท เอสทีพี อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด
– บริษัท สันติภาพ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
– บริษัท เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
– บริษัท สแตร์ ลาเบล อินเตอร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด
– บริษัท โมเยนเน่ (ประเทศไทย) จำกัด
– บริษัท สยาม ไบโอเมดิคอล ไซเอนซ์ จำกัด
ทั้งนี้เมื่อเจ้าหน้าที่จากภาครัฐต้องการเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 กลับพบว่า สำนักงานปิดประตูเงียบ ไม่มีพนักงานอยู่ และไม่สามารถติดต่อผ่านหมายเลขโทรศัพท์ที่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลได้
ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ที่ตั้งบริษัทยังเคยเกิดเหตุแปลกประหลาด เมื่อ พลเอก ภัสสร อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่เคยมีชื่อเป็นที่ปรึกษาของบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ใช้ออฟฟิศแห่งนี้ยิงตัวตายอย่างปริศนาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567
4. การก่อสร้างของบริษัทในเครือถล่มเสียชีวิต 14 ราย และบาดเจ็บ 3 ราย ในเซอร์เบีย
บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ที่รับเหมาก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง.แห่งใหม่ เป็นบริษัทย่อยในเครือไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป (China Railway Group Limited: CREC) รัฐวิสาหกิจก่อสร้างของรัฐบาลจีน
เมื่อสืบประวัติการทำงานพบว่า CREC มีบริษัทลูกที่เคยรับเหมาปรับปรุงอาคารสถานีรถไฟโนวิแซด (Novi Sad) ในประเทศเซอร์เบียคือ China Railway International Co. Ltd ซึ่งเสร็จสิ้นการปรับปรุงในเดือนช่วงปี 2565 ทว่าในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2024 หลังคาของสถานีดังกล่าวพังลงมาทับร่างของประชาชนทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 ราย และบาดเจ็บ 3 ราย ทั้งยังเป็นชนวนเหตุการณ์ประท้วงรัฐบาลของประชาชนเซอร์เบียจนถึงปัจจุบัน
ที่สำคัญคือ ธนาคารโลกที่เคยสนับสนุนเงินในการทำโครงการต่างๆ มีการประกาศออกมาในปี 2562 ระงับสิทธิกลุ่มรัฐวิสาหกิจจีน ซึ่งมีบริษัทแม่ของบริษัทไชน่า เรลเวย์ เป็นหนึ่งในนั้น เพื่อไม่ให้เข้ารับการประมูลโครงการเป็นเวลาเกือบ 1 ปี เนื่องจากพบว่า เอกสารโครงการก่อสร้างทางหลวงในประเทศจอร์เจียเป็นเท็จ
กลับมาที่บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ผู้รับผิดชอบการก่อสร้างอาคาร สตง.ที่พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว ยังรับผิดชอบโครงการรัฐไว้ในมือหลายโครงการ ทั้งการก่อสร้างอาคารสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ งบประมาณ 716 ล้านบาท และมีบทบาทสำคัญในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะทาง 30.21 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 9,340 ล้านบาท สัญญาที่ 3-1
ถึงจะภูมิใจกับตึกสูง 30 ชั้นที่จะเป็นบ้านหลังใหม่ของ สตง.ทั้งยัง ‘มั่นใจ’ ว่า อาคารดังกล่าวสามารถทนทานต่อภัยพิบัติได้ แต่หลังจากอาคารพังครืน ที่เงียบที่สุดคือบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ที่ยังไม่ชี้แจงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หนำซ้ำยังปรากฏภาพของบุคคลหอบแฟ้มเอกสารวิ่งลุกลี้ลุกลน อ้างเอาไปเคลมประกัน หลายข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรฐานของบริษัทจึงยังไม่ได้รับการคลี่คลาย
ทั้งนี้ไม่ได้มีโครงการสำนักงาน สตง.เพียงโครงการเดียวที่บริษัทดังกล่าวมีส่วนรับผิดชอบ แต่ยังมีอีก 13 โครงการก่อสร้างอาคารของภาครัฐ ได้แก่
– โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานนราธิวาส
– โครงการก่อสร้างทาวน์โฮม 2 ชั้น ภูเก็ต 2 ของการเคหะแห่งชาติ
– โครงการก่อสร้างอาคารเรียน โรงเรียนวัดอมรินทราราม ของสำนักงานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
– โครงการก่อสร้างอาคารคลังพัสดุ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
– โครงการก่อสร้างหอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
– โครงการก่อสร้างศูนย์ราชการ จังหวัดแพร่ ของกระทรวงมหาดไทย
– โครงการก่อสร้างอาคารชุดที่พักอาศัยข้าราชการตุลาการ ของสำนักงานศาลยุติธรรม
– โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์กีฬามวยระดับสากล ของการกีฬาแห่งประเทศไทย
– โครงการปรับปรุงที่ดินการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดภูเก็ต
– โครงการก่อสร้างอาคารกองบังคับการกรมพลาธิการทหารเรือ ของกองทัพเรือ
– โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
– โครงการก่อสร้างอาคารสถาบันวิชาการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
– โครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ โรงพยาบาลสงขลา
โดยในแต่ละโครงการบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 มีการประมูลโครงการในลักษณะกิจการร่วมค้ากับบริษัทอื่นๆ แต่ละโครงการมีมูลค่าร้อยล้านบาทขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันบริษัทนี้ถือโครงการของรัฐในมือมูลค่ารวมกว่า 7,200 ล้านบาท
5. เฟอร์นิเจอร์หลักแสน ‘จำเป็น’ หรือ ‘สิ้นเปลือง’?
ในเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างอาคารสำนักงานใหม่ของ สตง.ยังมีความน่าสนใจที่ราคาเฟอร์นิเจอร์ที่จะซื้อและนำเข้าไปใช้ในสำนักงานหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ เพราะบางส่วนมีความหรูหราราคาหลายบาท เก้าอี้นั่งทำงานบางตัวเฉียดแสน ขณะที่โซฟาในห้องรับรองของ สตง.ราคาเกือบ 2 แสนบาท
ทั้งนี้เมื่อสำรวจในเอกสารให้ถี่ถ้วนยังพบว่า โต๊ะทำงานของข้าราชการระดับสูง สตง. ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าและประธานกรรมการ สตง.มีราคาหลักแสนขึ้นไป
สตง.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่หลักคือ การตรวจสอบการรับ-จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินของหน่วยงานต่างๆ อย่างเข้มข้น ดังนั้นจึงน่าแปลกว่า การทำงานในลักษณะและบทบาทดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใช้เฟอร์นิเจอร์ราคาแพงอย่างไร ในขณะเดียวกันเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างสิ่งเหล่านี้ ก็ล้วนแต่เป็นภาษีของประชาชนทั้งสิ้น
ท่ามกลางการค้นหาแรงงานที่ยังสูญหายใต้ซาก ‘บ้านหลังใหม่’ ของ สตง.มีเพียงแถลงการณ์ 1 หน้ากระดาษที่เป็นขวัญและกำลังใจให้กับองค์กรของตัวเองเท่านั้น แต่คำถามอีกร้อยแปดพันข้อทั้งการทุจริตคอร์รัปชัน มาตรฐานของบริษัทผู้รับเหมา การถอดบทเรียน ยังไม่มีให้เห็นจาก สตง.
และความเงียบเช่นนี้ก็อาจจะเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถรู้ได้ว่า เหตุใดอาคารใหม่ในราคา 2,000 ล้านบาท จึงเป็นเพียงอาคารเดียวที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมกลางกรุง จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้
อ้างอิง:
– https://www.audit.go.th/th/อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ
– https://drive.google.com/drive/folders/15mHP9xmrQpnnc_6iHjKEEPQFHF_faNUE?usp=drive_link
– https://www.thaipbs.or.th/news/content/350791
Tags: Feature, แผ่นดินไหว, สตง.