เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 ปูอัด-ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.เขตจอมทอง กรุงเทพฯ สังกัดพรรคไทยก้าวหน้า ถูกแจ้งความคดีข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น ในกรณีข่มขืนนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ และต่อมาในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไชยามพวานได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดี และเข้าสู่กระบวนการสอบสวนโดยสมัครใจ ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ ในขณะที่จนถึงวันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2568) ไชยามพวานยังคงมีสถานะเป็น สส.ของพรรคไทยก้าวหน้าอยู่ 

คดีข่มขืนครั้งนี้เป็นที่จับตามองของสังคม เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไชยามพวานถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางเพศ เพราะหากย้อนกลับไปในปี 2566 ไชยามพวานเป็นที่พูดถึงในกรณีล่วงละเมิดทางเพศผู้ช่วยหาเสียง จนมีมติขับให้ออกจากพรรคก้าวไกลในที่สุด

The Momentum พูดคุยกับอดีตผู้ช่วยหาเสียงของไชยามพวาน ซึ่งเป็นหนึ่งในเหยื่อกรณีล่วงละเมิดทางเพศถึงรูปแบบการก่อเหตุที่คล้ายกับกรณีของเธอ พร้อมตั้งคำถามต่อบทลงโทษผู้กระทำผิดทางเพศว่าเหมาะสมหรือไม่ จากการก่อเหตุคุกคามทางเพศซ้ำ และนอกจากนี้เธอได้ส่งหนังสือถึงสถานทูตญี่ปุ่นและกงสุลไต้หวัน เพื่อรายงานพฤติกรรมของไชยามพวานอีกด้วย ซึ่งในตอนนี้เธอมีสภาพจิตใจที่มั่นคงมากขึ้นหลังเผชิญเหตุการณ์ดังกล่าว 

เมา ≠ ยินยอม

กรณีล่วงละเมิดทางเพศของไชยามพวานในปี 2566 มีผู้เสียหายทั้งหมด 3 ราย ซึ่งเหยื่อที่พูดคุยในวันนี้ ปัจจุบันเธอเป็นนักศึกษาอายุ 22 ปี เธอเริ่มเล่าว่า รู้จักกับไชยามพวานจากการเข้าไปเป็นผู้ช่วยหาเสียงเขตจอมทองตั้งแต่อายุ 18 ปี แต่ไชยามพวานเลือกที่จะก่อเหตุตอนเธออายุ 20 ปี ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว

เธอบอกว่าสนิทกับไชยามพวานในฐานะหัวหน้างานคนหนึ่ง และเคารพเพราะเป็นเหมือนคนที่ให้โอกาสด้านการทำงาน โดยที่เธอยังเป็นแค่นักศึกษามหาวิทยาลัย

“ช่วงเวลาที่เขาเข้าหาเรา จับหัว แตะไหล่ ปฏิกิริยาของร่างกายเราเหมือนถูกแช่แข็ง เราตกใจแต่ไม่รู้ว่าเจตนาของเขาคืออะไร และเรามองเขาเป็นทั้งพี่ที่ทำงาน เป็นหัวหน้าที่เราเคารพมากๆ เป็นคนที่ให้ประสบการณ์ ให้งานเรา เป็นคนที่ให้โอกาสเรา” เธอกล่าวถึงช่วงที่ทำงานกับไชยามพวาน

เหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นขณะที่เธอเมา ไม่มีสติ ซึ่งไชยามพวานอาศัยจังหวะนี้ในการก่อเหตุโดยที่เธอไม่ยินยอม ซึ่งจุดนี้เหมือนกับกรณีของหญิงสาวชาวไต้หวันในคดีล่าสุด ที่ตกอยู่ในอาการมึนเมา ไม่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนที่จะสามารถตัดสินใจอะไรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ลักษณะการกระทำที่เกิดขึ้นในกรณีของชาวไต้หวันคือเขาไม่ได้เลือกก่อเหตุกับคนใกล้ตัวแล้ว ไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ไม่ได้มีการ Manipulate หรือสร้างโลกให้เหยื่อก่อนว่าโลกทั้งใบมีแค่เขา เพราะเทียบกับในกรณีของเรา ตอนที่เราทำงานกับเขา โลกทั้งใบเรามีแค่เขา เขาดูแลเราดีในแง่ของการเป็นลูกทีม และคอยพูดเรื่อยๆ ว่าจะสนับสนุนเรื่องการศึกษา

“แต่สิ่งที่คล้ายกันของกรณีเรากับชาวไต้หวันคือเหตุเกิดในร้านเหล้า แล้วเขาอาศัยจังหวะช่วงที่ผู้หญิงเมาไม่มีสติอยู่ ซึ่งเขาพยายามทำให้เรื่องของชาวไต้หวันเป็น One Night Stand แต่เขาลืมไปว่าต่อให้เป็นความสัมพันธ์แบบนี้ก็ต้องใช้ความยินยอมจากอีกฝ่ายด้วย”

นอกจากการก่อเหตุซ้ำในเรื่องเพศแล้ว เธอยังกล่าวอีกว่ารูปแบบการแถลงออกสื่อก็คล้ายเดิม มีการเบี่ยงเบนความสนใจไปที่เรื่องอื่นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง

“สิ่งที่ออกมาในหน้าสื่อคือการเบี่ยงประเด็น ตั้งแต่กรณีของเราที่เบี่ยงเบนความสนใจไปที่ประเด็นความสัมพันธ์ ในรอบนี้เขาเบี่ยงประเด็นไปที่ตำรวจที่อ้างว่าเรียกเงิน 4 แสนบาท เราว่านี่คือรูปแบบเดิม มันคือการสร้างความชอบธรรมทางกฎหมายให้ตัวเองไม่ผิด โดยที่ตัวเขาเองก็มีมโนสำนึกอย่างแรงกล้าว่าสิ่งที่เขากระทำนั้นไม่ผิด”

ผิดก็ว่าไปตามผิด แต่ขั้นตอนการเอาผิดกลับยิ่งสู้ยิ่งเหนื่อย

ในวันนี้อดีตผู้ช่วยหาเสียงไม่สามารถเอาผิดไชยามพวานในกรณีของเธอได้ เพราะในช่วงที่โดนกระทำเธอตกอยู่ในสภาวะจิตใจที่ไม่พร้อมต่อการต่อสู้ และนี่เป็นสภาวการณ์ที่เหยื่อคดีทางเพศหลายคนต้องประสบ มากไปกว่านั้นคือเหยื่อที่เข้มแข็งพอและลุกขึ้นมาสู้ดำเนินคดีเพื่อเอาผิดต้องยอมแพ้ไปกลางทางเนื่องจากกระบวนการที่ไม่เป็นมิตร และมักตอกย้ำบาดแผลของเหยื่อคดีทางเพศที่มีสภาพจิตใจอ่อนแอ

“เรื่องที่ควรตั้งคำถามคือ เจ้าหน้าที่ไทยได้รับการอบรมฝึกฝนในการดูแลคดีทางเพศหรือไม่ เบื้องต้นคือเหยื่อเชื่อใจที่จะออกมาคุยกับตำรวจไหม และถ้าเหยื่อยังเป็นผู้เยาว์ แพทย์พร้อมที่จะตรวจร่างกายให้เด็กทันทีหรือไม่ หรือต้องขอความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน ทั้งที่มันเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะหลักฐานที่จะใช้สู้ในชั้นศาลอยู่ที่เนื้อตัวร่างกายของเหยื่อ”

อดีตผู้ช่วยหาเสียงตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลต่อว่า ทั้งการใช้ระยะเวลาพิสูจน์ที่ยาวนาน และเหยื่อต้องเล่าเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลทางใจซ้ำไปซ้ำมาอีกหลายครั้ง ส่งผลให้สภาพจิตใจยิ่งอ่อนแอลง จนหมดแรงต่อสู้ไปในที่สุด ซึ่งตัวเธอเองได้มีข้อเสนอว่าควรมีศูนย์พึ่งได้ One Stop Crisis Center (OSCC) อย่างครบวงจร ที่ครบในกระบวนการเดียว เพื่อปกป้องเหยื่ออย่างแท้จริง

“ในฐานะเหยื่อที่ไม่ได้ดำเนินคดี อยากให้ทุกคนมี Empathy มีความเห็นอกเห็นใจเหยื่อ อย่างน้อยเหยื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการการเยียวยาที่ถูกต้อง และจะใช้ชีวิตต่อไปได้ง่ายขึ้น เขาจะมีลมหายใจต่อ ส่วนในเรื่องของคดี เขาก็จะมีแรงมากพอที่จะไปสู้คดีในขั้นถัดไป”

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางกรณีมักมีผู้คนเห็นอกเห็นใจผู้ก่อเหตุ และเลือกที่จะโทษเหยื่อแทน ความคิดเห็นที่เข้าข้างผู้ก่อเหตุ ทั้งจากประชาชนและบุคคลมีชื่อเสียง โดยในกรณีของเหยื่อในปี 2566 ไชยามพวานได้กล่าวอ้างว่า มีความสัมพันธ์อันดีกับเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อ ทั้งยังปฏิเสธว่า ตนไม่ได้กระทำความผิดฐานคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ เป็นเพียงการพูดคุยกันปกติ รวมถึงยังมีคนกล่าวอ้างว่าเหยื่อทั้ง 3 คน เป็นฝ่ายที่รู้สึกชอบพอกับเขา

อีกทั้งยังมีคนบางส่วนที่อยากแน่ใจว่าตนเลือกอยู่ฝ่ายที่ถูกต้องโดยรอคำตัดสินขั้นสุดท้ายจากศาล แต่ความเห็นเหล่านี้คืออีกหนึ่งตัวการที่บั่นทอนเรี่ยวแรงของเหยื่อ และรุนแรงจนกระทบทั้งในแง่ของจิตใจ และการใช้ชีวิตในสังคม

“สังคมต้องการ Perfect Victim (เหยื่อในอุดมคติ) ถ้าเราไม่ใช่ มันจะกลายเป็นลูกศรพึ่งตรงเข้าหาเรา แล้วมันลดทอนความมั่นใจของเราที่จะสู้ มันสับสน แล้วเกิดคำถามกับตัวเองค่อนข้างเยอะ ทั้งที่เราเคยคิดว่าตัวเราเองเป็นคนที่ค่อนข้างเข้มแข็ง แต่ว่าพอเจอการ Victim Blaming (การกล่าวโทษเหยื่อ) กับตัวเอง เรากลายเป็นคนอ่อนแอไปเลย

“ถ้ามองในมุมของคดี เราพยายามเข้าใจว่าทุกอย่างมันต้องมีขั้นตอน แล้วในกรณีชาวไต้หวัน คำสั่งศาลมันยังไม่ตัดสิน มันยังไม่ถึงที่สุด ทุกอย่างมันยังไม่กระจ่างก็จริง แต่ความจริงคือกระบวนการยุติธรรมในเรื่องเพศของไทยไม่เคยเอื้อผู้ถูกกระทำเลย” เธอกล่าว

แม้ตอนนั้นเธอจะไม่ได้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย แต่หลังจากที่เธอใช้เวลาบำบัดรักษา และเยียวยาตนเองนานถึง 15 เดือน ในวันนี้เธอพร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้อีกครั้ง

“ทุกคดีมีอายุความ อย่างของเรา เราก็ออกไปสู้ไม่ได้แล้ว เพราะว่าเราไม่ได้เรียกร้องตั้งแต่แรก ถ้าผู้เสียหายคนไหนแข็งแรงพอที่จะสู้ เราเชียร์มากเลยนะให้คุณสู้เพื่อสิทธิและความถูกต้องในเนื้อตัวร่างกาย และจิตใต้สำนึกของคุณ แต่ถ้าคุณยังไม่พร้อม มันไม่เป็นอะไรเลย คุณกลับมารักตัวเองก่อน คุณจะใช้เวลา 1 เดือน 1 ปี หรือ 5 ปี สุดท้ายแผลนี้มันจะถูกรักษาแน่นอน ซึ่งตัวเราใช้เวลาถึง 15 เดือน ที่ต้องเป็นบ้า ร้องไห้ อ่อนแอมาก แต่วันนี้เราเทหมดหน้าตัก เพื่อสู้ให้คนนี้ต้องไม่มีที่ยืนในสังคม แล้วเขาจะกลับเข้าสภาฯ ไม่ได้แล้ว”

อดีตผู้ช่วยหาเสียงเล่าต่อว่า ตอนนี้ได้ส่งจดหมายไปยังสถานทูตญี่ปุ่นและกงสุลไต้หวัน โดยระบุว่า เธอเคยเป็นหนึ่งเหยื่อที่เคยโดนไชยามพวานล่วงละเมิดทางเพศ

“เขาอยู่ในสหภาพรัฐสภานานาชาติ (Inter-Parliamentary Union: IPU) เขายังต้องติดต่องานกับสถานทูตบ้างในบางครั้ง ซึ่งการที่คุณเป็นผู้แทนอยู่ในรัฐสภานานาชาติ แต่คุณมีการกระทำแบบนี้ คุณก็ไม่คู่ควรกับตำแหน่งนี้ และเราอยากให้เขาถูกถอน เราเลยตัดสินใจส่งหนังสือไปตามสถานทูต”

นอกจากนี้เธอบอกกับเราถึงปัจจัยที่ทำให้เธอกลับมาต่อสู้อีกครั้ง คือเวลาที่ช่วยเยียวยาเธอ รวมถึงครอบครัว เพื่อน คนรอบตัวที่คอยสนับสนุนเธอ และหวังว่าเหยื่อคดีทางเพศคนอื่นจะกลับมาเข้มแข็งเหมือนได้เช่นกัน

Tags: ,