“พลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผู้หญิง คือการไม่คลอดบุตร” 

(The most powerful force of a woman is not giving birth.)

 

ข้อความดังกล่าวถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Korean Times ฉบับสหรัฐอเมริกา (วันที่ 14 มิถุนายน 2566) สะท้อนถึงมุมมองต่อสถานการณ์ด้านประชากรในประเทศเกาหลีใต้ที่กำลังอยู่ในช่วงวิกฤต หลังมีอัตราเด็กเกิดใหม่ต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และมีแนวโน้มว่าจะถดถอยลงทุกปี

อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติเกาหลีใต้เผยว่า ในปี 2021 อัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 0.81% และลดลงเป็น 0.79% ในปี 2022 ถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุดในโลก แม้รัฐบาลจะทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อนโยบายสนับสนุนให้มีบุตรก็ตาม

รวมถึงในประเทศอื่นๆ แม้จะประสบปัญหานี้ไม่หนักหนาเท่าเกาหลีใต้ แต่ก็กำลังเผชิญเรื่องเดียวกันอยู่ ทำให้ข้อความดังกล่าวกลายเป็นเนื้อหาที่คนหยิบยกมาพูดถึงหลายต่อหลายครั้งทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้หญิง ที่หลายคนมองว่า ‘การไม่มีลูกอาจเป็นการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศในรูปแบบหนึ่ง’

“เพราะการมีลูกต้องใช้เงินเยอะ” คือคำตอบอันดับต้นๆ ที่ผู้คนมักให้เหตุผลในแบบสำรวจ ตามมาด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สถานการณ์ทางการเมือง หรือสังคมที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง 

แต่อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่หลายคนมักจะมองข้าม คือเรื่องค่านิยมและบรรทัดฐานทางเพศ ที่ถือว่ามีความสำคัญและส่งผลต่ออัตราการมีลูกที่ลดลงเช่นกัน โดยเฉพาะในเกาหลีใต้ ประเทศที่มีอัตราการเกิดน้อยที่สุดในโลก มักถูกมองว่าเพราะมีสาเหตุมาจากสภาพสังคมแบบเพศชายเป็นใหญ่ 

อ้างอิงจากผลสำรวจในปี 2022 พบว่าผู้หญิงเกาหลีใต้กว่า 65% ไม่อยากมีลูก และหนึ่งในสาเหตุก็เกี่ยวข้องกับเรื่องบรรทัดฐานทางเพศและแนวคิดแบบปิตาธิปไตยที่เข้มข้นในเกาหลีใต้ ผู้หญิงจำนวนมากไม่อยากมีคู่ หลีกเลี่ยงการแต่งงานและมีลูก อีกทั้งยังต่อต้านการกีดกันทางเพศที่ดำเนินอยู่ 

ในฐานะแม่บ้าน ผู้หญิงเกาหลีใต้มักจะโดนกดดันให้แบกรับภาระงานบ้านแต่เพียงผู้เดียว ภรรยาจากหลายครอบครัวต้องทำงานประจำเพื่อหาเงินพร้อมกับรับหน้าที่ควบคู่ในการทำงานบ้านซ้ำอีก และแม้แต่ผู้หญิงที่มีงานทำก็ยังคงต้องใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงต่อวันในการทำงานบ้าน ขณะที่ผู้ชายใช้เวลาเฉลี่ยราว 54 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานต่อผู้หญิงที่เป็นแม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่พบได้โดยทั่วไปและส่งผลโดยตรงต่อค่านิยมเรื่องการมีบุตรของผู้หญิง

ขณะเดียวกัน ทั่วโลกก็มีกระแสในทิศทางที่ไม่ต่างกัน อย่างกระแส ‘Childfree by Choice’ ในการเลือกที่จะไม่มีลูกเอง หรือแนวคิด ‘Dual Income, No Kids’ ที่ว่าด้วยคู่รักที่ช่วยกันทำงาน หารายได้จากสองทางโดยตัดสินใจร่วมกันว่าจะไม่มีลูกเพื่อให้มีเงินส่วนของตนเอง หากมองผิวเผินอาจดูเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วแนวคิดพวกนี้ก็เป็นผลมาจากค่านิยมเรื่องเพศเช่นเดียวกัน 

จากในอดีตที่บทบาททางเพศถูกวางไว้อย่างตายตัว ผู้ชายรักกับผู้หญิง ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้านแม่เรือน และไม่ได้หารายได้เอง ปัจจุบันเหล่าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงซึ่งแต่เดิมถูกวางบทบาทความรับผิดชอบหลักในการเป็นแม่ไว้ ล้วนแล้วแต่ปฏิเสธค่านิยมเดิมและเลือกที่จะไม่มีลูกไปจนถึงครองโสดมากขึ้นเรื่อยๆ 

เพราะแทนที่จะเป็นแม่บ้านก็เลือกที่จะทำงานรับเงินเดือน แทนที่จะนำเงินไปจ่ายค่านมผงเด็ก คนจำนวนมากก็เลือกที่จะเก็บไว้ซื้อกาแฟให้ตัวเองแทน

แม้ว่ารัฐบาลทั่วโลกจะพยายามแก้ปัญหาด้วยการออกนโยบายทางเศรษฐกิจ แต่อัตราการเกิดโดยค่าเฉลี่ยก็ยังคงต่ำมากอยู่ดี อีกทั้งบางนโยบายยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องทัศนคติเรื่องเพศอันล้าหลัง เช่น มณฑลเจียงซี ประเทศจีน ที่ในปี 2022 รัฐบาลยื่นข้อเสนอให้กลุ่มผู้หญิงที่ขายไม่ออก (Leftover Women) ให้แต่งงานกับกลุ่มผู้ชายว่างงานที่มักจะโดนกดดันเรื่องการมีผู้สืบสกุล กรณีดังกล่าวทำให้เห็นถึงทัศนคติของรัฐบาลที่มีต่อบรรทัดฐานทางเพศเรื่องบทบาทหญิงชายตามขนบเดิม 

สำหรับประเทศไทย ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเสนอนโยบายเพื่อส่งเสริมการมีลูก โดยสนับสนุนให้ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไปสามารถเข้ารับบริการส่งเสริมการมีบุตรโดยวิธีทางการแพทย์ เช่น ฉีดสเปิร์มหรือทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งก็ได้ตกเป็นที่ถกเถียงในมิติทางเพศเช่นกัน 

หลายคนมองว่าก่อนที่จะสนับสนุนให้ผู้หญิงไทยมีลูก ควรไปจัดการเรื่องกฎหมายลาคลอดเพื่อสนับสนุนให้คนทำงานมีลูกน่าจะดีกว่า เพราะทุกวันนี้ผู้หญิงที่ลาคลอดก็ยังต้องประสบความกดดันจากเพื่อนร่วมงานและบริษัท ที่เป็นผลจากแนวคิดเกลียดกลัวความเป็นหญิง (Misogyny) แบบฝังลึก หรือทัศนคติจากคนทำงานประเภทว่า ‘ถ้าให้ลาคลอดแล้วใครจะทำงานแทน’ ที่ยังคงเกิดขึ้นเป็นปกติในสังคม ซึ่งสัมพันธ์กับกฎหมายแรงงานที่เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิต ขณะเดียวกันก็มีคนที่มองว่าไม่เสียหายหากจะมีนโยบายนี้ เพราะผู้ที่มีบุตรยากย่อมได้รับผลประโยชน์ และรัฐบาลก็ไม่ได้บังคับให้ผู้หญิงทุกคนต้องทำแต่อย่างใด

สุดท้ายแล้ว การครองโสด มีครอบครัว หรือมีลูกก็เป็นสิ่งที่แต่ละคนควรมีสิทธิในการเลือกเอง ผู้หญิงทุกคนไม่ได้เกิดมาเป็นแม่ เช่นเดียวกับผู้ชายที่ไม่ควรถูกคาดหวังให้เป็นหัวหน้าครอบครัวเสมอไป และเด็กทุกคนก็ควรได้เติบโตในสังคมที่มีคุณภาพ มีนโยบายรองรับ รวมถึงค่านิยมที่จะเป็นผลดีต่อการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข

Tags: , , , , , ,