หากพูดถึงดีเจ หลายคนคงนึกถึงแอลกอฮอล์ คลับ และเวลากลางคืน แต่เมื่ออาชีพดีเจคือนักสร้างบรรยากาศ จึงไม่ได้จำกัดอยู่ในคลับเท่านั้น เพราะทุกวันนี้ร้านกาแฟหรือร้านอาหาร ที่เปิดให้บริการตอนกลางวันก็เริ่มมีการจ้างดีเจมาเปิดเพลงมากขึ้น และสำหรับใครที่ชอบเปิดคลิปดีเจในยูทูบเพื่อสร้างบรรยากาศระหว่างวัน คงคุ้นหน้าคุ้นตา ‘ดีเจกันกัน’ (DJ GUNGUN) หรือไตรเนตร เกียรติตั้ง อยู่บ้าง เพราะแต่ละคลิปของดีเจกันกันมียอดคนดูมากถึงหลักแสน

นอกจากจะเป็นดีเจที่ทำคลิปลงยูทูบแล้ว ตัวตนของดีเจกันกันยังต่างออกไปจากอาชีพดีเจที่หลายคนคุ้นชิน เพราะเขาชอบเปิดเพลงตอนกลางวันมากกว่าตอนกลางคืน เราจึงได้เห็นตารางงานของดีเจกันกันที่ส่วนใหญ่เป็นการเล่นในร้านกาแฟ หรือร้านอาหารในตอนที่ยังมีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ประกอบกับในทุกวันนี้ ร้านกาแฟต่างๆ เริ่มมีการจ้างดีเจมาเล่นในร้านมากขึ้น 

“เรารู้สึกว่าการเปิดเพลงแล้วได้กินกาแฟ รู้สึกดีกว่าการเปิดเพลงแล้วได้กินเหล้า” เหล่านี้คือสิ่งที่ดีเจกันกันบอกกับเรา

ในวันนี้ The Momentum ได้พูดคุยกับดีเจกันกันถึงเหตุผลในการเริ่มต้นทำคลิปหรือช่องยูทูบ และการทำงานเป็นดีเจในร้านกาแฟหรือร้านอาหารตอนกลางวันว่า มีข้อดีอย่างไร ไปจนถึงความแตกต่างระหว่างการเปิดเพลงตอนกลางวันกับตอนกลางคืน

เปิดช่องยูทูบเพื่อแสดงจุดยืนของตัวเอง

แม้ความจริงดีเจกันกันจะเป็นดีเจมานานถึง 10 ปีแล้ว แต่จุดเริ่มต้นในการเปิดช่องยูทูบแล้วอัปโหลดคลิปขณะเปิดเพลง เป็นเพราะต้องการสร้างพอร์ตฟอลิโอ (Portfolio) ให้คนเห็นว่า ตนเองเล่นเพลงแนวไหน

“แค่อยากบอกว่า เราอยากอยู่ตรงไหนมากกว่า ไม่ได้คิดว่าทำแล้วจะมีคนดูเยอะ เพราะเราก็เล่นดีเจมา 10 ปีแล้ว เรารู้ตัวแล้วว่าเราชอบเล่นแบบไหน เราไม่ใช่คลับดีเจ เลยพยายามหางานที่เป็นบาร์ ร้านอาหาร หรือคาเฟ่ ถ้ามีคนทักมาจ้างงาน เราก็ส่งยูทูบให้เขาดูได้เลยว่า เราเล่นประมาณนี้นะ แต่ว่าสิ่งที่ได้ทุกวันนี้คือกำไร” ไตรเนตรเล่า

เขาเล่าต่อว่า ช่องยูทูบของเขาไม่ได้เปิดรับรายได้ แต่หากคนที่ชอบต้องการสนับสนุนก็สามารถคลิกลิงก์ใต้คลิปเพื่อเลี้ยงกาแฟเขาได้

“การเปิดรับรายได้ในยูทูบจะทำให้เราอัปโหลดเพลงยากขึ้น แต่เรื่องหลักเลยคือ เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลย เราแค่ใช้สกิลบางอย่างของเรา แต่คนที่ควรได้รายได้คือศิลปินเจ้าของเพลง ซึ่งเพลงที่เราใช้เล่นลงยูทูบก็เป็นเพลงที่เราซื้อมาจริงๆ สุดท้ายเรามองว่ามันเป็นวัฏจักร เราได้งาน ศิลปินได้เงิน ไม่อย่างนั้นคนทำเพลงเขาจะไม่ได้อะไรเลย” ดีเจกล่าว

นอกจากนี้ดีเจกันกันยังบอกข้อดีของการที่ดีเจหลายคนหันมาเปิดช่องยูทูบว่า ทำให้เพลงเก่าๆ ที่ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟังมานานแล้วได้วนกลับมาอีกครั้ง ทั้งเพลงไทยและเพลงสากล เพราะในต่างประเทศก็มีดีเจที่เปิดช่องยูทูบเช่นกัน

“คลิปดีเจในยูทูบ ถ้าเราสังเกตดู แบ็กกราวนด์หรือสภาพแวดล้อมด้านหลังจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ซึ่งเราว่ามันสนุกดี เหมือนเป็นพื้นที่ให้คนมานำเสนอไอเดียที่เท่ดี อย่างของผมด้านหลังจะเป็นระเบียง บางคนก็จะเป็นป่า เป็นสวนสาธารณะ หรือบางคนด้านหลังก็จะเป็นคนมายืนเยอะๆ บางทีเพลงอาจจะซ้ำกัน แต่การนำเสนอมันแตกต่าง” เขาเล่าถึงแบ็กกราวนด์คลิปที่หลากหลายบนยูทูบ

สำหรับตัวดีเจกันกันที่ทำช่องยูทูบมาประมาณ 3 เดือน เขาบอกว่าได้รับกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดี รวมถึงเริ่มมีคนมาขอถ่ายรูป ซึ่งเขามองว่าเป็นกำไรของชีวิตและอาชีพดีเจ 

“ในคลิปของผมมันก็มีตอนกลางวัน ถ้าพูดตามตรงคือ เราอยากได้งานกลางวัน แล้วเราก็อยากได้งานร้านกาแฟ แต่สิ่งที่เราไม่เคยคิดว่า ชีวิตนี้จะได้เจอคือมีคนมาขอถ่ายรูป มีชาวต่างชาติส่งข้อความมาบอกว่า เขาจะมาประเทศไทย อยากให้เราโชว์ตารางงานของเราหน่อย เพื่อที่เขาจะได้ตามมาฟัง จึงเป็นเหตุผลที่เราเริ่มโชว์ตารางงานบนโซเชียลฯ มีคนรู้จักมากขึ้น แต่ว่าตัวเราก็ไม่ได้เปลี่ยนไปอะไรขนาดนั้น เราก็ยังทำงานแบบเดิม เพราะมันก็ไม่ได้มีเยอะขนาดนั้นในความเป็นจริง” ไตรเนตรเล่าอย่างภูมิใจ

ดีเจที่ไม่อยากกินเหล้า เมา หรือนอนเช้า 

เหตุผลหลักของการเปิดช่องยูทูบคือ ต้องการได้งานในเวลากลางวัน แม้งานส่วนใหญ่ของดีเจกันกันจะเป็นในร้านกาแฟ แต่เขาเล่าว่า งานดีเจในร้านกาแฟหรือคาเฟ่ที่จริงแล้วมีน้อยมาก เพราะร้านกาแฟที่สามารถจ้างดีเจได้ก็ต้องเป็นร้านที่ขายกาแฟราคาค่อนข้างสูง

“ดีเจในร้านกาแฟที่เป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ น่าจะเพิ่งมีมาประมาณ 3 ปีมั้งครับ เมื่อก่อนอาจจะมีบ้าง เช่น ร้านที่เจ้าของร้านสะสมไวนิล หรือมีเพื่อนเป็นดีเจอยู่แล้ว ปัจจุบันนี้ก็ยังมีไม่เยอะ เลยรู้สึกว่าทุกงานที่เราได้ตอนกลางวัน เราดีใจมาก ทุกร้านที่เราเล่นให้เรามีความสุขมาก ซึ่งในความเห็นของเรามองว่า ร้านที่จ้างเราได้คือ ร้านที่ไม่ได้ขายราคาถูก เขาจ้างดีเจเพื่อสร้างบรรยากาศ นำเสนอเพลงที่ทำให้อาหารหรือเครื่องดื่มของเขามีมูลค่า” ไตรเนตรกล่าว

เมื่อถามว่า คนที่มาร้านกาแฟต้องการฟังเพลงแบบไหน เขาเล่าว่าคนที่ฟังเพลงในคาเฟ่หรือร้านกาแฟไม่ได้มีจำนวนเยอะมาก เพราะฉะนั้นจะเปิดเป็นแอมเบียนต์ (Ambient) มากกว่า

“ถ้าเรานำเสนอเพลงที่ดี เพลงที่ถูกต้อง ถูกเวลา คนฟังจะไว้ใจเรา แล้วนั่งนานขึ้น สร้างโอกาสให้เขาออร์เดอร์เครื่องดื่มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาชีพดีเจเป็นอาชีพที่ต้องสังเกตคน เช่น ถ้าเราเล่นร้านอาหาร เราจะเห็นแล้วว่า โต๊ะนี้เป็นโต๊ะครอบครัว อีกโต๊ะเป็นกลุ่มเพื่อนที่มาปาร์ตี้ หรือมาเดตกัน เราจะต้องสังเกตว่า เขาดื่มอะไร ไวน์ เหล้า กาแฟ หรือน้ำเปล่า เราต้องหาตรงกลางให้เจอ ไม่ใช่การเอาใจโต๊ะใดโต๊ะหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง” ดีเจอธิบายถึงการทำงาน

ทั้งนี้เขายังบอกว่า งานเล่นที่ดึกที่สุดของเขาคือประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง

“เรื่องหลักๆ คือเรื่องของการสังเกตคนมากกว่า เรารู้สึกว่างานกลางวัน ที่เราไม่ได้ทำงานดึก เรามีเวลาให้เลือกเพลง มีเวลาให้ได้สังเกตคน มีเวลาให้ได้ละเมียดละไมกับการต่อเพลงมากกว่าตอนกลางคืน แล้วเราไม่ค่อยชอบทำงานกับคนเมา เรารู้สึกว่าเราอยากเป็นผู้นำเสนอมากกว่าผู้ทำตาม เพราะถ้าเป็นคลับดีเจ พอเริ่มดึกจะเริ่มมีการขอเพลง ซึ่ง 2 ชั่วโมงที่เราเล่น เราอยากเป็นผู้นำเสนอ ไม่ได้อยากเป็นตู้เพลง แต่ว่าในอีกมุมหนึ่ง คลับดีเจเขาก็ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องนี้” ไตรเนตรกล่าว

ตลอดเวลา 10 ปีของการเป็นดีเจ ไตรเนตรเล่าว่า เขาไปมาแล้วหลายที่และมีประสบการณ์ในการเล่นตอนกลางคืน แต่วันหนึ่งเขาเอาเองรู้สึกว่า คลับไม่ใช่ที่ของเขา จึงทำให้หันมาเล่นตอนกลางวันแทน

“เราไม่มั่นใจว่าคนที่เขาเล่นคลับดีเจรู้สึกอย่างไร แต่สำหรับเรา เวลาเราไปอยู่ตรงนั้นแล้วเรารู้สึกประหม่า เวลาจะได้เล่นร้านที่ดึกขึ้นมันรู้สึกประหม่า รู้สึกว่ามันไม่ใช่ที่ของเรา และใช้พลังงานเยอะด้วย มันต้องนอนดึก มันต้องกินข้าวดึก คือเราผ่านมาหมดแล้ว เรารู้สึกว่าเราพอแล้ว”

ไตรเนตรเล่าถึงไลฟ์สไตล์ของตัวเองต่อไปว่า

“ตอน 10 ปีที่แล้ว เรายังเด็กเลยสู้ทุกอย่าง ลุยหมด นอนดึกได้ กินเหล้าได้ นอนเช้าได้ แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่เพราะว่าเรายังอยากตื่นมารดน้ำต้นไม้ ตื่นมาชงกาแฟ นั่งดูยูทูบไปเรื่อยๆ มากกว่า แต่ก็แล้วแต่คนนะ เพราะคลับดีเจที่เขาไม่กินเหล้าแล้วตื่นเช้าก็มีเหมือนกัน” ไตรเนตรกล่าวทิ้งท้าย

Tags: , , , , ,