‘มือใครยาวสาวได้สาวเอา’
สำนวนข้างต้นคงจะพอบรรยายบริบทตรงหน้าได้ชัดเจน กับภาพชาวบ้านหลายสิบชีวิตรุมยื้อแย่งปลาทะเล ตั้งแต่ขนาดตัวใหญ่เท่าแขนไปจนถึงเล็กเท่าฝ่ามือ ที่ถูกเทขายบนแผงเล็กๆ ต่อกันราว 3 ถึง 4 แผง เพียงชั่วอึดใจปลาเหล่านั้นถูกขายหมดเกลี้ยง สมชื่อสถานที่ซื้อขายนี้ที่เรียกว่า ‘ตลาดชิงปลา’ หรือ ‘หลาดชิงปลา’ ตามสำเนียงชาวใต้
หลายคนอาจคุ้นเคยตลาดแบบนี้ที่ตลาดปลาซึกิจิ (Tsukiji) กลางกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่บรรดาร้านซูชิต่างก็มาแย่งชิง-ประมูลปลา เพื่อสรรหาความสดใหม่ แต่เอาจริงแล้วในจังหวัดภูเก็ตก็มีเช่นกัน
ย้อนกลับไปก่อนหน้าหนึ่งวัน ในขณะที่ทีมงาน The Momentum ขลุกตัวอยู่ในห้องพักย่านเทศบาลตำบลรัษฎา เมืองภูเก็ต เราสุมหัวคุยกันว่า ไหนๆ มาถึงดินแดนไข่มุกอันดามัน ก็ควรเก็บภาพสถานที่น่าตื่นตาตื่นใจกลับไปฝากผู้อ่าน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชื่อของตลาดชิงปลารวมอยู่ด้วยว่า แล้วก็รีบแยกย้ายเข้านอน พร้อมนัดหมายออกเดินทางไปยังหมุดหมายดังกล่าวที่เวลาตี 5
ตะวันยังไม่ทันโผล่พ้นขอบฟ้าก็มาถึงตลาดชิงปลา ที่ตั้งอยู่ ณ หาดในยาง อำเภอถลาง อยู่ไม่ไกลกับอุทยานแห่งชาติสิรินาถ บรรยากาศเช้ามืดช่างเย็นสบาย สอดส่องสายตาเห็นประชาชนบางส่วนออกมาวิ่งออกกำลังกาย บ้างก็ออกมาแวะกินข้าวเช้า โดยมีพ่อค้าแม่ค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านแถวนี้ รวมกลุ่มกันตั้งร้านเล็กๆ มีทั้งร้านขายไก่ทอดกับข้าวเหนียวร้อนๆ, ร้านขายขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมครกจิ้มน้ำตาลทราย ไปจนถึงรถเข็นขายกาแฟโบราณ หรือที่คนที่นี่นิยมเรียกว่า โกปี๊
เวลาผ่านไปรวดเร็ว กระทั่งเพลงชาติดังขึ้นก็แล้ว ทว่ายังไร้วี่แววภาพตลาดชิงปลาอย่างที่เราเห็นค้นข้อมูลมา ก่อนจะสอบถามคนละแวกนั้นจนได้เรื่องว่า ส่วนใหญ่ชาวประมงที่นี่จะออกทะเลกันตอนตี 4 และกลับเข้าฝั่งเพื่อนำปลามาขายเวลาประมาณ 8 โมงเช้า
ครั้นเวลาเกือบ 09.00 น. เรือหาปลาลำน้อยเริ่มทยอยเทียบฝั่ง ก่อนเผยให้เห็นชาวประมงชายหุ่นกำยำรายหนึ่งหามตะกร้าใบโตเดินตรงดิ่งมา เหลือบสายตากลับมาชาวบ้านมุงที่แผงขายปลาอย่างใจจดใจจ่อ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเวลาที่เฝ้าคอยใกล้มาถึง
ชายชาวประมงเทตะกร้าใบโตของเขาลงบนแผง ปลาตัวเล็กตัวน้อยดิ้นบนแผง ตามมาด้วยเสียงหัวเราะของชาวบ้าน ต่างคนต่างใช้วิชาความเร็วคว้าปลาที่หมายตาไว้ มีทั้งปลาข้างเหลือง, ปลาหลังเขียว, ปลาหางแข็ง, ปลาเสียด แม้แต่ปลาจะละเม็ด ขนาดประเมินด้วยสายตาน่าจะไม่ต่ำกว่า 1-2 กิโลกรัมก็มีเช่นกัน ส่วนราคาเริ่มต้นกิโลกรัมละ 40 บาท จะแพงหรือถูกขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของปลา
นอกจากนี้ กติกาสำคัญของตลาดชิงปลาคือ ‘คว้าก่อนได้ก่อน’ ใครพลาดต้องไม่โกรธกัน ดังนั้น ความสุขของตลาดชิงปลาจึงไม่ใช่แค่ได้วัตถุดิบสดใหม่แห่งท้องทะเลกลับไป แต่ยังมี ‘ความสนุก’ กับ ‘รอยยิ้ม’ จากคู่แข่งข้างๆ ได้ชุบชูจิตใจให้พองโต โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ถึงอายุเยอะแต่ความไวไม่มีแผ่ว ไม่มีเหนื่อยหอบให้เห็น
“มาทุกวันเลยแหละ วันนี้ก็ได้ปลากลับไปหลายตัว (ยิ้ม) สดๆ ปลอดสารพิษทั้งนั้น คนกินอย่างเราก็สบายใจ ที่ได้วันนี้ก็ว่าจะเอากลับไปแบ่งทำกับข้าว เหลือก็เอาไปตากแห้งกินวันต่อไป” บังรักหรือลุงรัก ชาวบ้านอำเภอถลาง ที่มาร่วมวงในสังเวียนวันนี้กล่าวกับเราสั้นๆ ก่อนจะเดินจากไป พร้อมโชว์ปลาที่แย่งชิงได้มาเต็ม 2 ถุงใหญ่
เรือหาปลาลำแล้วลำเล่าเข้าเทียบฝั่ง พร้อมกับชาวประมงที่นำมามวลมหาปลาเทลงแผง เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนถึง 10.00 น. เป็นอันสิ้นสุดศึกตลาดชิงปลา เหลือไว้เพียงภาพที่เราบันทึก และภาพในความทรงจำชุดใหม่กับความสนุกตื่นเต้นเร้าใจ ตามวิถีชาวบ้านแห่งท้องทะเลอันดามัน
ตลาดชิงปลาเปิดทุกวันไม่มีหยุด แต่แนะนำว่าควรมาก่อนเวลา 08.00 น. โดยพ่อค้า-แม่ค้าบอกกับเราว่า วันเสาร์และอาทิตย์บรรยากาศจะคึกคักเป็นพิเศษ หลังซื้อปลาเสร็จก็อย่าลืมแวะสัมผัสกลิ่นอายแห่งท้องทะเลภูเก็ต พลางถ่ายรูปกับเครื่องบินผ่านหัวตรงหาดไม้ขาวที่ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตรด้วย
Tags: หาดในยาง, ภูเก็ต, Cityscape, Phuket Cityscape, Faces of the Pearl, ตลาดชิงปลา, หาดชิงปลา