1

คำถามในใจของลูกหลานชาวจีนคนหนึ่ง

 

“เอ็งเป็นลูกหลานจีนจริงๆ หรือเปล่าวะ”

“เออ กูก็เริ่มไม่แน่ใจแล้วเหมือนกัน”

ข้างต้นคือส่วนหนึ่งจากบทสนทนาระหว่างผู้เขียนกับเพื่อนชาวกองบรรณาธิการ The Momentum ที่เอ่ยขึ้นหลังหยิบยกประเด็นเรื่องเทศกาล ‘ตรุษจีน’ มาถกกันในช่วงปีใหม่จีนที่กำลังมาถึง

ท่ามกลางบทสนทนาที่โต้ตอบไปมาอย่างออกรส ผู้เขียนเริ่มตระหนักว่านอกจากหน้าตาและผิวพรรณแล้ว ในตัวผู้เขียนแทบไม่เหลือความเป็น ‘จีน’ สักเสี้ยวเดียว มิหนำซ้ำ ‘ความเชื่อ’ และ ‘รสนิยม’ ส่วนตัวยังย้อนแย้งจนบรรพบุรุษผู้โล้สำเภาตามหาความมั่งคั่งทั่วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำอาจกุมขมับ พลางส่ายหัวให้กับลูกหลานคนนี้

โดยเฉพาะในช่วงตรุษจีนที่ผู้เขียนแทบไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า ประเพณีในเทศกาลนี้ต้องทำอะไรบ้าง พยายามขุดลึกจากความทรงจำเท่าที่พอนึกออก คือเช้าตรู่ถูกปลุกด้วยเสียงประทัดดังลั่นซอย สายหน่อยอิ่มหนำจนพุงกางกับหมูเห็ดเป็ดไก่ที่เหลือจากการไหว้เจ้า ก่อนบ่ายจรดเย็นจะปั้นหน้ายิ้มแป้นคอยรับอาเจ็กอาอี๊ที่แวะเวียนมาแจก ‘อั่งเปา’ หรือ ‘ซองแดง’ สอดไส้แบงก์เขียว แบงก์แดง หรือแบงก์เทา ตามความเอ็นดู

ส่วนพิธีไหว้แทบไม่ต้องพูด ต้องใช้อะไรไหว้ จัดวางอย่างไร เริ่มต้นเวลาไหน นึกแล้วได้แต่เหม่อลอย

เมื่อกลับมาที่ปัจจุบัน พลันนึกออกว่าสิ่งตามหาไม่ใช่แค่เรื่องของบทสนทนากับเพื่อน แต่เป็นการตั้งคำถามย้อนถึงตัวเอง ที่สังคมจัดหมวดหมู่ว่าอยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ว่า ‘รากเหง้า’ ของเราในฐานะลูกหลานจีนมาจากไหน ทำไมบรรพบุรุษรุ่นแล้วรุ่นเล่าต่างหวงแหนความเป็นจีนมากกว่าที่เราเป็น 

 

2

คำตอบที่ซ่อนอยู่ดุจเส้นผมบังภูเขา

 

ผู้เขียนสาละวนนึกหาวิธีที่จะจัดการกับคำถามมากมาย แน่นอนว่าทางออกทางเดียวคือหา ‘ผู้รู้’ ที่สามารถช่วยไขความกระจ่างได้ แต่ติดตรงที่ว่าบุคคลดังกล่าวจะเป็นใคร

โชคดีที่มีกัลยาณมิตรอยู่รอบตัว เมื่อเพื่อนในกองบรรณาธิการรายหนึ่งเอ่ยชื่อ ‘เจ็กสมชัย’ ขึ้นมา 

เจ็กสมชัย-สมชัย กวางทองพานิชย์ ที่บรรดาผู้สนใจในเรื่องราวประวัติศาสตร์จีนต่างรู้จักกันดี สารภาพว่าชื่อของพ่อค้าเชือก วัย 62 ปีรายนี้ แทบไม่อยู่ในหัวของผู้เขียนแม้แต่น้อย กลับกันอยากรู้สึกเขกกะโหลกตัวเองที่ดันนึกถึงบรรดาชื่อซินแสสายมูเตลูเสียอย่างนั้น

หลังผ่านหนึ่งสัปดาห์ที่ติดต่อไป ถึงวันที่ผู้เขียนนัดหมายเจ็กสมชัยไว้ ที่น่าฉงนคือร้านค้าเชือกซึ่งเป็นบ้านของเจ็กสมชัยอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านของอาม่าผู้เขียนมากนัก นั่นคือละแวกซอยวานิช 1 ย่านตลาดสำเพ็ง อีกทั้งใกล้กับละแวกที่ทำงานเก่าของป๊า ซึ่งเป็นร้านขายพืชผลเกษตรกรรมจำพวกถั่วเขียว ถั่วดำ รวมไปถึงนานาเครื่องเทศ แถวถนนราชวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ 

สถานที่ที่เอ่ยมาล้วนอยู่ในห้วงความทรงจำวัยเยาว์ ยามติดสอยห้อยตามป๊ามาเที่ยวเล่นที่ทำงานช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ นึกแล้วคำตอบที่กำลังจะได้รับช่างเปรียบดังสำนวนไทยที่ว่า ‘เส้นผมบังภูเขา’ บ้านเจ็กสมชัยอยู่ใกล้ชนิดที่ผู้เขียนเดินแวะผ่านไปมาแต่ไม่ทันสังเกต เผลอๆ อาจเคยบังเอิญเดินสวนกับแหล่งข่าวรายนี้มาก่อนก็ได้

 

3

ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘สังคมเกษตร’ กับ ‘การไหว้’ 

 

“ทำไมปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานชาวจีน ถึงไม่ค่อยสนใจประเพณีการไหว้ในเทศกาลตรุษจีนแล้วครับ” ผู้เขียนถามด้วยความสงสัย เท่าที่พอทราบข้อมูลจากการทำการบ้าน คู่สนทนาตรงหน้าคือชายที่เกิดและเติบโต ณ ย่านเยาวราช ในครอบครัวชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนจะตั้งรกรากอยู่สำเพ็ง ใช้ชีวิตในฐานะพ่อค้าเชือกจนถึงวัยแซยิด โดยมีอีกฐานะเป็นอาจารย์พิเศษและนักประวัติศาสตร์ชุมชนเยาวราช แต่ถึงเลือดจีนในกายจะข้น ทว่าอุปนิสัยส่วนตัวกลับเบื่อหน่ายวัฒนธรรมความเป็นจีน โดยเฉพาะประเพณีการไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ ถึงขั้นครั้งหนึ่งเคยทะเลาะแทบบ้านแตกกับผู้เป็นแม่

ถึงกระนั้น ไม่กี่อึดใจคำตอบที่คาดคะเนไว้กลับพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะดูเหมือนว่า พ่อค้าเชือกรายนี้จะเข้าใจวัฒนธรรมการไหว้ของชาวจีนดีกว่าใคร และอธิบายทีละฉากได้ชัดเจน

“ต้องบอกก่อนว่า ตัวเทศกาลจีนดั้งเดิมซึ่งหนึ่งในนั้นคือเทศกาลตรุษจีน อยู่ในโครงสร้างของสังคมเกษตรกรรม พอทุกวันนี้เราอยู่ในสังคมเมือง ทุกอย่างมันไม่สอดคล้องกับชีวิตจริง ไม่ใช่แค่คุณนะ แม้แต่รุ่นเจ็กเองก็ไม่ตรง เพราะเราไม่ได้ทำอาชีพเกษตรกร ฉะนั้น ถ้าคุณจะเข้าใจเทศกาลจีนชัดเจน คุณต้องกลับไปดูและใช้วิถีชีวิตเกษตรเป็นตัวตั้ง ถ้าคุณเข้าใจ คุณจะเห็นภาพทั้งหมดเรียงกันมา

“เทศกาลตรุษจีนจะเริ่มช่วงนี้นับไปราวสิบห้าวัน หลังจากนั้นจะสิ้นสุดหลังเทศกาลโคมไฟ หรือเทศกาลหง่วนเซียว ที่แปลว่า ‘คืนเพ็ญแรก’ หมายความว่า รุ่งขึ้นวันถัดไปถือเป็นการเปิดฤดูกาลการเกษตร คุณก็ดำนา ปลูกข้าวกันไป

“จากตรุษจีนก็จะเป็นเทศกาลเชงเม้ง เพราะเป็นช่วงที่เพิ่งเพาะปลูกยังไม่ต้องดูแลอะไรมากก็ถือโอกาสไปไหว้บรรพบุรุษสักหน่อย แต่ของจีนไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนคนไทย อาจจะแค่ไปทำความสะอาดศาลบรรพชน 

“ต่อไปก็เป็นเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง เฮฮาปาร์ตี้ได้อีกนิดหน่อย เรื่อยมาถึงเดือนเจ็ดซึ่งเป็นเทศกาลสารทจีน ในหลักของการเกษตร สารทจีนจะอยู่ในช่วงที่ข้าวชุดแรกจะเริ่มออกผล เช่น พวกข้าวเบาหรือข้าวฟ่าง พอเข้าเดือนแปดก็จะเป็นเทศกาลไหว้พระจันทร์ ถ้าที่เมืองจีนนี่ถือเป็นช่วงที่เกษตรกรจะเริ่มเก็บเกี่ยวพืชผลกันจริงๆ แล้ว ส่วนเดือนเก้าที่เป็นเทศกาลกินเจ ในประเทศจีนจะไม่มี แต่มามีในประเทศไทย 

“พอมาถึงเทศกาลไหว้ขนมบัวลอยหรือเทศกาลตังโจ่ย จะถูกนับเป็นช่วงเริ่มเทศกาลปีใหม่ตามปฏิทินแบบจันทรคติโบราณ ดังนั้น ถ้าไม่นับรวมเทศกาลกินเจ เทศกาลของชาวจีนแต้จิ๋วจะมีอยู่ทั้งหมดแปดเทศกาล

“ถ้าสังเกตจะเห็นว่า วันไหว้บัวลอยกับเชงเม้งจะอยู่วันเดิมเสมอ ส่วนเทศกาลอื่นๆ จะผันแปรไปตามจันทรคติ สาเหตุก็เพราะว่าทั้งสองวันนี้ใช้ปฏิทินแบบสุริยคติในการคำนวณ ฉะนั้น คุณจะเห็นว่าหลักโครงสร้าง ‘ชีวิต’ หนึ่งปีของชาวจีนขึ้นอยู่กับหลักการเกษตรและฤดูกาล แต่อย่างที่บอกว่า ปัจจุบันพอมาอยู่ในสังคมเมืองความสำคัญของประเพณีถูกลดทอนลง

“และในเมื่อเราใช้ฤดูกาลของจีนเป็นตัวตั้งของเทศกาลเหล่านี้ พอมาอยู่ในบ้านเราก็ยิ่งไม่สอดคล้อง ไม่ใช่แค่วิถีชีวิต แต่รวมถึงสภาพภูมิอากาศ เช่น เชงเม้งที่จีนอากาศแจ่มใสปลอดโปร่ง แต่ที่ไทยอากาศร้อนตายห่า หรือเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยว บ้านเราเก็บเกี่ยวหรือยัง ยัง เพราะเราเริ่มเกี่ยวข้าวเดือนสิบเอ็ดหรือเดือนหนึ่ง” เจ็กสมชัยอธิบายยาวถึง 2 ปัจจัยแรก ที่ทำให้เทศกาลตรุษจีนรวมถึงเทศกาลอื่นๆ ที่ดำเนินมาตั้งแต่โบราณเสื่อมลง

 

4

‘ไหว้’ เพราะถือ ‘กตัญญู’ เป็นที่ตั้ง

 

“เจ็กขอบคุณลูกหลานจีนทุกคนที่ยอมทำตามเทศกาลเหล่านี้มาโดยที่ไม่เคยตั้งคำถาม ยอมทำเพราะว่าแม่สั่ง ทำเพราะความรักพ่อ รักแม่ รักอาม่า รักอากง ทำไปโดยไม่มีเหตุผล มึงอย่ามาถามกู กูทำไปเพราะท่านสั่งมา ถึงตอนต้นเจ็กจะเล่าอธิบายด้วยหลักเหตุผลตามตำรา แต่เจ็กก็ทำเท่าที่แม่ขอมา ถึงจะรู้ตามหลักว่าต้องไหว้ยังไง กูก็จะทำแค่นี้ เอาแค่ไม่เกินไม่ขาดก็พอ”

บทสนทนาระหว่างผู้เขียนกับเจ็กสมชัยยังดำเนินต่อไป เพิ่มเติมคือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่ไม่ใช่นักเขียนกับแหล่งข่าว แต่คล้ายหลานกับผู้หลักผู้ใหญ่บ้านใกล้เรือนเคียงเสียมากกว่า ดังเช่นที่เกริ่นในบทนี้ว่า ไม่ใช่แค่ผู้เขียนที่ก้มหน้าก้มตาไหว้ตรุษจีน แต่รวมถึงเจ็กสมชัยที่ไหว้เพราะมีความผูกพันกับสิ่งที่ผู้เป็นแม่ฝากฝังไว้ ฟังแล้วคำขอนี้คล้ายชนักปักหลังดิ้นไม่หลุด แต่เจ็กสมชัยระบุว่า หากมองให้ลึกกว่านั้น นี่เป็นสมบัติทางประเพณีที่ชาวจีนโพ้นทะเลส่งต่อกันมา เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนที่อพยพมาตั้งรกรากในไทย ลึกย่อยลงมาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ โดยมีธรรมชาติเป็นที่ตั้ง

“จีนมีความกตัญญูเป็นรากแรกของความคิดทั้งหมด อะไรซึ่งมีคุณต่อเราเราต้องระลึกถึง ธรรมชาติก็มีคุณต่อเรา ทีนี้เราจะเคารพหรือขอบคุณธรรมชาติอย่างไรล่ะ เขาก็จำลองธรรมชาติเป็นสัญลักษณ์ เป็นเทพอะไรสักอย่าง อย่างที่คุณเห็นนั่นแหละว่าคนจีนไหว้ทุกอย่าง (หัวเราะ) ไหว้ท้องฟ้า ไหว้พระอาทิตย์ ไหว้พระจันทร์ มีไหว้ความว่างเปล่าที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นการเกิดจักรวาล ดิน น้ำ ลม ไฟ ประตูก็มี ส้วมก็มี เตาก็มี 

“เช่นคุณต้องใช้เตาซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ต้องอาศัยการดูแล การจำลองให้เตาเป็นเทพจะช่วยให้เราหมั่นใส่ใจยิ่งขึ้น เทพเจ้าเตาต้องทำความสะอาดก่อนช่วงตรุษจีน เพราะเดี๋ยวตรุษจีนต้องใช้เตาทำกับข้าวเยอะ หรือถ้าหมั่นคอยดูแลเทพเจ้าเตาจะช่วยคุ้มครองไม่ให้บ้านเกิดไฟลุกไหม้  

“อีกกรณีคือที่คนเถียงกันว่า จะเก็บกวาดทำความสะอาดบ้านได้ก็ต่อเมื่อเลยวันส่งเจ้ากลับสวรรค์ หากมองให้เป็นเรื่องของสาธารณสุขคุณก็จะเข้าใจว่า ปีหนึ่งคุณควรจะเก็บกวาดบ้านให้สะอาดเพื่อสุขอนามัยที่ดี หรือกรณีตรุษจีนห้ามตัดเล็บตอนกลางคืน เพราะสมัยก่อนไม่มีไฟฟ้าใช้ ถ้าตัดตอนกลางคืนอาจจะเกิดอันตรายบาดเจ็บได้ ทางออกที่ดีที่สุดคือใส่เรื่องความเชื่อเข้ามา ถ้าตอนกลางคืนเท่ากับเรียกผีนะ แต่ปัจจุบันไม่ยักเห็นผีตัวนี้ นั่นเพราะความเชื่อดังกล่าวไม่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน”

 

5

‘ปึงเถ่ากง’ เทพยดาผู้คุ้มครองชาวจีนโพ้นทะเล

 

“เจ็กจะบอกว่าไฉ่ซิงเอี๊ย (เทพแห่งความร่ำรวยและสุขภาพ) ที่ไหว้ขอโชคขอลาภกันเป็นเทพที่ล้มเหลวมากที่สุดนะ เพราะเห็นใครไหว้ก็ไม่เห็นจะรวยกัน ทีพ่อแม่ในบ้านเสือกไม่ไหว้ (หัวเราะ)”

ประโยคหยิกแกมหยอกของเจ็กสมชัยที่เอ่ยมาดูจะช่วยให้บทสนทนาสนุกยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังเปิดประตูหัวข้อสนทนาใหม่กับเรื่องของ ‘ปึงเถ่ากง’ เทพเจ้าผู้คุ้มครองและปกปักดูแลลูกหลานชาวมังกรที่กระจายอยู่ต่างแดนให้ปลอดภัย เปรียบเหมือนเจ้าที่ตามศาลพระภูมิที่คุ้มครองผู้อยู่อาศัยคนนั้น

“การไหว้ไฉ่ซิงเอี๊ยไม่ใช่เรื่องผิด กลับกันยังสะท้อนความคิดมนุษย์ยุคนี้ว่าเขากำลังคิดอะไร ต้องการอะไร แต่สำหรับเจ็ก เทพที่ประสบความสำเร็จคือปึงเถ่ากงที่สามารถดูแลชาวจีนโพ้นทะเล และลูกหลานชาวจีนต่างเมืองให้อยู่รอดพ้นภัยบนแผ่นดินใหม่ แต่เมื่อท่านทำสำเร็จแล้วกลับไม่มีใครไหว้ท่าน เพราะคุณได้รับในสิ่งที่ต้องการแล้วเลยคิดว่าไม่จำเป็นต้องไหว้

“อีกกรณียังสื่อถึงสภาวะสังคมของชาวจีนโพ้นทะเลที่เปลี่ยนไป คุณสามารถไหว้ไฉ่ซิงเอี๊ยส่วนตัวในบ้านได้ แต่ปึงเถ่ากงคุณไหว้เพื่อ ‘ส่วนรวม’ เพราะสมัยก่อนคนจีนที่เข้ามาแผ่นดินไทยพยายามสร้างสังคมจำลองของตนเอง คล้ายตอนอยู่ที่เมืองจีนซึ่งคุณมีชุมชน มีหมู่บ้านแซ่เดียวกับคุณ และนับเป็นพี่น้องของคุณทั้งหมด แต่พอวันหนึ่งคุณมาอยู่ไทยหรือเมืองเมืองหนึ่งที่คุณไม่รู้จักใคร คุณก็ต้องหากลุ่ม อาจจะเป็นคนที่นั่งเรือมากับคุณ คนที่ชวนคุณมา หรือคนที่ทำงานด้วยเพื่อสร้างกลุ่มสังคม สร้างความปลอดภัย โดยมีศาลเจ้าเป็นจุดศูนย์กลาง

“ถ้าคุณมองให้ลึกกว่านั้น ศาลเจ้ายังเป็นที่ฝึกดนตรี ฝึกงิ้ว แต่คนไทยกลับมีภาพจำต่อสถานที่ประเภทนี้ว่า เป็นจุดร่วมอั้งยี่ ซ่องโจร ซ่องโสเภณี ทำบ่อน ทำแก๊งลูกหมี ความจริงมีคนจีนที่ทำธุรกิจพวกนี้ แต่อีกกลุ่มหนึ่งเขาก็ทำธุรกิจสุจริต ดังนั้น การรวมตัวของคนจีนที่ศาลเจ้าจึงไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แท้จริงถือเป็นจุดรวมตัวเหมือนสหภาพแรงงานเสียมากกว่า” เจ็กสมชัยระบุ

เจ็กสมชัยยกตัวอย่างปึงเถ่ากง ที่ประดิษฐานอยู่ที่ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง ถนนทรงวาด ซึ่งเป็นแบบโบราณยืนรวมกันสามองค์ ต่างจากแบบปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เหลือองค์เดียวในรูปแบบนั่ง โดยรูปแบบที่ตั้งอยู่ในศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง สอดคล้องกับงานบันทึกที่ระบุว่า ปึงเถ่ากงแท้จริงคือลูกน้องของ ‘เจิ้ง เหอ’ หรือ ‘ซำปอกง’ ขันทีและนักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ในยุคราชวงศ์หมิง โดยระหว่างทางลูกน้องของเจิ้งเหอได้เพื่อนระหว่างทางหนึ่งนาย และอีกหนึ่งนายซึ่งเป็นชาวต่างชาติจากเกาะลูซอน (Luzon) ที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของฟิลิปปินส์  

อีกหนึ่งทฤษฎีคือปึงเถ่ากงเป็น ‘เอียงแช’ หนึ่งในตัวละครจากตำนานผู้ยิ่งใหญ่เขาเหลียงซาน ที่เคยออกฉายโดย บริษัท ชอว์บราเดอร์ส ปี 2515 มีความเชื่อว่า เอียงแชอพยพมาอาศัยอยู่ที่ไทยและถูกยกให้เป็นปึงเถ่ากงในภายหลัง

แม้จะมีตำนานแตกต่างกันไป แต่จุดร่วมเดียวกันที่บ่งบอกได้ว่านี่คือปึงเถ่ากง คือบุคคลมีชื่อเสียงที่เคยเดินทางเข้ามายังแผ่นดินไทย จึงไม่แปลกที่ชาวจีนรุ่นต่อมาจะหาบุคคลที่น่าเคารพเป็นสิ่งคุ้มครองเมื่อต้องออกมาเผชิญต่างแดน

ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง ศูนย์รวมจิตใจของชาวสำเพ็ง-เยาวราช ที่มีอายุกว่า 200 ปี

องค์ปึงเถ่ากงที่ประดิษฐานอยู่ที่ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง ถนนทรงวาด

ตี่จู่เอี๊ยหรือศาลเจ้าประจำบ้าน ที่ตั้งอยู่ในศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง ซึ่งหากสังเกตจะเห็นว่ามีขนาดใหญ่ต่างจากที่เห็นทั่วไป จึงมีข้อสันนิษฐานว่า เดิมทีป้ายด้านหลังเป็นตัวแทนของปึงเถ่ากง

 

6

‘ไหว้’ แบบไหนก็มีค่าเท่ากัน

 

อีกจุดหนึ่งที่ทำให้ลูกหลานชาวจีนเบือนหน้าหนีเทศกาลไหว้ตรุษจีน คือเรื่องของการจัดของไหว้ที่มีนิยามการเรียกต่างๆ นานา แต่ที่ได้ยินคุ้นหูสุดคือ ซาแซ (ชุดไหว้ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ 3 อย่าง) และโหงวแซ (ชุดไหว้ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ 5 อย่าง) ไหนจะองค์ประกอบของชุดไหว้นั้นที่จะต้องมีหมู เห็ด เป็ด ไก่ สารพัดธัญพืช และผลไม้ ไหนจะต้องไหว้เวลาใด วางตำแหน่งไหน

เจ็กสมชัยระบุว่า จากการศึกษาและประสบการณ์ตรงทำให้ทราบว่า แท้จริงการไหว้ทำได้ด้วยความเรียบง่าย ส่วนที่เห็นว่าต้องมีเป็ด ไก่ หรือพืชมงคล แท้จริงเป็นกุศโลบายของคนจีนโบราณ ที่แอบซ่อนคำสอนให้ลูกหลานรู้จักการทำฟาร์มปศุสัตว์เพื่อกระจายความเสี่ยง

“อย่างแรกที่อยากจะบอกจากการศึกษาคือ เรื่องของ ‘เจฉ่าย’ (ชุดผักที่ใช้ไหว้ในเทศกาลตรุษจีน) ซึ่งใช้ไหว้สักการะธาตุทั้ง 5 ประกอบด้วย ตังหุ้ง (วุ้นเส้น) คือธาตุน้ำ, บักยื่อ (เห็ดหูหนู) คือธาตุไม้ , เฮียโกว (เห็ดหอม) คือธาตุไฟ, กิมจำฉ่าย (ดอกไม้จีน) คือธาตุทอง และหู่กี (ฟองเต้าหู้) คือธาตุลม 

“ฟังแบบนี้คุณอาจจะคิดว่า กูต้องไปหาเจฉ่ายมาไหว้เพื่อความสิริมงคล นั่นคือเหตุผลส่วนหนึ่ง แต่อีกเหตุผลคือหน้าเทศกาลแบบนี้คุณต้องนำผักประเภทนี้ไปผัดกับเนื้อเพื่อทำกับข้าวอยู่แล้ว

“ส่วนเนื้อสามอย่าง หมู เป็ด ไก่ และปลา แต่หลังจากศึกษาตำราการไหว้สำหรับเจ็กนิยามเนื้อเหล่านี้เป็นกองทัพ คือจะต้องมีทัพบกซึ่งเป็นสัตว์กีบเท้า หมายถึงหมูหรือแพะ, สัตว์เกล็ดจะเป็นปลา กุ้ง หอย หรือปูก็ได้ และสัตว์ปีกคือนก ไก่ หรือเป็ด สามทัพนี้รวมกันเป็นซาแซ แต่ถ้าหากมองในแง่การทำปศุสัตว์ นี่นับเป็นกุศโลบายขั้นเทพ เพราะความจริงเขาสอนให้คุณทำปศุสัตว์หลายสปีชีส์ ถ้าคุณเจอโรคระบาดในสัตว์ปีก คุณก็ยังมีสัตว์กลีบกับสัตว์เกล็ด หมายความว่าอย่างไรคุณก็ไม่อดตาย”

ถึงกระนั้น เจ็กสมชัยยืนยันหนักแน่นว่า ของไหว้หรือความหมายมงคลจากของไหว้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพียงแต่ต้องรู้ว่า เรากำลังจะไหว้อะไรและไหว้ไปทำไม

“ถ้าปัดหลักการเหล่านี้ไป การไหว้แทบไม่ได้ขึ้นอยู่กับอะไรเลย ขึ้นอยู่กับไหว้คุณอยากจะกินอะไร ส้มเป็นมหามงคลต้องไหว้ ถามว่าในวันตรุษจีนผลไม้ที่หาง่ายที่สุดคืออะไร คือส้ม เพราะถ้าเป็นทุเรียนคงไม่มีใครไหว้ (หัวเราะ)

“ดังนั้น ของไหว้เหล่านี้คือสิ่งที่คนสมัยก่อนเขาออกแบบมาให้เรียบง่ายและมีอยู่แล้ว ความเป็นมงคลจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีจิตอันเป็นมงคล หรือเอาเป็ดมาไหว้ เพราะเป็ดเก่งหลากหลาย บินก็ได้ วิ่งก็ได้ ว่ายน้ำก็ได้ ถ้าคุณเอาคำความหมายเหล่านี้ให้เด็กที่ไม่สนใจฟัง ถามว่าเขาจะสนใจไหมก็ไม่ 

“เหล่านี้คุณลืมไปได้เลย ลองถามย้อนกลับตัวเองว่าคุณเข้าใจในสรรพสิ่งไหม คุณเคารพในสรรพสิ่งไหม ถ้าคุณเข้าใจคุณอยู่กับมันได้โดยที่ไม่ต้องฝืน หมายความว่า คุณจะไหว้น้อยเพราะคุณมีแค่นี้ก็ได้ คุณจะไหว้เฉพาะสิ่งที่คุณอยากกินก็ได้ กรณีของที่คุณอยากกินกับของที่คุณอยากไหว้ควรเป็นเรื่องเดียวกัน คุณซื้อขนมถ้วยฟูมาไหว้เพราะอาม่าสั่งว่าไหว้แล้วจะรุ่งเรือง กูก็ต้องกัดฟันไหว้ แต่ถามว่าหลังไหว้เสร็จก็ต้องปาทิ้งเพราะกูไม่ชอบ แต่ถ้าอาม่าเคยกิน S&P แกอาจจะปาทิ้งก็ได้ (หัวเราะ)

“กลับกันเจ็กมองว่า ขนมถ้วยฟูคือตัวแทนของแป้งสาลี ขนมเข่งคือตัวแทนของแป้งขาวเหนียว รวมข้าวสวยด้วยแล้ว การที่มีคุณธัญพืชสามชนิดนี้ขึ้นโต๊ะไหว้แสดงว่าคุณต้องเป็นครอบครัวที่โคตรขยัน แต่หลักๆ ที่เราซื้อเยอะ ซื้ออลังการ เพราะว่าคนข้างบ้านมันไหว้ (หัวเราะ) สังคมชาวจีน คือสังคมที่อวดรวย อวดฐานะใส่กัน เพียงแต่สมัยนี้เปลี่ยนจากวัตถุดิบที่อยู่ในสังคมเกษตร เป็นกระเป๋า เป็นเครื่องประดับแทน” 

 

7

สำรวจวัฒนธรรมของชาวจีนผ่าน ‘ศาลเจ้า’ 

 

หลังคุยกันนานกว่า 2 ชั่วโมง เราถือโอกาสให้เจ็กสมชัยรับหน้าที่เป็น ‘ไกด์’ พาเดินศึกษาศาลเจ้าในย่านชุมชนสำเพ็ง เริ่มตั้งแต่ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากงซึ่งอยู่คู่กับชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นแรกที่เข้ามาอาศัยในไทย รวมแล้วมีอายุกว่า 200 ปี และปัจจุบันก็ยังนับเป็นศาลเจ้าที่อยู่ในกรณีศึกษาของนักประวัติศาสตร์ไทย-จีน โดยที่ห่างเพียงหนึ่งกำแพงกั้น คือที่ตั้งของ ‘โรงเรียนเผยอิง’ หรือ ‘โรงเรียนป้วยเอง’ ที่ก่อตั้งในปี 2463 โดยปัจจุบัน โรงเรียนดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย

ด้านหน้าของศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง เยื้องไปทางขวามือคือที่ตั้งของศาล ‘ทีกง’ หรือเทพเจ้าฟ้าดิน ที่ตามธรรมเนียมจะต้องไหว้ให้เสร็จสิ้นเพื่อเป็นการเปิดทาง ก่อนจะไปไหว้เทพเจ้าองค์อื่นๆ ด้านใน

ศาลทีกง บริเวณหน้าศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง

ความน่าสนใจของศาลแห่งนี้คือเดิมทีมีลักษณะเป็น ‘ศาลแฝด’ ประกอบด้วยศาลปึงเถ่ากงกับศาลตั่วเหล่าเอี๊ย แต่เมื่อยุบรวมแล้วจึงต้องจัดลำดับความสำคัญขององค์ประธานประจำศาลใหม่ ดังนั้น เราจึงเห็นตั่วเหล่าเอี๊ยที่มีศักดิ์เป็นรองเพียงองค์เง็กเซียนฮ่องเต้ ตั้งเด่นตระหง่านในฐานะองค์ประธานกลางศาล ส่วนปึงเถ่ากงจะอยู่ด้านในทางขวามือแทน แต่สาเหตุที่ยังใช้ชื่อปึงเถ่ากงเป็นชื่อศาล เจ็กสมชัยสันนิษฐานว่า เป็นเพราะสมัยโบราณมีการตั้งศาลปึงเถ่ากงก่อนนั่นเอง

ตั่วเหล่าเอี๊ย ประจำศาลล่าปุนเถ้ากง

เดินฝ่าแดดร้อนระอุไปไม่ไกลนัก เจ็กสมชัยพาเรามายังศาลเจ้า ‘อาเนี้ย’ บริเวณซอยอาเนี้ยเก็ง ถนนทรงวาด อีกหนึ่งศาลเจ้าเก่าแก่ประจำย่านสำเพ็ง ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2477 ถือเป็นอีกหนึ่งศูนย์รวมจิตใจของชาวจีนที่อพยพยังผืนแผ่นดินไทย

ทั้งนี้ คำว่าอาเนี้ย มีความหมายสื่อถึง ‘พระโพธิสัตว์กวนอิม’ ที่ประดิษฐานในปางประทานพรนั่งบนดอกบัวองค์เล็กอยู่ด้านในศาล ซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศจีน ที่น่าสนใจคือสถาปัตยกรรมภายในศาลยังคงความดั้งเดิม เช่น วิธีก่อสร้างด้วยการสอดคานไม้เพื่อรับน้ำหนัก หรือลวดลายตามเสาที่วาดด้วยพู่กัน และลงสีด้วยทีแปรง

เราพบกับ ‘กุ้ง’ ผู้ดูแลศาลรุ่นปัจจุบัน กุ้งอธิบายให้เราฟังว่า ศาลแห่งนี้มีคณะกรรมการดูแลคือเถ้าแก่ย่านสำเพ็ง-เยาวราช ที่ลงขันทำนุบำรุงศาลด้วยความศรัทธา โดยช่วงวันไหว้ตรุษจีน จะเปิดให้ไหว้ตั้งแต่เวลา 21.00-02.00 น.

ด้านหน้าศาลเจ้าอาเนี้ย บริเวณซอยอาเนี้ยเก็ง ถนนทรงวาด 

บรรยากาศด้านใน ณ ศาลเจ้าอาเนี้ย ที่ยังคงความดั้งเดิมไว้อยู่

 

8

‘ไหว้’ ด้วยความเข้าใจว่าไหว้ไปเพื่ออะไร

 

สิ้นสุดการพาทัวร์ศาลเจ้ารอบสำเพ็ง เจ็กสมชัยพาผู้เขียนไปนั่งลิ้มลองรสชาติอาหารจีนแคะ ที่ร้าน ‘ยกฮั้ว’ ไล่ตั้งแต่เมนูเคาหยกเนื้อเปื่อยละลายในปาก ต้มซุปลูกชิ้นแคะ ไก่บ้านต้มเนื้อขาวอวบ ปิดท้ายด้วยฟองเต้าหู้ทอดไส้กุ้งสับ ลาภปากเพลินพุงกันไป

เอี้ย ก้วย กับเอี้ย คัง จากนิยายมังกรหยก มนต์เพลงเติ้ง ลี่จวิน งานอดิเรกของคนวัยแซยิด หัวข้อสนทนาเหล่านี้เกิดขึ้นบนโต๊ะอาหารระหว่างเจ็กสมชัยกับผู้เขียน เพลิดเพลินและเป็นกันเองจนลืมว่านี่เป็นการพบกันครั้งแรก

ก่อนจะจากกันเจ็กสมชัยกล่าวย้ำกับผู้เขียนอีกครั้งว่า ตรุษจีนจะไหว้หรือไม่ไหว้ก็ได้ จะส่งต่อประเพณีให้รุ่นลูกรุ่นหลานก็สิทธิของคุณ ไม่มีใครบังคับได้ ถ้าเห็นว่าดีทำแล้วไม่ลำบากก็ทำ

เมื่อได้ฟังก็ผงกหัวรับตอบ พลางยิ้มกว้าง เสมือนฟังคำสอนอันมีค่าจากญาติผู้ใหญ่

ผ่านไปหนึ่งวัน ผู้เขียนใช้เวลาตกผลึกสาระจากบทสนทนากับเจ็กสมชัย ถึงตอนนี้รู้แล้วว่าวันไหว้ตรุษจีนมีความหมายและประโยชน์ต่อชาวจีนอย่างไร

นอกเหนือจากเหตุผลข้างต้น หากย้อนกลับมายังมุมมองของผู้เขียนต่อเทศกาลนี้ เท่าที่ช่วงอายุใกล้แตะวัย 30 บริบูรณ์พอจะนึกได้ นั่นคือเทศกาลตรุษจีน ไม่ว่าจะวันจ่าย วันไหว้ หรือวันเที่ยว ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความ ‘กลมเกลียว’ และ ‘ผูกพัน’ ในครอบครัว

ไม่ต้องอาศัยหลักวิชาการร้อยแปดใด อาศัยเพียง ‘เหตุผล’ ในใจ ว่าเราอยากไหว้ใคร ไหว้เทพเจ้าเพื่อความสบายใจก็ถูก ไหว้บรรพบุรุษยิ่งถูก ทำเพื่อรู้ว่าเรามีรากเหง้ามาจากไหน รำลึกคุณของผู้วายชนม์ที่ชุบเลี้ยงเราจนเติบใหญ่ มากจนถึงรำลึกคุณของธรรมชาติที่เพิ่งพาอยู่ทุกวัน เพียงแต่ขั้นตอนบางอย่างอาจเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมให้มีความง่ายขึ้นต่อการใช้ชีวิต 

เท่านี้ก็น่าจะพอตอบคำถามที่ค้างคาในใจว่าเราไหว้ตรุษจีนไปทำไม ได้ไม่มากก็น้อย

มาคิดดูแล้วก็จริงอย่างที่เขาว่า ความเป็นจีน-ไทย มีความอิหลักอิเหลื่อบางอย่างในตัวคนรุ่นใหม่ที่อธิบายออกมาเป็นคำพูดไม่ถูก แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ลงว่า ลึกๆ แล้วเราล้วนหวงแหนและคิดถึงอัตลักษณ์เหล่านี้สุดหัวใจ

เพราะตรุษจีนก็ยังคงเป็นตรุษจีนวันยังค่ำ มีแต่คนเราที่ความคิดเปลี่ยนแปลง และตั้งคำถามต่อเทศกาลนี้ไม่มีที่สิ้นสุด 

Tags: , , , ,