ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา การไหลบ่าของทุนจีนได้เปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจและสังคมของอาเซียนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ จากโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดยักษ์ภายใต้เส้นทางสายไหมยุคใหม่ (Belt and Road Initiative: BRI) ไปจนถึงเม็ดเงินลงทุนที่ทะลักเข้ามาในภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาเมือง ทุนจีนถูกมองว่าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยเติมเชื้อเพลิงให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโต

อย่างไรก็ตามภายใต้โอกาสที่มาพร้อมกับเงินทุนมหาศาล กลับซ่อนเร้นปัญหาที่หลายประเทศเริ่มตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น การพึ่งพาการลงทุนจากจีนอย่างหนัก หรือแม้แต่ทรัพยากรในประเทศที่เริ่มถูกควบคุมโดยทุนต่างชาติ นอกจากนี้อาเซียนยังต้องเผชิญกับ ‘ทุนสีเทา’ เครือข่ายธุรกิจที่แฝงตัวผ่านกิจกรรมผิดกฎหมาย เช่น การพนันออนไลน์ การฟอกเงิน และการคอร์รัปชัน ที่กำลังแทรกซึมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อเส้นแบ่งระหว่าง ‘โอกาส’ กับ ‘ความเสี่ยง’ เริ่มพร่าเลือน คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้นว่า ทุนจีนสีเทาได้เปลี่ยนแปลงประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และไทยอย่างไรบ้าง

ทุนจีนสีเทาคืออะไร

‘ทุนจีนสีเทา’ เป็นคำเรียกที่ใช้พูดถึงกลุ่มเงินทุนจากประเทศจีนที่แฝงตัวในธุรกิจต่างๆ ด้วยความคลุมเครือและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย คำว่า สีเทา บ่งบอกถึงลักษณะที่อยู่ระหว่างขาวและดำ ไม่ได้ขาวสะอาดจนโปร่งใส แต่ก็ไม่ได้ดำสนิทจนเป็นอาชญากรรมที่เปิดเผย ทว่าลึกลงไปธุรกิจเหล่านี้กลับซ่อนความไม่ชอบมาพากลเอาไว้

ทุนจีนสีเทามักปรากฏในรูปแบบของการลงทุนในธุรกิจที่เราคุ้นเคย เช่น โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร และธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งดูเหมือนจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น แต่แท้จริงแล้วบางครั้งธุรกิจเหล่านี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน หรือการซ่อนความมั่งคั่งที่ได้มาจากแหล่งที่มาที่ไม่โปร่งใส เช่น การพนันออนไลน์ การค้ามนุษย์ หรือธุรกิจผิดกฎหมายในประเทศต้นทาง

อย่างไรก็ตามหลังจากการปราบปรามการคอร์รัปชันภายในประเทศจีน ที่ดำเนินมาอย่างเข้มข้น กลุ่มธุรกิจสีเทาจำนวนหนึ่งจึงเลือกกระจายไปตั้งรกรากในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้กัมพูชา ลาว เมียนมา รวมถึงไทย ได้กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญของกลุ่มธุรกิจสีเทาเหล่านั้น

เปิดประวัติศาสตร์ทุนจีนในอาเซียน

ยุคที่ 1: บ่อนการพนันใกล้พรมแดนจีน

ในช่วงแรกบ่อนคาสิโนตั้งขึ้นใกล้ชายแดนจีน เพื่อดึงดูดนักพนันชาวจีนให้ข้ามพรมแดนมาเล่นการพนัน เช่น ที่เมืองลา (Mong La) ในเมียนมา และเมืองบ่อเต็น (Boten) ในลาว บ่อนเหล่านี้พึ่งพานักพนันและโครงสร้างพื้นฐานจากจีนอย่างมาก เมื่อรัฐบาลจีนเริ่มปราบปรามการพนันในปี 2548 บ่อนเหล่านี้จึงได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ยุคที่ 2: การขยายตัวของบ่อนการพนันทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลังปี 2555 การปราบปรามการทุจริตในจีนทำให้ผู้ประกอบการคาสิโนย้ายไปยังประเทศที่มีกฎระเบียบผ่อนคลายกว่าอย่างกัมพูชา บ่อนคาสิโนในยุคนี้ได้รับประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนจากประเทศเหล่านี้ อย่างไรก็ตามด้วยแรงกดดันจากจีน บางประเทศได้เริ่มปราบปรามการพนันออนไลน์ ส่งผลให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องย้ายฐานอีกครั้ง

ยุคที่ 3: บ่อนการพนันในพื้นที่อิทธิพลของชนกลุ่มน้อยในเมียนมา

เมื่อรัฐบาลจีนร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในการปราบปรามคาสิโน ทุนจีนสีเทาจึงย้ายไปยังพื้นที่ชายขอบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เมืองชเวโก๊กโก (Shwe Kokko) ในเมียนมา ซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) รัฐกะเหรี่ยง พื้นที่เหล่านี้มักอยู่นอกการควบคุมของรัฐบาลกลาง ทำให้เป็นแหล่งรวมของเครือข่ายทุนสีเทาและอาชญากรรมข้ามชาติ

ทำไมทุนจีนสีเทาถึงปักหมุดในอาเซียน

รายงานจากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ส่งเสริมการแพร่กระจายของทุนจีนสีเทาในภูมิภาคนี้ โดยระบุถึงปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

1. ในประเทศจีน การพนันทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคาสิโนหรือการพนันออนไลน์ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ดังนั้นนักพนันชาวจีนจึงต้องมองหาที่อื่นเพื่อเสี่ยงโชค อาเซียนจึงกลายเป็นจุดหมายใหม่ที่เต็มไปด้วยโอกาสในการทำธุรกิจการพนัน โดยเฉพาะประเทศที่มีข้อกำหนดผ่อนปรน

2. หลายประเทศในอาเซียน เช่น ลาว กัมพูชา เมียนมา และฟิลิปปินส์ ต้องการเงินลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ จึงผ่อนคลายกฎระเบียบ เปิดทางให้มีบ่อนคาสิโน และอนุญาตให้ชาวต่างชาติ (รวมถึงชาวจีน) เข้ามาเล่นการพนันได้ ทุนจีนจึงแห่เข้ามาพร้อมกับนักพนันที่เป็นลูกค้าหลัก สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่เหล่านี้อย่างมหาศาล

3. ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การเดินทางข้ามประเทศยากขึ้น ทุนจีนสีเทาได้ปรับตัวอย่างรวดเร็วจากการเปิดบ่อนคาสิโนมาสู่การลงทุนในคาสิโนออนไลน์ ที่ไม่ต้องพึ่งพาการเดินทางข้ามพรมแดน การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้การพนันออนไลน์กลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วและขยายขอบเขตการลงทุนไปยังอาเซียน

4. การปราบปรามการพนันในจีนส่งผลกระทบอย่างมากต่อนักลงทุนจีน ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องย้ายไปยังประเทศที่มีกฎหมายผ่อนคลายกว่า การเคลื่อนย้ายทุนสีเทาเหล่านี้ไปยังอาเซียนจึงเป็นผลมาจากการจำกัดสิทธิ์ในประเทศต้นทาง

สีหนุวิลล์ เมืองท่าของทุนจีนเทาในกัมพูชา

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเติบโตของเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZs) ในหลายประเทศอาเซียน อาจดูเหมือนเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดี แต่ในอีกด้านหนึ่ง พื้นที่เหล่านี้กลับกลายเป็นแหล่งพักพิงของทุนจีนเทา หรือกลุ่มทุนจีนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมาย เนื่องจากเขตเศรษฐกิจพิเศษมักมาพร้อมกับกฎระเบียบที่ผ่อนปรน ภาษีต่ำ และการควบคุมน้อยลง ซึ่งเปิดช่องให้ธุรกิจผิดกฎหมายแฝงตัวได้ง่ายขึ้น รัฐบาลหลายประเทศที่ต้องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุน อาจเลือก ‘ปิดตาข้างหนึ่ง’ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

จากเขตเศรษฐกิจพิเศษในสีหนุวิลล์ ไปจนถึงทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ โครงการที่จีนลงทุนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ในกัมพูชา เมืองสีหนุวิลล์ซึ่งเคยเป็นแค่หมู่บ้านชาวประมง กลับกลายเป็น ‘Little China’ ที่เต็มไปด้วยคาสิโน รีสอร์ต และอาคารสูง ซึ่งดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ทุนจีนเปลี่ยนประเทศนี้ให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ แต่เบื้องหลังภาพลักษณ์ที่สวยงาม กลับมีอีกมิติหนึ่งที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน

สีหนุวิลล์กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของทุนจีน จากการเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ สีหนุวิลล์กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยนักลงทุนชาวจีน ธุรกิจคาสิโน และโรงงานอุตสาหกรรม ความคึกคักนี้นำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจในท้องถิ่น และเป็นเครื่องยืนยันถึงบทบาทสำคัญของจีนในกัมพูชา

อย่างไรก็ตามสีหนุวิลล์ไม่ได้เป็นเพียงศูนย์กลางการพัฒนา แต่กลับกลายเป็น ‘สนามเด็กเล่นของทุนจีนสีเทา’ โดยในปี 2561 มีการขยายตัวของธุรกิจผิดกฎหมายในพื้นที่นี้อย่างมาก โดยเฉพาะการพนันออนไลน์ ซึ่งจีนใช้สีหนุวิลล์เป็นฐานหลัก แม้ว่ากัมพูชาจะสั่งห้ามการพนันออนไลน์ในปี 2562 แต่ธุรกิจเถื่อนเหล่านี้ไม่ได้หายไป กลับซ่อนตัวลึกยิ่งขึ้น

ในปี 2565 เมืองนี้ถูกโยงเข้ากับปัญหาการฟอกเงิน การค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานในสถานที่ที่อ้างว่าเป็นสำนักงานบริษัท แต่แท้จริงแล้วเป็น ‘แหล่งขังแรงงาน’ ที่ถูกบังคับให้ทำงานการพนันออนไลน์ โดยแรงงานเหล่านี้ไม่ใช่แค่คนกัมพูชา แต่รวมถึงชาวต่างชาติที่ถูกล่อลวงมาด้วยคำสัญญาเรื่องรายได้ดี

กรณีที่สร้างความสั่นสะเทือนเกิดขึ้นในปี 2566 เมื่อมีการจับกุมเครือข่ายอาชญากรรมจีนที่ใช้สีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางของการค้ามนุษย์และการหลอกลวงผ่านอินเทอร์เน็ต การเปิดโปงครั้งนี้เผยให้เห็นถึงการที่ทุนจีนสีเทาแทรกซึมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชา

สีหนุวิลล์ของกัมพูชา เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการเติบโตของทุนจีนเทา หลังเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางคาสิโน ธุรกิจฟอกเงิน และอาชญากรรมข้ามชาติ มีรายงานว่าชาวจีนจำนวนมากถูกหลอกให้มาทำงานในบ่อนเถื่อน หรือแม้แต่ถูกกักขังและบังคับให้ก่ออาชญากรรม การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากจีน อาจเป็นกลยุทธ์ที่หลายประเทศหวังพึ่งพา เนื่องจากจีนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว จนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจโลก แต่แทนที่การไหลเข้าของทุนจีนจะสร้างความเจริญรุ่งเรือง กลับกลายเป็น ‘ดาบสองคม’ ที่ก่อปัญหาอาชญากรรมจนเกินควบคุม

สีหนุวิลล์ เคยเป็นศูนย์กลางของทุนจีนเทาที่เฟื่องฟูที่สุดในอาเซียน มีการลงทุนขนาดใหญ่ในธุรกิจคาสิโน ฟอกเงิน และอาชญากรรมข้ามชาติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมืองแห่งนี้เริ่มเสื่อมความนิยมลง เนื่องจากปัญหาความรุนแรง การกวาดล้างของรัฐบาล และการที่ ‘เหยื่อ’ หรือแรงงานที่ถูกหลอกใช้ลดน้อยลง

เมื่อพื้นที่เริ่มตีบตัน ทุนจีนเทาจึงต้องขยายสนามอาชญากรรมไปยังจุดหมายใหม่ จากเดิมที่ปักหลักในกัมพูชา (ตะวันออก) ก็ค่อยๆ เคลื่อนตัวสู่ประเทศทางตะวันตกของอาเซียน ที่ยังเปิดรับเงินลงทุนจากจีน แต่มีการควบคุมที่หละหลวม อาจกล่าวได้ว่าทุนจีนเทาไม่ได้หายไปจากอาเซียน แต่กำลังเปลี่ยนเป้าหมาย ไปยังประเทศที่ยังคงมีช่องว่างทางกฎหมาย หรือมีรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับเงินลงทุนมากกว่ามาตรการควบคุม

เมียวดี เมืองชายแดนที่ถูกครอบงำโดยทุนจีนและธุรกิจสีเทา

เมืองเมียวดีในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ตั้งอยู่ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตากของประเทศไทย กลายเป็นศูนย์กลางของทุนจีนสีเทา โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองใหม่ชเวโก๊กโกและเคเคพาร์ก (KK Park) พื้นที่เหล่านี้ได้รับการพัฒนาโดยนักลงทุนชาวจีนตั้งแต่ปี 2560 มีการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม โรงแรม และเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม เมืองเหล่านี้กลับกลายเป็นฐานปฏิบัติการของอาชญากรรมไซเบอร์ เช่น แก๊งคอลเซนเตอร์ การฟอกเงิน และการค้ามนุษย์

การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง (BGF) ภายใต้การนำของ พันเอก ซอ ชิด ตู่ (Saw Chit Thu) หรือที่รู้จักในชื่อ ‘หม่องชิดตู่’ ซึ่งเคยร่วมมือกับกองทัพเมียนมา แต่ภายหลังได้แยกตัวออกมาและเปลี่ยนชื่อกองกำลังเป็นกองทัพกะเหรี่ยงแห่งชาติ (KNA) การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความขัดแย้งกับรัฐบาลทหารเมียนมา นำโดย พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Lai) ที่ต้องการปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ในพื้นที่

ในเดือนพฤษภาคม 2567 กองกำลัง BGF ได้ออกประกาศให้ชาวต่างชาติที่ทำธุรกิจออนไลน์รอบเมืองเมียวดี ออกจากพื้นที่ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยระบุว่า หากพบเห็นหลังวันที่ 31 ตุลาคม 2567 จะมีการจัดการอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า ธุรกิจผิดกฎหมายยังคงดำเนินการอยู่ และการประกาศดังกล่าวอาจเป็นเพียงการแสดงเพื่อบรรเทาแรงกดดันจากทางการจีน

ปัจจุบันเมียวดีและพื้นที่ใกล้เคียงยังคงเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย การลงทุนจากทุนจีนสีเทายังคงดำเนินต่อไป ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการทหารในพื้นที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

หากไม่มีมาตรการจัดการที่เข้มงวด ประเทศปลายทาง อาจเผชิญชะตากรรมเดียวกับสีหนุวิลล์ เมืองที่เคยเป็นความหวังทางเศรษฐกิจ แต่กลับกลายเป็นแดนอาชญากรรมที่แม้แต่ชาวจีนก็ยังไม่กล้าไปเยือน

คิงส์โรมัน ศูนย์กลางทุนจีนเทาในลาว

ท่ามกลางป่าภูเขาและสายน้ำโขงที่ทอดยาว เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (GTSEZ) ในแขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว กลายเป็นศูนย์กลางของกลุ่มทุนจีนที่มีเครือข่ายลึกลับและซับซ้อน หนึ่งในชื่อที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือ ‘คิงส์โรมัน’ คาสิโนสุดหรูที่แฝงไปด้วยเรื่องราวที่ไม่ได้มีเพียงแค่การพนัน

หลังจากที่รัฐบาลจีนและกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมากวาดล้างขบวนการหลอกลวงในรัฐฉานเมื่อปี 2566 กลุ่มอาชญากรจำนวนมากย้ายฐานมายัง SEZ เมืองเมียวดีของเมียนมาและลาว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการลงทุนจากกลุ่มทุนจีนและได้รับการคุ้มครองจากกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น

เมื่อมองจากภายนอก คิงส์โรมันส์ดูเหมือนรีสอร์ตคาสิโนสุดหรูสำหรับนักท่องเที่ยวจีนที่ต้องการเสี่ยงโชค แต่นอกเหนือจากการพนันแล้ว พื้นที่นี้ยังเป็นศูนย์กลางของขบวนการสแกมเมอร์ออนไลน์ ที่หลอกลวงผู้คนทั่วโลก โดยมีรายงานว่า มีการล่อลวงแรงงานต่างชาติให้เข้ามาทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นธรรม ภายใต้เปลือกนอกของความหรูหราและความบันเทิง ซ่อนเครือข่ายผิดกฎหมายที่มีอิทธิพลข้ามชาติ

คิงส์โรมันอยู่ภายใต้การบริหารของ ‘กลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ’ ซึ่งก่อตั้งโดย จ้าว เหว่ย (Zhao Wei) นักธุรกิจจีนที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นบัญชีดำในปี 2561 ฐานพัวพันกับการฟอกเงิน ยาเสพติด ค้าประเวณี และค้าสัตว์ป่า แม้ว่าพื้นที่นี้จะอยู่ในประเทศลาว แต่บรรยากาศกลับเหมือน ‘เขตปกครองพิเศษของจีน’ มากกว่า ทั้งถนนเต็มไปด้วยป้ายภาษาจีน เงินที่ใช้คือเงินหยวน และแม้แต่นาฬิกาตามสถานที่สาธารณะก็ถูกตั้งให้ตรงกับเวลาปักกิ่ง สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของจีนที่มีเหนือพื้นที่นี้

นอกจากนี้การเติบโตของกิจกรรมผิดกฎหมายในพื้นที่นี้ยังส่งผลกระทบ ไปไกลกว่าลาว เพราะขบวนการสแกมเมอร์เหล่านี้ไม่ได้หลอกแค่คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังขยายไปถึง ยุโรป สหรัฐฯ และออสเตรเลีย

จากทัวร์ศูนย์เหรียญสู่ทุนจีนสีเทาในไทย

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การท่องเที่ยวของไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก หนึ่งในรูปแบบการท่องเที่ยวที่เคยได้รับความนิยมคือ ‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’ หรือทัวร์ราคาถูก ที่ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย แต่แท้จริงแล้วกลับสร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ และต่อมาก็เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า ‘ทุนจีนสีเทา’ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อไทยทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติ

ทัวร์ศูนย์เหรียญคือรูปแบบท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทย โดยเสียค่าใช้จ่ายต่ำมาก บางครั้งจ่ายเพียงแค่ค่าตั๋วเครื่องบินเท่านั้น เมื่อมาถึงไทย บริษัททัวร์จีนจะพาไปยังร้านค้าที่พวกเขาเป็นเจ้าของ และบังคับให้ซื้อสินค้าในราคาสูงเกินจริง รายได้จึงไม่ได้กระจายสู่ธุรกิจไทยอย่างแท้จริง แต่กลับถูกผูกขาดโดยทุนจีนเอง

ต่อมาเมื่อการเดินทางท่องเที่ยวเริ่มขยายตัว นักลงทุนจีนบางกลุ่มเริ่มมองเห็นโอกาส พวกเขาเข้ามาซื้อโรงแรม ร้านค้า และอสังหาริมทรัพย์ในไทยโดยใช้นอมินี หรือตัวแทนคนไทยในการถือหุ้น สิ่งนี้นำไปสู่การครอบงำธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยสูญเสียโอกาสในการแข่งขัน

หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ทัวร์ศูนย์เหรียญต้องหยุดชะงัก ธุรกิจของทุนจีนในไทยได้เปลี่ยนโฉมหน้า จากแค่การควบคุมตลาดท่องเที่ยว สู่การทำธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น การพนันออนไลน์ คอลเซนเตอร์หลอกลวง และการค้ายาเสพติด โดยมีการใช้ธุรกิจถูกกฎหมายเป็นฉากหน้า ไม่ว่าจะเป็นผับ บาร์ โรงแรม หรือแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่ง

กลุ่มทุนจีนสีเทายังใช้ไทยเป็นฐานฟอกเงิน พวกเขาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในราคาสูงลิ่ว ซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย และลงทุนในกิจการต่างๆ โดยไม่ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของเงินทุน นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า กลุ่มทุนเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นการค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อน หรือแม้แต่การเรียกค่าคุ้มครองจากนักธุรกิจจีนที่มาทำธุรกิจในไทย

หนึ่งในวิธีที่ทุนจีนสีเทาแฝงตัวได้ง่ายคือ การใช้ ‘นอมินี’ หรือคนไทยเป็นตัวแทนถือหุ้นในบริษัท วิธีนี้ทำให้พวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงข้อจำกัดด้านการเป็นเจ้าของธุรกิจในไทยได้ นอกจากนี้ยังมีการจดทะเบียนสมรสกับคนไทย เพื่อสร้างเส้นทางการเข้าถึงทรัพย์สิน และสิทธิทางกฎหมายในไทย

ดังในตัวอย่างที่เป็นข่าวใหญ่คือ การจับกุมเครือข่ายทุนจีนสีเทา ‘ตู้ห่าว’ ที่เปิดผับหรูเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่เสพยาและทำธุรกิจผิดกฎหมาย การสืบสวนเผยให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ให้การสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทุนสีเทาได้แทรกซึมเข้าสู่ระบบการเมืองและกฎหมายของไทยไปแล้ว

ช่องโหว่ทางกฎหมาย จุดอ่อนที่อาจทำให้ไทยเป็นเป้าหมายของทุนจีนสีเทา

ในช่วงที่จีนเข้มงวดเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชัน หลายธุรกิจจึงย้ายฐานปฏิบัติการออกนอกประเทศ โดยมองหาแหล่งใหม่ที่มีข้อจำกัดด้านกฎหมายไม่เข้มงวด และไทยก็กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ด้วยความสะดวกในการเดินทาง วัฒนธรรมที่เป็นมิตร และระบบที่อาจมีช่องโหว่

ภัยคุกคามจากทุนจีนสีเทาไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่เป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องการมาตรการแก้ไขที่จริงจัง รัฐบาลไทยควรเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินลงทุนจากต่างชาติ ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ และเพิ่มมาตรการป้องกันการใช้ ‘นอมินี’ ในธุรกิจต่างๆ

นอกจากนี้รัฐบาลต้องเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุนสีเทา รวมถึงดำเนินคดีกับเครือข่ายธุรกิจผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด หากปล่อยให้กลุ่มทุนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อไป ไทยอาจไม่เพียงเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ยังอาจต้องเผชิญกับปัญหาสังคมและความมั่นคงในระยะยาว

ทุนจีนสีเทาไม่ใช่แค่ปัญหาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่เป็นปัญหาที่แผ่ขยายไปทุกภาคส่วนของสังคมไทย หากไม่เร่งหาทางจัดการ ไทยอาจกลายเป็นฐานอาชญากรรมของกลุ่มทุนเหล่านี้ ดังนั้น ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และทุกภาคส่วนต้องตื่นตัวและร่วมมือกันป้องกันไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็น ‘สนามเด็กเล่น’ ของทุนจีนสีเทาที่คุกคามเสถียรภาพของประเทศในอนาคต

ทุนจีนเทาในอาเซียน อาชญากรรมข้ามชาติหรือการขยายอิทธิพล

รัฐบาลจีนมักแสดงท่าทีว่า ต้องการปราบปรามขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ แต่การดำเนินการมักเน้นเฉพาะเมื่อ เหยื่อเป็นคนจีนหรือกระทบต่อผลประโยชน์ของจีนโดยตรง รายงานจาก United States Institute of Peace (USIP) ระบุว่า นโยบายของจีนที่ส่งตำรวจไปประจำในประเทศที่มีปัญหา อาจเป็นเพียงเครื่องมือขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค มากกว่าความพยายามปราบปรามอาชญากรรมอย่างแท้จริง

พฤติกรรมของทุนจีนเทาในอาเซียนวันนี้ คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อจีนโพ้นทะเลบางส่วนเข้ามาประกอบธุรกิจผิดกฎหมายในภูมิภาคนี้ เช่น การลักลอบค้าฝิ่น หรือการตั้งแก๊งอาชญากรรม (อั้งยี่ซ่องโจร) ในศตวรรษที่ 18-19 แต่ในปัจจุบัน ขอบเขตของอาชญากรรมขยายกว้างขึ้นตามเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่การฟอกเงินหรือบ่อนการพนัน แต่ยังรวมถึง อาชญากรรมไซเบอร์และการค้ามนุษย์ออนไลน์ ที่ใช้แรงงานจากผู้ที่ถูกหลอกมาอีกทอดหนึ่ง

แม้เขตเศรษฐกิจพิเศษจะเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ แต่หากไม่มีการกำกับดูแลที่ดี ก็อาจกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของธุรกิจสีเทา สุดท้ายแล้วกำไรทางเศรษฐกิจอาจไม่คุ้มกับผลกระทบระยะยาว ทั้งในแง่ภาพลักษณ์ ความมั่นคง และเสถียรภาพของประเทศ

อ้างอิง

https://so04.tci-thaijo.org/index.php/ndsijournal/article/view/266487/179949

https://www.sscthailand.org/uploads_ssc/research_202403061709697308529335.pdf

https://www.thaipbs.or.th/news/content/348181

https://www.thaipbs.or.th/news/content/348062

https://thaipublica.org/2023/07/pundop111/  

https://transbordernews.in.th/home/?p=38975

Tags: , , , , , , , , , , , , ,