วันที่ 11 พฤศจิกายน 2023 เฟซบุ๊กแฟนเพจของสถานทูตจีนประจำประเทศไทยโพสต์ข้อความแสดงความไม่พอใจต่อสำนักข่าวไทยพีบีเอส (ThaiPBS) หลังเผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ โจเซฟ อู๋ (Joseph Wu) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน ที่วิจารณ์จีนต่อการกดดันในวาระการรวมชาติ
“ส่วนสื่อนี้ได้เสนอเวทีที่เผยแพร่คำพูดเหลวไหลให้แก่คนที่คิดจะแบกแยกไต้หวันออกจากประเทศจีน ซึ่งทำลายผลประโยชน์ของประเทศจีน และทำร้ายความรู้สึกของประชาชนจีน ฝ่ายจีนต้องแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำอย่างนี้อย่างรุนแรง
“เราหวังว่าสื่อที่เกี่ยวข้องเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยของจีน จะแก้ไขการกระทำที่ผิดพลาด และไม่ให้เรื่องที่ทำร้ายความรู้สึกของประชาชนจีนเกิดขึ้นอีก” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์จากสถานทูตจีนในไทย ก่อนวิดีโอดังกล่าวจะ ‘หายไป’ จากช่องยูทูบของไทยพีบีเอสอย่างไร้ร่องรอย
ทว่าสุดท้าย ปริศนาข้างต้นได้รับการคลี่คลายจากคณะกรรมาธิการต่างประเทศประจำวุฒิสภาไทยในวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการ ‘ขอความร่วมมือ’ จากไทยพีบีเอส เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายจีนเดียว (One China Policy) และรักษาความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคี
สิ่งที่เกิดขึ้นคือคำถามจากสาธารณชนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเสรีภาพของสื่อ ความเป็นอิสระของรัฐไทย หรือแม้แต่สถานะของไทยที่ ‘เป็นรอง’ จีนอย่างชัดเจน จนมีการเปรียบเปรยด้วยคำศัพท์เสียดสีอย่าง “มณฑลไท่กั๋ว” หรือ “ฐานทัพอเมริกาจะมากี่โมง”
หากพิจารณาถึงกรณีความขัดแย้งจากสถานทูตจีนในประเทศไทย ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังมีความน่าสนใจอย่างมากในการทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะท่าทีของสถานทูตจีนในประเทศไทยที่สอดคล้องกับทิศทางการต่างประเทศของจีน อันมีลักษณะแข็งกร้าวและตรงไปตรงมา นับตั้งแต่การขึ้นมาของ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีจีน ในปี 2012
The Momentum จึงรวบรวมข้อความจากสถานทูตจีนประจำประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 4 เหตุการณ์สำคัญดังต่อไปนี้
1. ดราม่านักแสดงวายสู่พันธมิตรชานม #ชานมข้นกว่าเลือด: เหตุจากถ้อยแถลงหลักการจีนเดียว
หากยังจำกันได้ ในปี 2020 สังคมไทยเคยเผชิญกับดราม่าระหว่างประเทศครั้งใหญ่ในแอปพลิเคชัน X หรือทวิตเตอร์ (Twitter) ในอดีต ภายใต้แฮชแท็ก #Nnevvy
เรื่องราวทั้งหมดนี้เริ่มจากการที่ ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี นักแสดงหนุ่มชื่อดัง ตกเป็นเป้าวิจารณ์จากแฟนคลับชาวจีน หลังโควตทวิตเรียกฮ่องกงว่าประเทศ และตามมาด้วยความเข้าใจผิดที่คิดว่า นิว-วีรญา สุขอร่าม อดีตแฟนสาวของวชิรวิชญ์มีอคติต่อคนจีน
นั่นจึงทำให้เกิดการปะทะฝีปากระหว่างชาวไทยกับชาวจีนบนทวิตเตอร์ นำไปสู่ความเคลื่อนไหวของโฆษกสถานทูตจีนในประเทศไทยที่ชี้ว่า การโต้เถียงดังกล่าวเกิดจาก ‘อคติ’ และ ‘ความไม่รู้’ ของคนบางกลุ่มที่ต้องการสร้างความแตกแยก และขอให้ทุกคนปฏิบัติตามหลักการจีนเดียว
“ดิฉันสังเกตพบว่า ในช่วงนี้มีการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ของทั้งประเทศจีนและประเทศไทย ก่อนอื่น ดิฉันขอเน้นย้ำว่า หลักการจีนเดียว เป็นหลักการที่ไม่ต้องสงสัย ฝ่ายจีนยืนหยัดคัดค้านบุคคลใดที่แสดงความคิดเห็นที่ผิดพลาดต่อหลักการจีนเดียว ไม่ว่าจะสถานการณ์ใดก็ตาม
“ความคิดเห็นส่วนบุคคลบนโลกออนไลน์สามารถสะท้อนอคติและความไม่รู้ของตนเท่านั้น แต่ไม่สามารถแสดงถึงจุดยืนที่มั่นคงของรัฐบาลไทยและความคิดเห็นกระแสหลักของประชาชนชาวไทยได้ คนบางกลุ่มบนโลกออนไลน์ใช้โอกาสนี้ทำให้เรื่องขยายใหญ่โตลุกลามออกไป พยายามวางแผนมุ่งร้าย ยุแยงเพื่อทำให้ผู้คนผิดใจกัน ซึ่งความคิดนี้จะไม่มีทางประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของโฆษกสถานทูตจีนในประเทศไทย
ถ้อยแถลงของสถานทูตจีนกลับนำมาสู่ดราม่าที่บานปลายกว่าเดิมในทวิตเตอร์ เมื่อผู้ใช้โซเชียลฯ ในไทย ไต้หวัน และฮ่องกง พยายามตอบโต้ ตั้งคำถามต่อพฤติกรรมของรัฐบาลจีนนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นลิดรอนสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ (Uyghur) ในมณฑลซินเจียง (Xinjiang) การสลายการชุมนุมเทียนอันเหมินในปี 1989
ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนให้เกิดขบวนการ ‘Free Hongkong’ และความเป็นรัฐชาติของไต้หวัน ผ่านแฮชแท็ก #MilkTeaAlliance และ #ชานมข้นกว่าเลือด ซึ่งมาจาก ‘วัฒนธรรมการดื่มชา’ ที่แต่ละประเทศที่ออกมาต่อสู้ล้วนใส่ ‘นม’ ลงไปในชา เป็นต้นว่า ชาดำใส่นมของฮ่องกง ชาเย็นสีส้มของไทย และชานมไข่มุกในไต้หวัน ขณะที่จีนไม่มีวัฒนธรรมดังกล่าว
ต่อมา มีผู้คนจำนวนมากที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวดังกล่าว เช่น โจชัว หว่อง (Joshua Wong) นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกงโพสต์ข้อความว่า จะรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียวกับพันธมิตรชานม ไม่ว่าจะต้องพบเจอความยากลำบากเพียงใด และปรากฏภาพสุดไอคอนิก ระหว่าง เฉิง เวินจาน (Cheng Wen-tsan) รองนายกรัฐมนตรีไต้หวันคนปัจจุบัน และผู้แทนไทยที่ร่วมดื่มชาไทยและชานมไข่มุกไต้หวันด้วยกัน
ภายหลัง พันธมิตรชานมกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตยของแต่ละประเทศ อีกทั้งยังขยายตัวไปในระดับภูมิภาค โดยมีประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่นิยมดื่มชา และฝักใฝ่ในเสรีภาพ ได้แก่ เมียนมาและอินเดีย
2. แม่น้ำโขง: ว่าด้วยการรายงาน ‘เท็จ’ ของสื่อหนึ่งต่อจีน
อันที่จริง สงครามน้ำลายเรื่องแม่น้ำโขงเกิดขึ้นบ่อยครั้งในออนไลน์ หลังมีการถกเถียงในเชิงวิชาการว่า จีนข้องเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะวิกฤตน้ำแห้งเหือดผ่านการสร้างเขื่อน และควบคุมน้ำในเขื่อนแม่น้ำโขงให้ได้ประโยชน์กับจีนเพียงผู้เดียว
ขณะที่ประเทศด้านล่าง ไม่ว่าลาว หรือไทย ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการควบคุมปริมาณน้ำดังกล่าว เห็นได้จากข้อความของสถานทูตสหรัฐอเมริกา U.S. Embassy Bangkok โพสต์สเตตัสเรื่อง ‘รักษ์แม่โขง’ ในปี 2020 โดยเน้นย้ำบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะ ‘มิตรที่ซื่อตรงต่อไทย’ ตลอด 200 ปีที่ผ่านมา และพร้อมช่วยเหลือไทย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจ คือการตอบโต้ระหว่างกลุ่มประชาสังคมกับสถานทูตจีนถึง ‘การรายงานความเท็จ’ ในเรื่องแม่น้ำโขง หลังสถานทูตจีนในไทยโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2019 ถึง ‘สื่อหนึ่ง’ ที่กล่าวหาจีนอย่างไร้หลักฐาน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
“สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยทราบข่าวมาว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สื่อมวลชนบางสื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาน้ำแม่น้ำโขง ด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์จีนอันเป็นเท็จ ซึ่งข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นไม่มีหลักฐานและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยมองข้ามความพยายามของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงจีนและไทยในการผลักดันความร่วมมือในด้านทรัพยากรน้ำแม่น้ำโขง เพื่อบำเพ็ญความสุขให้กับมวลประชาชนในภูมิภาค ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจที่ผิดเพี้ยน ซึ่งได้ทำลายบรรยากาศความร่วมมืออันดีในอนุภูมิภาคฯ” (อ่านต่อ)
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ การอนุรักษ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม การระเบิดแก่งหิน บทบาทของสถานีกำเนิดไฟฟ้า และข้อมูลอุทกวิทยา รวมถึงรายละเอียดความร่วมมือพหุภาคีของหลากหลายประเทศในการร่วมมือพัฒนาแม่น้ำโขง
“ดื่มน้ำแม่น้ำสายเดียวกัน ร่วมชะตากรรมแบ่งปัน” สถานทูตจีนปิดทิ้งท้าย โดยฝากให้ทุกฝ่ายไว้วางใจต่อกัน ขณะที่ทางการจีนพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อบรรลุให้แม่น้ำโขงกลายเป็นสายน้ำแห่งมิตร ความร่วมมือ และความเจริญรุ่งเรือง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มภาคประชาชน ‘เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง’ ชี้แจงผ่านประชาไทในเวลาต่อมาว่า ข้อความดังกล่าวของจีนมีปัญหาอย่างมาก และขัดกับการดำเนินงานในหลากประเด็น (อ่านต่อ)
“การดื่มน้ำแม่น้ำสายเดียวกัน” ไม่ได้เป็นการเชื่อมร้อยกันระหว่างรัฐต่อรัฐเท่านั้น การที่จะสร้างการมีส่วนร่วมในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนลุ่มน้ำโขง ต้องให้เกียรติ รับฟัง และมีความร่วมมือทั้งรัฐบาลและประชาชนลุ่มน้ำอย่างแท้จริง” เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงแถลงในประชาไท โดยระบุว่า พร้อมจะมอบข้อมูลหรือหลักฐานทั้งหมดในการหารือ และเน้นย้ำถึงการแย่งชิงทรัพยากรในแม่น้ำโขงเป็นสำคัญ
3. ต้นกำเนิดวลี ‘ด้อยค่า’: สถานทูตจีนชี้ซิโนแวคไม่ใช่ ‘วัคซีนคุณภาพต่ำ’ ขอให้คนไทยบางกลุ่มหยุดใส่ร้าย
ในปี 2020 ประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งใหญ่ นำไปสู่การเฟ้นหาวัคซีนเพื่อรักษาอาการป่วย โดยประเทศไทยภายใต้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เลือกวัคซีนชนิดเชื้อตาย ‘ซิโนแวค’ จากบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech., Ltd) สัญชาติจีน มาฉีดให้กับ ‘แนวหน้าทางการแพทย์’ ที่ต้องเผชิญศึกหนักก่อน
ทว่าสิ่งที่ตามมาคือข้อวิจารณ์อย่างล้นหลามในสังคมไทย โดยเฉพาะประสิทธิภาพของซิโนแวค หากเทียบกับ ‘งบประมาณ’ ที่ต้องเสียไป การจัดซื้อวัคซีนในห้วงเวลาดังกล่าวเต็มไปด้วยข้อครหา ทั้งการดำเนินการ ‘ล่าช้า’ และต้องเสียเงินซิโนแวคในราคาแพงเกินความจำเป็น ทั้งเต็มไปด้วยข้อกังขาว่าวัคซีนจีน มี ‘ประสิทธิภาพ’ มากเพียงใดในการสู้กับไวรัสโควิด-19
นั่นจึงทำให้โฆษกสถานทูตจีนในประเทศไทยออกโรงแถลงการณ์บนเฟซบุ๊กในวันที่ 3 กันยายน 2021 โดยระบุว่า องค์กรของไทยบางแห่ง ‘ด้อยค่า’ วัคซีนของจีนอย่างไร้หลักฐาน
“เมื่อเร็ว ๆ นี้ บางคนและบางองค์การของประเทศไทยได้ด้อยค่าและใส่ร้ายวัคซีนจีนโดยไม่มีเหตุผลใดๆ ซึ่งเป็นการกล่าวหามุ่งร้ายที่ไม่เคารพข้อมูลวิทยาศาสตร์และความเป็นจริง และเป็นการทำร้ายความหวังดีของฝ่ายจีนในการสนับสนุนประชาชนไทยต่อสู้กับโรคระบาด สถานทูตจีนจึงขอคัดค้านอย่างเด็ดขาด และเรียกร้องให้บุคคลและองค์การที่เกี่ยวข้องยุติการกระทำผิดอย่างร้ายแรงเช่นนี้” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ฉบับเต็ม
แม้จะมีประชาชนบางส่วนเห็นด้วยกับแถลงการณ์ของสถานทูต แต่ยังมีอีกกลุ่มที่ตั้งคำถามกับถ้อยแถลงดังกล่าวว่า ทำไมคนไทยจึงไม่สามารถตั้งคำถามกับภาษีของตนเองได้ โดยเฉพาะหากใช้ในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ
โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักเขียนและนักวิชาการอิสระตอบกลับไว้ในเวลานั้นว่า “เงินประชาชนไทยซื้อจากเอกชนจีน ทำไมเจ้าของเงินจะไม่มีสิทธิวิจารณ์ครับ”
4. ทุนจีนสีเทา: เมื่อคนบางกลุ่มแอบอ้างเพื่อทำลายความสัมพันธ์ ‘ไทย-จีน’
ปิดท้ายด้วยเรื่อง ‘ทุนจีนสีเทา’ แม้จะไม่ได้รุนแรงเท่า 4 กรณีที่ผ่านมา แต่ข้อความดังกล่าวกลับเผยให้เห็นความดุดันของการทูตจีนที่เผยผ่านข้อความในเฟซบุ๊กเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ สถานทูตจีนประจำประเทศไทยโพสต์ข้อความตอบคำถามสื่อมวลชนในวันที่ 2 มีนาคม 2023 ถึงการร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยกับจีนว่า รัฐบาลจีนขอความร่วมมือชาวจีนในต่างประเทศให้ปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ โดยเผยว่า ชาวจีนกลุ่มนั้นร่วมมือเป็นอย่างดี และ “สร้างคุณูปการอันใหญ่หลวง” แก่เศรษฐกิจของไทย
นอกจากนี้ สถานทูตจีนในไทยยังระบุว่า ทางการพร้อมจะสนับสนุนไทยให้ดำเนินคดีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการพนันออนไลน์ กลุ่มคอลเซ็นเตอร์ ทว่าอยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า การกระทำดังกล่าวเป็นของคนบางส่วนเท่านั้น ไม่ใช่ภาพแทนของชาวจีนทั้งหมด ซึ่งเหล่านี้คือการขัดขวางความร่วมมือทวิภาคี
“สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ มีกลุ่มอิทธิพลที่สามพยายามใช้ปัญหานี้เพื่อใส่ร้ายป้ายสีประเทศจีน และทำลายความร่วมมือฉันมิตรระหว่างจีน-ไทย ซึ่งฝ่ายจีนจะคัดค้านอย่างเด็ดขาด และจะร่วมกับประชาชนชาวไทยทั้งหลายเพื่อรักษาแนวโน้มการพัฒนาที่ดีของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ” ส่วนหนึ่งจากคำตอบทั้งหมด
เช่นเดียวกับแถลงการณ์ในเว็บไซต์สถานทูตจีนประจำประเทศไทย เมื่อ หาน จื้อเฉียง (Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย แสดงความคิดเห็นคล้ายกันในเดือนกรกฎาคม 2023
อ้างอิง
https://adaymagazine.com/milk-tea-alliance/
https://www.matichon.co.th/foreign/news_4278514
https://prachatai.com/journal/2020/04/87204
https://www.thairath.co.th/entertain/news/1818614
https://prachatai.com/journal/2019/07/83302
https://prachatai.com/journal/2023/07/104857
Tags: เสรีภาพสื่อ, One China Policy, One China, INFO, Infographic, สถานทูตจีนในประเทศไทย, สหรัฐอเมริกา, Wolf-Warrior Diplomacy, ไต้หวัน, พันธมิตรชานม, แม่น้ำโขง, Indo-Pacific, โจชัว หว่อง, ThaiPBS, จีน, ไบร์ท วชิรวิชญ์, ไทย, Milk Tea Alliance