ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมือง ‘คึกคัก’ เป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักงาน ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเรื่องวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรี และเรื่องพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ที่ลงตัวด้วยการ ‘หาร 100’ ปิดประตูการทำงานของบรรดาพรรคเล็กให้ยากยิ่งขึ้น จาก 7 หมื่นคะแนนต่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ไปเป็น 2 แสนคะแนนต่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน

ด้วยเหตุนี้ ความเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคจึงทยอยเปิดหน้า ‘แคนดิเดต’ นายกรัฐมนตรีของตัวเองออกมา ทยอยขายนโยบายพรรครอบใหม่ เพื่อเป็นการโหมโรงหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจนนำไปสู่การ ‘ยุบสภาฯ’ ที่เร็วกว่ากำหนด

สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ไม่ว่าจะ ‘ช้า’ เพียงไหน ถึงอย่างไรก็น่าจะได้เลือกกันไม่เกินเดือนเมษายนปีหน้า

ทั้งหมดนี้ คือโฉมหน้าค่าตาของบรรดาแคนดิเดตนายกฯ ที่ปรากฏกายให้เห็นสำหรับบรรดาคนอยากเลือกตั้ง และเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดที่น่าจับตาสำหรับทุกพรรคการเมือง

1. พรรคเพื่อไทย

จนถึงวันนี้ พรรคเพื่อไทยยังคงเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด มี ส.ส.มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร และอาจมี ‘ความพร้อม’ มากที่สุด พรรคหัวหอก ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ พรรคนี้ เพิ่งเปลี่ยนโครงสร้างใหญ่เมื่อปลายปี 2563 ภายหลัง คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลาออกจากพรรค และตามมาด้วยการเปิดตัว อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร เป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยในช่วงปลายปี 2564

แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยจะส่ง ‘อิ๊งค์’ เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค อย่างไรก็ตาม ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พรรคสามารถส่งแคนดิเดตได้ 3 คน และแน่นอนเช่นกันว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งจนครบ โดยมีรายชื่อของ เศรษฐา ทวีสิน จากกลุ่มแสนสิริ เป็นอีกรายชื่อหนึ่ง ส่วนอีกรายชื่อยังคงเป็นปริศนา โดยในวันที่ 10 กันยายนนี้ พรรคเพื่อไทยเตรียมเปิดตัวนโยบายชุดใหญ่ในงานครอบครัวเพื่อไทยที่จังหวัดเชียงใหม่

2. พรรคก้าวไกล

ปัจจุบัน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกาศตัวพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีในทุกเวที โดยพร้อมส่งต่อ ‘ดีเอ็นเอ’ แบบก้าวไกล ซึ่งว่าด้วยการจัดการเรื่อง ‘โครงสร้าง’ การทลายทุนผูกขาด และการกระจายอำนาจอย่างขุดรากถอนโคน จนถึงวันนี้ พิธายังคงเป็นแคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวที่โดดเด่น และหากยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ก้าวไกลน่าจะส่งรายชื่อเดียว เหมือนกับที่พรรคอนาคตใหม่ส่ง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพียงหนึ่งรายชื่อเมื่อปี 2562

อย่างไรก็ตาม สูตรหาร 100 จะกระทบกับพรรคก้าวไกลไม่น้อย เพราะ ส.ส.จำนวนมากของพรรคขณะนี้ได้อานิสงส์จากระบบ ‘บัตรใบเดียว’ เดิม และได้มาจากคะแนนปาร์ตี้ลิสต์เป็นถุงเป็นถัง ทำให้สมรภูมิของก้าวไกลต้องไปสู้กันที่เขตเลือกตั้ง ที่เพิ่มจาก 350 เขต เป็น 400 เขต พรรคก้าวไกลมีกำหนดการ ‘เซอร์ไพรส์’ ใหญ่ในวันที่ 9 กันยายน 2565 โดยจะมีการเปิดตัว ส.ส.จำนวนหนึ่ง และเปิดตัวชุดนโยบายเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งรอบหน้า

3. พรรคภูมิใจไทย

หนึ่งในคนที่ดูกระตือรือร้นมากที่สุดและประกาศตัวพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี คือ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พรรคภูมิใจไทยกลายเป็นพรรคใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ และการ ‘ดูด’ ส.ส.จำนวนมาก แน่นอนว่าการเลือกตั้งรอบหน้า พรรคภูมิใจไทยมีสิทธิได้ ส.ส. มากกว่าเดิม โดยหวังเก็บ ส.ส.ภาคอีสาน ภาคใต้ตอนบน และภาคใต้ฝั่งอันดามันเพิ่มเติม

สิ่งที่ภูมิใจไทยถูกจับตามองก็คือ พรรคนี้กลายเป็นพรรคที่สามารถเป็น ‘รัฐบาล’ ได้ ไม่ว่าข้างไหนจะได้รับเลือกเป็นรัฐบาล และด้วยอำนาจต่อรองดังกล่าว ทำให้ภูมิใจไทยมักจะได้ ‘ว่าการ’ กระทรวงดีๆ หลายกระทรวง เช่นครั้งนี้ที่ได้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงสาธารณสุขไว้ในมือ ไม่แน่ว่ารอบหน้า ด้วยจำนวน ส.ส.ในมือ และด้วยอำนาจพิเศษของการเป็น‘คนกลาง’ อาจส่งอนุทินขึ้นสู่ฝั่งฝันก็เป็นได้

4. พรรคประชาธิปัตย์

รอบนี้ พรรคประชาธิปัตย์หวังว่าจะคืนความยิ่งใหญ่ในระดับ 100+ ที่นั่ง เช่นเดียวกับในอดีต เป็นการคืนชีพจากเดิมที่เคยมี ส.ส.สูงสุด 165 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งปี 2554

ในปี 2562 ประชาธิปัตย์มี ส.ส. เพียง 53 ที่นั่ง ตามมาด้วยการ ‘ผลัดใบ’ เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และหวังว่าจะฟื้นความยิ่งใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ ภาคใต้ รวมถึงภาคกลางบางส่วนที่เคยเป็นฐานของพรรคประชาธิปัตย์ได้

แต่เรื่องไม่ได้ง่ายขนาดนั้น พรรคประชาธิปัตย์ต้องเจอคู่แข่งสำคัญที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันอย่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐ ที่ล้วนหวังแต่จะเจาะพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งภูมิใจไทยมีฐานจากจังหวัดกระบี่ และอาจขยายเพิ่มเติมไปยังสองจังหวัดท่องเที่ยว คือจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา ขณะที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดนครศรีธรรมราช อีกสองจังหวัดใหญ่ ก็มีฐานอันเหนียวแน่นจากพรรคพลังประชารัฐและบรรดาคนรักพลเอกประยุทธ์ตรึงพื้นที่ไว้

5. พรรคสร้างอนาคตไทย

ในบรรดาพรรคเกิดใหม่ ‘สร้างอนาคตไทย’ ดูมีความพร้อมมากที่สุด ทั้งด้วยฐานที่แน่นหนาจากบรรดาอดีตแกนนำพรรคพลังประชารัฐเดิม และจากบรรดา ส.ส.ที่ย้ายพรรค ย้ายข้าง มารวมตัวกัน อีกทั้งยังมีแคนดิเดตนายกฯ อย่าง ‘เฮียกวง’ – สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ว่ากันว่ายังพอมี ‘บารมี’ มากพอในการกล่อมกลุ่มทุนให้พร้อมลงทุนให้พรรคเกิดใหม่อย่างสร้างอนาคตไทย

คำถามสำคัญที่พรรคต้องตอบก็คือ ณ วันนี้ ‘เฮียกวง’ ยังขายได้อยู่หรือไม่ โดยหากนับช่วงเวลาที่สมคิดเจิดจรัสที่สุดคือที่พรรคไทยรักไทยนั้นเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ซ้ำยังมีภาพที่ติดอยู่กับพลเอกประยุทธ์นานกว่า 6 ปี ซึ่งด้วยกติกาหาร 100 บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่างก็จำเป็นต้องเลือกคนที่น่าสนใจที่สุด และยังต้องยืนยันจุดยืนให้ชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะภาพการไม่เอา ‘พลเอกประยุทธ์’ เพื่อล้างภาพเดิมๆ ออก ทั้งหมดเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายเลย

6. พรรคชาติพัฒนา

จากพรรคที่เคยใหญ่ มี ส.ส.กว่า 60 คนในปีแรกที่ตั้งพรรค สู่พรรคที่มี ส.ส.เพียง 3 คน ชาติพัฒนาภายใต้ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรค เตรียมกลับมาหาทางใหญ่ที่สุดอีกครั้ง โดยจับมือกับ กรณ์ จาติกวณิช อดีตหัวหน้าพรรคกล้า ภายใต้ฝีมือการดีลของ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตประธานยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคกล้า ดึงกรณ์มาเป็นหัวหน้าพรรค และมีแววเป็น ‘แคนดิเดตนายกฯ’ ของพรรค โดยคาดว่าดีลดังกล่าวจะจบภายในสัปดาห์นี้ และจะตามมาด้วยการทยอยย้ายพรรคครั้งใหญ่ของสมาชิกพรรคกล้าให้ตามมาที่พรรคชาติพัฒนา

แน่นอน นี่เป็นความพยายาม ‘เอาตัวรอด’ ของทั้งสองพรรค ภายใต้กติกาทางการเมืองแบบใหม่ที่ว่าด้วยการหาร 100 โดยฝั่งพรรคกล้าเดิมตั้งใจเก็บ ส.ส.กรุงเทพฯ และ ส.ส.ภาคใต้ ขณะที่ฝั่งชาติพัฒนาจะเก็บเสียงในภาคอีสาน ด้วยระบบนี้ แน่นอนว่าทั้งสองพรรคตั้งใจจะมี ส.ส.เกิน 25 คนเพื่อส่งกรณ์เข้าบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาร่วมกันเลือก แต่เป้าหมายดังกล่าวยังคงไม่อาจจบได้ง่ายๆ

7. พรรคไทยสร้างไทย

พรรคนี้ถือเป็นพรรคที่แยกตัวจากพรรคเพื่อไทย โดยหลังจากความขัดแย้งระหว่างคุณหญิงสุดารัตน์ และแกนนำพรรคเพื่อไทยชุดปัจจุบัน คุณหญิงสุดารัตน์ได้ดึงสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางส่วน รวมถึงจีบบรรดา ส.ส.กรุงเทพฯ บางคนให้เข้ามาร่วมที่พรรคไทยสร้างไทย โดยชูจุดขายที่นอกเหนือจากตัว ‘คุณหญิงหน่อย’ แล้ว ยังชูภาพเศรษฐกิจทันสมัยและการเสริมสร้างรายได้ให้คนตัวเล็ก โดยคุณหญิงหน่อยบอกว่าเป็น ‘ภารกิจสุดท้าย’ ในทางการเมืองของตัวเอง

น่าเสียดายที่สนามการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) กลายเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของเจ้าแม่ กทม. ทำให้ ว่าที่ ส.ส.บางส่วนตัดสินใจทั้ง ‘ย้ายกลับ’ และ ‘ย้ายออก’ ขณะเดียวกัน ก็มีส่วนทำให้ไทยสร้างไทยหาทาง ‘รวมพรรค’ และสร้างดีลใหม่กับบรรดาพรรคขนาดเล็กและพรรคขนาดกลางด้วยกัน เพื่อให้มีโอกาสได้ ส.ส.มากขึ้น และส่งคุณหญิงหน่อยเป็นอีกหนึ่งแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีรายชื่อ

8. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ

แน่นอนว่าภาพของทั้งสองส่วนล้วนมีความ ‘เบลอ’ เพราะแม้พลเอกประยุทธ์จะเป็นนายกฯ รอบนี้ ตามบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ แต่จนถึงวันนี้ อีกไม่กี่เดือนจะถึงวันเลือกตั้งใหม่ พรรคพลังประชารัฐก็ยังไม่ยืนยันว่าจะส่งพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกรอบ ด้วยสาเหตุสำคัญคือเรื่องการตีความวาระ 8 ปี พลเอกประยุทธ์ ที่ยังอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ และอีกส่วนคือความขัดแย้งที่ว่ากันว่า ‘มีจริง’ ระหว่างพลเอกประยุทธ์ กับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ก่อนหน้านี้มีข่าวลือว่ามีความพยายามยื้อแย่งพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดต ระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคใหม่อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ก็มีเงาของพลเอกประยุทธ์อยู่เบื้องหลังเช่นกัน แน่นอนว่าพลเอกประยุทธ์หนุนสูตร ‘หาร 500’ เพื่อให้ตัวเองมี ‘ทางเลือก’ เพิ่ม ขณะที่ พลเอกประวิตรหนุนสูตร ‘หาร 100’ เพื่อให้พลเอกประยุทธ์อยู่กับตัวเองต่อไปในการเลือกตั้งรอบหน้า

ด้วยเหตุนี้ ความชัดเจนของพลเอกประยุทธ์จึงเต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้น หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้วาระ 8 ปี เริ่มต้นที่ปี 2560 จะทำให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้อีกเพียง 2 ปี อาจไม่มีพรรคใดกล้าเสนอชื่อ หากพลเอกประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ต่อ จึงมีทางเลือกเดียวคือทำให้วาระ 8 ปี เริ่มต้นที่ปี 2562 เท่านั้น…

Tags: , ,