หรือตอกหูก็ไม่รู้ เพราะลิ่ม หรือตะปู หรือหมุดในมือซ้าย จิ้มอยู่ใกล้หูเสียเหลือเกิน มือขวาของนางถือค้อนเตรียมฟาดลงมา ค้อนอย่างเดียวก็น่าจะเอาอยู่ คงอยากจะตอกตรึงกันให้รู้แล้วรู้รอด แล้วแม่ทัพหนุ่มนอนเหยียดเปลือยน่องไม่รู้เนื้อรู้ตัวคนนี้ ไปทำเลวระยำอันใดหนอถึงต้องมาเจอกรรมปานนั้น

ลองหาอ่านในพระคัมภีร์ฉบับเก่าดู (Jael and Sisera)

ภาพถูกใช้ประชาสัมพันธ์นิทรรศการ Artemisia: Héroïne de l’art (อาร์เตมีเซีย วีรสตรีแห่งศิลปะ) แหม! ตั้งชื่อเสียอล่างฉ่าง นึกว่าจะมีแต่บ้านเราที่พอทำชอบนิด ก็ยกเป็นวีรบุคคล พอทำชั่วหน่อย ก็เป็นไอ้เวรตะไล

แล้วจิตรกรอิตาเลียนนางนี้ เธอไปมีกุศลกรรมอะไรจึงขึ้นแท่นขนาดนั้น

ไม่ใช่เพราะผู้จัด นิทรรศการเองอยู่ในระลอกเพศหญิงกำลังมาแรงอย่างที่รู้กัน ก่อนหน้าพิพิธภัณฑ์ Jacquemart-André พิพิธภัณฑ์ Musée Maillol ก็เคยโชว์ผลงานนางนานกว่าสิบปีมาแล้ว

โน่น ต้องไปเปิดดูตำราประวัติศาสตร์ศิลปะรุ่นศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 แล้วจะพบว่า ศิลปินเพศแม่นับจำนวนคนได้เลยในแต่ละยุคสมัย ทั้งๆ ที่ลองคุ้ยลองขุดจริงจัง รุ่นเดียวหรือใกล้เคียงกันกับอาร์เตมีเซีย มีจำนวนไม่น้อยเชียว แจงดูหน่อยให้เปลืองบรรทัดเล่น ออร์โซลา มัดดาเลนา คัดเซีย (Orsola Maddalena Caccia), เฟเด กาลิเซีย (Fede Galizia), โซโฟนิสบา อังกิสโซลา (Sofonisba Anguissola), ลาวิเนีย ฟอนตานา (Lavinia Fontana), โจวานนา การ์โซนี (Giovanna Garzoni), ไดอานา เดอ โรซา (Diana de Rosa) และเวอร์จิเนีย เวซซี (Virginia Vezzi)

นั่นสิ แล้วไหงไม่ค่อยรู้จักหน้าค่าตาชื่อเสียงเรียงนามกันเลย ไอ้ครั้นจะโทษบรรดาผู้เขียนประวัติศาสตร์ศิลปะ (ซึ่งก็ชายเสียมาก) ก็คงจะไม่งามเท่าไร ก็ในเมื่อ ยุคสมัย นับแต่ผู้ปกครองพื้นที่ ผู้อุปถัมภ์ ผู้ถ่ายทอด ล้วนนิยามด้วยปิตาธิปไตย แล้วคอมมิสชันงานสำคัญจะมาถึงมือบรรดาสตรีศิลปินได้อย่างไร และถึงจะหล่นร่วงมาถึง ผลงานเหล่านั้นก็หาใช่ระดับที่ประวัติศาสตร์ศิลปะชายนำจะเชิดขึ้นแถวหน้าเป็นมาสเตอร์พีซให้จดจำตามตำรา

หากจะบ่นอะไรทำนองนี้กับกรณีอาร์เตมีเซีย กรอกหรือตอกหูปาวๆ เรื่องสิทธิสตรี คงทำได้แค่ตีแผ่ความรู้ทั่วไปโดยไม่เห็นว่านาง ‘ดัง’ จากอะไร ‘เด่น’ ด้วยอะไร ทั้งนางและพ่อ (ออราซีโอ เจนตีเลสกี: Orazio Gentileschi) ต่างทำงานให้ลูกค้าจากรั้ววัง ชื่อเสียงพ่อไปไกลถึงอังกฤษ ทั้งพ่อและลูกสาวถูกจัดให้อยู่ในกระแส Caravaggism คือดำเนินรอยตามสไตล์ของจิตรกรลือชื่อ คาราวาจจิโอ (Caravaggio) ที่ให้แสงเงาจัดจ้านตัดต่าง ไม่รู้กลางวันหรือกลางคืน บอกลำบากว่าที่ไหน ขับเน้นดราม่าตรงพื้นหน้า

ร่มเงาและชื่อของคาราวาจจิโอพลอยกลบคนอื่นๆ ไปไม่มากก็น้อย ตระกูลเจนตีเลสกีเลยปรากฏมาหย็อมแหย็มประปรายในตำราศิลปะ คือพอให้รู้ว่ามีตัวตน

อาร์เตมีเซียนั้นเล่า ผลงานอาจไม่เท่า ‘ครู’ ทั้งสอง คือคาราวาจจิโอที่ตนอ้างอิงถึง และพ่อตนเองที่สอนสั่งมาแต่แรก ทว่าชีวประวัติก็ช่วยขับแสงขึ้นแท่นจากความฉาวโฉ่ขึ้นโรงขึ้นศาล เมื่อ ‘ครู’ อีกคนซึ่งเป็นเพื่อนพ่อและพ่อจ้างวานมาสอนลูกสาววัยแตกเนื้อสาว ช่วยสอนอย่างอื่นนอกไปจากศิลปะ และนานเป็นปี… จนต้องแจ้งความ จะ ‘ข่มขืน’ หรือ ‘พรากพรหมจรรย์’ แบบที่นักประวัติศาสตร์เรียกกัน แต่การไต่สวนสมัยนั้นในพื้นที่นั้นมิวายต้องรุนแรง ทั้งตรวจภายในนาง ทั้งทรมานแบบ Sibili คือใช้เชือกรัดนิ้วเข้าด้วยกัน บีบดึงเอาความจริง… แม่เจ้า! เจ็บปวดแทน คดีกำกวม ลงเอยที่พ่อจับแต่งกับชายอื่น ส่วนเจ้าเพื่อนพ่อเหมือนจะลอยนวลในที่สุด

แล้วจะไม่ให้วาดฉากหฤโหดตอกหมุดกะโหลกชายไปได้ไง ใช่ไหม?

เปล่าหรอก มันไม่ได้อธิบายง่ายดายแบบนั้น อาร์เตมีเซียไม่ได้ระบายความคับแค้นขุ่นเคืองลงบนผ้าใบแบบที่มักตีความกันรวบรัดเบ็ดเสร็จสุ่มสี่สุ่มห้า แม้หัวข้องานจำนวนมากจะเป็นเรื่องเอาคืนเพศผู้ ฉากจูดิธเฉือนหัวแม่ทัพโฮโลเฟอร์นีสมีจำนวนไม่น้อย ภาพแสดงสตรีคงดังในตำนานก็อีก คลีโอพัตรา ดานาเอ แมรีมักดาเลนา หรือซูซานนาถูกสองเฒ่าข่มขู่

ภาพซูซานนาเปลือยตรงฉากหน้า ปัดป้องคำขู่ของเฒ่าหื่นกาม เป็นภาพจำหรือโลโก้ของอาร์เตมีเซียก็ว่าได้ เพราะเป็นภาพตอนต้นวิชาชีพ ซ้ำยังใกล้เวลาเกิดคดีฉาว แต่สำคัญสุดคือเพียบพร้อมสมบูรณ์ตามรูปแบบจิตรกรรมคลาสสิก ทั้งกายวิภาค สีสัน องค์ประกอบ หมดจดเกลี้ยงเกลา

อนิจจา อุตส่าห์มาไกลถึงปารีส ดันเป็นภาพเดียวที่ห้ามถ่ายรูป กลายเป็นภาพต้องห้ามเสียงั้น!

ไม่ได้เสียหายอะไรต่อการพินิจพิเคราะห์ชมด้วยตา เรื่องน่ารำคาญคือนิทรรศการขนาดย่อม จำกัดพื้นที่ แต่ไซซ์งานที่มาโชว์นี่สิ หลายภาพขนาดฝาบ้าน (ว่าไปนั่น!) จำนวนไม่น้อยเรียกร้องให้ต้องยึดระยะ ไอ้ครั้นจะหาระยะ มันต้องมีพื้นที่ แค่ที่มีอยู่ก็แทบหายใจรดต้นคอกันอยู่แล้ว เหมือนดูหนังแต่จองได้แถวหน้า คอตั้งบ่า พอแยกมามองไกล ก็จะมีหัว ตัว ร่างผู้ชมอื่นๆ คอยคั่นขัดบังภาพรวม

อาร์เตมีเซียฝีมือไม่ด้อยชายและหญิงและกะเทย พอจัดวางตนเองลงในกระแส Caravaggism โครงงานจากภาพหนึ่งไปอีกภาพเลยตีตราลายเซ็นซ้ำไปมา คือไม่แสดงรายละเอียดของพื้นหลังที่เรียบไปเลยจนไม่รู้แห่งที่ ครึ้มมืดสลัวมัวพร่าเสียส่วนใหญ่ หรือหากจะเจาะแบ็กกราวนด์ให้เห็นภายนอกบ้าง ข้างนอกก็สลัวมัวมืดครึ้มอย่างเดิม พอไม่มีอะไรชักชวนสายตาให้เถลไถล ทุกอย่างเลยโฟกัสมาที่บุคคลข้างหน้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ (ซึ่งก็เป็นเช่นนี้กับงานของคาราวาจจิโอเองเช่นกัน) แล้วจึงจะเห็นความลักลั่นไม่เท่าเทียมของงานแต่ละชิ้น ไม่ได้งามงดไปทุกชิ้น ไม่ได้ตรึงตราไปหมดยามที่คลังความจำโยงไปยังจิตรกรอื่นและผลงานอื่น

ภาพขนาดเล็กบางภาพกลับ ‘พิเศษ’ ด้วยหลากเหตุผล เช่น ดานาเอนอนเปลือยแผ่รับฝนทองที่ตกลงมาโปรยปรายตามเนื้อตัว จูปิเตอร์ช่างขี้เล่นเสียจริง คิดได้ไงแปลงเป็นฝนทอง อาร์เตมีเซียแปลงฝนทองเป็นเหรียญทองโรยลงร่างล่อนจ้อนของดานาเอ ซ้ำวาดลงบนแผ่นทองแดงขนาดย่อมสำหรับความสำราญส่วนตนของผู้ว่าจ้าง สันนิษฐานกันว่า น่าจะมีม่านเล็กปิดบังภาพไว้อีกชั้น ก็มันของส่วนตัว!

อีกภาพหนึ่งวาดโดยจิตรกรจำชื่อไม่ได้แล้ว ขนาดไม่กี่เซนติเมตร เป็นงานลายเส้นวาดไว้ในกลุ่มภาพเหมือนจิตรกรชายอื่นๆ ที่แปลกและไม่แปลกแตกกลุ่ม คือแปลงอาร์เตมีเซียเป็นชาย กลายเป็นเควียร์เสียงั้น ตีความไม่ยากว่าเท่ากับยกไว้เท่าเทียมจิตรกรชายทั้งหลาย ยังไงก็อดคิดไม่ได้ว่า แล้วทำไมไม่แปลงบรรดาแมนทั้งหลายนั้นให้กลายเป็นกะเทยบ้างนะ หากทำจริง แปลว่าเพิ่มค่าความเป็นชาย หรือลดทอนคุณค่า? ชายๆ เหล่านั้นจะยอมเห็นตนเป็นหญิงไหม?

ด้วยคดีอื้อฉาวที่ทำให้อาร์เตมีเซียเป็นเหยื่อกามารมณ์และเหยื่อสังคม (ทั้งที่เราไม่อาจรู้ ‘ความจริง’ แน่ชัด แม้จะมีบันทึกการไต่สวน และแม้จะรู้พฤติกรรมของ ‘ผู้’ ที่ประกอบวีรกรรมจัญไรอื่นๆ อีก) ด้วยหัวเรื่องภาพจำนวนไม่น้อยแสดงฉากสตรีสังหารบุรุษ (จูดิธ) จนเลือดนองกระฉูด หรืออัตวินิบาตกรรมของคลีโอพัตรา ของลูเคลเชีย แล้วจะแปลกอะไรเมื่อกระแสเฟมินิสต์จะยึดอาร์เตมีเซียเป็นอีกหนึ่งในบรรดาสัญลักษณ์ความคิดเรื่องสตรีเพศ ฝ่ายต้านคานน้ำหนักก็งัดเอาเหตุผลโบราณเรื่องการทาบความคิดสมัยใหม่ลงระนาบศิลปกรรมศตวรรษที่ 17 อย่างนั้นคงต้องทำแบบละครหรือนิยายไทยที่เอะอะก็ย้อนยุคข้ามเวลาเป็นว่าเล่น แต่การย้อนเวลาแนะในตัวว่าประวัติศาสตร์ถูกขุดจากสายตาต่างเวลา อ่านและวิเคราะห์จากห้วงเวลาต่างกันพื้นที่ต่างกัน มีประวัติศาสตร์ใดอะไรบ้างที่ลงตัวกับตัวมันเอง กลืนเป็นผืนเดียว ทอถักโดยไม่มีด้ายหลุดลุ่ย ยูโทเปียเกินยูโทเปียล้ำยูโทเปีย

จะเป็นวาทกรรมเฟมินิสต์พร้อมโฟกัสจำเพาะ หรือจะเป็นจิตวิเคราะห์ที่พาไปไกลปลิ้นหน้าปลิ้นหลัง กลับขาวเปลี่ยนดำ หรือจะเป็นการตีความอื่นๆ ที่จะปู้ยี่ปู้ยำกับกรณีอาร์เตมีเซีย (มาถึงตอนนี้ ยังมีอะไรที่ขาวผ่องสะอาดเป็นยองใยไม่ติดเชื้อพันธุ์ความคิดอื่นใด ยังมีอยู่อีกหรือ) ก็น่าจะดีกว่าประวัติศาสตร์ศิลป์สายแข็งที่อิงกับข้อมูลจนได้ Catalogue Raisonné และไม่เหลือหลืบร่องช่องอะไรให้ไปต่อ จบที่ข้อมูลและข้อคิดบางเบา เจือด้วยการอ่านองค์ประกอบภาพพอให้ชื่นใจว่าทำแล้ว (เรียงบุคคลตามเส้นทแยงมุม สีเอิร์ธโทน พลวัตจากวงโค้งของเส้นสายตา …โอ๊ยยยยย)

ทุกกระบวนทัศน์ล้วนมีขีดจำกัดและน้ำหนักในตัว ไม่ว่าเฟมินิสม์หรืออื่นๆ ก็ตาม ด้านหนึ่งก็จริงที่ ‘ภาพจำ’ ผลงานของอาร์เตมีเซียดันเทไปยังภาพรุนแรงที่เพศแม่เหมือนจะแก้คืนแค้นเพศพ่อดังภาพประชาสัมพันธ์นิทรรศการ แต่ทำไมไม่ลองมองกลับและมองควบคู่ว่า อาร์เตมีเซียนางก็ไม่ได้วาดแค่เพศแม่ มีภาพเพศชายอยู่จำนวนมาก ชายในบางภาพก็ยังไม่รู้เพศตนเสียด้วยซ้ำ (ภาพอาคิลีสเลือกระหว่างอาวุธสงครามหรือเครื่องประดับสตรี คิดอยู่คนเดียวว่า นี่ถ้าอาคิลีส ‘นาง’ เลือกเครื่องประดับ สงครามกรุงทรอยจะจบไงหว่า… ใครจะมาแทนที่วีรบุรุษที่เผลอไปเป็นเควียร์เสียแล้ว)

และอีกด้านหนึ่ง กระแสเฟมินิสต์จะว่าไงกับบรรดาภาพผู้หญิงเปลือยโป๊ที่อาร์เตมีเซียตีแผ่ให้ลูกค้าบุรุษ เอาร่างหญิงมาเป็นเหยื่อเซ่นสายตาชาย หรืออาร์เตมีเซียรู้ที่จะ ‘ทรยศ’ เฟมินิสม์ไปแล้วล่วงหน้า? หรืออาร์เตมีเซียจะเสรีนิยมมากจนคิดได้นานนมแล้วว่า กายร่างเป็นของ ‘ฉัน’ จะจัดการยังไงก็อยู่ในเจตจำนงของ ‘ฉัน’? พูดง่ายๆ คือ Contemporary กับ Contemporary ตอนนี้ไปนานแล้ว

ไม่รู้ใครที่เชยวินเทจ

พล็อตประวัติศาสตร์รวมถึงประวัติศาสตร์ศิลปะ ชื่นชอบย้ำการขัดขืน ต่อสู้ ฝ่าฟัน ดิ้นรน จากเหตุและปัจจัยรายล้อม ยิ่งมีคดีติดตัว ยิ่งไต่เต้าจนได้ผลงานมากมาย เชื้อดราม่ายิ่งทวีคูณ ‘ผู้เขียนบท’ ก็จะขับเน้นความด้อยที่กลายเด่น ความอับอายเป็นชื่อเสียง จากหญิงมีราคีเป็นสตรีมีราคา จากนางแถวหลังขยับย้ายมาด้านหน้า แต่ครั้นจะยัดธงชัย ‘วีรสตรีแห่งศิลปะ’ ลงในมืออาร์เตมีเซีย คงต้องหาระยะที่ลมหายใจไม่รดคอกัน มุ่งมองใคร่ครวญในมุม ‘แห่งศิลปะ’ de l’art, of art ว่าศิลปะมีชัยในนามอาร์เตมีเซียที่ปลดเปลื้องศิลปะพาไปอีกก้าว(?) หรือว่าในนามของอาร์เตมีเซียมีเฉดเพศแม่ช่วยตอกกะโหลกเพศผู้ ให้รู้ว่ามีตัวตน

ในนาม Artemisia มี Artemis หรือจันทราเทวี เทวนารีผู้ถือพรหมจรรย์

ช่วยได้มั้ย?

Fact Box

  • นิทรรศการ Artemisia: Héroïne de l'art จัดแสดงที่ Musée Jacquemart-André กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม-3 สิงหาคม 2025
  • สำหรับคดีอื้อฉาวของอาร์เตมีเซียและบทวิเคราะห์ภาพซูซานนา อ่าน สายัณห์ แดงกลม, “กรณี Susanna คดี Artemisia”, ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 26, ฉบับที่ 10, สิงหาคม 2548, หน้า 136-154.
Tags: , , , , , , ,