นอกจากต้องต่อสู้กับข่าวปลอม (fake news) เพื่อเรียกคืนความน่าเชื่อถือของ ‘ข่าว’ ในยุคดิจิทัล ที่ทุกอย่างดูจริงได้ด้วยเทคโนโลยี และน่าเชื่อถือได้ด้วยยอดชม ยอดการเข้าถึง และการมีส่วนร่วม สื่อทั่วโลกยังต้องอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับการเลี้ยงตัวให้รอดในยุคที่ทุกอย่างดูเสมือนฟรีในโลกอินเทอร์เน็ต

ขณะที่สื่อใหญ่หลายสำนักหันไปพึ่ง pay wall ที่ผู้อ่านหรือผู้ชมข่าวต้องจ่ายสตางค์เพื่อแลกกับการเข้าถึง การส่งข้อความรับบริจาคและการสนับสนุนมาเตือนผู้อ่านทุกครั้งที่เปิดอ่านบทความ รวมไปถึงการแทรกโฆษณาในพื้นที่พึงมีพึงปรากฏแบบที่คนอ่านหรือผู้ชมข่าวยอมรับได้ เหมือนครั้งที่เคยยอมรับพื้นที่โฆษณาในสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ และวิทยุ

แต่มีสื่อเล็กๆ ค่ายหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ ที่ย้อนศรวังวนความอยู่รอดดังกล่าว กลับไปหาระบบสมาชิกที่เป็นมากกว่าการแลกซื้อคอนเทนต์ด้วยเงิน สื่อสำนักนี้ชื่อว่า เดอะ คอร์เรสปอนเดนต์ (The Correspondent)

หนังสือพิมพ์ออนไลน์สัญชาติดัตช์ภาษาดัตช์หัวนี้ เปิดตัวเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2013 หาเงินทุนตั้งต้นจากการระดมทุน (crowdfunding) ได้ถึง 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (1.3 ล้านเหรียญฯ ใน 3 สัปดาห์แรก) จากผู้ร่วมลงขันรุ่นบุกเบิก 18,933 ราย ก่อตั้งโดย แอนสต์-ยัน พเฟาธ์ (Ernst-jan Pfauth) และ ร็อบ แว็งน์แบร์ก (Rob Wijnberg)

พเฟาธ์ย้อนเล่าว่า ร็อบเป็นนักปรัชญา ในปี 2010 เขาเข้าไปรับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารของ nrc.next โต๊ะข่าวภาคเช้าของ NRC Handelsblad หนังสือพิมพ์ที่ทรงอิทธิพลของเนเธอร์แลนด์ ร็อบต้องการพาเนื้อหาให้หลุดออกไปจากเรื่อง ‘ในกระแส’ เพราะเห็นว่ามันก็ลามไหลหาอ่านได้ทุกหัวระแหงสื่ออยู่แล้ว ทั้งมองว่าหนังสือพิมพ์ควรเน้นที่ ‘เรื่องใหม่’ หรือ new มากกว่า ‘เรื่องที่เป็นข่าว’ หรือ news ด้วยการรายงานสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและมีนัยสำคัญต่อสังคมแต่ไม่ได้รับความสนใจ พูดง่ายๆ คือไม่อยู่ในกระแส ไม่ใช่ประเด็นร้อน หรือ hot cake แต่ส่งผลกระทบสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเรา แต่นายใหญ่ของเขาไม่โปรดแนวคิดนี้ จึงเชิญเขาออกจากตำแหน่งในเวลาไม่ถึงสองปี

แว็งน์แบร์กและพเฟาธ์ซึ่งลาออกจาก NRC Handelsblad เช่นกัน จึงก่อตั้งทีมโดยมี Momkai ครีเอทีฟเอเจนซี่ ที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มและเว็บไซต์เข้ามาเป็นหุ้นส่วน ความตอนนี้ของแถลงการณ์ของเดอะคอร์เรสปอนเดนต์ ร็อบเขียนว่า “เราจะนำเสนอเรื่องที่ดูพื้นๆ จากชีวิตประจำวัน แต่มุ่งเปิดโปง อธิบาย และเน้นย้ำถึงโครงสร้างหรือโยงใยเบื้องหลังที่มีนัยสำคัญต่อสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ รวมถึงสังคมเราในอนาคต”

ในแคมเปญระดมทุนของพวกเขา แทนที่จะพิโอดพิครวญว่า นักข่าวหรือวงการหนังสือพิมพ์กำลังเผชิญวิกฤตด้านใดบ้าง ทั้งไม่ได้อวดโอ่ว่าจะสร้างสรรค์สื่อใหม่หรือสื่อที่ดี เพราะมองไม่เห็นว่าใครสามารถตอบหรืออ้างได้ว่าสื่อที่ดีคืออะไร และคำว่า ‘ดี’ มันก็พ้องเหลือเกินกับความเป็นสถาบันครึคร่ำที่สะกิดเกาท้วงติงไม่ได้ พวกเขาจึงเลือกที่จะบอกผู้อ่านว่า

สิ่งที่พวกเขาจะทำคือ เปิดสำนักสื่อที่นำเสนอ ‘ยาล้างพิษ’ หรือยาแก้เลี่ยนต่อข่าวที่ลามไหลท่วมทับเราอยู่ (antidote to the news grind) เป็นสื่อที่ไม่สนว่าอะไรเกิดขึ้น ‘วันนี้’ แต่มุ่งนำเสนอสิ่งที่ ‘เป็นอยู่’ ทุกๆ วัน เพื่อจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจโลกรอบตัวดียิ่งขึ้น

ฉะนั้น สำหรับพวกเขา การลงขันนี้จึงไม่ใช่การเสนอขาย ‘ดีล’ แต่เป็นการสร้างชุมชมที่เน้นให้เกิดความรู้สึกของการเข้าร่วมกระบวนการเคลื่อนไหวบางอย่าง

ทีมแรกตั้งของเดอะ คอร์เรสปอนเดนต์ประกอบด้วยทีมงานประจำ 7 คน และนักข่าวอิสระ 19 คน ในช่วงแรกมีผู้ตอบรับเป็นสมาชิกราว 24,000 ราย ด้วยค่าสมาชิก 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (ราว 2,700 บาท) สำหรับประชากร 17 ล้านคนของเนเธอร์แลนด์ เมื่อเทียบบัญญัติไตรยางค์กับประชากรของไทย ก็ประมาณได้ว่าพวกเขามีสมาชิกราว 97,000 ราย ที่นับว่าไม่น้อยเลย ปัจจุบันพวกเขามีนักข่าว 36 คน และสมาชิกรายปี 56,000 ราย

ความพิเศษประการสำคัญของเดอะ คอร์เรสปอนเดนต์คือ แพลตฟอร์มของตนเองที่ชื่อ Respondens ซึ่งออกแบบระบบจัดการเนื้อหาและพัฒนาโดย Momkai แพลตฟอร์มทำงานเหมือนโซเชียลมีเดียที่นักข่าวและสมาชิกสามารถสื่อสารกันได้โดยตรง ทั้งการเสนอประเด็นที่อยากให้นักข่าวติดตามและนำมารายงาน คอมเมนต์ชิ้นงานที่นำเสนอ รวมถึงให้ข้อมูลข่าวสารเฉพาะทางที่ผู้อ่านหรือสมาชิกแต่ละคนเชี่ยวชาญ บนหลักคิดที่ว่า ผู้อ่าน 100 คนที่เป็นแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ย่อมรู้มากกว่านักข่าวด้านสาธารณสุขเพียงคนเดียว และแทนที่จะเรียกความคิดเห็นของผู้อ่านว่า comments พวกเขาเลือกใช้คำว่า contributions แทน เพื่อตอกย้ำว่า ผู้อ่านคือผู้มีส่วนร่วม

นักข่าวของเดอะ คอร์เรสปอนเดนต์แต่ละคนจึงเป็นเหมือนศูนย์กลางของวงสนทนาของผู้ที่สนใจในประเด็นเดียวกัน มากกว่านักข่าวหัวเห็ดในมาดของผู้รู้ และข่าวหรือชิ้นงานก็ไม่ได้เป็นการสื่อสารมวลชนทางเดียวอีกต่อไป โดยนักข่าวแต่ละคนจะมีห้องของตัวเองคล้ายกับบล็อกหรือโฮมเพจ สำหรับแชร์หรือรายงานเรื่องที่ตัวเองกำลังสืบค้น และผู้อ่านก็สามารถเข้ามานำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ได้เป็นระยะ

นอกจากนี้ นักข่าวจะลงบทความสองแบบ แบบแรกคืออัพเดทสั้นๆ ที่ผู้อ่านในห้องของตัวเองให้ความสนใจ และแบบที่สองคือบทความขนาดกลางเพื่อนำเสนอประเด็นนั้นๆ แก่ผู้อ่านทั่วไป

“การลงบทความเสมือนเป็นบทสรุปของเรื่องทั้งหมด มันไม่เพียงพอ บทความแต่ละชิ้นควรเป็นเหมือนสถานการณ์อัพเดทของเรื่องใหญ่ๆ บทความหรือชิ้นงานหนึ่งชิ้นไม่มีทางที่จะเป็นบทสรุปเรื่องราวทั้งหมดได้ในตัวมันเอง”

แม้ว่าเดอะ คอร์เรสปอนเดนต์จะเป็นธุรกิจสื่อที่แสวงหากำไร แต่มีรูปแบบธุรกิจที่เน้นการขาย ‘เนื้อหา’ มากกกว่าการขาย ‘ผู้อ่าน’ ให้กับผู้ลงโฆษณา ดังนั้นรายได้หลักจึงมาจากค่าสมาชิกและเงินบริจาค โดยมุ่งปรับปรุงงานหนังสือพิมพ์มากกว่าเติมเงินในกระเป๋าผู้ถือหุ้น

เดอะ คอร์เรสปอนเดนต์ มีเพจในเฟซบุ๊ก สำหรับการโปรโมทชิ้นงานที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว แต่ทีมไม่มีนโยบาย boost post หรือโฆษณาชิ้นงาน เพราะยึดหลักการว่า ผู้อ่านคือ ‘ทูต’ ที่ดีที่สุด และชื่อผู้อ่านที่แชร์เป็นเสมือนเครื่องการันตีอยู่ในตัวว่า งานชิ้นนั้นควรค่าแก่การอ่านแค่ไหน และที่ผ่านมา จำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นก็มาจากผู้อ่านที่ผ่านตาชิ้นงานของพวกเขานั่นเอง

เมื่อสมาชิกแชร์บทความออกไปสู่แพลตฟอร์มอื่น ผู้ที่สนใจจะติดตามเข้ามาอ่านบทความชิ้นนั้นๆ ได้ แต่จะไม่สามารถคอมเมนต์หรือส่งต่อได้หากไม่ได้เป็นสมาชิก

ในช่วงเริ่มก่อตั้ง มีเพื่อนร่วมวงการมากมายที่ให้ความเห็นว่า พวกเขาควรยึดสูตรสำเร็จหรือ ‘เทรนด์’ ของสื่อออนไลน์ยุคนี้เป็นธงชัย เช่น มีบทความกึ่งโฆษณา บทความควรสั้นกระชับ พาดหัวปัง ก้าวเล็กๆ แต่มั่นคง ฯลฯ แต่พวกเขาเห็นว่า ถ้าคิดจะทำหนังสือพิมพ์ออนไลน์ (online journalism) ก็จงอย่าประนีประนอม เพราะธรรมชาติของเว็บไซต์ไม่มีเดดไลน์ ไม่มีกรอบของหน้ากระดาษหรือจอทีวี คอนเทนต์ไม่ว่าบทความ ภาพเคลื่อนไหว หรือเสียง สามารถต่อขยายไปได้ทุกมิติและเลเยอร์ จนกว่าจะไปถึงประเด็นเชิงลึกที่ต้องการนำเสนอ

“เทรนด์ทั้งหลายที่เขาพูดกัน ประเดี๋ยวเดียวมันก็เก่า” ร็อบ แว็งน์แบร์กย้ำ

“ถ้าคิดจะทำอะไร มองไปข้างหน้าเถอะครับ”

Tags: , ,