มาริเอะ คนโด (Marie Kondo) คงต้องหลั่งน้ำตาเมื่อมาเจอบ้านคนไทย
ฮาวทูทิ้งก็กำจัดให้ไม่ไหว เพราะมีแต่ของที่ไม่ได้ใช้เต็มไปหมด
เชื่อว่าหลายคงกำลังประสบกับปัญหาข้าวของรกบ้าน จากการที่คนในครอบครัวชอบเก็บกล่องกระดาษลัง ซองเครื่องปรุง ถุงพลาสติก ขวดน้ำดื่ม ตลอดจนสิ่งของเล็กน้อยกระจุกกระจิก แต่สะสมจนกลายเป็นของกองโต หรือแม้แต่อุปกรณ์พังๆ จากศตวรรษที่ 20 ที่แม่ยังตัดใจทิ้งไม่ลง ก่อให้เกิดความรู้รำคาญใจกับคนในบ้านทุกครั้งที่มองเห็น
เดิมทีอาการชอบสะสมสิ่งของคนในยุคเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) มักโดนมองว่า เป็นลักษณะนิสัยพื้นฐานของผู้คนที่เกิดและโตในภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยสภาวการณ์ยากลำบากที่ทำให้ต้องกอบโกยเพื่อก่อร่างสร้างตัว จึงติดนิสัยชอบสะสมสิ่งของ ไม่ยอมทิ้งอะไรไปโดยง่าย
แม้คนในครอบครัวจะบอกหลายต่อหลายครั้ง ให้โยนของที่ไม่ได้ใช้งานแล้วทิ้งลงขยะไป แต่ไม่เกิดผล ซ้ำร้ายยังยิ่งสะสมของมากขึ้นเรื่อยๆ ราวกับเป็นของรักของหวง ปัญหานี้อาจไม่ใช่แค่ความรู้สึกเสียดายของธรรมดา แต่อาจเป็นอาการของโรคจิตเวช อย่าง ‘โรคชอบเก็บสะสมของ’ (Hoarding Disorder)
โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของเป็นอาการทางจิตเวชที่มักพบในผู้สูงวัย ลักษณะอาการคือผู้ป่วยจะสะสมสิ่งของไว้เพราะคิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะมีประโยชน์ในอนาคต และไม่สามารถตัดใจเก็บของทิ้งลงถังขยะได้เลย แม้แต่การเก็บบ้าน หรือย้ายบ้านก็ยังจะนำของพวกนี้ไปบ้านใหม่ด้วย
โรคที่ว่านี้แตกต่างกับงานอดิเรกอย่างการสะสมฟิกเกอร์ สะสมหนังสือ สะสมเครื่องถ้วย ที่มีการจัดเก็บเป็นระบบระเบียบ แต่คือการสะสมของไม่จำเป็น ยกตัวอย่างเช่น เก้าอี้ขาหัก ใบพัดพัดลมพังๆ หรือของอื่นๆ ที่ไม่มีวันซ่อมได้ ในบางรายอาจเป็นหนักถึงขั้นมีของกองสุมระเกะระกะไว้เต็มบ้าน จนดูเหมือนบ้านขยะไปเสียอย่างนั้น
ยิ่งไปกว่านั้น บางรายสะสมขยะที่เก็บมาจากถังขยะจริงๆ นอกจากนี้ ยังพบการสะสมสัตว์เลี้ยงในผู้ป่วยบางราย ไม่ว่าจะสุนัขหรือแมวหลายตัวในบ้าน หากลองสังเกตจะพบว่า มีหลายบ้านที่เลี้ยงไว้หลายตัว แต่ประเด็นคือสัตว์เหล่านั้นมักไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ก่อให้เกิดการหมักหมมเชื้อโรคและก่อให้เกิดโรคร้ายอื่นๆ ต่อร่างกายตามมาได้อีก
สำหรับสาเหตุของโรคชอบสะสมของ ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด แต่เป็นได้จากพันธุกรรมและความผิดปกติของสมอง ซึ่งอาการนี้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์รอบตัว
การเกิดจากพันธุกรรมยังหมายความได้ว่า หากคนในครอบครัวของเราเป็น เราเองก็มีแนวโน้มที่รับเอาอาการนี้เช่นกัน
แม้การสะสมซองเครื่องปรุง หรือถุงพลาสติก จะเป็นเพียงของเล็กน้อย ที่แม่ๆ หลายบ้านสะสมกันเป็นปกติ แต่ไม่มีข้อบ่งชี้ว่า ต้องพบในเพศหญิงเท่านั้น ดังนั้น หากแม่หรือคนในครอบครัวของใครมีอาการแบบนี้ และเริ่มเก็บสะสมของไร้ประโยชน์เพิ่มขึ้น หรือมีอาการไม่พอใจเมื่อบอกให้ทิ้งสิ่งของ จนกระทบความสัมพันธ์ในครอบครัว ให้หมั่นสังเกต พูดคุย และหากเข้าข่ายโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ ควรพาไปพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการบำบัด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และกินยา
แม้จะทราบอาการเบื้องต้นแล้ว การเกลี้ยกล่อมให้คนในครอบครัวยอมรับว่า ต้องเข้ารับการรักษาบำบัดอาจเป็นเรื่องที่ยากกว่า ตรงนี้ต้องใช้การอธิบายและพูดคุยอย่างเปิดใจกับคนในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของพบมากในผู้สูงอายุ แต่อาจเริ่มแสดงอาการที่สังเกตได้ตั้งแต่ยังวัยรุ่น หากพบว่าตนเองก็มีนิสัยชอบเก็บสิ่งของไว้ใช้ในอนาคตและตัดใจทิ้งไม่ลง ควรเข้ารับการวินิจฉัยเช่นเดียวกัน
ที่มา
– กรมสุขภาพจิต. https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30429
– https://www.pobpad.com/โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ-hoarding
Tags: ครอบครัว, แม่, Family Tips, Hoarding Disorder, โรคชอบเก็บสะสมของ, โรคจิตเวช, เก็บของ, บ้าน